ในปัจจุบันการใช้ WiFi เรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สังเกตได้จากปริมาณของอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ WiFi และ WiFi Hotspot ที่มีให้ใช้งานมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะทำให้มันทำงานได้อย่างราบรื่นก็จะต้องมีมาตรฐานกลางในการกำหนดและควบคุมรูปแบบการทำงาน ดังในปัจจุบันจะมีมาตรฐานที่เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปอยู่ 2 ตัวด้วยกัน ได้แก่ 802.11g และ 802.11n แต่ในช่วงปีหน้าเราน่าจะได้เห็นข่าวของ WiFi มาตรฐานใหม่นามว่า 802.11ac กันมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบ คาดว่าเราน่าจะได้เริ่มเห็นการใช้งานจริงก็ในช่วงปลายปีหน้านู่นเลย จะยังไงก็ตาม เรามาทำความรู้จักกับ 802.11ac กันแบบคร่าวๆก่อนแล้วกันนะครับ
802.11ac ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของการรับส่งคลื่น ทำให้ได้ผลลัพธ์คือความเร็วที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก รวมไปถึงระยะที่ไกลขึ้นและสามารถทะลุผ่านสิ่งกีดขวางได้ดีขึ้น โดยคุณสมบัติของ 802.11ac ต่างจาก 802.11g และ 802.11n ดังในตารางด้านล่างนี้
มาตรฐาน | ความถี่คลื่น | ความกว้างช่องสัญญาณ | ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ | รองรับ MIMO |
802.11g | 2.4 GHz | 25 MHz | 54 Mb/s | ไม่รองรับ |
802.11n | 2.4 / 5 GHz | 40 MHz | 600 Mb/s | รองรับ (3) |
802.11ac | 5 GHz | 80 / 160 MHz | 6.93 Gb/s | รองรับ (8) |
จากในตารางก็จะเห็นได้ว่ามีการปรับความถี่คลื่นไปใช้ที่ 5 GHz กันหมด จากที่ในปัจจุบันยังมีอยู่ 2 ความถี่กันอยู่ และยังมีการเพิ่ม bandwidth ขึ้นมาเป็น 80 กับ 160 MHz อีก จึงช่วยให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นมาก แต่ความเร็วสูงสุดที่อยู่ตารางนั้น จะต้องอยู่ในเงื่อนไขการใช้อุปกรณ์แบบสุดๆด้วยเช่นกัน นั่นคือตัว AP ส่งสัญญาณจะต้องมี 8 เสา และตัวรับสัญญาณจะต้องมี 2 เสาจำนวน 4 ชุดด้วยกัน จึงจะสามารถใช้งาน 802.11ac ได้ด้วยความเร็วเต็มที่ แต่กับการใช้งานของเราๆแบบทั่วไปน่าจะเป็นแบบตัว AP ส่งสัญญาณมี 2 เสา และตัวรับสัญญาณมี 2 เสาซะมากกว่า โดยความเร็วสูงสุดของ 802.11ac ที่จะสามารถใช้งานได้จะอยู่ที่
- 867 Mb/s สำหรับความถี่คลื่น 80 MHz
- 1.73 Gb/s สำหรับความถี่คลื่น 160 MHz
นอกจากความต่างในเรื่องของคลื่นที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่ต่างกัน นั่นคือรูปแบบการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อจับใส่มากับคลื่นพาหะหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าการ modulation ซึ่งใน 802.11ac จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเปลี่ยนมาใช้ 256-QAM แทน 64-QAM ที่ใช้ใน 802.11n และยังมีเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ 802.11ac มีการพัฒนาขึ้น แต่คาดว่าเราคงไม่ค่อยได้สนใจเพราะมันไม่ค่อยอยู่ในชีวิตประจำวันซักเท่าไร ดังนั้นขอข้ามไปนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นเล็กเชอร์วิชา Network ไปซะก่อน
ซึ่ง 802.11ac นี้ เราน่าจะได้พบกับมันพร้อมอุปกรณ์ในช่วงกลางค่อนไปทางปลายปีหน้านู่นเลย ดังนั้นไม่ต้องงรีบร้อน ใครมีแผนจะซื้ออุปกรณ์ใช้งาน WiFi 802.11n อยู่แล้วละก็ ซื้อไปได้เลยครับ เพราะกว่า 802.11ac จะเป็นที่นิยมก็อีกนานโขอยู่ทีเดียว
ข้อมูล : Computer World, Wikipedia