แนวคิดเรื่องของการใส่คอร์ประมวลผลหลายแบบลงในแพ็กเกจของ CPU คือสิ่งที่ผู้ผลิตแต่ละรายกำลังให้ความสำคัญ และใช้ในการรีดประสิทธิภาพของ CPU ควบคู่กับการใช้พลังงานที่เหมาะสม อย่างในฝั่งของคอมพิวเตอร์ ทาง Intel เองก็จะมีแบ่งเป็น P-Core และ E-Core ที่แยกระดับความแรงและวัตถุประสงค์การทำงานอย่างชัดเจน ส่วน AMD ก็มีคอร์ประเภทที่ชื่อลงท้ายด้วย c อย่างเช่นคอร์ Zen 4c แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้รับการนำเสนอจากทางผู้ผลิตเองมากนัก ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกันครับว่าคอร์ Zen 4c คืออะไร ทำหน้าที่อะไรได้บ้าง และต่างจากคู่แข่งอย่างไร
นอกจากที่ใน CPU จะมีคอร์ประมวลผลที่มีระดับประสิทธิภาพแตกต่างกันแล้ว ในยุคหลังยังมีการใส่พวกคอร์หรือหน่วยประมวลผลที่ทำงานเฉพาะทางเข้ามาอีก เช่น NPU สำหรับประมวลผลงานด้าน AI เป็นต้น
คอร์ Zen 4c คืออะไร มีการทำงานอย่างไร
Zen 4c คือคอร์ประมวลผลที่ใช้สถาปัตยกรรมเดียวกับคอร์ Zen 4 แบบเป๊ะ ๆ เพราะใช้โหนดสถาปัตยกรรมระดับเดียวกัน ทำให้มีความสามารถในการทำงาน และประสิทธิภาพของ instruction-per-cycle (IPC) ที่เท่ากับคอร์ Zen 4 ปกติ ได้รับการเปิดตัวครั้งแรกกับชิปตระกูล EPYC สำหรับงานกลุ่มเซิฟเวอร์ แต่สิ่งที่ต่างออกไปมีดังนี้
- มีจำนวนแคช L3 ต่อคอร์ที่ลดลงครึ่งหนึ่ง
- ทำให้คอร์มีขนาดเล็กลงเหลือแค่ 2.48 ตร.มม. ต่อคอร์ (Zen 4 มีขนาด 3.84 ตร.มม.)
- ความเร็วคล็อกลดลง
ซึ่งด้วยการที่ขนาดของแต่ละคอร์ลดลง ความเร็วในการทำงานที่ต่ำกว่า ก็ทำให้ระดับความร้อนสะสมระหว่างทำงานก็ต่ำลงมาด้วย ส่งผลให้สามารถออกแบบให้แต่ละ CCD บรรจุคอร์ Zen4c ได้สูงสุดถึง 16 คอร์ ต่างจากดายที่ใช้คอร์ Zen 4 ปกติที่จะใส่คอร์บนแต่ละ CCD ได้สูงสุดแค่ 8 คอร์เท่านั้น
ในภาพข้างบนนี้จะเป็นภาพจากสไลด์ที่ AMD ใช้พูดถึงชิปตระกูล EPYC 4th Gen ที่มีการใช้คอร์ทั้งแบบ 4 และ 4c เมื่อปลายปี 2022 จะเห็นว่าชิปทางซ้าย แต่ละ CCD ย่อย ๆ จะมีเลข 8 อยู่ นั่นคือ CCD ที่ใช้ Zen 4 ส่วนชิปทางขวาจะเป็นคอร์ 4c ที่แต่ละดายจะมีสูงสุดถึง 16 คอร์ ทำให้สามารถออกแบบชิปให้มีจำนวนคอร์ที่สูงมาก ๆ ได้ อย่างในภาพก็คือทำได้สูงสุด 128 คอร์ 256 เธรด ซึ่งก็จะเหมาะกับงานบางประเภทอยู่
ส่วนจำนวนแคช L3 แม้ว่าแต่ละคอร์ Zen 4c จะมีน้อยกว่ากันอยู่ครึ่งนึง แต่ปกติแล้วแคช L3 จะเป็นแคชที่แชร์ใช้งานร่วมกันทั้งคอร์ ทำให้สุดท้ายแล้วแคช L3 ของ CCD ที่ใช้ 4c ซึ่งมีจำนวนคอร์มากกว่าปกติอยู่เท่าตัว ก็จะมีจำนวนแคชรวมเท่ากับคอร์รุ่นปกติอยู่ดี (16MB x 16 = 32MB x 8)
สำหรับแง่ของการทำงาน ถ้าพูดถึงในกลุ่มของผู้ใช้งานทั่วไป ปกติแล้วใน CPU AMD รุ่นที่มีคอร์ 4c มาด้วย จะใช้การผสมมากับคอร์หลัก อย่างในชิปรุ่น Ryzen 8000 G-Series ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในงาน CES 2024 ก็จะมีตัวของ R5 8500G และ R3 8300G ที่ใช้การวางคอร์แบบไฮบริดระหว่าง Zen 4 และ 4c เข้ามา
แต่ที่อาจจะสร้างความสับสนสำหรับการดูข้อมูลสเปค CPU อยู่บ้างก็คือบนหน้าเว็บไซต์ AMD เองครับ เพราะถ้าคลิกเลือกเข้าไปดูสเปคคร่าว ๆ ของ CPU แต่ละรุ่น ในหน้าแรกของสเปคจะระบุแค่ว่ามีกี่คอร์ กี่เธรด ความเร็วสูงสุดเท่าไหร่ ต้องคลิกที่ SEE FULL SPECIFICATIONS ด้านล่างเพื่อดูสเปคแบบเต็มเท่านั้น ถึงจะพบว่ามีระบุไว้ ว่า 6 คอร์ที่ จะแบ่งเป็น Zen 4 อยู่ 2 คอร์เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็น Zen 4c ซึ่งประเด็นนี้ก็มีสื่อต่างประเทศแจ้งไปกับทาง AMD เหมือนกัน ว่าควรปรับการแสดงรายละเอียดข้อมูลในจุดนี้ให้ครบถ้วนยิ่งขึ้นตั้งแต่หน้าแรกเลย เพราะมันส่งผลถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าได้เหมือนกัน
ดังนั้น ถ้าหากต้องการเช็คว่า CPU รุ่นที่เล็งไว้ใช้คอร์แบบไหน เป็นแบบไฮบริดผสมมาสองแบบหรือเปล่า แนะนำให้ลองเข้าไปเช็คแบบละเอียดได้จากหน้าเว็บไซต์ AMD นะครับ ถ้าเป็น Ryzen สำหรับเครื่องเดสก์ท็อปก็หน้านี้ ส่วนของโน้ตบุ๊กก็หน้านี้ ซึ่งในโน้ตบุ๊กก็จะมีชิปรุ่นที่วางคอร์มาในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน
ด้านของการใช้งาน AMD วางไว้ให้คอร์แบบ Zen 4c ทำงานแบบเดียวกับคอร์ปกติเลย กล่าวคือมองว่าเป็นคอร์สำหรับทำงานได้ทุกรูปแบบ ทั้งยังรองรับการทำงานแบบมัลติเธรดเหมือนปกติเลย ทำให้ OS สามารถกระจายงานได้ง่าย ไม่มีข้อจำกัดที่เกิดจากชุดคำสั่งของคอร์ ไม่จำเป็นต้องแบ่งว่างานนี้ต้องใช้คอร์แบบไหน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คอร์แบบ 4c ต่างจากคอร์ปกติที่เห็นได้ชัดก็คือความเร็วคล็อกที่ต่ำกว่า และจำนวนแคช L3 ต่อคอร์ที่น้อยกว่า นั่นจึงทำให้แม้ OS จะกระจายงานได้ง่าย แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องกินพลังการคำนวณสูง ต้องอาศัยคล็อกในการประมวลผลที่เร็ว ถ้าแบ่งงานลงมาที่คอร์ 4c ก็จะทำให้ได้ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่างานที่ไปลงคอร์หลักอยู่พอสมควร ส่งผลกับสมรรถนะโดยรวมที่ต่ำกว่ารุ่นปกติ และที่อาจจะเห็นผลชัดสุดคือเรื่องการเล่นเกม เนื่องจากบางเกมถูกเขียนมาให้ใช้หน่วยความจำแคชใน CPU แบบเต็มที่ ยิ่งมีเยอะยิ่งช่วยเรื่องประสิทธิภาพของเกมได้ดี ทำให้ในกรณีที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบที่มีคอร์เล็กผสม ก็อาจจะกระทบกับเรื่องการเล่นเกมอยู่บ้าง
แต่ในทางกลับกัน คอร์ Zen 4c เหล่านี้จะมีจุดเด่นคือเรื่องการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพดีกว่าในขณะที่มีโหลดการทำงานต่ำ และก็มาพร้อมการกินไฟที่ต่ำกว่าด้วย ดังจากในภาพกราฟด้านบนที่เป็นการทดสอบ Cinebench R23 ของ AMD เองเมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา เป็นการเทียบระหว่าง CPU สองรุ่น แบ่งเป็น R5 7540U ที่ใช้คอร์ Zen 4 ล้วนกับ R5 7545U ที่ใช้คอร์แบบผสม 2+4 จะเห็นว่าในค่า TDP ช่วงต่ำ ๆ ทางฝั่งซ้าย คะแนนการทดสอบของ 7545U จะสูงกว่า จนมาช่วง 20W ที่ 7540U ที่ใช้คอร์ Zen 4 ล้วนถึงจะขึ้นมาแซงได้ เนื่องจากคอร์สามารถเร่งความเร็วคล็อกได้สูงขึ้นตามค่า TDP ที่สูงขึ้น
ทั้งหมดนี้ จึงพอจะทำให้เราพอมองได้ว่าคอร์ Zen 4c จะค่อนข้างเหมาะกับ CPU ที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานพื้นฐาน การใช้งานทั่วไปที่มีโหลดสูงบ้างเป็นครั้งคราว และจะยิ่งเหมาะเมื่อใส่ในโน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นระยะการใช้แบตที่ยาวนานเป็นหลัก เพราะมีการกินไฟที่ต่ำกว่า และให้ประสิทธิภาพในช่วงการกินไฟต่ำได้ดี อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับเครื่องที่ใช้เล่นเกม ใช้ทำงานที่ต้องประมวลผลหนัก ๆ มากนัก ด้วยข้อจำกัดด้านความเร็วของคอร์ 4c นั่นเอง
ต่างจาก E-core ของ Intel อย่างไร?
ด้วยความที่แนวคิดบางข้อที่คล้ายกัน นั่นคือ การออกแบบให้คอร์มีขนาดเล็กลง ส่งผลให้มีการใช้พลังงานน้อยกว่าเดิม ได้ออกมาเป็นค่าประสิทธิภาพต่อวัตต์ที่สูงขึ้น แต่จุดที่ต่างกันก็คือเรื่องเชิงเทคนิคและรูปแบบการใช้งาน ที่เห็นได้ชัดก็คือ E-core จะไม่รองรับการประมวลผลแบบมัลติเธรด ที่แต่ละคอร์จะมี 2 เธรด โดยนับว่า 1 E-core = 1 เธรดไปเลย ทำให้จำนวนเธรดของ CPU Intel ตั้งแต่ Gen 12 ขึ้นมา จะไม่เท่ากับจำนวนคอร์คูณสองอีกต่อไป แต่จะเป็น (จำนวน P-core x 2) + จำนวน E-core ตรง ๆ เลย ต่างจาก Zen4c ของ AMD ที่รองรับมัลติเธรดด้วย ทำให้จำนวนเธรดรวมของทั้ง CPU ยังเท่ากับจำนวนคอร์คูณสองเหมือนเดิม
ทำให้ในเชิงการทำงาน E-core จะรองรับการประมวลผลแบบคู่ขนานได้ไม่เท่ากับ Zen4c รวมถึงเรื่องความเร็วคล็อกที่จะถูกตั้งค่ามาให้ค่อนข้างต่ำ ชุดคำสั่งที่น้อยกว่าด้วย จึงเหมาะกับใช้ประมวลผลงานที่อยู่เบื้องหลัง งานเซอร์วิสต่าง ๆ จนถึงงานที่กินพลังคำนวณไม่สูงมากนัก และเหมาะมากสำหรับการใช้ในอุปกรณ์พกพาที่ต้องการระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานอย่างโน้ตบุ๊ก ส่วนคอร์เล็กของค่ายแดงจะเหมาะกับงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูงกว่านิดนึง เพราะมันทำงานได้คล้ายกับเป็นคอร์หลักเลย ต่างกันแค่ความเร็วคล็อกต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม E-core เองก็มีจุดเด่นในตัวเองในอีกทางเหมือนกัน เนื่องจากขนาดคอร์ที่เล็กกว่า Zen 4c ซะอีก ทำให้กินพื้นที่บนดายน้อย จึงสามารถอัดจำนวนเข้าไปได้เยอะกว่า แล้วใช้จำนวนคอร์ที่เยอะมาชดเชยสิ่งที่ขาดไป หรือจะนำพื้นที่ว่างบนชิปมาใส่โมดูลอื่นเสริมการทำงานเข้าไปก็ได้ อย่างเช่นใน Intel Core Ultra ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็มีการเพิ่ม LP E-core เข้ามาเป็นด่านหน้าช่วยในการประมวลผลงานเบา การสตรีมวิดีโอ เพื่อลดภาระงานของ E และ P core หลักลงไปได้อีก ทำให้เมื่อทุกส่วนทำงานสอดประสานกัน ประสิทธิภาพของชิปฝั่ง Intel ก็ทำได้ดีไม่แพ้กับ AMD อยู่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอดูต่อไปในอนาคตอีกที ว่าแนวคิดสถาปัตยกรรมไฮบริดลักษณะใดที่จะได้รับความนิยมมากกว่ากัน รวมถึงจะพัฒนาไปแบบใดต่อ สำหรับรายละเอียดที่น่าสนใจ และแนวทางโร้ดแมปของแต่ละค่ายเท่าที่มีข้อมูลออกมา สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่นี่
สรุปปิดท้ายเรื่องคอร์ Zen4c
คอร์ Zen 4c ถ้าให้สรุปแบบง่าย ๆ มันก็คือคอร์ Zen 4 ที่ลดขนาด ลดความเร็ว ลดการกินไฟลง แต่ยังมีความสามารถในการทำงานได้เต็ม 100% เหมือนเดิม แน่นอนว่าถ้าวัดประสิทธิภาพในเชิงตัวเลขนั้นต้องลดลงแน่นอน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความสามารถในการทำงานเบา ๆ ที่คุ้มกับไฟที่ใช้ไปมากขึ้น บนชิปมีพื้นที่เหลือมากขึ้น ทำให้สามารถอัดจำนวนคอร์เล็กในลักษณะนี้ลงไปได้เยอะกว่าเดิม เพื่อช่วยในการทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบยังดีอยู่ เหมาะกับการใช้งานทั่วไปได้สบาย ๆ แต่อาจจะไม่ค่อยโดนใจสายเล่นเกม หรือสายที่ต้องใช้พลังประมวลผลหนัก ๆ เท่าไหร่ ซึ่ง AMD ก็มีทางเลือกให้ครับ เพราะ CPU รุ่นที่เลือกวางคอร์สองขนาดมาคู่กันแบบนี้ จะยังมีเฉพาะในรุ่นกลางเป็นหลัก ส่วนรุ่นสูงยังใช้เป็นคอร์เต็มล้วน ๆ อยู่
ส่วนประเด็นการจับมาเทียบกับ E-core ของ Intel อันนี้จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องความสามารถที่ E-core จะรองรับงานได้ไม่หลากหลายเท่า และแต่ละคอร์จะมีแค่เธรดเดียว จึงเหมาะกับการใช้งานบางประเภท รวมถึงยังต้องพึ่งพาระบบการแจกจ่ายงานของทั้ง OS และ CPU เองที่ดีด้วย จึงจะทำงานได้เต็มศักยภาพ ต่างจากคอร์เล็กของ AMD ที่ระบบสามารถเลือกจ่ายงานได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบก็มีจุดเด่นจุดด้อยกันไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนจะตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละท่านได้ดีกว่า ที่แน่ ๆ ปีนี้เราน่าจะได้เห็นคอร์ Zen 5c ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมากว่าเดิมอีก แต่อาจจะมาในฝั่งของชิปตระกูล EPYC ของฝั่งเซิฟเวอร์ก่อน ส่วนใน CPU สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป คาดว่าน่าจะมาอย่างเร็วก็ปลายปีนี้