
แม้ฝั่ง AMD เองจะทำผลงานในด้านของ iGPU ได้ดีจนเป็นที่เด่นชัด และถูกนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในด้านของเกม ประกอบกับชิปประมวลผลในกลุ่มโมบายล์ในช่วงหลังมานี้ก็เน้นใส่ iGPU รุ่นใหม่ที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้โน้ตบุ๊กกลุ่มนี้แทบจะไม่ต้องใส่ชิปการ์ดจอแยกมาเลยก็ยังได้ แต่แน่นอนว่าสำหรับกลุ่มของเกมมิ่งโน้ตบุ๊กสเปคแรงที่จะมีชิปกราฟิกแยกประสิทธิภาพสูงกว่ามาอยู่แล้ว ส่วนของ iGPU ที่แรงก็มีความจำเป็นน้อยลง นั่นทำให้มีการเปิดตัวชิปรุ่นใหม่อย่าง AMD Ryzen 8000HX series ซึ่งใช้โค้ดเนมว่า Dragon Range Refresh ที่จากชื่อก็จะทราบได้ทันทีว่าเป็นรุ่นปรับปรุงต่อยอดมาจากโค้ดเนม Dragon Range (กลุ่ม AMD Ryzen 7000HX series) อีกที
AMD Ryzen 8000HX series (Dragon Range Refresh)
จากที่เกริ่นไปข้างต้นว่าชิปรุ่นนี้จะเป็นรุ่นถัดต่อมาจาก AMD Ryzen 7000HX series ที่อาจจะหาในไทยยากนิดนึง โดยจากการที่รหัสต่อท้ายชื่อรุ่นคือรหัส HX จึงเป็นที่คาดหวังได้เลยว่าจะยังคงเป็นชิปประมวลผลที่เน้นตอบโจทย์ด้านการเล่นเกม ด้านการรีดประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่กว่ารหัสอื่น ๆ สำหรับข้อมูลทั่วไปที่น่าสนใจของซีรีส์นี้ก็ได้แก่
- ใช้สถาปัตยกรรม Zen 4 ล้วน ไม่มีไฮบริด
- มีเฉพาะ Ryzen 7 และ Ryzen 9 เท่านั้น
- มีค่า TDP หลัก 55W
- รองรับ PCI 5.0 28 เลน และแรม DDR5 สูงสุด 64GB
- มาพร้อม AMD Radeon 610M
- ไม่มี NPU ในตัว และไม่รองรับ Ryzen AI
จะเห็นว่าสเปคของตัวชิปนั้นจะเน้นไปในทางของ CPU แบบเต็ม ๆ เหมือนกับกลุ่มของชิปประมวลผลสำหรับเครื่องเดสก์ท็อป ส่วนของกราฟิกออนชิปที่ให้มาก็จะเป็นแค่เพียงรุ่นเริ่มต้นเพื่อไว้สำหรับการใช้งานเบา ๆ เป็นหลักเท่านั้น จึงทำให้ชิปกลุ่มนี้จะเหมาะกับการนำมาใส่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ต้องการเน้นความแรงของ CPU ล้วน ๆ ไม่เน้นด้าน AI และมีการ์ดจอแยกประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว

ในการเปิดตัวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะมีด้วยกัน 4 รุ่นย่อย โดยกลุ่มของ Ryzen 9 จะมี 16 คอร์ 32 เธรด และสเปคส่วนใหญ่เหมือนกัน มี 2 CCD เหมือนกัน จุดแตกต่างหลักจะอยู่ที่ความเร็วคล็อกเท่านั้น ส่วนในกลุ่มของ Ryzen 7 จะแบ่งเป็นสองรุ่นที่ค่อนข้างชัดเจนคือ AMD Ryzen 7 8840HX ที่มี 12 คอร์ 24 เธรด ทั้งชิปมีด้วยกัน 3 ดาย (2 CCD + 1 IOD) จำนวนแคช L3 ก็ให้มา 64MB เท่ากับ Ryzen 9 ในซีรีส์เดียวกัน ส่วนอีกรุ่นจะเป็น AMD Ryzen 7 8745HX ที่ลดเหลือเพียง 2 ดาย (1 CCD + 1 IOD) จำนวนคอร์ก็ลดลงมาเหลือ 8 คอร์ 16 เธรด รวมถึงจำนวนแคชก็ลดลงตามสัดส่วนจำนวนคอร์ด้วย ทีนี้ถ้าหากลองจับเทียบสเปคกับ AMD Ryzen 7000HX series ก็จะพบว่ามีการต่อยอดมาดังนี้
- AMD Ryzen 9 8945HX มาจาก Ryzen 9 7945HX
- AMD Ryzen 9 8940HX มาจาก Ryzen 9 7940HX (ความเร็วบูสต์สูงขึ้น)
- AMD Ryzen 7 8840HX มาจาก Ryzen 7 7840HX
- AMD Ryzen 7 8745HX มาจาก Ryzen 7 7745HX
ในแง่ของการวางผลิตภัณฑ์ในตลาด ถ้าดูจากการกำหนดสเปคที่ยังคงถอดแบบมาจาก 7000HX ก็เป็นไปได้ว่าน่าจะสามารถทำให้ราคาชิปที่ขายให้บริษัทโน้ตบุ๊กย่อมเยาลง และน่าจะสามารถนำมาใช้เป็นชิปกลุ่มที่อยู่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ต้องการประสิทธิภาพสูงกว่ากลุ่มที่ใช้ชิปซีรีส์ Hawk Point รุ่นยอดนิยม เช่น AMD Ryzen 7 8845HS ที่ทำตลาดมานานพอสมควรแล้ว รวมถึงก็ยังน่าจะได้ราคาที่ย่อมเยากว่ากลุ่มเครื่องที่ใช้ชิป AMD Ryzen 9 9000HX series คอร์ Zen 5 โค้ดเนม Fire Range ที่เน้นจับตลาดความแรงขั้นสุดไปเลย ถ้าให้วาดภาพง่าย ๆ จากของที่มีในตลาดเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ณ ขณะนี้ ก็น่าจะจัดวางตำแหน่งได้ตามภาพด้านล่าง

ซึ่งเมื่อมองถึงโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD ในตลาดขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มของเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ส่วนตัวก็มองว่าถึงเวลาที่จะมีชิปรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่กลุ่มของ AMD Ryzen 7 8840HS และ 8845HS ในช่วงราคา 30,000 – 45,000 บาทได้แล้ว เพื่อเป็นการรีเฟรชผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกสดใหม่ให้กับ AMD เองในมุมมองของผู้บริโภค แม้โครงสร้างภายในชิปจะคล้ายเดิมก็ตาม และถึงแม้จะมีกลุ่มโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD Ryzen AI 300 series + การ์ดจอแยกทำตลาดอยู่แล้วก็ตาม แต่ต้องบอกว่าราคาเครื่องยังอยู่ในระดับ 50,000+ อยู่ ซึ่งถ้ามีเข้ามาแทนจริง ๆ ก็น่าจะทำให้ AMD มีของให้เลือกครบครันในหลายช่วงราคายิ่งขึ้นไปอีก
ส่วนในแง่ของความแรง ต้องบอกว่าในขณะนี้ยังไม่มีการทดสอบประสิทธิภาพออกมา แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าน่าจะทำได้ใกล้เคียงหรือเหนือกว่าชิปรุ่นก่อนหน้าที่เป็นทายาทสายตรงกันเล็กน้อย ก็อาจจะพอใช้ผลทดสอบประสิทธิภาพของรุ่นก่อนหน้าในการอ้างอิงได้ในระดับหนึ่ง


เริ่มด้วย AMD Ryzen 9 7945HX (แทน 8945HX) ที่จะยกมาเฉพาะผลทดสอบ Cinebench 2024 เท่านั้น ฝั่งของ single core ก็จะอยู่ที่ 113 คะแนน ใกล้เคียงกับ Ryzen AI Max+ PRO 395 แต่ถ้าดูคะแนนแบบ multi core จะเห็นความต่างชัดเจนขึ้น เพราะทำได้เหนือกว่าราว 2,300 คะแนน ในขณะเดียวกันก็ยังทำได้สูงกว่า M4 Max, i9-14900HX และ i9-13980HX ด้วย


ต่อมาก็เป็น AMD Ryzen 9 7940HX ที่ใช้อ้างอิงแทน Ryzen 9 8940HX โดยรอบนี้จะมีแต่ผลทดสอบ Cinebench R23 ที่เป็นเวอร์ชันเก่ากว่าลงไปนิดนึง แต่ก็ทางเว็บไซต์ Notebookcheck ก็ยังมีทดสอบกับชิปรุ่นใหม่ ๆ ไว้หลายรุ่นพอสมควร สำหรับคะแนนแบบ single core จะถือว่าทำได้อยู่ในระดับเดียวกันกับ AMD Ryzen 9 8945HS, i7-13700H, i7-12800HX, Core Ultra 9 185H ส่วนคะแนนแบบ multi core จะทำได้พอ ๆ กันกับ i9-13950HX และ AMD Ryzen AI Max+ 395 ที่เพิ่งเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ไม่นาน


และอีกรุ่นที่มีผลทดสอบไว้ให้เทียบได้ก็คือ AMD Ryzen 7 7745HX ที่ใช้แทน Ryzen 7 8745HX โดยคะแนน single core ของการทดสอบ Cinebench 2024 จะทำได้ 110 คะแนน ซึ่งจะอยู่ในระดับเดียวกันกับ i7-13650HX, i9-12900HK, i7-13700H รวมถึง Core Ultra 5 226V ด้วย ส่วนการทดสอบแบบ multi core ก็จะทำคะแนนได้ใกล้ ๆ กันกับ M3 Pro, Core Ultra 7 255H และ AMD Ryzen AI 9 HX 375 เป็นต้น
ทั้งนี้ต้องย้ำอีกครั้งว่าผลทดสอบประสิทธิภาพข้างต้นเป็นคะแนนจากชิปรุ่นก่อนหน้า AMD Ryzen 8000HX series ทั้งหมด ซึ่งตัวชิปรุ่นใหม่อาจจะทำประสิทธิภาพได้สูงกว่านี้ขึ้นไปอีกเล็กน้อย หรืออย่างน้อยก็ทำได้อยู่ในระดับเดียวกัน อันนี้ก็คงต้องรอดูกันอีกทีหลังเริ่มมีการส่งเครื่องลงตลาด หรือมีการส่งเครื่องให้สื่อรีวิว

AMD Ryzen 8000HX series เหมาะกับใคร?
ด้วยสเปค การวางตำแหน่งในตลาด กลุ่มเป้าหมายที่น่าจะเหมาะกับชิป AMD Ryzen 8000HX ในตระกูล Dragon Range Refresh สุดก็คือผู้ที่ต้องการเกมมิ่งโน้ตบุ๊กชิป AMD ที่เน้นสายเกม หรือเป็นครีเอเตอร์ที่ต้องการ CPU ประสิทธิภาพสูง จับคู่มากับการ์ดจอแยก เพื่อนำมาใช้เล่นเกม ใช้งานโปรแกรมด้านกราฟิก มัลติมีเดียที่ต้องอาศัยพลังของการ์ดจอ หรือโปรแกรมที่มี AI ซึ่งสามารถตั้งค่าให้ใช้ GPU ในการประมวลผลได้โดยตรง แบบไม่จำเป็นต้องอาศัย NPU ภายใน CPU ในการทำงาน ส่วนช่วงราคา ก็คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นโน้ตบุ๊กที่อยู่ในช่วงราคาตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปจนถึงประมาณ 50,000 บาท ในกรณีที่มีการนำเข้ามาขายโดยเน้นแทนตลาดเดิม หรือถ้าต้องการปรับขึ้นไปตลาดเกือบไฮเอนด์ ก็น่าจะได้เห็นในช่วงราคา 50,000 บาทขึ้นไป โดยเลี่ยงไม่ให้ไปชนกับตลาดของกลุ่ม AMD Ryzen 9 9000HX series ขึ้นอยู่กับสเปคในจุดอื่น ๆ อาทิ รุ่นของการ์ดจอแยกที่ใช้ ประเภทกับความสามารถของหน้าจอ และสเปคอื่น ๆ ที่ประกอบกันของตัวเครื่อง ซึ่งถ้าจะให้เหมาะกับพลังของชิประดับนี้จริง ก็ควรจะได้แรม DDR5 ซัก 32GB ไว้ก่อน แต่ถ้าผู้ผลิตให้มาแค่ 16GB หรือ 24GB ก็ควรจะเป็นรุ่นที่มีช่องใส่แรมเพิ่มได้ การ์ดจอแยกก็ควรเป็นตั้งแต่ RTX 4060 ขึ้นไป ถ้าเป็นซีรีส์ 5000 ได้ยิ่งดี (หรือถ้าจะมีรุ่นใหม่จากฝั่ง AMD ตามมาก็น่าสนใจ) หน้าจอควรได้ความละเอียดระดับ Full HD+ ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบโดยรวมทั้งด้านพลังการ์ดจอและการกำหนดราคาเครื่องจากผู้ผลิตอีกทีนึง

ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็มี ASUS ที่มีข้อมูลของโน้ตบุ๊กในซีรีส์ ROG Strix ซึ่งใช้ชิปรุ่นใหม่นี้ออกมา โดยได้สเปคดังนี้
- AMD Ryzen 9 8940HX
- RTX 5070 Ti 12GB
- แรม 16GB
- SSD 1TB
- จอ 2.5K 240Hz
- ราคา 13,999 หยวน หรือประมาณ 63,000 บาท
ส่วนอีกแบรนด์ที่มีข้อมูลออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีก็คือ MSI ที่จะมีการนำชิป AMD Ryzen 9 8945HX มาอยู่ในโน้ตบุ๊กซีรีส์ MSI Vector A18 HX ซึ่งจะจับคู่กับการ์ดจอระดับ RTX 5080 หรือ 5070 Ti ซึ่งถ้าสเปคมาในระดับนี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะเปิดราคามาใกล้เคียงกับ ASUS ROG Strix ในข้างต้น เอาเป็นว่าถ้าคุณมีแผนจะซื้อเกมมิ่งโน้ตบุ๊กแรง ๆ ซักเครื่อง แล้วยังไม่รีบใช้ในช่วงนี้ อาจจะนั่งทับมือซักนิดนึง เผื่อจะมีของแรงอย่าง AMD Ryzen 8000HX มาให้เลือกกันเพิ่มเติมจากในปัจจุบันครับ
