ต้องบอกว่าเฟี๊ยวมากสำหรับเมนบอร์ด Intel Z490 จากทาง BIOSTAR ใหม่ล่าสุดนี้ ที่มาบนพื้นฐานของชิปเซ็ต Intel Z490 สำหรับซีพียูแพลตฟอร์ม LGA1200 ที่ใช้ร่วมกับ Core i Gen 10 ตอบโจทย์คนที่ต้องการไปให้สุดทั้งในด้านการทำงานและเล่นเกม ด้วยฟีเจอร์ที่อัดแน่น และความสวยงามของไฟ RGB ในราคาสบายกระเป๋า มาดูไปพร้อมๆ กันว่า ทีเด็ดของเมนบอร์ดรุ่นนี้ มีอะไรกันบ้าง?
BIOSTAR Z490 GTA EVO จัดเป็นเมนบอร์ด Intel ในซีรีส์ท็อปๆ ในรุ่น เพราะถ้ามองจากในรุ่นใกล้เคียงที่เป็นซีรีส์เดียวกันอีก 203 รุ่น เช่น SILVER หรือ GTA ถือว่า GTA EVO จัดฟีเจอร์มาเต็มพิกัด ไม่ว่าจะเป็นภาคจ่ายไฟ 16-phase อลังการ ที่ BIOSTAR ยังเลือกแบบให้ความทนทาน สำหรับงานอึดถึก พร้อมสล็อตแรมที่รองรับได้ถึง 128GB ในแบบ DDR4 4000 (OC) และสล็อต PCI-Express X16 3.0 เพิ่มความแข็งแรงมาด้วย Iron slot protection มาอีก 2 สล็อต เช่นเดียวกับ Storage ที่นอกจากมี SATA6 ที่มีให้เหลือเฟือ ก็จัด M.2 slot PCIe Gen3 x4 มาอีก 2 สล็อตด้วยกัน เพิ่มความเร็วและโมดูลจัดเก็บข้อมูลมากเต็มที่มากขึ้น ที่สำคัญดีไซน์ Armor Gear ที่นอกจะช่วยระบายความร้อน ยังเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการต่อพ่วงอุปกรณ์ได้ดี และยังมีคอนเน็กเตอร์รองรับชุดระบายความร้อนได้หลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพัดลม หรือปั้มน้ำก็ตาม รวมไปถึงความสวยงามจากไฟ RGB ที่ให้คุณปรับแต่งบนซอฟต์แวร์ได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเมนบอร์ดรุ่นนี้เท่านั้น
Specification: เมนบอร์ด Intel BIOSATR Z490 GTA EVO
การออกแบบและฟังก์ชั่น
ถ้าดูจากหน้ากล่องแพ็คเกจ ถือว่า BIOSTAR เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในซีรีส์นี้ เพราะไม่ได้มีโทนสีดำหรือเทาแบบที่คุ้ยเคยกันในอดีต แต่เพิ่มสีสันให้ดูเป็น RGB มาบนหน้ากล่อง เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า มีสิ่งที่คุณกำลังค้นหาอยู่บนเมนบอร์ดรุ่นนี้ ส่วนด้านหลัง ก็ยังคงคล้ายกับเมนบอร์ดส่วนใหญ่ในท้องตลาด ที่จะมีบอกรายละเอียดเบื้องต้นที่มีอยู่ สำหรับใช้ในการพิจารณาก่อนจะซื้อ
เปิดมาด้านในกล่อง ก็จะมีเมนบอร์ดอยู่ด้านบนสุด ด้านใต้ก็จะมาพร้อมบรรดา Accessories มาให้พอสมควร เริ่มตั้งแต่สาย SATA6 4 เส้นเป็นแบบหัวตรงล้วนๆ ไม่มีแบบ 90 องศามาให้เห็น
แผ่นไดรเวอร์และซอฟต์แวร์ ที่น้อยมากแล้วจะเห็นมากับเมนบอร์ดรุ่นใหม่ๆ ก็ถือว่า BIOSTAR ก็ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ผู้ใช้ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตสามารถใช้งานได้ในเบื้องต้น ด้านข้างก็จะเป็นแผ่นสติกเกอร์มาด้วย
คู่มือการใช้งาน ที่มีข้อมูลรายละเอียด ตั้งแต่สเปค ฟังก์ชั่น การติดตั้งและการใช้งานมาครบ ถ้าเป็นมือใหม่ ก็สามารถศึกษาดูได้จากสิ่งนี้ จะช่วยให้ติดตั้งและใช้งานได้เต็มที่มากขึ้น
มาถึงตัวเมนบอร์ด ที่จัดว่าตอนแรกที่ยังไม่ได้เปิดกล่อง ถือมาค่อนข้างหนักทีเดียว ซึ่งพอเปิดกล่องออกมา ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงหนัก เพราะเมื่อดูจากโครงสร้างและชิ้นส่วนที่ติดตั้งมาให้ มองรอบแรกจะเห็นว่า BIOSTAR จัดมาแน่นเลยทีเดียว
หน้าตาเต็มๆ ของเมนบอร์ด Intel รุ่นนี้ ถ้ามองดีๆ แทบจะไม่มีพื้นที่ว่าเปล่าบนเมนบอร์ดด้วยซ้ำไป และบรรดา Armor รวมถึงชิ้นส่วนถูกวางมาเต็มพิกัด ยิ่งมองไปที่ภาคจ่ายไฟรอบๆ ซ็อกเก็ตด้วยแล้ว ถึงกับตะลึง
พื้นที่โดยรอบซ็อกเก็ตค่อนข้างมีพอสมควร เพื่อให้ติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ได้ ส่วนที่เป็น Block น้ำทั่วไป ก็ไม่น่ากังวล แต่ทางด้านใกล้กับแรม อาจจะต้องเช็คความสูงของแรมหรือความหนาของพัดลมเล็กน้อย ว่าจะไม่เบียดกัน
Armor ของชิปเซ็ต Z490 ขนาดใหญ่ พร้อม Logo Racing ที่เป็นชื่อของซีรีส์นี้ ไม่ใช่แค่ดีไซน์ แต่ยังใส่เส้นสายมาด้วย เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น
ด้านล่างจะเป็นสล็อต PCIe X1 จำนวน 2 ช่อง สำหรับ Expansion card ที่จะใช้เพิ่มเติมในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการ์ดเพิ่มพอร์ตหรือการ์ดแปลงแบบต่างๆ และด้านข้างยังมี LED Debug มาให้ด้วย
เมนบอร์ดมาพร้อมสล็อตแรม DDR4 ที่รองรับการ OC ได้ถึง 4400MHz (OC) และมีถึง 4 สล็อต อัพเกรดเพิ่มได้ที่ระดับ 128GB แต่ที่ส่วนตัวชอบคือ เป็นสลักทั้ง 2 ด้าน ไม่ต้องฝืนเวลาถอดใส่แรม
ตรงกลางเมบอร์ดเกือบจะได้เซอร์ไพรซ์ เพราะแอบมีสล็อต M.2 E-key มาให้ พร้อมสายต่อสัญญาณไปยัง WiFi-Antenna ด้านหลัง แต่ไม่มีโมดูลมาให้ ส่วนถ้าใครจะใช้ WiFi ก็สามารถหาโมดูล WiFi 5 หรือ WiFi 6 มาติดตั้งได้เลย ส่วนที่ขนาบกันอยู่จะเป็น PCI-Express Gen3 X16 เงื่อนไขในการทำงาน ก็ไม่ได้ซับซ้อน ติดตั้งสล็อตเดียว X16 ส่วนถ้าติดตั้ง 2 การ์ด ก็จะเป็น X8 + X8 นั่นเอง
Connector 24-pins สำหรับเพาเวอร์ซัพพลายจ่ายไฟซีพียู และสวิทช์ Reset, Clear CMOS และ Power ไล่จากทางซ้ายมาตามลำดับ
จุดที่น่าสนใจของเมนบอร์ด Intel จาก BIOSTAR อีกอย่างหนึ่งก็คือ RGB 12V header และ ARGB 5V header ที่มีให้เชื่อมต่อและปรับแต่งความสวยงามให้กับระบบของคุณ ซึ่งจุดต่อพ่วงนั้นอยู่ใกล้ๆ กับสล็อตแรม มีให้ถึง 4 ชุดด้วยกัน
ด้านบนซ้ายของซ็อกเก็ตซีพียู มีอคนเน็กเตอร์แบบ 8-pins CPU มาให้ถึง 2 ชุดด้วยกัน สำหรับจัดการร่วมกับซีพียูรุ่นใหญ่และการโอเวอร์คล็อกได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็น Core i7 หรือ Core i9 ก็ตาม
Back panel ด้านหลัง ที่มี Plate ติดตั้งมาให้ด้วยเลย พร้อมกับพอร์ตต่อพ่วงมาเต็มพิกัด ไม่ว่าจะเป็น HDMI, USB 3.2 Gen2, Gen1, USB Type-C และ Type-A, RJ-45 สำหรับ Gigabit LAN จาก Intel พร้อมฟีเจอร์ด Super LAN Surge Protection พร้อมระบบเสียงจาก ALC1150 รองรับ 7.1-channel
เมนบอร์ด Intel ซ็อกเก็ต LGA1200 สำหรับซีพียู Intel Core Gen 10 รุ่นใหม่ สวยงามใสๆ พร้อมกับการใช้งาน
พอร์ต SATA6 สำหรับ HDD หรือ SSD ในแบบ SATA 2.5″ และ 3.5″ มาตรฐาน ติดตั้งมาให้ 6 ชุด
สวิทช์เล็กๆ ที่ใช้สำหรับ สลับ BIOS ในกรณีที่ไบออสตัวใดตัวหนึ่งเสียจากการแฟลชแก้ไข หรือโดนไวรัสโจมตี ก็จะมีสำรองให้ใช้งานได้
สำหรับคนที่จะติดตั้ง SSD M.2 เพิ่มเติม ก็สามารถติดตั้งบนเมนบอร์ดได้ 2 สล็อต อยู่บริเวณใกล้ๆ กัน โดยให้แกะที่เป็นตัวครอบออกมาก่อน แล้วดึงสติ๊กเกอร์ที่ปิดตัว Thermal compound ออก แล้วติดตั้งลงบน SSD M.2
ติดตั้ง SSD M.2 NVMe 2280 ตัวอย่างเป็น Kingston A2000 1TB หลังจากที่ติดตั้งเสร็จ ก็ใส่ครอบที่เป็นซิงก์ลงไปอีกที
สล็อตแรมที่ค่อนข้างใกล้กับชุดพัดลมพอสมควร ใครที่ใช้แรมซิงก์ปกติหรือใหญ่กว่าเล็กน้อบ ก็สามารถใช้งานได้ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าใหญ่หน่อย อาจจะต้องเช็คกันอีกที แต่ถ้าใช้บล็อคน้ำ ก็แทบจะไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะพื้นที่เหลือเฟือ ครั้งนี้เราใช้แรม HyperX FURY DDR4 16GB RGB
และเมื่อติดตั้ง SSD M.2 ลงไปแล้ว จะเห็นว่าพื้นที่ยังเหลือสำหรับกราฟิกการ์ดที่มีซิงก์หลังขนาดใหญ่อย่าง EVGA RTX 2070 SUPER ใส่ไว้ได้สบายๆ
Feature settings
Reset, Clerar CMOS และ Power switch on board ถือเป็นฟังก์ชั่น ที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะคนที่ใช้งานแบบเปิดเคส ที่ใช้บน Testbed ที่จะช่วยให้การปรับแต่ง รีเซ็ตและแก้ไข OC ได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่จพเป็นต้องใช้สวิทช์จากตัวเคส ซึ่งเมนบอร์ด BIOSTAR นี้ จัดมาให้บริเวณใกล้ๆ สล็อตแรม และยังมีไฟ LED ให้มองเห็นได้ชัดขึ้น
แสงไฟบน Armor ด้านบนของ Back panel สว่างขึ้น ขณะที่เมนบอร์ดทำงาน และสามารถปรับแต่งได้จากซอฟต์แวร์อีกด้วย
LED Debug ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักปรับแต่ง OC หลายคน เพราะช่วยให้วิเคราะห์อาการผิดปกติได้ ในยุคที่เราไม่มี Speaker มาบนเมนบอร์ด ส่วน Code ต่างๆ สามารถเทียบได้บนคู่มือที่มีมาให้
BIOS settings
ในหน้า BIOS เริ่มต้นจะเป็นแบบ EZ Mode หรือใช้งานแบบง่าย ตามสไตล์ของเมนบอร์ด Intel ในปัจจุบันที่เป็น UEFI ซึ่งในหน้าแรกนี้ จะบอกรายละเอียดทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ซีพียู แรม หรือความเร็วบัส และการเชื่อมต่อต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบ
แต่ถ้าในกรณีที่คุณต้องการปรับแต่งหรือตั้งค่าอื่นๆ ให้ใช้งานได้ตามที่คุณต้องการ ก็สามารถเข้าสู่โหมด Advance ด้วยการกดปุ่ม F7 บนคีย์บอร์ด ก็จะมีหน้าตาของ BIOS ที่คุณคุ้นเคยมาให้ ซึ่งจะมีให้เลือก 6 โหมดหลัก ประกอบด้วย Main, Advanced, Chipset, Boot, Security และ Tweaker
ในหน้า Advanced หลักๆ จะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์สำคัญ เช่น ซีพียู แรม เมนบอร์ดและการ์ดจอ ซึ่งใช้สำหรับการตรวจเช็ค และเปิดการทำงานฟีเจอร์บางอย่าง ที่อยู่บนซีพียูเป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีแท็ปสำหรับการตรวจสอบการทำงานของระบบ เช่น PC Health Status เช่น ความร้อนซีพียู รอบพัดลม หรือแรงดันไฟ ในส่วนนี้จะช่วยให้คุณตรวจเช็คความผิดปกติของระบบในเบื้องต้นได้
ในหัวข้อ Chipset บนเมนบอร์ด Intel นี้ จะมีให้เลือกใช้ฟังก์ชั่นที่มากับระบบ รวมถึงคอนโทรลเลอร์ชิปเซ็ต ที่มีบนเมนบอร์ด ไม่ว่าจะเป็น Storage, Sound, LAN, PCI-Express เป็นต้น
Boot จะเป็นส่วนของการตั้งค่าฮาร์ดแวร์ในการบูตเครื่อง เช่น การจัดเรียงลำดับการบูต หรือการเปิด-ปิดฟังก์ชั่นบางอย่างในการบูตเครื่องก็ตาม
ส่วนที่เป็นจุดเด่นสำคัญอีกอย่างหนึงบนเมนบอร์ด BIOSTAR รุ่นนี้ อยู่ที่การปรับแต่งในหัวข้อ Tweaker ซึ่งจะรวมเอาฟังก์ชั่นในการโอเวอร์คล็อกไว้อย่างมากมาย และบอกได้เลยว่า น่าจะถูกใจชาว OC เป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยพื้นฐานแล้วเมนบอร์ดค่ายนี้ ก็มักจะใส่ลูกเล่น ในการปรับแต่งมาให้ละเอียดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณนาฬิกา, CPU, Memory, แรงดันไฟ ไปจนถึง ฟีเจอร์ที่สำคัญ ที่จะทำให้การโอเวอร์คล็อกได้สำเร็จมากขึ้น
Software
อุปกรณ์ในการทดสอบ
- CPU: Intel Core i5-10600K
- Mainboard: BIOSTAR Z490 GTA EVO
- RAM: HyperX FURY DDR4 3200 16GB
- VGA: EVGA RTX 2070 SUPER FTW3 Ultra
- SSD: Kingston A2000 1TB M.2
- PSU: Silverstone SST60F 600W
ผลการทดสอบ
Conclusion
ในภาพรวมของเมนบอร์ด Intel จาก BIOSTAR Z490 GTA EVO รุ่นนี้ ดูแล้วน่าจะถูกใจคอเกม ที่ชอบปรับแต่ง เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และความสวยงาม โดยฟังก์ชั่นที่จัดมาให้ เรียกว่าเพียบพร้อมสำหรับการใช้งาน และไม่ได้เป็นรองกลุ่มของเมนบอร์ดระดับไฮเอนด์ด้วยกัน ว่ากันตั้งแต่ภาคจ่ายไฟขนาดใหญ่ ที่รองรับการใช้งานร่วมกับซีพียูรุ่นใหญ่ได้เต็มที่ กับสล็อตต่างๆ ที่มีให้มากมาย เสริมความแข็งแรง ด้วยบรรดา Armor มีครอบโลหะบนสล็อตการ์ดจอ และบน SSD M.2 module ที่มีถึง 2 สล็อตด้วยกัน ดังนั้นในแง่ของการออกแบบและประสิทธิภาพ แทบไม่ต้องกังวล สำหรับการเล่นเกมและทำงาน จากการทดสอบที่ปรากฏไปนั้น
นอกจากนี้เสน่ห์ของเมนบอร์ด ยังอยู่ที่ลูกเล่นที่เป็นฟังก์ชั่นน่าใช้ ไม่ว่าจะเป็น ปุ่มสวิทช์ Reset, Clear CMOS และ Power บนบอร์ด หรือชุดสลับ BIOS เพื่อความปลอดภัยและ LED Debug สำหรับการตรวจเช็คสถานะของบอร์ดผ่านทาง Code ตัวเลข รวมไปถึงแสงไฟ RGB ที่สามารถปรับแต่งได้จากซอฟต์แวร์ ซึ่งรวมถึงการเป็น Hardware monitor ในตัวอีกด้วย
ส่วนการปรับแต่ง OC ถือได้ว่าเป็นอีกรุ่นที่มาพร้อมความจัดจ้าน เพราะมีรายละเอียดมาให้ปรับเล่นเพียบเลย หากคุณชอบความท้าทาย และเร่งสปีดความเร็วซีพียูให้ทะลุขีดจำกัด น่าจะชื่นชอบเมนบอร์ดรุ่นนี้ โดยพื้นฐานหากคุณใช้ร่วมกับซีพียู K series ก็จะเห็นผลได้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่น i5-10600K ที่เรานำมาใช้ในครั้งนี้ ก็สามารถวิ่งไปแตะ 5.0-5.1GHz ได้ไม่ยากนัก ส่วนในเรื่องของแรม ก็ขึ้นอยู่กับแรมที่ใช้ด้วย ว่าสามารถ Compatible และรีดเร้นไปไกลได้เพียงใด
จุดเด่น
- ออกแบบเมนบอร์ดได้สวยงาม พร้อมไฟ RGB
- ให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี
- มีฟีเจอร์ที่ทำให้การโอเวอร์คล็อกง่ายขึ้น
- รองรับการ OC แรมได้ถึง 4400MHz
- ภาคจ่ายไฟขนาด 16-phase สำหรับซีพียูรุ่นใหญ่
- มี Reset, Clear CMOS และ Power สวิทช์บนเมนบอร์ด
- มีหัวต่อทั้ง RGB และ ARGB ให้เลือก
ข้อสังเกต
- น่าจะเพิ่มโมดูล WiFi มาให้ด้วยเลย เพราะมีสล็อตกับสายต่อเสาสัญญาณแล้ว
- ตัวล็อคการ์ดจอ อยู่ชิดกับ Armor ของ M.2 กลางเมนบอร์ด ทำให้ปลดยากเล็กน้อย
- คอนเน็กเตอร์พัดลม 4-pins อยู่ที่ด้านล่างสุดของบอร์ดเป็นส่วนใหญ่
ราคา: ประมาณ 8,900 บาท (ราคาในต่างประเทศ)
ข้อมูลเพิ่มเติม: BIOSTAR