Lenovo ThinkPad P1 Gen 4 เป็น Mobile Workstation รุ่นล่าสุดทาง Lenovo โดดเด่นด้วยหน้าจอ 16″ UHD+ รองรับ HDR ที่เป็นโน๊ตบุ๊คที่เน้นการทำงานแบบมืออาชีพอย่างที่สุด โดยจัดสเปกฮาร์ดแวร์ภายในรุ่นใหม่ อย่างชิปประมวลผล Intel Core i7-11850H พร้อมแพลตฟอร์ม Intel Intel vPro และการ์ดจอแยกเน้นงานประมวลผล 3 มิติด้วย NVIDIA RTX A3000 อีกทั้งเลือกติดตั้งแรมได้สูงสุด 64GB และ SSD M.2 NVMe Gen 4 อีก 4TB โดยได้ความบางที่ 17.7 มิลลิเมตร และน้ำหนักเพียง 1.8 กิโลกรัมเท่านั้น ได้ดีไซน์ออกแบบดุดัน ตัวเครื่องสีดำและฝาหลังเป็น Carbon-Fiber Weave
สเปกรายละเอียดอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยหน้าจอขนาด 16″ ที่เหมาะสมกับการใช้งานบนความละเอียดสูงสุด 4K ที่ 3840 x 2400 พิกเซล สัดส่วน 16:10 ส่วนแบตเตอรี่ก็ใช้งานได้ยาวนานสูงสุดตลอดทั้งวัน พร้อมพอร์ตการเชื่อมต่อความเร็วสูง Thunderbolt 4 จำนวน 2 พอร์ต อีกทั้งยังมี USB 3.2 Type-A อีก 2 พอร์ต และการเชื่อมต่อไร้สาย Intel WiFi 6E AX210 อีกทั้งรองรับการใส่ซิม 5G เพื่อใช้งานอินเตอร์เน็ต ก็สามารถเลือกเพิ่มเอาได้ ส่วนระบบปฏิบัติก็เป็น Windows 10 Home / Pro ส่วนเวอร์ชั่นไหนก็อยู่เราเลือกอีกที สนนราคาเริ่มต้นที่ 85,390 บาท การรับประกันเป็น 3 ปี On-site Service
VDO Review
NBS Verdict
Lenovo ThinkPad P1 รุ่นนี้มาถึง Gen 4 แล้ว เป็นโน๊ตบุ๊คระดับมืออาชีพสไตล์ Mobile Workstation ซึ่งได้ความสดใหม่จากการที่เป็นหน้าจอ 16″ ตามเทคโนโลยีที่นำเสนออย่างเหมาะสม สามารถตอบสนองการใช้งานแบบเฉพาะด้าน ทั้งการ เขียนแบบ และกราฟฟิคทั้ง 2D และ 3D ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ด้วยการที่ Lenovo เลือกใช้หน่วยประมวลผลกลาง Intel Core i7 Gen 11 รุ่นพิเศษ ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน เทียบเท่าระดับพีซี และได้เทคโนโลยี Intel vPro ที่ได้ความล้ำหน้าเรื่องความความปลอดภัยและความยืดหยุ่นในการใช้งานระดับองค์กร
มีการติดตั้งแรมมาตรฐาน DDR4 ที่ใส่มาให้ถึง 16GB (รองรับการอัปเกรดอีก 1 ตัว) พร้อมด้วย SSD M.2 NVMe PCIe Gen 4 ความจุ 512GB (รองรับการใส่ได้ทันทีอีก 1 ช่อง) รวมถึงการ์ดจอเฉพาะทางอย่าง NVIDIA RTX A3000 ซึ่งเป็นรุ่นประสิทธิภาพสูง อยู่ในระดับรองลงมาจาก A4000, A5000 ที่ก็เรียกได้เน้นใช้งานเรื่องประมวลผลผ่านทางโปรแกรมต่างๆ เป็นหลัก เรียกได้ว่าเหมาะสมจริงๆ กับการนำไปใช้งานเฉพาะทางที่ต้องการความมีเสถียรภาพ และมีความน่าเชื่อถือที่อยู่ในระดับสูง
Lenovo ThinkPad P1 ยังมาพร้อมหน้าจอขนาด 16″ สัดส่วน 16:10 ให้พื้นที่ด้านบนและล่างที่มากกว่า ความละเอียด Ultra HD + ที่ 3840 x 2160 พิกเซล ใช้พาเนลจอแบบ IPS เกรดสูง พร้อมรองรับเทคโนโลยี Low Blue Light, HDR400, Dolby Vision HDR ซึ่งมีการแสดงผลของสีที่ดีกว่า ได้ความเที่ยงตรงไม่ผิดเพี้ยนที่ช่วยให้การทำงานต่างๆ ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนับว่าตั้งแต่ทดสอบมาเป็นหนึ่งในโน๊ตบุ๊คที่มาพร้อมหน้าจอที่ดีที่สุด อีกทั้งได้เรื่องฟีเจอร์ความปลอดภัยแบบจัดเต็ม
และอีกจุดเด่นนึงที่จะลืมพูดถึงไปไม่ได้เลยก็คือพอร์ตต่างๆ ที่ Lenovo ThinkPad P1 Gen 4 ติดตั้งมาให้ เรียกได้ว่าหาไม่ได้ง่ายๆ บนโน๊ตบุ๊คทั่วๆ ไป อย่างพอร์ต Thunderbolt 4 ซึ่งเป็นพอร์ตการเชื่อมต่อที่ดีที่สุด ทั้งโอนถ่ายข้อมูล 40Gbps, ต่อหน้าจอภายนอก 4K / 8K และชาร์จไฟผ่านทาง PD ได้ ที่เชื่อว่าผู้ใช้งานในระดับมืออาชีพหลายๆ คนจำเป็นต้องใช้แน่ๆ ส่วนระบบปฏิบัติการ Windows ลิขสิทธิ์ เราสามารถเลือกใช้งานได้ตามต้องการและโปรแกรมของเราที่รองรับ รวมไปถึงในส่วนของความปลอดภัยในการเข้ารหัสแบบฮาร์ดแวร์ด้วย Discrete Trusted Platform Module (dTPM) 2.0 อีกด้วย
Lenovo ThinkPad P1 เป็นเครื่อง Mobile Workstation แบบพกพาที่มีความสมบูรณ์แบบมากๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงสเปกและฟีเจอร์ต่างๆ เท่านั้น แต่ดีไซน์ยังคงรูปแบบ ThinkPad อย่างแท้จริง อย่างเรื่องวัสดุและความทนทาน อีกทั้งยังมีการอัปเกรดเพิ่มความทันสมัยด้วยฝาหลังลวดลาย Carbon-Fiber Weave โดย Lenovo ThinkPad P1 จะมีให้เลือกกันหลายสเปค ตามแต่งบและการใช้งาน มาพร้อมการรับประกันแบบ 3 ปี On-site Service ตามมาตรฐานของโน๊ตบุ๊คระดับมืออาชีพ สำหรับคนที่สนใจก็ติดตั้งไปยังตัวแทนจำหน่ายของ Lenovo ThinkPad ได้เลย
และแม้เป็นเรื่องไกลตัวของใครหลายๆ คนกับ Mobile Workstation ซึ่งจัดว่าเป็นโน๊ตบุ๊คเพื่อการทำงานโดยเฉพาะแบบมือโปร เรียกว่าเป็นโน๊ตบุ๊คเพื่อการสร้างสรรค์งานโดยเฉพาะสำหรับมืออาชีพระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ 3 มิติ งานตัดต่อวีดีโอ งานโปรเซสภาพ หรืองานอื่นๆ อย่างการสร้างเกมหรือเขียนโปรแกรมขั้นสูง โดยที่ผ่านมาหลายปีทาง Lenovo ThinkPad ก็นำเสนอในส่วนของ Mobile Workstation มาโดยตลอด ซึ่งได้รับการรับรองจาก ISV อาทิซอฟต์แวร์ ArcGIS, AutoCAD, CATIA, Creo, Inventor, Microstation, NX, PDMS, Revit, Solid Edge, SolidWorks, Vectorworks
จุดเด่น Lenovo ThinkPad P1
- แข็งแรงทนทานตามสไตล์ของ Lenovo ThinkPad ยุคใหม่ มีลวดลาย Carbon-Fiber Weave
- ตัวเครื่องความบาง 17.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.8 กิโลกรัมเท่านั้น จัดว่าดีมากเมื่อเทียบกับสเปก
- มีความทนทานระดับ Military-Grade ทนน้ำทนฝุ่น แรงกระแทก ความร้อนชื้น ในการใช้งานจริง
- ขนาดหน้าจอ 16″ ความละเอียด Ultra HD + (HDR) พาเนล IPS ขอบเขตสีกว้าง สีสันแม่นยำ
- ประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูงมาก ด้วย Intel Core i7-11850H และ NVIDIA RTX A3000
- ระบบระบายความร้อนทำได้ดี จากการออกแบบชุดระบายความร้อนและพัดลมคู่แบบพิเศษ
- AccuType Keyboard สัมผัสในการพิมพ์ดีเยี่ยม พร้อมติดตั้งระบบไฟ Backlit มาให้
- มี TrackPoint ตามมาตรฐาน ThinkPad ใช้งานได้สะดวกสำหรับคนที่ชอบ
- ลำโพงคุณภาพสูง 2 ตัว ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี Dolby Atmos ให้เสียงที่ดีมาก
- ได้ไมค์ Dual far-field ตัวช่วยจัดเสียงรบกวน พร้อมเว็บแคมความละเอียด Full HD
- มีฟีเจอร์ ThinkShutter ม่านชัตเตอร์ปิดเลนส์กล้องเว็บแคม เพื่อความปลอดภัย
- มาพร้อมการ Login ผ่านทาง IR Camera, Finger Print ใช้งานได้รวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย
- ได้การเชื่อมต่อที่ดีที่สุดอย่าง Thunderbolt 4 + Intel WiFi 6E AX210 + Bluetooth 5.2 vPro
- มีรุ่นที่รองรับการใช้งาน 4G / 5G LTE ด้วยการติดตั้งโมดูลเพิ่ม
- ได้รับการรับรองจาก ISV เพื่อใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้เต็มประสิทธิภาพ
- ได้ความปลอดภัยและประสบการณ์ใช้งานโดยรวมแบบมืออาชีพ
- ราคาต่อประสิทธิภาพสามารถปรับได้ตามต้องการ โดยรวมแล้วน่าประทับใจ
- ประกันเป็นแบบ 3 ปี On-site Service ซ่อมฟรีถึงบ้าน พร้อมบริการหลังการขายอื่นๆ
- รองรับการใช้งาน Windows 10 / 11 ลิขสิทธิ์และมีซอฟต์แวร์ Ultility ที่ดี
ข้อสังเกต Lenovo ThinkPad P1
- ราคาสูงกว่าโน๊ตบุ๊คทั่วไป และไม่ได้เหมาะสมในการเล่นเกม
- แบตเตอรี่ใช้งานได้น้อยกว่าที่เคลมไว้ แต่อยู่ในเกณฑ์รับได้
Specification
Lenovo ThinkPad P1สำหรับตัวที่เราได้มาทดสอบนั้น จะเป็นรุ่นที่ใช้ชิปประมวลผล Intel Core i7-11850H ที่เป็น Core i Gen 11 H45 Tiger Lake รุ่นพิเศษที่เน้นประสิทธิภาพและสเถียรภาพ จากการที่เป็นแพลตฟอร์ม Inte vPro มาพร้อมด้วยตัวประมวลผล 8 คอร์ 16 เธร์ด มีความเร็วอยู่ที่ 2.50 GHz และสามารถเร่งความเร็วได้สูงสุด 4.80 GHz มีแรมของตัวเครื่องอยู่ที่ 16GB ในรูปแบบ SO-DIM DDR4 Bus 3200MHz พร้อมด้วยฮาร์ดไดร์ฟแบบ SSD M.2 NVMe PCIe Gen 4 ความเร็วสูง มาพร้อมความจุ 512GB สำหรับการ์ดจอออนชิปนั้นก็จะเป็น Intel Iris Xe Graphics มาตรฐานชิปประมวลผล Intel Core i Gen 11
ส่วนการ์ดจอแยกได้เลือกติดตั้งมาเป็น NVIDIA RTX A3000 (6GB GDDR6) ที่ออกแบบมาสำหรับงานเขียนแบบ และกราฟฟิกโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถรองรับการทำงานได้ในระดับที่ยอดเยี่ยมผ่านโปรแกรมต่างๆ ที่สนับสนุน ได้จอแสดงผลขนาด 16″ แบบจอด้าน ใช้พาเนล IPS คุณภาพสูง มีความละเอียดแบบ 4K Ultra HD 3840 x 2160 พิกเซลซึ่งให้ความแม่นยำและความสม่ำเสมอของเม็ดสีให้ภาพที่แสดงออกมามีความสวยงามสมจริงเหมือนต้นฉบับที่สุด มี Fulll HD Webcam และไมค์ Dual far-field ตัดเสียงรบกวนในตัวที่พร้อมอย่างยิ่งสำหรับทุกการทำงาน และการติดต่อสื่อสาร
นอกจากนี้ Lenovo ThinkPad P1 ก็ยังมีลำโพง Stereo ที่รองรับระบบเสียง Dolby Atmos และมีพอร์ตเชื่อมต่ออย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น USB 3.2 Tpye-A, SD Card Reader, ช่องต่อลำโพง-ไมค์, Thunderbolt 4 (Full Function) ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายก็จะเป็น Intel WiFi 6E AX210 + Bluetooth™ 5.2 vPro ที่ดีที่สุด พร้อมสเแกนลายนิ้วและสแกนใบหน้าด้วย IR Camera ที่ใช้งานผ่านทาง Windows Hello บน Windows 10 ที่ติดตั้งมาให้ใช้งานได้ทันที สนนราคาเริ่มต้นที่ 85,390 บาท ไปจนถึงหลักแสนบาท แล้วแต่เราจะจัดสเปกหรือออปชั่นต่างๆ
Lenovo ThinkPad P1 Gen 4 ราคาเริ่มต้น 85,390 บาท (ดูสเปคทั้งหมดคลิ้ก)
-
CPU : Intel Core i7-11850H (8C/16T, 2.50 – 4.80 GHz)
-
GPU : Intel Iris Xe Graphics + NVIDIA RTX A3000
-
RAM : 16GB Bus 3200 MHz
-
DISPLAY: 16″ IPS 16:10 4K UHD+ (3840 x 2400)
-
STORAGE : SSD M.2 NVMe PCIe Gen 4 512GB
-
OS : Windows 10 Pro (64 Bit)
- Warranty : 3 Years On-site Service
Hardware / Design
เรียกได้ว่าการออกแบบ Lenovo ThinkPad P1 จะมีการต่อยอดการผลิตจากไลน์ของ ThinkPad แบบเดิมๆ ด้วยที่เป็นซีรี่ส์หลักทำให้ดีไซน์ค่อนข้างคล้ายกันกับ ThinkPad รุ่นอื่นๆ แต่มีอีกหลายจุดที่ตัว Lenovo ThinkPad P1 เหนือชั้นไปจากเดิมพอสมควร จะว่าเหมือนกับรุ่นก่อนหน้าเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะด้วยความที่ไม่ใช่โน๊ตบุ๊คปกติทั่วไป แต่เป็นในส่วนของ Mobile Workstation ระดับสูงที่แตกต่างจากรุ่น T Series หรือ X Series ที่เน้นใช้งานระดับทั่วไป ซึ่งในรุ่นนี้จะได้ขนาดหน้าจอ 16″ เป็นครั้งแรก จากที่รุ่นก่อนๆ เป็น 15.6″ ตามมาตรฐานของยุคก่อนๆ
วัสดุของตัวเครื่องนั้นหลักๆ ใช้เป็นวัสดุคุณภาพสูงอย่างแมกนีเซียมอัลลอยด์ ที่ทั้งน้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทานในเครื่องเดียว ภายนอกตัวเครื่องมีพื้นผิวซอฟท์ทัชให้ความรู้สึกมั่นคงเวลาจับถือเครื่องไปไหนมาไหน และหรูหราด้วยวัสดุฝาหลังเองก็มีความพิเศษ เพราะทาง Lenovo ThinkPad เลือกใช้งานเป็น Carbon-Fiber Weave ที่ไม่ใช่เป็นเพียงลวดลายคาร์บอนไฟเบอร์เท่านั้น แต่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์จริงๆ โดยรวมสำหรับการออกแบบนั้นทำให้ดูจริงจังและความเป็นมืออาชีพมากๆ ตามมาตรฐานของโน๊ตบุ๊ค Mobile Workstation สไตล์ ThinkPad แต่ก็ให้ความแยกต่าง ดูเป็น ThinkPad ยุคใหม่แล้ว
ทำให้นับได้ว่า Lenovo ThinkPad P1 เป็นโน๊ตบุ๊คที่เหมาะสมในการทำงานประมวลผลหนักๆ อย่างแท้จริง กับการเป็นสาย Mobile Workstation ซึ่งก็ยังมาพร้อมกับความบางเบาพกพาสะดวก ที่ความบางที่ 17.7 มิลลิเมตร และน้ำหนักเพียง 1.8 กิโลกรัมเท่านั้นเอง ถือว่าน้อยมากๆ สำหรับโน๊ตบุ๊คขนาดจอ 16″ ที่มีสเปกประสิทธิภาพสูงขนาดนี้ เทียบเท่ากับ Workstation ที่เป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทีเดียว ด้วยสเปก Core i Gen 7 Gen 11 ตระกูล H หรือปม้กระทั่ง Xeon รุ่นล่าสุด และการ์ดจอ NVIDIA RTX A3000 รุ่นล่าสุด ซึ่งจะเป็นรุ่นที่มาแทนซีรีส์ Quadro รุ่นก่อนๆ
รวมถึงมีความทนทาน จากได้รับมาตรฐาน Military Grade (MIL-STD-810H) กำหนดทางทหารถึง 12 ระดับ และผ่านการตรวจสอบคุณภาพมากกว่า 200 รายการ อาทิ ต่อแรงกระแทก อุณหภูมิสูงต่ำ ความชื้น ความกดอากาศ และแสงแดด เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถทำงานได้ตามประสบการณ์ตรงที่ Lenovo ทำได้ดีมาโดยตลอด ทำให้หายกังวลเลยเวลาที่เรานำไปใช้งานนอกสถานที่ เรียกได้ต่อให้เจออุปสรรคแค่ไหน เราก็สามารถหยิบขึ้นมาทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา เรียกได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ของโน๊ตบุ๊คที่เหมาะสมในการพกพาไปไหนมาไหนบ่อยๆ เลย เพราะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
และสำหรับการออกแบบบานพับขาจอที่แข็งแรงและมีความแตกต่างที่ทำให้ตัวเครื่องสามารถพับหน้าจอ 180 องศา ได้อย่างแข็งแรงไม่เกิดปัญหาเวลาใช้งาน ตามประการณ์ตรงที่ Lenovo ทำได้ดีมาโดยตลอด ส่วนอื่นๆ ที่ยังเป็น DNA ของ ThinkPad ก็ยังคงมีอยู่ อย่างโลโก้ ThinkPad บริเวณมุมบนซ้ายฝาหลัง และมุมขวาล่างด้านในตัวเครื่อง โดยมีไฟ LED สีแดงคอยบอกสถาณะการทำงานอยู่ สำหรับปุ่ม Power จะถูกติดตั้งเอาไว้ที่มุมขวาของแป้นคีย์บอร์ด ซึ่งตัวปุ่มจะเป็นสีเงินมันวาวแสดงสถานะการเปิดปิดเครื่องได้ สำหรับด้านใต้ตัวเครื่องก็จะเป็นช่องดูดลมเย็น พร้อมยางรองขนาดใหญ่ 1 เส้น และ 2 จุดที่ช่วยยกตัวให้สูงขึ้น
Keyboard / Touchpad
ส่วนคีย์บอร์ดของ Lenovo ThinkPad P1 เครื่องนี้จะเป็น AccuType Keyboard ซึ่งติดตั้ง Hot Key ต่างๆ เพื่อใช้งานแบบมืออาชีพ พร้อมไฟ LED ส่องสว่าง ที่เป็นข้อเด่นที่คีย์บอร์ดที่ออกแบบมาให้มีรูปทรงโค้งปากยิ้มด้านใต้ตัวเครื่องเติมลงมาเล็กน้อยเพื่อลดโอกาสพิมพ์ผิดพลาดได้ ซึ่งเมื่อใช้งานจริงแล้วก็ถือว่าทำได้ดี โอกาสพิมพ์ผิดพลาดลดลงมาก เพราะว่าเมื่อพิมพ์อย่างเร็วแล้วนิ้วกำลังจะเลื่อนลงไปโดนผิดปุ่มก็จะได้ส่วนของปลายโค้งที่ทำให้พิมพ์ถูกต้องขึ้น บอกได้เลยว่าเป็นคีย์บอร์ดโน๊ตที่ดีที่สุดรุ่นในตลาด พิมพ์สนุกติดมือ เรียกได้ว่าเป็น AccuType Keyboard ตัวจริง
นอกจากนี้ Lenovo ThinkPad P1 ก็ไม่ลืมที่จะติดตั้ง TrackPoint (Point Stick) มาให้ด้วยบริเวณกลางตัวคีย์บอร์ด ซึ่งก็สามารถใช้งานควบคู่ไปกับ TrackPad ขนาดใหญ่ที่มีปุ่มกดถึง 3 ปุ่มได้เป็นอย่างดี พร้อมซ้ายคลิกซ้ายขวาแบบปกติเอาไว้ ก็สามารถใช้งานหลายนิ้วมือผ่านชุดคำสั่งแบบ Multi-Gesture บน Windows 10 / Windows 11 ได้ดี ยิ่งถ้าใช้งาน TrackPoint และ TrackPad ควบคู่กันไปด้วยจะยิ่งใช้งานได้ไวมากขึ้น รวมไปถึงบริเวณขอบขวาบนของชุดคีย์บอร์ดยังมีการติดตั้งตัวสแกนลายนิ้วมือ ที่ไว้ใช้งานร่วมกับ Windows Hello อีกด้วย
Screen / Speaker
ด้านหน้าจอแสดงผล Lenovo ThinkPad P1 นั้นเลือกใช้หน้าจอที่มีขนาดจอขนาดใหญ่ถึง 16″ มาพร้อมความละเอียด 4K Ultra HD + ที่ 3840 x 2400 พิกเซล แบบ 16:10 โดยเลือกใช้จอแบบด้านเพื่อลดแสงสะท้อน แต่ก็ยังภาพที่คมชัดเป็นธรรมชาติ ตอบสนองได้เป็นเยี่ยมในการใช้งานเฉพาะด้านได้เป็นอย่างดี ด้วยพาเนลจอแบบ IPS ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพาเนลเกรดสูง ที่เหมาะสมกับงานมืออาชีพ เพราะให้สีสันตรงสุดๆ ระดับที่ใกล้เคียงกับ sRGB มาพร้อมกับมุมมองที่เกือบ 180 องศา แบบว่ามองมุมไหนสีสันก็ไม่เพี้ยนเลย เรียกได้ว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่ให้ประสบการณ์ที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่ง
โดยบริเวณที่ตัวของกล้องเว็บแคมแบบ Built-in ติดตั้งในตัวแบบ Full HD ที่ให้ความคมชัดที่มากกว่า และไมโครโฟนคู่มาพร้อมฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวน ทำให้เราสามารถใช้งาน Video Call และ Video Conference ได้เป็นอย่างดีแบบมืออาชีพ ส่งผลให้เราได้เห็นใบหน้าของเรากับคนที่เราสนทนาด้วยได้คมชัดที่ดีกว่า รวมไปถึงมีระบบ Face Recognition จดจำใบหน้าด้วย IR Camera ทำให้เราเลือกใช้งาน Windows Hello ระหว่าง Fingerprint ได้ด้วย และการที่ใส่ยางขอบจอแบบติดเนียนตามตลอดแนวขอบจอเลย ทำให้ช่วยซับแรงกระแทกได้ดีกว่าโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ ที่มักจะติดตั้งมาเป็นจุดๆ ในบางตำแหน่งเท่านั้น
การทดสอบประสิทธิภาพหน้าจอของ Lenovo ThinkPad P1 ด้วยเครื่องมือที่เป็นทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ผ่านทางอุปกรณ์ Spyder5Elite โดยให้ขอบเขตความกว้างของสีสันเทียบเท่ากับมาตรฐาน sRGB ที่ 97% , Adobe RGB ที่ 92% , DCI-P3 ที่ 82% ดูจากที่เส้นสีของหน้าจอทั้ง 3 ได้เลย เรียกได้ว่าให้ประสิทธิภาพเรื่องของความละะอียดแล้ว เรื่องของสีสันนั้นดีมากกว่าโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ มาก ซึ่งมีความเที่ยงตรงของสีสูง ส่วนความสว่างหน้าจอสูงสุดอยู่ที่เกือบๆ 500 nit สามารถไปทำงานภาพกราฟิกหรือตกแต่งภาพที่เน้นความเที่ยงตรงได้แบบไร้กังวลเลยทีเดียว
ต่อกันที่วัดความสว่างของหน้าจอตามตำแหน่งต่างๆ โดยแบ่งเป็น 9 ช่อง เทียบจากช่องกลางที่ปกติแล้วจะให้ความสว่างที่มากที่สุด ที่จะเห็นได้ว่าช่องกลางหน้าจอเป็น 0% ก็คือแสดงความสว่างได้เต็มที่ แต่สำหรับช่องแถวบนมุมซ้ายและแถวบนช่องกลางจะมีแสงสว่างที่ลดลงระดับ 12% นอกจากนี้ยังได้เผยเห็นความคลาดเคลื่อนของสีที่ต่ำมาก ดูจากค่า Delta-E ที่ต่ำกว่า 2 โดยอยู่ที่ 0.75 เท่านั้น ปิดท้ายด้วยคะแนนรวม 4.0 เมื่อทดสอบด้านการแสดงผลต่างๆ ทั้งหมดแล้ว นับว่าเป็นจอที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโน๊ตบุ๊คที่เคยรีวิวมาทีเดียว ตอบสนองสาย Mobile Workstation
ตัวลำโพงเป็นแบบสเตอริโอ 2W x 2 ตัว ระบบเสียง Dolby Atmos ให้ที่เสียงที่ดีมาก ซึ่งเราสามารถปรับโปรไฟล์เสียงได้หลากหลาย พร้อมซอฟต์แวร์ปรับแต่ง ทั้งในเรื่องของเสียงเบสที่rพอมีน้ำหนัก เสียงกลางที่สมดุล และเสียงแหลมที่ออกมาใสๆ พร้อมทั้งความดังและกังวาลที่มากกว่า โดยมีโน๊ตบุ๊คเพียงไม่กี่รุ่นที่ทำเสียงออกมาดีได้ขนาดนี้ ซึ่งตัวลำโพงจะอยู่บริเวณขอบตัวเครื่องซ้ายและขวาระหว่างแป้นคีย์บอร์ดลักษณะยิงขึ้นมาตรงๆ ทั้ง 2 ตัว ทำให้เสียงที่ออกมามีเสียงดังฟังชัด แต่อย่างไรถ้าเน้นคุณภาพเสียงขนาดสูง แนะนำให้ต่อหูฟังหรือลำโพงแยกดีกว่า
Connector / Thin And Weight
ถึงแม้ Lenovo ThinkPad P1 มีความบางเบากว่าโน๊ตบุ๊คทั่วไปรวมไปถึง Mobile Workstation แต่พอร์ตเชื่อมต่อมีมาให้ครบครันมากมายระดับนึง อาทิ พอร์ตเชื่อมต่อ USB 3.2 Type-A จำนวน 2 พอร์ต ที่มาพร้อมกับการสนันสนุนในเรื่องของโอนถ่ายข้อมูล รวมไปถึงการจ่ายไฟไปยังอุปกรณ์อื่นๆ เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถชาร์จสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆ ได้ รวมไปถึงมีพอร์ตเชื่อมต่อ HDMI และ Thunderbolt 4 จำนวน 2 พอร์ต ไว้เชื่อมต่อหน้าจอภายนอก หรือโอนถ่ายไฟล์ความเร็วสูง อีกทั้งยังชาร์จไฟ PD ได้อีกด้วย หรือถ้าคิดว่าพอร์ตเชื่อมต่อไม่พอ ก็สามารถใช้ USB-C Hub มาต่อผ่านทาง Thunderbolt 4 ได้เลย
และช่องเชื่อมต่อเสียงภายนอกขนาดมาตรฐานที่ 3.5 มิลลิเมตร ซึ่งรองรับการใช้งานไมค์และหูฟังในช่องๆ เดียว ที่ชอบมากๆ เลยก็คือมี SD Card Reader ทำให้โอนไฟล์จากกล้องได้ง่ายที่สุด ช่องเชื่อมต่ออแดปเตอร์แบบหัว 4 เหลี่ยม ซึ่งเป็นมาตรฐานโน๊ตบุ๊ค Lenovo ในยุคนี้ สำหรับน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 1.8 กิโลกรัม ที่ถือว่าเบาทีเดียว เมื่อพกพากับอแดปเตอร์ขนาด 230Watt ที่มีขนาดใหญ่จนเกินไป รวมแล้วจะหนักประมาณ 2.8 กิโลกรัม ก็ถือว่า Lenovo ThinkPad P1 ตอบโจทย์การใช้งานนอกสถานที่อย่างที่สุดรุ่นหนึ่ง เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการทำงานที่ได้
Inside / Upgrade
การแกะเครื่อง Lenovo ThinkPad P1 นั้นสามารถทำได้ไม่ยากแต่ก็ต้องมีความระมัดระวัง เพราะงานประกอบค่อนข้างแน่นหนาทีเดียวจากการที่ฝาหลังเป็นโลหะทำให้ค่อนข้างแข็ง เอาจริงๆ คือใครๆ ก็ทำได้ขอแค่มีไขควงสี่แฉก ซึ่งหลังจากถอดน็อตทุกตัวเสร็จหมดแล้ว เราต้องใช้บัตรแข็งค่อยๆ รูดถอดออกที่ละส่วน จากหลังมาหน้า ควรทำอย่างใจเย็นระวังแตกหัก ซึ่งในส่วนของขอบเครื่องฝาด้านหน้าจะเป็นสลักยึดเอาไว้ตรงนี้ต้องใช้แรงดึไปด้านหลัง อย่างแรกที่เราจะเห็นเมื่อเปิดมาก็คือชุดระบายความร้อนพัดลม 2 ตัว พร้อมฮีทไปป์ และ Vapor Chamber
ส่วนอื่นๆ จะเห็นฮาร์ดแวร์หลายๆ อย่างชัดเจนตามรูปเลย การวางรูปแบบของฮาร์ดแวร์เครื่องนี้ทำได้ดูดีสมกับเป็นโน๊ตบุ๊คระดับมืออาชีพ เรื่องระบายความร้อนตัวเครื่องมี Heat Pipe จำนวน 2 เส้นขนาดใหญ่ วางพาด CPU / GPU ส่วนพัดลมเครื่องนี้ก็มีมาให้ 2 ตัวแบบบางพิเศษ โดยลมร้อนเป่าออกทางด้านหลังตัวเครื่อง นอกจากนั้นเราจะเห็นถึงแรม 16GB DDR4 แบบ SO-DIM พร้อมอัปเกรดได้ 1 แถวทันที (ได้สูงสุด 32GB x 2 = 64GB) อีกทั้งเราจะเห็นถึง SSD M.2 NVMe PCIe Gen 4 ความจุ 512GB ที่หากต้องอัพเกรดก็ต้องถอดของเดิมออกด้วย
Performance / Software
Lenovo ThinkPad P1 มาพร้อมกับชิปประมวลผลประสิทธิภาพสูงของ Gaming Notebook อย่าง Intel Core i Gen 11 H45 อย่าง Intel Core i7-11850H (CPU-Z แสดงไม่ตรงตามจริง) เน้นนำไปใช้งานหนักๆ ไม่จะเป็นการโปรเซสหรือเล่นเกม 3 มิติ ที่กินทรัพยากรสูง โดยมีความเร็วในการประมวลผลอยู่ที่ 2.50 GHz แต่สามารถเร่งประสิทธิภาพขึ้นไปได้สูงสุดถึง 4.80 GHz เป็นซีพียูแบบ 8 Core 16 Threads มาพร้อมแรมภายในขนาด 16GB DDR4 Buss 3200 MHz แบบ 16GB x 1 แถว ที่สามารถขับเคลื่อนระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home ลิขสิทธิ์ที่มีมาให้แบบสบายๆ
Intel vPro คือแพลตฟอร์มของฮาร์ดแวร์สำหรับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการใช้งานในองค์กรโดยเฉพาะ Intel ได้ออกแบบแพลตฟอร์มนี้ผ่านมุมมองขององค์กร ที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์แล้ว ยังมีโจทย์ที่สำคัญของการดูแลจัดการอุปกรณ์จำนวนมาก และการรักษาความปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน โดยแพลตฟอร์ม Intel vPro เน้นเพิ่มประสิทธิภาพใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่
- ประสิทธิภาพในการทำงานอุปกรณ์ – แรงกว่า Intel Core vPro เจน 8 กว่า 8 เท่า พร้อมเชื่อมต่อและประหยัดแบตมากยิ่งขึ้น
- การรักษาความปลอดภัย – ด้วยระดับที่ลึกกว่า OS พร้อมมีระบบ AI ในฮาร์ดแวร์ที่ช่วยตรวจจับภัยคุกคามจากทุกช่องทาง
- ความง่ายในการจัดการอุปกรณ์ – กับฟีเจอร์เด็ดสุด แม้เปิดเครื่องก็สั่งรีโมทเปิดได้ เข้า BIOS ได้ ขอแค่ต่ออินเตอร์เน็ต
- ความเสถียรของตัวอุปกรณ์ – โดย Intel จัดทำร่วมผู้ผลิต สร้างฮาร์ดแวร์ที่มั่นใจได้ว่าจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
การ์ดจอเป็นแบบออนชิปอย่าง Intel Iris Xe Graphics ให้พลังในการประมวลผลที่ดีในระดับที่ก้าวกระโดดกว่ารุ่นก่อนๆ อย่างในเรื่องของกราฟิก 2 มิตินั้นก็รองรับได้อย่างสบายๆ หรือถ้าเป็น 3 มิติก็ต้องบอกว่ารองรับการทำงานได้ในระดับเบื้องต้นหรือระดับสูง รองรับการทำงานกับหน้าจอความละเอียดสูงอย่าง 4K / 8K ได้แบบไม่มีปัญหา เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเพิ่มพลังการสร้างสรรค์คอนเทนต์ มองหาความบันเทิง หรือการเล่นเกมเปี่ยมอรรถรส ประสิทธิภาพที่เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับการ์ดจอแยกเลยทีเดียว
อีกทั้งยังมีการ์ดจอแยกรุ่นใหม่ล่าสุดตัวแรงอย่าง NVIDIA RTX A3000 (6GB GDDR6) ค่า TGP ตามสเปกคือ 95W สถาปัตยกรรม Ampere ที่ต้องบอกว่าแรงเทียบเท่าระดับพีซีแบบสบายๆ เน้นใช้งานประมวลผล 2D หรือ 3D ที่ตัวซอฟต์แวร์มีชุดคำสั่งรองรับ เพื่อทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เรียกได้ยิ่งตอบสนองในส่วนของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ 3D ที่กินทรัพยากรได้เป็นอย่างดีทีเดียว โดยถ้าใครจะเอาไปเน้นเล่นเกมอันนี้คงไม่แนะนำ แต่ทางทีมงานก็ทดสอบการเล่นเกมเอาไว้ดูประกอบด้วยได้
สำหรับโปรแกรมทดสอบ CINEBENCH 15 / CINEBENCH 20 ที่เน้นในเรื่องของพลังชิปประมวลผล Intel Core i7-11850H คะแนนก็อยู่ในระดับสูงน่าประทับใจสมกับเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจาก Intel Core i เปรียบเทียบกับชิปประมวลผล AMD / Intel ก็ทำได้ดีกว่าแบบชัดเจนทีเดียว รวมไปถึงตัวการ์ดจอแยก RTX A3000 เองก็มีประสิทธิภาพสูงเช่นเดิม เรียกได้ว่าตอบโจทย์ในส่วนของงานประมวลผลหนักๆ ได้อย่างสบายๆ รวดเร็วทันใจแบบสุดๆ สมกับเป็นชิปประมวลผลตัวบนในรุ่นใช้งานเต็มกำลัง และการ์ดจอระดับบน ที่เน้นการทำงานเป็นหลัก
ตัวเก็บข้อมูลของเครื่องที่เลือกใช้ SSD ก็ทำคะแนนออกมาได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจบนขนาดความจุ 1TB แบบ M.2 NVMe PCIe Gen 4 ระดับความเร็วสูง ยิ่งเมื่อนำไปใช้เทียบกับ SSD SATA 3 แล้วละก็จะเห็นถึงประสิทธิภาพทั้งในด้านการทดสอบและในด้านการใช้งานจริงที่แตกต่างกันอย่างเห็นเห็นได้ชัด เรียกได้ว่าเปิดอะไรปุ๊บก็ติดปั๊บ ที่ต้องบอกว่าความเร็วระดับการอ่านที่ 3402 MB/s และเขียนที่ 2694 MB/s เป็นระดับความเร็วในการเขียนอ่านทำงานโดยรวมที่น่าประทับใจ จัดว่าเป็น SSD M.2 NVMe ระดับบน แต่ถ้าได้เป็นความเร็วระดับ 5000 MB/s น่าจะดีกว่านี้เมื่อเทียบกับค่าตัว
การทดสอบประสิทธิภาพกับโปรแกรม PCMark 10 Advance ซึ่งสามารถทำคะแนนการทดสอบรวมได้มากถึง 6,048 คะแนน ถือได้ว่าในส่วนของการใช้งานทั่วไปโดยรวมนั้นสอบผ่านแบบสบายๆ ทั้งในส่วนของการเล่นเว็บไซต์ งานเอกสาร งานตกแต่งรูปภาพ รวมถึงงานตัดต่อวิดีโอ และจากการที่เป็น Gaming Notebook สเปกใหม่ล่าสุดจากชิปประมวลผลและมีการ์ดจอแยกระดับ Gaming ตัวบน ทำให้มีคะแนนพุ่งกว่าโน๊ตบุ๊คปีก่อนๆ มากพอตัวระดับเทียบเท่า Desktop ไปแล้ว ฉะนั้นการใช้งานพื้นฐานหรือทำงานหนักๆ สอบผ่านได้สบายๆ
สำหรับคะแนนและเฟรมเรมในการเล่นเกมจากการทดสอบด้วยโปรแกรม 3D Mark จากทาง Futuremark ที่พัฒนาและคิดค้นจากบริษัท AMD, Intel, Microsoft, NVIDIA ในส่วนของ Time Spy ทำออกมาน่าสนใจมากๆ ด้วยคะแนนรวม 6,239 เน้นเรื่อง DirectX 12 เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเพื่อมาเสริมข้อบกพร่องทางด้านการทำงานต่างๆ ของการ์ดจอแยกเป็นหลัก ทั้งในส่วนของการเล่นเกม หรืองานประมวลผล 3 มิติที่ซับซ้อน ซึ่งผลทดสอบนั้นจะดูว่าแต่ละการ์ดจอนั้นสามารถทำงานเข้าขากับ DirectX 12 ได้ดีขนาดไหน ที่นับว่าอยู่ในระดับกลางค่อนบน
คะแนนและเฟรมเรมในการเล่นเกมทำออกมาน่าสนใจมากๆ โดยเฉลี่ยของเฟรมเรท (FPS) จากทั้ง 4 เกมที่ได้ทดสอบมีค่าเฟรมเรทเฉลี่ยมากกว่า Gaming Notebook สเปกปีก่อนๆ ซึ่งตรงนี้ก็สามารถชี้วัดความสามารถในการเล่นเกมที่กราฟิกละเอียดๆ และภาพสวยๆ ได้ลื่นไหลเป็นอย่างดี ที่ความละเอียด 1920 x 1200 พิกเซล โดยกราฟิกปรับระดับสูงสุดทั้งหมด ตามภาพด้านล่าง แต่ก็ไม่สามารถปรับความละเอียดที่ 3840 x 2400 พิกเซล แบบ Native ได้ ที่ต้องบอกว่าภาพก็สวยจนน่าประทับใจ เรียกได้ว่าเหลือๆ กับการตอบสนองความต้องการเล่นเกมได้สมบูรณ์เท่าที่ได้ แต่ก็ยังไม่ดีเท่ากับ Gaming Notebook
ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ Lenovo Commercial Vantage ก็เรียกได้ว่าเป็นซอฟแวร์ที่มีประโยชน์มาก ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการและควบคุมในหลายๆ ส่วนของเครื่องได้ เรียกได้ว่าค่อนข้างละเอียดมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่อง ตั้งค่าทัชแพด TrackPoint การเชื่อมต่อไร้สาย แบตเตอรี่ กล้องเว็บแคม ระบบเสียง หรืออื่นๆ ที่ต้องบอกว่าซอฟต์แวร์ต่างๆ นั้นไม่ได้ติดตั้งมาให้หนักเครื่องเปล่าๆ แต่สามารถใช้งานได้จริง และใช้งานได้ดีอีกด้วย
Battery / Heat / Noise
โดยแบตเตอรี่ที่ติดตั้งมาให้กับ Lenovo ThinkPad P1 นั้น จะเป็นแบตเตอรี่แบบฝังตามสมัยนิยม เมื่อทดสอบผ่านโปรแกรม BatteryMon แสดงผลให้ว่าตัวเครื่องเปิดใช้งานต่อเนื่องได้ประมาณ 6 ชั่วโมง โดยก็ถือว่ายาวนานแล้วล่ะถ้าเทียบกับสเปกภายใน แต่ก็น้อยกว่าที่ทาง Lenovo เคลมไว้ที่ 10 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเอามาใช้งานกันจริงๆ จังๆ ก็แนะนำให้พกพาอแดปเตอร์ไปด้วยตลอดเวลาจะดีมากๆ เพราะขนาดและน้ำหนักของอแดปเตอร์ก็ไม่ลำบากในการพกพาเกินไปแต่อย่างใด นอกจากนี้เรายังสามารถใช้อแดปเตอร์อื่นๆ ที่เป็น USB-C มาตรฐาน PD ก็สามารถชาร์ไฟเข้าเครื่องได้ด้วย
อุณหภูมิปกติของเครื่องจะอยู่ที่ 50 – 60 องศาเซลเซียส สำหรับการใช้งานทั่วไป แต่พอรีดประสิทธิภาพเต็มที่จะเห็นว่าเครื่องจะร้อนที่สุดที่ 100 องศาเซลเซียสทีเดียว (ล็อคเอาไว้ไม่ให้เกินนี้) ส่วนการ์ดจอแยกอยู่ที่ 90 องศาเซลเซียส นับว่าระบบระบายความร้อนของ Lenovo ThinkPad P1 เครื่องนี้ทำออกมาได้ดี เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คที่สเปกใกล้เคียงกัน รวมไปถึงตัวเครื่องที่มีความบางเบา ที่เคยทำการรีวิวมาพอควร นับว่า Mobile Workstation เครื่องนี้จัดการระบบระบายความร้อนได้น่าประทับใจ โดยที่ตัวเครื่องโดยรวมเองสามารถทำงานได้อย่างสเถียรภาพ ไม่มีอาการหน่วงหรือประตุกแต่อย่างใด
Conclusion / Award
สิ่งหนึ่งที่ชอบโน๊ตบุ๊คกับคอมพิวเตอร์พกพา ก็คือมันสามารถให้เราทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา แต่นั่นอาจจะเป็นแค่งานเบาๆ ที่ประมวลผลไม่หนักมาก ซึ่งช่วงหลังๆ เทคโนโลยีต่างๆ ได้พัฒนามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เรามีโน๊ตบุ๊คที่บางเบาลงกว่าเมื่อก่อน แต่ประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่ากับพีซีตั้งโต๊ะแรงๆ เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามสำหรับ Lenovo ThinkPad P1 นั้นยังคงความเป็น ThinkPad ระดับบน ให้เห็นอยู่คือดูแล้วเหมาะกับการใช้งานสำหรับวิศวกร สถาปัตย์ นักตัดต่อวีดีโอ หรือผู้ใช้ระดับมืออาชีพครับ ด้วยความที่ว่าสเปกนั้นแรงมาก ประกอบกับราคาก็ไม่ใช่อยู่ในกลุ่มทั่วไปที่จับต้องได้ง่ายนัก
แน่นอนว่าคงไม่ได้เหมาะสำหรับคนที่จะซื้อมาเล่นอินเตอร์เน็ต ดู Youtube, Facebook เป็นหลักอย่างแน่นอน แต่จะเป็นเรื่องของการสร้างงานสร้างรายได้ ทั้งที่เราซื้อมาใช้งานเองส่วนตัว หรือองค์กรซื้อมาให้เราใช้งาน ซึ่งจริงๆ แล้วโน๊ตบุ๊คก็แบ่งออกไปเป็นหลายประเภทด้วยกัน ทั้งอย่างใช้งานทั่วไป เน้นบางเบา เน้นเล่นเกม รวมไปถึงเน้นทำงาน นอกจากนี้ก็จะมีส่วนของที่เน้นเน้นทำงานหนักๆ และความปลอดภัยขั้นสูงด้วย Discrete Trusted Platform Module (dTPM) 2.0 ระดับมือาชีพอย่าง Mobile Workstation อีกด้วย โดย Lenovo ThinkPad P Series ที่การันตีว่าเป็นของดีด้วยชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน
ซึ่งเชื่อว่าเครื่องนี้อยู่ในระดับราคาที่น่าลงทุนสำหรับผู้ใช้งานในระดับมืออาชีพจริงๆ อาจจะดูว่าราคาสูงกว่าโน๊ตบุ๊คทั่วไป แต่สามารถทำให้สร้างรายได้แน่นอน สำหรับคนที่ต้องการจะซื้อมาใช้งาน เหมาะมากๆ กับคนที่ต้องการใช้งาน Mobile Workstation ที่ยังเต็มประสิทธิภาพ เต็มประสบการณ์ แต่ใช้งานนอกสถานที่ได้อย่างสบายๆ แม้ราคาเริ่มต้นอาจจะดูสูง โดยเริ่มต้น 85,390 บาท และในการใช้งานจริงๆ เชื่อได้ว่าหลายๆ คนที่ใช้งานในองค์กรแบบมืออาชีพที่ตัวงานเองนั้นมีมูลค่าสูงกว่านั้น ก็อาจจะปรับแต่งจนค่าตัวขยับขึ้นไปที่แสนกว่าบาทได้ แต่มันก็ดูคุ้มค่ากับมูลลค่างานได้เราได้รับกลับมา
Award
โดยในครั้งนี้จะเป็นการเปรียบเทียบการให้รางวัลกับเครื่องในกลุ่มของโน๊ตบุ๊คระดับสูง Workstation ขนาดหน้าจอ 16″ ในระดับสเปค และราคาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่ง Lenovo ThinkPad P1 ก็ได้รางวัลดังนี้
Best Mobility
ความสามารถในการพกพาก็ยังคงอยู่ในระดับที่ดีตามสไตล์ของโน้ตบุ๊ตที่เน้นความบางเบา กับรุ่นขนาดหน้าจอ 16″ ทั้งในความบางเพียง 17.7 มิลลิเมตร และน้ำหนักเบา 1.8 กิโลกรัม ที่ทำให้สามารถหิ้วไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจับถือมากนัก สามารถพับฝาจอลงแล้วเก็บเครื่องได้ทันที อแดปเตอร์ก็ทำออกมาให้มีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก พกพาสะดวก รวมน้ำหนักแล้วยังไม่ถึง 3.8 กิโลกรัม รวมไปถึงมีความทนทานระดับ Military-Grade เหมาะมากๆ กับคนที่ทำงานนอกสถานที่บ่อยๆ
Best Multimedia
หน้าจอพาเนล IPS คุณภาพระดับสูง ที่มีความละเอียดอย่าง 4K Ultra HD + ส่งผลให้มีสีสันสวยสมจริง ให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีเยี่ยม คมชัดในทุกมุมมอง พร้อมวัดค่า sRGB ดีที่สุด รุ่นนึงของตลาดโน๊ตบุ๊ค รวมไปถึงมีพอร์ตความเร็วสูงแห่งอนาคตอย่าง Thunderbolt 4 ไว้เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงเชื่อมต่อหน้าจอภายนอกเพิ่มได้ 2 – 3 จอ ที่ความละเอียด 4K, 8K เพื่อการใช้งานที่มากกว่าอีกด้วย และยังมาพร้อม Face Recognition, Fingerprint รุ่นใหม่ใช้งานได้รวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย ที่ต้องบอกว่ามีความไวพอๆ กับสมาร์ทโฟนรุ่นบนๆ ที่มีฟีเจอร์สแกนลายนิ้วมือเลย
Best Performance
ด้วยรุ่นที่เรานำมาทดสอบกัลสเปกชิปประมวลผล Intel Core i7-11850H ตัวล่าสุด และการ์ดจอแยก NVIDIA RTX A3000 มาพร้อมกับแรมขนาด 16GB แบบ DDR4 Bus 3200MHz รวมไปถึง SSD ความเร็วสูง NVMe PCIe Gen 4 ที่ 512GB ก็ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของตัวเครื่องนี้มีความน่าประทับใจ ทั้งจากในการใช้ทำงานจริงๆ รวมไปถึงการทดสอบด้วยโปรแกรมต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในสเปกระดับพีซีเครื่องอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน ผลคะแนนที่ออกมานั้นทำได้อยู่ในช่วงเดียวกัน หรือบางจุดก็มากกว่าซะด้วย