เกมเมอร์หลายคนใส่ใจเรื่องของภาพและเสียง ไม่แพ้ประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ที่ใช้เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกับเกมแนวแอ็คชั่น FPS หรือเกมที่ค่อนข้างต้องใช้เสียงเป็นตัวบอก ระยะทิศทาง เพื่อให้ทันเกมฝ่ายศัตรูหรือชิงความได้เปรียบได้มากกว่า หูฟังเล่นเกมที่ดี ก็มีส่วนในการชี้วัดผลการแข่งขันได้เช่นเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมทุกวันนี้เกมเมอร์มืออาชีพจะใส่ใจในเรื่องของเสียง ไม่น้อยไปกว่าเกมมิ่งเกียร์อื่นๆ
HyperX Cloud Stringer น้องเล็กในซีรีส์ Cloud ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับเกมเมอร์มือใหม่หรือเริ่มต้นกับหูฟังเล่นเกม ด้วยการออกแบบที่ดูจะล้ำสมัย สะดุดตามากกว่าบรรดารุ่นพี่ที่ไม่ว่าจะเป็น Cloud Core หรือ Cloud II ก็ตาม ด้วยการเสริมเหลี่ยมมุมเข้าไปให้ดูแตกต่าง ขนาดกระทัดรัดและมีน้ำหนักเบากว่าหูฟัง HyperX series ด้วยกัน แต่ยังคงคุณสมบัติที่สำคัญต่างๆ อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ไดเวอร์ที่เป็นตัวขับ 50มม ในแบบนีโอไดเมียม เช่นเดียวกับครอบหูฟังที่เป็นเมมโมรีโฟม ที่ใส่สบายหู ที่ออกแบบมาเพื่อเกมเมอร์ที่ชอบเล่นเกมนานๆ พร้อมลูกเล่นที่จัดมาให้สามารถใช้งานได้สะดวก เช่น ไมโครโฟนที่ตัดเสียงรบกวนได้ดี และสายต่อพ่วงที่ช่วยยืดระยะให้ห่างจากโต๊ะได้มากขึ้น เพื่อให้เกมเมอร์ได้ออกแอ็คชั่นกันอย่างสนุกสนาน
คุณสมบัติ HyperX Cloud Stringer:
หูฟัง:
- ไดเวอร์: ไดนามิก, 50มม พร้อมกับแม่เหล็กนีโอไดเมียม
- ประเภท: ครอบหูขนาดใหญ่, ปิดด้านหลัง
- การตอบสนองความถี่: 18Hz–23,000 Hz
- ความต้านทาน: 30 Ω
- ระดับความดันเสียง: 102 ± 3dBSPL/mW at 1kHz
- H.D.: ≦ 2%
- พลังไฟขาเข้า: Rated 30mW, Maximum 500mW
- น้ำหนัก: 274 กรัม
- ความยาวสายและประเภท: หูฟัง (1.3ม.) + สายต่อแบบ Y (1.7ม.)
- การเชื่อมต่อ: ปลั๊กหูฟัง – 3.5มม (4 pole) + สายต่อ – 3.5มม สเตอริโอและปลั๊กไมโครโฟน
ไมโครโฟน:
- วัสดุ: ไมโครโฟนอิเล็กทริกคอนเดนเซอร์
- รูปแบบโพลาร์: ทางเดียว, ตัดเสียงรบกวน
- การตอบสนองความถี่: 50Hz–18,000 Hz
- ความไวเสียง: -40dBV (0dB=1V/Pa,1kHz)
แกะกล่อง
หน้าตาของกล่องยังคงได้อารมณ์ของ HyperX Gaming แบบเต็มๆ ด้วยโทนสีดำแดง ดูดุดัน รวมถึงภาพของหูฟัง Cloud Stringer ให้เห็นกันอย่างชัดเจน
ด้านหลังบอกข้อมูลและรายละเอียดเบื้องต้นที่เป็นองค์ประกอบต่างๆ ของหูฟัง ที่ทำเหมือนกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้ส่วนหนึ่ง
เมื่อเปิดกล่องออกมา จะเห็น Cloud Stringer วางอยู่ภายในอย่างเรียบร้อย กับโลโก้สีแดงโดดเด่น ซึ่งสกรีนอยู่บนหูฟังทั้งสองด้าน
เมื่อเปิดฟองน้ำออกมา นอกจากตัวหูฟัง ก็ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ จัดเตรียมมาให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น สายต่อเพิ่มความยาวและคู่มือการใช้งาน
รูปลักษณ์และการใช้งาน
สำหรับตัวหูฟังมาในโทนสีดำเข้ม โดยสกรีน HyperX สีแดงที่ครอบหูฟัง โดยที่องค์ประกอบต่างๆ ส่วนใหญ่ จะเป็นการติดตั้งอยู่บนตัวหูฟัง ไม่สามารถแยกได้
ครอบหูฟังด้านบนเป็นพลาสติกสีดำให้ความยืดหยุ่นได้ในระดับหนึ่ง พร้อมโลโก้ HyperX ซึ่งความแข็งแรงนี้ ช่วยให้หนีบเข้ากับศีรษะได้แน่นขึ้น บางคนที่หัวเล็กหน่อยน่าจะชอบ เพราะแรงหนีบทำให้กระชับยิ่งขึ้น ส่วนด้านล่างจะเป็นฟองน้ำสำหรับรองศีรษะ พร้อมหุ้มหนัง ให้ความนุ่มนวลได้ดีทีเดียว
ครอบหูฟังด้านขวามาในสไตล์ที่ดูเกมมิ่งมากยิ่งขึ้น กับเส้นสายที่มีเหลี่ยมคม พร้อมโลโก้ HyperX สีแดงสด ครอบหูฟังนี้ปรับหมุนได้ 90 องศา เพื่อให้เข้ากับสภาพของศีรษะแต่ละบุคคล อย่างน้อยก็ไม่ทำให้รู้สึกรำคาญ เหมือนโดนบีบ ด้านล่างเป็นตัวปรับระดับเสียง เพิ่ม-ลดเสียงได้จากตัวหูฟัง
หูฟังด้านซ้าย มาพร้อมไมโครโฟนคุณภาพดีทีเดียว สามารถตัดเสียงรบกวนจากภายนอกได้ ให้ความคมชัดในการสนทนาขณะเล่นเกมได้ดี ช่วยให้การสื่อสารระหว่างทีมด้วยกันทำได้ดียิ่งขึ้น ส่วนสายสัญญาณเชื่อมต่อกับหูฟังแบบตายตัว ถอดไม่ได้ การจัดเก็บก็คงต้องดูแลกันนิดหน่อย เพราะจะได้ถนอมการใช้งานได้นานๆ
ไมโครโฟนสามารถปรับได้ใน 2 ทิศทางคือ ขึ้น-ลงและซ้าย-ขวา จุดเด่นอยู่ที่ระบบตัดเสียงรบกวน ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับการเล่นกันเป็นทีม หรือเล่นในร้านที่มีคนจำนวนมาก เสียงรบกวนที่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อยมาก ทำให้การสื่อสารระหว่างกันทำได้ดีขึ้น จึงทำให้การงอได้มากน้อย เพื่อให้ใกล้ปากมากที่สุด ไม่ได้จำเป็นต่อผู้ใช้ ด้วยระบบสวิทช์ที่ตัดการทำงานทันทีที่ยกขึ้น ก็ปิดการเชื่อมต่อได้ในทันที
ตัวปรับเลื่อนเป็นรางโลหะ ซึ่งมีชิ้นพลาสติดลักษณะขั้นบันได เพื่อให้เลื่อนทีละระดับได้ง่ายขึ้น ตัวรางค่อนข้างแน่นหนา ส่วนหนึ่งน่าจะเพื่อให้เกิดความกระชับขณะสวมใส่ แต่ก็เป็นผลให้เวลาที่เราสวมใส่ไปแล้ว จะปรับเลื่อน ก็ทำได้ยากอยู่เหมือนกัน
ครอบหูฟังด้านในที่ปิดตัวขับขนาด 50มม เอาไว้นี้ HyperX ยังเลือกที่จะใช้เมมโมรีโฟมหุ้มหนังมาใช้บน Cloud Stringer นี้ เพื่อความนุ่มนวลในการสวมใส่และกระชับใบหูมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่มาก อาจจะทำให้ไม่ครอบหูครบทั้งหมด การใช้เมมโมรีโฟม จึงช่วยให้สบายหูมากขึ้น
สายต่อมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน ทั้งในส่วนของหูฟังและไมโครโฟน เพื่อขยายระยะการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น
สายสัญญาณเป็นแบบหุ้มยาง ไม่ได้เป็นแบบสายถัก ความยาว 1.7 เมตร เมื่อรวมกับสายจากหูฟังแล้วจะยาวได้ถึง 3 เมตร สามารถต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คได้สบาย โดยเฉพาะคนที่เล่นกับจอภาพขนาดใหญ่ ต้องร่นระยะออกมาจากจอ ความยาวระดับนี้ช่วยได้มากทีเดียว
Conclusion
ถ้ามองกันที่ภาพรวมในการออกแบบ ต้องบอกว่า HyperX มีพัฒนาการสำหรับหูฟังเกมมิ่งมากขึ้นทุกขณะ และปรับให้รับกับกลุ่มผู้ใช้ในระดับต่างๆ ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะ Cloud Stringer ดูจะเป็นการออกแบบให้กระชับขึ้น ตั้งแต่ขนาด วัสดุและลูกเล่น ที่พยายามจบทุกส่วนในตัว และเน้นไปที่กลุ่มเกมเมอร์ระดับต้นๆ หรือไม่ชอบความยุ่งยาก สังเกตได้ว่าทุกสิ่งถูกติดตั้งลงไปบนหูฟังทั้งหมด ถอดไม่ได้ ทั้งสายสัญญาณและไมโครโฟน จึงทำให้ลดขั้นตอนหรือชิ้นส่วนต่างๆ ลง เช่นเดียวกับน้ำหนัก ที่แม้ว่าจะเป็นโครงสร้างที่ถูกถ่ายแรงลงบนศีรษะโดยตรง ไม่กระจายน้ำหนักเหมือนรุ่นอื่นๆ แต่น้ำหนักที่น้อย ฟองน้ำที่รองศีรษะมีความหนา ก็ทำให้ใส่สบายหู จากที่ลองใช้เล่นเกมและดูหนังเป็นเวลา 2 ชั่วโมงต่อเนื่อง ให้ความรู้สึกที่สบายกว่า Cloud รุ่นที่ผ่านๆ มา
ในเรื่องของคุณภาพเสียง เช่นใน Battlefield 1 ให้เสียงกลางดีกลมกลืนและแน่นในระดับหนึ่ง เอฟเฟกต์ต่างๆ ยังเก็บรายละเอียดได้พอใช้ ส่วนที่ได้มาเพิ่มคือ ทิศทางของเสียง และเสียงสนทนาของตัวละครที่ชัดเจน เสียงการใช้อาวุธแทงไปที่ศัตรูจนเลือดสาดกระจายชัดจนรู้สึกเหมือนอยู่ใกล้ เช่นเดียวกับเวลาที่เดินเข้าไปในฉากที่เป็นพื้นไม้ในบ้าน มีเสียงไม้กระดานลั่นอยู่ด้วย แต่เสียงเครื่องยนต์ของรถถังเล็ก และปืนใหญ่ที่กระหน่ำเข้าไปนั้น ยังไม่เต็มอิ่มนัก เหมือน เช่นเดียวกับใน The Crew ที่เสียงของรถที่แข่ง ขาดพลังไปบ้าง แต่ได้รายละเอียดของรถข้างๆ และเสียงยางบดลงไปบนถนนชัดเจนยิ่งกว่า ซึ่งถ้าใครที่เป็นแฟนเกมแนวหลอน เช่น Dead by Daylight น่าจะชื่นชอบหูฟังในลักษณะนี้ ชนิดที่ว่าปั่นไฟไป หลอนไป กับเสียงนักล่าที่ผ่านเข้ามาเป็นระยะ หรือช่วงจังหวะที่โดนขอสับลงไปกลางลำตัว
โดยภาพรวมต้องถือว่า HyperX Cloud Stringer นี้ ออกแบบมาได้ลงตัวกับผู้ใช้ที่เริ่มต้นเข้ามาในตลาดเกม หรือคนที่ชอบความสบายไม่ยุ่งยากกับองค์ประกอบน้อยชิ้น เพราะสวมใส่สบาย น้ำหนักเบา ไม่เมื่อยหรือรำคาญเมื่อใช้ไปนานๆ ในแง่ของเสียงไม่ได้เน้นความอลังการ แต่ให้รายละเอียดในเสียงกลางได้ดี เช่นเดียวกับทิศทางที่พอให้ผู้เล่นได้สัมผัสกันมากขึ้น เมื่อดูจากราคาอาจจะสูงกว่าหูฟังเกมมิ่งในกลุ่มเริ่มต้นอยู่เล็กน้อย ขึ้นไปแตะระดับกลางๆ แต่เชื่อว่าน่าจะตอบโจทย์ของคนที่ชอบความง่าย สะดวกและคุณภาพเสียงในการเล่นเกมได้ไม่น้อยทีเดียว
จุดเด่น
- ขนาดกระทัดรัด น้ำหนักเบา สวมใส่สบาย
- ให้เสียงทุ้มกลางและทิศทางเสียงได้ค่อนข้างดี
- การเก็บรายละเอียดเสียงพอใช้ได้ โดยเฉพาะบรรยากาศรอบข้าง
- ไมโครโฟนให้ความคมชัดของเสียงได้ดีทีเดียว
ข้อสังเกต
- เสียงเอฟเฟกต์ดูจะบางเบา ไม่หนักหน่วงมากนัก
- การปรับเลื่อนหูฟังขณะสวมใส่ทำได้ยาก
- ราคาประมาณ : 1890 บาท