Intel Lunar Lake เพิ่มพลังประมวลผล AI ของ NPU สูงกว่าเดิม CPU และ GPU ทำงานร่วมกัน ให้พลัง AI ได้สูงสุดถึง 120 TOPS
Intel Lunar Lake เตรียมลงโน๊ตบุ๊คใหม่ Core Ultra Gen2
- Intel keynote Bringing AI Everywhere
- Intel Xeon 6 แกนหลักมหาศาล 288 คอร์
- ก้าวสู่ยุค AI PC
- Intel Lunar Lake
- Panther Lake ปีหน้ามาแน่!
- Conclusion
Intel keynote Bringing AI Everywhere
สรุปเนื้อหา Intel keynote จากคุณ Pat Gelsinger ซีอีโอใหญ่ของ Intel เอง ที่มาพูดถึงเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับ AI อันรวมถึง CPU โค้ดเนม Lunar Lake ที่จะเป็น Intel Core Ultra Gen 2 สำหรับโน้ตบุ๊ก Lunar Lake เพิ่มพลังกราฟิกสูงสุดเกือบ 50% พลังประมวลผล AI ของ NPU สูงกว่าเดิม 4 เท่า เมื่อ CPU และ GPU ทำงานร่วมกัน ให้พลัง AI ได้สูงสุดถึง 120 TOPS ซึ่งจะเริ่มวางตลาดในโน้ตบุ๊กช่วงหลังไตรมาส 3 เป็นต้นไป
ในช่วงเกริ่นนำก็จะเป็นการกล่าวถึงเทคโนโลยี AI ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่ง Intel เองก็มีความมุ่งหมายที่จะนำ AI ไปสู่ในทุกสิ่งรอบตัวด้วยคอนเซ็ปท์ Bringing AI Everywhere โดยในช่วงคลิปเปิดตัวก็ได้นำเทคโนโลยี AI มาสร้างเป็นวิดีโอของคุณ Gordon Moore หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Intel ที่กำลังพูดวลีเด็ดอย่าง “Whatever has been done, can be outdone” ขึ้นมา เพื่อให้เห็นถึงพลังของ AI ว่ามีศักยภาพที่จะต่อยอดได้อีกไกลขนาดไหน เพื่อเอาชนะสิ่งที่เคยทำมา และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
ซึ่ง Intel ก็มองว่าตนเองจะสามารถเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนในเชิงของเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยโรงงานผลิตชิปที่มีสเกลการผลิตระดับใหญ่ สามารถรองรับความต้องการของทั้งโลกได้ รวมถึงจากผลิตภัณฑ์ของ Intel เองด้วย เพื่อให้สามารถนำ AI ไปสู่ทุกคน ในทุกหนแห่งได้
เริ่มตั้งแต่ระดับดาต้าเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อการใช้งานในรูปแบบคลาวด์ ที่ต้องมีการประมวลผลระดับสูง รองรับข้อมูลปริมาณมหาศาล สามารถสเกลระดับการทำงานให้เหมาะสมได้ และมีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในงานนี้ได้มีการเปิดตัวชิปประมวลผล Intel Xeon 6 ที่มาพร้อม E-core นอกจากนี้ยังเป็นชิปรุ่นแรกที่ใช้สถาปัตยกรรมการผลิต Intel 3 อีกด้วย
ประโยชน์ที่ได้จากการเลือกใช้คอร์แบบไฮบริดก็จะคล้ายกับในกลุ่ม CPU สำหรับคอมพิวเตอร์สำหรับทั่วไปเลย ก็คือเพื่อให้สามารถเพิ่มความหนาแน่นของจำนวนคอร์บนดาย CPU ได้สูงขึ้น มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม รองรับการสเกลระบบได้ดีขึ้น ซึ่งในงานก็มีการสาธิตด้วยว่าถ้าจะสร้างคลัสเตอร์สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์โดยใช้ชิป Xeon 6 จะใช้จำนวนเครื่องที่น้อยกว่ากัน 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเครื่องที่ใช้ 2nd Gen Xeon ในกรณีที่ต้องการประสิทธิภาพเท่า ๆ กัน ทำให้ถ้าใช้เครื่องจำนวนเท่า ๆ กัน เครื่องที่ใช้ Xeon 6 จะให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลด้าน AI และรองรับ workload ที่สูงกว่ากันหลายเท่าตัว ทั้งยังมีการใช้พลังงานที่ต่ำกว่าด้วย
Intel Xeon 6 แกนหลักมหาศาล 288 คอร์
นอกจากนี้ จะมีการเปิดตัวชิป 2nd Gen Intel Xeon 6 ที่มีถึง 288 คอร์ตามมาในภายหลัง โดยคาดว่าน่าจะเป็นในปีหน้าอีกด้วย ส่วนในไตรมาสสามของปีหน้าก็จะมีชิป Xeon 6 ที่ใช้ P-core ตามมาอีก เพื่องานที่เน้นประสิทธิภาพสูงจริง ๆ
อีกฮาร์ดแวร์ที่มีส่วนสำคัญในการทำงานด้าน AI ก็คือ Retrieval Augmented Generation (RAG) ที่จะถูกนำมาใช้ช่วยโมเดล LLM ในการเรียนรู้ข้อมูล ซึ่ง Intel ก็จะมี Intel Gaudi 2 เข้ามาช่วยในส่วนนี้ รวมถึงยังมีการร่วมมือกับภาคส่วนและผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีด้าน LLM และ AI โดยมีการสร้างเป็นแพลตฟอร์มเปิดเพื่อพัฒนา AI สำหรับงานระดับองค์กร
โดยในรอบนี้ก็ได้มีการเปิดตัว Intel Gaudi 3 ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ LLM สามารถเรียนรู้ข้อมูลได้เร็วกว่าเดิมเมื่อเทียบกับคู่แข่งในแง่ค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานที่เท่ากัน และยังคงรองรับแพลตฟอร์มเปิดต่าง ๆ เหมือนเดิม ส่วนในเรื่องเส้นทางการเชื่อมต่อความเร็วสูง Intel ก็ได้จับมือกับหลายบริษัท อาทิ AMD, Broadcom, Cisco, Google, Meta และ Microsoft ในการสร้างมาตรฐานเปิดแบบใหม่ขึ้นมาแข่งกับ NVIDIA นั่นคือ Ultra Accelerator Link (UALink) ที่เราน่าจะได้เห็นนำไปใช้กับฝั่งดาต้าเซ็นเตอร์ที่ทำงานด้าน AI มากขึ้น
ก้าวสู่ยุค AI PC
ต่อมาก็จะเป็นการพูดถึงฝั่งผู้ใช้งานทั่วไปกันบ้าง ซึ่งทาง Intel มองว่า AI PC จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เข้ามาเขย่าวงการคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่ หลังจากที่เคยมีมาแล้วเมื่อราว 25 ปีก่อน นั่นคือเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่ในตอนหลังจากมาตรฐานออกมาใหม่ ๆ จะยังค่อนข้างเงียบอยู่ก็ตาม แต่หลังจากนั้นมาสองปี Intel ก็ผลักดันมาตรฐาน Intel Centrino ออกมา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยี Wi-Fi ติดลมบนและเปลี่ยนให้เครื่องพีซีที่แต่เดิมเป็นแค่อุปกรณ์สำหรับทำงาน ให้กลายเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และทำอะไร ๆ ได้อีกมากมาย ซึ่ง Intel ก็มองว่า AI PC ก็น่าจะสามารถทำได้ในแบบเดียวกัน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2028 เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีกว่า 80% ของทั่วทั้งโลกจะเป็น AI PC และมี Intel เป็นหัวหอกในการนำเข้าสู่ยุคดังกล่าว
ณ ขณะนี้ Intel เองก็มีชิปประมวลผล Intel Core Ultra ออกมาสู่ท้องตลาดแล้ว โดยเป็น AI PC มากกว่า 8 ล้านเครื่อง คาดว่าในปลายปีนี้น่าจะมีกว่า 40 ล้านเครื่อง ด้านแอปพลิเคชันก็มีมากกว่า 300 แอปที่นำ AI มาใช้งาน และมีโมเดล AI มากกว่า 500 ตัวที่ได้รับการปรับจูนให้ทำงานได้ดีบนชิป Intel Core Ultra อีกด้วย
โดยสิ่งที่ Intel ให้ความสำคัญก็คือ ecosystem ที่จะทำให้วงการ AI PC เติบโตไปข้างหน้า จึงได้จับมือร่วมกับผู้ผลิตพีซีหลายราย หลายแพลตฟอร์มในท้องตลาด รวมถึงกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการรายใหญ่อย่าง Microsoft ด้วย ซึ่ง 1/3 ของเครื่องในภาพด้านบนจะเป็นเครื่องที่มาพร้อมกับ 2nd Gen Intel Core Ultra ที่มีโค้ดเนมว่า Lunar Lake นั่นเอง โดยในจุดนี้ทาง Microsoft โดยคุณ Satya ก็กล่าวเพิ่มว่าพีซีที่ใช้ชิป Lunar Lake จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์ม Copilot+ PC ที่นอกเหนือจากเรื่องประสิทธิภาพแล้ว ยังมีเรื่องความปลอดภัย การใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนาน และพลังประมวลผลด้าน AI จากตัว NPU ใน Lunar Lake มีพลังมากกว่าระดับ 40 TOPS อีกด้วย เพื่อให้ใช้งานระบบ AI ในเครื่องแบบ on device ได้อย่างราบรื่น
Intel Lunar Lake
Intel Core Ultra รุ่นใหม่ก็จะยังคงได้รับการผลิตในรูปแบบ chiplet เหมือนเดิม คือใช้หลาย ๆ โมดูลมาประกอบรวมกัน ซึ่งก็จะมีการปรับสเกลจำนวนของแต่ละโมดูลตามรุ่นออกไป มีสามส่วนหลักที่จะส่งผลกับประสิทธิภาพของ AI PC โดยตรงก็คือส่วนของ CPU GPU และ NPU สำหรับในตอนนี้ก็มีการพูดคุยกับผู้ผลิตมากกว่า 20 ราย ซึ่งจะทำให้มีผลิตภัณฑ์พีซีมากกว่า 80 รุ่นเริ่มทยอยวางจำหน่ายตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป กล่าวคือก็เริ่มตั้งแต่ราวเดือนกรกฎาคมนี้ เราน่าจะได้เห็นโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์พกพาที่ใช้ชิป Intel Lunar Lake ในชื่อของ 2nd Gen Intel Core Ultra ลงสู่ตลาดนั่นเอง ส่วนบริษัทที่ร่วมมือกับ Intel ในการออกแบบและมีส่วนในการผลิตก็คือ TSMC ที่เป็นบริษัทจากไต้หวัน ซึ่ง Intel ก็มองว่าเป็นการจับมือกันที่ยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิตชิป
Lunar Lake เข้ามามีบทบาทสำคัญกับ AI PC กลุ่มที่เน้นความบางและเบาของตัวเครื่อง ก็มาจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในหลายด้านโดยที่ยังคงมีประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานที่ดีขึ้นตามมาด้วย เช่นพลังกราฟิกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบ 50% พลังประมวลผล AI ของ NPU ที่สูงกว่าเดิมราว 4 เท่า และเมื่อประสานพลังกับทั้งส่วนของ CPU และ GPU จะทำให้ตัวชิปมีความสามารถในการประมวลผลเชิง AI ได้สูงสุดถึง 120 TOPS (ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที) ซึ่งทั้งหมดนี้ ตัวชิปมีการใช้พลังงานที่ลดลงจากเดิมในชิป Meteor Lake สูงสุดถึง 40% อีกต่างหาก ประกอบกับความร่วมมือจากทั้ง Microsoft และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในกลุ่ม ISV กว่า 300 รายจึงทำให้ 2nd Gen Intel Core Ultra จะเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งในอนาคต
แต่จะมีสิ่งที่ Intel และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในกลุ่ม ISV ยังต้องทำงานร่วมมือกันต่อไป ก็คือเรื่องการนำทั้ง CPU GPU และ NPU มาใช้งานร่วมกันเพื่อรีดประสิทธิภาพให้ถึงขีดสุด เนื่องจากยังมีบริษัทในกลุ่ม ISV อีกราว 30% ที่ยังคงอาศัยพลังจาก NPU ในการประมวลผล AI อยู่ ซึ่งมันจะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้านำพลังของทั้ง CPU และ GPU ที่ทรงพลังขึ้นมากมาใช้ร่วมกัน
ส่วนประเด็นที่มีการเปิดตัวชิป Snapdragon X Elite ออกมา และมีหลาย ๆ คนมองว่าจะเป็นคู่แข่งที่เข้ามาจัดการกับชิปตระกูล x86 ในไม่ช้า เรื่องนี้คุณ Pat มองว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องดูกันอีกยาว เพราะจากผลทดสอบในแลปของ Intel ก็ได้ผลออกมาว่าพลัง CPU GPU และการประมวลผลด้าน AI ของ Lunar Lake ยังคงอยู่ในระดับที่ต่อสู้ได้อย่างสูสี แต่สิ่งที่ x86 ได้เปรียบกว่ามากก็คือเรื่องความเข้ากันได้ เพราะแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์กลุ่มใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจจนถึงกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปยังคงเป็น x86 อยู่ ปัจจัยหลักก็คือซอฟต์แวร์ที่เขียนมาเพื่อ x86 โดยตรงยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ไดรเวอร์ของอุปกรณ์ก็มีครบครันกว่า คู่แข่งจึงยังไม่น่าที่จะเข้ามาล้ม x86 ได้ในเร็ววัน
อีกหัวข้อที่หลายคนอาจมองว่าเป็นจุดอ่อนของ x86 มาเสมอก็คือเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จุดนี้ Intel Lunar Lake จะเข้ามาทำลายความเชื่อเดิม ๆ ในจุดนี้ไปด้วยโครงสร้างของตัว SoC แบบใหม่ ที่ทำให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสูงสุดถึง 40% เทียบกับ CPU รุ่นปัจจุบันอย่าง Meteor Lake ที่ก็ทำได้ดีอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้จึงทำให้ชิป Lunar Lake เป็นฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสมกับยุค AI PC แบบหาคู่เทียบด้วยยาก จากความเหนือชั้นทั้งด้านประสิทธิภาพ ความเข้ากันได้กับแอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ ไดรเวอร์ และการจัดการพลังงาน
สิ่งที่ขาดไม่ได้กับการจะผลักดันยุค AI PC ก็คือการมีพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปด้วยกัน ซึ่งในงานนี้ก็มีการเชิญคุณ Johny Shih ประธานของบริษัท ASUS ขึ้นมาร่วมบรรยายด้วย โดยภาพรวมก็คือมองว่า AI คือเทคโนโลยีที่สำคัญ และ AI PC จะเข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการพลิกโฉมโลกคอมพิวเตอร์ ด้วย AI ecosystem ด้วยความที่อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง แต่สามารถเป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่มีความเข้าใจกับความต้องการของผู้ใช้ได้ดี ซึ่งจะตอบโจทย์ในแง่ของความรวดเร็ว ความปลอดภัย และมีการตอบสนองที่ตรงกับบุคลิกของผู้ใช้มากกว่า โดยที่มีคลังสมองขนาดใหญ่อย่างระบบคลาวด์ทำงานเป็นเบื้องหลัง
ซึ่ง Intel Lunar Lake จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำงานร่วมกับระบบ AI ของ ASUS เพื่อผลักดันขีดความสามารถของ AI ไปอีกขั้น ช่วยเพิ่มความสะดวกให้การทำงานของเหล่าครีเอเตอร์ระดับมืออาชีพ การเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษาในอนาคต และมองภาพว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งอุปกรณ์ที่มองว่าเป็นสมองข้างกายผู้ใช้ และระบบคลาวด์ที่เปรียบเสมือนสมองขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งานได้
หากจะไล่รุ่นของ CPU Intel ตามโค้ดเนมในขณะนี้ เราจะมี Meteor Lake ที่กำลังวางขายอยู่ ส่วนที่เปิดตัวในงานนี้ก็คือ Lunar Lake สำหรับโน้ตบุ๊กและเครื่องพกพา ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังก็จะมีการเปิดตัวชิปประมวลผลในตระกูล Arrow Lake ที่จะนำเทคโนโลยี AI ไปสู่พีซีในรูปแบบอื่นด้วย อาทิสำหรับเครื่องเดสก์ท็อปที่จะได้รับการเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
Panther Lake ปีหน้ามาแน่!
ส่วนในปีหน้าก็จะมีการเปิดตัวชิปในตระกูล Panther Lake ที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีกขั้น ด้วยกระบวนการพัฒนาในแบบ Intel 18A ที่จัดว่าเป็นระดับกระบวนการผลิตลำดับที่ 5 ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาด้วย และในสัปดาห์หน้า Intel ก็จะเริ่มทดสอบการใช้งานชิปตัวแรกที่ผลิตจากแผ่นเวเฟอร์ที่ผ่านกระบวนการผลิต Intel 18A เป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งก็คาดหวังว่า Intel 18A จะเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัททวงตำแหน่งผู้นำในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตชิปประมวลผลกลับคืนมาให้ได้ โดยคาดว่าจะได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Computex 2025 ที่จะจัดในช่วงเดือนมิถุนายนของปีหน้า
ผู้ผลิตอีกรายที่ร่วมมือกับ Intel มาอย่างยาวนานก็คือ Acer ที่ในงานนี้ก็ได้คุณ Jason Chen ประธานและซีอีโอของ Acer ขึ้นมาร่วมบนเวทีด้วย ซึ่งสิ่งที่คุณ Jason และ Acer มองเห็นจากชิปประมวลผล Intel Core Ultra รุ่นแรกก็คือความเห็นจากผู้ใช้งานที่พึงพอใจในประสิทธิภาพและความสามารถของ NPU ในตัว โดยตัวอย่างรูปแบบการใช้งานที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็เช่นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้พลังของทั้ง NPU GPU และ CPU มาทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ก็มีกลุ่มสายงานบริการลูกค้า กลุ่มงานด้านการแพทย์ที่ใช้ AI ในการสร้างแบบจำลองเกี่ยวกับการรักษา เป็นต้น
อีกเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนไปในกลุ่มผู้ใช้งานก็คือจากที่ผ่านมาจะใช้การค้นหาด้วยการพิมพ์ (Search) เปลี่ยนมาเป็นการถามผู้ช่วย (Ask) แทน รวมถึงที่ผ่านมา จากที่มนุษย์ต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์เพียงฝ่ายเดียว แต่ในปัจจุบันกลายเป็นว่าคอมพิวเตอร์ก็ต้องพยายามปรับตัวเข้าหามนุษย์ไปพร้อมกันด้วย ด้านของภาพในอนาคต ทาง Acer มองว่าในปัจจุบันคือจุดที่กำลังเป็นจุดเริ่มต้น สังเกตจากพฤติกรรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่เริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแนวทางการใช้งานคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ ๆ ในอนาคต ที่มีเทคโนโลยี AI เป็นส่วนหนึ่งในการใช้งาน
บนเวที คุณ Jason ได้โชว์โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่จาก Acer ที่ใช้ชิป Intel Lunar Lake ด้วย แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดสเปค แต่ก็คาดหวังว่าจะมีสิ่งดี ๆ ตามมาอีกในอนาคตอันใกล้
Conclusion
จากทั้งการบรรยายที่ผ่านมา จะเห็นว่าสิ่งที่ Intel มองก็คือ AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตั้งแต่งานระดับที่เล็กที่สุดอย่างการเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ไปจนถึงงานในระดับอุตสาหกรรม งานด้านการแพทย์ งานด้านโรโบติก ซึ่ง Intel เป็นบริษัทที่มีความพร้อมด้วยจุดเด่นในหลายด้าน ได้แก่
- ความพร้อมในการผลิต ที่รองรับงานได้หลากหลายสเกล
- การเข้าร่วมพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งกับมาตรฐานแบบเปิด เพื่อสร้าง ecosystem ที่ยืดหยุ่นยิ่งกว่า
- เทคโนโลยีการผลิตที่ยังคงยึดตามกฎของมัวร์ ที่ต้องมีการพัฒนาเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดอยู่เสมอ
- การสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ด้วยมาตรฐานความปลอดภัย ความยั่งยืน และพาร์ทเนอร์อันเป็น ecosystem ที่เป็นหัวใจหลักของความสำเร็จมาตลอด
ทั้งหมดนี้ก็ปิดด้วยวลีเด็ดของ Gordon Moore ที่ Intel ยังคงยึดถือเสมอมานั่นคือ “Whatever has been done, will be outdone” เพื่อที่จะก้าวข้ามความสำเร็จเพื่อสร้างความสำเร็จใหม่ขึ้นมาอยู่เสมอ
สำหรับใครที่อยากชมคลิปเต็ม สามารถคลิกที่นี่ได้เลย