ช่วงวันที่ 2-6 มิถุนายนนี้ ก็เป็นช่วงของงาน Computex 2015 ณ ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในวงการไอทีที่ใหญ่สุดในภูมิภาคนี้ แถมยังเป็นงานที่ผู้ผลิตสินค้าหลายๆ แบรนด์เลือกใช้ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของตนอีกด้วย เช่นเดียวกับ ASRock ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เกิดในไต้หวันเอง ก็ได้นำผลิตภัณฑ์ใหม่มาเปิดตัว พร้อมให้ได้ลอง ได้สัมผัสกันในงานด้วย ในบทความนี้เราก็จะมาพบกับผลิตภัณฑ์ของ ASRock ที่น่าสนใจในงาน Computex 2015 ครั้งนี้กันครับ มาชมกันเลย
ตัวบูทก็จะจัดอยู่ที่ในฮอลล์ใหญ่ชั้น 4 ของศูนย์แสดง Nangang Exhibition Center ประเทศไต้หวัน บูทค่อนข้างใหญ่และมีของมาโชว์มากพอสมควรเลยครับ ผมขอเจาะมาที่ตัวเด่นๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่เลยละกัน
ถ้าพูดถึง ASRock สิ่งที่จะขาดไม่ได้ และเป็นจุดเด่นตลอดมาเลยก็คือเมนบอร์ดนี่เอง ซึ่งก็จะมีแบ่งออกเป็นซีรี่ส์ต่างๆ ค่อนข้างหลากหลายครับ และแต่ละซีรี่ส์ก็จะแบ่งย่อยระดับความแรง ฟีเจอร์แตกต่างกันไปอีก บางรุ่นก็เน้นเรื่องเกม บางรุ่นก็เน้นสเปคคุ้มค่า บางรุ่นก็เหมาะสำหรับการใช้งานด้านกราฟิกโดยเฉพาะ เป็นต้น
สำหรับเมนบอร์ดของ ASRock ซีรี่ส์ที่เปิดตัวใหม่ในงานนี้ก็คือตระกูล Z170 ซึ่งเป็นชิปเซ็ต Intel Series 100 ที่รองรับชิปประมวลผลรุ่นใหม่ล่าสุดในโค้ดเนมว่า Skylake นั่นเอง (ซ็อกเก็ต 1151) โดยตัวชิป Intel Skylake นี้จะมีกำหนดการเปิดตัวในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้นะครับ แต่เหล่าบรรดาผู้ผลิตเมนบอร์ดต่างก็เริ่มเปิดตัวเมนบอร์ดมารองรับ CPU รุ่นใหม่กันเรียบร้อยแล้ว และแน่นอนว่า ASRock จัดเต็มมากๆ
ดูสเปคของ ASRock Z170 Extreme7 กันหน่อย ตัวนี้ท็อปสุดจริงๆ รองรับแรม DDR4 สูงสุด 4 แถว dual channel มีช่อง PCIe x16 ถึง 4 ช่อง ใส่การ์ดจอกันได้ถึงใจไปเลย ส่วนถ้าอยากใส่ SSD แบบ Ultra M.2 SATA ก็มีให้มาเลย 3 ช่อง และที่สำคัญคือ มีพอร์ต USB 3.1 มาให้ใช้งานด้วยอีก 2 ช่อง (ทั้ง USB ปกติและ USB Type-C) ด้านของเลย์เอาท์ก็เน้นไปทางสีดำ และสีทองครับ ดูเรียบหรู แต่แฝงด้วยความแรง
ด้านบนนี้ก็เป็น ASRock Z170 Extreme6 และ Extreme4 ที่สเปคย่อมเยาลงมาจาก Extreme7 นิดหน่อย แต่ยังมี USB Type-C ตามมาตรฐาน USB 3.1 ให้มาเหมือนเดิม ส่วนหน้าตาของเมนบอร์ดนั้น จะเห็นว่าค่อนข้างโล่ง เพราะมันถูกถอดพวกซิงค์ครอบออก เพื่อให้เห็นบริเวณชุดจ่ายไฟได้ชัดเจนครับ
เมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซ็ตซีรี่ส์ 100 ของ ASRock ก็จะมีให้เลือกหากันแบ่งเป็นรุ่นต่างๆ ตามนี้เลย
- Z170 Extreme7 (ท็อปสุด)
- Z170 Extreme6
- Fatal1ty Z170 Gaming K6 (ชิปแลน Atheros Killer E2200)
- Z170 Extreme4
- Fatal1ty Z170 Gaming K4 (ชิปแลน Atheros Killer E2200)
- Z170 Pro4 (ไม่มี USB 3.1 แต่ยังมีช่อง USB Type-C อยู่)
- Fatal1ty Z170 Gaming-ITX/ac เป็นบอร์ดขนาดเล็ก มีเสา WiFi มาให้ด้วย
- Z170M-ITX/ac
- Fatal1ty H170 Performance
- H170M Pro4
- B150M-HDS/D3 (แรม DDR3)
- H110M-HDS/D3
เตรียมพบกันในไทยได้ครับ แต่กว่าจะมาก็คงเป็นช่วงหลัง Intel เปิดตัวชิปตระกูล Skylake ของตนในเดือนสิงหาคมก่อนแหละนะ
ทีนี้มาดูเมนบอร์ด ASRock ในซีรี่ส์อื่นกันบ้าง อย่างพวกนี้ก็จะเป็นชิปเซ็ต Intel X99 (ซ็อกเก็ต LGA 2011-3) ครับ จัดว่าเป็นตัวไฮเอนด์ในขณะนี้เลยทีเดียว ซ้ายสุดก็ X99 Extreme11 ตัวขวาก็ X99 WS-E/10G
ด้านบนนี้ ตัวซ้ายคือ X99 Extreme4/3.1 ซึ่งรองรับ USB 3.1 ด้วย ส่วนตัวขวานี้ก็เป็น X99E-ITX/ac ที่ถึงแม้ตัวบอร์ดจะเล็ก แต่บอกเลยว่าแรงเกินตัวจริงๆ
นี่คือตัวอย่างเคสที่ใช้บอร์ด ASRock X99E-ITX/ac ครับ ใส่การ์ดจอใบใหญ่โหดๆ ได้อยู่นะ ประกอบเป็นเครื่องใช้เล่นเกม ใช้ทำงานได้สบายๆ เลย
เคสนี้ก็เป็นตัวอย่างของเครื่องที่ใช้บอร์ด ASRock Z97 Extreme6/3.1 ครับ ซึ่งทดสอบความแรงของการโอนถ่ายข้อมูลผ่านพอร์ต USB 3.1 บอกเลยว่าแรงมาก ทดสอบความเร็วการอ่านด้วย Crystal Diskmark ได้ระดับ 7xx MB/s เลยนะ
สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของ ASRock ที่น่าสนใจ และมาเปิดตัวในงานนี้เป็นครั้งแรกก็คือเจ้าเครื่องพีซีขนาดจิ๋วข้างบนนี้ครับ มันมีชื่อว่า Beebox ซึ่งสาเหตุที่ได้ชื่อว่า Beebox นี้ คุณ Chris Lee ผู้บริหารส่วนงานด้านการตลาดของ ASRock (ผู้พาผมเดินชมบูทและแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่) ได้ให้ข้อมูลว่า การที่ ASRock เลือกใช้ผึ้งมาเป็นชื่อ ก็เพราะว่าตัวเครื่อง Beebox นั้นเหมือนผึ้งเลย คือทั้งเล็กจิ๋ว รวดเร็ว และเงียบ เผลอๆ จะทำงานได้เงียบกว่าเสียงผึ้งบินซะอีก
ดูสเปคคร่าวๆ ของ Beebox กันหน่อย โดยในชุดจัดจำหน่าย ASRock Beebox นี้จะแบ่งเป็นสามกลุ่มนะครับ ได้แก่
- มีเฉพาะเครื่อง, CPU, เมนบอร์ดเท่านั้น มีให้เลือกเฉพาะสีดำและขาว
- ประกอบมาพร้อมทั้งเซ็ต (ไม่มี Windows ติดมาให้) มีให้เลือกทั้งสามสีเลย
- ประกอบมาพร้อมทั้งเซ็ต (มี Windows 10 Home มาให้) อันนี้สเปคจะลดลงมาหน่อย เช่น SSD mSATA ลดเหลือ 32 GB แรมแค่ 2 GB
สำหรับสเปคด้านบน ก็แน่นอนว่าเป็นตัวที่ประกอบทั้งเครื่องมาเสร็จสรรพแล้ว CPU เป็น Intel Celeron N3000 แรม 4 GB แบบ dual channel ซึ่งตรงนี้คุณ Chris บอกว่าเป็นจุดเด่นของ ASRock เลย เพราะผู้ผลิตแบรนด์อื่นๆ ที่มีผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เหมือนกัน มักจะไม่ใส่การรองรับแรมแบบ dual channel มา ทำให้อาจจะไม่แรงเพียงพอ ที่สำคัญคือเพราะจุดนี้ล่ะ ที่ทำให้ ASRock Beebox มีแบนด์วิธหน่วยความจำพอที่จะใช้ต่อกับจอความละเอียดระดับ 4K ได้
พอร์ตเชื่อมต่อก็ครบครันมากๆ ครับ ด้านหน้ามีช่องเสียบหูฟัง, USB 3.0, USB Type-C (นับเป็น NUC เครื่องแรกที่มีพอร์ตนี้) ด้านหลังมีช่องเสียบอะแดปเตอร์, 2x HDMI, LAN, DisplayPort แล้วก็มี USB 3.0 อีกสองช่อง แล้วก็ที่เห็นมีช่องระบายอากาศข้างบนนั้น บอกเลยนะครับว่าภายใน Beebox ไม่มีพัดลมระบายอากาศนะ แสดงว่าชิปมันเย็นพอตัวเลยทีเดียว
ส่วนในชุดจัดจำหน่าย จะมีรีโมทคอนโทรลมาให้ด้วย ทำให้มันเหมาะกับการเป็นเครื่องเล่นภาพยนตร์ในครอบครัวสุดๆ จะใช้ในห้องนั่งเล่น ห้องนอน ใช้ทำงานก็สบายๆ แถมมีการนำไปใช้จริงแล้วด้วย เป็นเครื่องสำหรับขึ้นจอโฆษณาใหญ่ๆ ที่เราเห็นตามตึกครับ
อันนี้ก็เป็นเครื่องเดโมที่ต่อออกจอ 4K ของจริงครับ เท่าที่ลองดู ก็สามารถเล่นวิดีโอได้ลื่นๆ เลย ไม่มีกระตุกแต่อย่างใด ส่วนข้างๆ ก็จะมีต่อออก 3 จอด้วย นับว่าเป็นพีซีจิ๋วที่แรงเกินตัวจริงๆ สำหรับ ASRock Beebox เครื่องนี้ ส่วนจะเข้ามาขายในไทยหรือไม่นั้น อาจต้องรอดูกันอีกทีครับ
ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ ASRock ที่น่าสนใจอีกตัวก็คือเร้าเตอร์เกมมิ่ง
โดยช่วงแรกนี้จะเปิดตลาดด้วย ASRock G10 กันก่อนเลย ซึ่งจากในภาพล่าง เราจะเห็นโลโก้ใหม่ โดยโลโก้นี้จะเป็นโลโก้ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มเกมมิ่งของ ASRock ที่จะตามมาในอนาคตครับ คร่าวๆ ก็จะมีพวกแผ่นรองเม้าส์, เร้าเตอร์, เม้าส์, หูฟัง อะไรประมาณนี้
กลับมาที่ ASRock G10 กันหน่อย แน่นอนว่าเร้าเตอร์สำหรับเกมมิ่ง มันก็ต้องมาพร้อมฟีเจอร์สำหรับนักเล่นเกม โดยเฉพาะเกมที่มีระบบออนไลน์ จุดเด่นของ G10 ก็คือ ภายในจะมีเสารับส่งสัญญาณถึง 8 เสา (4T4R) ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วกว่าเร้าเตอร์ทั่วไป จากผลการทดสอบของ ASRock เองพบว่าที่ WiFi ความถี่ 5 GHz สามารถทำความเร็วได้ถึง 1733 Mbps จากที่เร้าเตอร์ปกติ (3T3R) ทำได้แค่ 1300 Mbps เท่านั้น อีกทั้งยังมีระบบจัดการแบนด์วิธให้แบนด์วิธของเกมมีระดับความสำคัญสูงสุด ช่วยลดอาการแล็กที่เกิดจากแชร์กันใช้อินเตอร์เน็ตของหลายๆ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเร้าเตอร์ตัวเดียวกันได้
มาดูกันบ้างว่า ASRock G10 มีช่องอะไรให้มาบ้าง หลักๆ เลยก็จะเป็น USB 3.0 สองช่อง ที่เหลือก็เป็นพอร์ตสำหรับเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และพอร์ตแลนตามปกติครับ
ด้านหน้า แม้จะดูว่าก็ธรรมดา มีไฟแสดงสถานะนิดหน่อย แต่บอกเลยว่าที่จริงแล้วมันไม่ธรรมดา สังเกตตรงช่องดำๆ ด้านล่างครับ ช่องนี้คือจุดรับส่งสัญญาณอินฟราเรด ซึ่ง ASRock จะมีแอพพลิเคชันบนมือถือ ให้เจ้าของเร้าเตอร์ G10 สามารถสั่งงาน ควบคุมการทำงานของ G10 ผ่านทางแอพได้ แม้จะอยู่นอกบ้านก็ตาม ซึ่งในแอพนี้เราสามารถตั้งค่าให้เป็นรีโมทสำหรับเปิด/ปิด ควบคุมอุปกรณ์อื่นภายในบ้านที่ใช้งานรีโมทอินฟราเรดได้ด้วย
เช่น ขณะที่เรากำลังขับรถกลับบ้านอยู่ ถ้าอยากให้แอร์ที่บ้านเปิดรอไว้ เวลากลับไปถึงจะได้เย็นสบาย เราก็เปิดแอพในมือถือขึ้นมา จากนั้นก็กดสั่งเปิดแอร์ ตัวแอพก็จะส่งคำสั่งเราไปหาเร้าเตอร์ที่บ้าน แล้วให้เร้าเตอร์มันส่งข้อมูลผ่านอินฟราเรดเพื่อเปิดแอร์ เสมือนว่าเราเปิดจากรีโมทจริงๆ เลย นับว่าน่าสนใจเลยนะครับฟีเจอร์นี้ โดยตัวแอพสามารถเรียนรู้โค้ดคำสั่งของรีโมทอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติมไปได้ด้วย
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เด็ดของ ASRock G10 ก็คือเจ้าแท่งนี้นี่ล่ะ ซึ่งมันสามารถใช้งานได้หลายอย่างอยู่ หนึ่งคือใช้เสียบกับทีวีผ่าน HDMI เพื่อสตรีมมิ่งหนัง เพลงจากมือถือหรืออุปกรณ์อื่นๆ ไปขึ้นบนจอทีวีได้เลย ซึ่งมันรองรับการเชื่อมต่อทั้งมาตรฐาน DLNA, Miracast (มักใช้ในมือถือ Android) และรวมถึงรองรับ AirPlay ของอุปกรณ์ Apple เช่นพวก iPhone, iPad อีกด้วย
ส่วนอีกฟีเจอร์หนึ่งก็คือเราสามารถใช้มันเป็นอุปกรณ์กระจาย WiFi ได้ด้วย อันนี้จะมีประโยชน์มากตอนที่เราต้องไปพักหรือทำงานที่อื่น ซึ่งไม่มี WiFi ที่เราใช้งานได้ มีแต่ช่องแลน แล้วเราก็ดันใช้เน็ตผ่านพอร์ตแลนไม่ได้ เราก็จัดการเสียบสายแลนเข้ามายัง dongle อันนี้ มันก็จะจัดการกระจายเน็ตจากสายแลนมาเป็น WiFi ให้เราใช้งานได้เลย แต่ต้องเสียบไฟ DC 5V เลี้ยงผ่านช่อง Micro USB ด้วยนะ ซึ่งก็คือเราสามารถใช้อะแดปเตอร์สมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปของเรามาใช้กับเจ้า dongle นี้ได้เลย สะดวกมากๆ
เร้าเตอร์เค้าดีจริงๆ อิอิ ส่วนกำหนดการเข้าไทยนั้น ยังไม่ชัวร์ครับ แต่มีแววอยู่เหมือนกัน
สุดท้ายนี้ ก็เป็นการพูดคุยสัมภาษณ์กับคุณ Daniel ตัวแทนผู้บริหาร ASRock ประจำประเทศไทยด้วยครับ ก็เป็นการพูดคุยถึงตัวผลิตภัณฑ์เล็กๆ น้อยๆ
คำถาม: ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ ASRock ที่น่าสนใจมีอะไรบ้างครับ?
คำตอบ: ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจ ก็คงเป็นเหล่าเมนบอร์ดชิปเซ็ต Z97, X99 รวมถึง Z170 แหละครับ ซึ่งน่าจะเป็นซีรี่ส์ที่ได้รับความนิยมสูง เพราะว่าเรามีหลากหลายโมเดลมาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานแทบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เน้นความแรงสำหรับเล่นเกม กลุ่มที่เน้นช่องเชื่อมต่อครบครัน กลุ่มที่เน้นใช้สำหรับทำงาน รวมถึงกลุ่มที่ต้องการเมนบอร์ดคุ้มค่าแบบยังให้ประสิทธิภาพที่ดีอยู่
ซึ่งผมคิดว่าแต่ละฟีเจอร์ที่มีอยู่ในเมนบอร์ดของเรา จะเป็นที่ถูกใจทุกท่านแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น USB 3.1, USB Type-C ที่เป็นช่องเชื่อมต่อมาตรฐานใหม่ล่าสุด รวมถึงชิปแลน Killer ที่ออกแบบมาสำหรับคอเกมโดยเฉพาะ
คำถาม: เท่าที่ผมเดินชมบูท ASRock ดู ผมเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์หลายตัวน่าสนใจมากเลย แล้วในความคิดของคุณ Daniel คิดว่าตัวไหนเด็ดสุด และเป็นไฮไลท์ในสายตาของคุณ Daniel บ้างครับ?
คำตอบ: ถ้าในความคิดผม ผมว่าน่าจะเป็นเมนบอร์ดสองรุ่นนี้เลยครับ ASRock Z170 Gaming K4 กับ ASRock Fatal1ty H97 Performance ที่ผมว่ามันลงตัวและเหมาะกับผู้ใช้งานชาวไทยจริงๆ เพราะด้วยสเปคและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ในระดับราคาที่คุ้มค่า สามารถซื้อมาใช้งานได้ยาวแบบไม่ต้องเปลี่ยนเมนบอร์ดบ่อยๆ ซึ่งผมคิดว่าทั้งสองรุ่นนี้เป็นตัวที่น่าสนใจมาก และน่าจะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงแน่นอน
คำถาม: สุดท้ายแล้ว อยากฝากอะไรถึงแฟนๆ ASRock ในไทยบ้างครับ?
คำตอบ: ทางผมและ ASRock ก็ขอขอบคุณแฟนๆ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราในไทยเป็นอย่างสูงครับ ที่ไว้วางใจในคุณภาพของเมนบอร์ดจาก ASRock ซึ่งเราก็สัญญาว่าจะพัฒนาต่อๆ ไป ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงความคุ้มค่า ซึ่งแต่ละข้อก็เป็นสิ่งที่ ASRock เราคำนึงเป็นเป้าหมายหลักในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และก็ขอฝากถึงผลิตภัณฑ์ ASRock ที่จะตามมาในอนาคตด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ดซีรี่ส์ใหม่ๆ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งที่เราเปิดตัวในงานนี้ และจะเปิดตัวในภายหลังด้วย รับรองว่าทุกๆ ท่านจะได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์คุณภาพจากเราต่อๆ ไปอย่างแน่นอน
ขอบคุณครับ