ทางนักวิจัยของ Microsoft ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี GPS กับความต้องการทางด้านการใช้พลังงานสูงโดยใช้การเชื่อมต่อกับระบบ cloud จำนวนมากเพื่อการระบุตำแหน่งที่รวดเร็วขึ้นมีชื่อเรียกว่า Cloud-Offloaded GPS (CO-GPS) ครับ ซึ่งทาง MIT ก็ได้รายงานออกมาว่าทางนักวิจัยของ MIT ได้พัฒนาระบบทดสอบเพื่อใช้ในการทดสอบอัตราการใช้งานแบตเตอรี่ของการตรวจจับสัญญาณ GPS เพื่อระบุตำแหน่งบนมือถือโดยใช้ชื่อว่า CLEO แล้วนำไปทดสอบแนวคิดข้างต้นของ Microsoft เทียบกับระบบ GPS บนมือถือในปัจจุบันครับ
ในงาน 10th ACM Conference ในส่วนของหัวข้อ Embedded Networked Sensor Systems ที่ผ่านมาไม่นานนั้นทางนักวิจัยทีมนี้ก็ได้ประกาศผลการทดลองออกมาครับว่า ในปัจจุบันนี้เสาสัญญาณ GPS ที่อยู่ในสมาร์ทโฟนของเราๆ ท่านๆ นั้นเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่กินพลังงานในการใช้งานเป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ ซึ่งหากมีการเปิดใช้เสาสัญญาณ GPS อยู่ตลอดเวลาแล้วหล่ะก็จะทำให้แบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนสามารถหมดลงด้วยความรวดเร็วในเวลาเพียงแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น
ในทางกลับกันแล้วเมื่อเป็นการทดสอบระบบ CO-GPS ของทาง Microsoft นั้นกลับพบว่าสามารถที่จะทำงานได้ถึง 1 ปีครึ่งโดยการใช้งานบนแบตเตอรี่ขนาด AA จำนวน 2 ก้อนเท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นอัตรการใช้พลังงานสำหรับระบบระบุตำแหน่งด้วย GPS ที่ต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา แถมการเชื่อมต่อก็ยังเร็วขึ้นกว่าระบบ GPS ธรรมดาในปัจจุบันถึง 99.96 % เลยทีเดียวครับ
โดยปกติแล้วระบบระบุตำแหน่งด้วยสัญญาณ GPS บนมือถือ(ทั่วไปไม่รวมถึง A-GPS) นั้นจะใช้เวลาประมาณ 30 วินาทีเพื่อที่จะทำการดึงข้อมูลที่จำเป็นในการเชื่อมต่อกับดาวเทียมในวงโคจร และในกระบวนการนั้นจะมีการดึงสัญญาณเข้ามาเพื่อใช้ในการประมวลผลอย่างมากมายในการทำการเชื่อมต่อให้คงที่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อที่ว่าเวลาเคลื่อนที่สัญญาณ GPS จะไม่หลุดไปจากระบบครับ
นักวิจัยของ Microsoft ได้ค้นพบวิธีที่จะนำเอาข้อมูลที่จำเป็นดังกล่าวข้างต้นแทนที่จะรอการเชื่อมต่อจากดาวเทียมเพื่อส่งข้อมูล ก็ให้ตัวมือถือทำการดึงข้อมูลนั้นๆ เพื่อที่จะเชื่อมต่อกับดาวเทียมผ่านระบบ cloud ซึ่งเร็วกว่า โดยในระบบ cloud นั้นจะมีข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด(และสามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับ) ทำให้ระยะเวลาในการเชื่อมต่อสัญญาณ GPS กับมือถือนั้นลดลงและเป็นผลทำให้อัตราการใช้งานแบตเตอรี่นั้นต่ำลงด้วยครับ
ทางทีมวิจัยได้บอกว่าในการนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปพัฒนาต่อยอดนั้นน่าจะช่วยในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ ผ่านทางระบบ GPS ของผู้ใช้งานได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่นข้อมูลของระดับมลพิษทางเสียงของในแต่ละสถานที่ หรือความสามารถในการอัพเดทข้อมูลแผนที่ที่มีการปรับแต่งทิศทางในรูปแบบ real time เป็นต้น
โดยเทคนิด CO-GPS นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องติดตั้งชิปพิเศษเพิ่มเติมเพียงอย่างใด ขอเพียงแต่สมาร์ทโฟนมี GPS และสามารถเชื่อมต่อระบบเครือข่ายได้ก็สามารถที่จะใช้งานได้แล้วครับ(แต่ต้องมีคนนำเอาวิธี CO-GPS นี้ไปเขียนออกมาเป็นแอปพลิเคชันก่อนนะครับไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็สามารถที่จะใช้ได้เลย ซึ่งเราคงต้องรอดูเสียงตอบรับจากทาง Google และ Apple ว่าจะมีการนำเอาระบบ CO-GPS ไปใช้ในระบบปฏิบัติการของพวกเขาหรือไม่ครับ)
ที่มา : theverge