ประกอบคอมใหม่ Intel® Core™ processors (14th Gen) กับการ์ดจอ Intel ARC A750 เพิ่มความแรง รีดเฟรมเรตสำหรับคอเกม AAA ยุคใหม่
ในช่วงปลายปี 2023 นี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังจะประกอบคอมใหม่ เพื่อให้เล่นเกมใหม่ๆ ในปีต่อไปได้อย่างลื่นไหล แต่การเลือกใช้อุปกรณ์มาประกอบควรจะต้องมีเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเล่นเกม การทำงาน ไปจนถึงการสตรีมมิ่ง หรือเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีอีกด้วย เช่นเดียวกับทาง Intel ที่ปัจจุบันมีทั้งซีพียู Intel® Core™ processors (14th Gen) รุ่นใหม่ และกราฟิกการ์ด Intel ARC series ที่มาพร้อมเทคโนโลยีในการรีดเฟรมเรตให้กับการเล่นเกม และการทำงานด้านวีดีโอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับคอมประกอบรุ่นใหม่ ที่เรานำมาให้ชมกันในวันนี้ กับขุมพลังจากซีพียู Intel® Core™ i9 processor 14900K และกราฟิกการ์ด Intel® Arc™ graphics A750 รุ่นล่าสุด และแรมระบบ DDR5 กับเทคโนโลยีพิเศษอีกมากมาย ที่ทำให้การเล่นเกมที่ได้เฟรมเรตลื่นไหล สนุกมากยิ่งขึ้น มาชมกันครับว่าด้วยสเปคระดับนี้จะให้ประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างไร และมีค่าใช้จ่ายเท่าไรบ้าง
และใครที่กำลังวางแผนจะประกอบคอมใหม่ สำหรับการเล่นเกม หรือทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน เตรียมพบกับโปรโมชั่นพิเศษจากทาง Intel ในงาน Commart Best Deal ที่จัดขึ้นในวันที่ 30 Nov – 3 Dec 2023 นี้ เปิดบูธให้คุณเข้ามาทดสอบความแรงของซีพียูรุ่นใหม่ สามารถเข้ามาทดลองใช้งานในบูธอินเทล B4/1 บริเวณ Hall 98-99 ที่ไบเทค บางนา
เลือกอุปกรณ์ประกอบคอมเล่นเกมอย่างไรดี?
การเลือกประกอบคอมสำหรับเล่นเกม กราฟิกการ์ดและซีพียู มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำงาน โดยกราฟิกการ์ดจะทำหน้าที่ในการประมวลผลและสร้างภาพสามมิติในเกม รวมถึงทำหน้าที่ในการแสดงผล ซึ่งซีพียูแม้จะมีประสิทธิภาพที่สูง แต่ก็รับโหลดการทำงานหลายอย่าง เพราะเหมือนเป็นศูนย์รวมของการทำงานเกือบทั้งหมดในระบบ แต่กราฟิกชิปหรือ GPU จะรับหน้าที่เฉพาะการประมวลผลกราฟิกเพียงอย่างเดียว แม้ว่าซีพียูจะมีแกนหลักหรือ คอร์จำนวนมาก แต่ก็ยังน้อยกว่า GPU แม้จะมีคอร์ขนาดเล็ก แต่ก็มีจำนวนมากเป็นพันๆ (CU) และทำงานเพียงหน้าที่เดียว จึงมารับหน้าที่ในการเล่นเกมหรือทำงานด้านกราฟิก 3 มิติได้เต็มที่มากกว่า อย่างไรก็ดี การเลือกซีพียูประสิทธิภาพสูงมาประกอบคอมสำหรับเล่นเกม ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้กราฟิกการ์ดสามารถทำงานได้อย่างไหลลื่นมากขึ้น
ซีพียู
เมื่อประกอบคอมใหม่ ซีพียูเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน เพื่อให้ระบบสามารถทำงานร่วมกันได้ และเกมใหม่ๆ ในปัจจุบันมีการเรียกใช้สัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้น รวมถึงการมีคอร์ เธรดจำนวนมาก ก็ช่วยให้การทำงานร่วมกับกราฟิกได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมเมอร์ที่เล่นเกมด้วย และแคสเกมไปด้วย ซีพียูมีบทบาทอย่างมาก การเลือกซีพียูที่มีศักยภาพที่ดี ย่อมส่งผลต่อในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเฟรมเรต ช่วยในการเข้ารหัสหรือถอดรหัส สำหรับการสตรีม รวมไปถึงการประมวลผลภาพและความซับซ้อนของชุดคำสั่ง เมื่อใช้ในการทำงานและการเล่นเกมต่างๆ ส่งผลต่อการเพิ่มประสบการณ์ในการเล่นเกมที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ถ้าคุณเป็นคอเกมที่อยากจะจริงจังกับการเล่นเกมมากขึ้น และมองว่าการแคสเกม ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของคุณในวันข้างหน้า เรามีซีพียูที่น่าสนใจมาแนะนำกัน
Intel® Core™ processors (14th Gen) รุ่นใหม่ล่าสุด เป็นซีพียูในแบบไฮบริด ที่ออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะประกอบด้วย Performance Core (P-core) ที่เป็นแกนหลักสำหรับงานหนัก เช่น การเล่นเกมและงานออกแบบ ที่มีเวิร์คโหลดที่หนักหน่วง และ Efficient Core (E-core) จะช่วยจัดการงานเบา หรืองานที่อยู่เบื้องหลัง แต่ใช้งานพร้อมกันหลายเธรด ไม่ว่าจะเป็น การท่องอินเทอร์เน็ต เปิดเว็บเบราว์เซอร์ หรือการซิงก์กับระบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังในการประมวลผลมาก ทำให้ประหยัดพลังงาน และความร้อนก็น้อยลงอีกด้วย
นอกจากจะแยกแกนหลักแบบไฮบริดให้รับโหลดการทำงานที่ต่างกันได้แล้ว ยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Intel Thread Director ที่จะช่วยในการปรับโหลดการทำงานของแกนหลักให้เหมาะสมอีกด้วย อย่างเช่น การเล่นเกม บางครั้งใช้แกนหลักน้อย ก็สามารถเรียกใช้ P-core ได้เต็มที่ และยังเพิ่มสัญญาณนาฬิกาให้เร็วขึ้นด้วยการบูสท์ เพื่อการทำงานที่รวดเร็ว หรือบางช่วงเวลา เปิดดูข้อมูลงานเอกสาร คู่กับการบีบอัดไฟล์ พร้อมกับสตรีมมิ่งดูหนัง และอัพโหลดไฟล์ขึ้น Cloud Storage ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พลังของซีพียูที่แรง แต่ใช้เป็นการกระจายโหลดไปยัง E-core ซึ่งมีหลายคอร์ เท่านี้ก็ทำงานเสร็จได้อย่างรวดเร็วแล้ว
หรือถ้าในกรณีที่มีการเล่นเกม พร้อมๆ ไปกับการแคสสตรีม ซึ่งจะมีเวิร์คโหลดค่อนข้างหนัก เพราะซีพียูมาช่วยในการประมวลผล ร่วมกับกราฟิกการ์ด และยังต้องรับหน้าที่ในการจัดการโปรแกรมที่นำมาใช้ในการสตรีม และการแสดงผลอื่นๆ ก็จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง P-core และ E-core ได้ นอกจากนี้ซีพียูของ Intel รุ่นที่ไม่มี F ต่อท้าย จะเป็นรุ่นที่มีกราฟิก Integrate มาในตัว มีส่วนช่วยในการ Encode/ Decode หรือการเข้ารหัสและถอดรหัสวีดีโอ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Intel Quick Sync ที่สามารถใช้ร่วมกับแอพพลิเคชั่นด้านวีดีโอและการบรอดแคสในปัจจุบัน อย่างเช่น Adobe Premier Pro หรือ Blackmagic DaVinci Resolve เป็นต้น
เมนบอร์ด
เมนบอร์ดก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการประกอบคอมที่ทำหน้าที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นซีพียู แรม การ์ดจอ ระบบ Storage ไปจนถึงการจัดการเรื่องระบบพลังงานต่อมาจากเพาเวอร์ซัพพลาย แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน ถ้าเป็นซีพียู Intel ก็จะประกอบไปด้วยชิปเซ็ต H, B และ Z series ซึ่งแต่ละซีรีส์ ก็จะมีความพิเศษแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างของชิปเซ็ตล่าสุดสำหรับ LGA1700
- H610 เป็นชิปเซ็ตระดับเริ่มต้น สำหรับเกมเมอร์ที่มีงบประมาณจำกัด แต่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบครัน เหมาะกับซีพียูระดับ Intel Pentium, Core i3 หรือ Core i5 ข้อจำกัดส่วนใหญ่จะรองรับแรมได้เพียง 2 สล็อตเท่านั้น
- B660 และ B760 เป็นชิปเซ็ตระดับกลางที่เหมาะกับเกมเมอร์ และคนทำงาน ที่ต้องการศักยภาพสำหรับการทำงานที่จริงจังมากขึ้น มีช่องทางการเชื่อมต่อและการติดตั้งฮาร์ดแวร์ได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น PCI-Express หรือ Storage M.2 PCIe ก็ตาม สนับสนุนแรมได้ทั้งแบบ DDR4 และ DDR5 รองรับการตั้งค่าแรมแบบ XMP Profile เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่จะใช้ซีพียูในกลุ่ม Intel Core i5 หรือ i7 รองรับการอัพเกรดได้ดีพอสมควร
- Z690 และ Z790 เป็นชิปเซ็ตรุ่นท็อปสุด สำหรับซีพียู Intel LGA1700 จุดเด่นอยู่ที่ปรับแต่งได้ รองรับการโอเวอร์คล็อก มีช่องทาง PCI-Express มากขึ้น รองรับฮาร์ดแวร์ความเร็วสูงได้ โดยเฉพาะมาตรฐานใหม่ PCIe 5.0 ความเร็วสูง เหมาะสำหรับเกมเมอร์ และนักโอเวอร์คล็อกกับซีพียูที่มีรหัส “K” และ “KF” ต่อท้าย สำหรับคอเกมหรือคนทำงานที่ต้องการเพาเวอร์อัพให้เข้ากับซอฟต์แวร์ระดับมืออาชีพ รวมถึงเหล่าสตรีมเมอร์ที่ต้องการการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่หลากหลาย
แรม
มีส่วนอย่างมากในการประกอบคอมเล่นเกม เพราะจะช่วยให้การส่งข้อมูลสำหรับประมวลผล ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะการโอนถ่ายข้อมูล มีความรวดเร็ว หากคุณใช้ซีพียู Intel® Core™ processors (13th Gen) และ Intel® Core™ processors (14th Gen) รุ่นใหม่ “Raptor Lake” จะรองรับการใช้งานทั้งแบบ DDR4 และ DDR5 ขึ้นอยู่กับว่า เลือกใช้เมนบอร์ดแบบใด แรมเหมาะสำหรับการเล่นเกมในระดับพื้นฐานอยู่ที่ 8GB แต่เกมระดับ AAA ก็มักจะมีข้อกำหนดความต้องการของแรมที่เพิ่มมากขึ้น อย่างน้อย 16GB ขึ้นไป แต่ถ้าต้องการใช้สำหรับการเล่นเกมและการแคสเกมหรือสตรีมไปพร้อมกันนั้น อาจจะต้องมีอย่างน้อย 32GB เพื่อความไหลลื่นเมื่อต้องเปิดแอพพลิเคชั่นหลายอย่างพร้อมกัน และถ้าต้องการแบนด์วิทธิ์ที่กว้าง ซึ่งเปรียบเสมือนช่องทางของถนนให้ข้อมูลวิ่งไปได้ทีละมากๆ แบบไม่ติดขัด แรม DDR5 เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะให้แบนด์วิทธิ์ที่กว้างกว่าแรม DDR4 อยู่ไม่น้อย อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถปรับเพิ่มความเร็วของแรมให้สูงขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Intel XMP ได้อีกด้วย
กราฟิกการ์ด
กราฟิกการ์ดหรือการ์ดจอ มีผลอย่างมากต่อการประกอบคอมเล่นเกม ตั้งแต่เกมระดับพื้นฐาน เกมออนไลน์ทั่วไป จนถึงเกมระดับ AAA ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกมที่มีทั้งฉาก รายละเอียดของตัวเกม เนื้อหา และคัทซีนที่มากขึ้นกว่าเกมทั่วไป และมักจะมาพร้อมความต้องการของระบบที่สูง การเลือกใช้การ์ดจอให้เหมาะสม ก็ช่วยให้การเล่นเกมไหลลื่น และคุ้มค่าต่อการใช้งาน
การเลือกการ์ดจอ มีหลายสิ่งต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น รุ่น ซีรีส์ เวอร์ชั่น แม้ว่าการ์ดจอจะใช้กราฟิกชิปเดียวกัน มี CUDA core, Stream processor, Compute Unit และอื่นๆ แบบเดียวกันบนชิป แต่องค์ประกอบบางอย่างอาจไม่เหมือนกัน อย่างเช่น สัญญาณนาฬิกา Base clock, Boost clock, Game clock ที่บางรุ่นมาในระดับพื้นฐาน แต่บางรุ่นก็โอเวอร์คล็อกมาให้จากโรงงาน ให้สังเกตตัวเลขมากกว่า หมายถึงให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า (กรณีที่มีพื้นฐานชิป GPU เดียวกัน)
VRAM หรือ Graphic memory แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ก็อาจจะไม่เหมือนกัน แม้จะอยู่บนพื้นฐานกราฟิกชิปเดียวกัน โดยเฉพาะความเร็ว Gbps ตรงนี้ก็เช่นกัน ตัวเลขมากกว่าย่อมดีกว่า เช่น 17Gbps และ 21Gbps เป็นต้น แต่ VRAM จะมากหรือน้อยกว่า ไม่ได้บอกถึง แรงกว่าหรือดีกว่า แต่อยู่ที่บริบทของการ์ดจอรุ่นนั้นๆ จะมีสิ่งอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เพราะจะมีเรื่องของความเร็ว VRAM, Memory Bandwidth, Bus width และ Memory Interface เป็นต้น บางรุ่นมี VRAM เยอะกว่าจริง แต่ Interface ต่ำกว่า ก็อาจจะช้ากว่ากันได้
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยให้การเล่นเกมสนุก และให้เฟรมเรตที่ไหลลื่นขึ้นอีกด้วย อย่างเช่น Intel® Arc™ graphics A750 ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับได้ทั้งการทำงาน และการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็น Xe Core ที่มาพร้อมกับ Ai ในตัว และรองรับเทคโนโลยีอย่าง Ray Tracing ที่ทำให้ภาพในเกมมีความสมจริง และด้วยการอัพสเกล ที่ช่วยเพิ่มความละเอียดของภาพให้มากยิ่งขึ้น ด้วยฮาร์ดแวร์พิเศษ Ai XeSS เพื่อการเล่นเกมที่มีรายละเอียดที่สวยงาม แต่ไม่ลดเฟรมเรต ทำให้ยังได้ภาพที่ไหลลื่นอีกด้วย โดยการ์ดจอIntel® Arc™ graphics A300 series, Intel® Arc™ graphics A500 series และ Intel® Arc™ graphics A700 series เป็นทางเลือกให้กับเกมเมอร์ประกอบคอมได้ตามความต้องการและสอดคล้องกับเกมที่เล่นในชีวิตประจำวัน
Storage
สำหรับการประกอบคอมเล่นเกมปัจจุบันจะมีหลายเกมที่ใช้พื้นที่ติดตั้งขนาดใหญ่ การเปิดไฟล์ และการเข้าถึงไฟล์ รวมถึงบรรดาเปิดคัทซีนต่างๆ ต้องรวดเร็ว ยิ่งเป็นเกมใหม่ๆ ในปัจจุบัน SSD มีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งการเลือก SSD มาใช้สำหรับเล่นเกม ก็จะมีเรื่องของ ความจุ ถ้ามีเกมเยอะ ก็ต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก เลือกความจุเผื่อสำหรับเกมในอนาคตเอาไว้ด้วย แต่ถ้ามีแค่ 2-3 เกม ความจุระดับ 500GB ก็เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ถ้ามีเกมเยอะกว่านั้น และเอาไว้เก็บข้อมูล พร้อมลงโปรแกรมด้วย แนะนำความจุ 1TB ขึ้นไป เพื่อทำงานได้ราบลื่น นอกจากนี้ต้องสังเกตเมนบอร์ดด้วยว่า รองรับ SSD M.2 NVMe PCIe เวอร์ชั่นไหน 2.0, 3.0 หรือ 4.0 อัพเกรดด้วย SSD ในเวอร์ชั่นที่เร็วที่สุด เท่าที่คุณจะซื้อหามาได้ ก็เหมาะสม เพราะความเร็วที่ได้แตกต่างกันพอสมควร ปัจจุบันอย่าง Intel Core 14th และชิปเซ็ต Intel Z790 รองรับการทำงานของ SSD PCIe 5.0 แล้ว ให้ความเร็วในการทำงานที่มากกว่า 10,000MB/s (Read) ซึ่งเร็วกว่า SSD SATA III หลายเท่าตัวเลยทีเดียว
เพาเวอร์ซัพพลาย
สุดท้าย ถ้าคุณจะประกอบคอมสำหรับเล่นเกม นอกจากจะให้ความสำคัญกับฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ก็ต้องไม่ลืมเลือกเพาเวอร์ซัพพลายที่ดี ทั้งการจ่ายไฟ ได้เพียงพอต่อ รองรับโหลดในขณะที่การ์ดจอ Full load ได้ดี ด้วยการดูที่ตัวเลข Watt รวมบน +12V ของเพาเวอร์ ตัวเลขยิ่งมาก หมายความว่ารองรับการจ่ายไฟให้ระบบได้มาก แต่ถ้าในกรณีที่เพาเวอร์ซัพพลายเดิมจ่ายไฟให้ไม่ไหว ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เพื่อเสถียรภาพและความปลอดภัยในการใช้งาน
อีกสิ่งหนึ่งคือ Power connector ต้องพร้อมสำหรับการใช้งาน โดยคอนเน็คเตอร์ ที่เป็นแบบ 6+2 pins ควรมีอย่างน้อย 2 ชุด เพื่อใช้ต่อกับการ์ดจอได้ครบถูกต้อง หรือบางรุ่นต้องใช้หัวต่อแบบ PCIe 5.0 หรือ 12VHPWR ซึ่งหากใช้เพาเวอร์รุ่นเก่า ก็ต้องใช้ตัวแปลง ที่มากับการ์ดจอ แต่ก็ต้องดูด้วยว่า มีหัวต่อจ่ายไฟครบหรือไม่ ถ้ามีอันไหนไม่ครบ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเพาเวอร์ซัพพลายใหม่ แต่สำหรับการ์ดจอ Intel ARC A750 มีค่า TDP แค่ 225W เท่านั้น และใช้หัวต่อแบบ 8-pins และ 6-pins อย่างละหัวเท่านั้น จึงง่ายต่อการติดตั้ง เพาเวอร์เดิมที่ใช้งานอยู่ก็สามารถใช้ได้
สเปคคอมเล่นเกม Intel
และถ้าคุณกำลังประกอบคอมเล่นเกม ที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์ด้านความบันเทิง เล่นเกมทั่วไปจนถึงระดับฮาร์ดคอร์ และการทำงานของคุณได้อย่างเต็มที่ เรามีตัวอย่างคอมเล่นเกมมาแนะนำกัน ด้วยขุมพลัง Intel Core 14th รุ่นใหม่ล่าสุด มาคู่กับเมนบอร์ดชิปเซ็ต Z790 เพื่อรองรับกับฮาร์ดแวร์ความเร็วสูงรุ่นใหม่ และฟีเจอร์มากมายสำหรับการเล่นเกม รวมไปถึงการสนับสนุนแรม DDR5 ที่ติดตั้งมาในระบบนี้ คู่กับการ์ดจอ Intel® Arc™ graphics A750 เพื่อตอบโจทย์ทั้งในการเล่นเกม และการทำงานด้านวีดีโออีกด้วย
- ซีพียู: Intel® Core™ i9 processor 14900K
- เมนบอร์ด: Intel ASUS ROG MAXIMUS Z790 Dark Hero
- แรม: Kingston FURY BEAST DDR5 32GB
- SSD: PNY CS3040 M.2 NVMe PCIe 500GB
- กราฟิกการ์ด: Intel® Arc™ graphics A750 GDDR6 8GB
การทดสอบ
ในการทดสอบครั้งนี้ จะประกอบไปด้วยโปรแกรม Benchmark และเกม รวมถึงการทดสอบด้วยโปรแกรมทำงานด้านวีดีโอ กราฟิก 3 มิติ รวมถึงการเล่นเกมใหม่ๆ เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของระบบโดยรวม เมื่อนำมาใช้งานจริง
CPUz
ในเบื้องต้นเป็นรายละเอียดของซีพียู Intel® Core™ i9 processor 14900K ซึ่งมาพร้อมการทำงานแบบไฮบริด โดยมี 8 P-core และ 16 E-core และมี 32 Thread เท่ากับซีพียู Intel Core i9 processor 13900K รุ่นก่อนหน้านี้ แต่มีสัญญาณนาฬิกาเริ่มต้น 3.2GHz และ Turbo Boost ที่สูงกว่า เพราะทำได้ถึง 6.0GHz ในขณะที่ Intel Core i9 processor 13900K จะมี Base clock (P-core) 3.0GHz และ Boost ไปได้ที่ 5.8GHz เท่านั้น ในขณะที่มีค่า TDP เท่าๆ กัน นั่นก็หมายถึง Intel® Core™ processors (14th Gen) รุ่นใหม่นี้ สามารถรีดประสิทธิภาพได้มากขึ้นกว่าในรุ่นที่ผ่านมา ในการทดสอบเบื้องต้นกับ CPU Bench บน CPUz ผลเป็นไปตามคาดในการทดสอบแบบเบื้องต้นนี้
PCMark10
มาที่ผลทดสอบระบบโดยรวมจาก PCMark10 กันบ้าง ซึ่งจะเป็นการทดสอบร่วมกับซอฟต์แวร์ในชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงาน เว็บเบราว์เซอร์ และงานวีดีโอ มัลติมีเดีย คะแนนผลทดสอบทำได้มากกว่า 8,000 คะแนน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงในระดับของพีซีเดสก์ทอป ส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพของซีพียู Intel® Core™ i9 processor 14900K ที่จัดว่าเป็นตัวท็อปสุดในเวลานี้ และส่วนที่โดดเด่นก็มีทั้ง Essentials ที่เป็นงานและแอพพลิเคชั่นทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซีพียูระดับ 24 core แบบนี้รองรับงานด้านมัลติทาส์กได้สบาย เฉพาะแค่ E-core ก็จัดการงานเหล่านี้ได้แล้ว และยังมี P-core ที่มารองรับงาน Digital Content Creation ที่เป็นงานกราฟิก ตัดต่อวีดีโอและการด้านภาพ เมื่อทำงานคู่กับกราฟิกการ์ด Intel® Arc™ graphics A750 ที่มีเทคโนโลยีรองรับงานเหล่านี้ จึงให้ผลทดสอบที่ได้จากการประกอบคอม Intel นี้ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ
AIDA64
AIDA64 เป็นโปรแกรมสำหรับการทดสอบซีพียู กราฟิก และหน่วยความจำ Memory และ Cache ที่อยู่บนซีพียู ในการทดสอบนี้เราได้ผลตัวเลขออกมาได้อย่างน่าสนใจ เพราะในส่วนของ Cache & Memory นั้น หน่วยความจำที่เราสามารถเปิดใช้ Intel XMP Profile 1 ให้แรมทำงานที่ DDR5 6000 นั้นให้ อัตราการอ่านข้อมูล (Read) ได้ถึง 92,734MB/s และการเขียนข้อมูลที่ 79,774MB/s ซึ่งเมื่อเทียบกับแรม DDR5 4800 ถือว่า Intel Core i9-14900K ให้แบนด์วิทธิ์ในการโอนถ่ายข้อมูลได้กว่าพอสมควร และการมี Intel XMP ก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานร่วมกับแรมความเร็วสูงได้อย่างเต็มที่ และสามารถทำได้ด้วยการปรับที่ BIOS ของเมนบอร์ดแบบง่ายๆ ส่วนของ L3-Cache ที่จัดว่ามีบทบาทต่อการพักข้อมูลในการประมวลผลให้กับซีพียูทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น
Geekbench 6
ทดสอบกับการทำงานของซีพียูในเบื้องต้นด้วย Geekbench 6 ทั้งในส่วนของ Single Thread แม้ว่า Base clock ของ Intel® Core™ i9 processor 14900K จะเริ่มที่ 3.2GHz แต่ก็ยังให้ตัวเลขที่มากกว่า Core i9 processor 12900K ที่มี Base clock 3.20GHz เช่นเดียวกัน แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะ Boost clock ของ Intel® Core™ i9 processor 14900K นั้นไปได้ถึง 6GHz มากกว่า Gen 12 ที่ทำได้เพียง 5.2GHz เท่านั้น และ L3-cache ของซีพียูรุ่นใหม่ ก็ยังมากกว่าอีกด้วย เพราะฉะนั้นใครที่ต้องใช้แอพพลิเคชั่นที่รองรับการทำงานแบบ Multi-core หลายแกนหลักช่วยกัน เช่น การตัดต่อวีดีโอ สร้างงานกราฟิกหรือในเกมบางเกม Intel® Core™ i9 processor 14900K ตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้
CINEBench R20/ R23 และ R24
โปรแกรมที่เป็นตัวทดสอบสำหรับการสร้างงาน 3D แอนิเมชั่น สำหรับงานสร้างภาพกราฟิก และเหล่าศิลปินที่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างโมเดลเคลื่อนไหว ตัวละคร และงานโมชั่นกราฟิก ซึ่งผลที่ได้จาก CINEBench R20/ R23 และ R24 จัดว่าทำได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบแบบ Single Core และ Multi Core กับตัวเลขที่แซงหน้าอดีตเรือธงอย่าง Intel Core i9 processor 12900K ได้ไม่ยาก ซึ่งหากคุณใช้ซีพียูในรุ่นระดับเดียวกันนี้ หรือเป็นรุ่นที่รองกว่า การอัพเกรดมาใช้ Intel® Core™ i9 processor 14900K ก็ช่วยให้การสร้างงานกราฟิก โมเดล 3 มิติของคุณได้เร็วกว่าเดิม ประหยัดเวลาไปสร้างงานชิ้นต่อไปได้อีกด้วย
V-Ray
เป็นปลั๊กอินสำหรับการเรนเดอร์งาน 3D สำหรับการออกแบบ ที่ใช้กับโปรแกรมกราฟิก รวมถึงงาน CAD และยังเข้าไปเป็นองค์ประกอบใน 3ds Max, CINEMA4D หรือ SketchUp เป็นต้น ในการทดสอบนี้ จะเป็นตัวแทนการเรนเดอร์โปรเจกท์สำหรับงานโครงสร้าง และงานภาพยนตร์ โดยผลทดสอบที่ได้ ตัวเลขยิ่งมาก หมายถึงประสิทธิภาพที่ดี ให้หน่วยเป็น Ksamples และ Intel® Core™ i9 processor 14900K ยังคงทำผลงานได้ดี ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 31,628Ksamples สำหรับ V-Ray 4.10 และ 22,238Vsamples สำหรับ 5.0 หากเทียบกับซีพียู Intel® Core™ processors ในรุ่นก่อนๆ Intel® Core™ processors (14th Gen) ทำผลงานแซงไปอย่างขาดลอย ซีพียูรุ่นนี้ ไม่เพียงเหมาะสำหรับการประกอบคอมเล่นเกมเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์การทำงานด้าน 3D ได้ดีพอสมควร
Blender
Blender กันบ้าง เป็นงานสร้างโมเดล 3D และเรนเดอร์กราฟิกที่ได้รับความนิยม สำหรับกลุ่มคนที่สร้างงานออกแบบ ซึ่งซีพียูมีผลอย่างมากในการทำงาน เพราะนอกจากจะประมวลผลได้รวดเร็ว ก็ยังประหยัดเวลาในการทำงาน งานเสร็จเร็วขึ้น ผลการทำงานจะออกมาเป็น Samples per Minute ตัวเลขยิ่งมาก หมายถึงประสิทธิภาพที่ดี โดย Intel® Core™ i9 processor 14900K ยังทำผลงานได้ดี ด้วยตัวเลข Sample Rate ที่มากกว่า ถ้าเทียบกับผลที่เราเคยทดสอบได้บน Intel® Core™ i5 processor 14600K และ Intel® Core™ i9 processor 12900K อีกด้วย เป็นอีกครั้งที่ยืนยันถึงความสามารถของซีพียูรุ่นใหม่ ที่รองรับโหลดการทำงานของโปรแกรมเฉพาะทางได้ดีอีกรุ่นหนึ่ง
Corona Bench 1.6
Corona Bench เป็นโปรแกรมทดสอบความสามารถด้านกราฟิก 3 มิติให้ตัวเลขเป็น ความสามารถในการเรนเดอร์ภาพ ต่อวินาที ตัวเลขยิ่งมากหมายถึงดีกว่า ซึ่งตรงนี้ Intel® Core™ i9 processor 14900K ทำได้ถึง 12.11M (ล้าน) Ray per sec. ซึ่งสูงกว่า Intel Core i9 processor 12900K ที่ทำได้เพียง 7.7M (ล้าน) Ray per sec. เท่านั้น และตัวเลขของระยะเวลาในการเรนเดอร์กราฟิก Intel® Core™ i9 processor 14900K ใช้เวลาเพียง 40 วินาที ในขณะที่ Intel Core i9 processor 12900K ใช้เวลาถึง 1 นาทีด้วยกัน ซึ่งหากเป็นสเกลของโมเดลงานขนาดใหญ่ ก็จะเห็นผลได้ชัดขึ้น ลดเวลาในการเรนเดอร์งานไปได้อีกด้วย
SPECviewperf 2020
เป็นโปรแกรมทดสอบความสามารถของการเรนเดอร์แบบจำลองโครงสร้างและการสร้างโมเดล 3 มิติ ซึ่งจะอาศัยความสามารถของกราฟิกการ์ดเป็นหลัก โดยจะหนักไปทางงานของ เวิร์กสเตชั่น และผลทดสอบที่ออกมา ต้องถือว่าทำได้ค่อนข้างดีสำหรับ Intel® Arc™ graphics A750 ที่สามารถรันโปรแกรมนี้จนเสร็จสิ้น ไม่ว่าจะเป็น 3ds Max, SolidWork หรือ Catia ก็ตาม กับตัวเลขที่ได้ตามผลทดสอบนี้
ตัดต่อวีดีโอ
นอกจากนี้ในเรายังทดสอบในงานตัดต่อวีดีโอด้วยการ Export file video ระดับ 4K ความยาว 10 นาที ด้วยความสามารถในการเข้ารหัสของ Intel® Core™ i9 processor 14900K และกราฟิกการ์ด Intel® Arc™ graphics A750 ก็ช่วยให้งานด้านนี้เสร็จสิ้นได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจากที่เราได้ทดสอบทั้งการใส่วีดีโอฟุตเทจ มีเอฟเฟกต์ในบางจุด เพิ่มเสียงและซูเปอร์เข้าไป ก็ใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น ก็สามารถเรนเดอร์ออกมาเป็นวีดีโอได้เสร็จสิ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Intel Deep Link Hyper Encode ช่วยให้กราฟิกและซีพียูทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพให้รองรับกับเวิร์กโหลดหนักๆ ได้ดียิ่งขึ้น จึงช่วยลดเวลาในการ Encode ทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น และเทคโนโลยีนี้ ยังเข้าไปมีส่วนกับงานในหลายๆ ด้านอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม หรือการสตรีมมิ่งเป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีชุดคำสั่ง Encode / decode engine ที่รองรับงานวีดีโอ ที่อยู่ใน Intel ARC มาให้ ซึ่งรองรับบรรดา Codec สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น AV1 / HEVC / H265 / H264 / VP9 และอื่นๆ มาในตัว ซึ่งทำให้การใช้ในงานวีดีโอ ตัดต่อ การสตรีมมิ่ง และงานสามมิติ ทำได้คล่องตัวกว่าเดิม และที่สำคัญคือ ฟีเจอร์เหล่านี้มาในการ์ดตั้งแต่ระดับเริ่มต้นราคาไม่กี่พันบาทอย่าง Intel® Arc™ graphics A380 ไปจนถึง Intel® Arc™ graphics A750 อีกด้วย รวมไปถึง Intel Ai ที่ผู้ใช้สามารถใช้กับโปรแกรมที่รองรับอย่าง Adobe และอื่นๆ ที่รองรับ Ai ในปัจจุบันได้อีกมากมาย
3DMark
ตัวเลขคะแนนที่ได้บน 3DMark นี้ ไม่ว่าจะเป็นฉาก Time Spy หรือ Fire Strike จัดว่ากราฟิกการ์ด Intel® Arc™ graphics A750 ยังคงให้ผลทดสอบออกมาได้อย่างน่าประทับใจ เพราะถ้ามองว่าสนนราคาของกราฟิกการ์ดในระดับแค่หมื่นบาท หากเป็นการ์ดจาก Third Party ราคามีให้เห็นที่ 9 พันกว่าบาทเท่านั้น แต่สามารถให้ผลทดสอบได้ในระดับนี้ ย่อมสร้างความมั่นใจในการเล่นเกมได้น่าประทับใจ และเหมาะกับเกมเมอร์ที่เล่นบน Resolution 1080p ได้ลื่นไหล และยิ่งเป็นการ์ดเอนกประสงค์ ที่เข้ากันได้ทั้งการเล่นเกมและการทำงาน ก็สามารถนำไปต่อยอดกับงานด้านกราฟิก วีดีโอได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
ทดสอบเกม
ในการประกอบคอมเล่นเกม Intel นี้ ด้วยพลังการทำงานของซีพียูทั้งในแบบ Single thread และ Multi-thread เป็นสิ่งสำคัญด้วยกันทั้งคู่ เพราะบางเกม เรียกใช้สัญญาณาฬิกาที่สูง ซึ่งซีพียู Intel® Core™ i9 processor 14900K ที่นำมาใช้นี้ ให้การบูสท์ได้ถึง 6GHz ในโหมด Turbo Boost ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า ด้วย Intel® Thermal Velocity Boost ทำให้มั่นใจได้ว่าจะทำงานคู่กับกราฟิกการ์ดได้แบบไม่สะดุด แต่ในบางเกมหรือบางแอพพลิเคชั่น ที่เรียกใข้คอร์หรือแกนหลักจำนวนมาก ซีพียู Intel® Core™ processors 14th Gen นี้ ก็มีให้ถึง 24 core/ 32 thread จึงมีศักยภาพที่เหลือเฟือนั่นการเล่นเกม อย่างหลายเกมที่เราเล่นอยู่นี้ ก็ใช้พลังแค่ 4-8 core เท่านั้น
Call of duty: Warzone 2
เกมฟอร์มยักษ์แนว Action FPS กับ Battle Royale ที่ทำออกมาได้น่าสนใจ และมีโหมดในการเล่นมากมาย เรียกใช้สเปคแบบโหดๆ เล่นบนความละเอียด 2K 1440p กับการตั้งค่า Extreme Settings และเปิดใช้ XeSS ในการอัพสเกลภาพ สิ่งที่ได้คือ ความไหลลื่น ภาพที่สวยเนียนสบายตา กับเฟรมเรตเฉลี่ยประมาณ 80fps และพุ่งไปถึง 90fps. ในบางจังหวะ ทำให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิวและศัตรูภายในเกมได้ชัดเจน ส่วนตัวชอบเล่นแนวสไนเปอร์ การวางกล้อง เล็งศูนย์ทำได้แม่นยำ เวลาเจอเอฟเฟกต์ก็แทบไม่มีอาการสะดุด เรียกว่าเก็บ Kill ได้แบบเนียนๆ แต่ถ้าอยากได้ 100fps. ขึ้นไป ลองปรับเป็น High ดูครับ เล่นกับจอระดับ 120Hz ขึ้นไปได้แบบสวยๆ
Forza Horizon 5
มาอีกหนึ่งเกมที่ภาพสวยมากสำหรับคอเกมแนว Racing ที่ชอบเกมที่มีความสวยเนียน การเคลื่อนไหวรอบตัวที่ดูต่อเนื่อง ใครที่ชอบภาพสวยสดใส ดูมีมิติไม่ควรพลาด โดยเมื่อ Intel® Core™ i9 processor 14900K จับคู่กับ Intel® Arc™ graphics A750 เล่นบนโหมดความละเอียด 2K 1440p พร้อมตั้งค่า Extreme เรียกว่าปรับสุด แต่เพื่อให้มีความลื่นไหล ลองเปิดใช้ Intel XeSS เพื่ออัพสเกลให้เล่นได้รายละเอียดที่ดีขึ้น เลือกโหมด Balanced ให้เฟรมเรตได้เฉลี่ยราวๆ 57fps. สูงสุดราวๆ 60-62fps. ซึ่งก็เป็นภาพที่เนียนตา เอฟเฟกต์มาได้ค่อนข้างประทับใจ แต่ถ้ารู้สึกว่าดูโหลดไป อยากได้ลื่นกว่านี้สัก 80fps. ขึ้นไป ก็อาจจะลดลงมาเป็น High setting แล้วเปิด XeSS เพิ่ม เท่านี้เฟรมเรตก็ไหลกว่าเดิมไปแบบสวยๆ
Cyberpunk 2077
และเกมล่าสุดอย่าง Cyberpunk 2077 เกมแนว Action Adventure ภาพสวยในสไตล์ของค่ายนี้ กับฉากสุดอลังการ แต่ไม่ได้เรียกสเปคให้ตึงมือมากนัก เป็นอีกครั้งที่เราได้ใช้ประโยชน์จากการอัพเสกลด้วย เพราะเรายังใช้การทดสอบแบบโหดๆ กับ Intel® Core™ i9 processor 14900K และ Intel® Arc™ graphics A750 ในเครื่องให้เต็มที่มากที่สุด ด้วยการปรับ Ultra settings เน้นภาพสวยๆ เก็บรายละเอียดได้มากที่สุด บนโหมด 1440p และเปิดใช้ XeSS ในการอัพสเกล ในโหมด Quality อัตราเฟรมเรตที่ได้อยู่ที่ราว 55fps. สูงสุดประมาณ 64fps. ก็จัดว่าเล่นได้ลื่นพอสมควรแล้ว แต่ถ้าเน้นเฟรมให้ไหลกว่านี้ ลองปรับเป็น High จะได้ราวๆ 100fps. บนจอรีเฟรชเรตสูงๆ ดูสบายตากว่าเดิม
Resident Evil 4 Remake
เป็นอีกแนวเกมที่หลายๆ คนน่าจะชื่นชอบ กับความหลอนของฉากกับเสียงที่เขย่าขวัญได้ดีทีเดียว เกมนี้มีให้เปิดใช้ Ray-tracing ด้วยครับ แต่งานนี้เราจัดมาด้วยการเปิดใช้ High settings 8GB และปิดใช้งาน XeSS เอาแบบพลังดิบมาทดสอบ ภาพที่ได้จัดว่าสวยงาม มีรายละเอียดแบบชนิดที่เห็นจุดและรอยแผลต่างๆ บนตัวสัตว์ทดลองได้อย่างชัดเจน รวมถึงเฉดแสงเงาในฉากมืดที่ดูกลมกลืน และจังหวะเอฟเฟกต์กระสุนและระเบิดกระจายได้ชัดเจน ใครชอบแนว Haunted ประกอบคอมพีซี Intel เซ็ตนี้ คุณจะเล่นได้อย่างสนุก บนความละเอียด 2K ได้ถึง 70fps. เลยทีเดียว
WiFi 7
นอกจากในเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์เฉพาะทาง และการ Benchmark ต่างๆ รวมถึงการเล่นเกม การมาของซีพียู Intel® Core™ processors (14th Gen) ยังตอบโจทย์ในด้านความคล่องตัวในการเชื่อมต่อได้ดียิ่งขึ้น หลายท่านคงทราบกันดีกว่า การประกอบคอมหรือพีซีตั้งโต๊ะทั่วไป มักจะมีข้อจำกัดในเรื่องการเชื่อมต่อไร้สายหรือ WiFi (Wireless LAN) ที่บางส่วนเป็นรุ่นเก่า ความเร็วไม่สอดคล้องกับการใช้งาน แต่ Intel® Core™ processors (14th Gen) รุ่นใหม่นี้ รองรับการเชื่อมต่อ WiFi 7 (802.11be) ใหม่ล่าสุด และยังใช้งานร่วมกับ Intel WiFi 6E ได้เช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้การเล่นเกมหรือการสตรีมมิ่งที่ต้องการแบนด์วิทธิ์ในการเชื่อมต่อข้อมูลที่เป็นมีเดียคุณภาพสูงเป็นไปอย่างราบลื่น แม้ว่าในปัจจุบันในบ้านเรายังคงเป็นมาตรฐาน WiFi 6E แต่มั่นใจได้ว่าในอนาคตคุณจะได้สัมผัสกับความเร็วแบบก้าวกระโดด ด้วยความเร็วสูงสุดของ WiFi 7 (802.11be) นั้น เหนือกว่า WiFi 6E อยู่ถึง 4 เท่า ฉะนั้นจึงมีผลต่อการถ่ายโอนข้อมูลที่มากกว่า สามารถใช้ร่วมกับความถี่สัญญาณเดิมได้ เพิ่มช่องทางการสตรีมได้มากขึ้น ในการใช้งาน MU-MIMO และฟีเจอร์อื่นๆ อีกเพียบ ซึ่งอาจจะทำให้คุณลืมการใช้งาน Gigabit LAN ไปได้เลย ไม่ต้องต่อสายให้วุ่นวายกันอีกต่อไป
โอเวอร์คล็อกง่ายแค่ปลายนิ้ว Intel XTU
และสำหรับคนที่ชื่นชอบการปรับแต่งโอเวอร์คล็อก ไม่ต้องไปวุ่นวายกับการเซ็ตค่าที่ยุ่งยาก เพราะทาง Intel จัดเตรียมยูทิลิตี้มาให้ปรับแต่งด้วยเลย เพียงแค่ไปดาวน์โหลดโปรแกรมที่เรียกว่า Intel XTU หรือ Intel Extreme Tuning Utility ช่วยให้การโอเวอร์คล็อกซีพียูได้สนุกมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปปรับใน BIOS เสมอไป หากคุณไม่ชำนาญพอ เพราะการปรับแต่งนี้ง่าย สามารถทำเองได้ แถมยังได้ความเร็วเพิ่มมากขึ้น เหมาะสำหรับคอเกมหรือคนทำงานที่ต้องการความเร็ว Clock ที่มากขึ้น การใช้งานง่าย แค่เปิดโปรแกรม กดปุ่ม Optimize Now เท่านี้ จากการทดสอบเราสามารถดันไปแบบเบาๆ ที่ 6.1GHz ด้วย Ai ในซีพียูนั้น ช่วยให้การปรับแต่งได้รวดเร็ว หรือถ้าคุณเริ่มคุ้นเคยอยากจะปรับให้ละเอียดด้วยตัวเอง ในหัวข้อ Advanced Tuning ที่จะมีตัวเลือกที่มากกว่าเดิม ให้คุณปรับได้แบบมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นตัวคูณ แรงดันไฟ และยังปรับแยก P-core และ E-core ได้อีกด้วย
Conclusion
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของการประกอบคอม Intel® Core™ i9 processor 14900K ซีพียูทรงพลังสำหรับงานและความบันเทิง ที่มาพร้อมเทคโนโลยีมากมาย เพื่อรองรับคอเกมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ Hybrid มีทั้งแกนหลักประสิทธิภาพ P-core และแกนหลักสนับสนุนงานที่หลากหลาย E-core พร้อมกับ Intel Thread Director มาช่วยจัดการ กราฟิกภายในอย่าง Intel UHD Graphic 770 รุ่นใหม่ ยังแรงพอสำหรับการเล่นเกมทั่วไป จนถึงการทำงานด้านวีดีโอได้เป็นอย่างดี ด้วยเทคโนโลยี Intel Deep Link เพิ่มพลังในการทำงานและการเล่นเกมทำได้ดีขึ้น เมื่อทำงานร่วมกับกราฟิกการ์ดอย่าง Intel® Arc™ graphics A750 ซึ่งรองรับการเล่นเกมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือ มีฟีเจอร์อย่าง XeSS ทำให้การเล่นเกมบนความละเอียดสูงทำได้อย่างไหลลื่นทีเดียว นอกจากนี้หากคุณเลือกประกอบคอม Intel รุ่นใหม่ ก็ยังมีฟังก์ชั่นอีกมากมายให้คุณได้ใช้งาน เช่น การสนับสนุน WiFi7, Intel XTU ที่รองรับการโอเวอร์คล็อก ชิปเซ็ตที่รองรับแรม DDR5 และพอร์ตต่อพ่วงรุ่นใหม่ๆ อย่าง Thunderbolt 4 เป็นต้น
เตรียมพบกับโปรโมชั่นพิเศษจากทาง Intel ในงาน Commart Best Deal ที่จัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 นี้ ในบูธอินเทล B4/1 บริเวณ Hall 98-99 ที่ไบเทค บางนา