หลายคนคงเคยพบปัญหาโน๊ตบุ๊คเปิดเครื่องได้ แต่ใช้ไปซักพักเครื่องก็ดับลงไปเองแบบที่ยังไม่ได้กดปิดเครื่องแต่อย่างใด ทำให้หลาย ๆ ครั้งต้องเสียการเสียงานกันไปเลยทีเดียว ในบทความนี้จะมาดูกันครับว่าปัญหาโน๊ตบุ๊คดับเองนี้ อาจเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และจะมีแนวทางการแก้ไขได้อย่างไร
สาเหตุของอาการโน๊ตบุ๊คเปิดเครื่องได้แต่ดับไปเอง
โดยส่วนใหญ่แล้ว ต้นเหตุของปัญหาโน๊ตบุ๊คดับไปเองมักจะเกิดจากปัญหาที่ภาคจ่ายไฟเป็นหลักครับ ซึ่งอาจเป็นที่ส่วนของอะแดปเตอร์จ่ายไฟ หรืออาจจะเป็นที่เมนบอร์ดก็ได้ เพราะตัวผู้เขียนเองก็เคยประสบปัญหาโน๊ตบุ๊คดับเองเหมือนกัน เมื่อส่งเข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการ ก็ได้ทราบว่าวงจรส่วนภาคจ่ายไฟบนเมนบอร์ดมีปัญหา เลยทำให้เครื่องดับไปเอง เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าเข้าไปในวงจร หรือในกรณีที่โน๊ตบุ๊คดับขณะใช้งานแบตเตอรี่อยู่ หนึ่งในปัจจัยที่อาจมีส่วนก็คือแบตเตอรี่ได้เช่นกัน เรียกว่าผู้ต้องสงสัยน่าจะเป็นส่วนของภาคจ่ายไฟทั้งระบบเลย
ส่วนอีกสาเหตุที่อาจทำให้โน๊ตบุ๊คที่เปิดใช้งานอยู่ดับไปเอง ก็คือเรื่องของความร้อน เนื่องจากโดยปกติแล้วส่วนของชิปประมวลผล และหลาย ๆ ส่วนภายในโน๊ตบุ๊ค จะได้รับการออกแบบให้ทนต่อความร้อนสะสมได้ปริมาณหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วตัวชิปและระบบจะพยายามช่วยระบายความร้อนออกให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรอบพัดลม การลดความเร็วลง เป็นต้น แต่ถ้าระดับอุณหภูมิยังคงสูงขึ้นไปจนถึงขีดจำกัด ก็เป็นไปได้ว่าระบบอาจจะเลือกปิดการทำงานลง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระดับฮาร์ดแวร์ ส่งผลให้โน๊ตบุ๊คดับไปเอง
วิธีตรวจสอบ และแก้ปัญหาอาการโน๊ตบุ๊คเปิดเครื่องได้แต่ดับไปเอง
กรณีที่สงสัยว่าเกิดจากภาคจ่ายไฟ
การตรวจสอบปัญหาโน๊ตบุ๊คดับไปเองระหว่างการใช้งาน ในกรณีที่สงสัยว่าภาคจ่ายไฟน่าจะมีปัญหา เบื้องต้นเลยก็คือ ถ้าโน๊ตบุ๊คดับขณะต่อสายชาร์จอยู่ ให้ลองถอดสายชาร์จแล้วเปิดเครื่องโดยใช้งานแบตเตอรี่ หรือในทางกลับกัน หากปัญหาเกิดระหว่างการใช้งานแบตเตอรี่ หากสามารถถอดแบตเตอรี่ออกเองได้ ก็ให้ลองถอดออกก่อน จากนั้นเสียบสายชาร์จแล้วลองเปิดเครื่องอีกที น่าจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ง่ายขึ้นว่าชิ้นส่วนใดที่เป็นสาเหตุของปัญหา
แต่ถ้าไม่สามารถถอดแบตเตอรี่ออกได้ หรือลองเสียบสายชาร์จแล้วก็ยังเปิดไม่ติด ถ้าเป็นไปได้อาจจะลองหยิบยืมสายชาร์จของเครื่องอื่นที่ใช้หัวชาร์จแบบเดียวกัน กำลังไฟเท่ากันหรือสูงกว่าอะแดปเตอร์เดิม ซึ่งทางที่ดีคือเลือกอะแดปเตอร์ที่จ่ายกระแสไฟกับแรงดันไฟฟ้าเท่ากับของเดิมด้วย (ดีที่สุดคืออะแดปเตอร์ของเครื่องรุ่นเดียวกัน) มาทดลองกับโน๊ตบุ๊คที่เกิดปัญหาเครื่องดับเอง แล้วลองดูว่าสามารถเปิดใช้งานได้หรือไม่ ถ้าพบว่าสามารถเปิดใช้งานได้ปกติดี แสดงว่าปัญหาน่าจะเกิดจากอะแดปเตอร์เป็นหลัก
วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือติดต่อศูนย์บริการเพื่อขอซื้ออะแดปเตอร์ใหม่ครับ หรือถ้าต้องการซื้ออะแดปเตอร์มือสอง หรือจะซ่อมก็มองหาร้านที่ไว้ใจได้ เพราะส่วนใหญ่ตามร้านมักจะมีอะแดปเตอร์ขายเป็นอะไหล่อยู่พอสมควร แต่ถ้าโน๊ตบุ๊คที่มีปัญหาเป็นเครื่องในกลุ่ม Gaming ที่ต้องใช้ไฟในการทำงานเยอะหน่อย การยอมเสียเงินซื้ออะแดปเตอร์ใหม่น่าจะปลอดภัยกว่าในระยะยาวครับ เพราะประสิทธิภาพของเครื่อง รวมถึงพวกเฟรมเรตนั้นค่อนข้างอ่อนไหวตามกำลังไฟพอสมควร
ส่วนถ้าลองทดสอบเบื้องต้นด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว ยังพบอาการโน๊ตบุ๊คดับเอง หรืออาจรวมไปถึงเปิดเครื่องไม่ติด แนะนำว่าควรส่งศูนย์บริการ หรือหากหมดประกันแล้วก็ลองดูร้านซ่อมเป็นทางเลือกได้ครับ โชคดีหน่อยก็อาจจะได้บัดกรีเปลี่ยนชิ้นส่วน ถ้าหนักหน่อยก็คือเปลี่ยนยกบอร์ดเลย เพราะโน๊ตบุ๊คสมัยนี้มักจะออกแบบให้แทบทุกชิ้นส่วนหลักรวมอยู่บนบอร์ดเดียวนั่นเอง
กรณีที่สงสัยว่าเกิดจากความร้อนสะสม
วิธีตรวจสอบเบื้องต้นที่สุดเลยก็คือลองใช้หลังมือสัมผัสไปตรงจุดต่าง ๆ ของตัวเครื่องว่ามีร้อนผิดปกติหรือไม่ โดยจุดที่มักจะมีความร้อนสูงก็จะอยู่บริเวณส่วนบนของคีย์บอร์ด ที่มักเป็นตำแหน่งในการวาง CPU กับ GPU ซึ่งเป็นจุดที่มักมีอุณหภูมิสะสมสูงสุดในตัวเครื่อง อีกวิธีในการสังเกตก็คือ ให้ลองนึกว่าก่อนที่โน๊ตบุ๊คจะดับไป เสียงพัดลมระบายอากาศภายในตัวเครื่องนั้นดังผิดปกติหรือเปล่า ถ้าเสียงดังมาก ก็แสดงว่าความร้อนสะสมในระบบนั้นสูงเกินไปจริง ๆ (อย่างน้อยก็แสดงว่าพัดลมยังทำงานได้อยู่) แต่ถ้าก่อนเครื่องจะดับ เสียงพัดลมไม่ได้ดังจนเกินไป ก็อาจเกิดได้ทั้งจากการที่พัดลมมีปัญหา หรืออาจจะเป็นเรื่องของภาคจ่ายไฟตามข้อแรกก็ได้
อีกปัจจัยที่ช่วยบ่งบอกว่าปัญหาโน๊ตบุ๊คดับเองอาจเกิดจากความร้อนก็คือ ระบบทำงานช้าลง เครื่องค้างบ่อย เล่นเกมแล้วเฟรมเรตตก ซึ่งมีสาเหตุมาจากระบบจะปรับลดประสิทธิภาพการทำงานลง เพื่อคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไปจนเครื่องดับ
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาโน๊ตบุ๊คดับเองขณะใช้งานอยู่ ที่อาจมีสาเหตุมาจากความร้อนสูง ประเด็นหลักเลยก็คือ หาสิ่งที่มาช่วยให้การระบายความร้อนเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น เช่น อาจจะหาแท่นรอง cooling pad มาใช้งาน จะเลือกแบบมีพัดลมเป่าลมอัดเข้าเครื่อง หรือแบบดึงความร้อนออกจากเครื่อง ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบช่องระบายความร้อนของแต่ละเครื่องครับ ซึ่งโน๊ตบุ๊คสมัยนี้มักจะออกแบบให้ช่องที่เป็นแนวยาวใต้เครื่องเป็นช่องสำหรับดูดลมเย็นเข้าไป แล้วปล่อยลมร้อนออกด้านข้าง ด้านหลัง ใต้จอ เป็นต้น หรือถ้ายังไม่อยากซื้อแท่น cooling pad ก็อาจจะหาของมารองใต้เครื่องให้ยกสูงจากพื้นโต๊ะซักนิดนึงก็ยังดี เพื่อให้ทางเดินลมเป็นไปได้สะดวกขึ้น
พื้นที่การวางโน๊ตบุ๊คก็สำคัญเช่นกันครับ ซึ่งก็ยังคงเหมือน ๆ กับที่ผ่านมาในอดีต คือไม่แนะนำให้วางโน๊ตบุ๊คบนที่นอน โซฟา หรือพื้นผิวที่เป็นผ้า เนื่องจากเนื้อผ้าอาจเข้าไปบังช่องระบายอากาศได้ ส่งผลให้การระบายความร้อนมีประสิทธิภาพต่ำลง เกิดอุณหภูมิสะสมสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ปัจจัยภายในตัวเครื่องที่สำคัญเลยก็คือฝุ่น เพราะฝุ่นอาจจะเข้าไปเกาะที่ใบพัดของพัดลม และที่ช่องระบายอากาศ ซึ่งส่งผลกับประสิทธิภาพการระบายความร้อนเข้าไปอีก ทางที่ดี ถ้าสะดวกก็ควรนำเครื่องไปทำความสะอาดภายในบ้างครับ อาจจะยกไปที่ร้านที่ซื้อ หรือยกไปที่ศูนย์บริการก็ได้เช่นกัน โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย แต่ถ้าเครื่องหมดประกันแล้ว หรือสามารถทำเองได้ ก็แนะนำว่าควรจะทำความสะอาดภายในทุก ๆ 6 เดือน ส่วนถ้าใช้งานในที่มีฝุ่นเยอะ อาจจะทำทุก 3 เดือนก็ได้ครับ จุดหลัก ๆ ที่ควรทำความสะอาดก็คือ พัดลม ช่องทางเดินระบายอากาศ ซึ่งสามารถใช้แปรงปัดได้ ส่วนพัดลม ถ้ามั่นใจพอก็ถอดออกมาล้างน้ำได้เช่นกัน แต่ก่อนจะประกอบเข้าไป ต้องมั่นใจว่าพัดลมแห้งแล้วจริง ๆ ก่อนนะ แล้วค่อยประกอบกลับเข้าไป
จุดสุดท้ายที่ส่งผลต่อความร้อนก็คือซิลิโคนระบายความร้อนของ CPU โดยปกติแล้วเนื้อซิลิโคนที่โรงงานป้ายมา มักจะเริ่มแห้งกรอบเมื่อใช้งานผ่านไปซัก 1-2 ปี ส่งผลให้สามารถระบายความร้อนออกมายังฮีตไปป์ได้ช้าลง วิธีแก้ไขก็คือต้องถอดฮีตไปป์/ฮีตซิงค์ออก เช็ดทำความสะอาดหน้าสัมผัสของทั้งสองฝั่งให้สะอาด จากนั้นก็ป้ายซิลิโคนใหม่เข้าไปครับ หาพวกที่มีประสิทธิภาพดี ๆ หน่อย หรือจะไปใช้บริการตามร้านก็ได้ ซึ่งซิลิโคนดี ๆ อาจช่วยลดอุณหภูมิที่ CPU ลงได้หลายองศาอยู่เหมือนกัน เมื่อ CPU และระบบไม่ร้อนเกินขีดจำกัดแล้ว ปัญหาโน๊ตบุ๊คดับเองขณะเปิดใช้งานอยู่ อันเกิดจากความร้อนก็น่าจะหายไปครับ