เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เป็นสัปดาห์แห่งวีดีโอเกมที่ชื่อว่า E3 2016 โดยได้มีค่ายเกมยักษ์ใหญ่มากมายต่างมาเปิดตัวเกมในสังกัดของตนแต่ท่ามกลางความดีใจตื่นเต้นที่ได้เห็นเกมใหม่ ๆ ก็มีประเด็นที่ทำให้หลาย ๆ คนนิ่งเงียบได้อย่างการถกเถียงกันในเรื่องของความรุนแรงภายในเกมว่ามันเหมาะสมกับตัวผู้เล่นหรือไม่หรือการที่ผู้เล่นจดจำแล้วนำไปก่อความรุนแรงในชีวิตจริงได้หรือเปล่า
ซึ่งประเด็นที่ว่ามานี้ก็ถือว่าเป็นประเด็นโลกแตกที่มีการถกเถียงกันอย่างยาวนานและหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้สักทีบ้างก็ว่าเกมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนำไปเลียนแบบจนเกิดความเสียหายในชีวิตจริงหรือการซึมซับพฤติกรรมในเกมโดยสิ่งเหล่านี้แม้จะมีการพูดถึงกันในหน้าข่าวบ่อย ๆ แต่มันก็ยังพิสูจน์ให้แน่ชัดไม่ได้ว่าเกมเป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรงจริงหรือไม่
กลับกันถ้าหากเราเปลี่ยนคำถามเปลี่ยนการตั้งประเด็นจากความรุนแรงในเกมให้มันซับซ้อนลงรายละเอียดและสร้างสรรค์มากขึ้นจะดีกว่าไหมอย่างเช่น “การที่เด็กเห็นความรุนแรงของปืนในเกมจะส่งผลต่อการควบคุมอาวุธในชีวิตจริงหรือไม่?” หรือ “ความรุนแรงในเกมมันส่งผลในแง่บวกได้หรือไม่?” ซึ่งคำถามพวกนี้ดูจะสร้างสรรค์กว่าการบอกว่าเกมมันส่งผลกระทบต่อชีวิตจริง
โดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบในแง่บวกของความรุนแรงในเกมหรือเกมที่มีอาวุธปืนก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียวครับซึ่งทางเว็บไซต์ Polygon ได้อ้างอิงว่ามีเด็กอายุ 12 คนหนึ่งที่เป็นแฟนตัวยงของเกม Call of Duty มาก ๆ แต่สิ่งที่เขาได้จากการเล่นเกมนี้มิใช่การใช้ความรุนแรงแก่ผู้อื่นแต่กลับกลายเป็นการสร้างความรู้ใหม่หรือความรู้รอบตัวนอกเหนือจากห้องเรียน
ซึ่งสิ่งที่เด็กวัย 12 คนดังกล่าวได้รับก็คือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปืน เขาสามารถแยกความแตกต่างของปืนชนิดต่าง ๆ ได้เช่นระหว่าง Remington R5 กับ AK-47 มีความรู้เรื่องการปรับแต่งอาวุธในระดับพื้นฐานรวมไปถึงข้อมูลสเปคพื้นฐานของอาวุธปืนที่บางทีผู้ใหญ่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ
นอกจากนี้สิ่งที่เป็นผลบวกก็ยังส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหรือคนในครอบครัวอย่างการที่เด็กคนนี้ได้พูดคุยเกี่ยวกับอาวุธสงครามกับพ่อเลี้ยงของเขาซึ่งเคยเป็นทหารเก่ามาก่อนซึ่งมันสามารถใช้เป็นหัวข้อในการพูดคุยเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวได้ดีเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้นเขาสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือเกมอะไรคือชีวิตจริงแม้ว่าเขาอาจจะดูเป็นพวกใช้เวลาเกี่ยวกับปืนและเกมมากเกินไปแต่เขาก็เหมือน ๆ กับวัยรุ่นธรรมดามีเวลาอ่านหนังสือ , กังวลเรื่องผลการเรียนหรือแม้กระทั่งการพูดคุยเกี่ยวกับผู้หญิงและอีกอย่างที่ส่งเสริมให้แยกแยะได้คือเกมยิงส่วนมากก็มีคือข้อจำกัดบางอย่างเช่นห้ามยิงพวกเดียวกันหรือยิงผู้คนได้ตามใจชอบเป็นต้น
จากประเด็นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงของเกมในมุมมองอื่นมันจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างและสร้างสรรค์กว่าการย้ำอยู่จุดเดิมเป็นไหน ๆ และยังแสดงให้เห็นอีกครั้งว่าวีดีโอเกมไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายไปเสียหมดแต่ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของคนเล่นเป็นส่วนประกอบด้วยครับ
ที่มา: Polygon