บูธเจ้าภาพในงาน Computex 2013 ครั้งนี้อย่าง ASUS ก็ให้ความสวยงามหรูหราอลังการเรียกความสนใจจากผู้ใช้ให้เข้าไปชมสินค้าใหม่ๆ ที่ ASUS เปิดตัวในปีนี้ได้เป็นอย่างดี ตัวบูธจะเลืออกใช้สีขาวเป็นสีของบูธ ASUS ในปีนี้ รวมทั้งดีไซน์เน้นความหรูหราและล้ำสมัยอีกด้วย
ชมคลิปทัวร์บูธ ASUS โดยทีมงาน Notebookspec ได้ที่นี่เลย
บูธของ ASUS นั้นเรียกความสนใจจากผู้เข้าชมงานได้เป็นอย่างดี ปริมาณผู้เข้าชมสินค้าในบูธนั้นมีมากมายไม่ขาดสายทีเดียว คาดว่าเพราะการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ในงานครั้งนี้ของ ASUS เรียกความสนใจจากผู้เข้าชมงานได้เป็นอย่างดี
สินค้าใหม่ที่ ASUS เปิดตัวนั้นจะถูกบรรจุเอาไว้ในตู้ใสอีกด้วย ทำให้ทางทีมงานสามารถเก็บภาพมาให้ชมได้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถทดลองเล่นได้ โดยที่เห็นในภาพข้างบนนี้เป็น ASUS VivoMouse กับ ASUS VivoPC ที่เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของงานเลยก็ว่าได้
ชิ้นแรกที่ทุกท่านได้เห็นนี้คือ ASUS VivoMouse ที่เคยมีภาพหลุดผ่านทาง Google+ มาเมื่อก่อนหน้านี้ โดยเม้าส์รุ่นใหม่จาก ASUS นั้นเป็นการดีไซน์รวมเม้าส์แบบมาตรฐานเข้ากับทัชแพดของโน๊ตบุ๊ค ทำให้แป้นที่เป็นที่วางนิ้วชี้มีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกับ ASUS VivoPC เพื่อเป็นรีโมตคอนโทรลได้และเชื่อมต่อเข้ากับโน๊ตบุ๊คที่ติดตั้ง Windows 7 หรือ Windows 8 ก็ได้ โดยรองรับ Gesture Control ของ Windows 8 อีกด้วย
ส่วนของ ASUS VivoPC นั้นเป็นคอมพิวเตอร์พีซีขนาดเล็ก พกพาไปใช้งานนอกสถานที่ได้โดยสะดวก รวมทั้งโดดเด่นด้วยพอร์ตเชื่อมต่อที่ครบครัน ทั้ง USB 2.0, USB 3.0, HDMI, LAN, SD Card Reader, LAN เพื่อใช้เชื่อมต่อการใช้งานได้ด้วย
ภายในงานยังนำ ASUS Transformer Pad Infinity แท็บเล็ตพร้อมคีย์บอร์ดด็อกกิ้งมาเปิดตัวในงานอีกด้วย โดดเด่นกับหน้าจอความละเอียดสูงถึง 2560×1440 พิกเซล และสามารถถอดหน้าจอออกมาเป็นแท็บเล็ตได้อีกด้วย ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชั่น 4 มาให้ด้วย
ส่วนของ ASUS FonPad Note สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่พร้อมปากกาก็ถูกนำมาเปิดตัวในงานนี้เช่นกัน โดดเด่นด้วยหน้าจอขนาดใหญ่และปากกา Stylus เพื่อใช้เขียนบันทึกได้อีกด้วย ส่วนระบบปฏิบัติการเป็น Android เช่นเดียวกับ Fonepad รุ่นอื่นๆ ที่เคยวางจำหน่ายมาก่อนหน้านี้ด้วย
หน้าจอขนาด 6 นิ้วยังให้ความละเอียดสูงระดับ Full HD 1920×1080 พิกเซลอีกด้วย ด้านของตัวเครื่องจะดีไซน์เน้นความเรียบง่ายสวยงาม
ภายในงานยังมี ASUS Padfone Infinity มาโชว์ตัวให้ผู้ใช้ทดลองเล่นได้อีกด้วย
นอกจากสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ แล้ว อุปกรณ์เสริมอย่าง ASUS Xonar Essence STU ที่เป็นแอมป์แบบ DAC มาให้ทดลองฟังเพลงภายในงานได้ด้วย ซึ่ง ASUS Xonar Essence STU จะเชื่อมต่อผ่าน USB Port เท่านั้น เพราะแนวคิดของ ASUS เกี่ยวกับการฟังเพลงของคนในยุคนี้เน้นการใช้งานผ่านทางคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ดังนั้นแอมป์เครื่องนี้จึงติดตั้งได้ด้วยสาย USB 2.0 เพื่อแสดงผลเสียงเท่านั้น
ภายในงานเองก็มี ASUS Transformer Book Trio ที่เป็นโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่จาก ASUS พร้อมซีพียูสองตัวสามารถถอดหน้าจอออกเป็นแท็บเล็ตได้ ปฏิบัติการด้วยซีพียู Intel Atom และทำงานในระบบปฏิบัติการ Android พร้อมสามารถเอาคีย์บอร์ดไปเชื่อมต่อกับหน้าจอแยกเพื่อใช้งานเป็นเดสก์ท็อปพีซีได้อีกด้วย ซึ่งปกติแล้วแท่นคีย์บอร์ดจะไม่สามารถใช้งานได้หากไม่มีหน้าจอแท็บเล็ตอยู่
นอกจากนี้ ASUS ยังนำโน๊ตบุ๊ครุ่นธรรมดาที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้มีความสวยงามมากขึ้น รวมทั้งติดตั้งซีพียูใหม่ล่าสุดจากทาง Intel อย่างสถาปัตยกรรม Haswell มาให้อีกด้วย
นอกจากนี้ ASUS ยังนำเทคโนโลยี Leap Motion ที่เป็นเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวของมือที่ประมวลผลด้วยความเร็วสูงม าโชว์ภายในงานอีกด้วย
โดยตัว Leap Motion จะทำการเชื่อมต่อผ่านทาง USB Port และจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่เกะกะเวลานำมาใช้งานบนโต๊ะทำงาน โดย Leap Motion ที่ ASUS นำมาโชว์ในงานนี้ยังเป็นเวอร์ชั่นแรกอยู่ การทำงานยังไม่สมบูรณ์ที่สุด แต่คาดว่าหลังจากนี้ Leap Motion จะได้รับการพัฒนาให้ดีกว่าเดิมอีกแน่นอน
All-in-one PC ที่สามารถถอดหน้าจอขนาด 18.4 นิ้วออกมาได้อย่าง ASUS Transformer AIO ก็ถูกนำมาโชว์ตัวในงานนี้ด้วยเช่นกัน โดยจะมีระบบปฏิบัติการ Android เมื่อถอดหน้าจอออกจากฐานและ Windows 8 เมื่อเชื่อมต่อหน้าจอเข้ากับฐานรองรับ ซึ่งข้อดีของแท็บเล็ตขนาดใหญ่นี้ คือเราสามารถถอดจอออกมาแล้วนำแท็บเล็ตไปใช้งานและนำเสนองานได้อีกด้วย
เมื่อถอดเป็นแท็บเล็ตแล้ว จะมีขนาดใหญ่เหมือนในภาพด้านซ้ายมือ โดยเราสามารถตั้งเครื่องเอาไว้กับพื้นโต๊ะได้ด้วยขาตั้งที่เห็นในภาพด้านขวา รวมทั้งหิ้วติดตัวไปไหนมาไหนได้ด้วยหูจับที่อยู่ด้านบนตรงกลางเครื่อง ทำให้สะดวกเวลาจะพกพาแท็บเล็ตยักษ์นี้ไปไหนมาไหน
ในบูธของ ASUS ก็มีโซน ASUS ROG (Republic Of Gamer) ที่รวบรวมอุปกรณ์เกมมิ่งของ ASUS เอาไว้อย่างครบครัน ทั้งโน๊ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์พีซีอีกด้วย แต่ครั้งนี้เราจะพูดถึงโน๊ตบุ๊คและอุปกรณ์สำหรับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ทาง ASUS นำมาโชว์ในงานนี้มีอะไรบ้าง รวมทั้งเปิดให้ผู้ใช้สามารถทดลองเล่นได้ด้วย
ตัวอย่างบรรยากาศภายในบูธ ASUS ROG จะเน้นเป็นสีแดงที่เป็นสีประจำกลุ่มสินค้า ROG ของทางค่าย
เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คของ ASUS ที่โชว์อยู่ในงานนี้จะเป็น ASUS ROG G750 ที่ตัวเครื่องเป็นอะลูมิเนียมและได้รับการดีไซน์ใหม่พร้อมสเปกที่แรงกว่าเดิม โดยเครื่องนี้จะเป็นเครื่องที่ให้ทดลองเล่น Leap Motion ได้ด้วย
นอกจากนี้ ASUS ROG G750 นั้นจะมีแว่นตา 3D สำหรับเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งรุ่นใหม่นี้ได้รับการปรับปรุงให้แสดงผลได้ดีขึ้นและลดอาการตาล้าได้ดีขึ้นอีกด้วย
ตัวเครื่อง ASUS ROG G750 ยังคงดีไซน์ที่เหมือนรถซุปเปอร์คาร์อย่าง Lamborghini โดยตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่และมีความเหลี่ยมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งประสิทธิภาพการเล่นเกมก็ทำได้น่าประทับใจทีเดียว
นอกจากนี้ในงานจะได้ทดลองใช้เกมมิ่งเม้าส์ของทาง ASUS อย่าง ASUS ROG Eagle Eye GX1000 อีกด้วย โดยดีไซน์ออกแบบมาเพื่อรองรับ Palm Grip User กับ Claw Grip User เป็นหลักและจากการทดลองสัมผัสแล้วจะออกแบบมาให้ใช้งานได้ทั้งสองมืออีกด้วย ส่วนวัสดุที่นำมาประกอบจะเป็นอะลูมิเนียมพร้อมเรืองแสงสีแดงสมกับเป็นเม้าส์สำหรับเกมเมอร์อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ASUS ยังนำเสนอระบบ ASUS Networking ที่เป็นระบบการเชื่อมต่อไร้สายภายใต้กลุ่มสัญญาณ Wi-Fi เดียวกันรวมถึงส่งผ่านและควบคุมอุปกรณ์ ASUS ชิ้นอื่นๆ ได้อีกด้วย
ซึ่งทาง ASUS เน้นนำเสนอระบบ ASUS Open Cloud Computing ระหว่างอุปกรณ์ ASUS ด้วยกัน โดยนำเสนอระบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ความสะดวกในการใช้งานคอมพิวเตอร์ยิ่งขึ้น ได้แก่
- MyASUS : ระบบการจัดการและสนับสนุนอุปกรณ์ของ ASUS ไม่ว่าจะดาวน์โหลดไดร์เวอร์หรือจะจัดการระบบ Cloud ก็ทำได้
- AOLink : ระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ ASUS ด้วยกันผ่านทาง DLNA โดยสามารถ Stream ไฟล์วิดีโอหรือภาพไปยังอุปกรณ์ชิ้นอื่นที่เป็น ASUS ด้วยกันได้ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวทั้งสองเครื่องจะต้องเชื่อมต่อ Wi-Fi เครือข่ายเดียวกันเพื่อใช้ฟังก์ชั่นนี้
- ASUS WebStorage : ระบบ Personal Cloud ที่เป็นระบบฝากไฟล์ไว้บนกลุ่มเมฆ (เหมือน Dropbox หรือ Google Drive) โดยสามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android, iOS, Windows แล้ว รวมทั้งมีระบบ Web Apps เช่น โปรแกรม Office Suite ไว้รองรับการแก้ไขไฟล์ได้อีกด้วย
- AOHelp : ระบบสนับสนุนการใช้งานให้กับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ไม่คล่องใช้งานได้ดีขึ้น รวมทั้งมีระบบ Remote System ที่เมื่อคอมพิวเตอร์ของ ASUS เกิดปัญหาแล้วผู้ใช้ไม่สามารถแก้ไขได้ เราสามารถส่งคำขอความช่วยเหลือให้เพื่อนที่ใช้ ASUS Device, มีระบบ AOHelp และมี ASUS ID ก็สามารถ Remote Computing เข้ามาแก้ไขปัญหาให้เครื่องที่เกิดปัญหาได้ด้วย
เป็นเจ้าภาพของงานครั้งนี้ที่มีทั้งสินค้าและโปรแกรมที่น่าสนใจเปิดตัวออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าศึกษาวิธีการใช้งานสักหน่อยก็จะทำให้ผู้ใช้สามารถดึงประสิทธิภาพของโน๊ตบุ๊คและอุปกรณ์ของ ASUS ออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแน่นอน