
สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD ในช่วงหลังมานี้ แต่ละแบรนด์จะเน้นไปที่กลุ่มซีรีส์ AMD Ryzen AI 300 series เป็นหลัก เช่น AMD Ryzen AI 9 HX 370 และ Ryzen AI 9 365 แต่ที่จริงแล้วในงาน CES 2025 ที่ผ่านมาก็มีการเปิดตัวซีรีส์รองลงมาเล็กน้อยอย่าง AMD Ryzen 200 series ด้วย และในตอนนี้ก็เริ่มจะมีลงมาในโน้ตบุ๊กให้ได้ซื้อหากันบ้างแล้ว ดังนั้นเรามาเริ่มทำความรู้จักกับชิปในซีรีส์นี้กันซักหน่อย เผื่อจะได้เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ที่ต้องการโน้ตบุ๊กราคาคุ้ม ๆ แต่ได้ประสิทธิภาพที่ตอบโจทย์แบบไม่ต้องจ่ายก้อนใหญ่นัก
ภาพรวมของ AMD Ryzen 200 series
แนวทางในการออกแบบและกำหนดสเปคของชิปประมวลผลในซีรีส์นี้ ดูเหมือนว่า AMD จะตั้งใจให้เป็นชิปรุ่นที่มีราคาไม่สูงมากนัก สามารถนำไปใส่ในโน้ตบุ๊กรุ่นสำหรับการใช้งานทั่วไปได้ และรองรับการใช้งานได้กว้าง โดยจะมี 3 ส่วนหลักคือ CPU, GPU และ NPU ดังนี้
- CPU ใช้คอร์สถาปัตยกรรม Zen 4 เป็นหลัก และมีบางรุ่นใช้แบบไฮบริดคือ Zen 4 + Zen 4c
- GPU ในตัวใช้เป็น AMD Radeon 700 series สถาปัตยกรรม RDNA 3
- มี NPU สถาปัตยกรรม XDNA สำหรับจัดการงานด้าน AI ในเกือบทุกรุ่น
ซึ่งหากเทียบสถาปัตยกรรมก็น่าจะพอบอกได้เหมือนกันว่า Ryzen 200 series นี้คือรุ่นที่จะเข้ามาแทนกลุ่มของ AMD Ryzen 8040 series ที่ทำตลาดมาได้ยาวนานพอสมควร ก่อนจะมีการเปิดตัวซีรีส์ Ryzen AI 300 ที่ขึ้นมาเป็นชิปกลุ่มระดับท็อป-รองท็อปในปัจจุบัน ดังนั้นก็เป็นไปได้สูงมากว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป เราน่าจะได้เห็นการวางจำหน่ายโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD Ryzen 200 series มากขึ้น และอาจเข้ามาแทนที่กลุ่มเครื่องที่ใช้ชิป Ryzen 8040 series ด้วย
รุ่นย่อยของ AMD Ryzen 200 series
เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาในขณะนี้ จะมีอยู่ด้วยกัน 7 รุ่น แบ่งเป็นกลุ่มตามระดับของประสิทธิภาพและความสามารถตั้งแต่ Ryzen 3, 5, 7 ไปจนถึง 9 เหมือนกับที่คุ้นเคยกันดังนี้

AMD Ryzen 3
จะมีออกมาเพียง 1 รุ่นก็คือ AMD Ryzen 3 210 ที่ให้มา 4 คอร์ แบ่งเป็นคอร์ Zen 4 จำนวน 1 คอร์ และ Zen 4c อีก 3 คอร์ แยกออกเป็นทั้งหมด 8 เธรด ความเร็วพื้นฐาน 3GHz บูสต์สูงสุด 4.7GHz ค่า TDP อยู่ในระดับ 15-30W ส่วนกราฟิกในตัวจะเป็น AMD Radeon 740M ที่มี 4 CU รองรับการใช้งานพื้นฐานทั่วไป งานเอกสาร ใช้งานที่ไม่เน้นในเชิงกราฟิกมากนัก จุดเด่นจะอยู่ตรงที่ความร้อนสะสมไม่สูงมากและกินไฟต่ำ ด้วยการใช้คอร์ Zen 4c ที่มีขนาดคอร์และความร้อนในการทำงานที่ต่ำกว่า Zen 4 เล็กน้อย แต่ยังมีความสามารถในการรองรับการประมวลผลได้ไม่แพ้คอร์ Zen 4 ปกติมากนัก

AMD Ryzen 5
มีออกมาด้วยกัน 3 รุ่น ดังนี้
AMD Ryzen 5 220
- มี 6 คอร์ (2x Zen 4 + 4x Zen 4c) 12 เธรด
- ความเร็วพื้นฐาน 3.2GHz บูสต์สูงสุด 4.9GHz
- แคช L3 16MB
- ค่า TDP 15-30W
- กราฟิก AMD Radeon 740M 4 CU
AMD Ryzen 5 230
- มี 6 คอร์ Zen 4 ล้วน 12 เธรด
- ความเร็วพื้นฐาน 3.5GHz บูสต์สูงสุด 4.9GHz
- แคช L3 16MB
- ค่า TDP 15-30W
- กราฟิก AMD Radeon 760M 8 CU
- มี NPU ประสิทธิภาพสูงสุด 16 TOPS (รวมทั้งชิปสูงสุด 31 TOPS)
AMD Ryzen 5 240
- มี 6 คอร์ Zen 4 ล้วน 12 เธรด
- ความเร็วพื้นฐาน 4.3GHz บูสต์สูงสุด 5GHz
- แคช L3 16MB
- ค่า TDP 35-54W
- กราฟิก AMD Radeon 760M 8 CU
- มี NPU ประสิทธิภาพสูงสุด 16 TOPS (รวมทั้งชิปสูงสุด 31 TOPS)
ในกรณีของ Ryzen 5 220 จะมีความแตกต่างจาก Ryzen 3 210 ในเรื่องของจำนวนคอร์ที่เพิ่มมาประเภทละ 1 คอร์ แต่ยังมีค่า TDP ในระดับเดิม และได้ iGPU รุ่นเดียวกันด้วย ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องดูกันที่ราคาโน้ตบุ๊กของแต่ละแบรนด์มาอีกทีว่าจะตั้งราคาของรุ่นที่ใช้ชิปทั้งสองนี้อย่างไร โดยน่าจะมาในกลุ่มเครื่องราคาย่อมเยาเป็นหลัก แต่ถ้าเทียบสเปคล้วน ๆ ก็ต้องบอกว่า AMD Ryzen 5 220 ดูน่าสนใจกว่ามาก
ถ้าเป็นฝั่งของ AMD Ryzen 5 230 และ 240 ก็จะมีการปรับขึ้นมาในหลายจุด เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนโครงสร้างส่วนของการประมวลผลมาใช้เป็นคอร์ Zen 4 ล้วน ๆ ไม่ได้เป็นแบบไฮบริดเหมือนในสองรุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลถึงความเร็วในการทำงานที่เพิ่มขึ้นตามมา พลังกราฟิกแบบ iGPU ก็ขยับมาใช้เป็น AMD Radeon 760M ซึ่งเป็นรุ่นกลางของซีรีส์ และที่สำคัญคือมี NPU สถาปัตยกรรม XDNA เข้ามาในตัวแล้ว ทำให้สามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมหรือระบบที่ต้องมีการคำนวณเชิง AI ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD Ryzen 200 series เหล่านี้จะยังไม่ผ่านเกณฑ์ Copilot+ PC ของ Microsoft ที่ต้องการ NPU ประสิทธิภาพขั้นต่ำ 40 TOPS นะ ทำให้ถ้าอยากใช้งาน Copilot+ PC ก็จะต้องไปเลือกโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD Ryzen AI 300 series แทน
ส่วนจุดต่างหลักของทั้งสองรุ่นนี้ก็คือเรื่องค่า TDP ที่ Ryzen 5 240 จะทำได้สูงกว่า ซึ่งเป็นไปได้ว่าน่าจะถูกนำไปใช้กับกลุ่มของเกมมิ่งโน้ตบุ๊กราคาจับต้องง่ายหน่อย ราคาซักสองหมื่นบาทนิด ๆ หรือโน้ตบุ๊กสายครีเอเตอร์รุ่นระดับเริ่มต้น ส่วน Ryzen 5 230 น่าจะไปอยู่ในกลุ่มของโน้ตบุ๊กใช้งานทั่วไปที่เน้นความบางเบา เน้นใช้งานแบตได้นานหน่อย

AMD Ryzen 7
จะมีอยู่ 2 รุ่นย่อย ได้แก่
AMD Ryzen 7 250
- มี 8 คอร์ Zen 4 ล้วน 16 เธรด
- ความเร็วพื้นฐาน 3.3GHz บูสต์สูงสุด 5.1GHz
- แคช L3 16MB
- ค่า TDP 15-30W
- กราฟิก AMD Radeon 780M 12 CU
- มี NPU ประสิทธิภาพสูงสุด 16 TOPS (รวมทั้งชิปสูงสุด 38 TOPS)
AMD Ryzen 7 260
- มี 8 คอร์ Zen 4 ล้วน 16 เธรด
- ความเร็วพื้นฐาน 3.8GHz บูสต์สูงสุด 5.1GHz
- แคช L3 16MB
- ค่า TDP 35-54W
- กราฟิก AMD Radeon 780M 12 CU
- มี NPU ประสิทธิภาพสูงสุด 16 TOPS (รวมทั้งชิปสูงสุด 38 TOPS)
สเต็ปความแตกต่างก็จะเป็นแบบที่คุ้นเคยกันคือ Ryzen 7 จะมี 8 คอร์ ซึ่งก็จะส่งผลถึงเรื่องความเร็วในการทำงานด้วย และถ้าเป็นในฝั่งของ AI ก็จะมีพลังประมวลผลเพิ่มขึ้นมาอีกสูงสุด 7 TOPS อันเนื่องมาจากจำนวนคอร์/เธรดที่มากขึ้น ด้านของพลังกราฟิกก็จะปรับมาใช้เป็น AMD Radeon 780M ซึ่งเป็นหนึ่งใน iGPU ยอดนิยมที่พบเห็นได้บ่อยในโน้ตบุ๊กรวมถึงเครื่องเล่นเกมพีซีแบบพกพาที่ใช้ชิป AMD Ryzen Z1 series ด้วย จึงทำให้พอจะสบายใจได้ว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้ AMD Ryzen 7 200 series ก็น่าจะสามารถใช้ iGPU ในการเล่นเกมในปัจจุบันได้ประมาณหนึ่ง ไม่ว่าจะเกมสายอินดี้หรือเกมระดับ AAA บางเกมก็ยังสามารถเล่นได้บ้างเหมือนกัน แต่อาจต้องปรับตั้งค่าลึก ๆ ซักนิดนึง ความแรงอาจจะลดหลั่นลงมาจากกราฟิกชิปแยกรุ่นกลางลงมาหน่อย
ส่วนความแตกต่างหลักของชิปทั้งสองรุ่นนี้ก็จะเหมือนกับใน Ryzen 5 เลย คือเรื่องของค่า TDP ที่ 260 จะทำได้สูงกว่า ทำให้ชิปมีความแรงกว่า 250 พอสมควร
AMD Ryzen 9
จะมีเพียงรุ่นเดียวคือ AMD Ryzen 9 270 ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุดของซีรีส์ในขณะนี้ โดยจะมี 8 คอร์ 16 เธรดเท่ากับ Ryzen 7 แต่จะได้รับการปรับจูนความเร็วในการทำงานขึ้นเป็น 4GHz บูสต์สูงสุด 5.2GHz โดยมีค่า TDP อยู่ในช่วง 35-54W เท่ากัน แต่จุดที่มีความแตกต่างกันจะเป็นในฟีเจอร์ปลีกย่อย เช่น Ryzen 9 270 จะรองรับเทคโนโลยี AMD EXPO สำหรับช่วยในการโอเวอร์คล็อกแรม รวมถึงรองรับการปรับ Curve ของแรงดันไฟด้วย ซึ่งจะเป็นฟีเจอร์ในการปรับแต่งความเร็วตัวชิปเป็นหลัก และส่วนของประสิทธิภาพในการประมวลผล AI ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 39 TOPS ด้วยการรองรับเทคโนโลยีสายโอเวอร์คล็อกที่เพิ่มเข้ามา จึงอาจจะยากนิดนึงที่เราจะได้เห็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD Ryzen 9 270 มาวางจำหน่ายในไทย เพราะเป็นไปได้ว่าราคาเครื่องที่ออกมาอาจจะไปใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปรุ่นสูงกว่านี้ ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมใหม่กว่า แรงกว่า ค่าประสิทธิภาพต่อพลังงานสูงกว่า

โน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD Ryzen 200 series
สำหรับในประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีการเปิดวางจำหน่ายโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปรุ่นใหม่นี้แล้วด้วยกัน 1 รุ่นคือ ASUS Vivobook S16 D3607HA-RP788WA ที่มาพร้อมสเปคหลัก ๆ ดังนี้
- AMD Ryzen 7 260 + AMD Radeon 780M
- แรม 16GB DDR5-5600 แบบออนบอร์ด มีช่องใส่แรมเพิ่มอีก 1 ช่อง
- SSD 512GB PCIe 4.0 M.2 NVMe
- หน้าจอ 16” (1920×1200) IPS 144Hz
- Windows 11 Home
- กล้อง FHD IR
- Wi-Fi 6 + Bluetooth 5.3
- แบตเตอรี่ 70 Whr
- 2x USB 3.2 Type-C รองรับการชาร์จและการต่อจอนอก
- 2x USB 3.2 Type-A
- HDMI 2.1
- น้ำหนัก 1.7 กิโลกรัม
ราคา 26,990.- ดูข้อมูลเพิ่มเติม / ASUS / BaNANA
ประสิทธิภาพของ Vivobook S16 เครื่องนี้ก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มโน้ตบุ๊กสำหรับใช้ทำงานทั่วไป เน้นเรื่องหน้าจอใหญ่ 16” สเปคพร้อมใช้งานได้ตั้งแต่แกะกล่องเลย ด้วยแรมที่ให้มา 16GB ซึ่งเป็นแรมขั้นต่ำที่ควรมีในยุคนี้ หากจะเพิ่มก็สามารถซื้อใส่ได้ ถ้าได้เป็นซัก 24GB ก็จะดี 32GB กำลังสวย ส่วนชิปประมวลผลก็จะเป็น AMD Ryzen 7 260 ซึ่งเป็นรุ่นสูงสุดของ AMD Ryzen 200 series อยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องห่วงในเรื่องของการทำงาน การประมวลผล การเปิดหลาย ๆ โปรแกรมพร้อมกัน จะใช้งานด้าน AI ก็ทำได้เช่นกัน
จุดเด่นของโน้ตบุ๊กเครื่องนี้ก็คือแบตเตอรี่ที่ให้มาถึง 70Whr ทำให้สามารถใช้งานในระหว่างวันได้สบาย ส่วนถ้าจะชาร์จก็สามารถชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ได้ทันที ซึ่งจะใช้อะแดปเตอร์ 65W ที่แถมมาในการชาร์จ หรือจะใช้หัวชาร์จ USB-PD แบบที่ใช้ชาร์จมือถือก็ได้เช่นกัน ขอแค่จ่ายไฟได้ไม่ต่ำกว่า 65W ซึ่งในปัจจุบันก็สามารถหาซื้อจากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือได้ง่าย ราคาหลักร้อยก็มีแล้ว ถ้าให้เผื่อเหลือไว้ชาร์จมือถือได้ ก็ซื้อหัวชาร์จ GaN 100W ไว้ก็ดี เพราะขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่หนักเท่าไหร่ ราคาก็ไม่แรงแล้วด้วย เรียกว่าเป็นหัวเดียว เที่ยวทั่วไทยได้เลย

ด้านของราคาก็เปิดมาที่ 26,990 บาท เมื่อมองว่าเป็นชิปรุ่นค่อนข้างสูงของซีรีส์ + การ์ดจอออนบอร์ด + หน้าจอ 16” ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะมีรุ่นที่ใส่ชิปการ์ดจอแยกมาให้ เปิดราคาเริ่มมาซัก 30,000 นิด ๆ ส่วนถ้าเป็นรุ่น Ryzen 5 ก็น่าจะเห็นอยู่ในช่วงราคาประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งน่าจะเข้ามาแทนที่กลุ่มของเครื่องที่ใช้ชิป Ryzen 5 ซีรีส์ 7000 เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสเปคในส่วนอื่นด้วยที่จะส่งผลกับราคา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ์ดจอ แรม หน้าจอ และฟีเจอร์เสริมอื่น ๆ

สรุปภาพรวมของ AMD Ryzen 200 series
จากสเปคของตัวชิป AMD Ryzen 200 series ที่ออกมา ต้องบอกว่าชิปประมวลผลซีรีส์นี้จะเป็นรุ่นที่ออกมาตอบโจทย์โน้ตบุ๊กระดับราคาเริ่มต้นตั้งแต่หมื่นนิด ๆ ขึ้นมาจนถึงประมาณ 30,000 กว่าบาท ด้วยสถาปัตยกรรมของคอร์ CPU ที่ใช้ Zen 4 เป็นหลัก กราฟิกในตัวแบบ iGPU ในตระกูล RDNA 3 ที่แม้จะไม่ใช่รุ่นล่าสุด แต่ก็ยังให้ประสิทธิภาพด้านกราฟิกในระดับที่สามารถใช้งานพื้นฐาน ใช้งานด้านความบันเทิงได้ดี และที่สำคัญในชิปเกือบทุกรุ่นยังมาพร้อม NPU สำหรับประมวลผลด้าน AI อีก ซึ่งจะช่วยเปิดตลาดให้ผู้ใช้ที่มีงบไม่สูงมากก็สามารถใช้งาน AI ในเครื่องได้ เช่นอาจจะไว้ gen งานจากโมเดลที่ไม่ต้องใช้สมรรถนะของเครื่องสูงมาก หรือใช้ร่วมกับโปรแกรมที่มีการใส่ AI เข้ามาช่วยเสริมการทำงานในตัว ตรงจุดเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ใช้จะได้รับจากชิปรุ่นใหม่นี้จาก AMD ที่เริ่มเข้ามาตีตลาดโน้ตบุ๊กราคาระดับ 20,000 บาทแล้ว และน่าจะได้เห็นจากแบรนด์อื่นตามมาอีกในเร็ว ๆ นี้
