หนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของการใช้งานโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟนก็คือซิมการ์ด เพราะหน้าที่โดยทั่วไปที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่เข้าใจกันก็คือ เป็นแผ่นที่ไว้ใช้เก็บเบอร์โทรศัพท์ ทำให้มือถือ สมาร์ตวอทช์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีช่องใส่ซิม แอร์การ์ดสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายมือถือได้ รวมถึงยังใช้เก็บข้อมูลได้อีกเล็กน้อย เช่น บันทึกเบอร์และชื่อของผู้ติดต่อ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนา eSIM ขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสะดวกขึ้นไปอีก ทำให้หลาย ๆ ท่านเริ่มชั่งใจว่าเราจะยังใช้ซิมการ์ดแบบเดิมต่อไป หรือจะเปลี่ยนมาใช้แบบใหม่ดี
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับซิมการ์ด (SIM Card) แบบที่คุ้นเคยกันก่อน
ซิมการ์ด (SIM Card) คืออะไร?
คำว่า SIM เป็นตัวย่อ ซึ่งย่อมาจาก Subscriber Identity Module หรืออาจจะเป็น Subscriber Identification Module ที่ชื่อเต็มของมันก็บ่งบอกหน้าที่หลักได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโมดูลสำหรับระบุตัวตนผู้ใช้งาน กล่าวคือ เป็นวงจรแบบสมาร์ตการ์ดที่เก็บข้อมูลสำหรับการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน ที่ใช้ในการเชื่อมต่อเครือข่ายมือถือ เพื่อใช้งานโทรศัพท์ ใช้อินเตอร์เน็ตเช่น 5G ได้ เริ่มใช้งานครั้งแรกในปี 1991 สำหรับซิมการ์ดในปัจจุบัน แต่ละใบจะมีการบรรจุข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้อยู่
- ซีเรียลนัมเบอร์ (ICCID)
- หมายเลขระบุตัวตนของผู้ใช้งาน (IMSI)
- ระบบสำหรับยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัย
- ระบบสำหรับเข้ารหัสข้อมูล
- ข้อมูลชั่วคราวที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายในพื้นที่
- บริการเสริมที่สามารถใช้งานได้ (แอปที่มากับซิม)
- SMS และรายชื่อผู้ติดต่อ
- รหัสผ่านทั้งแบบ PIN และ PUK
โดยการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะเก็บอยู่ในชิปขนาดเล็ก โดยมีแผงวงจรอยู่ด้านบนในแบบที่หลายท่านคงจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ทำงานโดยอาศัยไฟฟ้าจากอุปกรณ์ ทำให้ตัวซิมการ์ดลอย ๆ จะไม่สามารถทำงานได้อย่างแน่นอน จำเป็นต้องใส่ในมือถือ หรืออุปกรณ์ที่รองรับซิมการ์ดก่อนเสมอ จึงจะสามารถทำงานได้
สำหรับในปัจจุบัน ตัวซิมการ์ดได้มีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงเป็นอย่างมาก จากเดิมที่มีขนาดเท่าบัตรเครดิต ลงมาเป็นมินิซิมที่หลายท่านคงคุ้นเคยกันดีในยุคปี 2000 ต้น ๆ จนถึง 2010 ต่อมาก็เป็นไมโครซิมที่เริ่มแพร่หลายในยุค iPhone 4 และล่าสุดก็กลายมาเป็นนาโนซิมที่มีขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเสียอีก ซึ่งได้รับการนำมาใช้ในวงกว้างเป็นครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ iPhone 5 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังทำให้วงการอุปกรณ์ IoT เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย เพราะสามารถทำให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง แต่ยังเชื่อมต่อกับเครือข่ายโดยใช้นาโนซิมได้
ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ เลยที่ทำให้มีการปรับปรุงให้ซิมการ์ดมีขนาดเล็กลง ก็คือเพื่อให้สามารถทำให้มือถือมีขนาดเล็กลง บางลงได้ เพราะในทุกเครื่องจำเป็นจะต้องมีการออกแบบให้สามารถบรรจุอุปกรณ์อ่านซิมการ์ดได้ ยิ่งเครื่องไหนที่รองรับการใส่มากกว่า 1 ซิม ก็ยิ่งเป็นการสูญเสียพื้นที่แผงวงจรเพิ่มมากขึ้นไปอีก ประกอบกับในปัจจุบัน ผู้ผลิตมือถือเองก็ต้องใส่ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพื่อทำให้มือถือมีความสามารถสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
เมื่อลองพิจารณาถึงหน้าที่ของซิมการ์ด กับความต้องการที่ทำให้มือถือเล็กและบางลงกว่าเดิม ก็จะพบว่าที่จริงเราเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในซิม มาเก็บไว้ในเครื่องก็น่าจะได้เหมือนกัน ซึ่งทำให้สามารถตัดช่องใส่ซิมออกจากแผงวงจรบนเมนบอร์ดของมือถือและอุปกรณ์อื่น ๆ ไปได้เลย ทำให้เกิดเป็น eSIM ขึ้นมานั่นเอง
eSIM คืออะไร?
ย่อมาจาก Embedded SIM คือชิปสำหรับเก็บข้อมูลที่ออกแบบมาให้ทำหน้าที่เหมือนกับซิมการ์ดตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นชิปที่ติดมากับเมนบอร์ดจากโรงงานเลย ซึ่งก็จะมี IMEI เป็นของตนเองเหมือนกับช่องใส่ซิมการ์ดทั่วไป แต่ตัวชิปนั้นสามารถบันทึก เปลี่ยนแปลง และลบข้อมูลได้ ทำให้ระบบสามารถบันทึกข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อกับเครือข่ายเข้าไป และใช้แทนแผ่นซิมการ์ดได้แบบ 100%
จุดเด่นที่น่าสนใจ มีดังนี้
- ชิปมีขนาดเล็กมาก ไม่เปลืองพื้นที่แผงวงจรมากนัก
- สามารถเก็บข้อมูล เก็บเบอร์ไว้ได้หลายเบอร์ รองรับการเก็บข้อมูลได้มากกว่า
- สามารถซื้อซิม (เบอร์) ใหม่ผ่านอินเตอร์เน็ต แล้วใช้งานได้ทันที ไม่ต้องรอซิมการ์ดมาส่ง
- สลับเบอร์ได้ง่าย เพียงแค่กดสลับที่ระบบปฏิบัติการ
- หากมือถือถูกขโมย โจรจะไม่สามารถถอดซิมออกจากเครื่องได้เลย เหมาะมากสำหรับการใช้งานฟังก์ชันติดตามมือถือที่หายไป
ซึ่งในปัจจุบัน มือถือ สมาร์ตดีไวซ์รุ่นใหม่ ๆ เช่น สมาร์ตวอทช์หลากหลายรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มรุ่นเรือธงของแต่ละแบรนด์ ก็มักจะมีการติดตั้งชิปของซิมแบบใหม่มาให้ในตัวแล้ว รวมถึงยังมีบางแบรนด์ถึงขั้นตัดช่องใส่ซิมการ์ดตามปกติไปแล้ว บังคับให้ผู้ใช้ต้องใช้งานแบบ eSIM อย่างเดียว เช่น iPhone 14 series ที่วางขายในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ขั้นตอนในการเพิ่ม eSIM เข้าไปในมือถือ ก็จะมีเมนูที่แตกต่างกันไปในแต่ละระบบปฏิบัติการ โดยขั้นตอนที่จำเป็นก็คือจะต้องมีการสแกน QR code ที่มาจากทางผู้ให้บริการเครือข่ายก่อน จากนั้นระบบก็จะดำเนินการ และทำการเชื่อมต่อกับเครือข่ายมือถือให้เอง พอเสร็จสมบูรณ์แล้วก็สามารถใช้งานเบอร์นั้นได้ทันที จึงทำให้การซื้อเบอร์ใหม่กลายเป็นเรื่องสะดวกมากขึ้น จนสามารถซื้อซิมจากที่บ้านได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มของซิมท่องเที่ยว (Travel SIM) สำหรับใช้อินเตอร์เน็ตในต่างประเทศ ในตอนนี้ก็มีให้ซื้อแบบ eSIM แล้ว ทำให้สามารถเปิดใช้งานได้ง่าย พอกลับมาไทยก็กดลบซิมนั้นออกจากเครื่องได้เลย
นอกจากนี้ มือถือบางรุ่นยังสามารถแปลงจากซิมการ์ดเป็น eSIM ได้ในตัว กล่าวคือเป็นการถ่ายโอนข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดมาเก็บไว้ในชิป แล้วใช้งานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายเลย ทำให้ยิ่งสะดวกขึ้นไปอีก
ส่วนการจัดการเบอร์ที่ใส่เข้ามาเป็น eSIM แล้วก็ง่ายเช่นกัน อย่างใน iOS ก็จะอยู่ในเมนู Cellular เมื่อดูตรงหัวข้อ SIM ก็จะพบกับเบอร์ทั้งหมดที่ติดตั้งอยู่ ทั้งแบบ e และแบบการ์ดปกติ อย่างในภาพด้านบนคือในเครื่องผมไม่มีซิมการ์ดปกติอยู่เลย พอเข้าไปที่แต่ละเบอร์ ก็สามารถเปิดหรือปิดการใช้งานได้ตามต้องการ แต่สำหรับจำนวนซิมที่เปิดใช้งานได้พร้อมกัน นับง่าย ๆ เลยก็จะขึ้นอยู่กับจำนวน IMEI ของเครื่อง อย่างของ iPhone ก็คือจะสามารถเปิดใช้งานได้ 2 เบอร์พร้อมกัน ส่วนจำนวน eSIM ทั้งหมดที่สามารถเก็บได้ สำหรับ iPhone จะอยู่ที่ 8 เบอร์หรือมากกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่น ซึ่งตรวจสอบจากแบรนด์อีกที ช่วยเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้ที่มีหลายเบอร์ อย่างถ้าเป็นเมื่อก่อน เราก็ต้องพกซิมการ์ดติดตัว เสี่ยงทั้งการหล่นสูญหาย และเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ซิมหัก เป็นต้น แต่พอเป็นแบบนี้คือไม่ต้องพกซิมอีกต่อไป หยิบมือถือมาเครื่องเดียวก็สามารถสลับใช้เบอร์ที่มีอยู่ได้เลย
อีกหนึ่งข้อดีที่น่าสนใจก็คือ ผู้ใช้งานสามารถถ่ายโอน eSIM ไปยังเครื่องอื่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการที่ศูนย์บริการของเครือข่ายเลย ซึ่งเป็นฟีเจอร์ของระบบปฏิบัติการมือถือเอง ที่มีแน่ ๆ ก็คือ iOS ของ iPhone ซึ่งสามารถถ่ายโอนเบอร์จาก iPhone ที่อยู่ใกล้เคียงกันมาใส่ในอีกเครื่องได้ เหมาะมากสำหรับการย้ายมาใช้ iPhone เครื่องใหม่ หรือถ้าหากเราไม่สามารถเปิดใช้งานมือถือเครื่องที่มีเบอร์อยู่ได้จริง ๆ ก็สามารถไปดำเนินการที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการเครือข่ายได้เช่นกัน
แต่ใช่ว่า eSIM จะมีข้อดีแบบ 100% เพราะมันก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน นั่นคือ จะไม่สามารถแปลงกลับเป็นซิมการ์ดปกติได้ ทำให้ถ้าหากต้องการนำเบอร์ไปใช้ในอุปกรณ์อื่นที่ไม่มีระบบ eSIM หรือไม่สามารถถ่ายโอนเบอร์ไปได้ ผู้ใช้จำเป็นจะต้องไปที่ศูนย์ของผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อขอซิมการ์ดใบใหม่ของเบอร์ที่มีอยู่แทน
รวมถึงถ้าหากแปลงจากซิมการ์ดมาเป็น eSIM แล้ว ตัวซิมการ์ดเดิมจะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปด้วย ทำให้ไม่สามารถใช้เบอร์เดียวกันในอุปกรณ์มากกว่าหนึ่งชิ้นได้ ยกเว้นกรณีของมัลติซิมที่ออกมาจากทางผู้ให้บริการเครือข่ายเอง ซึ่งควรสอบถามรายละเอียดจากผู้ให้บริการอีกที รวมถึงอาจทำให้การสลับมือถือเพื่อใช้งานเบอร์เดียวกันเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
ส่วนในแง่การใช้งานทั่วไป เช่น การใช้งานแบตเตอรี่ ความเร็วในการรับส่งข้อมูลของ eSIM นั้นแทบไม่ต่างจากการใช้ซิมการ์ดปกติเลย จะมีต่างกันบ้างก็เช่นความร้อนที่สูงกว่าเล็กน้อย ในขณะที่มีการโหลดข้อมูลปริมาณมากด้วยความเร็วสูง แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปนั้นเหมือนกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้ตามปกติ
eSIM vs SIM Card เลือกแบบไหนดี?
โดยหลักเลยคือขึ้นอยู่กับ
1. อุปกรณ์ที่ใช้งาน
หากอุปกรณ์ที่ใช้งาน รองรับเฉพาะ eSIM เท่านั้น เช่น Apple Watch กลุ่มนี้ก็ไม่ยากครับ เพราะตัวดีไวซ์บังคับมาอยู่แล้ว โดยให้สอบถาม และดำเนินการกับทางผู้ให้บริการเครือข่ายได้เลย ซึ่งแต่ละรายก็จะมีแพ็คเกจสำหรับใช้งานสมาร์ตวอทช์อยู่แล้ว
แต่ถ้าหากอุปกรณ์รองรับทั้งสองแบบ ก็จะขึ้นอยู่กับความสะดวกเลย ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ในไทย รองรับการให้บริการอยู่แล้ว
2. จำเป็นต้องสลับเบอร์ไปใช้เครื่องอื่นหรือเปล่า?
ในกรณีที่คุณอาจจำเป็นต้องสลับเอาเบอร์ไปใช้ในหลายเครื่อง การใช้ซิมการ์ดธรรมดาน่าจะเหมาะกว่า เพียงแค่ดึงซิมออก ก็สามารถนำไปใส่ในอีกเครื่องที่ต้องการได้ทันที
ส่วนถ้าเป็น eSIM การจะถ่ายโอนไปยังอีกเครื่อง ในตอนนี้ฝั่ง iPhone จะทำได้ง่ายกว่ามาก สามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ก็จะมีขั้นตอนการยืนยันตัวตนเล็กน้อย จากนั้นก็เป็นการ deactivate ในเครื่องเดิม เพื่อมา activate เบอร์ในอีกเครื่อง จึงจะสามารถใช้งานได้ ในขณะที่ฝั่ง Android นั้น Google เพิ่งประกาศไปในงาน MWC 2023 เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าจะปล่อยฟีเจอร์การถ่ายโอน eSIM ในมือถือ Android ช่วงปลายปีนี้
ดังนั้น การใช้งานซิมแบบใหม่นี้ จึงจะเหมาะกับเบอร์ที่ต้องการใช้เป็นเบอร์หลักติดเครื่อง ที่ไม่จำเป็นต้องย้ายไปมาบ่อย ๆ มากกว่า
3. มีหลายเบอร์ แต่ไม่อยากพกหลายเครื่อง หรือพกซิมใส่กระเป๋าให้เสี่ยงหล่นหาย
ถ้าเป็นกรณีนี้ แนะนำว่าทำ eSIM เลยน่าจะตอบโจทย์ โดยเฉพาะเบอร์ที่ไม่จำเป็นต้องนำไปใช้กับเครื่องอื่น เช่น เบอร์ส่วนตัว เบอร์ที่ใช้ทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงเบอร์ที่ใช้ในต่างประเทศ หรือเบอร์ที่นาน ๆ จะเปิดขึ้นมาใช้ซักที เพราะจะสะดวกกับการพกพาและการใช้งานกว่ามาก เวลาต้องการใช้ ก็แค่หยิบมือถือขึ้นมา แล้วกดเปิดใช้งานเบอร์ที่ต้องการ หลังใช้เสร็จก็กดปิดได้ทันที
4. ต้องการใช้งานมากกว่า 1 เบอร์ในเครื่องเดียว
อันนี้อาจจะเป็นข้อจำกัดเฉพาะ iPhone เท่านั้น เพราะเครื่องที่วางขายส่วนใหญ่จะมีถาดใส่ซิมแค่ 1 ซิม ในกรณีที่ต้องการใช้มากกว่า 1 เบอร์ ก็จะเป็นการบังคับว่าต้องใช้คู่กันของซิมทั้งสองแบบ หรือไม่ก็เป็น eSIM ทั้งคู่ไปเลย สำหรับทางฝั่ง Android ส่วนใหญ่จะยังให้ถาดซิมแบบคู่ที่ใส่ได้สองซิมอยู่ จึงอาจจะยังไม่จำเป็นต้องใช้ซิมแบบดิจิทัลเท่าไหร่