Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

5 สิ่งที่ต้องนำมาคิด ก่อนพิจารณาซื้อจอแยกมาต่อกับเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก 2024

นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่หลายคนต้องทำงานอยู่บ้าน เทรนด์การจัดโต๊ะคอม จัดพื้นที่ทำงานก็กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นมากในกลุ่มของคนที่ต้องทำงานแบบ WFH และหนึ่งในแนวทางยอดฮิตก็คือการซื้อจอแยกมาต่อกับโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ เพื่อใช้งานแบบหลายจอ (multiple monitors) พร้อมกัน ซึ่งมีข้อดีคือได้พื้นที่ทำงานบนจอเยอะขึ้น สามารถจัดกลุ่มหน้าต่างโปรแกรมได้สะดวก จะเปิดงานจอนึง อีกจอเปิด YouTube หรือเปิดหนังดูไปพร้อมกันก็สบาย

ซื้อจอแยกมาต่อกับโน้ตบุ๊ก

และด้วยความสะดวก ทำให้การใช้งานจอเสริมคู่กับจอโน้ตบุ๊กยังกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นสำหรับใครที่อยากจะจัดโต๊ะคอมแบบมีหลายจออยู่ แต่ยังจับจุดไม่ถูกว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี วิ่งไปซื้อจอก่อนเลยดีมั้ย ในบทความนี้จะเป็น 5 สิ่งที่ต้องพิจารณาและเตรียมพร้อมก่อนไปซื้อจอมาเสริมครับ เริ่มที่ข้อแรกกันเลย

Advertisement

เลือกจอมาต่อโน๊ตบุ๊คเพิ่มต้องดูสิ่งใดบ้าง?


1. เช็คความพร้อมของโน้ตบุ๊กก่อน

อันดับแรกที่สามารถทำได้ทันทีโดยยังไม่ต้องลงแรงและลงเงินก่อน ก็คือการตรวจสอบตัวเครื่องโน้ตบุ๊กว่าสามารถเชื่อมต่อจอนอกเพื่อใช้เป็นจอแยกได้เท่าไหร่ แบบใดบ้าง ซึ่งสำคัญมาก และเนื้อหาเยอะมาก ๆ โดยปัจจัยที่ต้องดูจะมีดังนี้

พอร์ตต่อจอที่ตัวเครื่อง

ข้อนี้สำคัญมาก คือเราจะต้องทราบก่อนว่าโน้ตบุ๊กที่มีอยู่มีพอร์ตใดที่ใช้ส่งภาพขึ้นจอได้บ้าง โดยพอร์ตต่อจอหลัก ๆ ที่มีในโน้ตบุ๊กยุค 5 ปีหลังมานี้ อันเนื่องมาจากแนวทางการออกแบบตัวเครื่องให้มีความบางลง ทำให้จะเหลือด้วยกัน 2 พอร์ตหลัก ได้แก่

จอแยก

พอร์ต HDMI

เป็นพอร์ตต่อจอที่ใช้รับส่งสัญญาณแบบดิจิตอล โดยทั่วไปแล้วจะส่งได้ทั้งภาพและเสียงในเส้นเดียว หน้าตาช่องเชื่อมต่อจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจากพอร์ตอื่น ทำให้ไม่น่าเกิดปัญหาการเสียบสายหรือแยกพอร์ตผิดแน่ ๆ ประกอบกับมอนิเตอร์ส่วนมากแล้วก็จะมีพอร์ต HDMI มาให้แทบทั้งนั้น

จอแยก

แต่สำหรับในกลุ่มโน้ตบุ๊กที่เน้นความบางเบาแบบสุด ๆ อาจจะตัดพอร์ต HDMI ออกไป หรืออย่างดีหน่อยก็ให้มาเป็น HDMI ขนาดเล็ก เช่น Mini HDMI หรือ Micro HDMI ไปเลย แต่ก็เป็นส่วนน้อยครับ เพราะ HDMI ย่อส่วนแบบนี้ก็จะต้องใช้สายเฉพาะของมันเองด้วย ซึ่งไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ แถมในช่วงหลัง ๆ คือเปลี่ยนไปใช้ USB-C แทนไปเลย ง่ายกว่าเยอะ

เกร็ดย่อยอีกนิดนะครับ สำหรับพอร์ต HDMI ในโน้ตบุ๊กแทบจะ 99% ในตลาด จะเป็นพอร์ตสำหรับส่งภาพออกเท่านั้น (HDMI Out) ทำให้ไม่สามารถนำอุปกรณ์อื่นมาต่อกับ HDMI เพื่อเอาภาพขึ้นจอโน้ตบุ๊กได้ เช่น เอาเครื่อง Nintendo Switch มาต่อเพื่อจะเอาภาพจากเครื่องเกมขึ้นจอโน้ตบุ๊ก เป็นต้น ยกเว้นว่าจะเป็นพอร์ตที่เป็น HDMI In ซึ่งมีน้อยมาก ถ้าจะมีบ้างก็ในเครื่องออลอินวันบางรุ่นเท่านั้น

จอแยก

USB-C

จากความเอนกประสงค์อันเป็นข้อได้เปรียบเรื่องความกว้างแบนด์วิธของพอร์ต USB-C เอง ทำให้สามารถรับส่งข้อมูล ข้อมูลภาพและจ่ายไฟได้พร้อมกันในเส้นเดียว ทำให้ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กหลายแบรนด์เลือกใช้ USB-C เป็นพอร์ตสำหรับส่งภาพออกจอนอกไปด้วยเลย โดยจะใช้โปรโตคอลการรับส่งสัญญาณภาพผ่าน DisplayPort ที่เป็นมาตรฐานกลางเคียงคู่มากับ HDMI เพื่อไปเชื่อมต่อกับจอนอกผ่านช่อง DisplayPort หรือจะใช้ผ่านฮับ ผ่านตัวแปลงเพื่อไปต่อกับช่อง HDMI ของจอก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ใช้เลย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าพอร์ต USB-C ทุกช่องจะรองรับการส่งภาพออกเสมอไป ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิตโน้ตบุ๊กว่าจะเลือกให้พอร์ตไหนรับส่งภาพได้ พอร์ตไหนได้แค่ส่งข้อมูลทั่วไปกับจ่ายไฟเท่านั้น ส่วนในเครื่องราคาสูงหน่อย อาจจะสามารถใช้ส่งภาพออกได้ทุกช่องเลยก็มี ซึ่งก็มีวิธีการตรวจสอบพื้นฐานคือให้ลองเช็คสัญลักษณ์ที่อยู่ข้างพอร์ต USB-C ว่ามีไอคอนคล้ายตัว P หรือมีคำว่า DP อยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็แสดงว่าช่องนั้นสามารถส่งภาพออกได้ ส่วนอีกแบบคือให้ดูว่ามีสัญลักษณ์สายฟ้าฟาดของ Thunderbolt อยู่หรือไม่ ถ้ามีก็สบายใจได้ เพราะมาตรฐานของ Thunderbolt จะสามารถต่อภาพออกจอนอกได้อยู่แล้ว

ความสามารถของพอร์ต

พอทราบว่าโน้ตบุ๊กในมือมีพอร์ตไหนที่ใช้ต่อจอได้บ้างแล้ว ทีนี้ก็คงต้องมาดูรายละเอียดของพอร์ตซักนิดนึงว่ารองรับ HDMI หรือ DisplayPort มาตรฐานระดับไหนบ้าง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสามารถของช่องนั้น ๆ ว่าจะสามารถใช้งานร่วมกับจอความละเอียดและรีเฟรชเรตสูงสุดเท่าไหร่บ้าง เผื่อว่าจะช่วยลดงบค่าจอเสริมลง เช่นถ้าใช้โน้ตบุ๊กอายุหลายปีหน่อย แต่ไปซื้อจอ 4K 500Hz มา อันนี้อาจจะทำให้ใช้ความสามารถของจอได้ไม่เต็มที่ แม้ว่าจะมีภาพขึ้นก็จริง แต่ก็จะเป็นการจ่ายเงินค่าจอที่เกิดความจำเป็นไปนิดนึง

ซึ่งการจะหาข้อมูลในเรื่องนี้ ให้ดูจากพอร์ตว่าเป็น HDMI หรือ DisplayPort เวอร์ชันอะไร โดยเลขเวอร์ชันจะเป็นการระบุแบนด์วิธสูงสุดของพอร์ตนั้น ๆ และทำให้รู้ว่าจะสามารถต่อจอเสริมได้สูงสุดขนาดไหน ถ้าให้สรุปสั้น ๆ จากเวอร์ชันยอดนิยม ก็จะได้ดังนี้ (เลขเวอร์ชันสูงขึ้น สามารถต่อจอความละเอียดต่ำกว่า รีเฟรชสูงๆ ได้แทบทั้งหมด)

  • ความละเอียดจอนอกที่แนะนำของพอร์ต HDMI 1.2 (เก่ามากๆ) = 1080p 60Hz
  • ความละเอียดจอนอกที่แนะนำของพอร์ต HDMI 1.3 และ 1.4 = 1080p 144Hz / 2K 75Hz
  • ความละเอียดจอนอกที่แนะนำของพอร์ต HDMI 2.0 = 1080p 240Hz / 2K 144Hz / 4K 60Hz
  • ความละเอียดจอนอกที่แนะนำของพอร์ต HDMI 2.1 = 2K 240Hz / 4K 144Hz / 5K 60Hz และระดับที่สูงกว่านี้โดยมีการบีบอัดสัญญาณช่วย

ฝั่ง DisplayPort ก็เช่นกัน ที่พบส่วนใหญ่ก็จะเป็น DP 1.2 ในเครื่องรุ่นหลายปีก่อนหน้านี้ จะสามารถต่อจอได้สูงสุดระดับ 4K 60Hz ใหม่ขึ้นมานิดนึงก็เป็น DP 1.4 ที่รองรับสูงสุด 4K 120Hz และใหม่สุดตอนนี้คือ DP 2.0 ที่ต่อได้สูงสุดถึง 8K 60Hz เลยทีเดียว

จอแยก

วิธีการดูว่าพอร์ตของเครื่องเป็นเวอร์ชันใด อันนี้อาจจะต้องดูรายละเอียดของแต่ละรุ่นย่อยจากทางผู้ผลิตเลย ว่ามีสเปคเชิงเทคนิคเป็นแบบใด ซึ่งบางแบรนด์จะมีเว็บไซต์ให้เข้าไปเช็คระดับรุ่นย่อยได้เลย เช่น เลอโนโวจะมีเว็บ PSREF ของเลอโนโวเองซึ่งสามารถนำเลขรหัส MTM ของแต่ละรุ่นย่อยไปกรอกในช่องค้นหา เพื่อดูสเปคแบบละเอียดได้เลยทุกรุ่น ตัวอย่างเลข MTM ก็เช่น 83AU001NTA ที่เป็นของ Yoga Pro 7 ที่ขายในไทย เมื่อหาเจอแล้วก็เลื่อนลงมาที่หัวข้อ Standard Ports ก็จะเห็นรายละเอียดชัดเจนเลยว่ามีพอร์ตอะไร เวอร์ชันไหนบ้าง

จอแยก

ทีนี้ถ้าเกิดต้องการต่อจอแยกมากกว่า 1 จอล่ะ จะพิจารณาอย่างไร อันนี้ถ้าง่ายหน่อย บางแบรนด์จะมีระบุมาให้เสร็จสรรพเลยว่าสามารถต่อจอนอกได้สูงสุดกี่จอ ความละเอียดและรีเฟรชเรตเท่าไหร่บ้าง ซึ่งบางครั้งก็จะมีการจำกัดความสามารถเอาไว้ เช่น MacBook ที่แม้จะมี USB-C ที่ทุกพอร์ตสามารถต่อจอนอก ได้ แต่จะมีการจำกัดที่ระดับ CPU เลยว่าสามารถต่อได้พร้อมกันแบบมาตรฐานได้สูงสุดแค่กี่จอ อย่างรุ่นที่ใช้ชิป M ปกติจะต่อเพิ่มได้อีกแค่ 1 จอ รุ่นที่ใช้ชิป M Pro ต่อได้เพิ่มสูงสุดอีก 2 จอ และรุ่นที่ใช้ชิป M Max ต่อเพิ่มได้อีกสูงสุด 4 จอ เป็นต้น

สำหรับกรณีที่ทางแบรนด์ไม่ระบุจำนวนจอมาแบบชัดเจน หรือต่อจอออกได้ช่องเดียว แต่ต้องการซื้อฮับที่มี HDMI/DP มากกว่า 1 ช่องมาเพื่อต่อจอนอกมากกว่า 1 จอ อันนี้ก็อาจจะลองหาข้อมูลตามกลุ่ม และจากผู้ใช้โน้ตบุ๊กรุ่นใกล้เคียงกันว่าสามารถต่อจอนอกเพิ่มโดยใช้พอร์ตติดเครื่องได้กี่จอ ความละเอียดเท่าไหร่บ้างโดยที่ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพของจอจริง ๆ ทุกจอ เพราะในบางรุ่นมันก็จะมีข้อจำกัดที่ซ่อนไว้อีก ตามที่กล่าวไปข้างต้น หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะต้องมองหาฮับที่รองรับ DisplayLink ในตัวด้วย

Screenshot 2024 04 07 at 2.54.20 PM

ข้อมูลอีกส่วนที่สามารถใช้ประเมินความสามารถในการต่อจอเสริมของโน้ตบุ๊กได้ ก็คือความสามารถสูงสุดของ iGPU ที่อยู่ใน CPU เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตจะตั้งค่ามาตรฐานมาให้จอนอกมาทำงานร่วมกับ iGPU เป็นหลัก ดังนั้นถ้าเราทราบว่าโน้ตบุ๊กใช้ CPU รุ่นอะไร ก็สามารถหาข้อมูลของ iGPU ในตัวได้จากหน้าเว็บ Intel และ AMD เลย อย่างข้างบนจะเป็นข้อมูลของ Intel Core Ultra 7 155U ที่มีระบุมาให้ว่า GPU ในตัวรองรับการต่อจอที่โปรโตคอลต่าง ๆ ได้ความละเอียดสูงสุดเท่าไหร่ กี่ Hz บ้าง

จอแยก

AMD ก็คล้ายกันครับ จากภาพข้างบนก็เป็นข้อมูลจาก Ryzen 7 6800U สำหรับวิธีหาข้อมูลของค่ายแดงก็ให้พิมพ์ชื่อรุ่น CPU เพื่อค้นหาใน Google ก็ได้


2. โต๊ะที่จะใช้งาน

หากเป็นโต๊ะทำงานขนาดมาตรฐานที่ความยาวตั้งแต่ 100 ซม. ขึ้นไป โดยมากแล้วจะสามารถหาจอแยกมาติดตั้งได้สบายมาก ถ้าหากใช้แค่จอเดียว จะเลือกใช้แบบปกติ จอโค้ง จออัลตร้าไวด์หรือจอแบบปกติที่วางแนวตั้งก็สามารถวางแผนซื้อและจัดโต๊ะได้ตามสะดวก

อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้จอนอกคู่กับโน้ตบุ๊ก ลักษณะท่าทางที่น่าจะเหมาะสมกับสรีรศาสตร์ที่สุดก็คือการวางหน้าจอให้ขอบจอบนอยู่ในระดับสายตา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเงยหน้าเพื่อมองภาพบนจอเสริม ในกรณีนี้อาจจะต้องมองหาขาจับจอที่ติดตั้งไปกับโต๊ะ เพื่อให้สามารถปรับระดับความสูง ปรับองศาต่าง ๆ ได้ง่าย และช่วยลดการใช้พื้นที่บนผิวโต๊ะลงไปด้วยในตัว นอกจากนี้ เมาส์และคีย์บอร์ดที่อาจจะต้องซื้อมาเพิ่ม เพื่อใช้แทนคีย์บอร์ดและทัชแพดของโน้ตบุ๊กเองด้วย ทำให้รวม ๆ แล้วเราต้องมีการวางแผนพอสมควรเลยครับ สำหรับการซื้อจอแยกมาต่อใช้งานกับโน้ตบุ๊กที่มีอยู่

จอแยก

ถ้าให้สรุปประเด็นเรื่องโต๊ะและการติดตั้งนี้เป็นข้อ ๆ ว่าต้องพิจารณาสิ่งใดบ้าง จะมีดังนี้

  • ขนาดโต๊ะ
  • จำนวน และประเภทของจอที่ต้องการ
  • รูปแบบการติดตั้งจอ ถ้าต้องการใช้ขาจับ ก็ต้องเลือกโต๊ะที่สามารถติดตั้งขาจับได้ง่ายด้วย
  • เมาส์และคีย์บอร์ดแยกสำหรับใช้งานเครื่อง
  • ตำแหน่งพอร์ตต่อจอ เพื่อให้สะดวกกับการจัดสาย

ส่วนถ้าต้องการความเป็นระเบียบ ต้องการตกแต่งสไตล์มินิมอล หรือมีของแต่งโต๊ะใด ๆ เพิ่ม อันนี้ก็จะยิ่งต้องวางแผนให้ละเอียดขึ้นอีก โดยจุดที่ยากก็คือการซ่อนสายเชื่อมต่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายอะแดปเตอร์จ่ายไฟให้ทั้งโน้ตบุ๊กและจอ สายต่อภาพระหว่างกัน ไม่รวมถึงสายแลน สายเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ อีก อันนี้อาจจะต้องหารางเก็บสายมาช่วยเพิ่มความเป็นระเบียบ หรือไม่ก็ลงทุนซื้อฮับที่มีหลายพอร์ตในตัว ซึ่งสามารถต่อกับโน้ตบุ๊กได้โดยใช้ USB-C แค่เส้นเดียว เพื่อช่วยลดจำนวนสายเชื่อมต่อบนโต๊ะไป อันนี้ก็จะเป็นศาสตร์ของการจัดโต๊ะไปเลย


3. กำหนดจำนวนจอแยกที่ต้องการใช้งาน

ถือว่าเป็นข้อที่แทบจะต้องพิจารณาไปพร้อม ๆ กับข้อสองก็ว่าได้ คือจะต้องดูควบคู่กันทั้งพื้นที่ที่มี และความต้องการใช้งานจอเสริม ซึ่งสำหรับการใช้จอเสริมคู่กับโน้ตบุ๊กโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้กันที่ 1 จอเป็นหลัก ทำให้บนโต๊ะจะมี 1 จอโน้ตบุ๊ก + 1 จอนอก ที่เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป ใช้เล่นเกม ใช้สตรีม หรือใช้เพื่อความบันเทิงแบบที่เปิดคลิปออกจอนึง อีกจอก็เปิดโซเชียลเล่นไปพร้อมกัน

ส่วนใครที่ต้องการใช้งานหลายโปรแกรมพร้อมกันมาก ๆ เช่นถ้าต้องทำงานด้วยโปรแกรมนึง แต่ต้องมีการเปิดข้อมูลด้วยอีกโปรแกรมนึงเพื่อใช้ในการอ้างอิง รวมถึงอาจจะต้องเปิดแอปประชุมเพื่อคุยงานไปด้วยอีก กรณีนี้อาจจะต้องใช้เป็น 1 จอโน้ตบุ๊ก + 2 จอนอก หรือไม่ก็เลือกจอนอกเป็นแบบจออัลตร้าไวด์ตัวเดียวจบก็ได้เช่นกัน เพราะเป็นจอที่มีพื้นที่ทำงานในแนวนอนกว้างก็จอ 16:9 ปกติ รวมถึงยังช่วยลดความยุ่งยากในการจัดการอีกด้วย ซึ่งจออัลตร้าไวด์ก็มีทั้งแบบระนาบแบนและแบบโค้งให้เลือกตามความต้องการ จะใช้เล่นเกมก็มีรุ่นเกมมิ่งสเปคสูงให้เลือกด้วยเช่นกัน

จอแยก

แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องทำงานที่ได้ประโยชน์จากการแยกจอออกจากกันเด็ดขาด เช่น การเทรด และสามารถกดสลับจอ สลับโปรแกรมได้คล่อง ๆ บางทีการเลือกใช้หลายจอมาวางต่อกันก็อาจจะดีกว่า จะมีข้อจำกัดว่าเนื้อภาพอาจจะดูไม่ต่อกัน 100% เนื่องจากจะมีขอบจอคั่นอยู่ทั้ง 4 ด้านอยู่ดี แต่อย่างไรก็ตาม บอกเลยว่าถ้าใครได้ลองทำงานแบบมีมากกว่า 1 จอเข้าให้แล้ว หลายคนจะติดใจกัน และรู้สึกอึดอัดมากเวลาพกโน้ตบุ๊กออกไปทำงานนอกสถานที่แบบไม่มีจอแยก


4. ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเล่นเกม

อย่างที่กล่าวไปในข้อ 1 ว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตจะออกแบบให้จอนอกที่เอามาต่อกับพอร์ตของโน้ตบุ๊ก จะเป็นจอที่ใช้พลังกราฟิกจาก iGPU ที่อยู่ใน CPU เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มของเกมมิ่งโน้ตบุ๊กด้วย ทำให้อาจเกิดปัญหาว่าทำไมต่อจอแยกแล้วภาพในเกมมันไม่สวย ภาพกระตุกเมื่อปรับกราฟิกสูง ๆ ซึ่งก็อาจเกิดมาจากการทำงานที่ต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น อันเกิดจากการ์ดจอแยกจะต้องทำงานแล้วส่งข้อมูลภาพมาให้ iGPU ส่งภาพขึ้นจอให้ ทำให้ประสิทธิภาพของการเล่นเกมลดลง โดยเฉพาะถ้าต่อจอนอกที่ความละเอียดสูง รีเฟรชเรตสูง ก็อาจจะทำให้ใช้จอได้ไม่เต็มความสามารถ

จุดนี้สามารถแก้ไขและป้องกันข้อผิดพลาดได้โดยการเข้าไปปรับที่โปรแกรมตั้งค่าของการ์ดจอ ที่จะสามารถปรับเลือกให้การ์ดจอแยกส่งภาพออกไปยังจอต่าง ๆ อย่างไรบ้าง เช่นอาจจะบังคับไปเลยว่าให้จอแยกใช้ภาพที่เรนเดอร์จากการ์ดจอแยกเสมอ รวมถึงอาจจะไปตั้งค่าที่แต่ละเกมด้วย บังคับให้ใช้การ์ดจอแยกในการทำงานเท่านั้น เพื่อช่วยป้องกันปัญหาด้านประสิทธิภาพที่กล่าวไปข้างต้น

จอแยก

แต่ก็จะมีเกมมิ่งโน้ตบุ๊กหลายรุ่นที่มาพร้อมฟีเจอร์ MUX Switch ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถบังคับให้การ์ดจอแยกส่งสัญญาณภาพออกมาที่จอแยกได้โดยตรงแบบไม่ต้องผ่าน iGPU ใน CPU ก่อน เพื่อทำให้ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ที่สุดในการเล่นเกม และลดข้อผิดพลาดจากการทำงานของซอฟต์แวร์จัดสรรการใช้การ์ดจอแยกลง ซึ่งหากต้องการใช้ MUX Switch จะต้องพิจารณาตั้งแต่ตอนก่อนซื้อโน้ตบุ๊กเลยครับ เพราะเป็นฟีเจอร์ที่ไม่สามารถใส่เพิ่มมาทีหลังได้ เนื่องจากจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ลงบนเมนบอร์ดด้วย

ดังนั้น ถ้าหากคุณต้องการซื้อจอเสริมมาเพื่อใช้เล่นเกมกับโน้ตบุ๊ก อาจจะต้องนำเรื่องความแรงของโน้ตบุ๊กมาพิจารณาร่วมด้วย อย่างถ้าเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กสเปคแรงและมี MUX Switch ก็จะมีตัวเลือกจอที่กว้างกว่า ส่วนถ้าสเปคระดับกลาง ราคาเครื่องไม่สูงมากนัก ก็อาจจะดูจอนอกเป็น 1080p และรีเฟรชเรตก็ตามงบที่สะดวกได้เลย อย่างน้อยก็ข้อให้ได้ความละเอียดภาพบนจอแบบ native ตามสเปคจอไว้ก่อน


5. ต้องการใช้ dock/hub หรือไม่

สำหรับผู้ที่ต้องการโต๊ะคอมแบบคลีน ๆ มีสายเชื่อมต่อไม่เกะกะมากนัก อุปกรณ์ประเภท dock และฮับต่าง ๆ จะเข้ามาช่วยในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยการย้ายจุดเชื่อมต่อที่แต่เดิมต้องนำสายมาเสียบกับพอร์ตต่าง ๆ ของโน้ตบุ๊กมาเสียบกับ dock หรือฮับแทน ส่วนการเชื่อมต่อระหว่างฮับกับโน้ตบุ๊ก ส่วนมากแล้วก็จะใช้สายเชื่อมต่อเพียงไม่กี่เส้นเท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นอุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ ก็สามารถใช้เพียงสายเส้นเดียวก็จบเลย ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี Thunderbolt แทบทั้งนั้น

จอแยก

ซึ่ง dock และฮับในลักษณะนี้ก็มีตัวเลือกที่หลากหลายมาก ๆ ทั้งแง่ความสามารถ จำนวนพอร์ตและราคา โดยอย่างน้อย ๆ แทบทุกตัวจะมีพอร์ต USB-A, USB-C, HDMI มาให้ เพื่อให้โน้ตบุ๊กเครื่องบางเบาพอร์ตน้อยสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้เยอะขึ้น ประกอบกับเคลื่อนย้ายได้สะดวกในรูปแบบฮับพกพา บางตัวก็มีช่องเสียบสายแลน ช่องอ่าน SD Card รวมถึงช่อง USB-C ก็จะรองรับฟีเจอร์ Power Delivery (PD) เพื่อใช้จ่ายไฟไปยังโน้ตบุ๊กมาให้ด้วย อันนี้ก็สามารถเลือกได้ตามความต้องการและงบประมาณที่มีได้เลย

สำหรับในแง่การต่อจอนอกผ่าน dock หรือฮับนั้น จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือสเปคของฮับเอง ที่ผู้ผลิตมักจะระบุไว้ว่าพอร์ตไหนสามารถต่อภาพออกจอนอกได้บ้าง ได้ความละเอียดกับรีเฟรชเรตสูงสุดเท่าไหร่ อย่างถ้าในรุ่นราคาหลักร้อยถึงพัน ขนาดค่อนข้างเล็ก มักจะให้พอร์ต HDMI มาหนึ่งช่อง รองรับการต่อภาพออกได้สูงสุดที่ระดับ 4K 30Hz ซึ่งในกรณีนี้ แน่นอนว่าสามารถนำมาใช้ต่อจอที่ความละเอียดต่ำกว่าได้สบาย แถมได้รีเฟรชเรตที่สูงกว่า 30Hz ด้วย เนื่องจากปริมาณแบนด์วิธที่ใช้นั้นยังไม่เกินระดับของ 4K 30Hz โดยแบนด์วิธที่จำเป็นสำหรับการต่อภาพออกจอที่แต่ละความละเอียดหลัก ๆ โดยแสดงผลที่ SDR ปกติมีดังนี้

  • 4K 30Hz – ใช้ 8.91 Gbps
  • 2K 60Hz – ใช้ 6.64 Gbps
  • 1080p 144Hz – ใช้ 8.96 Gbps
  • 1080p 120Hz – ใช้ 7.46 Gbps
  • 1080p 60Hz – ใช้ 3.73 Gbps

ดังนั้นถ้าที่ฮับระบุไว้ว่า HDMI รองรับการต่อจอได้สูงสุด 4K 30Hz ก็เท่ากับว่าสามารถใช้กับจอ 2K 60Hz หรือจอ 1080p รีเฟรชเรตสูง ๆ ได้สบายมาก แต่ถ้าเป็น 144Hz อันนี้อาจจะไม่ได้ครับ ต้องลดรีเฟรชเรตลงมาหน่อย ส่วนถ้าต้องการเช็คที่ระดับความละเอียดอื่นว่าจะต้องใช้แบนด์วิธเท่าไหร่ สามารถเข้าไปคำนวณได้ที่เว็บนี้เลย ส่วนถ้าเป็นฮับรุ่นใหญ่ที่ราคาสูงหน่อย โดยเฉพาะฮับแบบตั้งโต๊ะ ก็จะรองรับจอที่สเปคสูงขึ้นได้ หลายรุ่นก็รองรับมากกว่าหนึ่งจอ โดยเฉพาะกลุ่ม​ฮับที่ใช้ร่วมกับ Thunderbolt 3 ขึ้นไป เนื่องจากพอร์ต TB เป็นพอร์ตที่มีแบนด์วิธกว้างมาก ๆ อยู่แล้วในตัว

จากข้อนี้ ทำให้ถ้าต้องการจะหาจอเสริมมาใช้กับโน้ตบุ๊กโดยต่อผ่านอุปกรณ์ประเภท dock หรือฮับ ก็จะต้องหยิบเอาสเปคของตัวกลางมาตรวจสอบด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าสเปคจอสูงสุดที่จะสามารถนำมาใช้ได้อยู่ที่ระดับไหน เพื่อจะทำให้ได้จอที่ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพที่มีที่สุด

จอแยก

ทั้ง 5 ข้อนี้คือสิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อจอนอกมาต่อใช้งานกับโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ ถ้าให้สรุปแบบรวบรัดอีกทีก็ได้แก่

  1. เช็คโน้ตบุ๊กว่ามีพอร์ตอะไรบ้าง รองรับสเปคได้ระดับไหน
  2. ตรวจสอบความพร้อม เคลียร์พื้นที่บนโต๊ะ และวางแผนเรื่องอุปกรณ์เสริมอย่างคีย์บอร์ด เมาส์ ขาจับจอ (ถ้าจำเป็น)
  3. คำนวณว่าควรใช้กี่จอ ใช้จอแบบใดบ้าง
  4. หากใช้เล่นเกม ให้พิจารณาเรื่องประสิทธิภาพด้วยว่าจะสามารถใช้เล่นเกมบนจอนอกได้ระดับไหน จะได้เลือกจอให้ถูกกับข้อจำกัดที่มี
  5. เช็คสเปคของ dock หรือฮับ (ถ้ามี) ว่ารองรับการต่อจอนอกได้กี่จอ ความละเอียดสูงสุดเท่าไหร่

อ้างอิงและเรียบเรียงข้อมูลจากบทความในเว็บไซต์​ MakeUseOf

Click to comment

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

เข้าสู่ 2025 แบบเต็มตัว คงมีหลายท่านที่เล็งว่าอยากจะซื้อโน้ตบุ๊กใหม่มาไว้ใช้ทำงาน ใช้เล่นเกม แล้วต้องการเครื่องที่มาพร้อมสเปคล่าสุด กะว่าให้สามารถใช้ไปได้อีกหลายปี ในบทความนี้เราก็มีโน้ตบุ๊ก AMD Ryzen AI มาแนะนำด้วยกัน 5 รุ่น โดยจะคัดมาเฉพาะรุ่นที่สเปคคุ้มกับราคา ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลายแล้วแต่ความต้องการ ซึ่งทุกรุ่นสามารถหาซื้อได้แล้วตามร้านตัวแทนจำหน่าย รวมถึงบางรุ่นสามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ของแบรนด์โดยตรงได้ด้วย

Buyer's Guide

8 โน๊ตบุ๊คไม่เกิน15000 ปี 2025 โปรดี มีส่วนลด ของแถมเพียบ แต่งภาพ ดูหนัง เกมเบาๆ ก็เอาอยู่ โน๊ตบุ๊คไม่เกิน15000 เป็นหนึ่งย่านราคาที่จับต้องได้ง่าย ประหยัด แต่ทำงานและใช้งานได้หลากหลาย เป็นตัวเลือกน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการคอมพิวเตอร์ที่สามารถพกพาไปใช้งานได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่งานพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงงานสำนักงาน ตอบโจทย์การทำงานเอกสาร, ท่องอินเทอร์เน็ต, หรือเรียนออนไลน์ได้แล้ว แต่ด้วยตัวเลือกที่หลากหลายในตลาด การเลือกซื้อโน้ตบุ๊คในราคานี้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ด้วยค่าใช้จ่ายที่สบายกระเป๋านี้...

CONTENT

ช่วงต้นปีนี้ ต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่สายเกมเมอร์น่าจะตื่นเต้นกันพอสมควร เพราะมีการเปิดตัว CPU และ GPU รุ่นใหม่กันหลากหลายค่าย โดยเฉพาะ AMD ที่นอกจากจะมีการเปิดตัว CPU สายเน้น AI อย่าง AMD Ryzen AI Max 300 series แล้ว ยังมีการเปิดตัวชิปรุ่นเน้นความแรงอย่าง AMD Ryzen...

How to

หนึ่งในปัญหายอดนิยมเวลามีคอมพิวเตอร์ Windows สักเครื่อง คือโน๊ตบุ๊คต่อ WiFi ไม่ได้ คอมพิวเตอร์ต่อเน็ตไม่ติด ซึ่งปัญหานี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้หลากหลายทางมาก ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์, ซอฟท์แวร์ไปจนเครือข่ายมีปัญหาเองก็ได้ทั้งนั้น แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออกและวิธีแก้ไขทั้งนั้น ถ้าสันนิษฐานได้ว่าปัญหาน่าจะมาจากจุด A, B หรือ C แล้ว ก็แก้ปัญหาได้ในเวลาไม่นาน แถมวิธีทำก็ง่ายมากและทำตามขั้นตอนในบทความนี้ได้ง่ายๆ ก่อนส่งให้ศูนย์บริการรับผิดชอบต่อได้ด้วย วิธีเช็คและแก้ปัญหาโน๊ตบุ๊คต่อ WiFi ไม่ได้ ถ้าต่ออินเทอร์เน็ตใช้งานไม่ได้...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก