วันนี้ทีมงานขอเปลี่ยนแนวจากรีวิวโน๊ตบุ๊คหนัก ๆ มารีวิว Tablet เบา ๆ แนว ๆ กันบ้าง กับ ASUS Eee Pad Slider Tablet เบอร์ 2 จาก ASUS ที่โดดเด่นด้วยฟังก์ชันคีย์บอร์ดแบบสไลด์ได้ในตัว ไม่ต้องมาต่อคีย์บอร์ดให้ยุ่งยาก พร้อมการสไลด์แล้วยังตั้งจอขึ้นมาให้เป็นฐานด้วย โดยสเปกนั้นก็มาในแบบเดียวกับ Asus Eee Pad Transformer นั่นก็คือ Nvidia Tegra 2 บนระบบปฏิบัติการ Android 3.1 พร้อมอัปเกรดเป็น 3.2 ได้ จอภาพขนาด 10.1 นิ้วที่ความละเอียด 1280 x 800 แบบ IPS ที่ให้สีสันสดใสสมจริง Webcam หน้าหลัง พอร์ตการเชื่อมต่อที่ครบครันทั้ง Audio, mini HDMI, Card Reader และ USB 2.0 แบตเตอรี่รองรับการใช้งานได้ 8 ชั่วโมงสบาย ๆ ด้วยน้ำหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม ในราคาที่ ASUS เปิดตัวมาแล้ว 17,900 บาท แต่จะน่าสนใจขนาดไหนนั้น เดี๋ยวไปติดตามชมกันเลยดีกว่าครับ
หน้าตาแพ็กเกจของ ASUS Eee Pad Slider มาในกล่องหรูหราทีเดียว ระบุข้อมูลครบครัน
เปิดมาถึงก็เจอซองผ้ากำมะหยี่หรูหราภายในเลย
แน่นอนว่าซองผ้านี้ก็คือที่ห่อหุ้มเจ้า ASUS Eee Pad Slider นั่นเอง ในเครื่องขายจริงน่าจะมีให้มาด้วยนะครับ ไฮโซเลยทีเดียว
ASUS Eee Pad Slider มาพร้อมจอภาพขนาด 10.1 นิ้ว เท่ากับ Netbook ทั่วไปครับ แต่จะมีขอบที่หนากว่าเพื่อให้สามารถจับได้ถนัดมือ โดยที่นิ้วไม่บังจอภาพ การออกแบบก็ให้ด้านข้างโค้งนิด ๆ เน้นการจับถือเล่นเกมขับรถได้ดีเลย โดยจะเป็นจอกระจกเดียวกันทั้งชิ้น ไม่ได้มีขอบแปลกปลอมเข้ามาทำให้ลดการติดของฝุ่นไปได้
ด้านบนของจอภาพจะเป็น Webcam ด้านหน้า
ขอบจอภาพค่อนข้างหนาทีเดียว ทำให้เครื่องมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่ากับจอภาพ 11 นิ้ว ไม่ใช่ 10.1 นิ้วจริง ๆ
ด้านหลังจะเป็นวัสดุ 2 ชิ้น คือ ตัวสีน้ำตาลจะเป็นผิวด้านเพื่อให้สามารถจับได้ถนัดมือ และส่วนของสีเงินที่จะเป็นตัวฐานสำหรับสไลด์จอภาพขึ้นมา นอกนั้นก็จะมีขอบสีเงิน ซึ่งจะเป็นตำแหน่งไว้ติดตั้งยางเพื่อเป็นฐานรอง
ขอบยางจะมีอยู่ตรงนี้ไว้รองเวลาตั้งเครื่องหลังจากสไลด์จอ
กล้องด้านหลัง 5.0 MPixel
ขอบด้านบนนั้นจะเป็นตำแหน่งไว้จับเพื่อสไลด์จอภาพขึ้นเพื่อใช้งานคีย์บอร์ด แนะนำให้ใช้ 2 มือจับตรงนี้แล้วค่อย ๆ แยกจากกันนะครับ ต้องใช้แรงพอสมควรเลยเพราะตัวขาตั้งนั้นแข็งแรงดีมาก
หน้าตาหลังจากสไลด์จอภาพขึ้นไปจะสามารถนำด้านหลังวางตั้งเป็นฐานได้เลย จอภาพจะทำมุมประมาณ 45- 50 องศา เป็นระดับที่หากเราวางบนโต๊ะทำงานระดับเอวก็จะพอดี แต่ถ้าต่างจากนั้นไปอาจจะใช้งานได้ไม่สะดวก เพราะจอภาพจะไม่สามารถปรับมุมองศาได้ แต่ได้แค่มุมนี้เท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าจอภาพจริง ๆ นั้นบางแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นนะครับ ส่วนฐานล่างนั้นจะเป็นแบตเตอรี่และหน่วยประมวลผลเป็นหลัก
ตัวคานซึ่งทำหน้าที่ค้ำจอนั้นเป็นเหล็กกล้า พร้อมแกนอีกตัวคอยค้ำไม่ให้จอภาพบิดหรือเปลี่ยนองศาได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรง ระบบแบบนี้จะทำให้เราเปลี่ยนองศาจอไม่ได้ แต่ก็ช่วยให้มีความแข็งแรงสูง แม้จะเปิดปิดบ่อย ๆ ก็ไม่ทำให้จอภาพเสียหาย
นอกจากตัวคานค้ำแล้วยังมีตะขอเกี่ยวล็อกซึ่งเป็นแม่เหล็ก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงอีกขั้น จากที่ผมลองไม่ว่าจะทำอย่างไรตัวคานก็จะค้ำให้เข้าขอเกี่ยวนี้ให้ได้
หนากว่ากล่อง DVD อยู่เล็กน้อยเท่านั้น
ยาวเท่ากับหนังสือ A4 แต่แคบกว่าพอสมควร พร้อม Adapter แบบชาร์จ USB ในสายเดียวกัน
น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 963 กรัม
เมื่อรวม Adapter แล้วก็กิโลนิด ๆ