หลังจากที่แนะนำวิธีการเลือกจอคอมสำหรับเล่นเกมไปแล้ว ในบทความนี้จะเป็นการแนะแนวทางการเลือกจอสำหรับใช้ทำงานในปี 2023 บ้าง เนื่องจากปัจจัยที่ควรพิจารณาในการเลือกก็จะแตกต่างกันพอสมควร โดยสามปัจจัยหลักที่ควรใช้ประกอบการเลือกจอทำงานก็ได้แก่ ความละเอียดภาพ ค่าความหนาแน่นของพิกเซล (PPI) และค่าสีที่จอสามารถแสดงได้ ซึ่งในบทความนี้เราจะมาดูรายละเอียดของแต่ละข้อกัน
ความละเอียดของภาพ (Resolution)
เป็นค่าที่ใช้บ่งบอกถึงจำนวนพิกเซลที่ใช้แสดงภาพทั้งหมดของหน้าจอ โดยถ้าเทียบสองจอที่มีขนาด 27″ เท่ากัน จอที่ยิ่งมีความละเอียดสูง คือมีพิกเซลจำนวนมาก เช่น 4 ล้านพิกเซล ภาพก็จะดูละเอียดกว่าจอที่มีจำนวนพิกเซลน้อยกว่า เช่น 2 ล้านพิกเซล เนื่องจากการที่จะบรรจุเม็ดพิกเซลถึง 4 ล้านจุดลงในจอ 27″ ย่อมต้องใช้เม็ดพิกเซลขนาดเล็กกว่ามาก ช่วยให้ระบบสามารถจัดการแสดงภาพให้มีการเกลี่ยสี เกลี่ยรอยหยักได้ละเอียดกว่า
อย่างในภาพด้านบน เป็นภาพที่เทียบให้เห็นว่า ถ้าเราวาดวงกลมลงบนจอที่มีขนาดเท่ากัน แต่มีความละเอียด (จำนวนพิกเซล) ไม่เท่ากัน ผลจะต่างกันอย่างไร โดยช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่ละช่องจะแทนจำนวนเม็ดพิกเซล ซึ่งแต่ละพิกเซลก็จะแสดงได้เพียงแค่ครั้งละ 1 สีเท่านั้น จะเห็นว่าถ้ายิ่งความละเอียดสูง มันก็มีเม็ดพิกเซลให้แสดงภาพได้มากขึ้น สามารถลงรายละเอียดในส่วนหยัก ส่วนโค้งได้ละเอียดยิ่งขึ้น ในตัวอย่างเป็นการแสดงภาพวงกลมสีฟ้า ที่ยิ่งความละเอียดมาก วงกลมก็ดูกลมขึ้นด้วย
วิธีการบอกจำนวนพิกเซลจอคอม
ปกติแล้ว การบอกจำนวนพิกเซลของหน้าจอ เราจะไม่ใช้การบอกจำนวนเม็ดพิกเซลทั้งหมด แต่จะใช้การบอกจำนวนพิกเซลในแนวนอน x พิกเซลในแนวตั้งของจอแทน อย่างในภาพตัวอย่างข้างบน ก็คือจอคอมที่มีพิกเซลในแนวนอนอยู่ 1,920 พิกเซล และในแนวตั้ง 1,080 พิกเซล เราก็จะใช้การบอกความละเอียดจอเป็น 1920 x 1080 หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นจอความละเอียดระดับ Full HD (FHD) ส่วนถ้าถามจำนวนพิกเซลทั้งหมดของจอ ก็ใช้การนำสองค่านี้มาคูณกันตรง ๆ ได้เลย นั่นคือ 1,920 x 1,080 = 2,073,600 พิกเซล
หรือความละเอียดจออีกค่าที่เราอาจพบได้บ่อยก็เช่น 3840 x 2160 พิกเซล เมื่อคูณกันก็จะออกมาเป็น 8,294,400 พิกเซล ซึ่งถ้าเทียบกับจอ Full HD จะพบว่ามันมีจำนวนพิกเซลมากกว่าอยู่ 4 เท่าพอดี เราจึงเรียกจอที่มีความละเอียด 3840 x 2160 ว่าเป็นจอ 4K นั่นเอง
ความละเอียดจอคอมที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน
สำหรับการเลือกซื้อจอคอมในตอนนี้ ค่าความละเอียดของจอที่มักจะพบได้บ่อย ๆ ก็เช่น
1920 x 1080 / Full HD (FHD) / 1080p
เรียกว่าเป็นความละเอียดระดับเริ่มต้นของจอคอมในยุคนี้ไปแล้ว และเป็นความละเอียดจอที่ได้รับความนิยมสูงสุด จากทั้งระดับความละเอียดที่กำลังพอดี การ์ดจอรุ่นกลางเก่ากลางใหม่สามารถขับได้สบาย ทั้งยังมีราคาเริ่มต้นไม่แพงด้วย สามารถเป็นเจ้าของได้ในราคาตั้งแต่ราว ๆ 2,500 บาทเท่านั้น สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์มาก ๆ ตั้งแต่แสดงภาพ ข้อมูลทั่วไป ใช้ทำงาน เพื่อความบันเทิง ไปจนถึงการเล่นเกม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฟีเจอร์เสริม และคุณสมบัติที่ผู้ผลิตจะใส่มา
1366 x 768 / HD
ปัจจุบันหาได้ค่อนข้างยากแล้วครับ สำหรับจอความละเอียด 1366 x 768 เพราะแม้จะมีราคาเริ่มต้นไม่ถึง 2,000 บาทก็ตาม แต่จอ Full HD ก็มีราคาเพิ่มขึ้นอีกนิดเดียวเอง ประกอบกับเรื่องคุณภาพการแสดงผล ฟีเจอร์ต่าง ๆ ก็มักถูกลดทอนลงมาเพื่อเน้นทำราคาย่อมเยาเป็นพิเศษ เราจึงไม่ค่อยพบกับจอความละเอียดนี้มากนักในปัจจุบัน เหมาะสำหรับคนที่ต้องการจอไปใช้งานแบบเน้นราคาถูกที่สุด ไม่เน้นความคมของภาพมากนัก เช่น อาจจะใช้เป็นจอประกอบกับเครื่อง kiosk เป็นต้น
2560 x 1440 / 2K / 1440p / Quad HD / QHD / WQHD
เป็นความละเอียดที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่ต้องการจอไปใช้เล่นเกมและทำงาน แต่ไม่มั่นใจว่าการ์ดจอที่ใช้อยู่จะสามารถใช้กับจอ 4K ได้ดีขนาดไหน โดยเฉพาะในคอมที่มีสเปคระดับกลางค่อนสูง เพราะด้วยจำนวนพิกเซลของจอ 2K ที่น้อยกว่า ทำให้การ์ดจอใช้พลังในการประมวลผลน้อยกว่าจอ 4K ด้วย แต่ในแง่ของความคมชัดของภาพ สำหรับการใช้งานในระยะที่เหมาะสมนั้นก็แทบจะไม่ต่างจากจอ Full HD มากนัก ด้วยเรื่องค่า PPI ของจอ ที่เราจะพูดถึงในหัวข้อถัดไป
ส่วนราคาก็จะเริ่มต้นตั้งแต่ 6,000 บาทขึ้นไป
3840 x 2160 / 4K / 2160p / Ultra HD / 4K UHD
นับเป็นความละเอียดที่สูงสุดสำหรับจอคอมรุ่นขายทั่วไป ที่มีอัตราส่วนจอแบบ 16:9 ในปัจจุบัน ให้ภาพที่ละเอียดมาก ๆ เหมาะสำหรับใช้ทำงาน สามารถแสดงเครื่องมือในโปรแกรมต่าง ๆ ได้เต็มที่ โดยเฉพาะพวก Photoshop ที่มักจะมีหน้าต่างเครื่องมือจำนวนมากขณะใช้งาน จะใช้ดูหนังก็ภาพคมสุด ๆ ส่วนการใช้เล่นเกม ถ้าการ์ดจอแรงพอก็สามารถรับอรรถรสความสวยงามของภาพในเกมได้แบบเต็มที่ด้วยเช่นกัน โดยจะมีราคาเริ่มต้นราว ๆ 9,000 กว่าบาท
2560 x 1080 (FHD) และ 3440 x 1440 (2K)
เป็นความละเอียดของจออัตราส่วน 21:9 ซึ่งเป็นจอที่กว้างเป็นพิเศษ หรือที่เรียกว่าเป็นจออัลตร้าไวด์ จะเห็นว่าค่าความละเอียดค่าแรกจะมากกว่าจอปกติที่เป็นจอ 16:9 ส่วนค่าหลังที่เป็นจำนวนพิกเซลในแนวตั้งจะยังเท่าเดิมอยู่ จอประเภทนี้จะเหมาะกับทั้งกับการใช้ทำงาน เพราะได้พื้นที่ในแนวกว้างที่มากกว่าจอปกติ และใช้ดูหนังก็ลงตัวมาก ๆ โดยเฉพาะหนังที่ทำภาพออกมาในอัตราส่วนแบบที่ฉายในโรง เพราะจะได้ภาพที่เต็มจอพอดี ไม่มีขอบดำ สำหรับจออัลตร้าไวด์จะมีให้เลือกตั้งแต่ราคาประมาณ 6,000 กว่าบาทสำหรับความละเอียดระดับ FHD และตั้งแต่หมื่นนิด ๆ ที่ความละเอียดระดับ 2K
ค่า PPI (Pixel per inch)
คือค่าอัตราส่วนความหนาแน่นที่บอกว่าในพื้นที่จอ 1 ตารางนิ้ว มีเม็ดพิกเซลอยู่กี่จุด ซึ่งก็จะเหมือนกับเรื่องความละเอียดจอเลย นั่นคือยิ่ง PPI สูง ภาพก็จะมีความละเอียดมากขึ้น สามารถแสดงส่วนโค้ง ส่วนหยักได้ละเอียดกว่าจอที่มี PPI ต่ำกว่า โดยในเรื่องนี้ก็จะมีปัจจัยด้านขนาดของหน้าจอเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะมันเป็นการเทียบที่มีเรื่องของพื้นที่แสดงผลจริงบนจอเข้ามาในการคำนวณนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ถ้ามีจออยู่สองจอ ความละเอียดเท่ากัน แต่ขนาดจอไม่เหมือนกัน
- จอ 1 ขนาด 24″ ความละเอียด 1920 x 1080
- จอ 2 ขนาด 32″ ความละเอียด 1920 x 1080 เท่ากัน
ถ้าจะเทียบว่าแต่ละจอมีค่า PPI อยู่ที่เท่าไหร่ ก็สามารถเข้าไปกรอกได้ที่หน้าเว็บนี้ ระบบก็จะคำนวณค่า PPI ออกมา
จะเห็นว่าจอ 1 ที่มีขนาดเล็กกว่า จะมีค่า PPI อยู่ที่ 91.79 PPI ซึ่งสูงกว่าจอสองที่จอใหญ่กว่า แต่มีค่า PPI เพียง 68.64 เท่านั้น
ค่า PPI มีผลอย่างไร?
แน่นอนว่ายิ่งค่า PPI ที่บ่งบอกถึงจำนวนพิกเซลใน 1 ตารางนิ้วยิ่งสูง ภาพที่ได้ก็จะยิ่งสวย ยิ่งละเอียดจนแทบจะเหมือนภาพจากกระดาษก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สายตาของมนุษย์จะมีขีดจำกัดในการมองเห็น ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน และอีกหนึ่งปัจจัยคือเรื่องระยะห่างจากสายตาถึงหน้าจอด้วย ซึ่งในการใช้งานจอคอมตามปกติ จอที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดมักจะมาพร้อมค่า PPI ที่เหมาะสมตามแต่ละขนาดจออยู่แล้ว ในกรณีที่ใช้งานโดยอยู่ห่างจากหน้าจอประมาณ 50-70 ซม.
ดังนั้นในการเลือกซื้อจอคอม จึงแทบไม่ต้องกังวลเรื่องค่า PPI ของจอมากนัก เว้นแต่ว่าคุณต้องนำไปใช้ทำงานด้านกราฟิกจริง ๆ ก็อาจจะต้องเลือกจอที่มี PPI สูงหน่อย โดยขนาดที่แนะนำก็จะเป็นจอ 27″ ความละเอียดระดับ 2K ขึ้นไป
ส่วนความละเอียดที่เหมาะสมสำหรับจอ 16:9 ขนาดต่าง ๆ ที่มีวางขายในท้องตลาด เพื่อให้ได้ภาพที่สวย คมชัดแบบกำลังดี ภาพไม่หยาบ มองใกล้ ๆ ก็ไม่เห็นพิกเซลที่ใหญ่ อันเกิดจากค่า PPI ที่ไม่สูงมาก ก็เช่น
- Full HD 1080p เหมาะกับจอ 21.5″ / 23.8″ ส่วน 27″ ก็พอไหว แต่ไม่ค่อยแนะนำ
- 2K 1440p เหมาะกับจอ 27″ ขึ้นไป
- 4K 2160p เหมาะกับจอ 27″ ขึ้นไป
ค่าสีของจอ
มาถึงปัจจัยที่ตอนนี้กำลังได้รับความสำคัญมาก ๆ สำหรับการเลือกซื้อจอคอม คือเรื่องค่าสีที่จอสามารถแสดงได้ ซึ่งจะเป็นค่าที่บ่งบอกเลยว่าจอนี้มีประสิทธิภาพสามารถแสดงสีได้มากขนาดไหน โดยหลัก ๆ แล้วจะมีให้เทียบด้วยกัน 3 จุดใหญ่ ได้แก่
- ค่าบิตของจอ เป็นเลขที่บ่งบอกว่าแต่ละแม่สีของจอ R G และ B สามารถแสดงสีสันได้กี่บิต
- ค่าจำนวนเฉดสีทั้งหมดที่สามารถแสดงได้ ซึ่งจะสัมพันธ์กับค่าบิตของจอ เช่น 16.7 ล้านสี และ 1.07 พันล้านสี
- ค่าขอบเขตสี (color gamut) ใช้เทียบว่าจอนี้สามารถแสดงสีสันได้ทั้งหมดเท่าไหร่ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์อ้างอิงจากมาตรฐานขอบเขตสีที่มีการกำหนดไว้
ทีนี้เรามาดูแต่ละข้อกัน
ค่าบิตของจอ และเฉดสีทั้งหมดที่แสดงได้
ในการแสดงผลเป็นสีออกมา ข้อมูลที่ต้องส่งไปหาแต่ละพิกเซลบนจอคือข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าที่มีเพียงแค่ 0 กับ 1 เท่านั้น ซึ่งเลข 0 หรือ 1 แต่ละตัวจะเรียกว่าเป็นบิต เช่น ถ้าส่งข้อมูลว่า 01001110 แบบนี้ก็จะเรียกว่า 8 บิต ซึ่งชุดบิตทั้งหมดนี้ จะใช้แทนค่าสีในกลุ่มของแม่สีตนเอง โดยแบ่งเป็นแม่สี แดง เขียวและน้ำเงิน ซึ่งเป็นสามสีหลักสำหรับจอคอม ทำให้เวลาส่งภาพไปยังจอ ก็จะมีการส่งข้อมูลชุด 8 บิตสำหรับแต่ละแม่สีไป ทำให้กลายเป็นการแสดงผลในแบบ 24 บิตนั่นเอง (8+8+8 บิต) ซึ่งเป็นค่าบิตสำหรับการแสดงผลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน
0 หรือ 1 | 0 หรือ 1 | 0 หรือ 1 | 0 หรือ 1 | 0 หรือ 1 | 0 หรือ 1 | 0 หรือ 1 | 0 หรือ 1 |
ส่วนเรื่องเฉดสีทั้งหมด ก็คือการนำจำนวนบิตมาคำนวณโดยใช้หลักความน่าจะเป็น อย่างในตารางข้างบนที่มีทั้งหมด 8 บิต แต่ละบิตสามารถมีเลขได้สองค่า คือไม่ 0 ก็ 1 ทำให้ทั้งชุด 8 บิตนี้ มีค่าที่สามารถเป็นไปได้ทั้งหมดเท่ากับ 28 หรือเท่ากับ 256 รูปแบบ (ไล่ตั้งแต่ 00000000, 00000001, 00000010 จนถึง 11111111)
ซึ่งในการแสดงผลแต่ละพิกเซล จะต้องมีส่งค่านี้ของแม่สีทั้งสามไปพร้อมกันในแต่ละพิกเซล เพื่อให้สีออกมาตรงตามที่การ์ดจอคำนวณ เช่น แดงส่งค่า A เขียวส่งค่า B น้ำเงินส่งค่า C เวลาแสดงภาพจริง ก็จะแสดงเป็นสีที่เกิดจากการผสมกันของค่า A B และ C คล้ายกับการผสมสีน้ำในถาดสี นั่นจึงทำให้พิกเซลและจอนั้น ๆ สามารถแสดงสีสันได้ทั้งหมด 256x256x256 เท่ากับประมาณ 16.7 ล้านสีนั่นเอง
แต่ในปัจจุบัน เราจะเริ่มพบกับจอ 10 บิตมากยิ่งขึ้น ข้อดีของจอ 10 บิตก็คือสามารถแสดงเฉดสีได้มากกว่า เนื่องจากค่าบิตที่กล่าวในข้างต้น จากที่มีแค่ 8 บิตต่อหนึ่งชุด ซึ่งมีค่าสีที่เป็นไปได้ 256 ค่าต่อหนึ่งแม่สี ถ้าเพิ่มเป็น 10 บิตต่อชุด ก็จะทำให้มีค่าสีที่เป็นไปได้สูงถึง 210 หรือเท่ากับ 1,024 รูปแบบเลยทีเดียว และถ้าจับมาคูณกันเพื่อหาจำนวนสีทั้งหมดที่เป็นไปได้ ก็จะได้สูงถึง 1.07 พันล้านสีเลย (1,024×1,024×1,024) ซึ่งมากกว่าจอ 8 บิตถึง 64 เท่าตัว ซึ่งยิ่งบิตสูง ก็จะยิ่งมีสีที่แสดงได้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถเกลี่ยไล่สีได้เนียนตากว่า
จอ 8 บิตและจอ 10 บิต
ส่วนใหญ่แล้ว จอที่วางขายในปัจจุบันจะเป็นจอ 8 บิต ที่แสดงได้ 16.7 ล้านสีเป็นหลัก นับตั้งแต่ราคาเริ่มต้นไม่ถึง 2,000 ไปจนถึงจอรุ่นราคาหลักหมื่น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นจอคอมที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานทั่วไป จอใช้เล่นเกมในรุ่นที่ผู้ผลิตอาจจะต้องการเน้นสเปคด้านอื่นมากกว่า เป็นต้น ซึ่งค่าสี 8 บิต ก็อยู่ในระดับที่เพียงพออยู่แล้ว
ด้านของจอ 10 บิต มักจะอยู่ในจอที่มีราคาตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป โดยเฉพาะจอคอมสำหรับงานกราฟิก งานพิมพ์โดยเฉพาะ เพื่อให้มีความแม่นยำของสีที่สูง แต่ในปัจจุบันเราจะพบจอบางรุ่นที่บอกว่าเป็นจอ 8+2 บิต (8 bit + FRC) นั่นคือจอ 8 บิตที่เสริมความสามารถในการควบคุมพิกเซลให้มีการกระพริบให้แสดงสองสีสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว เพื่อหลอกสายตาให้เสมือนว่าจอนี้ให้สีสันได้ระดับเดียวกันกับจอ 10 บิตเลย แต่มีราคาที่ย่อมเยากว่า
สำหรับในการใช้งานทั่วไป การเลือกจอคอมแบบ 8 บิต หรือ 8+2 บิตก็จัดว่าโอเคกับการใช้ทำงานแล้วครับ เว้นแต่ว่าต้องใช้งานกราฟิก งานที่ต้องเน้นความแม่นยำของสีประมาณนึง ก็อาจจะมองขั้นต่ำที่ 8+2 บิตไว้ก่อน แต่ถ้างบถึง หรือต้องใช้กับงานกราฟิก งานพิมพ์ที่ต้องเน้นความแม่นยำของสีมาก ๆ งานระดับมืออาชีพ ก็เลือกจอ 10 บิตได้เลย ตอนนี้ราคาจับต้องได้ง่ายขึ้นพอสมควรแล้ว
ค่าขอบเขตสี (color gamut)
เป็นค่าที่ใช้บ่งบอกว่าจอนั้น ๆ สามารถแสดงสีออกมาได้ระดับไหน เมื่อเทียบเป็น % กับมาตรฐานขอบเขตสีที่มีหน่วยงาน องค์กรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านภาพได้กำหนดไว้ ถ้าให้คิดแบบง่าย ๆ ก็คือยิ่ง % สูง ก็ยิ่งมีโอกาสที่สีจอจะตรงมากขึ้นด้วย แต่ก็ยังมีปัจจัยเชิงลึกอื่น ๆ อีก เช่นค่า delta E แต่ในบทความนี้เราจะเน้นกล่าวถึงเรื่องค่าขอบเขตสีเป็นหลักก่อน โดยชื่อของขอบเขตสีหลัก ๆ ที่มักพบในการเลือกซื้อจอคอมในตอนนี้ก็ได้แก่
- sRGB – เป็นมาตรฐานขอบเขตสีแบบสากล ที่ใช้ในหน้าจอ กล้องถ่ายรูป ทีวี เครื่องพิมพ์ และบนหน้าเว็บไซต์ โดยใช้การอ้างอิงตามค่าสี RGB โดยตรงเลย
- NTSC – เป็นมาตรฐานในเชิงการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์เป็นหลัก มักพบระบุในจอที่เน้นด้านการตัดต่อวิดีโอระดับมืออาชีพเป็นหลัก ทำให้มาตรฐานนั้นสูงมาก ๆ จอในท้องตลาดส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ 45% – 72% NTSC เท่านั้น (72% NTSC เทียบได้กับ 100% sRGB)
- DCI-P3 – เริ่มพบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเป็นมาตรฐานที่ใช้กันในกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มีขอบเขตปริมาณสีที่แสดงได้มากกว่า sRGB ราว 25-26%
- AdobeRGB – เจอบ้าง แต่มักจะระบุในกลุ่มจอสายกราฟิกระดับโปร ไม่ค่อยพบในการระบุสเปคจอปกติมากนัก ก่อตั้งโดย Adobe เพื่อใช้อ้างอิงกับโปรแกรมของ Adobe เองเป็นหลัก เช่น Photoshop, Illustrator เป็นต้น เน้นไปทางงานสายสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ให้ขอบเขตสีที่กว้างกว่า sRGB
ในการแสดงขอบเขตสีในรูปแบบแผนภาพ จะใช้การแสดงในรูปแบบปริภูมิสี โดยมีกรอบสามเหลี่ยมที่ระบุว่ามาตรฐานสีแต่ละรูปแบบ ถูกกำหนดไว้ว่าให้แสดงเฉดสีได้ถึงระดับใดบ้าง ตัวอย่างเช่น sRGB ที่เป็นกรอบสีขาว จะถือว่ามีการกำหนดสีในเฉดน้ำเงินที่มากกว่าขอบเขตสีแบบอื่น แต่จะด้อยกว่าในส่วนของสีเขียวและสีแดง ในขณะที่ DCI-P3 จะเหนือกว่า sRGB ที่เฉดสีเขียวและแดง เป็นต้น ทำให้จอที่รองรับ DCI-P3 % สูง ๆ อาจจะให้ภาพโทนสีเขียวและแดงที่ดูอิ่มกว่า ไล่สีได้ดีกว่า
ทีนี้ในการระบุด้านค่าขอบเขตสีในส่วนของสเปคจอ ผู้ผลิตจะระบุว่าสามารถทำได้สูงสุดกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับมาตรฐานต่าง ๆ เช่น จอนี้รองรับ 103% sRGB ก็หมายความว่า จอจะสามารถแสดงสีสันได้เกินกว่ามาตรฐาน sRGB เล็กน้อย ซึ่งอาจจะไปแตะบางจุดของขอบเขตสีอื่นได้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็ต้องใช้การตรวจสอบจากกราฟปริภูมิสีของจอนั้นจริง ๆ อีกทีครับ แต่ให้เทียบแบบคร่าว ๆ ก็คือ ยิ่ง % สูงไว้ก่อนก็ยิ่งมีโอกาสดีที่สีจอคอมจะแม่นยำ สีจะตรงกว่า
ซึ่งตรงนี้แหละครับ ที่อาจทำให้บางทีเวลาเราทำงานบนจอนึง แต่พอส่งให้ลูกค้าที่ดูจากคนละจอ สีภาพจึงออกมาไม่ตรงกับที่เราต้องการ เนื่องจากค่าขอบเขตสีของจอทั้งสองฝั่งอาจจะไม่เท่ากัน จึงเกิดการสีเพี้ยนไปบ้าง
ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การคาลิเบรตจอ จะช่วยให้จอคอมทุกรุ่นมีสีตรงขึ้นได้หรือไม่
ในกรณีนี้ การคาลิเบรตจอช่วยให้สีตรงขึ้นได้จริงครับ ถ้าหากตัวจอมีศักยภาพเพียงพอ พาเนลมีคุณภาพ สามารถรองรับช่วงขอบเขตค่าสีได้เยอะมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มจอที่มีราคาขึ้นมานิดนึง แต่ถ้าเป็นจอรุ่นราคาประหยัดมาก ๆ ขอบเขตสีค่อนข้างจำกัด การคาลิเบรตอาจไม่ช่วยมากนัก แต่ถามว่าดีขึ้นมั้ย มันก็ดีขึ้นอยู่ แต่ก็ตามศักยภาพที่จอทำได้เท่านั้น คงไปสีตรงเทียบเท่ารุ่นแพง ๆ ได้ยาก
ใช้งานแบบนี้ เลือกจอคอมยังไงดี?
ซื้อจอมาใช้ทำงานเอกสาร ใช้งาน office เล่นเน็ต พิมพ์งาน เขียนโปรแกรม เขียนแอป
เลือกจอขนาดตั้งแต่ 21.5″ ขึ้นไป ถ้าให้ดีก็ควรเริ่มต้นที่ 23.8″ หรือมากกว่า ที่มีความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080) หรือสูงกว่าได้ก็ยิ่งดี ส่วนค่าสี ไม่เจาะจงมาก จอพื้นฐานทั่วไปสามารถใช้งานประเภทนี้ได้อยู่แล้ว ส่วนถ้าเป็นจออัลตร้าไวด์ก็ใช้ได้เช่นกัน ซึ่งจะเหมาะมากกับงานที่ต้องเปิดหลายโปรแกรมพร้อมกันบนจอ หรืองานที่ต้องอาศัยพื้นที่ในแนวกว้างที่มากกว่าปกติ
ซื้อจอมาใช้งานด้านกราฟิก แต่งรูป ตัดต่อวิดีโอ ทำแอนิเมชัน เขียนแบบ
เน้นเลือกจอที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 23.8″ ขึ้นไป แต่ถ้าจะให้ลงตัวก็ควรเป็น 27″ ไว้ก่อน ความละเอียดขั้นต่ำที่ Full HD แต่ถ้าขึ้นไปที่ 2K หรือ 4K ได้ก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกได้มาก เพราะโปรแกรมในกลุ่มนี้ มักจะมีหน้าต่างย่อยสำหรับเครื่องมือวางอยู่บนหน้าจอเป็นจำนวนมาก ส่วนเรื่องค่าสีก็จะต้องจริงจังขึ้นมาพอสมควร แนะนำว่าควรเป็นแบบ 8+2 บิตหรือ 10 บิตไปเลย ค่าขอบเขตสี sRGB มากกว่า 100% และ DCI-P3 ตั้งแต่ 90% ขึ้นไป โดยเฉพาะสายตัดหนัง อาจจะต้องเน้นที่ DCI-P3 สูง ๆ ไว้เป็นหลัก ส่วน AdobeRGB ก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้งานด้านสิ่งพิมพ์ร่วมกับโปรแกรมกลุ่ม Adobe มากขนาดไหน ถ้าใช้เยอะก็เน้นค่านี้สูง ๆ หน่อย
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเลือกซื้อจอประเภทนี้มาใช้งาน ก็ควรศึกษารายละเอียดเชิงลึกด้านสเปคอีกครั้งก่อนตัดสินใจครับ เช่นเรื่องกราฟปริภูมิสี ค่า delta E ค่าความสว่างของจอ การสะท้อนของผิวจอ รวมถึงหลังซื้อมาแล้ว ก็อาจจะต้องมีการคาลิเบรตจอด้วยฮาร์ดแวร์อีกครั้ง เพื่อให้ได้สีสันที่แม่นยำ และตรงความต้องการที่สุด เพราะงานประเภทนี้จะค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องสี
ซื้อจอมาใช้งานกราฟิกจริงจังระดับมืออาชีพ งานสิ่งพิมพ์ งานตัดต่อหนังใหญ่ขึ้นโรง ตัดต่อรายการทีวี
ในกลุ่มนี้ก็จะคล้าย ๆ กับกลุ่มก่อนหน้าเลย คือเลือกจอขนาดขั้นต่ำ 27″ ความละเอียด 2K ขึ้นไป แต่แนะนำว่าเป็น 4K จะดีที่สุด ส่วนเรื่องค่าสี ก็สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้เช่นกัน เช่นถ้าเป็นงานสายสิ่งพิมพ์ที่ต้องเน้นความแม่นยำของสีก่อนพิมพ์มาก ๆ ก็คงต้องเจาะจงเลือกจอที่มีขอบเขตสี AdobeRGB เกือบ 100% เป็นหลัก