ในช่วงปี 2016 นี้เพื่อน ๆ หลายคนก็คงจะได้ยินข่าวคราวเกมจำนวนไม่น้อยเลยที่ถูกผู้เล่นวิจารณ์ว่าตัวเกมไม่เหมือนที่โฆษณาไว้นะครับซึ่งถ้าหากนับก็จะมีทั้ง The Division , Homefront: The Revolution หรือล่าสุดก็คงไม่พ้น No Man Sky ที่เป็นประเด็นทำให้เกมเมอร์ทั้งหลายหัวร้อนไปตาม ๆ กันเพียงเพราะผิดหวังกับสิ่งที่คาดไว้มาก
นอกจากเกมที่ว่าแล้วหากย้อนไปหลาย ๆ ปีก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้มาเรื่อย ๆ และด้วยความผิดพลาดหลายครั้งหลายคราก็ยิ่งทำให้เห็นว่าฝ่ายการตลาดของบริษัทเกมทั้งหลายมีการวางแผนที่พลาดอย่างมากอาจจะมาจากการละเลยไม่ใส่้ใจก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเกมฉบับสุดท้ายออกมาไม่ตรงกับที่หวังแต่ก็ยังมีหลายปัจจัยเหมือนกันที่ทำให้เป็นเช่นนี้
ดังนั้นแล้วทางเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง PCGAMER จึงได้รวบรวมสาเหตุปัจจัยหลักที่น่าจะทำให้ฝ่ายการตลาดมักจะทำพลาดเป็นจำนวน 6 ข้อมาให้รับชมด้วยกันดังนี้ครับ
การตัดต่อ/ตัดตอนเกม
เริ่มกันที่สาเหตุแรกกับการตัดตอนบางอย่างในเกมเวอร์ Final ที่ไม่เหมือนกับที่เคยโชว์หรือโฆษณาไว้ซึ่งสาเหตุนี้ก็เป็นสาเหตุหลักเลยที่ทำให้ผู้เล่นไม่พอใจมากเหมือนกับโดนโกหกแบบไม่รู้ตัวโดยเกมที่อยู่ในกรณีนี้ก็มักจะเป็นเกมที่ถูกเปิดตัวตามงานเกมต่าง ๆ ที่มีการโชว์เกมเพลย์สุดเทพให้ฮือฮากันแต่พอเกมวางขายจริงก็พบว่าภายในกลับถูกเปลี่ยนแปลงซะอย่างงั้น
สิ่งที่ทำให้เห็นชัดที่สุดก็คืองานโชว์เดโมเกม Bioshock: Infinite เมื่อปี 2011 ที่เผยภาพเกมเพลย์และฉากแอ็คชั่นสุดโลดโผนแต่หลังจากนั้นเมื่อเกมถูกวางจำหน่ายแทบจะทุกส่วนก็ว่าได้ที่เปลี่ยนแปลงทั้งเนื้อหา , ตัวละคร , หน้าจอ HUD แม้กระทั้งฉากบางฉากก็ถูกหั่นตัดทิ้งไปไม่มีให้เห็นซึ่งการทำเช่นนี้ก็ทำให้คนที่รอคอยคาดหวังต่างก็ผิดหวังก็ไปตาม ๆ กัน
เดโมเกม Halo 2 ในงาน E3 2011 ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนเมื่อทีมผู้สร้างได้บอกว่าตัวเกมมันจะอุดมไปด้วยเลือดและความรุนแรงแต่เมื่อเกมวางจำหน่ายให้เล่นจริงก็พบว่าภายในเกมนั้นไม่เห็นอย่างที่คุยโวกันไว้เลยมิหนำซ้ำในภาคนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าธรรมดาและซ้ำซากอีกด้วย
แม้ว่าการทำเช่นนี้จะเป็นผลดีในแง่ของความตื่นตาตื่นใจเรียกความสนใจจากเกมเมอร์ได้แต่ถ้าหากไม่นำสิ่งเหล่านั้นมาใส่ในเกมจริง ๆ มันก็ยากที่จะสร้างความน่าเชื่อถือหรือได้คำวิจารณ์ในแง่ดี นอกจากนี้ในกรณีการตัดตทอนก็อาจลุกลามไปถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นเกมใหม่ไปเลยอย่างเกม Prey 2 ที่ได้ประกาศสร้างอีกครั้งแถมตัวเกมถูกยกเครื่องใหม่หมดอีกต่างหาก
ดาวน์เกรดกราฟิก
นี่ก็เป็นเรื่องที่ผู้เล่นฝั่ง PC ต้องหัวร้อนเป็นทิวแถวแน่นอนกับการโฆษณาหรือปล่อยตัวอย่างเกมที่มีกราฟิกสวยงามแต่เมื่อมันถูกพอร์ตลง PC เมื่อไรก็มีเกมจำนวนไม่น้อยที่ถูกดาวน์เกรดในส่วนของกราฟิกจนไม่เหลือความสวยงามเลยซึ่งการกระทำเช่นนี้มันอาจจะดูเล็กน้อยในฝั่งผู้พัฒนาแต่ในฝั่งของผู้เล่นนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ
ตัวอย่างเกมที่มีลักษณะนี้ชัดเจนก็คงไม่พ้น The Witcher 3 เมื่อตอนเปิดตัวที่มีกราฟิกสวยงามในเครื่องคอนโซลแต่เมื่อมันอยู่บน PC กลับกลายเป็นคนละเรื่องไปซะงั้น อย่างไรก็ตามกรณีนี้ทาง CD Projekt RED ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าที่ทำแบบนั้นก็เพื่อให้เกมเวอร์ชั่นคอนโซลขายควบคู่กันไปได้แต่ก็นั่นแหละครับผลที่ตามมาก็ทำให้ชาว PC จำนวนไม่น้อยไม่พอใจ
ไม่เพียงแค่ The Witcher 3 เท่านั้น The Division เองก็โดนกับเขาด้วยกับการดาวน์เกรดเกมในชนิดที่ว่าน่าเกลียดเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับภาพในงานเปิดตัวเกมทำให้ผู้เล่นที่ซื้อเกมนี้ไปรู้สึกไม่แฟร์หรือถูกเอาเปรียบจากผู้พัฒนาแต่ถึงอย่างนั้นทางฝั่งผู้พัฒนาได้อธิบายคล้าย ๆ กันว่าพวกเขาต้องการให้ภาพฝั่งคอนโซลกับ PC ไม่หนีห่างกันมากนัก
ด้วยการทำเช่นนี้ถึงจะเป็นผลดีในเรื่องรายได้ที่เข้ามาแต่ขณะเดียวก็ต้องแลกกับการลดทอนบางอย่างจนทำให้แฟน ๆ เกมผิดหวังอย่างที่เห็นครับ
จดจ่อกับ Footage เกินไป
กรณีนี้จะคล้ายกับการตัดทอนบางส่วนของเกมนั่นก็คือการเผยฟุตเทจเกมมากกว่าตัวเกมที่เป็นจริง ๆ ซึ่งการทำแบบนี้ก็จะทำให้ผู้เล่นคิดว่าภาพที่ได้หรือมุมมองการเคลื่อนไหวของตัวละครจะเป็นแบบนั้นจริงแต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นมันถูกทำไว้เพื่อการโฆษณาหรือเพื่อดึงดูดผู้เล่นเท่านั้น
ใน Assassin’s Creed 3 ก็เช่นกันที่ก่อนตัวเกมวางจำหน่ายทางผู้พัฒนาได้มีการปล่อยคลิปเบื้องหลังการพัฒนาออกมาเรียกน้ำย่อยซึ่งภายในคลิปก็เผยภาพฟุตเทจในช่วง Pre-Production ให้เห็นกันและพบว่าภาพเหล่านั้นจัดว่าดูดีเลยทีเดียวแต่มันก็เป็นผลเสียเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ทั้งหมดของตัวเกมเมื่อวางขายจริงแม้จะเป็นไอเดียการนำเสนอที่ดีแต่มันก็ส่งผลเสียได้เหมือนกัน
ถ่ายภาพในเกมให้สวยเกินจริง
นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่มักพบในวงการร้านอาหารชื่อดังหลาย ๆ ร้านที่จะมีข้อความเล็ก ๆ ว่าภาพนี้ถูกตกแต่งขึ้นเพื่อการโฆษณาแต่สำหรับวงการเกมนั้นมันไม่ได้มีข้อความที่ว่าแปะอยู่ดังนั้นจึงมีเกมเมอร์ไม่น้อยที่มักจะหลงเชื่อภาพ Screenshot ที่ถูกปล่อยออกมาจากทีมงานว่ามันจะสวยงามแบบนั้นแต่ความจริงแล้วมันไม่เป็นแบบนั้นน่ะสิครับ
มีหลายครั้งทีเดียวที่นักพัฒนามักจะถ่ายภาพ Screenshot ในเกมในมุมมองที่แปลก ๆ หรือนำไปตกแต่งภาพขนานหนักให้ดึงดูดใจแก่ผู้เล่นจนต้องยอมควักกระเป๋าตังค์ซื้อแต่เมื่อพวกเขาได้เล่นเกมจริง ๆ ก็พบว่าภาพสวย ๆ ที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้มันไม่จริงเลยแม้ว่ามันจะเป็นภาพเพื่อการโฆษณาแต่การได้ผลลัพธ์ตอบแทนแบบนั้นก็ถือว่าเป็นการเอาเปรียบไปสักหน่อย
อย่างไรก็ดีครับที่สาเหตุนี้มักจะเกิดพบไม่บ่อยครั้งนักและหาได้ยากแล้วในเกมสมัยใหม่และอีกอย่างต่อให้ภาพในเกมไม่สวยแต่ด้วยเทคโฯโลยียุคนี้เราก็สามารถปรับแต่ง Optimize ภาพในเกมด้วยตนเองให้สวยดั่งใจนึกได้ครับ
ปล่อยเกม Demo ให้ลองเล่น
มันอาจจะเป็นข้อดีที่ผู้พัฒนายอมปล่อยให้เราสามารถเล่นเกมบางช่วงบางตอนได้ก่อนเกมวางจำหน่ายซึ่งจะช่วยในเรื่องของการปลุกกระแสหรือชิมลางแต่ใช่ว่ามันจะไม่มีข้อเสียเลยเพราะการทำแบบนี้มันก็เหมือนกับว่าเราได้เล่นเกมในส่วนที่พวกเขาอยากให้เล่นและส่วนที่อยากให้เล่นก็ต้องเป็นส่วนที่ดีที่สุดนั่นเองโดยที่ไม่อาจรู้เลยว่าส่วนที่เหลือมันจะดีจริงหรือไม่
การทำแบบนี้ก็มักพบได้ตามพรีวิวของสำนักเกมต่าง ๆ ที่พวกเขามักจะได้ลองเล่นเกมก่อนในฉบับ Demo และก็พบว่าพวกเขาจะวิจารณ์หรือให้ความเห็นในเชิงบวกแทบทั้งสิ้นนั่นก็เป็นเพราะด้วยเวลาเล่นที่จำกัดทำให้ไม่สามารถพิจารณารายละเอียดเบื้องลึกได้ทั้งหมดนั่นเองครับ
หรืออีกกรณีหนึ่งการปล่อย Demo ให้เล่นก็อาจเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อมก็เป็นได้ด้วยเกมเพลย์ที่ไม่มีไกด์ไลน์บอกหรือสิ่งของบางอย่างไม่มีการอธิบายว่าทำอย่างไรบ้างเช่น Demo เกม Homefront: The Revolution ที่ให้อาวุธมาเต็มอัตราศึกแต่ไม่เคยได้ใช้มันทั้งหมด , มอเตอร์ไซค์ยานพาหนะก็ไม่บอกวิธีการใช้/บังคับแม้กระทั่งหน้าจอ UI ไม่มีบอกจุดหมายของภารกิจเลย
หรือจะเป็นการทดลองเล่นเกม Dishonored 2 ที่ตอนนี้ก็มีพรีวิวออกมาให้เห็นแล้วซึ่งเดโมเกมนี้จะสวนทางไปสักหน่อยเพราะสร้างประสบการณ์การเล่นที่ไม่ค่อยน่าประทับใจนักแม้ว่าจะมีลูกเล่นหรือพลังวิเศษน่าตื่นตาแต่เส้นทางการผ่านด่านหรือการออกแบบด่านทำได้ซับซ้อนเกินไปต้องใช้เวลาเล่นหลายรอบกว่าจะผ่าน
ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ก็ทำให้การปล่อย Demo ออกมาเล่นก่อนจึงเป็นอะไรที่น่าไม่ปลื้มใจสักเท่าไหร่นักมันเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ทีมงานโดยเฉพาะฝ่ายการตลาดมักจะมองข้ามไปง่าย ๆ
ปล่อยเกมในสถานะ Early Access
การปล่อยเกมในรูปแบบ Early Access มันอาจจะดูดีในแง่ที่ว่าเราจะได้เล่นก่อนเกมตัวเต็มวางจำหน่ายหรือเหมาะสำหรับคนที่ชอบทดสอบลองของใหม่ ๆ แม้ว่าตัวเกมจะยังพัฒนาไม่เสร็จแต่เราก็สามารถแนะนำข้อเสียให้นักพัฒนาไปปรับปรุงได้ซึ่งมันฟังดูดีสุด ๆ ไปเลยใช่ไหมล่ะครับแต่ข้อดีมันก็เป็นข้อเสียไปในตัวด้วยเหมือนกัน
ข้อเสียของเกม Early Access นั้นมันก็คือความเสี่ยงต่อผู้เล่นที่จะถูกนักพัฒนาไร้ระเบียบทิ้งเกมไว้กลางทางซะดื้อ ๆ เพราะจำนวนเกมที่พัฒนาโดยเสร็จสมบูรณ์ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเกมรูปแบบ Early Access ที่ออกมาหรือบางทีเกมบางเกมได้ปล่อยออกมานานแล้วแต่ก็ยังอยู่ในสถานะดังกล่าวอยู่ทำให้ผู้เล่นเริ่มหมดความอดทนแล้วว่าเมื่อไหร่เกมจะเสร็จซะที
ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าบางเกมจะพัฒนาเสร็จแต่ก็มีจำนวนไม่น้อยครับที่ตัวเกมเวอร์ชั่น Final ออกมาแล้วไม่สมหวังกับผู้เล่นเพราะได้ตัดฟีเจอร์บางส่วนออกไปไม่เคยบอกล่วงหน้ามาก่อนชนิดที่เรียกว่า “อ้าวเฮ้ย..ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า” เสียทั้งใจเสียทั้งเงินไปตาม ๆ กัน
จาการรวบรวมเหตุผลทั้งหมดนี้ก็พอจะเห็นแล้วนะครับว่าสิ่งที่ฝ่ายการตลาดเกมทำมานั้นมีข้อเสียเยอะมากทีเดียวและมันยังเป็นสาเหตุที่พวกเขาละเลยมองเห็นข้อดีไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสียเท่าไหร่ด้วยครับและถ้าหากเป็นแบบนี้ต่อไปก็คงต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้เล่นเองแล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไรและอาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาเลือกซื้อเกมนานกว่าเดิมแน่นอน
ที่มา: PCGAMER