ฮาร์ดดิสก์แบบต่อภายนอกหรือ External Harddisk จัดได้ว่าเป็นอุปกรณ์เสริมที่ได้รับความนิยมสูงชนิดหนึ่งในปัจจุบัน เพราะด้วยความที่ฮาร์ดดิสก์ภายในโน๊ตบุ๊คเองความจุอาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้งานเต็มที่ กรณีในการเก็บหนังหรือสำรองไฟล์ต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นในส่วนของโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ที่มาพร้อมฮาร์ดดิสก์ความเร็วสูงอย่าง SSD ที่มีความจุน้อยกว่าฮาร์ดดิสก์ทั่วไปด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งใช้งานได้น้อยกันไปใหญ่
โดยฮาร์ดดิสก์ภายนอกนั้นหลักๆ แล้วแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5″ ที่เรียกได้ว่าขนาดนั้นเล็กและพกพาไปใช้งานได้สะดวก เพราะใช้การเชื่อมต่อผ่านทางสาย USB เส้นเดียวเท่านั้น ซึ่งฮาร์ดดิสก์ภายในใช้ชนาดเดียวกับฮาร์ดดิสก์ในโน๊ตบุ๊ค ส่วนอีกประเภทจะเป็นฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5″ ซึ่งจัดได้ว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ พกพาลำบาก เพราะนอกเหนือจากต้องเชื่อมต่อด้วยสาย USB แล้ว ยังต้องใช้เชื่อมต่อไฟบ้านในการใช้งานอีกด้วย
ซึ่งฮาร์ดดิสก์ที่ใช้นั้นก็จะเป็นขนาดเดียวกับที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามฮาร์ดิสก์ภายนอกขนาด 3.5″ นั้นก็มีเรื่องที่เหนือกว่า ก็คือ ความจุต่อราคานั้นจัดได้ว่าถูกกว่าฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5″ อีกทั้งในส่วนของประสิทธิภาพการทำงานก็ดีกว่าเล็กน้อย
ในบทความนี้เราจะมาพบกับรีวิวของฮาร์ดดิสก์ภายนอกขนาด 3.5″ ของแบรนด์ WD (Western Digital) ที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ระดับโลก ในรุ่น MY BOOK ปี 2017 มีความจุอยู่หลายขนาดด้วยกัน ตั้งแต่ 3TB, 4TB, 6TB และ 8TB ส่วนการเชื่อมต่อเป็น USB 3.0 ตามมาตรฐาน ซึ่งนับได้ว่าเป็นฮาร์ดดิสก์ภายนอกรุ่นหนึ่งในตลาดที่มีความคุ้มค่า เพราะมีราคาค่าตัวเพียงเริ่มต้น 3,990, 5,290 ไปจนถึง 9,990 บาทเท่านั้น แน่นอนว่ายังมาพร้อมการรับประกันถึง 2 ปีด้วยกันตามมาตรฐานของฮาร์ดดิสก์ภายนอก โดยเน้นใช้งานในเรื่องของการสำรองไฟล์และประมวลผลไฟล์ผ่านในตัวฮาร์ดดิสก์เป็นหลัก
แพ็คเกจภายนอกของ WD MY BOOK รุ่นปี 2017 มาในกล่องทรงมาตฐาน เน้นสีพื้นเป็นสีขาวตัดเขียวตามสไตล์ของ WD ที่แล้วดูสวยงามแบบเรียบๆ โดยหน้ากล่องมุมบนมีระบุขนาดความจุอย่างชัดเจนว่า 8TB (รุ่นที่เรานำมาทดสอบ) พร้อมด้วยรายละเอียดต่างๆ ของตัวฮาร์ดดิสก์ และรูปแบบการเชื่อมต่อการใช้งานที่รองรับ USB 3.0 รวมถึงระบบฏิบัติการที่สนับสนุนทั้ง Windows 10, Windows 8 และ Windows 7 รวมไปถึง macOS รุ่นใหม่ๆ (คาดว่าระบบปฏิบัติการรุ่นเก่าๆ ก็ยังสามารถใช้งานได้เหมือนกัน)
ภายในกล่องเมื่อแกะออกมาเราก็จะพบกับอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งอย่างแรกก็จะเป็นตัวฮาร์ดดิสก์, สายเชื่อมต่อ USB 3.0 ที่ด้านหนึ่งจะเป็นหัวไปเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ (Type A) ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อกับฮาร์ดดิสก์ (Micro-B) ความยาวประมาณ 1 เมตร และอแดปเตอร์ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อไฟ ที่มาพร้อมกับหัวแปลงปลั๊กหลายรูปแบบ ทำให้รองรับการใช้งานปลั๊กไฟต่างๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งในส่วนของผู้ใช้งานสะดวกแบบใดก็เลือกกันได้ตามสบาย
ดีไซน์โดยรวมของ WD MY BOOK มีลักษณะเป็นพลาสติกสีดำด้านผสานกับดำมันวาวที่เน้นความเรียบง่าย โดยมีลวดลายเล็กๆ น้อยๆ รูปทรงเป็นแบบสี่เหลี่ยมแนวตั้งซึ่งด้านหน้าของตัวฮาร์ดดิสก์มีมีโลโก้ WD ส่วนด้านบนและด้านล่างของตัวเครื่องเป็นช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ เรียกได้เพียงพอต่อการถ่ายเทอากาศขนาดตัวมันทำงานแน่นอน (มองเข้าไปเห็นส่วนของฮาร์ดดิสก์ชัดเจน)
ประกอบกับด้านล่างยังมีฐานรองให้ตัวฮาร์ดดิสก์มีความสูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อยและยังทำหน้าที่กันลื่นไหล์ของตัวฮาร์ดดิกส์อีกด้วย สำหรับด้านหลังของตัวฮาร์ดดิสก์มาพร้อมการเชื่อมต่อ 2 อย่าง ก็คือ การเชื่อมต่อ USB 3.0 และ การเชื่อมต่อไฟเอาอแดปเตอร์ พร้อมตัวล็อค Kensington ตามมาตรฐาน ปิดท้ายด้วยมิติขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 49 x 139.3 x 170.6 มิลลิเมตร หรือประมาณ 1 ฝามือเท่านั้นเอง
การใช้งานฮาร์ดดิสก์ภายนอก WD MY BOOK ก็ทำได้ง่ายๆ เพื่อเชื่อมต่อสายต่างๆ ในครบถ้วนทั้งสาย USB และอแดปเตอร์ เพียงเท่านี้ฮาร์ดดิสก์ก็จะพร้อมใช้งานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามแนะนำว่าเพื่อประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีที่สุด เราควรจะต่อสาย USB 3.0 เข้ากับช่อง USB 3.0 บนคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะถ้าเรานำไปต่อกับช่อง USB 2.0 ล่ะก็ ความเร็วทำได้นั้นจะตกลงมาเป็นมาตรฐาน USB 2.0 เท่านั้น ซึ่งเรียกได้ว่าเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลแตกต่างกันพอสมควรทีเดียว โดยมีข้อสังเกตว่าฮาร์ดดิสก์ตั้งโต๊ะตัวนี้ไม่มีไฟแสดงสถานะแต่อย่างใด
ซึ่งสำหรับการทำงานของตัว WD MY BOOK จากการทดสอบ มีความเร็วในการอ่าน-เขียน ข้อมูลได้รวดเร็วดีมากๆ โดยผลการทดสอบผ่านพอร์ตแบบ USB 3.0 ทั้งในส่วนของไดร์ฟ Format Mac OS และ NTFS ด้วยโปรแกรม Disk Speed Test ใน macOS ก็พบว่าความเร็วในการอ่าน – เขียนข้อมูล (Read – Write) ของ USB 3.0 สามารถทำได้ถึง 173 MB/s – 174MB/s เลยทีเดียว ที่โดยส่วนตัวนั้นถือได้ว่ามีความใกล้เคียงกันหรือพูดง่ายๆ ก็คือแทบไม่แตกต่างกันนั่นเอง
* External Harddisk ที่เชื่อมต่อด้วยรูปแบบต่างๆ มาตรฐานความเร็วเฉลี่ย Read – Write จะอยู่ที่ประมาณ :
- HDD 2.5″ Thunderbolt 2 : 110MB/s – 100 MB/s
- HDD 2.5″ USB 3.0 : 100 MB/s – 80 MB/s
- HDD 3.5″ USB 2.0 : 33MB/s – 28MB/s
- HDD 3.5″ Firewire 800 : 60MB/s – 55MB/s
- HDD 2.5″ eSATA : 60MB/s – 50MB/s
สำหรับโปรแกรม HD Tune บน Windows 10 เมื่อทดสอบออกมาแล้วจะมีอัตราการถ่ายโอนข้อมูลที่สูงกว่าฮาร์ดดิสก์ภายนอกทั่วไป โดยค่าน้อยสุดจะอยู่ที่ 84.1 MB/s และเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ 184 MB/s ทำให้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 146.5 MB/s ทีเดียว อีกทั้งฮาร์ดดิสก์ WD MY BOOK ยังโดดเด่นเรื่องความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลที่ทำได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 16.1 ms เท่านั้น จัดได้ว่าน่าประทับใจมากๆ ทีเดียว กับฮาร์ดดิสก์ภายนอกขนาด 3.5″ ตัวนี้
เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมมด้วยโปรแกรม HD Tune ด้วยโปรแกรมพบว่าฮาร์ดดิสก์ตัวนี้สามารถใช้งานจริงที่ความจุ 931.5GB โดยเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อ SATA 3 และยังเผยถึงอีกว่าเป็นฮาร์ดดิสก์ 7200 รอบ ที่ทำให้ไม่แปลกเลยว่าทำไม WD MY BOOK มีความเร็วถึงมากกว่าฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5″ เรียกได้ว่าเหมาะกับการใช้งานที่เน้นความเร็วแบบไม่เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนมากกว่าฮาร์ดิสก์ภายนอกแบบพกพา
นอกจากนี้ยังได้ทดลองใช้งานจริงด้วยการ คัดลอกข้อมูลขนาด 4.7GB (1 แผ่น DVD) จากฮาร์ดดิสก์ SSD ในตัวเครื่องไปยัง WD MY BOOK ซึ่งก็ใช้เวลาไปประมาณ 25 วินาทีเท่านั้นเอง รวมไปถึงได้ทดลองคัดลอกไฟล์ขนาด 90GB ก็ใช้เวลาไปเพียงประมาณ 9 นาที (เขียนที่ประมาณ 170+MB/s ตลอด) แน่นอนว่าเมื่อเทียบทั้งการทดสอบความเร็วหรือการโอนถ่ายไฟล์จริงๆ
สุดท้ายกับการทดลองโปรเซสไฟล์ภาพถ่ายด้วยโปรแกรม Adobe Lightroom ใน MacBook Pro Retina 15 กับไฟล์จากกล้อง Canon EOS 6D แบบไฟล์ RAW และ JPEG ผ่านทางการเชื่อมต่อด้วย USB 3.0 ก็แทบจะไม่มีความรู้สึกว่าแตกต่างจากการใช้งาน SSD ในตัวเครื่องเท่าไหร่นัก เรียกได้ว่าน่าประทับใจทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวนั้นยังไง SSD ก็ยังมีความลื่นไหลกว่าแบบรู้สึกได้ ซึ่งสำหรับใครถ้ามีความจำเป็นต้องประมวลไฟล์ผ่านทางฮาร์ดดิสก์ภายนอกWD MY BOOK ตัวนี้ก็ถือว่าตอบสนองได้ดีทีเดียว
นอกเหนือจากนี้ยังมีส่วนของซอฟต์แวร์ WD Drive Utilities ไว้จัดการรูปแบบการใช้งานต่างๆ ของฮาร์ดดิสก์ อาทิ สถานะ, Sleep Timer, การ Format รวมไปถึงมีซอฟต์แวร์ WD Security สำหรับการใช้งานที่เน้นความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมี WD Backup ไว้สำรองข้อมูลอัตโนมัติอีกด้วย แต่ตรงนี้รองรับในระบบปฏิบัติการ Windows เท่านั้น (เข้าใจว่าใน macOS มี Time Machine)
สรุปปิดท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับการรีวิวของฮาร์ดดิสก์ภายนอก 3.5″ อย่างWD MY BOOK ที่มีความพิเศษในเรื่องของราคาที่ถูกกว่าฮาร์ดดิสก์ภายนอกขนาด 2.5″ ในช่วงความจุที่เท่ากัน สำหรับในเรื่องของความเร็วในการเขียน – อ่านข้อมูล ก็ต้องขอบอกว่าเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์ภายนอกขนาด 2.5″ เกือบเท่าตัวทีเดียว
แม้ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อด้วย USB 3.0 เหมือนกันก็ตาม ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากตัวฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กภายในเอง ที่ขนาด 3.5″ นั้นอาจจะมีความเร็วรอบที่มากกว่าโดยอยู่ที่ 7200 รอบ ซึ่งแตกต่างจากฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5″ ที่ปกติแล้วจะมีความรอบอยู่ที่ 5400 รอบเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กก็ยังไม่สามารถทำความเร็วได้สูงสุดจนถึงระดับที่มาตรฐาน USB 3.0 ทำได้ในขณะนี้ (นอกเสียจากจะเปลี่ยนเป็นฮาร์ดดิสก์ SSD)
โดยถ้าเทียบกับค่าตัวของฮาร์ดดิสก์ภายนอก 3.5″ลูกนี้ ในความจุที่เท่ากันจะมีราคาถูกกว่าฮาร์ดดิสก์ภายนอกแบบพกพา 2.5″ แน่นอนว่าในเรื่องของความคุ้มค่าและประสิทธิภาพนั้นมีมากกว่าฮาร์ดดิสก์ภายนอก 2.5″ แต่ก็จะลำบากในการพกพาไปใช้งานมากกว่า ทั้งขนาดตัวที่ใหญ่และหนัก รวมถึงต้องใช้ไฟจากอแดปเตอร์อีกด้วย
ซึ่งโดยส่วนตัวพอใจกับการที่ใส่ Library ของโปรแกรม Adobe Lightroom เพื่อโปรเซสไฟล์ภาพถ่ายโดยตรงจากฮาร์ดดิสก์ เพราะความที่ฮาร์ดิสก์ SSD ในตัวเครื่อง MacBook Pro Retina 15 นั้น ไม่พอใช้งานนั่นเอง ประกอบกับไว้ใช้ทำ Time Machine เพื่อสำรองไฟล์ระบบโดยเฉพาะ ซึ่งก็ต้องขอบอกว่ามีความประทับใจพอสมควร ด้วยราคาประสิทธิภาพระดับนี้
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ คนไหนมองหาฮาร์ดดิสก์ภายนอกที่ไม่เน้นให้เรื่องของการพกพาไปใช้งานนนอกสถานที่มากนัก พร้อมทั้งมีซอฟต์แวร์จัดการต่างๆ ก็ให้ดูเป็น WD MY BOOK เอาไว้ (ส่วนความจุก็แล้วแต่ลักษณะการใช้งาน) โดยรองรับทั้ง Windows และ macOS สนนราคาเพียง 4,290 บาทเท่านั้น สำหรับขนาด 3TB แต่ถ้าใครจำเป็นต้องใช้งานปริมาณข้อมูลขนาดใหญ่หรือใช้งานร่วมกันหลายๆ คนภายในบ้านล่ะก็ ขนาด 8TB ที่ทางแอดมินโป้งใช้อยู่ก็ตอบโจทย์ได้ดีไม่น้อยเลย
จุดเด่น
- อัตราการถ่ายโอนข้อมูลเสถียรมาก และถ่ายโอนได้เต็มความเร็วของ USB 3.0
- ปกป้องข้อมูลด้วยการตั้ง Password และการเข้ารหัสฮาร์ดแวร์
- สำรองข้อมูลอัตโนมัติด้วยซอฟต์แวร์ WD Backup (รองรับ Windows)
- มีความจุสูงสุดให้เลือกถึง 8TB
ข้อสังเกต
- หน้าตาและวัสดุดูธรรมดา
- รองรับการเชื่อมต่อเพียง USB 3.0 เท่านั้น