ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED รุ่นย่อจอให้ครีเอเตอร์พกพาสะดวกยิ่งขึ้น
ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED โน๊ตบุ๊คน้องเล็กสุดในอนุกรม ASUS Zenbook ที่นอกจากจะตัวเล็กพกง่ายไม่หนักไหล่เหมือนพี่ๆ ในตระกูล Zenbook สองหน้าจอแล้ว เรื่องประสิทธิภาพและฟีเจอร์ก็ถือว่าได้มาเพียบไม่แพ้รุ่นใหญ่และได้ฟีเจอร์น่าสนใจอัดเข้ามาล้นเครื่องมากมายและผ่านมาตรฐานเป็น Intel Evo อีกด้วย ในส่วนของดีไซน์คือได้หน้าจอ ASUS ScreenPad Plus หน้าจอเสริมสำหรับใช้พักโปรแกรมหรือเป็นแผงควบคุมพิเศษเสริมเข้าไปกับโปรแกรมหลักที่ใช้งานอยู่ก็ได้, ได้ Dished Keycaps ตัวปุ่มโค้งลง 0.2 มม. ระยะกด 1.4 มม. ให้ผู้ใช้ที่เน้นพิมพ์งานด้วยคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คพิมพ์ได้แม่นยำและสะดวกยิ่งกว่าเดิมรวมทั้งทัชแพดขนาดเล็กแบบไม่จับรอยนิ้วมือที่ติดตั้งไว้ข้างคีย์บอร์ด ซึ่งทางบริษัทได้วิจัยแล้วว่าการดีไซน์เช่นนี้ถูกต้องตามหลักสรีระศาสตร์รวมไปถึงเซนเซอร์สแกนใบหน้า IR Camera ติดตั้งเอาไว้รวมกับชุด Webcam เพื่อปลดล็อคเครื่องได้สะดวก ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านก็ได้ เสริมไมค์มา 4 ตัวเพื่อให้สื่อสารเวลาประชุมงานได้ง่าย ลำโพงของตัวเครื่องได้ harman/kardon มาจูนเสียงให้พร้อมติดตั้งชิป Smart amp ช่วยขยายเสียงให้ดังกว่าเดิม 3.5 เท่า รองรับ Dolby Atmos ให้เสียงกระหึ่มดังชัดเจนรอบทิศทาง
ด้านตัวเครื่องสี Tech Black ของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED นั้นใช้วัสดุเป็นแม็กนีเซียมอลูมิเนียมเช่นเดียวกับรุ่นใหญ่ ให้ความแข็งแรงทนทานและหรูหรารวมทั้งเคลือบสารกันลายนิ้วมือเอาไว้ให้พร้อมระบบระบายความร้อน ASUS IceCool Plus, AAS Ultra ซึ่งดึงอากาศเย็นเข้าไประบายความร้อนได้ดีกว่าเดิม 38% ทำให้ตัวเครื่องเย็นกว่าเดิมถึง 4 องศาเซลเซียส ช่วยให้ทำงานต่อเนื่องได้นานโดยไม่มีปัญหา ส่วนหน้าจอที่เป็นไฮไลต์ก็จัดว่าสุดยอดไม่แพ้ฟีเจอร์อื่น โดยได้ขนาดหน้าจอ 14.5 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2880×1800) อัตราส่วน 16:10 พาเนล OLED ความสว่างสูงสุด 500 nits รองรับ HDR และ Dolby Vision ได้อัตราส่วนตัวเครื่องต่อหน้าจอ (Screen-to-Body ratio) ที่ 93% ไม่พอ ยังได้ค่า Refresh Rate สูงถึง 120Hz กับ Response Time 0.2ms เท่านั้น แสดงขอบเขตสีได้กว้าง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง PANTONE Validated, VESA DisplayHDR True Black 500 ยืนยันความเที่ยงตรงทั้งสีสันทั่วไปและสีดำที่ดำสนิท เรียกว่าเป็นจอคุณภาพสำหรับครีเอเตอร์โดยเฉพาะ ด้านจอ ASUS ScreenPad Plus ขนาด 12.7 นิ้ว ก็ได้ความละเอียดระดับ 2.8K (2880×864) พาเนล IPS อัตราส่วนหน้าจอ 32:10 พร้อมค่า Refresh Rate 120Hz เท่ากันอีกด้วย และทั้งสองหน้าจอยังเป็นหน้าจอทัชสกรีนทั้งคู่ ใช้ปากกา ASUS Pen 2.0 เขียนลงบนหน้าจอได้ด้วย
ด้านสเปคอื่นๆ ของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เรียกว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะซีพียู Intel 12th Gen สถาปัตยกรรม Alder Lake และการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti แรม 4GB GDDR6 พร้อมไดรเวอร์ NVIDIA Studio ที่เน้นการทำงานกับโมเดล 3D และ AI-augmented รองรับการสั่งอัพเกรดแรมได้มากสุด 32GB ได้ M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 สามารถอ่านเขียนข้อมูลได้เร็ว 6,500MB/s รองรับความจุสูงสุด 2TB มีพอร์ต Thunderbolt 4 Full-Function ติดตั้งมาถึง 2 พอร์ต รองรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax ได้อีกด้วย นับว่าครบเครื่องผิดกับขนาดตัวเครื่องที่พกพาได้ง่ายเช่นนี้
NBS Verdicts
จากข้อดีและจุดเด่นทั้งหมดที่ได้กล่าวมา จะเห็นว่า ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ราคา 59,990 บาท นับเป็นโน๊ตบุ๊คเพื่อครีเอเตอร์ที่น่าใช้อีกรุ่น มันสามารถทำงานกราฟฟิค, งาน 3D ต่างๆ ได้ดีไม่แพ้รุ่นใหญ่ แต่ถูกย่อส่วนให้เล็กพกพาได้ง่ายยิ่งขึ้น ช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถพกโน๊ตบุ๊คติดตัวไปทำงานหรือพรีเซนต์งานกับลูกค้าได้สะดวกขึ้นมาก ดังนั้นถ้าใครชื่นชอบตระกูล Zenbook Duo เป็นทุนเดิมแต่ไม่ได้อยากพกโน๊ตบุ๊คเครื่องใหญ่ล่ะก็ เครื่องนี้คือคำตอบที่ดีมากอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทั้งฟีเจอร์กับสเปคเรียกว่าไม่แพ้รุ่นที่ราคาแพงกว่านี้แต่ก็พกง่ายไม่ต่างกับโน๊ตบุ๊คหน้าจอ 14 นิ้วหลายๆ รุ่นที่ ASUS วางจำหน่ายอยู่
สเปคของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เครื่องนี้ได้ซีพียู Intel Core i7-12700H กับการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti มี M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ความจุ 1TB ติดตั้ง Windows 11 Home มาให้พร้อมโปรแกรม Microsoft Office Home & Student 2021 แรม 16GB LPDDR5 บัส 4800MHz และหน้าจอหลัก 14.5 นิ้ว ความละเอียด 2.8K พาเนล OLED ได้รับการรับรองจาก PANTONE Validated, VESA DisplayHDR True Black 500 เหมาะกับครีเอเตอร์สายกราฟฟิคหรือจะช่างภาพสามารถใช้มันทำงานได้อย่างดีแน่นอน มีกล้อง IR Camera ติดตั้งมาให้ใช้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องได้ ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านให้ยุ่งยากและช่วยกันผู้ใช้ที่ถือวิสาสะเข้ามาใช้โน๊ตบุ๊คของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย
แต่เมื่อถูกย่อขนาดลง ฟีเจอร์บางส่วนของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ก็ถูกตัดทอนออกไป ได้แก่ ASUS NumberPad ซึ่งใช้สลับโหมดระหว่าง Touchpad หรือ Numpad ทำให้คีย์บอร์ดของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เป็นคีย์บอร์ดแบบ Tenkeyless และตัวทัชแพดเองก็มีขนาดค่อนข้างเล็กทีเดียว เวลาใช้งานจริงก็พบปัญหาว่าลากเคอร์เซอร์ได้ไม่สุดหน้าจอและยังกดคลิกซ้ายผิดไปกดปุ่มลูกศรที่อยู่ใกล้ๆ กันบ่อยครั้งอีกด้วย นอกจากนี้ทาง ASUS เองก็ไม่ได้เซ็ตปุ่มปรับโหมดตัวเครื่องมาให้บนคีย์บอร์ดด้วย เนื่องจากพื้นที่คีย์บอร์ดไม่พอใช้งาน เวลาต้องการปรับโหมดให้ทำงานเต็มที่หรือประหยัดพลังงานต้องเปลี่ยนในโปรแกรม MyASUS อย่างเดียวเท่านั้น จัดว่าไม่ได้ลำบากแต่ก็น่าเสียดายที่ไม่มีให้ใช้งาน
ข้อดีของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED
- ซีพียูเป็น Intel Core i7-12700H ประสิทธิภาพสูงพร้อมทำงานหนักได้เป็นอย่างดี
- การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti ใช้ไดรเวอร์ NVIDIA Studio ทำงานได้ดีและเสถียร
- บอดี้ตัวเครื่องเป็นวัสดุเป็นแม็กนีเซียมอลูมิเนียม ให้ความแข็งแรงทนทานและหรูหรารวมทั้งเคลือบสารกันลายนิ้วมือมาด้วย
- ระบบระบายความร้อน ASUS IceCool Plus, AAS Ultra ช่วยให้ถ่ายเทความร้อนได้ดี ไม่เกิดอาการ Throttle Down ระหว่างใช้งาน
- ได้หน้าจอทัชคุณภาพสูงขนาด 14.5 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2880×1800) พาเนล OLED รองรับ HDR และ Dolby Vision Refresh Rate สูงถึง 120Hz
- หน้าจอหลักแสดงขอบเขตสีได้กว้าง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง PANTONE Validated, VESA DisplayHDR True Black 500
- มีหน้าจอ ASUS ScreenPad Plus มาให้ใช้งานเป็นหน้าจอเสริม ใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น
- คีย์บอร์ดเป็นปุ่ม Dished Keycaps ตัวปุ่มโค้งลง 0.2 มม. ระยะกด 1.4 มม. พิมพ์งานสะดวกและแม่นยำ
- ลำโพงได้ harman/kardon มาจูนเสียงให้ มีชิป Smart amp รองรับ Dolby Atmos ได้เสียงที่ดีน่าประทับใจเป็นพิเศษ
- มีพอร์ต Thunderbolt 4 Full-Function ติดตั้งมาให้ 2 ช่อง ต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่คืนให้โน๊ตบุ๊คได้ในตัวและมีพอร์ตพื้นฐานติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน
- รองรับการเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi 6E สามารถรับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตได้เร็วและเสถียร
- ติดตั้งกล้อง IR Camera มาให้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
- มีปากกา ASUS Pen 2.0 มาให้ใช้เขียนและทำเครื่องหมายบนเอกสารได้ทันที
- มี Microsoft Office Home & Student 2021 ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน
ข้อสังเกตของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED
- Touchpad มีขนาดเล็กและไม่มี ASUS NumberPad ติดตั้งมาให้ใช้งาน
- ไม่มีปุ่มปรับโหมดตัวเครื่อง ถ้าต้องการปรับโหมดต้องเปิด MyASUS ขึ้นมาตั้งค่า
- ชิ้นส่วนต่างๆ บนเมนบอร์ดถูกฝังมาแบบออนบอร์ด อัพเกรดได้แต่ M.2 NVMe SSD
- ไม่มีได้ใช้ดีไซน์ ASUS ErgoLift hinge เหมือน ASUS Zenbook Pro Duo เครื่องอื่น ตอนกางจอพิมพ์งานแล้วแป้นคีย์บอร์ดจะไม่ยกตัวขึ้น
รีวิว ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
สเปคของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ถูกออกแบบมาเพื่อให้ครีเอเตอร์ได้ใช้ทำงานสร้างสรรค์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะทำโมเดล 3D CG, ตัดต่อวิดีโอหรือจะแต่งภาพก็ทำได้ยอดเยี่ยม โดยสเปคมีรายละเอียดดังนี้
สเปคของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED
- CPU : Intel Core i7-12700H แบบ 14 คอร์ 20 เธรด ความเร็ว 3.5-4.7GHz (6P+8E)
- GPU : NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti (4GB GDDR6)
- SSD : M.2 NVMe 1TB PCIe 4.0
- RAM : 16GB LPDDR5 บัส 4800 MHz
- Monitor – แยกเป็น 2 หน้าจอ
- หน้าจอหลัก : 14.5 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2880×1800) อัตราส่วน 16:10 พาเนล OLED ความสว่างสูงสุด 500 nits รองรับ HDR, Dolby Vision อัตราส่วนตัวเครื่องต่อหน้าจอ (Screen-to-Body ratio) 93% ค่า Refresh Rate 120Hz, Response Time 0.2ms ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง PANTONE Validated, VESA DisplayHDR True Black 500
- ASUS ScreenPad Plus : 12.7 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2880×864) พาเนล IPS อัตราส่วนหน้าจอ 32:10 พร้อมค่า Refresh Rate 120Hz
- Port : Thunderbolt 4 x 2 Full-Function, USB-A 3.2 Gen 2 x 1, HDMI 2.1 x 1, SD Express 7.0 Card Reader x 1, Audio combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax, Bluetooth 5.1
- Camera : IR Camera 720p HD
- Software : Windows 11 Home, Microsoft Office Home & Student 2021
- Weight : 1.7 กิโลกรัม
- Price : 59,990 บาท
Hardware & Design
ดีไซน์ของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะอิงดีไซน์ร่วมกับ ASUS Zenbook รุ่นอื่นๆ ในตระกูล มีหน้าจอคู่ทั้งหน้าจอหลักและจอเสริมติดตั้งมาให้ แต่ย่อขนาดให้เล็กลงเท่าโน๊ตบุ๊ค 14 นิ้วหลายๆ รุ่น สกรีนคำว่า ASUS Zenbook เอาไว้ตรงกลางขอบล่างหน้าจอ ScreenPad Plus เพื่อบอกตระกูลของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้และเว้นขอบตัวเครื่องเอาไว้เล็กน้อยให้ใช้นิ้วเกี่ยวดึงหน้าจอเปิดขึ้นได้สะดวก แต่จากที่ทดลองกางหน้าจอด้วยนิ้วเดียวแล้วแนะนำให้ใช้มืออีกข้างช่วยประคองเครื่องจะดีกว่า เนื่องจากบาลานซ์น้ำหนักเครื่องจะหนักไปส่วนด้านหลังเครื่องเป็นพิเศษ เวลากางเครื่องด้วยมือข้างเดียวแล้วตัวเครื่องจะกระดกตามมาด้วย
การออกแบบกลไกบานพับหน้าจอ ScreenPad Plus จะใช้ดีไซน์คล้าย ASUS Zenbook Pro Duo รุ่นอื่นๆ เมื่อกางหน้าจอหลักแล้วจอเสริมจะยกขึ้นทำมุม 12 องศา ทำให้มองเห็นได้สะดวกพอดี พยุงไว้ด้วยก้านเหล็กเส้นเดียวสองฝั่งค้ำยันให้หน้าจอเสริมมั่นคง ส่วนบานจอหลักจะล็อคเอาไว้กับก้านเหล็กเส้นเดียวทรงกลม ถ้าพับเครื่องเก็บแล้วตัวก้านจะตกลงไปอยู่ในชุดถาดเก็บก้านบานพับหน้าจอในเครื่องรวมกับตัวก้านที่พยุง ScreenPad Plus นั่นเอง
เวลากางหน้าจอจนสุด ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะกางได้ราว 140 องศา จัดว่ากว้างมากเพราะตัวก้านเหล็กของหน้าจอหลักถูกติดล็อคเอาไว้ด้านใต้ ScreenPad Plus อีกที ทำให้ตอนกางจนสุดแล้วขอบล่างของหน้าจอหลักจะมุดเข้าไปด้านใต้จอเสริม เพิ่มองศาการกางหน้าจอให้กว้างกว่าโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้
แต่ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ไม่ได้ใช้ดีไซน์แบบ ASUS ErgoLift hinge เหมือน ASUS Zenbook Pro Duo รุ่นอื่น ดังนั้นตอนกางหน้าจอแล้วสังเกตว่าฐานเครื่องจะราบติดพื้นเหมือนเดิม ไม่ได้ยกตัวขึ้นเล็กน้อยให้แป้นคีย์บอร์ดเฉียงเข้าหาผู้ใช้แต่เนื่องจากฐานตัวเครื่องไม่หนามาก ทำให้ใช้ความคุ้นชินตอนใช้โน๊ตบุ๊คขนาด 14 นิ้วรุ่นอื่นๆ มาทดแทนได้อยู่
ฝาหลังของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เป็นแม็กนีเซียมอลูมิเนียมปัดเงา ให้ความเรียบหรูสวยงาม ติดโลโก้อลูมิเนียมของ ASUS ทรงลูกศรคล้ายตัว “A” เอาไว้ตรงกลางฝั่งขวาของบานหลังจอและยิงเลเซอร์คำว่า “ASUS Zenbook” เอาไว้ตรงขอบล่างของตัวเครื่องด้วย ซึ่งเป็นดีไซน์เน้นความสวยเรียบหรูเสริมบุคลิคผู้ใช้ได้ดีขึ้นพอตัว
ขอบด้านใต้ตัวเครื่องจะมีกรอบยางสองชุด แยกเป็นชุดกรอบยางทรงกรอบสี่เหลี่ยมล้อมช่องระบายความร้อน 3 แถวตรงขอบบนตัวเครื่องเอาไว้ คั่นด้วยชุดสติกเกอร์บอกสเปคต่างๆ และการสกรีนตัวอักษรเอาไว้เพื่อบ่งบอกรุ่นและรายละเอียดต่างๆ ของตัวเครื่องและในส่วนกลางนี้จะมีช่องลำโพงฝั่งซ้ายและขวาติดตั้งเอาไว้ด้วย ส่วนขอบล่างสุดของตัวเครื่องจะเป็นแถบยางอีกเส้นเดินแนวยาวสุดขอบเครื่องทั้งสองฝั่งติดตั้งเอาไว้ด้วย ซึ่งการเซ็ตกรอบตัวเครื่องเช่นนี้ทำให้บอดี้แม็กนีเซียมอลูมิเนียมของตัวเครื่องไม่เกิดริ้วรอยจากพื้นโต๊ะหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คอย่างแน่นอน
Screen & Speaker
หน้าจอของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะมีทั้งหมดสองหน้าจอด้วยกัน ซึ่งหน้าจอหลักมีอัตราส่วนหน้าจอต่อตัวเครื่อง (Screen-to-Body ratio) มากถึง 93% ขนาด 14.5 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2880×1800) อัตราส่วน 16:10 พาเนล OLED ความสว่างสูงสุด 500 nits รองรับ HDR, Dolby Vision อัตราส่วนตัวเครื่องต่อหน้าจอ (Screen-to-Body ratio) 93% ค่า Refresh Rate 120Hz, Response Time 0.2ms ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง PANTONE Validated, VESA DisplayHDR True Black 500 ซึ่งเหมาะกับการทำงานอาร์ตเวิร์ค, แต่งภาพถ่ายต่างๆ หรือเรนเดอร์ 3D CG ก็ทำได้ดีเช่นกัน และสังเกตว่าพาเนลหน้าจอ OLED มีระยะองศาการมองเห็นกว้างไม่แพ้กับพาเนล IPS เลย แต่หากเป็นจอทัชสกรีนที่ปิดด้วยกระจกเมื่อไหร่จะมีอาการจอสะท้อนแสงตามวิสัยของจอกระจก
ด้านจอ ASUS ScreenPad Plus มีขนาด 12.7 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2880×864) พาเนล IPS อัตราส่วนหน้าจอ 32:10 พร้อมค่า Refresh Rate 120Hz เป็นจอเสริมสำหรับสาย Zenbook Duo มีความละเอียดเท่ากัน โดยทางบริษัทติดตั้งมาให้เป็นจอซัพพอร์ตจอหลัก มีแถบฟังก์ชั่นการทำงานติดตั้งไว้ขอบจอฝั่งซ้ายมือ มีคำสั่งลดเพิ่มแสงหน้าจอเสริม, สลับหน้าจอ, ปิดเปิด Webcam/Microphone ฯลฯ ติดตั้งมาให้และเซ็ต Shortcut เรียกโปรแกรมต่างๆ ได้ด้วย
ส่วนขอบเขตสีหน้าจอเมื่อทดสอบและ Calibrate หน้าจอด้วย Calibrite ColorChecker Display กับโปรแกรม DisplayCal 3 จะเห็นว่าจอของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED สามารถแสดงขอบเขตสีได้กว้างตอบโจทย์สายทำงานอาร์ตจริงๆ ได้ค่า Gamut coverage ระดับ 100% sRGB, 96.7% Adobe RGB, 99.7% DCI-P3 ส่วน Gamut volume ถือว่ากว้างมากระดับ 172.1% sRGB, 118.5% Adobe RGB และ 121.9% DCI-P3 เทียบความเที่ยงตรงสี Delta-E แล้วจะได้เฉลี่ย 0.1~1.99 เป็นจอค่า Delta-E <2 นับว่าสีสันบนหน้าจอนี้แม่นยำ สามารถใช้แต่งภาพ, ทำงานอาร์ตเวิร์คหรือจะเอาไปพรีเซนต์งานกับทางลูกค้าก็อ้างอิงสีบนหน้าจอนี้ได้เลยไม่ต้องต่อหน้าจอแยกก็ได้
ความสว่างหน้าจอสูงสุดที่ Calibrite ColorChecker Display วัดได้คือ 344.45 cd/m2 จัดว่าสว่างพอสู้แสงแดดได้สบายๆ สามารถนำไปนั่งทำงานนอกตัวอาคารอย่างชานร้านกาแฟหรือจะนั่งริมระเบียงแล้วโดนแดดส่องก็มองหน้าจอได้ชัดเจนอย่างแน่นอน ถ้าใช้งานในออฟฟิศหรือในร่มและมีแต่แสงไฟนีออนอย่างเดียว แนะนำให้ปรับความสว่างเหลือช่วง 60~70% ก็สว่างพอให้มองเห็นได้ชัดเจนแล้ว
ลำโพงของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เครื่องนี้ติดตั้งอยู่ขอบล่างของตัวเครื่อง ได้ harman/kardon มาจูนเสียงให้พร้อมเสริมชิป Smart amp ให้เสียงดังขึ้นกว่าปกติ 3.5 เท่าและรองรับ Dolby Atmos ด้วย เมื่อเปิดเสียงเพลงดังสุด 100% แล้ววัดด้วยเครื่องวัดค่าเดซิเบล จะดังราว 86dB ซึ่งถือว่าดังมากหากใช้งานในห้องนอนส่วนตัว แนะนำให้เปิดเสียงเอาไว้ราว 70% จะดังกำลังดีไม่หนวกหูจนเกินไป
ด้านเสียงลำโพงจากที่ผู้เขียนได้ทดลองเปิดฟังเพลงแล้ว ถือว่าลำโพงของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED นั้นยอดเยี่ยมเกินตัวมาก เสียงเครื่องดนตรีและเสียงนักร้องแยกกันชัดเจน ได้โทนเสียงโดดเด่นไม่แพ้กันและไม่กลืนกัน ด้านเสียงเบสก็ขับได้หนักแน่น โทนเบสทุ้มลึกได้ยินชัดเจนและอลังการมีแรงปะทะระดับหนึ่ง นับเป็นหนึ่งในลำโพงโน๊ตบุ๊คที่ยอดเยี่ยมเกินราคาค่าตัวไปหลายขุมและดีกว่าลำโพงแยกหลายๆ แบรนด์ที่วางขายในท้องตลาด ณ ตอนนี้อีกด้วย กล่าวได้ว่า ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เป็นโน๊ตบุ๊คที่ติดตั้งและจูนเสียงลำโพงมาได้ยอดเยี่ยมอีกรุ่นหนึ่งในปี 2022 นี้ก็ไม่ผิดนัก
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะอิงเลเยอร์และดีไซน์มาจากรุ่น 15.6 นิ้วแทบทั้งหมด มีไฟ LED Backlit สีขาวติดตั้งมาให้พิมพ์งานในที่แสงน้อยได้สะดวกและปรับความสว่างได้ มี Function Key ติดตั้งไว้รวมกับปุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะปุ่มลูกศรทั้ง 4 ทิศทางที่รวมกับ Page Up, Page Down, Home, End และดีไซน์แบบร่นปุ่ม Grave Accent (~) ให้เล็กลงครึ่งหนึ่งด้วย ถัดไปฝั่งขวามือจะมีทัชแพดติดตั้งมาให้คุมเคอร์เซอร์เมาส์ได้ด้วย แต่จุดสังเกตแรกของคีย์บอร์ด คือ ทาง ASUS ตัดปุ่มลัดสำหรับปรับโหมดตัวเครื่อง (ไอคอนรูปพัดลม) ถูกตัดออกไป ทำให้เวลาต้องการปรับโหมดการทำงานต้องไปเปลี่ยนการตั้งค่าใน MyASUS แทน
สำหรับ Function Hotkey ตรงบรรทัดบนสุด จะมีคำสั่งสลับโหมดการทำงานกลับเป็น F1-F12 ได้ด้วย โดยกด Fn+Esc ได้ด้วย ส่วนคึย์ลัดที่ทาง ASUS เซ็ตมาให้บนคีย์บอร์ดนี้ได้แก่
- F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- F4-F5 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F6 – ปิดการทำงานทัชแพด
- F7 – ปรับความสว่างไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด
- F8 – ปุ่ม Project สำหรับตั้งค่าหน้าจอหลักและจอเสริม
- F9 – ปิดหรือเปิดไมโครโฟน ถ้าปิดอยู่จะมีไฟติด
- F10 – ปิดหรือเปิดกล้อง Webcam ถ้าปิดอยู่จะมีไฟติด
- F11 – เรียกโปรแกรม Snipping Tool
- F12 – เรียกโปรแกรม MyASUS
ส่วนของ Function Hotkey ตรงปุ่ม F1-F12 ของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ถ้าดูเผินๆ จะเห็นว่าปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ ก็ดูครบถ้วนดี แต่ก็ทับซ้อนกับแถบฟังก์ชั่นด้านข้างของ ASUS ScreenPad Plus และยังมีปุ่มฟังก์ชั่นที่ไม่จำเป็นต้องติดมาให้ด้วย ได้แก่ ปุ่ม F9, F10 ที่ใช้เปิด/ปิดไมค์และลำโพงนั้นไม่จำเป็นต้องติดตั้งมาให้ก็ได้, ปุ่มปิดการทำงานทัชแพดที่สันมือทั้งสองข้างไม่มีทางพาดโดน และทาง ASUS ก็ไม่รวบปุ่ม Snipping Tool เอาไว้กับคำสั่ง Print Screen ให้เป็นหมวดเดียวกัน ทำให้ปุ่มซ้ำซ้อนเยอะเกินความจำเป็น
ในมุมของผู้เขียน ขอแนะนำให้ถอดคำสั่งปิดการทำงานทัชแพด, เปิด/ปิดไมค์และกล้อง Webcam ทั้งสามปุ่มนี้ทิ้งไปและขยับคำสั่ง Snipping Tool ไปรวมไว้กับ Print Screen แทน เท่านี้ก็จะได้คีย์ลัดให้เซ็ตเพิ่มเติมได้ถึง 4 ปุ่ม ซึ่งปุ่มว่างเหล่านี้สามารถจัดสรรไปเป็นปุ่มปรับโหมดการทำงานตัวเครื่อง, ปรับค่า Hz ของหน้าจอระหว่าง 60~120Hz, ปุ่มเรียกโปรแกรม Calculator และปุ่มคีย์ลัด Windows+Tab สำหรับเปิดดูโปรแกรมที่เปิดค้างเอาไว้แทนจะมีประโยชน์กว่า และใช้คำสั่งเปิด/ปิด Webcam และไมโครโฟนตรงแถบคำสั่งบนหน้าจอ ScreenPad Plus แทนก็ได้
ทัชแพดของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะมีขนาดค่อนข้างเล็กและติดตั้งไว้ด้านขวามือ ถัดจากแป้นคีย์บอร์ด ซึ่งตำแหน่งของทัชแพดบริเวณนี้ไม่มีโอกาสที่สันมือจะพาดโดนอย่างแน่นอน ตัวแป้นรองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วนและตอบสนองได้ไวตามปกติ มีปุ่มคลิกซ้ายขวาแยกอยู่ด้านล่างของตัวแป้น
ด้านประสบการณ์และจุดสังเกตการใช้งาน อย่างแรกคือทางบริษัทไม่ได้ใส่ฟีเจอร์ ASUS NumberPad มาด้วย คาดว่าเพราะขนาดของตัวเครื่องเล็กลงและมีจำกัดแต่ต้องคงขนาดคีย์บอร์ดให้ได้มาตรฐาน เลยต้องบีบขนาดของทัชแพดให้เล็กลงแทนจนมีขนาดไม่พอใส่ฟังก์ชั่น ASUS NumberPad มาให้เหมือนรุ่นจอ 15.6 นิ้ว และจุดสังเกตอีกอย่าง คือ ขนาดของตัวทัชแพดเล็กจนไม่สามารถลากเคอร์เซอร์เมาส์ไปจนสุดขอบหน้าจอทั้งสองฝั่งได้ไม่พอ เมื่อวางมือใช้ทัชแพดแล้วจะกดปุ่มคลิกซ้ายก็จะพลาดไปกดโดนปุ่มลูกศรขวามือเป็นประจำด้วยความเคยชินเพราะอุ้งมือคลุมปุ่มคลิกซ้ายและขวาไว้จนหมดจนต้องปรับตัวกันใหม่หมด ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้ต่อเมาส์แยกไปเลยดีกว่าและใช้ทัชแพดกรณีจำเป็นก็พอ
Connector / Thin & Weight
พอร์ตเชื่อมต่อของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะกระจายอยู่รอบเครื่องทั้งฝั่งซ้าย, ขวาและมีอยู่ด้านหลังเครื่องด้วย โดยพอร์ตและการเชื่อมต่อฝั่งซ้ายมือมี Audio combo x 1 ช่อง ด้านขวามือมี Thunderbolt 4 x 2 ช่อง เป็น Full-Function รองรับการเชื่อมต่อหน้าจอแบบ DisplayPort และชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้และมีพอร์ต USB-A 3.2 Gen 2 ด้วย ส่วนด้านหลังเครื่องจะมี HDMI 2.1 กับ SD Express 7.0 Card Reader อย่างละช่องติดตั้งเอาไว้ ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายรองรับ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.1
ว่าด้วยพอร์ตในมุมของผู้เขียน ต้องถือว่า ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ให้พอร์ตใช้งานมาครบเครื่องครบถ้วน โดยเฉพาะ Thunderbolt 4 จำนวน 2 ช่องแต่ก็ไม่ตัด USB-A 3.2 Gen 2 ทิ้งไป ทำให้ผู้ใช้ที่ต้องการโอนไฟล์, แบ็คอัพงานเข้า External HDD/SSD สามารถต่อใช้งานได้ไม่ต้องผ่านอุปกรณ์ต่อเสริมอื่นๆ ส่วนช่างภาพก็เอา MicroSD Card ของตัวเองโอนไฟล์เข้าเครื่องได้ง่ายๆ และยังต่อหน้าจอด้วย HDMI 2.1 ได้อีก ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้อง USB-C Multiport adapter มาใช้งานก็ได้ อย่างมากอาจจะซื้อมาเพิ่มพอร์ต USB-A 3.0 และ LAN อีกสักหน่อย เผื่อกรณีต้องเชื่อมต่อกับ Network ภายในบริษัทเพื่อทำงานเท่านั้นพอแล้ว
นอกจากนี้ในแพ็คเกจของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะมีซองโน๊ตบุ๊คหนังสีดำสกรีนคำว่า Zenbook เอาไว้ให้และมีปากกา ASUS Pen 2.0 สำหรับเขียนหรือวาดบนหน้าจอแถมมาให้อีกด้าม เผื่อไว้ให้ผู้ใช้ที่ต้องการคอมเมนต์งานหรือเซ็นเอกสารสำคัญทำได้ในทันที ซึ่งปากกาสไตลัสของ ASUS ด้ามนี้เรียกว่าตอบสนองได้ไวและเส้นคม มีความหนักเบาของเส้นชัดเจน เพราะตัวปากการองรับแรงกดถึง 4096 ระดับไล่เลี่ยกับปากกาสไตลัสสำหรับวาดภาพหลายๆ รุ่น
สำหรับน้ำหนักตัวเครื่องเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอล เฉพาะเครื่องอย่างเดียวหนัก 1.75 กิโลกรัม เมื่อรวมกับอแดปเตอร์น้ำหนัก 542 กรัม และ ASUS Pen 2.0 แล้ว จะมีน้ำหนักสุทธิ 2.3 กิโลกรัมพอดี จัดว่าไม่หนักเกินไป ยังพอพกพาไปไหนมาไหนได้ง่ายระดับหนึ่ง
แต่เนื่องจากตัวเครื่องมี Thunderbolt 4 ติดตั้งมาให้ด้วย ดังนั้นตอนพกเครื่องไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องเอาอแดปเตอร์ติดกระเป๋าไป แต่เปลี่ยนเป็นปลั๊ก GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์ขึ้นไปก็สามารถชาร์จแบตเตอรี่พร้อมกับชาร์จสมาร์ทโฟนได้ทันทีเช่นกัน ถ้าให้ดีและชาร์จได้ไวด้วยแนะนำให้หาปลั๊ก GaN 100 วัตต์จะดีที่สุด
Inside & Upgrade
ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะถูกขันด้วยน็อต Trox หัวเล็กไว้ทั้งหมด 10 ดอกด้วยกัน เมื่อแกะน็อตออกทั้งหมดแล้ว ตรงกลางตัวเครื่องจะเป็นคลิปล็อคเอาไว้ยึดฝาใต้เครื่องไว้ด้วย เวลาแกะเครื่องเสร็จแล้วแนะนำให้เจ้าของเครื่องยกขอบฝาใต้เครื่องเล็กน้อยแล้วลองเลื่อนดูนิดหน่อย จะสามารถถอดฝาเครื่องออกมาได้
แต่อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนภายในของ Zenbook เครื่องนี้ก็ถูกบัดกรีฝังออนบอร์ดมาแทบทั้งหมดไม่ต่างกับรุ่นอื่นในตระกูลเลย อัพเกรดได้อย่างมากสุดคือเปลี่ยน M.2 NVMe SSD ตรงขอบบนเหนือฮีตไปป์ได้แค่ชิ้นเดียวเท่านั้น แต่ข้อดีคืออินเตอร์เฟสของ NVMe SSD ตัวนี้เป็น PCIe 4.0 x4 และรองรับความจุสูงสุด 2TB ทีเดียว และรับส่งข้อมูลได้เร็วสุดถึง 6,500MB/s ทีเดียว ดังนั้นถ้า SSD 1TB ที่ติดตั้งมาในเครื่องช้าและมีความจุไม่พอใช้ทำงานก็เปิดฝาอัพเกรดได้เลย
Performance & Software
ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เครื่องที่ได้รับมาทดสอบติดตั้ง Intel Core i7-12700H แบบ 14 คอร์ 20 เธรด (6P+8E) ความเร็ว 3.5-4.7GHz มาให้ ซึ่งประสิทธิภาพจัดว่าทรงพลังพอใช้ทำงานเรนเดอร์ 3D CG และงานอาร์ตต่างๆ ได้โดยไม่มีปัญหา มีค่า TDP สูงสุด 45 วัตต์ รองรับชุดคำสั่งที่ต้องใช้ทำงานครบถ้วน แต่ถ้ายังไม่พอใจก็มีตัวเลือกรุ่นสูงสุดเป็น Intel Core i9-12900H ให้เลือกเช่นกัน ส่วนเมนบอร์ดของ ASUS ใช้อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 ด้วย ทำให้รับส่งข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ด้านการ์ดจอในเครื่อง นอกจาก Intel Iris Xe Graphics ซึ่งติดมากับซีพียูอยู่แล้วและใช้เพื่อเรนเดอร์ภาพขึ้นหน้าจอเป็นหลักเน้นการประหยัดพลังงานให้ใช้งานได้หลายชั่วโมง ส่วนการ์ดจอแยกเป็น NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti แรม 4GB GDDR6 มี CUDA 2560 Cores ค่า TGP อยู่ที่ 60 วัตต์ สามารถถ่ายเทค่าวัตต์มาได้สูงสุดที่ 85 วัตต์เพื่อเร่งประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น
การ์ดจอทั้งสองตัวนี้รองรับ DirectX 12 ทั้งคู่ รองรับชุดคำสั่งทั่วไปทั้งหมด ยกเว้นชุดคำสั่ง CUDA, Ray Tracing จะจำกัดเอาไว้เฉพาะการ์ดจอ NVIDIA GeForce เท่านั้น ซึ่งถ้าใช้งานกับโปรแกรมสายกราฟฟิคเมื่อไหร่ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED จะสลับมาเป็นการ์ดจอแยกโดยอัตโนมัติแทน
ส่วนพาร์ทในตัว ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เมื่อเช็คด้วย Device Manager จะเห็นว่าทางบริษัทติดตั้งพาร์ทมาให้ครบถ้วน โดยติดตั้ง Wi-Fi PCIe Card รุ่น Intel AX211 ซึ่งรองรับ Wi-Fi 6E มาให้ มีค่าแบนด์วิธสัญญาณ 160MHz กับชิปรักษาความปลอดภัย TPM 2.0 ครบถ้วนเพื่อใช้รักษาความปลอดภัยตัวเครื่องตามที่ระบบปฏิบัติการ Windows 11 ต้องการ
ด้าน M.2 NVMe SSD จากโรงงานเป็นรหัส Samsung MZVL21T0HCLR-00B00 หรือรหัส OEM ของ Samsung PM9A1 ความจุ 1TB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ความเร็วเคลมจากโรงงานมีค่า Sequential Read 7,000MB/s และ Sequential Write 5,100MB/s เมื่อทดสอบด้วย AS SSD แล้วได้ความเร็ว Sequential Read 4,164.98MB/s และ Sequential Write 1,705.96MB/s ซึ่งถือว่าเร็วพอใช้เรียกโปรแกรมและไฟล์ขนาดใหญ่ขึ้นมาใช้งานได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ที่ต้องการอัพเกรดให้ M.2 NVMe SSD ในเครื่องวิ่งได้เต็มความเร็วอินเตอร์เฟสนี้ แนะนำให้ลองเปลี่ยนมาใช้เป็น Samsung 980 Pro, Kingston KC3000, WD Black SN850 หรือจะเน้นความทนทานอย่าง Transcend 220S ก็ดีเช่นกัน แล้วเอา Samsung PM9A1 ไปทำเป็น External SSD ไว้เซฟงานสำคัญก็น่าสนใจ
ด้านการทดสอบเรนเดอร์โมเดล 3D CG ด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 เมื่อทดสอบโดยรวมแล้ว ผลการทดสอบถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดยผลทดสอบ OpenGL ทำได้ 151.60 fps ส่วน CPU ได้ 2,295 cb ซึ่งผลคะแนนอยู่ในระดับไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์หลายๆ รุ่น สามารถทำงานกับโปรแกรมสายวิศวกรอย่าง AutoCAD, Blender ได้ดีและสามารถ Preview ตัวอย่างให้ลูกค้าดูได้อย่างไหลลื่นอีกด้วย และกำลังประมวลผลของ CPU เอง เมื่อทดสอบด้วย CINEBENCH R20 ได้คะแนน CPU 5,406 pts ถือว่ากำลังการประมวลผลของ Intel Core i7-12700H มีพลังการคำนวนและเรนเดอร์งานได้ดีทีเดียว
ด้านการทดสอบเล่นเกมด้วย 3DMark Time Spy จะได้คะแนนเฉลี่ย 4,868 คะแนน แยกเป็นคะแนน CPU score 10,901 คะแนน และ Graphics score 4,435 คะแนน ถ้ามองโดยรวมต้องถือว่า ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ที่ถูกออกแบบมาเพื่อครีเอเตอร์นั้นไม่ได้โดดเด่นเรื่องเล่นเกมนัก แต่นั่นเพราะการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti มีกำลังประมวลผลตอนเล่นเกมระดับหนึ่งเท่านั้น แต่กลับกัน เมื่อมันจับคู่ไดรเวอร์ NVIDIA Studio แล้ว มันก็สามารทำงานต่างๆ ได้ดีไม่มีปัญหาเลย
ผลคะแนนจากโปรแกรมทดสอบจำลองการทำงานอย่าง PCMark 10 ได้ผลคะแนนเฉลี่ย 6,356 คะแนน จัดว่าทำคะแนนการทดสอบได้ดีกว่าโน๊ตบุ๊คสายทำงานหลายๆ รุ่นซึ่งคะแนนเกาะกลุ่มอยู่ช่วง 5,000 คะแนนเสียเป็นส่วนใหญ่ และถ้ามองผลคะแนนแยกหมวดหมู่การทดสอบ จะเห็นว่า ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ใช้ทำงานออฟฟิศด้านต่างๆ ได้ดีไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะประชุมออนไลน์, ทำงานผ่านเว็บแอพฯ, ทำงานเอกสารก็ทำได้ดีไม่มีปัญหา แต่ที่โดดเด่นน่าสนใจ คือ การทดสอบหมวด Digital Content Creation ซึ่งทดสอบด้านการตัดต่อวิดีโอ, ทำ 3D CG และแต่งภาพนั้นทำคะแนนได้ดีไล่เลี่ยกับการทดสอบการทำงานกับไฟล์เอกสาร ไม่ดึงคะแนนเฉลี่ยโดยรวมให้ตกลงอีกด้วย
ด้านการทดสอบเล่นเกมด้วย ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ต้องถือว่ามันพอใช้เล่นเกมฟอร์มยักษ์ได้ดีระดับหนึ่ง แต่อาจจะคาดหวังเฟรมเรทที่สูงไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คไม่ได้มากนัก ซึ่งถ้าเป็นเกมที่ไม่ได้กินกราฟฟิคหนักมากอย่าง PUBG หรือเกมที่พอร์ตจากเครื่อง PlayStation มาดีแล้วไม่ได้กินทรัพยากรหนักมากอย่าง Horizon Zero Dawn จะพอทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 60 fps อย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นเกมฟอร์มยักษ์อย่าง Resident Evil Village หรือ Red Dead Redemption 2 ที่ถ้าปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดเมื่อไหร่ จะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยอยู่ช่วง 30 fps เท่านั้น ซึ่งสรุปได้ว่า ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เป็นโน๊ตบุ๊คที่เน้นการทำงานเป็นหลัก แต่พอเล่นเกมเพื่อผ่อนคลายเครียดได้บ้างระดับหนึ่ง แม้จะไม่โดดเด่นเท่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแต่ก็พอผ่อนคลายฆ่าเวลาได้ดี ซึ่งถ้าต้องการเล่นเกมล่ะก็ แนะนำให้ปรับกราฟฟิคไปอยู่ระดับกลางๆ เน้นให้เฟรมเรทเพิ่มขึ้นจะดีกว่า
ส่วนของโปรแกรม MyASUS ที่ติดตั้งมาพร้อมเครื่องสามารถใช้มอนิเตอร์การทำงานตัวเครื่อง, อัพเดทไดรเวอร์, ปรับโหมดการทำงานของแบตเตอรี่ได้โดยละเอียด และมี ASUS OLED Care สำหรับปรับโหมดการแสดงผลของหน้าจอ OLED เพื่อถนอมพาเนลและยืดอายุการใช้งานให้นานยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้เปิดฟีเจอร์ในหมวดนี้เอาไว้ทั้งหมดเพื่อลดปัญหาหน้าจอเกิดอาการ Burn-in ในอนาคต
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมโพลีเมอร์ มีความจุ 76Wh แยกเป็นความจุ Typical Capacity 4,920mAh และ Rated Capacity 4,770mAh จัดว่ามีความจุเยอะไม่แพ้โน๊ตบุ๊คสายทำงานหรือโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นของทางบริษัท ทำให้ใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง
แต่จากการทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ โดยลดความสว่างหน้าจอต่ำสุด, ปิดไฟ LED Backlit คีย์บอร์ด, ลดเสียงลำโพงเหลือ 10% แล้วปรับโหมดตัวเครื่องเป็น Battery Saver ก่อนจะเปิด Microsoft Edge ดูคลิป YouTube ต่อเนื่อง 30 นาที จะเห็นว่า ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานสุดแค่ 4 ชั่วโมง 10 นาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของซีพียู Intel ที่มีรหัส H ตามท้ายและยังมีการ์ดจอแยกติดตั้งมาให้ด้วย ดังนั้นระยะเวลาใช้งานก็จะไม่ได้นานเท่าโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นที่เข้าเกณฑ์เป็นโน๊ตบุ๊ค Intel Evo ในปัจจุบันนี้
ดังนั้นถ้าใครต้องพกเครื่องไปพบลูกค้าหรือพรีเซนต์งานหนักก็คงจะเลี่ยงอแดปเตอร์ของเครื่องนี้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นตัวเครื่องก็จะรีดประสิทธิภาพได้ไม่เต็มที่ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เนื่องจากทางบริษัทให้พอร์ต Thunderbolt 4 มาถึง 2 ช่อง ทำให้เจ้าของเครื่องใช้ปลั๊ก GaN กำลังชาร์จเกิน 65 วัตต์ชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องได้เลยเช่นกัน
ส่วนระบบระบายความร้อน ASUS IceCool Plus กับระบบ AAS Ultra ที่ติดตั้งมาให้ใช้ระบายความร้อน จะมีพัดลมโบลวเวอร์ 2 ตัว จับคู่กับฮีตไปป์สองเส้นที่นำความร้อนมายังฮีตซิ้งค์แล้วเป่าระบายความร้อนออกจากตัวเครื่อง ซึ่งจากการใช้งานตามปกติ เช่นทำงานเอกสาร, เปิดเว็บไซต์, ดูหนังฟังเพลงต้องถือว่าตัวเครื่องเย็นอยู่ตลอดเวลา และตัวพัดลมไม่ได้ส่งเสียงดังรบกวนผู้ใช้เลยสักนิดเดียว
กลับกันถ้านำไปทำงานหนักอย่างเรนเดอร์วิดีโอ, ตัดต่อแต่งภาพหรือเล่นเกมจะเริ่มได้ยินเสียงพัดลมในเครื่องทำงานหนักขึ้นเพื่อระบายความร้อนให้ตัวเครื่องเย็นลง โดยความดังจัดว่าได้ยินชัดเจนทีเดียว
ด้านอุณหภูมิในตัวเครื่องที่วัดด้วย CPUID HWMonitor จะเห็นว่าตอนใช้งานตามปกติหรือตอนทำงาน Full Load ก็ตาม ตัวเครื่องจะมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงทีเดียว ซึ่งตอนใช้งานตามปกติจะอยู่ช่วง 64~96 องศา เฉลี่ย 64 องศาเซลเซียส และตอนทำงานเต็มที่แล้ว อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเป็นช่วง 43~98 องศา เฉลี่ย 72 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิแม้ดูแล้วอาจจะสูงสักหน่อย แต่ตอนใช้งานจริงก็ไม่ได้ร้อนจนจับไม่ได้ นั่นเพราะว่าโซนคีย์บอร์ดนั้นถูกย้ายลงมาอยู่เหนือแบตเตอรี่ เลยทำให้โซนฮีตไปป์และพัดลมระบายความร้อนอยู่ใต้หน้าจอ ScreenPad Plus แทน ดังนั้นจึงวางมือพิมพ์งานได้ตามปกติอย่างแน่นอน
User Experience
เมื่อนำ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ไปใช้งานดูระยะหนึ่ง หากไม่นับเรื่องรายละเอียดยิบย่อย เช่น ไม่มี ASUS NumberPad ติดตั้งมาให้, ไม่มีปุ่มปรับโหมดการทำงานตัวเครื่อง หรือใช้งานได้นานเพียง 4 ชั่วโมงก็ตาม นี่คือ Zenbook สองหน้าจอที่พกพาไปไหนมาไหนได้ง่ายที่สุด ด้วยขนาดตัวเครื่องเพียง 14.5 นิ้ว และเบาเพียง 1.7 กิโลกรัม เจ้าของเครื่องจึงพกเครื่องใส่กระเป๋าเป้หรือกระเป๋าสะพายข้างติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวกไม่แพ้กับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายรุ่นในปัจจุบันนี้ แค่น้ำหนักมากขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น และถ้าผู้ใช้คนไหนพกเครื่องออกไปข้างนอก แนะนำให้เตรียมปลั๊ก GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์ติดกระเป๋าเอาไว้ เท่านี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่ใช้งานได้ไม่นาน ทำงานไม่จบแล้ว
ด้านประสิทธิภาพการทำงานต้องถือว่าไม่มีข้อกังขาใดๆ เพราะว่า Intel Core i7-12700H เมื่อจับคู่กับ NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti พร้อมแรมอีก 16GB DDR5 บัส 4800MHz เข้าไปแล้ว มันสามารถทำงานได้สบายๆ ตั้งแต่งานเอกสารออฟฟิศทั่วไปหรือครีเอเตอร์จะเอาไปตัดต่อวิดีโอหรือทำโมเดล 3D ก็ทำได้ง่ายๆ และลำโพงของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ยังได้เสียงที่ดังกระหึ่ม ฟังชัดเจนและเนื้อเสียงจัดว่าน่าประทับใจมาก ถ้าใครชอบดูหนังก็น่าจะประทับใจแน่นอน
อิงจากประสบการณ์การใช้งานแล้ว ต้องถือว่า ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED แม้จะย่อเครื่องลงเล็กน้อยให้กะทัดรัดพกง่ายยิ่งขึ้น แต่ประสบการณ์การใช้งานเรียกว่าไม่แพ้กับรุ่นหน้าจอ 15.6 นิ้วเลย และราคาก็ยังถูกลงเข้าถึงง่ายกว่าเดิมมาก ดังนั้นถ้าใครเป็นช่างภาพ, ทีมตัดต่อวิดีโอมั่นใจว่าได้ประโยชน์จากโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปเต็มๆ แน่นอน
Conclusion & Award
แม้ขนาดจะเล็กลงแต่ประสบการณ์การใช้งานเรียกว่าดีไม่แพ้รุ่นขนาด 15.6 นิ้วเลย ดังนั้นถ้าใครเล็ง ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED เอาไว้ใช้เป็นโน๊ตบุ๊คเครื่องใหม่ของตัวเองก็ซื้อไปใช้งานได้เลย ด้วยสเปคระดับนี้มั่นใจว่ารันได้ทั้งงานเอกสารและทำงานออฟฟิศทั่วไปได้สบายๆ และถ้าใครรับงานเสริมหรือมีงานอดิเรกเป็นช่างภาพหรือตัดต่อวิดีโอทำคอนเทนต์ใหม่ๆ ก็ใช้ประโยชน์จากโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้ดีไม่แพ้กันอย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นการมี 2 หน้าจอเอาไว้ใช้ทุกที่ทุกเวลาก็มีประโยชน์อย่างแน่นอน ไม่ใช้งานก็ปิดทิ้งได้ก็ใช้งานเหมือนกับโน๊ตบุ๊คจอ 14 นิ้วทั่วๆ ไปที่มีฟีเจอร์ดีๆ ติดตั้งมาให้ครบครันเท่านั้นเอง
ราคา 59,990 บาท อาจจะเป็นมูลค่าที่มีคู่แข่งในตลาดอยู่หลายรุ่น แต่คนที่คิดจะซื้อโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ นอกจากจะได้ Windows 11 กับ Microsoft Office Home & Student 2021 พร้อมใช้งาน ยังได้หน้าจอเสริมฝังมาให้ไม่มีใครเหมือน และยังได้โน๊ตบุ๊คที่คุณภาพเสียงยอดเยี่ยมอีกเครื่องเอาไว้ใช้ทำงานและสร้างความบันเทิงให้ชีวิตอีกด้วย
award
best design
ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED คู่ควรกับรางวัล Best Design จากการออกแบบให้ติดตั้งหน้าจอ ScreenPad Plus มาในโน๊ตบุ๊คขนาด 14.5 นิ้วได้อย่างลงตัวและมีชุดกลไกที่แข็งแรง และได้ดีไซน์สวยเรียบหรูครบเครื่องในเวลาเดียวกัน
best mobility
โดยปกติแล้วหน้าจอบานหนึ่งก็มีน้ำหนักมากพอควร แต่ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED สามารถจัดแพ็คเกจตัวเครื่องให้โน๊ตบุ๊คจอ 14 นิ้วมีจอเสริมอีกจอหนึ่งได้ น้ำหนักเบาไม่เกิน 2 กิโลกรัม จึงกลายเป็นโน๊ตบุ๊คในตระกูล Zenbook ที่น้ำหนักตัวเบาที่สุด ณ ตอนนี้แล้ว
best value
โน๊ตบุ๊คในตระกูล Zenbook Duo ปัจจุบันนี้ราคาแพงจนเกือบหรือขึ้นหลักแสนบาทไปหมดแล้ว แต่เครื่องนี้กับราคา 59,990 บาท กลายเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์หน้าจอคู่ที่ราคาถูกสุดในท้องตลาดปัจจุบัน ถ้าใครอยากสัมผัสประสบการณ์โน๊ตบุ๊คจอคู่ประสิทธิภาพดีก็หาซื้อได้ง่ายขึ้น มันจึงคู่ควรกับรางวัล Best Value ไปโดยปริยาย
best multimedia
นอกจากหน้าจอ Dolby Vision และได้รับการรับรองด้านความเที่ยงตรงสีจากสถาบันชั้นนำแล้ว ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED ก็ได้ลำโพง Dolby Atmos ให้เสียงดังและเนื้อเสียงยอดเยี่ยมที่สุดในหมู่โน๊ตบุ๊คทุกเครื่องที่ได้รับมาทดสอบในปีนี้ จึงคู่ควรกับรางวัล Best Multimedia อย่างไม่ต้องสงสัย