DeepCool AK400 AK560 และ AK620 ฮีตซิงก์ซีรีส์ใหม่ มีจอ LED บอกสถานะ อุณหภูมิในตัว เย็นสุดขั้ว
DeepCool AK Digital series เป็นฮีตซิงก์ในรุ่นถัดมา ที่ได้รับการเพาเวอร์อัพด้วยการเสริมจอ LED เพื่อแสดงผลอุณหภูมิและโหลดการทำงานของซีพียูให้ทราบอัตโนมัติ ทั้งในรุ่น AK400, AK500 และ AK620 Digital รวมถึงการเปลี่ยนจากฮีตซิงก์อะลูมิเนียมเดิมๆ มาเป็น Fin หรือครีบระบายความร้อน พัดลมและฮีตไปป์ในโทนสีดำทั้งบอดี้ ทำให้ดูดุดันและช่วยในการระบายความร้อนได้ดี เพิ่มความสวยงามด้วยแสงไฟ LED ในแบบ ARGB บริเวณด้านข้าง ปรับแต่งได้ด้วยซอฟต์แวร์บนเมนบอร์ดชั้นนำ รวมถึงพัดลมที่ให้ความเร็วรอบถึง 1,850rpm มีแรงลมช่วยในการระบายความร้อน และพิเศษคือ AK620 มาพร้อม 2 พัดลมในตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายลมได้ดียิ่งขึ้น แต่มีเสียงรบกวนที่น้อยมาก ราคาเริ่มต้นของฮีตซิงก์ AK Digital series นี้แค่ 1,690 บาทเท่านั้น
DeepCool AK Digital series ฮีตซิงก์มีจอ LED
Specification
AK400 Digital | AK500 Digital | AK620 Digital | |
Heatsink Dimensions (L×W×H) | 120×60×152 mm | 127×92×156 mm | 127×110×157mm |
Net Weight | 695 g | 1291g | 1486g |
Heatpipe | Ø6 mm×4 pcs | Ø6 mm×5 pcs | Ø6 mm×6 pcs |
Fan Dimensions (L×W×H) | 120×120×25 mm | 120×120×25 mm | 120×120×25 mm |
Fan Speed | 500~1850 RPM±10% | 500~1850 RPM±10% | 500~1850 RPM±10% |
Fan Airflow | 68.99 CFM | 68.99 CFM | 68.99 CFM |
Fan Air Pressure | 2.19 mmAq | 2.19 mmAq | 2.19 mmAq |
Fan Noise | ≤28 dB(A) | ≤28 dB(A) | ≤28 dB(A) |
Fan Speed (with LSP) | – | 500~1550 RPM±10% | – |
Fan Airflow (with LSP) | – | 52.24 CFM | – |
Fan Air Pressure (with LSP) | – | 1.2 mmAq | – |
Fan Noise (with LSP) | – | ≤25.9 dB(A) | – |
Fan Connector | 4-pin PWM | 4-pin PWM | 4-pin PWM |
Bearing Type | Fluid Dynamic Bearing | Fluid Dynamic Bearing | Fluid Dynamic Bearing |
Fan Rated Voltage | 12 VDC | 12 VDC | 12 VDC |
Fan Rated Current | 0.12 A | 0.12 A | 0.12 A |
Fan Power Consumption | 1.44 W | 1.44 W | 1.44 W |
LED Type | Addressable RGB LED | Addressable RGB LED | Addressable RGB LED |
LED Connector | 3-pin(+5V-D-G) and 9-pin USB 2.0 | 3-pin(+5V-D-G) and 9-pin USB 2.0 | 3-pin(+5V-D-G) and 9-pin USB 2.0 |
LED Rated Voltage | 5 VDC | 5 VDC | 5 VDC |
LED Power Consumption | 3 W | 4.5 W | 4.75 W |
Price | 1,690 | 2,490 | 3,290 |
ข้อมูลเพิ่มเติม: DeepCool
DeepCool AK400 Digital
DeepCool AK400 Digital น้องเล็กสุดในกลุ่มของฮีตซิงก์ที่นำมารีวิวในครั้งนี้ ในรูปแบบของทาวเวอร์ มาในโทนอะลูมิเนียมสีดำทั้งบอดี้ ต่างจาก AK400 รุ่นก่อนหน้า ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย ความสูงประมาณ 15.2cm ไม่เกะกะหรือติดฝาข้าง มีฮีตไปป์สีดำเส้นผ่าศูนย์กลาง 6mm ให้มา 4 เส้น พร้อมพัดลม 120 x 120mm ให้ความเร็วรอบสูงสุด 1,850rpm. และ Airflow ได้ค่อนข้างดี เสียงรบกวนน้อยมาก เพิ่มความสวยงามด้วยแสงไฟ LED ในแบบ ARGB ด้านบน ซึ่งเป็นเหมือนพาแนล บอกอุณหภูมิ สถานะการทำงานได้ หน้าสัมผัสเป็นทองแดง กับฮีตไปป์ที่สัมผัสกับซีพียูโดยตรง รองรับซีพียูซ็อกเก็ต Intel LGA1700/1200/1151/1150/1155 และ AMD AM5/AM4 สนนราคาอยู่ที่ 1,690 บาท
แพ๊คเกจมาในโทนสีขาวแบบเดียวกับ AK400 รุ่นก่อน ทั้งมิติและรายละเอียดข้อมูลที่ระบุมาในกล่อง แทบจะเป็นรูปแบบเดียวกัน มีเส้นสีเขียวออกฟ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมโลโก้แบรนด์ ให้ดูสะดุดตา
ภายในกล่องมีอุปกรณ์เสริมมาให้ พร้อมทั้งคู่มือการใช้งาน และบรรดาซ็อกเก็ตที่นำมาใช้ติดตั้งกับเมนบอร์ดทั้งของ Intel และ AMD
เพียงแต่ในรุ่นน้องอย่าง AK400 Digital นี้ จะรองรับซ็อกเก็ตได้น้อยกว่ารุ่นพี่ๆ อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าใช้งานร่วมกับซ็อกเก็ตพื้นฐานในปัจจุบันได้ครบ ไม่ว่าจะเป็น Intel LGA1700/ 1200/ 1151/ 1150/ 1155 และ AMD AM5/ AM4
บอดี้ดูสะดุดตา มาในโทนสีดำทั้งฮีตซิงก์และพัดลม มิติอยู่ที่ประมาณ 120×60×152 mm แบบเดียวกับ AK400 รุ่นก่อนหน้านี้
โครงสร้างของครีบระบายความร้อนเป็นอะลูมิเนียมจำนวนมาก บางและมีช่องเล็กๆ เพื่อให้สัมผัสกับอากาศที่มากับพัดลม
จากด้านหลังจะเห็นมุมมองครีบระบายความร้อน ลอดจนเห็นใบพัดลม รวมถึงฮีตไปป์ 4 เส้น
ด้านใต้ที่เป็นหน้าสัมผัสกับซีพียู มีซิลิโคนมาให้ด้วยแล้ว และขาล็อคที่ติดกับฮีตซิงก์มาด้วยเลย ใช้งานค่อนข้างสะดวก อย่างไรก็ดีหากมีซิลิโคนนำพาความร้อนที่ชอบอยู่ ก็สามารถเช็ดซิลิโคนเก่านี้ออกไปได้
จำนวนครีบระบายความร้อนจำนวนมาก พร้อมกับขาล็อคและฮีตไปป์ ทุกอย่างดูเรียบง่าย ดูเป็นฮีตซิงก์ที่เหมาะกับคนที่อาจจะเป็นมือใหม่ หรือไม่ชอบความซับซ้อน ประกอบคอมครั้งแรก แต่ต้องการชุดระบายความร้อนที่วางใจได้ เพราะใช้ไขควงอันเดียว กับการประกอบไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น
หัวต่อจะแบ่งออกเป็น 3 ชุด ประกอบด้วย หัวต่อกับ USB 2.0 connector บนเมนบอร์ด และ RGB 3 pins รวมถึงหัวต่อพัดลม 4-pin Fan เท่านั้น
พัดลมที่ให้มาขนาด 120 x 120mm ความหนา 25mm และให้รอบการทำงานที่ 500~1850 RPM±10% ที่น่าสนใจคือ เสียงค่อนข้างเบาแค่ ≤28 dB แต่ให้ปริมาณลมได้ถึง 68.99 CFM เลยทีเดียว และมุมของพัดลมยังเป็นแบบลดแรงสั่นสะเทือนได้ดีอีกด้วย
เมื่อเทียบกับ AK400 รุ่นก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่ามิติ แทบไม่ต่างกัน แต่หน้าตาของฮีตไปป์ จำนวนเท่ากัน ดูมีการจัดวางต่างกันไปเล็กน้อย ส่วนสีก็เปลี่ยนจากสีอะลูมิเนียมทั้งตัว ไปเป็นสีดำนั่นเอง
แถบด้านบนจะเป็นจอแสดงผล ซึ่งจะมีแสงไฟ LED ในการบอกสถานะ ซึ่งเราจะต้องต่อสาย USB 2.0 และ RGB บนเมนบอร์ด ก่อนใช้งาน
Install
มาดูที่การติดตั้งกันบ้าง สำหรับฐานอันนี้ ที่มีมาให้ในกล่อง สามารถใช้ร่วมกับฮีตซิงก์ในซีรีส์นี้ ได้เกือบทุกรุ่น จากที่เราได้ทดสอบ ไม่ว่าจะเป็น AK400 Digital, AK500 และ AK620 Digital ใช้ร่วมกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็น LGA1700 ของ Intel หรือ AMD AM4/ AM5 ก็ตาม แค่ปรับเลื่อนตรงขาทั้ง 4 มุมให้เข้ากับช่องบนเมนบอร์ดเท่านั้น
จากตัวอย่างเราใช้ซีพียู Intel Core Gen 13 ที่เป็น LGA1700 ต่อมาให้ใส่ตัวรองขาล็อคของฮีตซิงก์ จะเป็นตัวกลมๆ สีดำ ครอบลงไปที่หมุดของฐานด้านหลัง แต่มีข้อสังเกตเล็กน้อยคือ หมุดสีดำนี้ จะสวมเข้ากับตัวฐานด้านที่อยู่ด้านใต้มากนัก ทำให้บางครั้งควรนำเมนบอร์ดออกมาติดตั้งฮีตซิงก์ก่อนใส่ลงเคส น่าจะสะดวกมากกว่า
เมื่อติดตั้งหมุดสีดำแล้ว ให้นำที่ครอบโลหะ ให้ตัวหมุดที่ยื่นทั้ง 2 ด้านหงายขึ้น จากนั้นยึดด้วยน็อตสกรูทั้ง 4 ด้าน ตรงนี้ให้เช็คดีว่าหมุดรองสีดำ ยังคงอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง จากนั้นไขน็อตยึดให้แน่นอีกครั้ง
นำฮีตซิงก์ AK400 Digital วางลงไป จะเห็นว่าหมุดรองที่เป็นตัวยึดจะตรงกัน ให้ทิศทางของฮีตซิงก์เป็นแนวแบบนี้ เพื่อให้ทิศทางของลมที่พัดผ่านครีบระบายอากาศของฮีตซิงก์ไหลไปทางด้านหลังเคส
อย่าลืมหัวต่อที่มาจากฮีตซิงก์ เอามาต่อเข้ากับคอนเน็คเตอร์ USB 2.0 บนเมนบอร์ด จากตัวอย่างนี้ จะเป็นอันสีขาวๆ หรือเมนบอร์ดบางรุ่น จะเป็นสีดำ ให้ดูจากคู่มือเป็นหลัก
และหัวต่อจากฮีตซิงก์อีกอันหนึ่งคือ RGB จะเป็นแบบ 3 ช่อง ให้ต่อเข้ากับช่อง LED ARGB 3 pin บนเมนบอร์ด และต้องไม่ลืมต่อหัวต่อพัดลม 4-pins Fan สามารถใช้ได้ทั้ง CPU Fan หรือ Water Pump ก็ได้
เมื่อประกอบเสร็จแล้ว ก็จะออกมาเป็นหน้าตาแบบนี้ ตรงนี้ให้ลองขยับฮีตซิงก์ดูว่า มีการโยกคลอนหรือไม่ เพราะนั่นอาจหมายถึงไม่แนบสนิทหรือล็อคไม่ตรง มีผลต่อการระบายความร้อนอย่างมาก
เมื่อติดตั้งเสร็จสิ้นจะเห็นได้ว่า DeepCool AK400 มีมิติที่ไม่ใหญ่มากนัก เป็นทาวเวอร์ทรงสูง ทำให้ไม่ไปเบียดกับพื้นที่รอบข้างมากนัก ไม่ว่าจะเป็น การ์ดจอหรือแรมก็ตาม เหมาะสำหรับคนที่มีเคสในแบบ Mid-Tower ขนาดกลางได้ง่าย
หน้าจอแสดงผลลจะเริ่มทำงาน เมื่อเปิดใช้งานไปสักครู่ แล้วระบบมีการตรวจเช็คสิ่งต่างๆ ได้เรียบร้อยแล้ว แต่ต้องไม่ลืมต่อหัวต่อ USB connector บนเมนบอร์ดให้เรียบร้อยก่อนใช้งาน
ส่วนเรื่องของสีสัน และแสงไฟ RGB จะอยู่บริเวณขอบทางด้านบนของ LED สีดำ โดยสามารถปรับแสงสี เอฟเฟกต์ ร่วมกับซอฟต์แวร์เมนบอร์ดชั้นนำได้มากมาย อย่างเช่นที่ เราได้ทดลองใช้ ASRock POLYCHROME Sync ก็ใช้ร่วมกันได้ทั้ง 3 รุ่นที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้
บรรยากาศในการทดสอบของเรา โดยใช้ซีพียู Intel Core i9-12900K ซีพียูระดับ 125W TDP และ Peak 241W ซึ่งการทดสอบในเบื้องต้นนั้น สภาวะขณะ idle อยู่ที่ราวๆ 36 องศาเซลเซียส และเมื่อทดสอบให้ซีพียูรันที่ 100% ด้วย CPU Burner แบบทุก Core/ Thread จะอยู่ที่ประมาณ 68 องศาเซลเซียส เท่านั้น
ส่วนอีกการทดสอบหนึ่ง ก็ถือว่าโหดเช่นกัน กับการเรนเดอร์ 3 มิติด้วย CINEBench R23 ในแบบ Multi-CPU กับการดึงพลังซีพียูจนสุด รวมถึง P-Core และ E-Core ซึ่งก็ทำเอาช่วงแรกอุณหภูมิไปแตะที่ 90-92 องศาเซลเซียส ก่อนจะลงมาที่ราวๆ 68-70 องศาเซลเซียส โดยในช่วงที่ซีพียูทำงานเต็มที่ รอบพัดลมจะไปอยู่ที่ราวๆ 1,849rpm. ก็จัดว่าตามที่ระบุเอาไว้ และเสียงรบกวนน้อยมาก ยิ่งเมื่อปิดฝาเคสข้างไปแล้ว ก็แทบไม่ได้ยินเลยทีเดียว
จุดเด่น | ข้อสังเกต |
ขนาดกระทัดรัด ไม่เบียดกับอุปกรณ์รอบข้าง | ช่วงแรกที่มีโหลดหนักอุณหภูมิจะค่อนข้างสูง |
ระบายความร้อนได้ดี |
DeepCool AK500 Digital
ขยับมาที่ DeepCool AK500 Digital เป็นพี่รอง ที่มาพร้อมกับมิติที่ค่อนข้างใหญ่ขึ้นมาอีกนิด เหมาะสำหรับคนที่ต้องการศักยภาพในการระบายความร้อนที่ดีมากขึ้น รวมถึงการใช้ร่วมกับซีพียูรุ่นใหญ่อย่าง Intel Core i7 หรือ i9 รวมถึง AMD Ryzen 7 และ Ryzen 9 แต่ที่พิเศษกว่า AK400 Digital คือ รองรับซีพียูในกลุ่ม Intel LGA 2066 และ LGA 2011-v3 ที่เป็นซีพียูระดับไฮเอนด์ ไม่ว่าจะเป็น X หรือ XE seires รวมไปถึง Intel Xeon ในกลุ่ม Workstation ได้อีกด้วย
มาพร้อมมิติที่ใหญ่ขึ้นกว่า AK400 ทั้งเรื่องกว้าง-ยาว และความสูง อยู่ที่ประมาณ 127×92×156 mm รวมถึงน้ำหนัก ก็เพิ่มเข้ามาอีก 400-500 กรัมเลยทีเดียว แต่ก็ได้ฮีตไปป์เพิ่มมาเป็น 5 ท่อ และเพลตหน้าสัมผัสเป็นทองแดง ซึ่งหุ้มท่อฮีตไปป์เอาไว้อีกที บอดี้โดยรวมแบบเดียวกับ AK400 ไม่ว่าจะเป็นโทนสีดำทั้งชุด พัดลมขนาด 120 x 120mm ที่ 1,850rpm 1 ตัวเช่นเดียวกัน ด้านบนเป็นพาแนล LED ที่แสดงสถานะในการทำงาน รวมถึงมีแสงไฟ ARGB บริเวณขอบด้านข้างอีกด้วย สนนราคาอยู่ที่ 2,490 บาท
รองรับซีพียูซ็อกเก็ต Intel LGA2066/2011-v3/2011/1700/1200/1151/1150/1155 และ AMD AM5/AM4
แพ๊คเกจของ DeepCool AK500 Digital จะเริ่มต่างจาก Box ของ AK400 Digital อย่างเห็นได้ชัด เพราะมิติของฮีตซิงก์ที่ใหญ่ขึ้น กล่องก็ต้องกว้างขึ้นเช่นกัน มาในโทนของกล่องสีน้ำตาล และมีแถบสีขาวหุ้มอยู่ด้านนอก พร้อมกราฟิกของตัวฮีตซิงก์และรายละเอียดที่ระบุข้อมูลของผลิตภัณฑ์มาด้านหลังครบถ้วน
เมื่อเทียบตัวกล่องกับรุ่นพี่อย่าง DeepCool AK620 Digital แม้ว่า AK500 จะใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อแกะกล่องออกมา ภายในนั้นแยกออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ บอดี้ฮีตซิงก์และพัดลม อยู่ในชุดเดียวกัน ภายใต้โฟมหนาแน่นเพื่อกันกระแทก อีกส่วนหนึ่งจะเป็นกล่องกระดาษ ที่บรรจุอุปกรณ์เสริมและเครื่องมือเอาไว้ใช้เวลาติดตั้ง
และสิ่งที่อยู่ภายในกล่อง DeepCool AK500 Digital ประกอบด้วย ซิลิโคนที่ให้มาหลอดค่อนข้างใหญ่ทีเดียว สามารถใช้ได้หลายครั้ง ไขควง 4 แฉกแบบยาว และตัวล็อคพัดลมเพิ่มมาให้อีก 1 ชุด เพราะยังมีพื้นที่อีกด้านของฮีตซิงก์สำหรับติดตั้งได้ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ฐานที่เป็น Backplate เอาไว้ยึดเมนบอร์ดและฮีตซิงก์เข้าด้วยกัน และน็อตพร้อมขาล็อคสำหรับซีพียู Intel และ AMD ตามที่ระบุมาให้
สำหรับใครที่ไม่ค่อยคุ้นเคยในการติดตั้งฮีตซิงก์หรืออาจจะกังวลว่าจะประกอบได้ถูกต้องหรือเปล่า สามารถใช้คู่มือที่มีมาให้ได้ ที่สำคัญเห็นภาพชัดเจน และบอกได้ค่อนข้างละเอียดทีเดียว ดูไม่ซับซ้อน
บอดี้ของ AK500 Digital เมื่อแกะออกจากกล่องจะออกมาหน้าตาแบบนี้ คล้ายกับ AK400 Digital แต่มีความหนามากกว่า
ลองเทียบมิติกันระหว่าง AK500 Digital กับ AK400 รุ่นก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าต่างกันทั้งสี ขนาดและฮีตไปป์ รวมถึงพัดลม แต่ยังคงรูปแบบการติดตั้งดั้งเดิมไว้ ส่วนตัวมองว่ายังเป็นแบบที่ใช้งานง่ายเหมือนเดิม
สำหรับบอดี้ของ DeepCool AK500 Digital จะมีมิติอยู่ที่ 127×92×156 mm โดยประมาณ จัดว่าเป็นเกณฑ์ของฮีตซิงก์ไซส์กลางๆ ในตลาด ไม่ได้ใหญ่จนเกินไป
ความสูงของฮีตซิงก์อยู่ที่ราว 15.6cm ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ไม่มาก ติดตั้งในเคส Mid-Tower ทั่วไปได้ไม่ยาก รวมถึงน้ำหนักประมาณ 1.291Kg ไม่ได้หนักจนน่ากังวล
ด้านใต้ของฮีตซิงก์เป็นหน้าสัมผัส ที่ครอบฮีตไปป์เอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เป็นแบบหน้าสัมผัสทองแดง ที่ชุบอโนไดซ์ ส่วนหนึ่งเพื่อให้มีพื้นที่เรียบเงา และแนบเข้ากับซีพียูได้มากที่สุด เป็นที่นิยมใช้กันบนฮีตซิงก์ชั้นนำทั่วไปนั่นเอง
ฮีตไปป์ขนาด 6mm จำนวน 5 เส้นที่ทับซ้อนกันอยู่ แทบจะเบียดกันเลย มีการเว้าเอียง เพื่อหลบจุดอุปกรณ์โดยรอบเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรม หรือ Armor ต่างๆ ของเมนบอร์ด
ตัวขาล็อคเพื่อยึดเข้ากับโครงสร้างของตัวรองใต้เมนบอร์ด มีมาให้พร้อม ไม่ต้องยุ่งยากถอดเข้าออกให้วุ่นวาย และเราจะเห็นช่องเล็กๆ ด้านใต้ครีบระบายความร้อน สำหรับสอดไขควงที่มีมาให้ เพื่อใช้ในการติดตั้ง
นอกจากนี้ยังมีสายต่อพัดลม และสัญญาณต่างๆ มาในแบบ AK400 Digital ครบครัน
ด้านบนเป็นพาแนล ที่เอาไว้แสดงผลสถานะต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยมีพลาสติกกันรอยแปะเอาไว้ให้ หากคุณยังติดตั้งไม่เสร็จ แนะนำว่าอย่าเพิ่งแกะ เพราะอาจจะเป็นรอยได้ง่าย รวมถึงลดแรงกระแทกได้อีกด้วย
และบรรดาสายต่อที่มีมาให้ ดูใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นหัวต่อ ARGB 3-pins กับเมนบอร์ดที่รองรับ และหัวต่อ USB 2.0 ที่ต่อเข้ากับเมนบอร์ด และ 4-pins CPU Fan จากพัดลม แค่นี้ก็พร้อมสำหรับใช้งานได้แล้ว
ในแง่ของการติดตั้ง ก็แทบจะไม่ต่างไปจาก AK400 Digital มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเพลตด้านหลัง ที่ใช้แทนกันได้ ไปจนถึงการล็อคตัวฮีตซิงก์ จะมีต่างกันเพียงจุดเดียว นั่นคือ การไขล็อคฮีตซิงก์เข้ากับฐาน เป็นอย่างไรไปชมกัน
หลังจากที่ป้ายซิลิโคนในการนำพาความร้อนบนหน้าสัมผัสของซีพียูแล้ว ให้ดึงพลาสติกกันรอยตรงหน้าสัมผัสของฮีตซิงก์ออกก่อน จากนั้นวางลงไปตรงๆ โดยให้ขาล็อคของฮีตซิงก์ตรงกับตัวล็อคบนเมนบอร์ด
แกะฝาปิดด้านบนออกมา จะเห็นรูเล็กๆ ซึ่งจะตรงกับหัวน็อตที่อยู่บนฮีตซิงก์ ให้ใช้ไขควงที่มีให้ในกล่อง เสียบลงไปตรงๆ
จากนั้นไขให้แน่น โดยสลับไขด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อไม่ให้ตัวฮีตซิงก์โยกเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง
เมื่อไขจนแน่นพอตึงมือเสร็จแล้ว จะได้การติดตั้งฮีตซิงก์ออกมาเป็นแบบนี้ แต่ที่ยังขาดไปก็คือ ตัวพัดลมที่เราถอดเอาไว้ในช่วงแรก เพื่อให้ง่ายต่อการติดตั้ง
เมื่อติดตั้งพัดลมแล้ว อย่าลืมเสียบสายต่างๆ ของฮีตซิงก์บนเมนบอร์ดให้ครบ ไม่ว่าจะเป็น 4-pins CPU Fan, USB 2.0 connector และ ARGB
ประสิทธิภาพที่ได้จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีทีเดียว กับการจัดการความร้อนบน Intel Core i9-12900K ที่ทำงานในแบบ Full load ได้อยู่หมัด โดยมีอุณหภูมิขณะ idle 29-30 องศาเซลเซียส โดยประมาณ ส่วนขณะที่รัน Full load 100% ด้วย CPU Burner อย่างเต็มที่ ก็มีไปแตะที่ราวๆ 90 องศาเซลเซียส อยู่ชั่วขณะ จากนั้นลงมาอยู่ที่ 68 องศาเซลเซียส เท่านั้น ตรงนี้จะเป็นการปรับจูนของระบบบนซีพียู
ส่วนอีกการทดสอบหนึ่งนั่นคือ การใช้ CINEBench R23 มาทดสอบเรนเดอร์ 3 มิติ โดยใช้พลังของซีพียูแบบเน้นๆ ในแบบ Multi-Core ซึ่งก็ถือว่าเป็นการวัดผลได้ค่อนข้างดี จำลองการใช้งานจริง โดย Full load ในช่วงแรกที่เริ่มทำงาน ฮีตซิงก็มีอุณหภูมิไปมากกว่า 90 องศา จากนั้นกลับลงมาเหลือประมาณ 66- 67 องศาเซลเซียส ในช่วงที่นิ่งๆ แล้ว แม้จะไม่ต่างจาก AK400 Digital มากนัก แต่จุดสำคัญคือ ลดความร้อนได้เร็วกว่าพอสมควร
ในแง่ของความสวยงาม แม้ว่าพาแนลจะใหญ่ขึ้น แต่การแสดงผลก็แทบจะไม่ต่างไปจาก AK400 Digital มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแสดงสถานะ และแสงไฟ LED ที่อยู่บริเวณแถบด้านข้าง ตรงจุดนี้ถ้ามีการปรับให้แสงไฟ แสดงผลที่บริเวณด้านบนแถบ LED ได้มากขึ้น ก็จะดีไม่น้อยเลย
การแสดงผลที่มีให้เลือก 3 รูปแบบคือ Temperature, Process และ Automatic ซึ่งสามารถปรับแต่งได้จากซอฟต์แวร์ DeepCool Digital ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ผู้ผลิตมาติดตั้งใช้งานได้ทันที ซึ่งเลือกตั้งค่าได้ว่าจะให้แสดงผลแบบไหน อุณหภูมิแบบใด และเลือกให้ตั้งเตือน เมื่ออุณหภูมิสูงเกินระดับ ก็ทำได้เช่นกัน
จุดเด่น | ข้อสังเกต |
ลดความร้อนได้รวดเร็ว | มีขั้นตอนในการติดตั้งเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย |
เสียงพัดลมเบา รองรับซีพียูรุ่นใหญ่ได้ |
DeepCool AK620 Digital
มาถึงรุ่นสุดท้ายที่เราได้รับมาในครั้งนี้ DeepCool AK620 Digital พี่ใหญ่ กับจุดเด่นไม่ใช่แค่มิติ แต่ยังเพิ่มพัดลมมาให้เป็น 2 ตัว กับมิติที่จัดว่าอลังการอีกรุ่นหนึ่ง แต่คงไม่เทียบกับหลายๆ รุ่นที่เป็น 2 พัดลมในท้องตลาด เพราะยังเน้นให้ใช้งานในพีซีขนาดย่อมๆ ได้ อีกทั้งความน่าสนใจคือ ติดตั้งง่ายเหมือนเดิม โดยมิติจะอยู่ที่ 127×110×157mm ความกว้างทางด้านข้าง ค่อนข้างใหญ่กว่า AK400 อยู่เกือบสองเท่า ส่วนความสูงนั้นไล่เลี่ยกัน และพัดลมก็เป็นแบบเดียวกันคือ 120 x 120mm แต่มี 2 ตัว ดังนั้นน้ำหนักโดยรวมของ AK620 นี้ จึงมากถึง 1.486Kg เลยทีเดียว แต่ก็ยังพอไหว ไม่ได้จัดว่าหนักเกินไป
จุดที่เพิ่มเติมเข้ามาในฮีตซิงก์รุ่นใหญ่นี้ นั่นคือ การมีทาวเวอร์เพิ่มเป็น 2 ชุด และฮีตไปป์มาเป็น 6 ท่อ สอดคล้องกันไปมาระหว่างครีบระบายความร้อนทั้ง 2 ทาวเวอร์นี้ รวมไปถึงหน้าสัมผัสที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย รองรับซีพียูซ็อกเก็ต Intel LGA2066/2011-v3/2011/1700/1200/1151/1150/1155 และ AMD AM5/AM4 แต่ดูแล้วยังติดตั้งและใช้งานง่ายเหมือนรุ่นก่อนหน้านี้ โดยทั้งบอดี้และครีบระบายความร้อนทั้งหมด ยังคงเป็นสีดำตลอดทั้งตัว สนนราคาอยู่ที่ 3,290 บาท
กล่องแพ๊คเกจเป็นแบบเดียวกับ AK500 Digital กับกล่องกระดาษสีน้ำตาล และมีกระดาษสีขาวด้านนอก มาพร้อมกราฟิกตัวผลิตภัณฑ์และรายละเอียดมาทางด้านหลังอย่างครบถ้วน
ด้านในก็เป็นแบบเดียวกับ AK500 แต่ขนาดใหญ่กว่าพอสมควร เนื่องจากฮีตซิงก์มาในแบบที่ใหญ่กว่าเกือบ 2 เท่า แต่ยังคงติดตั้งกันกระแทกและมีกล่องเครื่องมือมาให้เช่นเดียวกัน
อุปกรณ์ภายในกล่องก็จัดมาให้แบบเต็มที่เหมือนกัน พอๆ กับ AK500 Digital เพราะรองรับซีพียูได้ทั้ง Intel LGA2066/2011-v3/2011/1700/1200/1151/1150/1155 และ AMDAM5/AM4 ครบครัน
เมื่อแกะฮีตซิงก์ AK620 Digital ออกมาจากกล่อง จะได้เป็นรูปแบบที่เห็นนี้ มองด้านหน้าแทบไม่ได้ต่างจาก AK500 Digital ทั้งเรื่องความกว้างด้านหน้า และความสูง
แต่พอมองด้านข้าง จะเห็นได้ว่าตัวฮีตซิงก์ใหญ่และหนาขึ้นมากว่า 2 รุ่นที่ผ่านมาอย่างชัดเจน เพราะนอกจากจะมีถึง 2 ทาวเวอร์แล้ว ก็ยังมีพัดลมเพิ่มมาเป็น 2 ตัวอีกด้วย จึงทำให้มิติดูใหญ่โตมากยิ่งขึ้น
ส่วนด้านหลังยังคงเป็นแบบเดียวกับฮีตซิงก์ทาวเวอร์เดี่ยว แต่มีฮีตไปป์จำนวน 6 เส้นวางเอาไว้อย่างสวยงาม
ด้านใต้จะเห็นว่ามีหน้าสัมผัสขนาดใหญ่ และฮีตไปป์จำนวน 6 ท่อด้วยกัน วางเชื่อมต่อกันทั้ง 2 ทาวเวอร์ เพื่อช่วยในการนำพาความร้อนจากหน้าสัมผัสซีพียู ไปยังครีบระบายความร้อนได้เร็วมากขึ้น เป็นไปป์สีดำเงา ดูเข้ากับฮีตซิงก์ได้อย่างลงตัว และหน้าสัมผัสทองแดงดูเงางาม อย่าลืมแกะสติกเกอร์ก่อนจะนำลงไปติดตั้งบนซีพียู
สายต่อมีจะมีเพิ่มเติมเข้ามาอีกเล็กน้อย เรื่องแรกคือ มีพัดลมมาให้ 2 ตัว เลยทำให้มี CPU Fan 4-pins เข้ามา 2 ชุด ส่วน USB connector และ ARGB 3-pins ก็มีมาให้อย่างละชุดตามปกติ
เมื่อเปรียบเทียบมิติระหว่าง AK620 และ AK500 จะเห็นได้ว่าส่วนสูงและความกว้างด้านหน้า แทบไม่ต่างกัน แต่ด้านข้างนั้นต่างกันอย่างชัดเจน
ภาพฮีตไปป์ 6 ท่อจากมุมด้านหลัง ทำให้ AK620 Digital ดูบึกบึนไม่น้อยเลย ส่วนขาล็อคที่ยึดกับตัวล็อคที่ติดตั้งบนเมนบอร์ด ยังคงเป็นรูปแบบเดียวกัน
เอามาลองเปรียบเทียบกับ AK400 กันบ้าง เรียกว่าขนาดห่างกัน 2 เท่าเลยทีเดียว ฮีตไปป์ก็มีจำนวนมากกว่า 2 ท่ออีกด้วย
ก่อนติดตั้ง แนะนำว่าให้แยกพัดลมกับตัวฮีตซิงก์ออกจากกันก่อน เพื่อความสะดวกในการติดตั้งลงเมนบอร์ด
และอย่าลืมนำพาแนลที่เป็นจอแสดงผล LED ด้านบนออกด้วย เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้เกิดความเสียหาย
สำหรับขั้นตอนการติดตั้งตัวฐานจะเป็นแบบเดียวกัน AK400 เพียงแต่จะต้องกลับด้าน เพื่อให้ติดตั้งชุดพัดลมที่รับลมมาจากด้านหน้าและเป่าออกทางด้านหลัง จากนั้นทาซิลิโคนลงบนซีพียูให้เรียบร้อย
วางฮีตซิงก็ลงไปบนซีพียู แล้วไขน็อตด้วยไขควงยาว ที่มีมาให้ในกล่อง ให้ตรงกับตัวล็อคที่วางเอาไว้ก่อนหน้านี้
เมื่อติดตั้งฮีตซิงก์เสร็จแล้วในเบื้องต้น ให้นำพัดลมวางลงไปตามแนวของฮีตซิงก์ได้เลย ทั้ง 2 ตัว ด้านหน้าและหลัง แล้วต่อสายต่างๆ ให้ครบ ไม่ว่าจะเป็น พัดลมซีพียู, USB และ ARGB
จากนั้นติดพาแนลด้านบนเข้าไปให้เรียบร้อย ตรงนี้ถ้าเป็นไปได้ให้วางลงไปก่อนติดตั้งพัดลมตัวหน้า เพื่อที่จะให้ครอบลงบนตัวซิงก์และพัดลมได้พอดี และแน่นหนา
เมื่อติดตั้งเสร็จก็สามารถเปิดเครื่อง เพื่อลองใช้งานกันได้เลย ซึ่งหากหน้าจอ LED แสดงผล และอุณหภูมิไม่สูงเกินปกติ ก็ถือว่าพร้อมสำหรับการใช้งานได้แล้ว
มาดูผลทดสอบกันบ้าง สำหรับพี่ใหญ่อย่าง DeepCool AK620 Digital นี้ ดูจากผลงานก็น่าสนใจอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อทดสอบแบบ Full load 100% บนซีพียู Intel Core i9-12900K ด้วย CPU Burner ซึ่งผลที่ได้ช่วงจังหวะ Peak สุดไปแตะอยู่แค่ 83 องศาเซลเซียสโดยประมาณ ถ้าเทียบกับ 2 รุ่นแรกนั้น จะไปมากกว่า 90 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว และหลังจากนั้น จะลดลงมานิ่งๆ ที่ประมาณ 62-63 องศาเซลเซียสเท่านั้น ย้ำว่านี่เป็นระดับ Intel Core i9 รุ่นใหม่ที่รัน 100% หากเป็นซีพียูรุ่นรองลงมา ก็จะลดลงมาอีกไม่น้อยเลย ส่วนโหมด idle จะอยู่ที่ราว 27 องศาเซลเซียสเท่านั้น
ส่วนในการรัน 3D ด้วยการเรนเดอร์งานผ่าน CINEBench R23 จากทั้ง AK400 และ AK500 Digital เริ่มต้นเรนเดอร์ใหม่ๆ จะอยู่ที่ราว 90 กว่างศาเซลเซียส แต่สำหรับ AK600 Digital แตะอยู่ที่ 88-89 องศาเซลเซียส แสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพมากพอในการรองรับการทำงานของซีพียูในแบบโหดๆ ได้อย่างเต็มที่
จุดเด่น | ข้อสังเกต |
ระบายความร้อนได้รวดเร็ว | มิติค่อนข้างใหญ่ ไม่เหมาะกับเคสเล็กๆ |
อุณหภูมิคงที่ได้เร็ว |
Conclusion
เรามาสรุปประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของฮีตซิงก์ DeepCool AK Digital series ทั้ง 3 รุ่นกันประกอบด้วย DeepCool AK400 Digital, AK500 Digital และ AK620 Digital ถ้ามองในภาพรวมต้องถือว่า แต่ละรุ่นมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ขึ้นอยู่กับความชอบและความเหมาะสมในการใช้งาน อย่างเช่น AK400 เป็นรุ่นน้อง แต่ทั้งมิติและการระบายความร้อน จัดว่าทำได้ดี จัดการซีพียูแรงๆ อย่าง Intel Core i9 ได้อยู่หมัด ในราคาแค่พันกว่าบาท ซึ่งติดตั้งง่าย ส่วน AK500 Digital นั้น จัดว่าใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย แม้จะไม่ได้เย็นกว่า AK400 มากนัก แต่จัดว่าจัดการความร้อนได้รวดเร็ว อีกทั้งติดตั้งก็ไม่ได้ยุ่งยาก และยังสามารถติดตั้งพัดลมเพิ่มเติมได้อีกด้วย เข้ากับเมนบอร์ดและเคสที่มีพื้นที่จำกัดได้ดีพอสมควร
ส่วน DeepCool AK620 Digital เป็นฮีตซิงก์รุ่นใหญ่ ที่มีมิติกว้าง กินพื้นที่บนเมนบอร์ดพอสมควร ซึ่งการติดตั้งมีความซับซ้อนเล็กน้อย แต่ต้องจัดลำดับการติดตั้งให้ดี เพื่อให้การระบายความร้อนและพัดลมทำงานได้เต็มที่ แม้จะมีไปเบียดแรมอยู่บ้าง แต่ประสิทธิภาพการระบายความร้อนจัดว่าทำได้โดดเด่นและรวดเร็ว ทำให้ซีพียู Intel Core i9 ที่นำมาทดสอบ สามารถรีดความสามารถออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับคนที่ต้องการชุดระบายความร้อนให้กับซีพียูที่ต้องรันงานต่อเนื่องตลอดเวลา และต้องการงานประมวลผลที่รวดเร็ว ในราคาที่ไม่แรงเกินไป และยังไม่อยากใช้ชุดน้ำปิด เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล
จะมีข้อสังเกตเล็กน้อยคือ จอ LED มีบทบาทน้อยไปบ้าง เพราะแสดงผลได้เพียงอุณหภูมิหรือ Process ในแบเรียลไทม์ หรือสลับกันแสดงผล หากทำงานพร้อมกันได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยให้การมอนิเตอร์เช็คข้อมูลง่ายขึ้น หรือถ้าเป็นไปได้ สามารถเพิ่มกราฟิกแสดงผลเข้าไป ปรับเปลี่ยนได้ตามชอบเช่นเดียวกับแสงไฟ ARGB ที่อยู่ด้านข้าง ปรับมาไว้แสดงด้านบนบ้าง ก็จะดีต่อผู้ใช้ไม่น้อยเลย
FAQ
Q: เลือกฮีตซิงก์อย่างไร?
A: การเลือกฮีตซิงก์มีด้วยกันหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับรูปแบบ ความต้องการและงบประมาณ แต่จุดประสงค์คือการระบายความร้อนออกจากซีพียูได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นวัสดุที่ใช้ก็มีส่วนสำคัญ ตั้งแต่การนำพาความร้อนออกจากหน้าสัมผัสของซีพียู ส่วนใหญ่ใช้เป็นทองแดงที่มีคุณสมบัติที่ดี มีฮีตไปป์ในการนำพาความร้อนจากฐานที่ติดกับซีพียู ยิ่งมีมาก ก็ยิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ดี ครีบระบายความร้อน ที่ต้องเล็กและบาง มีพื้นที่สัมผัสกับอากาศ เพื่อลดความร้อนได้เร็วขึ้น และพัดลมที่ใช้ต้องมีคุณภาพ ให้แรงลมที่ดีระดับหนึ่ง มีอัตราลมผ่านได้เยอะ แต่เสียงรบกวนต้องไม่มาก
Q: ฮีตซิงก์ที่มากับซีพียูกับฮีตซิงก์แยกต่างกันอย่างไร
A: เมื่อซื้อซีพียูมาส่วนใหญ่ก็จะมีพัดลมหรือฮีตซิงก์มาในกล่องด้วยแล้ว เพียงแต่จะเพียงพอต่อการใช้งานโดยพื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งหากคุณต้องการความแตกต่าง เช่น การปรับแต่ง ความสวยงาม หรือรอบพัดลมที่มากขึ้น มีการตกแต่งเปลี่ยนพัดลมได้ รวมไปถึงการโอเวอร์คล็อก ก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้ฮีตซิงก์แบบแยก ข้อดีคือ ให้อิสระในการใช้งานมากขึ้น การระบายความร้อนที่ดีขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อการปรับแต่ง โอเวอร์คล็อกอีกด้วย แต่ก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นนั่นเอง
Q: วิธีการระบายความร้อนในคอมแบบง่ายๆ
A: การระบายความร้อนภายในคอมพิวเตอร์สามารถทำได้หลายรูปแบบ แต่ที่นิยมกันมาก และค่าใช้จ่ายไม่สูง ก็จะเป็นการจัดทิศทางการระบายความร้อนภายในเครื่องให้เหมาะสม มีพัดลมที่ดูดลมเย็นเข้ามาไหลเวียนในตัวเครื่อง เข้าไปยังจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ซีพียู แรม การ์ดจอ และอื่นๆ จากนั้นมีพัดลมที่ดูดลมร้อน ให้ออกไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือ จะต้องจัดเก็บสายให้เรียบร้อย ไม่เป็นอุปสรรคกั้นขวางลมเหล่านี้ เพื่อลดปัญหาความร้อนสะสม
Q: เปลี่ยนฮีตซิงก์กับชุดน้ำปิดแบบไหนดี
A: เป็นคำถามคาใจใครหลายคน เพราะบางคนใช้ฮีตซิงก์มาเริ่มเก่า ระบายความร้อนได้ไม่ดีเหมือนเดิม อยากจะเปลี่ยนฮีตซิงก์ใหม่ ราคาก็ใกล้กับชุดน้ำปิด AIO จะเลือกแบบไหนดี ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนรูปแบบ Liquid Cooling หรือชุดน้ำปิดก็น่าสนใจ แต่ถ้าอยากประกอบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน หรือบางทีไม่ต้องรื้อออกมาใหม่ ฮีตซิงก์พัดลมก็ตอบโจทย์ได้ แต่เรื่องประสิทธิภาพระบายความร้อน หลายครั้งชุดน้ำปิดก็ทำได้ดีกว่า แต่ถ้ามองกันที่ความสวยงาม ถ้าทั้งคู่มากับพัดลมไฟคล้ายกัน ก็ต้องเลือกแล้วว่าแบบไหนโดนใจคุณที่สุด