Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

13 คำที่ต้องรู้ตอนเลือกซื้อ CPU จะได้เลือกรุ่นตรงใจ เร็วแรงตามต้องการ

การเลือกซื้อ CPU ที่เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มักใช้ศัพท์ทางเทคนิคมาประกอบในการโฆษณาอยู่เสมอ บางคำที่อยู่มานานแล้วก็อาจจะพอคุ้นหูคุ้นตากันบ้าง บางคำก็เป็นคำใหม่ แต่เชื่อว่าสำหรับหลายท่านที่ไม่ได้คุ้นเคยกับข้อมูลเหล่านี้ก็อาจจะมีสับสนกันบ้าง ในบทความนี้เราจะมาดูกันทีละคำเลยครับ โดยจะเน้นที่กลุ่มของ CPU สำหรับเครื่องเดสก์ท็อปเป็นหลัก

คำที่ต้องรู้ตอนเลือกซื้อ CPU

เลือกซื้อ CPU ดูสิ่งใดบ้าง?


คอร์ (Core) / เธรด (Thread)

เป็นหนึ่งในคำที่ใช้บอกสเปคของ CPU ที่บอกความแตกต่างของแต่ละรุ่นได้เห็นภาพค่อนข้างชัดเจน อย่างในรุ่นราคาย่อมเยาก็อาจจะมีน้อยหน่อย รุ่นราคาสูงก็มีให้มาเยอะกว่า เป็นต้น โดยจริง ๆ แล้วคอร์จะหมายถึงชุดของหน่วยประมวลผลที่ใช้ในการคำนวณหลักของ CPU โดยใน CPU หนึ่งตัวสามารถมีได้หลายคอร์ หากให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็ให้นึกถึงห้องหนึ่งห้อง (CPU 1 ตัว) มีพนักงานอยู่หลายคน (หลายคอร์) ทุกคนช่วยกันทำงานหนึ่งชิ้นให้เสร็จลุล่วง ซึ่งจะมีการกระจายงานกันทำ ส่งผลให้สามารถทำงานเสร็จเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีโต๊ะกลางสำหรับแชร์ข้อมูลบางส่วนที่ต้องใช้งานร่วมกันด้วย ทำให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ แต่ละคนไม่ต้องเดินไปขอข้อมูลจากห้องเก็บเอกสารเอง

Advertisement

อีกหนึ่งคำที่มักจะมาคู่กันก็คือเธรด (thread) อันนี้จะมีแนวทางที่คล้ายกับการแบ่งคอร์ แต่จะเป็นการแบ่งสายการคำนวณภายในตัวคอร์เอง ตัวอย่างแบบให้เห็นภาพง่ายขึ้น ให้มองต่อเนื่องจากตัวอย่างเรื่องคอร์ครับ ที่พนักงานแต่ละคนเท่ากับ 1 คอร์ ส่วนเธรดเราจะมองย่อยเข้ามาที่ตัวพนักงาน ว่าแต่ละคนมีความฉลาดมาก สามารถคำนวณโจทย์เลข 2 ข้อแบบคู่ขนานไปพร้อม ๆ กันได้ แน่นอนว่าจะมีการแชร์ข้อมูลระหว่างเธรดที่อยู่ภายในคอร์เดียวกันด้วย ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขึ้นไปได้อีก

Screenshot 2024 04 24 at 11.18.48 AM

จำนวนของเธรดโดยปกติแล้วจะเท่ากับจำนวนคอร์คูณสอง เช่น ถ้าเป็น CPU 4 คอร์ ก็จะมี 8 เธรด แต่ในปัจจุบันจะไม่สามารถนำเลขจำนวนคอร์ทั้งหมดมาคูณตรง ๆ ได้แล้ว เพราะสถาปัตยกรรม CPU รุ่นใหม่ ๆ จะมีการใช้งานคอร์ใหญ่และคอร์เล็กร่วมกัน ซึ่งจะมีเฉพาะคอร์ใหญ่เท่านั้นที่มีการแบ่ง 2 เธรดในตัว เช่น Intel Core i7 14700 ที่มี 8 P-core (คอร์ใหญ่) และ 12 E-core (คอร์เล็ก) จำนวนเธรดทั้งหมดจะเท่ากับ (8×2)+12 = 28 เธรด เท่ากับว่า CPU รุ่นนี้จะมีทั้งหมด 20 คอร์ 28 เธรด ส่วนฝั่ง AMD ก็จะมี CPU บางรุ่นที่มีคอร์ Zen4 (ใหญ่) และ Zen4c (เล็ก) แต่อันนี้จะต่างออกไป เพราะแม้จะเป็นคอร์เล็กแต่ก็มีการแบ่ง 2 เธรดภายในเหมือนกับคอร์ใหญ่เลย ทำให้ CPU AMD จะยังคงใช้สูตร์จำนวนเธรด = จำนวนคอร์ x2 ได้อยู่

โดยปกติแล้ว หากเทียบ CPU ในรุ่นปีเดียวกัน รุ่นที่มีจำนวนคอร์กับเธรดเยอะ ๆ มักจะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าตามลำดับ ซึ่งแนวทางนี้ก็ยังพอใช้ในการประเมินคร่าว ๆ ได้อยู่ แต่ก็จะมีปัจจัยอื่นอีกที่ส่งผลถึงประสิทธิภาพ เช่น ความสามารถในการโอเวอร์คล็อก เป็นต้น ส่วนถ้าเป็น CPU ข้ามรุ่นกัน อันนี้คงต้องเทียบความแรงจากผล benchmark ครับ เพราะถ้าต่างรุ่นกันมาก ๆ แม้จะมีคอร์น้อยกว่า แต่ก็สามารถให้ประสิทธิภาพสูงกว่า CPU เก่าที่มีคอร์เยอะ ๆ ได้เหมือนกัน ทำให้การเลือกซื้อ CPU อาจจะต้องมองข้อมูลหลายด้านประกอบกัน


กิ๊ก / Gig / GHz

คำที่ใช้ในการโฆษณาและเสนอขาย CPU มาอย่างยาวนานมาก ๆ ก็คือตัวเลขความเร็วที่มีหน่วยเป็น GHz หรือบางทีเราอาจจะได้ยินการเรียกสั้น ๆ ว่า Gig หรือกิ๊กหรือจิ๊ก สำหรับคำเต็มคือ Gigahertz (กิ๊กกะเฮิร์ทช) โดยคำว่า Hertz (Hz) จะเป็นหน่วยที่ใช้บอกความเร็วว่าสามารถทำงานได้เท่าไหร่ในเวลา 1 วินาที ส่วนคำว่า Giga เป็นคำนำหน้าหน่วยเพื่อแสดงถึงหลักของตัวเลขว่าอยู่ที่หลักพันล้าน สำหรับการบอกความเร็ว CPU ในปัจจุบันจะใช้การเขียนเป็นตัวเลขทศนิยมแล้วตามด้วยหน่วย GHz เช่น 1.4 GHz เท่ากับว่า CPU รุ่นนั้นมีความเร็วในการทำงานที่ 1,400 ล้านคำสั่งต่อวินาที โดยยิ่งตัวเลขสูง ก็เท่ากับว่า CPU รุ่นนั้นมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการที่สถาปัตยกรรม CPU มีการพัฒนาจนในตัวชิปสามารถมีคอร์ได้หลากหลายแบบ แต่ละคอร์ก็มีความเร็วไม่เท่ากัน แถมยังมีความสามารถในการบูสท์เพื่อเร่ง GHz ให้สูงพิเศษขึ้นได้อีก ดังนั้นตอนที่จะเลือกซื้อ CPU ก็อาจจะต้องดูข้อมูลประกอบด้วยนิดนึงว่าเลข GHz ที่บอกมานั้นคือเลขที่สถานะไหนระหว่าง based ที่เป็นความเร็วพื้นฐานหรือ boosted ที่เป็นความเร็วตอนบูสท์สูงสุด รวมถึงเป็นความเร็วของคอร์ใหญ่ปกติหรือของคอร์เล็ก แต่โดยมากแล้วร้านตัวแทนจำหน่ายมักจะหยิบตัวเลขความเร็วขณะบูสท์สูงสุดมาใช้เป็นจุดขายซะมากกว่า เพื่อให้ตัวเลขดูสูง ๆ ไว้ก่อน แต่ต้องเน้นนิดนึงว่าความเร็วสูงสุดตอนบูสท์จะหมายถึงว่าเป็นการบูสท์ที่คอร์เดียวเท่านั้นนะครับ ถ้าบูสท์พร้อมกันทุกคอร์จะไม่ได้ความเร็วสูงสุดตามที่ระบุไว้

s10 u06 02 illustration of max turbo frequency original rwd.jpg.rendition.intel .web .1920.1080

สำหรับในการเลือกซื้อ CPU ถ้าเป็นแต่ก่อนจะต้องพิจารณาจากโปรแกรมและเกมที่จะใช้ด้วยว่าต้องการความเร็ว CPU ขั้นต่ำเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันนั้นแทบจะใช้ได้ทั้งหมดแล้วครับ อย่างน้อยคือสามารถเปิดใช้ได้แน่ ๆ จะแตกต่างกันก็ตรงความเร็วในการประมวลผลที่ CPU ตัวสูงกว่าก็ควรจะทำได้ดีกว่า ส่วนในการใช้งานทั่วไป การเล่นเกมแบบเอาแค่ให้เฟรมเรตไม่ต่ำกว่า 60fps อันนี้ CPU รุ่นใหม่ ๆ สามารถทำได้สบายอยู่แล้ว

ส่วนในการใช้งานจริง CPU จะไม่ได้ทำงานที่ความเร็วพื้นฐาน (based clock) ตลอดเวลา แต่จะมีการปรับระดับความเร็วให้เหมาะสมกับโหลดงานอยู่เสมอ เช่น สเปค CPU บอกว่ามีความเร็วพื้นฐาน 3.6 GHz แต่ถ้าไปเช็คจากโปรแกรมอย่างพวก CPU-Z ในบางเวลาเราอาจจะเห็นว่า CPU ทำงานแค่ 1.2 GHz ก็ได้ ดังนั้นถ้าเปิดเช็คแล้วพบความเร็วไม่ตรงตามสเปค ก็อาจจะต้องดูว่าตอนนั้นมีการทำงานระดับไหน ค่าตัวคูณของ CPU อยู่ที่เท่าไหร่ เพราะมันอาจจะไม่ได้ทำงานที่ความเร็วสูงสุดตามสเปคอยู่ก็ได้

Screenshot 2024 04 24 at 11.22.19 AM

บูสท์ / Boost / Turbo Boost / Max Turbo / Boost Clock

พ่วงกันมากับเรื่องความเร็วก็คือคำที่เกี่ยวกับการบูสท์ความเร็ว อย่างถ้าเป็นฝั่ง Intel ก็จะมีชื่อที่คุ้นตาอย่าง Turbo Boost ส่วนทาง AMD ก็จะใช้แค่คำว่า Boost Clock ที่มีหลักการคร่าว ๆ คือ CPU จะประเมินจากโหลดงานว่าหนักขนาดไหน ถ้าหนักจนถึงขั้นต้องเร่งความเร็วตัวเองขึ้นมา ก็จะตรวจสอบว่าสามารถบูสท์ได้ขนาดไหน ต้องบูสท์กี่คอร์ บูสท์แล้วจะกินไฟและมีความร้อนเพิ่มจนถึงระดับที่สูงเกินไปหรือเปล่า จากนั้นก็กระจายงานให้เหมาะสม แต่ถ้ายังต้องการพลังสูงขึ้นอีก ขั้นสุดท้ายก็คือจะเร่งกำลังไปบูสท์ที่คอร์เดียวเท่านั้น แล้วลดความเร็วคอร์อื่น ๆ ลง เพื่อคุมความร้อนให้อยู่ในระดับที่สามารถทำงานในสภาวะนั้นได้ต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่ใช้งานได้ตลอดเวลา

ซึ่งตัวเลขความเร็วขณะที่บูสท์สูงสุดนี้เองที่มักจะถูกนำมาเสนอเป็นจุดขาย ด้วยตัวเลขที่ดูสูงมากจริง ๆ ส่วนในเลือกซื้อ CPU ประเภทของงานที่อาจจำเป็นต้องพิจารณาตัวเลขความเร็วขณะบูสท์สูงสุดก็จะเป็นงานที่เน้นประมวลผลหนัก ๆ เช่นการตัดต่อวิดีโอ


Gen

มักจะเจอในการเรียกรุ่น CPU ของ Intel เป็นหลัก เช่น “ตัวนี้ Intel Gen 14” ก็จะหมายถึงว่าเป็นชิป Intel Core 14th Gen ที่รหัสรุ่นจะมีเลข 14 นำหน้า อย่างพวก Intel Core i7 14700 เป็นต้น ถ้า Gen 13 ก็จะเช่นพวก Intel Core ix 13xxxyy ที่ yy คือรหัสลงท้ายที่อาจมีหรือไม่มีก็ได้ หรือถ้าในโน้ตบุ๊กก็จะเป็นเลข 4 ตัวแล้วตามด้วยรหัสลงท้าย เช่น Core i7-1360P

ส่วนทาง AMD Ryzen จริง ๆ แล้วก็มีแบ่งรุ่นแบบ gen ด้วยเช่นกัน แต่ในการพูดถึงมักจะไม่ได้ใช้คำว่า gen เข้ามาประกอบ จะใช้การเรียกรหัสซีรีส์ไปเลยมากกว่า เช่น Ryzen 8000


64 Bit

เป็นข้อมูลที่บ่งบอกว่า CPU รุ่นนี้มาพร้อมชุดคำสั่งสำหรับการทำงานในระบบ 64 บิต ซึ่งเป็นมาตรฐานของ CPU และระบบปฏิบัติการในปัจจุบันอยู่แล้ว จึงอาจจะไม่ใช่จุดที่ต้องคำนึงถึงมากนัก สามารถข้ามไปได้เลย แต่ถ้าเกิดเป็นกรณีที่ต้องการประกอบคอมแบบเรโทร เน้นสเปคเก่าเพื่อใช้งาน OS เก่าตั้งแต่ Windows XP ไล่ขึ้นไป แบบนี้อาจจะต้องดูซักนิดนึงว่าฮาร์ดแวร์และระบบที่จะใช้จะรองรับ 64 บิตหรือเปล่า หรือใช้แค่ 32 บิต จะได้เลือกซื้อ CPU มือสองได้ตรงตามความต้องการ แต่กรณีนี้คงมีไม่มากนักแล้วในปัจจุบัน

AMD CPU Roadmap scaled

Nano / นาโน / nm

หากเป็นเมื่อช่วงหลายปีก่อน ตัวเลขนาโนเมตรจะหมายถึงระดับของสถาปัตยกรรมการผลิตทรานซิสเตอร์ ใช้ตัวย่อว่า nm หรือในการพูดก็จะใช้คำว่านาโนไปเลย เช่น ชิปตัวนี้ 10 นาโน เป็นต้น ยิ่งเลขน้อย ก็เท่ากับว่าทรานซิสเตอร์จะมีขนาดเล็กลง ทำให้กินไฟน้อยลง ความร้อนสะสมลดลง ในขณะเดียวกันก็สามารถใส่ทรานซิสเตอร์ลงในชิปได้มากขึ้น ส่งผลให้ CPU มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม เพราะมีจำนวนทรานซิสเตอร์ที่สูงกว่าชิป gen ก่อน ๆ

แต่ในช่วงหลัง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ได้ก้าวกระโดดเร็วเหมือนแต่ก่อน ทำให้การระบุตัวเลขนาโนไม่ได้หมายถึงขนาดทรานซิสเตอร์ของ CPU อีกต่อไป บางทีอาจจะหมายถึงขนาดของทรานซิสเตอร์บางส่วนในชิปเท่านั้น ทำให้การบอกขนาดนาโนในการสื่อสารทางการตลาดหรือเพื่อการขาย CPU รุ่นใหม่ ๆ อาจจะไม่ได้สื่อถึงการเปรียบเทียบในเชิงประสิทธิภาพได้เสมอไป จะมีกลุ่มที่เห็นชัดก็คือสมัยช่วง Pentium 4 Prescott ยุค 90nm ยุค Intel Core ช่วงแรก ๆ ที่เป็น 65nm ซึ่งการก้าวกระโดดของระดับนาโน จะสื่อถึงระดับประสิทธิภาพ การใช้พลังงานที่แตกต่างกันแบบเห็นได้ชัดจริง ๆ ดังนั้นถ้าจะเลือกซื้อ CPU รุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่งออกมาไม่นานมากนัก ปัจจัยเรื่องนาโนเมตรคงไม่ได้เป็นประเด็นหลักในการพิจารณาเลือกรุ่น CPU มากนัก


Socket / ซ็อกเก็ต

ซ็อกเก็ตคือข้อมูลที่บ่งบอกว่า CPU รุ่นนั้น ๆ ได้รับการออกแบบตำแหน่งขั้ว จุดเชื่อมต่อ ขนาดตัวชิปมาแบบไหน ซึ่งจะต้องตรงกับเมนบอร์ดเท่านั้นจึงจะสามารถใช้งานได้ รวมถึงกับชุดอุปกรณ์ระบายความร้อนด้วย จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับใครที่วางแผนจะซื้อ CPU สำหรับเครื่องเดสก์ท็อปพีซี ไม่ว่าจะประกอบเครื่องใหม่หรืออัปเกรดเครื่องเดิมก็ตาม เพราะแต่ละซ็อกเก็ตก็จะมีความแตกต่างกันที่ระดับกายภาพภายนอกเลย และไม่สามารถใช้งานข้ามกันได้ด้วย โดยทั้ง Intel และ AMD ก็จะมีซ็อกเก็ตเป็นของตัวเอง รวมถึงแต่ละรุ่นภายในแต่ละยี่ห้อเองก็มีการเปลี่ยนแปลงซ็อกเก็ตอยู่เป็นระยะ ๆ ด้วย

ตัวอย่างซ็อกเก็ต CPU ของ Intel ก็เช่น

  • LGA 1700 – ชิป Core gen 12/13/14
  • LGA 1200 – ชิป Core gen 10/11
  • LGA 1151 – ชิป Core gen 6/7 เกือบทั้งหมด/8/9
Build PC AMD Ryzen 30K 2022 29

ฝั่ง AMD หลัก ๆ ในช่วงหลังมานี้จะเน้นเป็นที่ AM4 และ AM5 เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากในระยะหลังมีการลากใช้ AM4 มาอย่างยาวนาน 

ซึ่งการจะเลือก CPU ก็ต้องดูก่อนว่าเมนบอร์ดที่มีอยู่หรือที่กำลังจะซื้อนั้นเป็นเมนบอร์ดที่ใช้ CPU ค่ายไหน ใช้ซ็อกเก็ตอะไร จากนั้นก็ค่อยเลือก CPU ให้มีซ็อกเก็ตตรงกัน


Unlocked

ในการทำตลาดของผู้ผลิต CPU แต่ละค่ายจะมีการแบ่งรุ่นย่อยของผลิตภัณฑ์เพื่อจับตลาดหลายทาง เช่น สำหรับผู้ที่ต้องการนำมาใช้งานขั้นพื้นฐาน ก็จะมี CPU เดสก์ท็อปรุ่นปกติที่ตัดความสามารถด้านการโอเวอร์คล็อกออก เพื่อทำให้สามารถตั้งราคาได้ย่อมเยาลง เพราะช่วยลดต้นทุนเรื่องการ QC และชุดระบายความร้อนลงได้ ซึ่ง CPU รุ่นที่รองรับการโอเวอร์คล็อกในตัว ตอนนี้จะถูกตั้งว่าเป็นรุ่น Unlocked เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าชิปรุ่นนี้สามารถเร่งความแรงขึ้นไปได้อีก ผ่านการปรับจูนสัญญาณนาฬิกา ตัวคูณ แรงดันไฟ และค่าที่เกี่ยวกับหน่วยความจำ

สำหรับฝั่ง Intel ให้สังเกตที่ชื่อรุ่นจะมีตัว K ประกอบอยู่ตรงท้ายชื่อด้วย เช่น Core i5-14600K (มี GPU ในตัว) และ Core i5-14600KF (ไม่มี GPU ในตัว) ส่วนทาง AMD อันนี้จะง่ายกว่ามาก เพราะ CPU เกือบทุกรุ่นของ AMD จะเป็นแบบ unlocked มาจากโรงงานเลย ทำให้สามารถโอเวอร์คล็อกได้แทบทุกรุ่น ยกเว้นพวกที่มี 3D V-Cache ซึ่งชื่อลงท้ายว่า X3D พวกนี้อาจจะไม่ค่อยเอื้อกับการโอเวอร์คล็อกมากนัก

AMD 5600G 08

พัดลม / Fan / Thermal Solution / CPU Cooler

จากผลของการแบ่งย่อยรุ่น CPU เพื่อทำตลาดหลากหลายแบบ ทำให้บางรุ่นอาจจะไม่มีพัดลมระบายความร้อน CPU แถมมาให้ก็มี โดยเฉพาะพวกรุ่นเน้นความแรง ประสิทธิภาพสูงมาก ๆ รุ่นที่มีโอกาสที่จะมีความร้อนสูงขณะใช้งาน เช่น รุ่น unlocked ของ Intel และรุ่นที่รหัสลงท้ายด้วย X3D กับ X เกือบทั้งหมดของ AMD เพื่อบังคับให้ผู้ใช้งานไปหาชุดระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาใช้งานเอง ไม่ว่าจะเป็นแบบพัดลมหรือชุดน้ำก็ตาม ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้ใช้ CPU กลุ่มนี้ก็มักจะเลือกซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาเปลี่ยนแทนของเดิมจากโรงงานกันอยู่แล้วด้วย

ดังนั้นถ้าหากต้องการเลือกซื้อ CPU ใหม่มาใช้งานแบบเน้นงบจำกัดหน่อย อาจจะต้องตรวจสอบข้อมูลนี้ที่หน้าสเปคนิดนึงว่า CPU รุ่นที่ต้องการจะมีแถมพัดลมมาในกล่องหรือไม่ เพราะถ้าสำหรับการใช้งานพื้นฐานทั่วไป พัดลมที่แถมมาก็จัดว่าเพียงพออยู่แล้ว ในทางกลับกันถ้าหากไปเลือกรุ่นที่ไม่มีแถมพัดลมมาให้ ก็กลายเป็นว่าจะต้องเสียเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ระบายความร้อนของ CPU โดยเฉพาะอีกชิ้นนึงด้วย ค่าตัวอย่างต่ำก็หลักร้อยขึ้นไป

โดยให้สังเกตจากข้อมูลที่ระบุถึงการระบายความร้อน ที่อาจจะมีคำประมาณว่า Thermal Solution และ CPU cooler ประกอบอยู่


L3 / Cache / แคช

เป็นการบอกปริมาณหน่วยความจำที่อยู่ภายใน CPU ที่ใช้ชื่อเรียกว่าหน่วยความจำแคช (cache) มีหน้าที่เปรียบเสมือนคลังชั่วคราวที่จะคอยเก็บข้อมูล ชุดคำสั่งที่ CPU จะนำไปใช้ประมวลผล โดยจะมีการพยากรณ์และดึงจากแรมหรือสตอเรจมาเก็บไว้ล่วงหน้า จุดประสงค์คือเพื่อให้ CPU สามารถทำงานได้ต่อเนื่องแบบไม่ต้องรอดึงข้อมูลจากอุปกรณ์อื่นที่จัดว่าอยู่ไกล ซึ่งอาจทำให้เกิดการดีเลย์ได้

ที่จริงแล้วแคชจะมีการแบ่งระดับชั้นตามระยะห่างจากส่วนประมวลผล (execution unit) สำหรับปัจจุบันจะแบ่งเป็น 3 ระดับ

  • L1 – อยู่ใกล้สุด มีความจุน้อยสุด แต่มีความเร็วสูงมาก ๆ
  • L2 – อยู่ถัดออกมา แต่ยังอยู่ในคอร์ มีความจุเยอะกว่า L1 แต่ก็ช้ากว่าด้วย
  • L3 – เป็นพื้นที่รวม ทุกคอร์จะใช้พื้นที่ส่วนนี้ร่วมกัน และแชร์ข้อมูลให้กันและกัน มีพื้นที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับ L1 และ L2 แต่ก็ช้ากว่ามากเช่นกัน

ถ้าเป็นช่วงหลายปีก่อน อย่างช่วงที่ก่อนจะเข้าสู่ยุค CPU มีหลายคอร์ แคชจะมีแค่ระดับ L2 เท่านั้น และจะถูกวางไว้อยู่นอกคอร์ด้วย ทำให้ในการโฆษณาสเปค CPU ยุคนั้น ปริมาณแคชที่พูดถึงจะหมายถึงแคช L2 แต่พอมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ก็มีการเพิ่มแคช L3 เข้ามา แล้วปรับให้แต่ละคอร์มี L2 เป็นของตัวเอง ผู้ผลิตก็จะใช้การกล่าวถึงปริมาณแคช L3 ในการโฆษณาแทน

main qimg dab02f7c20eca508b0b43854eec7124b lq

ทาง Intel จะใช้ชื่อเรียกแคชในการโฆษณาว่าเป็น Intel Smart Cache ส่วน AMD จะใช้ชื่อเรียกว่า L3 Cache ตรง ๆ เลย ส่วน L2 ก็ยังมีการใส่ข้อมูลไว้อยู่ แต่จะไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักในปัจจุบัน สำหรับการเลือกซื้อ CPU ปกติแล้วในชิปรุ่นใกล้เคียงกันก็จะให้แคช L3 มาพอ ๆ กันหรือเท่ากันเลย จะมีก็แต่ชิปที่ลงท้ายด้วย X3D ของ AMD เท่านั้นที่ให้แคช L3 มาแบบมหาศาล เพื่อเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น การเล่นเกม


TDP / Watt / วัตต์

นอกจากเรื่องความเร็วและจำนวนคอร์แล้ว ค่า TDP ก็เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ผู้ผลิตมักหยิบมาระบุถึงเป็นลำดับต้น ๆ ในการให้รายละเอียดเกี่ยวกับ CPU แต่ละรุ่น อย่างในตารางจากหน้าเว็บ AMD ด้านล่างนี้ ก็จะนำค่า TDP มาใส่ในตารางสรุปสเปคย่อของชิป Ryzen 7000 ด้วย ในคอลัมน์ด้านขวาสุด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ดูน่าจะสูงกว่าปริมาณแคชเสียด้วยซ้ำไป

Screenshot 2024 04 24 at 10.27.58 AM

TDP ย่อมาจาก Thermal Design Power เป็นค่าที่บ่งบอกถึงปริมาณพลังงานความร้อนที่ปล่อยออกมาขณะทำงาน มีหน่วยเป็นวัตต์ (W) ซึ่งพอจะใช้ประเมินคร่าว ๆ ได้ว่า CPU รุ่นนั้นกินไฟมากขนาดไหน และต้องออกแบบระบบระบายความร้อนอย่างไรถึงจะเหมาะสม เพราะความร้อนที่เกิดขึ้น ก็มาจากการพลังงานไฟฟ้าที่สูญเสียมาเป็นความร้อนขณะที่ CPU ทำงานนั่นเอง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความนี้เลย

ซึ่งค่า TDP นี้โดยส่วนใหญ่แล้วยิ่งชิปรุ่นสูงที่มีประสิทธิภาพสูง ก็มักจะมีค่านี้สูงขึ้นตามไปด้วย สะท้อนไปถึงปริมาณไฟที่น่าจะใช้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เลือกเมนบอร์ดที่มีภาพจ่ายไฟเพียงพอ รวมถึง PSU ให้เหมาะสม แต่ที่สำคัญมาก ๆ คือเรื่องของการเลือกระบบระบายความร้อนให้เหมาะกับ CPU แต่ละรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นรุ่น unlocked ที่ผู้ผลิตไม่ได้แถมพัดลมมาให้ในกล่อง ซึ่งลูกค้าอย่างเรา ๆ จะต้องดูค่า TDP ของ CPU ว่าอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วค่อยไปเลือกพัดลมหรือชุดน้ำที่รองรับการระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอกับค่า TDP นั้น โดยผู้ผลิตแต่ละรายจะระบุไว้ในหน้าสเปคของผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว

Screenshot 2024 04 24 at 10.40.52 AM

เช่นในภาพด้านบน ก็จะมีระบุไว้เลยว่า TDP หน่วยเป็น W ของฮีตซิงค์รุ่นนี้อยู่ที่ 200W เท่ากับว่าสามารถรองรับการ CPU ที่มีค่า TDP ไม่เกิน 200W ได้สบาย ๆ ซึ่งก็คือรองรับ CPU สำหรับการใช้งานทั่วไปในปัจจุบันได้แทบทุกรุ่น แม้จะเป็นช่วงที่บูสท์ความเร็วก็ยังไหวอยู่ ดังนั้นถ้าหากต้องการเลือกซื้อ CPU แรง ๆ ก็จะต้องตรวจสอบค่า TDP ด้วย ทั้งของตัวชิปและชุดระบายความร้อนว่าเพียงพอหรือไม่


iGPU / Graphics

CPU ส่วนใหญ่ที่ออกมาในยุคหลัง มักจะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ในตัว ซึ่งจะมีคำเรียกแบบให้เข้าใจตรงกันว่าเป็น iGPU ที่หมายถึง Integrated GPU จุดประสงค์มีสองอย่างหลัก ๆ คือ เพื่อให้สามารถเปิดเครื่องใช้งานได้แม้ไม่ได้ต่อการ์ดจอ ซึ่งจะเหมาะมากสำหรับผู้ที่ประกอบคอมเพื่อใช้งานทั่วไป ไม่ได้เล่นเกมที่ใช้พลังกราฟิกหนัก ๆ อีกข้อก็คือเพื่อให้โปรแกรมสามารถดึง iGPU ไปใช้ช่วยประมวลผลบางอย่างได้ เช่น การใช้เรนเดอร์สำหรับการสตรีมภาพ การใช้ช่วยเรนเดอร์วิดีโอ เป็นต้น ซึ่งมีข้อดีคือมันมีพลังเพียงพอสำหรับการทำงานเหล่านี้ รวมถึงมีชุดถอดรหัสที่ออกแบบมาเฉพาะทางมาก ทำให้สามารถทำงานดังกล่าวได้โดยไม่ต้องรบกวนการ์ดจอแยกมากนัก ส่งผลให้เครื่องกินไฟน้อยลงตามไปด้วย

Screenshot 2024 04 24 at 10.50.58 AM

ทางผู้ผลิต CPU เองก็จะนำข้อมูลส่วนนี้มาเป็นไฮไลท์ด้วยเช่นกัน อย่างน้อย ๆ คือบอกว่ามี iGPU ในตัวด้วย หรือถ้าลงรายละเอียดหน่อยก็จะระบุรุ่นย่อยของ iGPU มาด้วยเลย เช่นในเว็บ Intel ด้านบนนี้ที่ระบุรุ่นย่อยมาให้เลย ตรงนี้ถ้าหากใครต้องการ CPU ที่มีกราฟิกในตัว ก็ให้ดูตรงส่วนนี้ด้วยครับ แต่ถ้าคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้แน่ ๆ ก็เลือกรุ่นที่ไม่มี iGPU ก็ได้ ซึ่งจะได้เป็น CPU ที่แรงกว่าชิปในกลุ่มเดียวกันแต่มีกราฟิกในตัว เนื่องจากบนดายไม่มี GPU อยู่ ทำให้ CPU หลักสามารถเร่งการทำงานได้เต็มที่กว่าแบบไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนสะสมมากนัก

ส่วนวิธีดูว่า CPU รุ่นไหนมี iGPU ในตัวบ้าง ทั้งค่ายน้ำเงินและแดงคือให้คิดไว้ก่อนเลยว่า CPU ใหม่ ๆ ทุกรุ่นมี iGPU ในตัว แต่จะมีที่หักออกดังนี้

  • Intel – รุ่นที่ชื่อลงท้ายด้วย F จะไม่มี iGPU
  • AMD – รุ่นที่ชื่อลงท้ายด้วย F ไม่มี iGPU แน่ ๆ ส่วนรุ่นอื่น ต้องเช็คเป็นรายรุ่นไป

ปิดท้าย

ส่วนใหญ่แล้วคำเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและผู้ขายมักใช้ในการบอกสเปค CPU โดยย่อแทบทั้งนั้น ไล่มาตั้งแต่กลุ่มข้อมูลเรื่องความเร็ว จำนวนคอร์ จำนวนแคชที่มี ความสามารถในการโอเวอร์คล็อก ไล่มาจนถึงกราฟิกในตัว ค่า TDP ที่สื่อให้เห็นถึงความร้อนและการกินไฟ อีกส่วนที่สำคัญคือลักษณะทางกายภาพว่าจะรองรับกับเมนบอร์ดและชุดระบายความร้อนแบบใดบ้าง เพื่อจะได้เลือกอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันได้ และเหมาะสมกับระดับประสิทธิภาพที่ต้องการที่สุด

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

ตั้งแต่หลังยุค Ryzen เป็นต้นมา CPU ของ AMD ก็เริ่มกลับเข้ามาอยู่ในโน้ตบุ๊กที่ขายในไทยมากขึ้น ด้วยตัวชิปเองที่มีประสิทธิภาพดี มีการใช้พลังงานที่เหมาะสม ประกอบกับแต่ละแบรนด์ผู้ผลิตก็ทำราคามาได้น่าสนใจขึ้นด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าในช่วงกลางปี 2024 นี้มี CPU AMD สำหรับแพลตฟอร์มโมบายล์รุ่นไหนที่น่าสนใจบ้าง พร้อมกับแนะนำโน้ตบุ๊ก AMD ที่น่าซื้อ สำหรับการใช้งานแต่ละแบบ Advertisement 1) AMD Ryzen...

CONTENT

ก็เปิดตัวและวางขายมาได้ซักพักหนึ่งแล้ว สำหรับ CPU AMD Ryzen 8000 Series ที่ออกแบบมาเพื่อโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์พกพาที่ต้องการทั้งเรื่องประสิทธิภาพ และการจัดการพลังงานที่ดี เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับพลังในการทำงานที่ยอดเยี่ยมควบคู่กับการใช้แบตเตอรี่ได้ยาวนาน แต่เวลาจะเลือกซื้อโน้ตบุ๊ก AMD เชื่อว่าบางท่านก็คงเกิดข้อสงสัยว่าจะเลือก Ryzen รุ่นไหนดี ในเมื่อมีทั้ง Ryzen 3 Ryzen 5 Ryzen 7 ไปจนถึง Ryzen...

CONTENT

การ์ดจอคือหนึ่งในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะกับเกมเมอร์ และผู้ที่ต้องการใช้พลังประมวลผลจากการ์ดจอที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะทางได้ดี แต่ตัวของการ์ดจอเองก็มีออกมาหลากหลากรุ่น หลายสเปคจากผู้ผลิตรายต่าง ๆ ทำให้ในการเสนอขายก็จะเต็มไปด้วยคำศัพท์เชิงเทคนิคมากมาย ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า 20 คำที่เรามักเจอในการบอกสเปคจะมีอะไรบ้าง จะได้เลือกซื้อการ์ดจอได้ตรงความต้องการที่สุด แบบเหมาะสมกับงบประมาณที่มีในกระเป๋า และถ้าอยากจะตั้งค่าการ์ดจอให้เล่นเกมไหลลื่นได้มากกว่าเดิมไปที่นี่ได้เลย 20 คำศัพท์เลือกซื้อการ์ดจอ Clock OC GDDR / Gig (กิ๊ก) / Bit PCIe...

CONTENT

สำหรับในปี 2024 อุปกรณ์เก็บข้อมูลประเภท SSD ได้กลายเป็นฮาร์ดแวร์ชิ้นหลักของคอมพิวเตอร์ ที่ใช้สำหรับติดตั้งระบบปฏิบัติการ โปรแกรมรวมถึงเกมแทนที่ HDD จานหมุนไปแทบจะ 100% แล้ว ด้วยปัจจัยเรื่องราคาต่อ GB ที่จับต้องได้ง่ายขึ้นมาก รวมถึงบรรดาผู้ผลิตคอมชุดสำเร็จรูปรวมถึงโน้ตบุ๊กก็เลือกจะใช้ SSD เป็นอุปกรณ์หลักด้วยเช่นกัน แม้จะมีกระแสข่าวว่าราคาขายปลีก SSD อาจจะปรับสูงขึ้นบ้างในปีนี้ แต่เชื่อว่าชอยส์หลักของอุปกรณ์ประเภทนี้ก็น่าจะยังไม่เปลี่ยนไป ดังนั้นในบทความนี้เรามาดูกันดีกว่า ว่าเวลาจะอ่านสเปคก่อนเลือกซื้อ SSD...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก