ในช่วงปลายปีนี้ ต้องบอกว่ากระแสของเครื่องเกมพกพาที่สามารถเล่นเกม PC จากเกมในคลังของแพลตฟอร์มร้านขายเกมออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงสามารถใช้ Windows 11 ได้ เป็นกระแสที่มาแรงมาก ๆ โดยเฉพาะกับคนที่กำลังมองหาคอมสำหรับเล่นเกม แต่ก็ต้องการความสะดวกในการพกพาด้วย ต่างจากในช่วงก่อนหน้านี้ ที่จะมีทางเลือกเพียงแค่เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ซึ่งถ้าต้องการเครื่องเล็ก น้ำหนักเบา ก็มักจะมาพร้อมราคาที่ค่อนข้างสูง หรือไม่ก็ไปสาย Nintendo Switch ไปเลย แต่เกมที่มีให้เล่นก็อาจจะไม่ตรงกับความต้องการซักเท่าไหร่ โดยเฉพาะคนที่ดองเกมใน Steam ไว้เยอะ ๆ
ประกอบกับแบรนด์ผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ ๆ ต่างก็โดดลงมาในตลาดเครื่องเกมพีซีพกพามากขึ้น และมีการนำเข้ามาจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการด้วย ยกตัวอย่างที่เห็นชัดสุดคือ ASUS ROG Ally และจะมี Lenovo Legion Go ตามมาในอีกไม่ช้า รวมถึงยังมีแบรนด์อื่นที่ทำเครื่องออกมาได้น่าสนใจอย่าง AYANEO ที่ก็มีเข้ามาขายในไทยด้วยเช่นกัน และที่ขาดไม่ได้กับผู้บุกเบิกตลาดในยุคนี้อย่าง Steam Deck ที่ก็เพิ่งเปิดตัวรุ่นอัปเกรดเป็นจอ OLED ด้วย (แม้ในไทยจะเป็นเครื่องหิ้วก็ตาม)
จึงไม่แปลกที่หลายท่าน ที่อาจจะกำลังเล็งเกมมิ่งโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่อยู่ เพื่อใช้เพิ่มความสะดวกในการเล่นเกมและใช้ทำงานด้วย อาจจะเริ่มหันมาพิจารณากลุ่มเครื่องเกมพกพาในลักษณะนี้ไปควบคู่กัน ในบทความนี้เราจะมาเทียบความแตกต่างของเครื่องในสองกลุ่มนี้กันครับ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาก่อนเลือกซื้อเครื่องเล่นเกมพีซีเครื่องใหม่ในช่วงปลายปี 2023
ความสะดวกในการพกพา
ข้อนี้ต้องบอกว่าเครื่องเกมพกพาชนะแบบกินขาด เพราะตัวเครื่องนั้นได้รับการออกแบบมาให้สามารถถือเล่นได้ในมือเลย ทำให้จำเป็นต้องเน้นให้พกพาได้สะดวก มีการจับถือที่ถนัดมือ ไซซ์ยอดนิยมก็จะอิงกับขนาดหน้าจอตั้งแต่ 7 นิ้วขึ้นไปจนถึงเกือบ 9 นิ้ว ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่สามารถถือเพื่อเล่นเกมได้อยู่ ส่วนรูปร่างหน้าตาเครื่องก็มักจะใช้เป็นหน้าจออยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยแผงปุ่มควบคุมอยู่ทั้งสองฝั่งซ้ายขวา ซึ่งเป็นฟอร์มมาตรฐานสำหรับสายเครื่องเกมพกพามาเป็นเวลานานแล้ว
ในขณะที่ฝั่งเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก มันก็คือโน้ตบุ๊กแบบที่ทุกท่านคุ้นเคยกันดีนั่นเอง โดยมักจะเริ่มตั้งแต่หน้าจอขนาด 13 นิ้วขึ้นไป ที่ยอดนิยมหน่อยในยุคนี้ก็คือ 15.6 นิ้ว ไปจนถึง 16 นิ้ว ซึ่งยังอยู่ในจุดที่สามารถพกพาได้อยู่ แต่การพกพาก็จะอยู่ในระดับที่อย่างน้อยต้องเป็นกระเป๋าสะพายหลัง หรือกระเป๋าสะพายข้าง ต่างจากกลุ่มของเครื่องเกมพีซีพกพาที่พอจะใส่กระเป๋าสะพายเฉียงได้ หรือแม้กระทั่งเดินถือไปมา และใส่รวมกับกระเป๋าอย่างอื่นได้แบบไม่เกะกะมากนัก
อีกประเด็นคือเรื่องน้ำหนัก เครื่องเกมพีซีพกพา ด้วยจุดประสงค์ของตัวเครื่อง ทำให้ต้องออกแบบให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ยังสามารถถือเล่นในมือได้ระยะหนึ่งด้วย ทำให้น้ำหนักของเครื่องในกลุ่มนี้จะอยู่ในช่วง 500-900 กรัม ส่วนฝั่งของเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก น้ำหนักจะเริ่มต้นตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป แต่ถ้าเป็นรุ่นที่เบากว่านี้ ก็จะสวนทางกับราคาด้วย อย่างน้อย ๆ ก็เกินครึ่งแสนแน่นอน และก็จะมาติดที่ขนาดหน้าจออยู่ดี แม้จะทำเครื่องออกมาเล็กและบางขนาดไหน ก็ยังไม่มีทางเล็กเท่าพวกเครื่องเกมพีซีพกพาแน่นอน
รวม ๆ แล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องความสะดวกในการพกพา เครื่องเกมพีซีพกพาชนะขาด
ประสิทธิภาพ ความแรง
กลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาที่ออกมาในปีนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ชิปประมวลผลที่มีกราฟิกในตัวจาก AMD แทบทั้งนั้น โดยจะมีทั้งสายที่ใช้ชิป AMD Ryzen Z1 series ที่ออกแบบมาเพื่อเครื่องพกพาโดยเฉพาะ กับอีกสายที่ใช้ชิปปกติในซีรีส์ U เช่น AMD Ryzen 5 5825U, Ryzen 7 6800U ซึ่งถ้าลองจับมาเทียบกับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กระดับเริ่มต้นที่ราคาอยู่ในงบ 20,000 ถึงเกือบสามหมื่นบาทที่วางขายอยู่ในช่วงปลายปี 2023 ก็จะได้ผลตามตารางด้านล่างนี้เลย โดยผลคะแนนการทดสอบ เป็นข้อมูลมาจากเว็บไซต์ Notebookcheck ที่มีการทดสอบและคำนวณคะแนนเฉลี่ยของแต่ละรุ่นเอาไว้
พอลองเทียบสเปคและคะแนนประสิทธิภาพจาก Geekbench 5.5 และ Cinebench R23 จะพบว่า Ryzen Z1 รุ่นปกติจะมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ CPU ที่อยู่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่นเริ่มต้นอยู่เหมือนกัน โดยที่มีค่า TDP น้อยกว่าอยู่ 5-15W ส่วนชิปรุ่นสูงกว่าอย่าง Ryzen Z1 Extreme อันนี้คือฉีกขึ้นไปอีกระดับเลย ด้วยการใช้สถาปัตยกรรม Zen 4 ที่ได้รับการปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพและการใช้พลังงานให้ดีขึ้น ทำให้เรื่องประสิทธิภาพการประมวลผลของชิปในเครื่องเกมพกพา ดูแทบจะไม่เป็นรองเกมมิ่งโน้ตบุ๊กในช่วงราคาใกล้เคียงกันเลย ดังนั้นถ้าพูดในแง่ของการใช้งาน การทำงานทั่วไป เครื่องเกมพีซีพกพาแบบ handheld ถือว่ามีประสิทธิภาพที่แทบจะไม่แตกต่างจากเกมมิ่งโน้ตบุ๊กมากนัก
แต่แน่นอนว่าก็ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องการระบายความร้อนอยู่ ด้วยตัวเครื่องที่มีขนาดเล็ก พัดลมก็เล็กตาม จึงอาจทำให้เกิดความร้อนสะสมภายในที่เร็วกว่า ส่งผลให้ชิปปรับลดความเร็วลงบ้าง (throttle) และมาพร้อมเสียงพัดลมที่จะดังกว่าอย่างเห็นได้ชัดในกรณีที่มีการประมวลผลหนัก ๆ รวมถึงระหว่างการเล่นเกม
ส่วนชิปในกลุ่มโมบายล์อย่าง AMD Ryzen 7 6800U ที่นิยมจับมาใส่ในเครื่องพกพาเช่นกัน อันนี้ประสิทธิภาพก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกันเลย
ต่อกันด้วยฟากของ GPU บ้าง โดยเทียบจากชิป Ryzen Z1 series กับชิปการ์ดจอที่เรามักพบในโน้ตบุ๊กราคาใกล้เคียงกัน ซึ่งตัวที่พบบ่อยก็เช่น RTX 2050, RTX 3050, RX6500M ส่วน RTX 3050 Ti นี่จะพอมีบ้างกับรุ่นที่จัดโปรลดราคาลงมา โดยข้อมูลผลการทดสอบด้านบนจะรวบรวมมาจากเว็บ Notebookcheck ส่วนข้อมูลสเปคจะมาจาก TechPowerup นะครับ
ทีนี้ถ้าเทียบสเปคกันตรง ๆ แน่นอนว่า AMD Radeon 740M ใน Ryzen Z1 และ Radeon 780M ใน Ryzen Z1 Extreme คงสู้กับพวกกราฟิกชิปแยกไม่ได้อยู่แล้ว ตั้งแต่เรื่องจำนวนคอร์ (shading unit), texture mapping unit (TMU), render output unit (ROP) และ RT core ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องจำกัดค่า TGP ไว้ เพราะต้องใช้แชร์ร่วมกับ CPU ด้วย จึงทำให้คะแนนการทดสอบประสิทธิภาพทั้งจาก 3DMark และ GFXBench แบบ offscreen รวมถึงเฟรมเรตที่ได้จากการทดสอบเกม Cyberpunk 2077 แพตช์ 1.6 ระดับ FHD กราฟิก High ออกมาต่ำกว่าชิปกราฟิกแยกพอสมควร ซึ่งข้อจำกัดหลัก ๆ ที่ส่งผลถึงประสิทธิภาพเลยก็คือเรื่องของความร้อน ทำให้ตัวชิปไม่สามารถส่งพลังออกมาได้อย่างเต็มที่ แม้จะมีศักยภาพบางจุดที่สูงกว่า อย่าง pixel rate และ FLOPS ที่คำนวณได้ต่อวินาที
ดังนั้นถ้าหากต้องการเล่นเกมระดับ AAA บนเครื่องเกมพกพา ก็คงต้องอาศัยการปรับลดรายละเอียดกราฟิกลงมาหน่อย ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอเล่นไหวในเฟรมเรตระดับ 30fps ขึ้นไป นอกจากนี้บางเกมยังมีตัวเลือกการปรับระดับกราฟิกที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องพกพา โดยอ้างอิงจาก Steam Deck อีกด้วย ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เล่นได้ดีพอสมควรเลย
และอีกสองจุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือแรมและ SSD ที่โดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องเกมพกพาจะให้แรมมาที่ 16GB และ SSD ที่เริ่มต้นตั้งแต่ 256GB ซึ่งส่วนของแรมถ้าจะถามว่า 16GB พอหรือไม่ อันนี้บอกเลยว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้ทำงานทั่วไปบน Windows 11 แต่สำหรับการเล่นเกม จะถือว่าค่อนข้างตึงไปนิดนึงแล้ว โดยเฉพาะกับการเล่นเกมขนาดใหญ่ เกมที่มีการโหลดยูนิต โหลดกราฟิก โหลดฉากกว้าง ๆ แต่ก็ต้องบอกว่าตัวเลือกเรื่องแรมในกลุ่มเครื่องเล่นเกมพีซีพกพาจะค่อนข้างน้อยหน่อยครับ เพราะมีน้อยรุ่นมาก ๆ ที่มีความจุแรมมากกว่านี้ให้เลือก ถ้าจะมีก็คือ 32GB ราคาหลักสามหมื่นขึ้นไปเลย
ส่วน SSD ถ้าจะให้แนะนำสำหรับการใช้เล่นเกม ก็ควรจะเริ่มพิจารณาที่ความจุ 512GB ขึ้นไปไว้ก่อน แม้ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถแกะเปลี่ยนภายหลังได้ แต่ก็จะมีวิธีทำ และการตั้งค่าที่ยุ่งยากกว่าเกมมิ่งโน้ตบุ๊กทั่วไปพอสมควร แต่ก็มีคลิปให้ศึกษาและทำตามได้อยู่เหมือนกันครับ
โดยรวมแล้ว หากเทียบเรื่องประสิทธิภาพ ความแรงล้วน ๆ อันนี้เกมมิ่งโน้ตบุ๊กชนะแน่นอน ด้วยการออกแบบให้สามารถกระจายชิ้นส่วนออก มีชุดระบายความร้อนที่ใหญ่กว่า ทำให้สามารถรองรับความร้อนระหว่างการทำงานได้สูงกว่าเครื่องเกมพีซีพกพา ส่งผลให้ฮาร์ดแวร์สามารถแสดงประสิทธิภาพได้มากกว่า ใส่ชิปที่มีพลังประมวลผลสูงกว่าได้
หน้าจอ ความสวยงามของภาพ ระดับกราฟิกในเกม
เรื่องของหน้าจอ แน่นอนว่าเครื่องเกมพกพาจะมีขนาดที่เล็กกว่าเกมมิ่งโน้ตบุ๊กแบบเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจุดประสงค์ของการออกแบบที่เน้นการพกพามากเป็นพิเศษ ส่วนในเรื่องคุณสมบัติของฮาร์ดแวร์จอ ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตมักจะใช้เป็นพาเนล IPS เป็นหลัก จะเริ่มมีขยับมาใช้ OLED กันบ้างก็เช่นใน Steam Deck รุ่น refresh ที่เพิ่งเปิดตัวมาก่อนหน้านี้ไม่นาน นอกจากนี้ก็มี Nintendo Switch ที่แม้จะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องเล่นเกมพีซีพกพาก็ตาม ซึ่งจากที่มีการรีวิวออกมาพบว่าจอ OLED เมื่ออยู่ในเครื่องพกพานั้นให้ผลที่ดีมาก ๆ ทั้งเรื่องสีสัน คอนทราสต์ การใช้งานในที่มืดที่โอเคกว่า และที่สำคัญคือมีอัตราการใช้พลังงานที่ต่ำกว่าจอ IPS ด้วย
ส่วนฝั่งเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ตอนนี้ยังคงนิยมใช้พาเนล IPS กันเป็นหลัก ส่วน OLED ก็มีบ้างในรุ่นที่ราคาสูงหน่อย แต่ถ้าจะเทียบรุ่นที่ช่วงราคาใกล้เคียงกับพวกเครื่องเกมพีซีพกพา ก็แน่นอนว่าคงต้องเป็นรุ่นที่ใช้จอ IPS กันทั้งนั้น ส่วนเกรดของพาเนล วัสดุที่ใช้ทำผิวจอ สารเคลือบจอก็จะมีความแตกต่างกันไปอีก แต่ที่จะเห็นได้ชัดคือ เครื่องเกมพกพาจะใช้ผิวสัมผัสจอเป็นแบบจอกระจกเหมือนกับสมาร์ตโฟน ทำให้ได้ภาพที่ดูมีสีสันดีกว่า ภาพใส คมชัด ในขณะที่เกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ราคาใกล้เคียงกันมักจะให้มาเป็นจอด้าน ที่บางทีภาพอาจจะดูไม่ใสเท่าจอกระจกอยู่นิดนึง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังขึ้นอยู่กับเกรดวัสดุด้วยครับ เพราะบางรุ่นแม้จะเป็นจอด้าน แต่คุณภาพสูงมากก็มี ทำให้ถ้าเทียบเรื่องความสวยของภาพ อาจจะต้องเทียบกันเป็นรายรุ่นไป แต่โดยรวม ๆ แล้ว เครื่องเกมพีซีพกพาจะดูสวยกว่านิดนึง
ซึ่งอีกปัจจัยที่ทำให้ภาพบนจอเครื่องเกมพกพาดูสวยกว่า ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างขนาดหน้าจอและความละเอียดจอ หรือถ้านำมาคำนวณก็จะได้ออกมาเป็นค่า PPI ที่หมายถึงจำนวนพิกเซลต่อตารางนิ้วนั่นเอง ถ้าเลข PPI ยิ่งสูง ก็เท่ากับว่าในพื้นที่หนึ่งตารางนิ้วบนจอ จะมีจำนวนเม็ดพิกเซลที่มากกว่า อัดกันหนาแน่นกว่า ภาพก็เลยจะดูเนียนตากว่า ซึ่งด้วยขนาดหน้าจอในช่วง 7″-9″ แต่มากับความละเอียดระดับ 1280×800, 1920×1080 ไปจนถึง 2560×1600 ทำให้จอของเครื่องกลุ่มนี้จะมีค่า PPI สูงกว่าจอเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่มีเลขความละเอียดเท่า ๆ กัน แต่มีขนาดใหญ่กว่าเป็นเท่าตัว
เทียบจากภาพด้านบนนี้ก็จะเห็นชัดเลยครับ ว่าในพื้นที่เท่ากัน ถ้ามีจำนวนพิกเซล (บล็อกสี่เหลี่ยม) มากกว่า ภาพที่ได้ก็จะดูเนียนตากว่า โดยเฉพาะบริเวณส่วนโค้ง เพราะมันมีพิกเซลให้แสดงความโค้ง ความหยักมากกว่านั่นเอง ดังนั้นจึงทำให้เวลามองภาพบนจอมือถือ จอเครื่องเกมพีซีพกพาแล้วจะรู้สึกว่าภาพมันคมกว่าบนเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ภาพจะดูคม จอเครื่องพกพาจะความละเอียดสูงขนาดไหนก็ตาม แต่เวลาเล่นเกม พลังประมวลผลกราฟิกของส่วน GPU ก็ยังเป็นจุดสำคัญอยู่ดี ซึ่งก็จะมาเจอกับข้อจำกัดด้านความร้อน ทำให้พลังกราฟิกอาจต้องถูกลดทอนลงมา เพื่อให้สามารถเล่นเกมบนเครื่องได้ ซึ่งระดับที่เล่นเกมได้ ก็คือการที่ภาพไม่กระตุก นั่นคือมีเฟรมเรตที่ค่อนข้างนิ่ง ส่วนถ้าเป็นเกมแนวแอคชัน เกมที่ต้องเคลื่อนที่ตัวละครเยอะ ๆ ก็ควรต้องมีเฟรมเรตไม่ต่ำกว่า 30fps นั่นจึงทำให้ผู้เล่นอาจจะต้องปรับลดระดับกราฟิกในเกมลง รวมถึงอาจต้องปรับค่าความละเอียดภาพในเกม หรือปรับระดับการสเกลภาพของตัวเครื่องเอง เพื่อให้สามารถเล่นเกมได้ลื่น ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลถึงความสวยงามของภาพด้วย ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นข้อจำกัดของการเล่นเกมบนเครื่องพกพาเลยครับ ยังดีที่จอมีขนาดเล็ก เลยอาจจะพอกลบความไม่ละเอียดของจุดเล็ก ๆ ในภาพได้อยู่ ส่วนเรื่องรีเฟรชเรต อันนี้แทบไม่มีผลมากนักกับการเล่นเกมเลย ใช้แค่ 60Hz ก็ยังพอ เพราะการปั่นเฟรมเรตเกมในเครื่องพกพานั้นคงทำได้ยากหน่อย อันเนื่องมาจากข้อจำกัดข้างต้น จะพอได้บ้างก็ในเกมที่กราฟิกไม่สูงมาก หรือเกมเก่าหน่อย และยิ่งถ้าเอาไปต่อภาพออกจอนอกเป็นหลัก ปัจจัยเรื่องจอในตัวคือแทบไม่ต้องนำมาพิจารณาเลย
ต่างจากในเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ที่เอื้อต่อการปลดปล่อยประสิทธิภาพด้านกราฟิกได้เต็มศักยภาพกว่า รีเฟรชเรตก็ปั่นได้สูงกว่าด้วย ทำให้เรื่องความสวยงามของภาพขณะเล่นเกม เกมมิ่งโน้ตบุ๊กกินขาดกว่าแน่นอน แต่ถ้ามองในแง่ของความสวยของภาพในการใช้งานทั่วไป จะเป็นฝั่งเครื่องเกมพีซีพกพาที่ภาพดูสวยเนียนตากว่า
การควบคุม
จุดประสงค์หลักของเครื่องเกมแบบพกพาก็คือให้ผู้ใช้งานสามารถเล่นเกมได้ แม้จะไม่ได้นั่งอยู่หน้าคอม หน้าทีวี ด้วยการทำให้ตัวเครื่องทำได้จบในตัว จึงทำให้ดีไซน์มักจะเป็นการวางปุ่มควบคุมที่ออกแบบคล้ายจอยเกมขนาบหน้าจอทั้งสองฝั่งซ้ายและขวา โดยแต่ละแบรนด์ แต่ละรุ่นก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยในการออกแบบที่ต่างกันไป แต่หลัก ๆ คือจะคำนึงถึงหลักการยศาสตร์ ความถนัดในการจับถือ การกด รวมถึงยังมีการเพิ่มปุ่มพิเศษเข้าไป เพื่อให้รองรับการควบคุม การปรับแต่งหน้าที่ได้มากขึ้น
ซึ่งการควบคุมในรูปแบบจอยเกมนี้ อาจจะมีบางคนที่เป็นสายเล่นเกมบนพีซีเป็นหลักมานาน รู้สึกว่าไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ รวมถึงเกมบางประเภทก็อาจจะไม่เหมาะกับการใช้จอยด้วย เช่นเกมแนว RTS เกมที่ต้องอาศัยการคลิกเป็นหลัก เป็นต้น ทำให้ถ้าซื้อเครื่องเกมพีซีพกพามาใช้งาน แล้วอยากเล่นเกมประเภทนี้ อาจจะต้องพกเมาส์ คีย์บอร์ดติดตัวไว้ด้วย ซึ่งอีกนิดก็คือจะกลายเป็นโน้ตบุ๊กไปแล้ว
อีกจุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการควบคุม การสั่งงานก็คือการใช้งานที่นอกเหนือจากการเล่นเกม เพราะระบบปฏิบัติการที่เครื่องเกมพกพามักเลือกใช้งานเป็นหลักก็คือ Windows 11 ที่เป็นตัวเดียวกับบนพีซีปกติเลย จะมีบางรุ่นจริง ๆ ที่รองรับระบบปฏิบัติการอื่นแบบเต็มตัวด้วย เช่น Steam Deck ที่มาพร้อมกับ SteamOS ซึ่งหลายท่านก็มักลงแบบ dual boot คู่ไปกับ Windows 11 อยู่ดี และเมื่อเป็น Windows แน่นอนว่าอุปกรณ์ควบคุมที่ตอบโจทย์การใช้งานที่สุดก็หนีไม่พ้นเมาส์ แม้ว่าเครื่องเกมแบบพกพาจะใช้เป็นจอสัมผัสก็ตาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางทีเมาส์มันก็ใช้งานกับ Windows ได้ง่ายกว่าจริง
ซึ่งก็จะมีเครื่องเกมบางรุ่นที่มีแถบทัชแพดมาให้บนจอยติดเครื่องด้วย ที่ก็อยู่ในระดับที่พอใช้งานได้ระดับนึงเลย ตรงนี้ถ้าใครจำเป็นต้องใช้เมาส์ แล้วไม่อยากพกเมาส์จริงติดตัว ก็อาจจะต้องมองหาเครื่องรุ่นที่มีทัชแพดมาให้ในตัวไว้ก่อน นอกจากนี้ก็จะมีบางรุ่นที่มีฟังก์ชันพิเศษอีกเช่น Lenovo Legion Go อันนี้คือถอดจอยแยกออกมาใช้ได้แบบ Nintendo Switch เลย แถมยังมีโหมด FPS ให้เอาจอยข้างขวามาใช้เล่นเกมในลักษณะคล้ายกับการเหนี่ยวไกปืนด้วย ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ฉีกจากตลาดพอตัวอยู่เหมือนกัน
จะอย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงความหลากหลายของการควบคุม แน่นอนว่าเกมมิ่งโน้ตบุ๊กเหนือกว่าอยู่แล้วครับ เพราะแค่คีย์บอร์ดที่มีติดตัวเครื่อง กับเมาส์ที่หลายท่านคงพกกันอยู่แล้ว ก็สามารถเล่นได้แทบทุกเกมแบบไม่มีข้อจำกัดเลย หรือบางท่านที่เซียนยิ่งกว่า จะเล่นผ่านทัชแพดก็ยังไหว ส่วนถ้าอยากใช้จอย ก็มีจอยเกมให้เลือกใช้ได้หลากหลายแบบอีกด้วย แต่สุดท้าย ประเด็นนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการพกพาด้วยอยู่ดี ถ้าสะดวกพกชิ้นเดียว หรือเกมที่ต้องการเล่น เป็นเกมที่ออกแบบมาให้ใช้จอยเล่นได้ 100% ก็เลือกเครื่องเล่นเกมพกพาที่จับถนัดมือ มีฟังก์ชันเหมาะกับความต้องการได้เลย
ความอเนกประสงค์
แม้ว่าเครื่องเกมพกพาจะถูกนำเสนอในแง่ของการใช้เล่นเกมเป็นหลักก็ตาม แต่ด้วยความที่ตัวเครื่องสามารถใช้งาน Windows 11 ตัวเต็มได้ เท่ากับสามารถติดตั้งโปรแกรมได้ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กหรือเดสก์ท็อปทั่วไปเลย ทำให้จริง ๆ แล้วเครื่องเหล่านี้ก็คือคอมพิวเตอร์พกพาดี ๆ เครื่องนึงนี่เอง ดังนั้นผู้ใช้จึงสามารถใช้ทำงานได้เช่นกัน จะใช้ Excel ทำ Photoshop หรือตัดต่อวิดีโอผ่าน Davinci Resolve ก็ทำได้สบาย ๆ (แต่ถ้างานหนักก็รอหน่อย ด้วยข้อจำกัดเรื่องความร้อน)
แต่ด้วยความที่หน้าจอมีขนาดเล็ก ประกอบกับรูปแบบในการควบคุม การสั่งงานนั้นอาจจะไม่เหมาะกับใช้ทำงานเต็มตัว จึงจำเป็นต้องต่ออุปกรณ์เสริม เช่น ต่อจอแยก เมาส์ คีย์บอร์ดไร้สาย เป็นต้น เพื่อให้สามารถใช้งานได้แบบเดียวกับการใช้โน้ตบุ๊กเลย แต่ก็จะมีข้อจำกัดนิดนึงตรงเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อ เพราะที่ตัวเครื่องเกมพกพามักจะให้พอร์ต USB 4.0 แบบ USB-C มาแค่ 1-2 พอร์ตเท่านั้น แล้วไหนจะต้องต่อสายชาร์จไฟอีก เลยอาจจะต้องใช้ฮับช่วยเพิ่มพอร์ต หรือพวก expansion dock และอาศัยใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ประเภทไร้สายแทน
ส่วนในการใช้งานเพื่อความบันเทิงแบบอื่น ๆ เช่น ดูหนัง ดูสตรีมมิ่ง ฟังเพลง อันนี้ลงตัวมาก ด้วยตัวเครื่องที่ไม่ใหญ่มากเกิน แต่ก็ยังมีหน้าจอที่ใหญ่กว่ามือถือส่วนใหญ่อยู่ดี ทำให้มันค่อนข้างเหมาะกับการใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อความบันเทิง อย่างถ้าเบื่อกับการเล่นเกม ก็เอาเครื่องมาตั้งบนโต๊ะแล้วเปิดหนังดูได้เลย
ส่วนเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก อันนี้ในแง่ของการใช้งานอื่น ๆ นอกเหนือจากการเล่นเกมนั้นเทียบเท่ากันได้เลย แต่จะมีข้อได้เปรียบคือมันครบสมบูรณ์ในตัว เพียงแค่กางหน้าจอออกมาก็ใช้ได้ทันทีแบบแทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอีก หรือถ้าต้องต่ออุปกรณ์เพิ่ม ส่วนใหญ่แล้วตัวเครื่องก็จะให้พอร์ตมามากกว่าด้วย และอีกจุดคือเกมมิ่งโน้ตบุ๊กสามารถรีดประสิทธิภาพมาใช้กับการทำงานได้ดีกว่า ด้วยระบบระบายความร้อนที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องเล่นเกมพกพา ซึ่งจุดนี้จะเห็นผลเวลาใช้ทำงานที่ต้องมีการคำนวณ การเรนเดอร์ภาพ เป็นต้น
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่
ข้อนี้ จากผลการทดสอบส่วนใหญ่ระบุว่ากลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพามักจะใช้เล่นเกมได้นานสุดราว ๆ 2 ชั่วโมง ในขณะที่เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก มักจะอยู่ในช่วง 2-4 ชั่วโมง แล้วแต่รุ่น สเปคและการตั้งค่า
ส่วนถ้าต้องการชาร์จไฟเข้าเครื่อง ชาร์จไฟขณะเล่น ในกรณีของเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ทางที่ปลอดภัยสุดก็คือใช้อะแดปเตอร์ที่มากับเครื่อง หรือถ้าตัวเครื่องรองรับการชาร์จผ่าน USB-PD ด้วย ก็สามารถใช้อะแดปเตอร์และสาย USB-C ที่รองรับ PD มาชาร์จได้เช่นกัน แต่อาจจะยากนิดนึงสำหรับเครื่องที่สเปคสูง เพราะมักจะต้องใช้อะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟเกิน 100W ขึ้นไป เช็คง่าย ๆ คือกำลังวัตต์จะต้องไม่ต่ำกว่าอะแดปเตอร์ที่แถมมากับเครื่อง มิฉะนั้นถ้าเล่นเกมไปชาร์จไป ไฟอาจจะแทบไม่เข้าเลยก็ได้
สำหรับฝั่งเครื่องเกมพกพา อันนี้จะค่อนข้างง่ายกว่าครับ ใช้อะแดปเตอร์หรือแม้กระทั่ง powerbank ก็ยังได้เลย ขอแค่สามารถจ่ายไฟได้ 65W ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งหาง่ายและราคาไม่สูงมากแล้วด้วย อย่างอะแดปเตอร์ GAN 65W ของที่มียี่ห้อหน่อยก็ราคาเริ่มต้นเกือบพัน ส่วน powerbank 65W ดี ๆ ขนาดไม่ใหญ่เกินจะพกพา ก็ราคาอยู่ที่สองพันกลาง ๆ แถมอุปกรณ์พวกนี้ยังสามารถนำไปใช้กับมือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊กที่กินไฟไม่เกิน 65W ได้ด้วย ลงทุนครั้งเดียวคุ้มแน่นอน
ในประเด็นนี้ก็ถือว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดเด่นจุดด้อยกันไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กจะได้เรื่องระยะเวลาการใช้งานแบตที่ยาวนานกว่า แต่เครื่องเกมพีซีพกพาจะได้เรื่องการหาอุปกรณ์ชาร์จที่ง่าย พกสะดวก สามารถเติมไฟระหว่างวันได้ง่ายกว่า
การอัปเกรด และอุปกรณ์เสริม
ประเด็นเรื่องการอัปเกรดอุปกรณ์ เกมมิ่งโน้ตบุ๊กจะได้เปรียบอยู่เล็กน้อยตรงที่ส่วนใหญ่จะสามารถเปลี่ยนหรืออัปเกรดได้ทั้ง SSD เพื่อให้มีความจุเพิ่มขึ้น และเพิ่มแรมให้มีความจุมากกว่าเดิม หรืออาจขยับมาใช้แรมที่บัสสูงขึ้นได้ ในกรณีที่เครื่องรองรับ
ในขณะที่เครื่องเกมพีซีพกพาจะมีข้อจำกัดมากกว่า โดยอาจจะทำได้แค่เปลี่ยน SSD เท่านั้น ซึ่งในบางรุ่นก็อาจจะต้องใช้ SSD ขนาดเล็กที่ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในตลาดทั่วไปด้วย อีกทั้งมักจะมีขั้นตอนในการเปลี่ยนที่ยุ่งยากกว่า เสี่ยงต่อการทำเครื่องเสียหายมากกว่า ถ้าหากไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสม และไม่เชี่ยวชาญในการแกะเครื่องมากนัก แต่ถ้าต้องการเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลแบบง่าย ๆ ก็สามารถใส่ MicroSD ความเร็วสูงเข้าไปใช้ได้อยู่ ส่วนเรื่องของแรม อันนี้ตัดไปได้เลยครับ เพราะทุกรุ่นไม่สามารถซื้อแรมมาใส่เพิ่มได้ เนื่องจากใช้เป็นแรมแบบติดมากับบอร์ดเลย ดังนั้นต้องเลือกให้จบตั้งแต่ตอนซื้อ โดยขั้นต่ำก็จะให้มาที่ 16GB ซึ่งก็พอใช้เล่นเกมได้อยู่ ถ้าจะให้สบายใจหน่อยก็ควรเลือกเครื่องที่ให้แรม 32GB มาเลย แต่ก็ยังมีให้เลือกในไทยไม่มากนัก ประกอบกับราคาทะลุเกิน 30,000 บาทด้วย
ต่อมาคือเรื่องอุปกรณ์เสริม แน่นอนว่าด้วยความที่เกมมิ่งโน้ตบุ๊กก็คือโน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่งนี่เอง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถหาอุปกรณ์เสริมมาใช้ได้ตามสบาย ตามพอร์ตเชื่อมต่อที่มี และความต้องการใช้งานได้เลย ในกรณีที่อยากเล่นเกมได้แรงกว่าเดิม ถ้าเป็นเครื่องที่มีพอร์ต Thunderbolt หรือ USB 4 อยู่แล้ว ก็สามารถหา External GPU (eGPU) เพื่อใช้พลังของการ์ดจอแยกในการเรนเดอร์ภาพในเกมได้อีก เพื่อให้ได้ภาพที่สวยขึ้น หรือเฟรมเรตลื่นกว่าการ์ดจอที่ติดตั้งมาในโน้ตบุ๊กจากโรงงาน
ด้านของเครื่องเกมพกพา จริง ๆ แล้วอุปกรณ์เสริมก็สามารถใช้ร่วมกับโน้ตบุ๊ก เดสก์ท็อปได้ครับ ขอแค่ต้องใช้หัวเชื่อมต่อเป็น USB-C เท่านั้นเอง ส่วนถ้าต้องใช้อุปกรณ์เสริมเยอะ ๆ ก็หา Expansion dock หรือฮับที่เป็น USB-C มาต่อกับตัวเครื่อง ส่วนสายเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ๆ ก็ไปต่อที่ dock หรือฮับได้เลย
ส่วนกรณีที่ต้องการเล่นเกมได้ดีขึ้น ภาพสวยกว่าเดิม เฟรมเรตสูงกว่าที่เครื่องทำได้ ก็จะมีเครื่องพกพาบางรุ่นที่ระบุมาแต่แรกเลยว่าสามารถใช้งานร่วมกับ eGPU ได้ มีไดรเวอร์มาพร้อม นอกจากนี้ก็จะมีบางรุ่นที่ทางแบรนด์ออกชุด eGPU ออกมาวางขายร่วมด้วยเลย อย่างของ ASUS ที่มี XG Mobile ออกมาขาย ซึ่งมาพร้อม RTX 4090 และสายเชื่อมต่อที่ออกแบบมาเพื่อ ROG Ally เท่านั้น เป็นต้น
ทำให้ถ้าเทียบในเรื่องการอัปเกรดเครื่อง และการใช้งานอุปกรณ์เสริม เกมมิ่งโน้ตบุ๊กจะมีข้อได้เปรียบกว่าเล็กน้อย
ราคา
ปิดท้ายกันด้วยเรื่องราคา หากอิงจากราคาเครื่องเกมพกพาในช่วงปลายปี 2023 ถ้ารวมทั้งเครื่องหิ้วและเครื่องที่นำมาขายผ่านศูนย์ไทย โดยมากแล้วจะเริ่มต้นกันตั้งแต่หมื่นกลาง ๆ ขึ้นไป กับสเปคที่ใช้ชิป Ryzen Z1 แรม 16GB SSD 256GB เรื่อยไปจนถึงประมาณ 40,000 กว่าบาท ด้วยสเปคที่ใช้ชิป Ryzen 7 ซีรีส์ 6000 แรม 32GB SSD 2TB
ซึ่งถ้าเทียบกับฝั่งเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ที่จะมีช่วงราคาเริ่มต้นประมาณสองหมื่นนิด ๆ สเปคที่ได้ก็ตามตารางในหัวข้อประสิทธิภาพครับ คือเป็น Ryzen 5 หรือ 7 ซีรีส์ 5000 หรือ 7000 ส่วนฝั่ง Intel ก็จะได้เป็น Core i5 gen 12 หรือ Core i7 gen 11 ที่เป็นซีรีส์ H แรม 8GB SSD 523GB จากนั้นเมื่อไล่สูงขึ้นมาถึงช่วงงบ 40,000 กว่า ๆ ส่วนใหญ่ก็จะได้เป็น Intel Core i5/i7 gen 13 รหัสลงท้าย H หรือ HX ไม่ก็ AMD Ryzen 5/7 ซีรีส์ 7 รหัสลงท้าย HS จับคู่มากับการ์ดจอ RTX 4050 หรือ 4060 ในบางรุ่น
แน่นอนว่าความแรงฝั่งเกมมิ่งโน้ตบุ๊กนั้นทิ้งห่างเครื่องเกมพีซีพกพา อย่างถ้าในรุ่นราคาสูง อันนี้คือชนะแน่นอน เพราะแม้เครื่องพกพารุ่นท็อป ๆ จะใช้ Ryzen 7 6800U เทียบเท่ากับในโน้ตบุ๊กก็ตาม แต่ก็ใช้เพียงกราฟิกในตัวที่เป็น Radeon 680M เท่านั้น ซึ่งความแรงยังเทียบกับ RTX 4050 ไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็คือข้อจำกัดในด้านความร้อน ที่ต้องคุมอุณหภูมิให้ได้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก ชุดระบายความร้อนก็มีขนาดเล็กตาม ส่งผลให้ตัวชิปร้อนเร็ว และเมื่อร้อนเร็ว ชิปก็ต้องลดระดับประสิทธิภาพของตัวเองลง (throttle) ทำให้ได้ประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ากับชิปกราฟิกในเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ประกอบกับต้องคุมการใช้พลังงานด้วย เพื่อให้สามารถใช้แบตเตอรี่ได้ยาวนานสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ดังนั้นถ้าพิจารณาเรื่องราคาควบคู่กับความแรง ประสิทธิภาพ อันนี้เกมมิ่งโน้ตบุ๊กชนะขาด แต่ถ้ามองในแง่ความสะดวกในการใช้งาน เพราะแม้โน้ตบุ๊กจะมีประสิทธิภาพต่อราคาที่สูงกว่า แต่ในบางสถานการณ์เราก็ไม่สามารถกางหน้าจอออกมาใช้งาน หรือใช้เล่นเกมได้เหมือนกัน ซึ่งในจุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละท่านให้ความสำคัญกับปัจจัยใด ตีมูลค่าออกมาเท่าไหร่ และรูปแบบการใช้งานเป็นแบบไหนด้วย เพราะบางทีเราแค่อยากเล่นเกมพีซีขึ้นมาขณะที่อยู่นอกบ้าน หรือจำเป็นต้องเช็คงานด่วน ๆ แต่ไม่สะดวกจะหยิบโน้ตบุ๊กออกมา การใช้เครื่องพกพาในแบบนี้มันก็ตอบโจทย์ได้ดีและเร็วทันใจ ทำให้การจ่ายราคาที่แพงกว่า กลายเป็นเรื่องคุ้มกว่าได้อยู่เหมือนกัน
สรุป: เครื่องเกมพกพา vs เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก
เมื่อพิจารณาดูจากประเด็นต่าง ๆ หลายท่านคงพอได้ไอเดียแล้วว่าจะเลือกซื้ออะไรดีระหว่างเครื่องเล่นเกมพีซีพกพากับเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ซึ่งปัจจัยหลักที่สองสิ่งนี้แตกต่างกันก็ได้แก่
- ระดับประสิทธิภาพต่อราคา
- ความสะดวกในการพกพา การหยิบขึ้นมาใช้งาน
- รูปแบบและโปรแกรมที่ต้องใช้งานเสริมด้วย
ซึ่งถ้าจับประเด็น 3 ข้อนี้ และสามารถตอบคำถามได้ว่าต้องการแบบไหน ก็น่าจะช่วยในการตัดสินใจเลือกได้ดีทีเดียว อย่างถ้ามีงบซักสามหมื่น อยากได้เครื่องเพื่อทำงานตอนกลางวัน เล่นเกมตอนกลางคืนและวันหยุดด้วย เกมมิ่งโน้ตบุ๊กอาจจะเหมาะกว่า หรืองบเท่ากัน ใช้ทำงานแบบไม่หนักมาก เล่นเกมแบบไม่ซีเรียสเรื่องกราฟิก เน้นพกง่าย ถือไปไหนมาไหนสะดวก สามารถหิ้วเครื่องไปมาได้ทุกวัน กรณีนี้เครื่องเล่นเกมพีซีแบบพกพาอาจจะตอบโจทย์กว่าเป็นต้น
รวมถึงอีกแบบคือถ้าต้องการซื้อคอมมาใช้เป็นเครื่องหลัก และอาจต้องเผื่อใช้งานได้อเนกประสงค์ แบบนี้แนะนำว่าซื้อเกมมิ่งโน้ตบุ๊กจะครอบคลุมกว่า ส่วนถ้ามีคอมเครื่องหลักอยู่แล้ว แต่อยากได้ gadget มาใช้เล่นเกมเวลาว่าง เวลาเดินทางไกล และไม่ได้ซีเรียสเรื่องภาพว่าต้องสวยคม แสงเงาสะท้อนสมจริง แบบนี้เครื่องเกมพกพาน่าจะตรงโจทย์ความต้องการเลย