Intel Core i7 14th Gen คู่ Arc A770 ประกอบคอมตัวจบสำหรับคอเกมและครีเอเตอร์ 2024 เพื่อผู้ใช้ระดับ Performance
Intel Core i7-14700 จัดเป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่มาพร้อมการเป็น Hybrid Core โดดเด่นทั้งประสิทธิภาพและการใช้พลังงาน เมื่อจับคู่กับ Intel Arc A770 รุ่นท็อปสุดที่เป็นกราฟิกสายทำงาน แต่ก็ให้คุณสมบัติในการเล่นเกมได้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน Ray-tracing หรือ XeSS ในการอัพสเกลภาพ ไปจนถึงการ ฟีเจอร์ Intel DeepLink ในการส่งข้อมูลและประมวลผลที่ดีกว่าเดิม ด้วยการจัดสรรปรับปรุงการใช้พลังงาน สำหรับการทำงานและเล่นเกมได้สูงขึ้น และยังรวมถึงการสตรีมมิ่ง การเข้ารหัสไฟล์วีดีโอ อีกทั้งมี AI ในการเร่งประสิทธิภาพให้กับงานวีดีโอได้มากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เมื่อมาประกอบคอมทำงานร่วมกัน จึงกลายเป็นคู่หูที่ยกระดับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างคุ้มค่า
Intel Core i7 processor (14th Gen) และ Intel Arc A770
- Intel Core i7-14700
- ระบบที่ใช้ในการทดสอบ
- Benchmark
- Intel Arc A770
- Game
- Export Video
- สร้างไฟล์ภาพด้วย AI
- Conclusion
Intel Core i7-14700
สำหรับซีพียู Intel Core i7 processor (14thGen) หลายคนอาจจะกำลังตัดสินใจ แต่ยังเลือกไม่ได้ว่าใช้รุ่นไหน อย่างไรดี เพราะมีตัวเลือกมากมายในท้องตลาด สำหรับซีพียู Intel Core processor (14thGen) นี้ แต่ละรุ่นจะมีความแตกต่างกันตามซีรีส์ตามข้อมูลบนตาราง มาพร้อม P-Core ที่เป็นแกนหลักรับโหลดงานหนัก มาคู่กับ E-Core ที่รับงานทั่วไปและงานเบื้องหลัง ทำให้ประหยัดพลังงาน หรือบางโอกาสก็มาช่วยประมวลผลงานหลักเพิ่มเติมได้ รองรับแรม DDR5 เต็มรูปแบบแล้ว โดยมีซีพียูให้เลือก 2 รูปแบบคือ ซีพียูพื้นฐานที่เป็นแบบ Non-K และซีพียูเพื่อคอเกมและนักโอเวอร์คล็อกที่เป็น “K” series ที่เรียกว่า “Unlocked” นั่นเอง
Model | Core-P/ Core-E | Thread | SmartCache | Thermal Velocity Boost | Turbo Boost 3 | Graphic | PCIe Lanes | Base Power | Max Power |
Intel Core i9-14900 | 24 (8P+16E) | 32 | 36MB | 5.8GHz | 5.6GHz | UHD 770 | 20 | 65W | 219W |
Intel Core i7-14700 | 20 (8P+12E) | 28 | 33MB | N/A | 5.4GHz | UHD 770 | 20 | 65W | 219W |
Intel Core i5-14600 | 14 (6P+8E) | 20 | 24MB | N/A | N/A | UHD 770 | 20 | 65W | 154W |
การเลือกก็ทำได้ไม่ซับซ้อนหากคุณใช้งานพื้นฐานทั่วไป หรือการเล่นเกม งานวีดีโอหรือใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ควบคุมงบประมาณได้ ไม่ต้องเปลี่ยนหรือใส่ชุดระบายความร้อนเพิ่มเติมเข้าไป ซีพียูแบบ Non-K ก็เพียงพอต่อการใช้งาน เพราะมีประสิทธิภาพมากพอในสิ่งที่คุณต้องการเพียงแต่เลือกว่าจะใช้เป็น Intel Core i3, i5, i7 หรือ Core i9 ตามงานที่ต้องทำนั่นเอง
แต่ในกรณีที่คุณต้องการความแรง เพื่อให้ตอบโจทย์กับงานและซอฟต์แวร์ที่ใช้ หรือให้ทำงานกับการ์ดจอแรงๆ ที่เต็มที่มากขึ้น รวมถึงต้องรองรับการโอเวอร์คล็อกได้ดี ซีพียูในกลุ่ม Intel “K” series ที่มีสัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้น และค่า TDP ที่สูงกว่า Non-K ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกเต็มอิ่มได้มากขึ้น แต่ก็มีการใช้พลังงานที่สูงกว่า รวมถึงหาชุดระบายความร้อนเพิ่มเติม และเลือกเมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซ็ต Intel Z series อย่างเช่น Z690 หรือ Z790 เป็นต้น เพื่อให้รองรับการ OC ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เหล่าเพาเวอร์ยูสเซอร์เหล่านั้นได้เตรียมตัวเอาไว้แล้ว
นอกจากนี้ทั้งซีพียู Non-K และ K series (ยกเว้น F และ KF) ที่มาพร้อมกับกราฟิกตัวแรงอย่าง Intel UHD Graphic 730 และ 770 ตามลำดับ เรื่องประสิทธิภาพ จัดได้ว่ารองรับการใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานกราฟิกพื้นฐาน งานวีดีโอ พรีเซนเทชั่น แต่งภาพ หรือจะสตรีมมิ่งและการเล่นเกมเบาๆ กราฟิกรุ่นนี้ช่วยคุณได้
พร้อมกันนี้ยังมีเทคโนโลยีน่าสนใจอยู่มากมาย นอกเหนือจากเรื่องของ Intel Thread Director หรือ Intel® Deep Learning Boost ไม่ว่าจะเป็น Intel® Dynamic Tuning Technology, Intel® Turbo Boost Max 3.0 Technology, Intel® Thermal Velocity Boost หรือแม้กระทั่ง Intel® Adaptive Boost เป็นต้น
เช่นเดียวกับในครั้งนี้ ที่เราเตรียมซีพียู Intel Core i7-14700 เป็นซีพียูในแบบ Non-K ที่มีกระแสความนิยมทั้งต่างประเทศและในประเทศ เพราะเป็นซีพียูที่มีการเปลี่ยนแปลงจากใน Intel Core processor (13thGen) อยู่ไม่น้อยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับ Core/ Thread สัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้นกว่าเดิม ไปจนถึงเทคโนโลยีที่เสริมเข้ามากับโครงสร้างในแบบ 8 Core-p และ 12 Core-E และมีถึง 28 Thread ให้ความเร็ว Bace clock 2.1GHz และบูสท์บน Core-P สูงสุดถึง 5.4GHz เช่นเดียวกับ L3-cache ขนาดใหญ่ 33MB แต่มีค่า TDP 65W เท่านั้น สูงสุด 219W โดยมีกราฟิก Intel UHD 770 แบบเดียวกับบนซีพียูรุ่นพี่อย่าง Intel Core i9-14900 อีกด้วย ส่วนประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร ไปพบกันในการทดสอบกันได้ครับ
ระบบที่ใช้ในการทดสอบ
- ซีพียู Intel Core i7-14700
- ชุดระบายความร้อน
- เมนบอร์ด NZXT N7 Z790
- กราฟิกการ์ด Spakle Intel Arc A770 16GB
- แรม Corsair Vengeance DDR5 5600 32GB
- Storage Samsung 980 Pro 1TB
- Windows 11 Home 23H2
Benchmark
CPUz
ข้อมูลที่ระบุเอาไว้ใน CPUz แจงรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน สำหรับซีพียู Intel Core i7-14700 เป็นซีพียูแบบ Non-K มาพร้อมการทำงาน 8 core-P และ 12 core-E มีทั้งหมดถึง 28 Thread อีกทั้งมี L3-cache ขนาดใหญ่ ตอบโจทย์การใช้งานในกลุ่มของมัลติทาส์กกิ้ง และการประมวลผลหลายงานพร้อมกัน หรือเป็นการเรนเดอร์ภาพกราฟิก และวีดีโอได้เต็มที่ เหมาะกับการประกอบคอมเล่นเกม รวมถึงการตัดต่อวีดีโอ และสร้างโมเดลสามมิติได้ดีในระดับหนึ่ง ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงจนเกินไป และการเชื่อมต่อกับกราฟิก Intel Arc A770 ยังมาในแบบ PCIe 4.0 x16 อีกด้วย มั่นใจได้ในเรื่องของแบนด์วิทธิ์ในการติดต่อข้อมูลระหว่างซีพียูและการ์ดจอ ที่เป็นส่วนสำคัญในการประมวลผลและสร้างภาพได้รวดเร็ว
ในการทดสอบเบื้องต้นบน CPUz เปรียบเทียบกับฐานทดสอบของโปรแกรม แสดงให้เห็นถึงตัวเลขการทำงานของ Intel Core i7-14700 ที่มีแกนหลักมากกว่า ทำคะแนนแซงหน้าซีพียูอดีตตัวท็อปรุ่นพี่อย่าง Intel Core i9-12900K ไปอย่างชัดเจน ในโหมด Multi-Core แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแกนหลักไฮบริดแบบใหม่ ที่ทำให้การทำงานด้านมัลติทาส์กดีขึ้นได้พอสมควร ส่วนการทำงาน Single-Core ถือว่ายังใกล้เคียงกัน แต่ Intel Core 14th processor ยังคงความได้เปรียบอยู่บ้างเล็กน้อย ทั้งในเรื่องของ SmartCache และความเร็วแกนหลักและการได้ Turbo Boost 3 อยู่ในตัว
และที่น่าสนใจก็คือ ฟีเจอร์อย่าง Drive I/O and Peripherals ที่ช่วยให้การจับคู่หรือ Pair กับเกมมิ่งเกียร์ อย่างเช่น อุปกรณ์ขับรถ พวงมาลัย คันเร่ง แบบที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทำได้รวดเร็ว โดยเฉพาะคอเกม Racing หรือการจำลองขับเครื่องบินอย่าง Flight simulator ก็จะมีความสมูทมากขึ้น เนื่องจากการคอนโทรลและทำให้ระบบฟิสิกส์ภายในเกมมีความสมจริงได้มากกว่าเดิม
GPUz
โดยคอมประกอบที่ได้รับมาในครั้งนี้ นอกจากซีพียู Intel Core i7-14700 แล้ว ยังมีกราฟิกการ์ดรุ่นพี่ใหญ่น่าใช้อย่าง Intel Arc A770 มาจับคู่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันด้วย จุดเด่นอยู่ที่ มาในรุ่น VRAM GDDR6 16GB พร้อมชุด Shader 512 ชุดด้วยกัน เชื่อมต่อบน PCIe 4.0 x16 อีกด้วย จะเห็นได้ว่าฟีเจอร์ด้านล่างระบุเอาไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน OpenCL, DirectX, OpenGL 4.6 และ Ray Tracing ที่ล้วนแต่เป็น API ยอดนิยมทั้งในด้านการทำงานและการเล่นเกมในปัจจุบัน
PCMark10
ในการทดสอบ PCMark10 หากดูจากตัวเลขโดยรวมที่อยู่ระหว่าง 8,000-9,000 คะแนน จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีในบรรดา ถ้าเทียบกับซีพียูในกลุ่ม Non-K ด้วยกันแล้ว ต้องถือว่าทำตัวเลขได้ค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งมาจากการปรับระบบของการแบ่งโหลดการทำงาน รวมถึง Core/ Thread จำนวนมากที่ใส่มาให้ ถ้าเทียบกับใน Intel Core processor (12thGen) เรียกว่ามีการปรับมาค่อนข้างเยอะ เช่นเดียวกับค่า TDP ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ที่โดดเด่นสุดคือ Digital Content Creation ที่เป็นงานด้านวีดีโอ และ 3D เรเดอร์ คะแนนพุ่งไปกว่า 17,000 คะแนน บอกได้ถึงความคล่องตัวในงานสร้างโมเดลและคุณภาพในการเข้ารหัส ถอดรหัสวีดีโอได้อย่างเต็มที่ จัดเป็นซีพียูอีกรุ่นที่ราคาเบาๆ แต่ตอบโจทย์งานด้านนี้ได้เด่นชัด
ส่วนด้านอื่นๆ อย่าง Essentials เปิดโปรแกรม งานออนไลน์ และมัลติทาส์กกิ้ง แทบไม่ต้องกังวล เพราะรองรับได้สบายๆ เช่นเดียวงานที่เกี่ยวข้องกับไฟล์ใหญ่ๆ ด้วยระบบของซีพียูและแรมระดับ DDR5 32GB ในปัจจุบันจัดว่าเพียงพอต่อการใช้งาน
CINEBench
แม้จะเรียกว่าเป็นการทดสอบที่ค่อนข้างโหด เพราะในแง่ของการทดสอบ Single Core ต้องดึงศักยภาพของแกนหลักเดี่ยวๆ ออกมาสุดๆ แต่ด้วยซีพียูที่มีระบบ Turbo Boost อันเป็นเอกลักษณ์ ก็ยังจัดการได้ไม่ยาก กับงานด้าน CINEMA4D เหล่านี้ ที่ดึงพลังจากระบบต่างๆ ของเครื่องทั้งซีพียูและการ์ดจอ แต่ด้วยซีพียูระดับ 20 core/ 28 thread ก็เชื่อได้เลยว่า ไม่ได้เป็นปัญหามากนัก และสามารถจัดการได้พอตัว ถ้าไม่นับซีพียู K series หรือ Xeon แล้ว ซีพียู Non-K กับการเริ่้มต้นงานแบบนี้ ก็ไม่ได้โหดร้ายมากไปนัก แต่ถ้างานหนักๆ เช่น โปรเจกท์ใหญ่ หรือใส่รายละเอียดแบบโมชั่นกราฟิกมีดีเทลมากแล้วละก็ ขยับไป i9 หรือ Intel Xeon น่าจะตรงกับความต้องการของคุณได้มากกว่า แต่ราคาก็ขยับไปไม่น้อยเลยทีเดียว
Coronabench
เป็นโปรแกรมจำลองการเรนเดอร์โมเดล 3 มิติอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่ได้การยอมรับจากค่ายทดสอบต่างๆ กับการทดสอบครั้งนี้ ตัวเลขผลที่ได้อยู่ในระดับ 6.5m Ray/s. ซึ่งต้องถือว่าเยอะ เพราะงานเหล่านี้ต้องอาศัยการประมวลผลที่รวดเร็ว และรองรับดาต้าของโมเดลงานที่ใหญ่ แคชก็มีส่วนสำคัญในการทำงานนี้ โดยตัวเลขที่ได้นี้ ค่อนข้างทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ในหลายการทดสอบ Intel K series จะให้ตัวเลขได้ดีกว่าแบบ Non-K ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก เพราะถ้าดูจากตารางการทดสอบโดยรวมในเว็บไซต์ Chaos.com จะเห็นได้ชัดเลยว่า ถ้าเป็น K หรือ KS series ตัวเลขส่วนใหญ่ไปแตะระดับ 10M Ray/s. ดังนั้นถ้าคุณจะเน้นใช้งานด้านนี้ จะขยับไปที่ i7-14700K, KF ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าคุณไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ ต้องหาชุดระบายความร้อนใหม่ หรืออยากได้แบบที่มีกราฟิกในตัว ซีพียูรุ่นนี้ตอบโจทย์ได้เพียงพอแล้ว
3DMark
มาชมการทดสอบในด้านเกม 3 มิติกันบ้าง 3DMark โดยงานนี้เรามี Intel Arc A770 16GB มาในระบบ ซึ่งทำให้ผลทดสอบในหลายส่วนออกมาได้ค่อนข้างดีกับตัวเลข Graphic score ที่โดดเด่น หากเทียบกับ Intel Arc A750 ที่เราเคยทดสอบไปก่อนหน้านี้ จัดว่าคอเกมจะสามารถสนุกไปกับเกมต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเกมพื้นฐานทั่วไป หรือจะเป็นเกมที่เรียกทรัพยากรโหดๆ ซึ่งเราจะแสดงให้เห็นในการทดสอบเล่นเกมจริงๆ บนพื้นฐานความละเอียด 1080p และ 1440p ต่อไป
การทดสอบ 3DMark ยังมีในส่วนของ CPU Profile ด้วย ซึ่งตรงนี้เรานำมาเปรียบเทียบกับ Intel Core i3-13600K ที่เรียกว่ามีองค์ประกอบเบียดบี้กับซีพียู Intel Core i7 ที่เรานำมาใช้ในวันนี้พอสมควร อย่างไรก็ดีผลทดสอบ Single-Core ต้องถือว่าใกล้เคียงกัน เพราะสัญญาณนาฬิกาของทั้งคู่ต่างกันไม่มาก รวมถึงเมื่อ TurboBoost แล้ว แต่ด้วยแกนหลักที่ Intel Core i7-14700 นั้นมากกว่า จึงทำให้ผลต่างของ Max-Thread นั้นดีกว่าพอสมควร ตามผลที่ได้บนกราฟนี้
Intel Arc A770
มาที่การทดสอบเล่นเกมกันบ้าง ในครั้งนี้เราได้ Intel Arc A770 GDDR6 16GB เป็นกราฟิกการ์ดรุ่นพี่ใหญ่ในกลุ่มของเกมมิ่งพีซี หรือคอนซูมเมอร์ของทาง Intel เวลานี้ แต่ในไลน์ผลิตภัณฑ์ Arc นี้ก็ยังมีแยกออกเป็น กลุ่มโมบายบนโน๊ตบุ๊ค กลุ่มมืออาชีพในซีรีส์ Arc Pro และกลุ่มของ Server อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้เคยนำเสนอในส่วนของ Intel Arc mobile กันไปแล้ว ครั้งนี้เป็นคิวของการ์ดจอแยกในกลุ่มเกมมิ่งพีซีมาให้ได้ชมกัน ซึ่งมีด้วยกัน 3 ซีรีส์คือ Intel Arc 3 Graphics สำหรับผู้ใช้มือใหม่ งานและเกมพื้นฐานทั่วไป, Intel Arc 5 Graphics การเล่นเกมที่จริงจังขึ้น สร้างคอนเทนต์ และการสตรีมมิ่งและพี่ใหญ่ Intel Arc 7 Graphics ที่ออกแบบมาเพื่องานและการเล่นเกมที่หนักหน่วงมากขึ้น
Source: Intel
Intel Arc Control
ในการใช้งานกราฟิกการ์ด Intel Arc A770 และซีรีส์อื่นๆ ให้ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น แนะนำให้ติดตั้งซอฟต์แวร์ Intel Arc Control ลงในระบบด้วย โดยซอฟต์แวร์นี้ จะช่วยให้คุณสามารถจัดการ ตรวจสอบ และปรับแต่งให้เข้ากับซอฟต์แวร์และเกมที่เล่นอยู่ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมีฟีเจอร์สำหรับการแคส สตรีม และแคปเจอร์วีดีโอมาให้ใช้แบบฟรีๆ อีกด้วย
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์ บอกให้เราได้ทราบถึงสเปคของตัวการ์ดทั้ง GPU, VRAM และ Clock รวมไปถึง Voltage หรือแรงดันไฟ รวมถึงมีกราฟให้เช็คได้ด้วยว่า โหลดการทำงานของการ์ดเป็นอย่างไรบ้าง ด้วยการเข้าไปดูที่ System Info แต่ในกรณีที่ต้องการใช้ฟีเจอร์สำหรับงานวีดีโอ ให้เข้าไปที่ Studio ในนี้จะรวมสิ่งต่างๆ ที่ใช้ร่วมกับการจับภาพหน้าจอ หรือจะเป็นการบรอดแคส ไลฟ์สตรีม ไปจนถึงการปรับแต่งบรรดา CODEC ต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานได้อีกด้วย
Game
XeSS หรือที่หลายคนคุ้นกับคำว่า Upscale ด้วยเทคโนโลยีนี้การ์ดจอจะเรนเดอร์ภาพบนความละเอียดต่ำก่อน แล้วค่อยให้ Ai ใน XeSS เติมพิกเซลลงไป จนได้ภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น ผลที่ได้คือ การ์ดจอไม่ต้องทำงานหนัก เฟรมเรตก็ไม่ตก แต่ได้ภาพที่สวยเนียนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง โดยการทดสอบเล่นเกมในวันนี้ เราจะมาลองเปิดใช้งาน XeSS นี้ให้ชมกัน ภาพจะสวยขึ้นมั้ย และจะมีผลต่อเฟรมเรตมากน้อยเพียงใด
Ray-tracing เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มความสวยงาม และความสมจริงให้กับภาพในเกม ซึ่งทำให้เกมเมอร์อย่างเราๆ ได้อินไปกับการเล่นมากขึ้น โดยเฉพาะแสงเงาที่ตกกระทบวัตถุ รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงเลยทีเดียว
COD
เกมนี้อย่างที่ใครหลายคนได้เล่นกัน ก็น่าจะพอทราบดีว่า ใช้สเปคค่อนข้างหนัก ถ้าเล่นในโหมด Battle Royale และบนโหมดความละเอียดสูง ในการทดสอบความละเอียด Full-HD แบบเปิด Ray-tracing เฟรมเรตวิ่งไปแตะ 100fps. ได้แบบสวยๆ บนโหมด Basic แต่ถ้าจะเน้นโหดขึ้นอีก Ultra ก็เล่นได้ ภาพสวย และไหลลื่น เพราะเฟรมเรตยืนระดับที่ 80fps. ได้แบบสวยๆ ใครที่ใช้จอภาพระดับ Full-HD 144Hz แนะนำโหมดนี้ แต่ถ้าขยับไปที่จอ 1440p หรือ 2K แนะนำ Extreme settings และเปิด XeSS ในแบบ Performance ซึ่งถือว่า Intel Arc A770 รุ่นนี้ ให้เฟรมเรตได้เพียงพอต่อการเล่น และยังไหลลื่นอีกด้วย แม้ไม่ถึง 100fps. แต่ก็จัดว่าภาพสวย มองเห็นศัตรูได้ชัด จอทั่วไประดับ 100Hz ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
Forza Horizon 5
สำหรับเกมแนว Racing เกมนี้ ความสวยงามและภาพที่ไหลลื่นติดตา จะทำให้เพิ่มอรรถรสในการเล่นได้มากขึ้น โหมดที่อยากจะแนะนำก็คือ 1080p High settings และเปิด Ray-Tracing ภาพที่ได้สวยจัดตามสไตล์ของเกมนี้ อีกทั้งเอฟเฟกต์ แสง เงา และความคมของบอดี้รถแข่ง ดูแล้วสบายตา ทำให้อยากเล่นมากขึ้น แต่ถ้าคุณอยากเล่นจอใหญ่ความละเอียดสูง แนะนำ 2K 1440p เปิดโหมด High และ Ray-Tracing ดูจะเหมาะ เพราะถ้าเล่นบนโหมด Extreme แม้ว่าเล่นได้ และเมื่อเปิด XeSS ก็ยังไปได้มากกว่า 70fps. ก็ตาม แต่ถ้าคุณมองว่า 80fps. ขึ้นไป ถึงจะทำให้คุณดูสบายตาขึ้นได้ โหมด High, Ray-Tracing On และ XeSS น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณพึงพอใจได้มากกว่า แต่โดยรวมต้องถือว่า Intel Arc A770 ทำผลงานได้น่าประทับใจ
Hogwarts Legacy
เกมนี้แสงสีเอฟเฟกต์ค่อนข้างอลังการ ดังนั้นถ้าเลือกให้สมดุลได้ดี ก็จะเล่นได้สนุก ภาพไหลลื่นและสวยงามอีกด้วย เอาใจคนใช้จอความละเอียดสูง 2K กันก่อน เกมนี้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ 1440p ไม่ว่าจะโหมดใด เมื่อเปิด Ray-Tracing ไปด้วย ได้ภาพสวยจริง การยิงเอฟเฟกต์จากเวทย์มนต์ จะดูอลังการ แต่จะได้เฟรมเรตราวๆ 60-71fps. เท่านั้น ซึ่งหากคุณต้องการมากกว่านี้ แนะนำ Ray-Off ไปก่อน แต่ถ้าอยากได้ภาพสวยเนียน ไหลลื่น Ultra พร้อม Ray-Off และเปิดใช้ XeSS เฟรมเรตไปได้เกิน 100fps. และยังไม่สะดุด เมื่อเจอกับออปเจกต์โหดๆ ภายในฉากอีกด้วย
Spider-Man Remastered
อีกหนึ่งเกมสำหรับ Intel Core i7-14700 ที่มาคู่กับ Intel Arc A770 ใครที่เป็นแฟนตัวยงเกมแอ็คชั่นแนวนี้ คุณสามารถเล่นได้สนุกและได้ภาพที่ลื่นไหลกว่า 100fps. โดยที่ไม่ต้องไปลด Detail ในเกมมากนัก เพราะเปิด Very High บน 1080p ในฉากที่โจมตี มีเอฟเฟกต์รอบตัว พร้อมการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว ก็ยังได้เฟรมเรตเกือบ 130fps. แม้จะยังไม่ได้เปิด XeSS แต่ถ้าต้องการเล่นบนโหมด 2K 1440p ก็ยังได้แตะๆ 100fps. เช่นกัน โดยโหมดที่แนะนำคือ Very High, Ray-Tracing และเปิด XeSS เล่นสนุกและได้ภาพที่สวยอีกด้วย
Export Video
นอกจากนี้ยังมีความสามารถที่บรรจุลงมาบนการ์ด Intel Arc A770 เพิ่มเติมเข้ามาให้ได้ใช้งาน นอกเหนือจากการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็น
Codec AV1 มีประโยชน์ต่อการสตรีมวีดีโอให้มีคุณภาพสูงขึ้น ถูกใช้ในแพลตฟอร์มของการบรอดแคสตามมาตรฐาน สามารถเข้ารหัสบนความละเอียดได้ระดับ 4K HDR มีการบีบอัดไฟล์ได้ดีกว่า เข้ากับเบราว์เซอร์ต่างๆ ในปัจจุบันได้เกือบครบ จึงเหมาะกับการเป็นการ์ดสำหรับสายสตรีมมิ่งได้ดีเลย
ในแง่ของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อวีดีโอ และการสตรีมมิ่ง หรือแคสสตรีม ต้องอาศัยทั้งซีพียูร่วมกัน โดย Intel Arc A770 ก็ยังมีเทคโนโลยีสำหรับงานด้านนี้มาให้ อย่างเช่น Advanced Xe Media Engine ที่ช่วยในการเข้า-ถอดรหัส วิดีโอโดยเฉพาะ รองรับ Codec มาตรฐานใหม่ อย่าง VP9 / H.265 / HEVC / AV1 ส่งผลดีทั้งในงานด้านการตัดต่อวีดีโอ และการสตรีมมิ่ง หรือ Hyper Encode จะช่วยในการทำการเข้ารหัสไฟล์ภาพและวีดีโอโดยใช้การประมวลผลร่วมกันของหน่วยประมวลผลและชิปกราฟิกทำให้การเข้ารหัสไฟล์ภาพและวีดีโอต่างๆ นั้นเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
โดยเหล่า Content Creator กับคนตัดต่อ Intel ARC รุ่นใหม่จะแสดงศักยภาพได้ดีกว่าการ์ดจอทั่วไป ผลที่ได้คือ “ลดเวลาในการทำงานลง และได้เวลาไปทำหรือคิดงานอื่นเพิ่มขึ้น” สิ่งนี้ผมว่าน่าจะสร้าง Productivity ให้กับหลายคนได้เยอะเลยทีเดียว
โดยในการทดสอบใช้งาน Adobe Premier Pro เลือกการใช้ Codec บนการ์ดจอ Intel เพื่อการเรนเดอร์ และ Export วีดีโอได้อย่างรวดเร็ว จากที่เราได้ทดสอบบนวีดีโอความละเอียด 4K ความยาวของฟุตเทจประมาณ 10 นาที แบบไม่ได้ใส่เอฟเฟกต์ และเสียงที่ซับซ้อนมากนัก ระบบของ Intel Core i7-14700 และ Arc A770 ใช้เวลา Export ไปราวๆ 7 นาทีเท่านั้น
สร้างไฟล์ภาพด้วย AI
การใช้งานร่วมกับ AI Generator และแอพพลิเคชั่น AI ต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะสายครีเอเตอร์ที่ต้องการสร้างสรรค์งานด้านภาพและวีดีโอ เช่นการตกแต่งภาพ สร้างภาพสามมิติหรือภาพที่ใช้ประกอบงาน งานศิลปะ ไปจนถึงการตัดต่อวีดีโอ ด้วย AI Engine ที่สามารถสร้างภาพได้จากข้อความ Prompt ก็ช่วยให้การสร้างหรือปรับแต่งได้รวดเร็ว โดยใช้ชุดคำสั่ง DP4a และ Intel Xe Matrix Extensions หรือ Intel XMX ก็ทำให้คุณสามารถสร้างงานจากสิ่งที่คุณจินตนาการได้แบบมืออาชีพ
ตัวอย่างแรกกับ Lumina Neo AI ที่เป็นโปรแกรมแต่งภาพที่มีเครื่องมือ AI มาในตัว สำหรับสายทำภาพ จัดการภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่เหมาะสำหรับสายครีเอเตอร์ เพราะเครื่องมือช่วยในการแก้ไข ปรับปรุงมีเยอะมาก จากตัวอย่างเราลองใช้การสร้างสีสัน และเพิ่มแสงความน่าสนใจให้กับรูปภาพกิจกรรมกลางแจ้ง ที่เจอกับแสงจ้ามาก จนทำให้รายละเอียดบางส่วนหายไป ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า หรือต้นไม้ ซึ่งในภาพนี้ เราอยากได้ความส่วนตัว จึงใช้ AI ในการตัดเรือลากและแพทางด้านซ้ายมือออก จากนั้นเพิ่มความเป็นท้องฟ้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แทนที่ฟ้าสีขาว และปรับให้มีแสงแฟร์นิดๆ ทางต้นไม้ด้านซ้ายมือ เท่านี้ก็ทำให้ภาพที่เป็นตัวเรื่องหลักดูเด่นชัด และมีความเป็นธรรมชาติ รวมถึงเพิ่มความมีชีวิตชีวาได้อีกพอสมควร เทียบกันระหว่างภาพซ้ายก่อนปรับแต่ง และภาพขวา เมื่อปรับสำเร็จแล้ว
มาที่ AI Generator อย่าง Freepik กันบ้าง แม้ในบางครั้งซีพียูหรือกราฟิกจะไม่ได้ส่งผลอย่างชัดเจน นั่นก็เพราะการรองรับการสนับสนุนกับ AI ของแต่ละค่ายได้มากน้อยเพียงใด แต่สำหรับซีพียู Intel Core 14th processor รุ่นใหม่นี้ สามารถทำงานร่วมกับค่ายที่พัฒนาด้าน AI ร่วมกับ Intel ในปัจจุบันได้มากขึ้น ทำให้รองรับการทำงาน AI ร่วมกับโปรแกรมครีเอเตอร์ชั้นนำ ให้ใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น การปรับแต่งภาพ เพิ่มฟิลเตอร์, เร่งกำลังการเรนเดอร์ตอนตัดต่อคลิป รวมไปถึงการเพิ่มความละเอียดให้ภาพนิ่งให้คมชัดขึ้น (Super Resolution Upscaling)
โดยในส่วนของ Freepik จะรองรับในการสร้างภาพด้วยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ Prompt หรือการลากเส้นแล้วให้ AI Generate ภาพออกมาตามต้องการ ซึ่งในครั้งนี้เราใช้ Prompt ในการสร้างตัวละครสาว ผมสีเขียวนี้ขึ้นมา ในอีโมชั่นแบบต่างๆ ซึ่งระบบก็สามารถสร้างสาวน้อยคนนี้ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และใกล้เคียงกับที่เราใส่ข้อมูล Prompt เอาไว้อีกด้วย เรียกว่าสร้างขึ้นมาครั้งละ 4 ภาพก็ใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น
Conclusion
เป็นอีกครั้งที่เราได้ทดสอบกับพีซีที่มาในแบบ Intel ยกชุด ทั้งซีพียู เมนบอร์ดและกราฟิกการ์ด ในแง่ของประสิทธิภาพถือว่าน่าประทับใจทีเดียว เพราะถ้ามองถึงซีพียูและการ์ดจออย่างละหมื่นกว่าบาท จัดแรม DDR5 และ SSD ตัวคุ้มๆ ก็สามารถประกอบคอมเล่นเกม ทำงานได้ในงบประมาณ 3-4 หมื่นบาทเท่านั้น แต่ได้ความพิเศษในการใช้งานที่ครอบคลุม ทั้งการทำงานจริงจัง เล่นเกม ที่มีเทคโนโลยี XeSS หรือรองรับ Ray-Tracing และฟีเจอร์มาช่วยเสริมให้ใช้งานได้ลื่นไหลมาขึ้น ด้วยพลังของซีพียูในระดับ 20 core/ 28 thread และกราฟิกที่รองรับ Codec ใหม่ๆ ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี มีฟีเจอร์เสริมการใช้งานด้าน AI มาอีกด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเทรนด์การใช้งานพีซีต่อไปในอนาคต ดังนั้นคุณสามารถเลือกหามาใช้งานได้ก่อน เพื่อการเรียนรู้และการสร้างโอกาสในการทำงานในยุค AI ก่อนใครอีกด้วย
พบกับผลิตภัณฑ์ Intel Core i7-14700 และ Intel Arc A770 ได้ที่ร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ
• ข้อมูลโปรดักซ์ 14th Gen: https://www.thailand.intel.com/content/www/th/th/products/docs/processors/core/core-14th-gen-desktop-brief.html
• ข้อมูลโปรดักซ์ Intel® Arc™ Graphics: https://www.thailand.intel.com/content/www/th/th/products/docs/discrete-gpus/arc/desktop/a-series/overview.html