และแล้วก็ได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเสียทีครับ สำหรับชิปกราฟิกในตระกูล Navi จากทาง AMD ที่ได้รับการเปิดตัวในการ์ดจอรุ่นใหม่อย่าง AMD Radeon RX 5700 series ที่ในเบื้องต้นมีการเปิดตัวออกมาด้วยกันสองรุ่น ได้แก่
- AMD Radeon RX 5700 XT
- AMD Radeon RX 5700
ส่วนราคาก็ตามนี้จ้า
ราคาและวันวางจำหน่ายของการ์ดจอ AMD Radeon RX 5700 และ AMD Radeon RX 5700 XT โดยในเบื้องต้น ทั้งสองรุ่นจะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ส่วนจะมีการ์ดจากผู้ผลิตรายใดบ้าง อาจจะต้องรอดูช่วงใกล้ ๆ กันอีกทีก่อนครับ (ในช่วงแรกคงเน้นที่การ์ด ref ก่อน) ส่วนราคาก็ตามนี้เลย
- ราคาการ์ดจอ AMD Radeon RX 5700 อยู่ที่ $379 คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 11,000 บาท
- ราคาการ์ดจอ AMD Radeon RX 5700 XT อยู่ที่ $449 คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 14,000 บาท
โดยทั้งสองรุ่นจะเริ่มวางจำหน่ายทั่วโลกวันที่ 7 กรกฎาคมนี้
นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวการ์ดรุ่นพิเศษอย่าง AMD Radeon RX 5700 XT 50th Anniversary Edition ออกมาด้วย มาพร้อมกับสเปคที่สูงกว่า RX 5700 XT ปกติเล็กน้อย ส่วนราคาก็เปิดมาที่ $499 (ประมาณ 16,000 บาท)
ทีนี้มาดูสเปคของการ์ดจอทั้งสองรุ่นกันครับ
แน่นอนว่าฝั่งของ AMD Radeon RX 5700 XT จะแรงกว่า RX 5700 พอสมควร ด้วยจำนวนของ Compute unit ที่มากกว่า และความเร็วที่สูงกว่า แต่ทั้งสองรุ่นนี้ ในเบื้องต้นทาง AMD ระบุว่าจะมาพร้อมกับแรม GDDR6 แค่ 8 GB เท่านั้นครับ ยังไม่มีแผนจะทำรุ่นที่มีแรมมากกว่า (เดาว่าน่าจะไปอยู่ในรุ่นสูงที่คงออกมาหลังจากนี้มากกว่า)
ดีไซน์ของ AMD Radeon RX 5700 XT ก็จะเน้นการใช้ฝาครอบด้านบนเป็นอลูมิเนียมอัลลอย มีแผ่น backplate ด้านหลัง และมีระบบจัดการไฟที่รองรับการโอเวอร์คล็อกมาตั้งแต่เริ่มต้น
ประสิทธิภาพคร่าว ๆ สำหรับการเล่นเกมที่ความละเอียดระดับ Ultra ของ RX 5700 XT ก็จะสูงกว่า RX Vega 56 พอสมควร บางเกมก็สามารถปรับจนได้เฟรมเรตที่ระดับ 60 fps และ 90 fps ได้แล้ว
ส่วนของ AMD Radeon RX 5700 ก็จะย่อมเยาลงมานิดนึง ดีไซน์ด้านหน้าตัวการ์ดก็จะเรียบ ๆ กว่าหน่อย
แผนการของทาง AMDในปีนี้ก็คือ “AMD Radeon Gaming Is Everywhere” โดย AMD ตั้งเป้าว่า ในอนาคต โซลูชันด้านกราฟิกของ AMD จะไปอยู่ทั้งในเครื่องพีซี แมค เครื่องเกมคอนโซล การเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์ รวมถึงจะไปอยู่ในอุปกรณ์พกพาอย่างพวกมือถือ แท็บเล็ตด้วย
ก่อนจะไปดูข้อมูลของการ์ดจอแต่ละรุ่น มาดูหน้าตากันก่อนครับ
AMD Radeon RX 5700 XT
AMD Radeon RX 5700
ส่วนด้านล่างนี้คือตัวการ์ด AMD Radeon RX 5700 XT ตัวจริงครับ
ทีนี้มาดูรายละเอียดแต่ละจุดกันเลย
ทีนี้ พอดูในส่วนของความเร็ว ก็จะเห็นว่ารอบนี้ AMD แบ่งความเร็วคล็อกออกเป็น 3 แบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละแบบจะมีความแตกต่างกันดังนี้
- Base clock = ความเร็วพื้นฐานตามปกติเมื่อมีการทำงานที่ต้องใช้ GPU หนัก (ไม่ใช่ idle)
- Game clock (เพิ่มมาใหม่) = ความเร็วที่ปรับขึ้นไปอัตโนมัติให้เหมาะสมกับแต่ละเกม โดยจะมีการเก็บข้อมูลของเกมยอดนิยม แล้วมาปรับให้กับตัวการ์ด
- Boost clock = ความเร็วสูงสุดที่สามารถบูสท์ได้
ทีนี้กลับมาดูส่วนของชิป Navi กันบ้างครับ ซึ่งตัวชิปเองก็มาพร้อมสถาปัตยกรรมและรองรับเทคโนโลยีต่าง ๆ ดังนี้
- สถาปัตยกรรม RDNA ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากสถาปัตยกรรม GCN โดยได้รับการผลิตที่ระดับ 7nm
- รองรับแรม GDDR6 ที่มีแบนด์วิธมากกว่า GDDR5 ถึงสองเท่าตัว
- รองรับ PCIe 4.0ที่มีแบนด์วิธมากกว่า PCIe 3.0 ถึงสองเท่าตัว
- Radeon Media Engine สำหรับช่วยในการเข้ารหัส ถอดรหัสไฟล์มีเดียได้ดีขึ้น
- Radeon Display Engine ที่มาพร้อมฟีเจอร์ Display Stream Compression 1.2a
ซึ่งเราจะมาดูกันทีละส่วนเลยครับ ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
สถาปัตยกรรม RDNA
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าสถาปัตยกรรม RDNA นั้นได้รับการพัฒนาต่อมาจาก GCN ที่อยู่ในชิปกราฟิกรุ่นปัจจุบันของ AMD โดยมีการปรับปรุงตั้งแต่การวางผังภายในเลยก็ว่าได้ ด้วยการเลือกใช้สถาปัตยกรรมการผลิตในระดับ 7nm ที่ทำให้สามารถเพิ่มส่วนอื่น ๆ เข้าไปได้อีก ตัวอย่างของจุดที่มีการเพิ่มเข้ามา และมีการปรับปรุงใหม่ก็เช่น
การเพิ่มชุด Scalar units และ Schedulers units เข้าไปอีกเท่าตัว ประกอบกับใช้เทคนิคการแบ่งครึ่งชุดเธรดข้อมูลที่ต้องประมวลผล ช่วยให้พลังในการประมวลผลเธรดเดี่ยวสูงขึ้น ลดการหน่วงเวลาที่ต้องรอประมวลผลลง ซึ่งเมื่อเป็นการจับกลุ่มกันทำงาน ก็ช่วยทำให้สามารถประมวลผลโดยรวมได้เร็วขึ้นด้วย รวม ๆ แล้วก็เรียกว่าเป็นการใช้งานหน่วยประมวลผลของ GPU ได้เต็มประสิทธิภาพขึ้นกว่าที่เคย
ด้านของหน่วยความจำแคชภายในดาย GPU ก็มีการเพิ่มแคช L1 เข้ามา ซึ่งเข้ามาช่วยในแง่ของความเร็วในการโหลด/เขียนข้อมูลให้มากขึ้น ลดการทำงานของแคช L0 ที่เคยต้องติดต่อตรงกับแคช L2 ลง ส่งผลให้แบนด์วิธระหว่างแคช L0 กับตัว ALU โดยตรงเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว
นอกจากการเพิ่มแคช L1 เข้ามาแล้ว ยังมีการปรับปรุงส่วนของ Shader Complex และแคช L1 กับ L2 ภายใน GPU ให้สามารถอ่านเขียนข้อมูลที่ได้รับการบีบอัดได้ทันที ต่างจากเมื่อก่อนที่ก่อนจะทำการอ่านเขียนข้อมูลได้ จะต้องมีการคลายข้อมูลที่ถูกบีบอัดก่อนเสมอ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้การทำงานโดยรวมรวดเร็วขึ้น และนอกจากนี้จะไปสอดคล้องกับฟีเจอร์ Display Stream Compression ที่จะพูดถึงในส่วนต่อไปด้วย
ฝั่งของการประมวลผลเอง ก็ได้รับการอัพเกรดให้มีประสิทธิภาพต่อคล็อกเร็วขึ้นด้วยการปรับปรุงส่วนของ streamed graphic pipeline ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีการออกแบบในสไตล์ของ Zen มาใช้ โดยเมื่อเทียบกับสถาปัตยกรรมปัจจุบัน (ที่กำลังจะเก่า) อย่าง GCN แล้ว พบว่าชิปในสถาปัตยกรรม RDNA จะมีประสิทธิภาพต่อคล็อกที่ดีขึ้นถึง 25% ด้วยกัน
เมื่อจับแต่ละด้านมาทำงานร่วมกัน ก็จะทำให้ชิป Navi ที่ใช้สถาปัตยกรรม RDNA มีประสิทธิภาพต่อวัตต์ที่ดีขึ้นกว่าชิปในตระกูล Vega64 ถึง 1.5 เท่า โดยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 14% และมีการใช้พลังงานที่ลดลง 23% และที่สำคัญคือขนาดดายของ GPU เองก็ลดลงจากเดิมได้ถึง 2.3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับชิป Radeon RX Vega 64 ที่ผลิตในสถาปัตยกรรมระดับ 14nm ทั้งนี้ก็ต้องบอกเลยว่าสถาปัตยกรรมระดับ 7nm นี้มีผลมากจริง ๆ ครับ
จากที่เห็นว่าตัวชิปมีการอัพเกรดยกเครื่องกันมาพอสมควรแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะเกิดข้อสงสัยมาว่าปีนี้ AMD จะนำเสนอเทคโนโลยี Ray Tracing บ้างหรือเปล่า คำตอบก็คือ ยังครับ โดยตามแผนแล้ว AMD วางไว้ว่าอีกซัก 2-3 ปีเราน่าจะได้เห็นชิปกราฟิกที่มาพร้อมสถาปัตยกรรม RDNA รุ่นใหม่ที่รองรับเทคโนโลยี Ray Tracing แบบเต็มตัว ส่วนสาเหตุนั้น ทาง AMD มองว่าในปัจจุบันอาจจะยังไม่ถึงช่วงเวลาที่เหมาะจริง ๆ ประกอบกับมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการแสดงผลที่เห็นประโยชน์ได้ชัดกว่าการใช้ Ray Tracing ด้วยนั่นเอง
ด้านของแผนการพัฒนาสถาปัตยกรรม AMD ก็วางเอาไว้ว่าสถาปัตยกรรมรุ่นหน้าจะเป็นการต่อยอดจาก RDNA มาเป็น RDNA 2 ที่ยังคงยึดระดับของการพัฒนาที่ 7nm ไว้เหมือนเดิม แต่มีการเสริมความสามารถขึ้นไปอีก ซึ่งเราน่าจะได้รอกันอย่างต่ำซัก 2-3 ปีนับจากนี้
PCI Express 4.0
นับเป็นการ์ดจอ/กราฟิกชิปรุ่นแรกเลยทีเดียวที่รองรับบัส PCIe 4.0 ซึ่งในแง่ของสเปคแล้ว PCIe 4.0 ก็จะมีแบนด์วิธที่มากกว่า PCIe 3.0 ถึงสองเท่าตัว ถ้าหากเป็นการใช้งานทั่วไป เล่นเกม 4K อาจจะยังไม่เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนมากนัก แต่ในการสาธิตครั้งนี้ AMD เลือกใช้ในการตัดต่อวิดีโอระดับ 8K ProRes4x4 ด้วยโปรแกรม Davinci Resolve 16 ครับ ผลที่ได้ก็คือ เครื่องที่ใช้ PCIe 4.0 จะให้เฟรมเรตในการพรีวิววิดีโอระหว่างตัดต่อสูงถึง 60 fps ในขณะที่อีกเครื่องที่ใช้ PCIe 3.0 จะมีเฟรมเรตแค่ 36 fps เท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่แตกต่างกันขนาดนี้ น่าจะส่งผลกับคนที่เป็นสายครีเอทีฟ ตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูง ๆ พอสมควรเลย
Radeon Media Engine
สำหรับ Radeon Media Engine เองก็จะเน้นในเรื่องของการเข้ารหัส ถอดรหัสไฟล์มีเดียสำหรับการสตรีมมิ่งเป็นหลักครับ โดยจะรองรับแพลตฟอร์มสำหรับการสตรีมเกมยอดนิยมอย่าง Twitch และ YouTube ด้วย
Radeon Display Engine
ปิดท้ายกันที่ส่วนของการส่งภาพออกมายังจอครับ โดยการ์ดจอที่ใช้ชิป Navi จะรองรับ FreeSync 2 HDR ด้วย สำหรับฟีเจอร์ย่อยที่เป็นไฮไลท์ที่สุดก็คือ Display Stream Compression (DSC)
DSC ก็คือการเชื่อมต่อการ์ดจอเข้ากับจอ โดยมีการส่งข้อมูลแบบที่ได้รับการบีบอัดได้โดยไม่จำเป็นต้องคลายการบีบอัดก่อน ซึ่งจะไปสอดคล้องกับตัวสถาปัตยกรรม RDNA ในข้างต้นด้วย ทำให้ชิปกราฟิกสามารถส่งข้อมูลภาพมายังจอได้เร็วขึ้น มีการหน่วงเวลาน้อยลง โดยที่ยังได้ภาพคุณภาพสูง พร้อม ๆ กับสามารถขับจอรีเฟรชเรต 144 Hz ได้อย่างไหลลื่น ซึ่งฝั่งของจอเองก็ต้องเป็นจอที่รองรับเทคโนโลยี DSC ด้วยเช่นกันครับ
สำหรับในงาน E3 2019 นี้ ก็ได้มีการเปิดตัวจอรุ่นแรกของโลกจาก ASUS ที่รองรับเทคโนโลยี DSC ด้วยครับ สเปคคร่าว ๆ ของจอก็ตามนี้
- หน้าจอขนาด 43″ ความละเอียดระดับ 4K (3840 x 2160) 144 Hz
- รองรับ AMD Radeon FreeSync 2 HDR
- รองรับการแสดงผลมาตรฐาน HDR 1000
- ใช้การเชื่อมต่อด้วยสาย DisplayPort 1.4 เพียงเส้นเดียว
ซึ่งเมื่อเทียบกับการต่อจอ 4K 144 Hz ปกติแล้ว จอที่มี DSC จะใช้งานได้ง่ายและมีความสามารถมากกว่าตามภาพด้านบนเลยครับ
เมื่อลองเทียบประสิทธิภาพระหว่างชิปตระกูล Navi ที่อยู่ในการ์ดจอ AMD Radeon RX 5700 XT กับการ์ดรุ่นก่อนหน้าอย่าง Radeon RX Vega 56 ก็จะเห็นว่าประสิทธิภาพที่ได้จากแต่ละเกม (ปรับกราฟิกสูงสุด ที่ความละเอียด 1440p) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ค่อนข้างชัด เหมาะสำหรับคนที่อยากจะอัพเกรดการ์ดจอรุ่นที่ใช้งานอยู่
นอกเหนือจากฝั่งของฮาร์ดแวร์สถาปัตยกรรมใหม่อย่าง RDNA แล้ว AMD ยังเตรียมพร้อมในด้านซอฟต์แวร์มาด้วยเช่นกันครับ โดยจะอยู่ในหัวข้อ Game Fidelity และ Gaming Dynamics ที่เราจะมาดูกันทีละหัวข้อกันเลย
Game Fidelity
ด้านนี้จะเน้นไปที่ฝั่งนักพัฒนาเกมครับ โดย AMD จะมีชุดช่วยในการพัฒนาเกมที่มีชื่อว่า AMD FidelityFX ที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการพัฒนาเกมให้สนับสนุนกับเทคโนโลยีของทางฝั่ง AMD โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเกมที่ต้องการให้ลงได้ในหลายแพลตฟอร์มอย่างที่ AMD ตั้งเป้าเอาไว้ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีการประมวลผลภาพที่จะมาในชุด AMD FidelityFX ก็เช่น Contrast Adaptive Sharpening (CAS) ที่ช่วยในการประมวลผลคอนทราสต์ในแต่ละจุดให้มีความคมชัด ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยที่ไม่ส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพ และยังรองรับทั้งชิป Navi และ Vega อีกด้วย
Gaming Dynamics
อีกหนึ่งซอฟต์แวร์ที่จะได้รับการยกเครื่องก็คือตัวของ Adranalin เป็นเวอร์ชัน 2019 ที่มีการเพิ่มฟังก์ชันใหม่ ๆ รวมถึงมีการปรับหน้าตาใหม่บางส่วน เพื่อช่วยให้สามารถปรับแต่งการทำงานของการ์ดจอได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกฟังก์ชันที่น่าสนใจก็คือ ความสามารถในการให้ GPU สามารถส่งการตั้งค่าไปยังทีวีให้เปิดการแสดงผลในโหมดเกมได้ เพื่อช่วยลดเวลาความหน่วงของการแสดงผลลง
ตัวของฟังก์ชัน AMD Radeon ReLive และ AMD Link ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นไปอีกขึ้น คราวนี้ทีเด็ดของมันคือสามารถสตรีมเกมจากเครื่องคอมพิวเตอร์ไปยัง Apple TV และ Android TV ได้โดยตรง
ต่อมาก็คือ AMD Radeon Chill ที่ช่วยปรับการทำงานของการ์ดจอให้มีการใช้พลังงานน้อยลง โดยการปรับเฟรมเรตให้เหมาะสมกับความสามารถของจอโดยอัตโนมัติ (รองรับสถาปัตยกรรม GCN ด้วย)
AMD Radeon Anti-Lag จะช่วยจัดการปรับจังหวะการซิงค์ของ CPU GPU และข้อมูลอินพุตจากเมาส์/คีย์บอร์ดให้เหมาะสมกัน ช่วยลดอาการ input lag ลง การตอบสนองเป็นไปได้อย่างไหลลื่นขึ้น
AMD Radeon Image Sharpening (RIS) นี่จัดเป็นหนึ่งในไม้เด็ดของฝั่งซอฟต์แวร์เลยครับ การทำงานของมันก็ตรงตัวเลย คือเป็นการปรับภาพให้คมชัดขึ้น โดยจะเป็นการประมวลผลภาพแบบ post processing ที่ทำให้รายละเอียด ขอบมุมต่าง ๆ ในภาพมีความคมชัดขึ้น รวมถึงมีความสามารถในการอัพสเกลรายละเอียดต่าง ๆ ของภาพให้มีความคมชัดกว่าเดิม ตามตัวอย่างด้านล่างครับ โดยภาพซ้ายคือภาพที่ได้โดยยังไม่ได้เปิดใช้งาน RIS ส่วนภาพขวาเป็นภาพที่ได้จากการเปิด RIS แล้ว
จุดที่แตกต่างที่สุดก็คือส่วนที่เป็นสีเข้มของก้อนหิน และก็สีสันบนใบไม้ที่คมชัดขึ้น
ซึ่งจุดที่น่าประทับใจของฟังก์ชัน RIS ก็คือ มันแทบไม่กระทบกับเฟรมเรตของเกมเท่าไหร่เลยครับ เบื้องต้นจากการทดสอบด้วย 5 เกมนี้ เฟรมเรตของแต่ละเกมลดไปราว ๆ 1% เท่านั้น ถ้าคิดซะว่าแต่ละเกมทำเฟรมเรตได้ประมาณ 70 fps เมื่อเปิด RIS ก็จะได้เฟรมเรตลดลงมาเหลือ 69 fps ซึ่งถือว่าไม่ได้แตกต่างจากเดิมเลย แต่ได้ภาพที่คมชัดขึ้น
โดยทาง AMD เผยว่า เกมที่จะรองรับ RIS นั้นมีเป็นหลักพัน ๆ เกม ซึ่งเกมฮิตในปัจจุบันก็รองรับกันแทบทั้งหมดเลยทีเดียว
AMD มีแผนจะปล่อยซอฟต์แวร์ Adrenalin เวอร์ชันใหม่ (19.7.1) ที่มาพร้อมฟังก์ชันใหม่ ๆ และรองรับการทำงานร่วมกับการ์ดจอซีรีส์ Radeon RX 5700 ในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้
ส่วนแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ก็จะเป็นภาพจากจุดเดโมฟีเจอร์ใหม่แต่ละเรื่อง เช่น DSC, RIS, Anti-Lag เป็นต้น