Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

CPU เล่นเกมที่ดีที่สุดในปี 2023 (ช่วงครึ่งปีแรก)

เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้หลาย ๆ คนอยากซื้อคอมใหม่ หรืออยากอัปเกรดสเปคเครื่องที่มีอยู่ ก็คือการทำให้เครื่องสามารถเล่นเกมได้ดีขึ้น เนื่องจากในการใช้งานของผู้บริโภคโดยทั่วไป การเล่นเกมคือหนึ่งในสิ่งที่ใช้สเปคเครื่องค่อนข้างสูง รวมถึงเกมใหม่ ๆ ก็ล้วนกินทรัพยากรเครื่องมากขึ้นตามลำดับด้วย ซึ่งหนึ่งในส่วนที่สำคัญของการเล่นเกมก็คือ CPU เพราะถ้ายิ่งมีคอร์เยอะ ประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็จะยิ่งช่วยให้สามารถเล่นเกม คำนวณข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีขึ้นด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า CPU เล่นเกมที่ดีที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 จะมีรุ่นไหนบ้าง แบ่งตามด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเน้นความแรง เน้นความคุ้มค่า ไปจนถึงสำหรับคนที่ต้องการ CPU ใหม่ในราคาเบา ๆ ด้วย

CPU เล่นเกม

Advertisement

โดยเนื้อหาในบทความนี้ จะอ้างอิงผลการทดสอบจากเว็บไซต์ Tom’s Hardware สามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาภาษาอังกฤษได้ที่นี่

Screenshot 2023 07 10 at 3.48.04 PM

ด้านบนนี้เป็นกราฟแสดงผลการทดสอบ โดยการเทียบค่าเฉลี่ยของเฟรมเรตที่ได้จากการใช้ CPU แต่ละรุ่น ร่วมกับการ์ดจอ RTX 4090 ที่ความละเอียด 1080p ซึ่งรุ่นที่มีคำว่า PBO อยู่ คือชิป AMD ที่มีการโอเวอร์คล็อก (ฝั่ง Intel จะมีเลขความเร็วต่อท้าย) ส่วน UV คือ undervolt ที่มีการลดไฟลง นอกจากนี้ก็จะมีผลการทดสอบที่ความละเอียดระดับ 1440p ด้วย ซึ่งแนวโน้มของลำดับก็จะค่อนข้างคล้ายกัน

CPU เล่นเกม สายเน้นความแรง ราคาน่าสนใจ

AMD Ryzen 7 7800X3D

ซ็อกเก็ต: AM5 (Zen 4) คอร์ / เธรด: 8/16 แคช L3: 96MB
Base clock: 4.2GHz Max boost clock: 5.0GHz TDP: 120W
แรมที่รองรับ: DDR5 กราฟิกในตัว: ✅ พัดลมในกล่อง: ❌
ชิปเซ็ตที่รองรับ: A620, X670E, X670, B650E, B650 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

เรียกว่าเป็น CPU ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ด้านการเล่นเกมโดยเฉพาะเลยก็ว่าได้ ด้วยการใส่เทคโนโลยี 3D V-Cache เข้ามา (สามารถอ่านเรื่อง 3D V-Cache เพิ่มเติมได้ที่นี่) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการเล่นเกมด้วยหน่วยความจำแคชระดับ L3 ที่จำนวนมากกว่าใน CPU รุ่นปกติเป็นเท่าตัว ด้านของจำนวนคอร์ก็ให้มากำลังดีที่ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็วบูสท์สูงสุด 5.0GHz เพียงพอสำหรับการเล่นเกม การทำงานทุกรูปแบบ รองรับการโอเวอร์คล็อกได้ด้วย โดยมีค่า TDP ที่ 120W เท่านั้น ซึ่งจากผลทดสอบโดยการหาค่าเฉลี่ยของ FPS ในเกมของทางเว็บไซต์ต้นทาง ก็พบว่าตัวของ Ryzen 7 7800X3D ได้ค่าออกมาในระดับหัวตาราง จะมีสลับแพ้ชนะกันบ้างกับ Ryzen 9 7950X3D ที่ราคาสูงกว่า ทำให้ตัวของ 7800X3D ดูจะเป็น CPU เล่นเกมประสิทธิภาพสูงที่น่าเลือกกว่ากันนิดนึง

แต่สำหรับคนที่ต้องการอัปเกรดสเปคจากเครื่องเดิมก็อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มซักนิดนึงครับ ว่าเมนบอร์ดที่ใช้อยู่เป็นซ็อกเก็ตอะไร ใช้แรมอะไรอยู่ เพราะ Ryzen 7 7800X3D จะใช้เป็น AM5 และรองรับแรม DDR5 เท่านั้น ซึ่งถ้าต้องซื้อเมนบอร์ดใหม่ ราคาเมนบอร์ดชิปเซ็ต B650 ในไทยตอนนี้ก็เริ่มต้นประมาณ 6,000 บาทขึ้นไป และถ้าต้องซื้อแรมใหม่ด้วย ก็ต้องเป็น DDR5 ความจุขั้นต่ำ 16GB ขึ้นไป ถึงจะใช้เล่นเกมได้ดีหน่อย ค่าแรมก็ประมาณ 2 พันกลาง ๆ ส่วนราคา AMD Ryzen 7 7800X3D เองก็จะอยู่ที่ประมาณ 16,000 – 18,000 บาทแล้วแต่ร้าน

และที่สำคัญคือ ในกล่องจะไม่มีพัดลมระบายความร้อน CPU มาให้ ดังนั้นก็ต้องหาพัดลม หรือชุดน้ำที่ใช้งานได้กับเมนบอร์ดซ็อกเก็ต AM5 ด้วยนะครับ

Ryzen 7 5800X3D 01

รุ่นรองลงมานิดนึง – AMD Ryzen 7 5800X3D

ซ็อกเก็ต: AM4 (Zen 3) คอร์ / เธรด: 8/16 แคช L3: 96MB
Base clock: 3.4GHz Max boost clock: 4.5GHz TDP: 105W
แรมที่รองรับ: DDR4 กราฟิกในตัว: ❌ พัดลมในกล่อง: ❌
ชิปเซ็ตที่รองรับ: X570, X470, B550, B450, A520 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

สำหรับคนที่ต้องการอัปเกรดเครื่องเก่าที่ใช้ชิป Ryzen อยู่เพื่อให้สามารถเล่นเกมได้ดีขึ้น น่าจะถูกใจกับ Ryzen 7 5800X3D ตัวนี้แน่นอน เพราะยังคงใช้ซ็อกเก็ต AM4 อยู่ ทั้งยังใช้งานได้กับเมนบอร์ดตั้งแต่ชิปเซ็ตตั้งแต่ A520 B450 ที่เป็นชิปเซ็ตยอดนิยมได้ รวมถึงสามารถนำแรม DDR4 ที่ใช้อยู่มาใช้งานต่อได้ทันที เรียกว่าซื้อ CPU มาเปลี่ยนตัวเดียวกับแทบจะจบเลย (ในกรณีที่ power supply เพียงพอ และชุดระบายความร้อนค่อนข้างดีอยู่แล้ว)

ราคาของ AMD Ryzen 7 5800X3D ในไทยก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะราคามือหนึ่งอยู่ที่หมื่นต้น ๆ เท่านั้น แต่ได้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมที่เทียบเท่าระดับ Ryzen 7, 9 รวมถึงกลุ่ม Core i7 และ i9 รุ่นใหม่ ๆ เลยทีเดียว ประกอบกับการที่สามารถนำฮาร์ดแวร์เดิมมาใช้ได้แทบทั้งหมด จึงทำให้ชิปรุ่นนี้ค่อนข้างน่าสนใจมาก สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนมาใช้ CPU เล่นเกม แบบที่ไม่อยากซื้ออุปกรณ์อื่นใหม่มากนัก เหมาะกับคนที่ใช้ Ryzen ตั้งแต่ซีรีส์ 5000 ลงมา

 

รุ่นรองที่น่าสนใจ – Intel Core i7-13700K

ซ็อกเก็ต: LGA 1700 คอร์ / เธรด: 16(8P-8E) / 24 แคช L3: 30MB
Base clock: 3.4GHz Max boost clock: 5.4GHz TDP: 125W
แรมที่รองรับ: DDR4/DDR5 กราฟิกในตัว: ✅ พัดลมในกล่อง: ❌
ชิปเซ็ตที่รองรับ: H610, B660, H670, Q670, Z690, W680, B760, H770, Z790 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

CPU เล่นเกมแบบเน้นประสิทธิภาพในฝั่ง Intel ที่น่าจับจองเป็นเจ้าของก็คือ Intel Core i7-13700K ที่วางขายในไทยในราคาประมาณ 16,000 – 17,000 บาท โดยจุดที่น่าสนใจคือความยืดหยุ่นในการรองรับฮาร์ดแวร์ เพราะสามารถใช้กับเมนบอร์ดซ็อกเก็ต LGA 1700 ที่ใช้ชิปเซ็ตต่าง ๆ ได้ถึง 9 ชิปเซ็ตเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังใช้ได้ทั้งกับแรมแบบ DDR4 และ DDR5 เลย ขึ้นอยู่กับเมนบอร์ด และยังรองรับ PCIe ทั้ง 4.0 และ 5.0 ในตัว จึงเหมาะกับคนที่ต้องการประกอบคอมเล่นเกมเครื่องใหม่ หรือจะอัปสเปคเครื่องเดิมที่ใช้ Intel อยู่แล้ว แบบที่ฮาร์ดแวร์เดิมค่อนข้างดีประมาณนึง และอาจจะใช้ต่อไปอีกระยะยาว มาในราคาประมาณ​ 15,000 – 16,000 บาท โดยจุดที่อาจจะต้องเน้นซักหน่อยถ้าจะเปลี่ยนมาใช้ Core i7-13700K ก็คือเรื่องภาคจ่ายไฟของเมนบอร์ด และ power supply ว่าจะสามารถจ่ายไฟให้ทั้งระบบได้พอและเสถียร รวมถึงต้องมีชุดระบายความร้อนด้วย เพราะในกล่องจะไม่มีพัดลมพื้นฐานมาให้

สำหรับประสิทธิภาพของชิปรุ่นนี้ จากการทดสอบของ Tom’s Hardware เอง ถ้ายกมาเฉพาะผลการทดสอบของ CPU ที่ทำงานแบบมาตรฐาน ไม่มีการโอเวอร์คล็อกหรือ undervolt ใด ๆ ตัวของ i7-13700K นั้นมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับ top 10 แถมในบางจุดก็อยู่ในระดับ top 5 เลยด้วย

 

MSI G32CQ4 MSI G32C4 cov2

CPU เล่นเกม สายเน้นความแรงสุด ๆ

AMD Ryzen 9 7950X3D

ซ็อกเก็ต: AM5 (Zen 4) คอร์ / เธรด: 16/32 แคช L3: 128MB
Base clock: 4.2GHz Max boost clock: 5.7GHz TDP: 120W
แรมที่รองรับ: DDR5 กราฟิกในตัว: ✅ พัดลมในกล่อง: ❌
ชิปเซ็ตที่รองรับ: A620, X670E, X670, B650E, B650 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

ในกรณีที่เลือกฝั่ง AMD แล้วอยากได้ CPU เล่นเกมตัวท็อปสุดในขณะนี้ ก็ต้องเป็น AMD Ryzen 9 7950X3D ที่ให้มาถึง 16 คอร์ 32 เธรด ทำให้พอจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการใช้งานอื่น ๆ นอกเหนือจากการเล่นเกมได้ด้วย ซึ่งเป็นการชดเชยข้อจำกัดในด้านการประมวลผลงานด้าน productivity เช่น การคำนวณ การเรนเดอร์ที่น้อยกว่าชิปในระดับเดียวกันที่ไม่มี 3D V-Cache ได้ประมาณหนึ่ง โดยอาศัยจำนวนคอร์ที่มากมาช่วยในการทำงานไปเลย แต่ถ้าในด้านเกม บอกเลยว่ารุ่นนี้สเปคแรงสุดจริง ตอบโจทย์การเล่นเกมมาก ๆ ด้วย แคช L3 ถึง 128MB โดยมีค่า TDP ที่ 120W ใกล้เคียงกับชิปรุ่นอื่น ๆ เลย โดยมีราคาในไทยอยู่ที่ 26,000 – 28,000 บาท

จุดที่ต้องหมายเหตุไว้นิดนึง คือเรื่องระบบระบายความร้อน CPU แนะนำว่าควรใช้เป็นระบบระบายความร้อนด้วยน้ำตามที่ AMD แนะนำ จะใช้เป็นชุดน้ำปิดหรือเปิดก็ได้ตามอัธยาศัย แต่ควรมีพัดลมระบายที่แผงหม้อน้ำซัก 2 หรือ 3 ตัว (หม้อน้ำขนาด 240 หรือ 280 มม. ขึ้นไป)

อีกรุ่นที่น่าสนใจ – Intel Core i9-13900K

ซ็อกเก็ต: LGA 1700 คอร์ / เธรด: 24(8P-16E) / 32 แคช L3: 36MB
Base clock: 3.0GHz Max boost clock: 5.8GHz TDP: 125W
แรมที่รองรับ: DDR4/DDR5 กราฟิกในตัว: ✅ พัดลมในกล่อง: ❌
ชิปเซ็ตที่รองรับ: H610, B660, H670, Q670, Z690, W680, B760, H770, Z790 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

นับเป็นรุ่นที่ขยับขึ้นมาจาก i7-13700K ก็ว่าได้ กับสเปคหลักโดยรวมที่ค่อนข้างเหมือนกัน มาพร้อมจำนวนของ E-core และเธรดที่มากขึ้น ทำให้สามารถจัดการกับงานเบื้องหลัง และช่วยกันประมวลผลได้ดี เหมาะกับการสตรีม เปิดแชท เปิดหลาย ๆ โปรแกรมไปพร้อมเล่นเกม หรือถ้าจะใช้เรนเดอร์คลิป ตัดต่อก็ทำได้สบายด้วย เพราะมีชุดคำสั่ง Intel Quick Sync ที่ทำให้กราฟิกในตัวอย่าง Intel UHD Graphics 770 เข้ามาช่วยงานในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนประสิทธิภาพในการเล่นเกมจากการทดสอบของ Tom’s Hardware ในกรณีที่ไม่ได้โอเวอร์คล็อก ชิปรุ่นนี้ติดกลุ่ม top 5 CPU เล่นเกมที่แรงที่สุด จะเป็นรองก็แค่กลุ่มชิปที่มี 3D V-Cache ของ AMD และก็ i9-13900KS เท่านั้น

ส่วนราคาในไทยก็จะอยู่ในช่วง 21,000 – 24,000 บาท อัปขึ้นมาจาก Core i7-13700K อยู่พอสมควร แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้คอร์ เธรดของ CPU เยอะจริง ๆ การขยับมาเป็นรุ่นนี้ก็จบกว่ามากเลย แถมยังได้ราคาที่น่าดึงดูดใจกว่าอีกฝั่งนึงด้วย และที่สำคัญคือสามารถเลือกใช้แรม DDR4 และเมนบอร์ดได้หลากหลายมาก ๆ แต่ในด้านประสิทธิภาพบางจุดก็อาจจะลดลงมากว่าการใช้แรม DDR5 ซักเล็กน้อย ส่วนในการเล่นเกมอาจจะไม่กระทบมากนัก ในกรณีที่บัสแรมไม่ได้ต่างกันเป็นเท่าตัว

17336515535576 Medium e1671682426646

CPU ระดับกลาง เล่นเกมลื่น

Intel Core i5-13600K

ซ็อกเก็ต: LGA 1700 คอร์ / เธรด: 14(6P-8E) / 20 แคช L3: 24MB
Base clock: 3.5GHz Max boost clock: 5.1GHz TDP: 125W
แรมที่รองรับ: DDR4/DDR5 กราฟิกในตัว: ✅ พัดลมในกล่อง: ❌
ชิปเซ็ตที่รองรับ: H610, B660, H670, Q670, Z690, W680, B760, H770, Z790 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

Intel Core i5-13600K น่าจะเป็น CPU รุ่นยอดนิยมสำหรับคนประกอบคอมเล่นเกมในช่วงนี้เลย เมื่อเทียบประสิทธิภาพต่อราคา ด้วยราคาขายในไทยอยู่ที่ประมาณ 12,000 – 13,000 บาท แต่ได้คอร์ประมวลผลถึง 14 คอร์ แบ่งเป็น performance core 6 และ efficiency core สำหรับงานเบาอีก 8 ซึ่งเหลือเฟือสำหรับการใช้เล่นเกม ใช้ทำงานทั่วไปได้สบาย ๆ ทั้งยังรองรับการโอเวอร์คล็อกความเร็วขึ้นไปเพื่อให้ตอบโจทย์กับงานที่ใช้พลังประมวลผลหนักขึ้นได้อีก ในขณะเดียวกันก็ยังรองรับแรมทั้ง DDR4 และ DDR5 จึงทำให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะมากกับทั้งคนที่ประกอบคอมในงบ 30,000 บาทขึ้นไป รวมถึงคนที่จะอัปเกรดคอมเครื่องที่ใช้อยู่ เพราะสามารถนำแรมเดิมที่เป็นแบบ DDR4 มาใช้ต่อได้ทันที หรืออาจจะรวมถึงเมนบอร์ดก็ยังได้ ถ้าเป็นชิปเซ็ตที่รองรับอยู่แล้ว

AMD Ryzen 5 7600X

ซ็อกเก็ต: AM5 (Zen 4) คอร์ / เธรด: 6/12 แคช L3: 32MB
Base clock: 4.7GHz Max boost clock: 5.3GHz TDP: 105W
แรมที่รองรับ: DDR5 กราฟิกในตัว: ✅ พัดลมในกล่อง: ❌
ชิปเซ็ตที่รองรับ: A620, X670E, X670, B650E, B650 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

ส่วนฝั่ง AMD รุ่นที่พอฟัดพอเหวี่ยงหน่อยก็คือ AMD Ryzen 5 7600X ซึ่งเป็นรุ่น 7600 ตีบวกเรื่องการโอเวอร์คล็อกเข้ามา ทำให้ผู้ใช้พอที่จะสนุกกับการปรับจูนความแรงเพิ่มได้อีกเล็กน้อย แต่จุดที่สำคัญก็คืออาจจะต้องเลือกเมนบอร์ดซักนิดนึง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการโอเวอร์คล็อก ที่อาจจะต้องเลือกเมนบอร์ด AM5 (ที่ราคาเริ่มยังสูงอยู่) ในรุ่นที่มาพร้อมภาคจ่ายไฟที่ดีหน่อย ซึ่งมักจะมาในรุ่นที่ใช้ชิปเซ็ต B650 ขึ้นไป กับราคาเริ่มต้นที่ราว 6,000 บาท ประกอบกับแรมที่ต้องใช้ DDR5 เท่านั้น ที่ถึงแม้ราคาแรมจะลดลงมาพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังจะเป็นจุดต่างตรงต้นทุนตอนเริ่มประกอบอยู่ดี กับส่วนต่างราว 1,000 บาทสำหรับชุดแรมที่ความจุเท่ากัน ในกรณีที่ต้องการประกอบคอมแบบเน้นความคุ้มเป็นหลัก

สำหรับเรื่องประสิทธิภาพ Ryzen 5 7600X ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับราคาราว 8,000 บาท เพราะมีการพัฒนาพลังการประมวลผลแบบ single thread ให้ดีขึ้นกว่า series 5000 พอสมควร ส่วนการเล่นเกม ถ้าตามจริงก็คือยังไม่ถึงขั้นต่างกับ CPU รุ่นก่อนหน้าอย่าง Ryzen 5 5600X มากถึงระดับก้าวกระโดด ในกรณีที่เล่นเกมในระดับ 1080p แต่ถ้าต้องการใช้งานเครื่องในระยะยาว รวมถึงอยากอัปเกรดคอมในอนาคตด้วย การขยับมาเป็น Ryzen 5 7600X น่าจะตอบโจทย์มากกว่า ด้วยเรื่องของชิปเซ็ต การรองรับแรม DDR5 และ PCIe 5.0

Deepcool cg540 cg560 case 65

CPU เล่นเกมในราคาเบา ๆ

Intel Core i3-13100F

ซ็อกเก็ต: LGA 1700 คอร์ / เธรด: 4 / 8 แคช L3: 12MB
Base clock: 3.4GHz Max boost clock: 4.5GHz TDP: 58W
แรมที่รองรับ: DDR4/DDR5 กราฟิกในตัว: ❌ พัดลมในกล่อง: ✅
ชิปเซ็ตที่รองรับ: H610, B660, H670, Q670, Z690, W680, B760, H770, Z790 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ❌

ถ้าต้องการ CPU เล่นเกมในงบเบา ๆ แบบที่รองรับการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ในอนาคตได้บ้างก็ต้องเป็น Intel Core i3-13100F ด้วยราคามือหนึ่งในไทยอยู่ที่ 4,000 กว่าบาทเท่านั้น แม้จะเป็น Core i3 แต่ประสิทธิภาพก็ไม่เบา คล้ายกับตอนที่ Core i3-12100F ลงสู่ตลาด คือเน้นความคุ้มค่าของราคาต่อประสิทธิภาพ สำหรับกลุ่มที่ต้องการ CPU gen ใหม่ในราคาประหยัด ซึ่งในตอนนี้ก็ดูเหมือนทั้งสองรุ่นนี้จะมาตัดกันเองในตลาดซะอีกด้วย จากราคามือหนึ่งที่ต่างกันเล็กน้อย สเปคส่วนใหญ่ก็เทียบเท่ากันอีก โดยจะมีจุดต่างกันแบบเห็นได้ชัดคือความเร็วทั้ง base และตอน turbo boost ที่ i3-13100F จะสูงกว่าเล็กน้อย ซึ่งแทบไม่ส่งผลกับการเล่นเกมมากนัก จะเห็นผลก็ตอนที่ต้องใช้ทำงานที่มีการใช้ CPU แบบ 100% มากกว่า

แต่ต้องย้ำอีกทีว่า CPU ของ Intel ที่ลงท้ายด้วย F คือจะไม่มี iGPU ที่เป็นกราฟิกในตัวมาให้ ดังนั้นก็คือตัดเรื่องฟีเจอร์ Intel Quick Sync ที่ช่วยจัดการในเรื่องการเข้า/ถอดรหัสไฟล์วิดีโอ รวมถึงการสตรีมเกมออกไป ดังนั้นจึงอาจจะไม่ค่อยเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อมาใช้ทั้งเล่นและสตรีมเกมไปพร้อมกันมากนัก แต่ถ้าเน้นเล่นเกมอย่างเดียว i3-13100F ไหวแน่นอน โดยเฉพาะการเล่นเกมที่ระดับ 1080p ถ้าใช้การ์ดจอระดับกลางขึ้นไป และปรับเรื่องกราฟิกในเกมดี ๆ ก็ทำเฟรมเรตหลักร้อยได้เหมือนกันสำหรับเกมออนไลน์ เกมแนว FPS หรือถ้าเป็นเกมที่ใช้กราฟิกหนักหน่อย ก็ค่อนข้างการันตีที่ 60fps+ ได้อยู่

AMD Ryzen 5 5600

ซ็อกเก็ต: AM4 (Zen 3) คอร์ / เธรด: 6/12 แคช L3: 32MB
Base clock: 3.5GHz Max boost clock: 4.4GHz TDP: 65W
แรมที่รองรับ: DDR4 กราฟิกในตัว: ❌ พัดลมในกล่อง: ✅
ชิปเซ็ตที่รองรับ: X570, X470, X370, B550, B450, B350, A520 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

หากต้องการความคุ้มของฝั่ง AMD ในตอนนี้ก็คงต้องเป็น AMD Ryzen 5 5600 ที่แม้จะเป็นสถาปัตยกรรม Zen 3 ที่ออกมาซักพักใหญ่แล้วก็ตาม แต่ถ้าเจอเรื่องประสิทธิภาพต่อราคา ก็ต้องบอกว่ายังเป็น CPU เล่นเกมที่น่าสนใจอยู่ดี ด้วยราคาประมาณ 5,000 บาท ประกอบกับสามารถหาฮาร์ดแวร์ส่วนอื่นได้ง่ายมาก ทั้งแรมที่เป็น DDR4 รวมถึงเมนบอร์ดที่มีให้เลือกในท้องตลาดมากมายทั้งมือหนึ่งและมือสองสภาพดีราคาเบา ๆ จึงค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่ต้องการประกอบคอมเล่นเกมแบบราคาไม่แพง หรือจะอัปเกรดจาก Ryzen ซีรีส์ 1000 หรือ 2000 ขึ้นมาเป็นรุ่นที่ใหม่กว่า เพราะยังพอสามารถใช้ฮาร์ดแวร์เดิมได้แทบจะเกือบทั้งหมด ขอแค่อัปเกรด BIOS ของเมนบอร์ดให้รองรับ Ryzen ซีรีส์ 5000 ก็พอ แต่ได้ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และการจัดการพลังงานที่ดีกว่าเดิมด้วย จะหาระบบระบายความร้อนก็ง่าย หรือจะใช้พัดลมที่แถมมาในกล่องก็ยังไหว เพราะ Ryzen จัดการเรื่องการกินไฟได้ดี

ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่คุ้มค่ามาก ๆ ไม่ว่าจะใช้เล่นเกมหรือใช้ทำงาน ตัว PCIe 4.0 เองก็ยังเพียงพอ สามารถจับคู่กับการ์ดจอได้ทุกรุ่น เพราะฝั่งการ์ดจอเองในตอนนี้ก็ยังไม่สามารถใช้งาน PCIe 5.0 ได้เต็มที่ขนาดนั้น ค่อยเก็บงบไว้อัปเกรดในอนาคตก็ยังได้ แต่สำหรับผู้ที่อยากโอเวอร์คล็อกด้วย Ryzen 5 5600 ก็พอทำได้ แต่อาจจะไม่ถึงใจนัก เพราะตัวชิปไม่รองรับการโอเวอร์คล็อกโดยใช้ PBO ที่ทำให้สามารถลดไฟลง (undervolt) แล้วเร่งความแรงจากฟีเจอร์ PBO ได้โดยไม่กระทบกับการทำงานของตัวชิป จะโอเวอร์คล็อกได้แค่แบบพื้นฐานตามปกติ ต่างจากรุ่นที่มี X ต่อท้ายที่รองรับ PBO มาในตัว

AMD 5600G 01

AMD Ryzen 5 5600G

ซ็อกเก็ต: AM4 (Zen 3) คอร์ / เธรด: 6/12 แคช L3: 16MB
Base clock: 3.9GHz Max boost clock: 4.4GHz TDP: 65W
แรมที่รองรับ: DDR4 กราฟิกในตัว: ✅ พัดลมในกล่อง: ✅
ชิปเซ็ตที่รองรับ: X570, X470, X370, B550, B450, B350, A520 รองรับการโอเวอร์คล็อก: ✅

ส่วนถ้าต้องการจำกัดงบลงมาอีก เช่นอาจจะต้องการประกอบคอมให้เด็กเล่นเกมออนไลน์เบา ๆ เกมที่ไม่กินสเปคมากนัก จนแทบไม่จำเป็นต้องซื้อการ์ดจอก็ได้ การเลือก CPU ที่มีกราฟิกในตัวก็เป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะฝั่ง AMD ที่ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพด้านกราฟิกแบบ iGPU จัดว่าดีเกินตัว โดยรุ่นที่น่าสนใจก็คือ AMD Ryzen 5 5600G ที่มาพร้อมโมดูลกราฟิก Radeon RX Vega 7 ซึ่งมีคอร์ประมวลผล (compute unit) ด้านกราฟิกอยู่ 7 คอร์ ความเร็ว 1900 MHz ซึ่งจากที่ทดสอบในรีวิว ก็พบว่าสามารถใช้เล่นเกมด้วยการปรับกราฟิกระดับกลาง-ต่ำได้เลย

ด้านของราคา แม้จะอยู่ที่ราว ๆ 5,000 บาทใกล้เคียงกับ Ryzen 5 5600 ที่ประสิทธิภาพสูงกว่า ทั้งยังรองรับ PCIe 4.0 ด้วย (5600G รองรับแค่ PCIe 3.0) แต่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ และรูปแบบการใช้งานมากกว่า ถ้าเป็นคอมใช้งานเบา ๆ เล่นเกมกราฟิกไม่สูงมาก เล่นเกมออนไลน์ กราฟิกในตัวของ 5600G ก็ยังไหวอยู่ ไม่ต้องซื้อการ์ดจอก็ยังได้เลย ถ้าการใช้งานเป็นแบบข้างต้น และงบค่อนข้างจำกัดจริง ๆ Ryzen 5 5600G ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ หรืออาจจะรวมถึงคนที่ต้องการประกอบคอมไซซ์ Mini-ITX ที่เคสมีขนาดเล็ก หาการ์ดจอใส่ลำบาก แล้วอยากใช้เล่นเกมเบา ๆ ก็จัดตัวนี้ได้เหมือนกัน

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

เล่นเกมด้วย Intel Core Ultra 5 245K กับ 7 เกมยอดนิยมบนการ์ดจอบนซีพียู Intel ไหวมั้ย ลื่นรึเปล่า? Intel Core Ultra 5 245K เป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งปล่อยลงสู่ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องความแรงและประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งด้านการประมวลผล หรือปัจจุบันก็มีเรื่องของ...

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

Special Story

หากจะพูดถึงซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุดปี 2024 สำหรับโน้ตบุ๊กของ AMD ก็จะต้องเป็น AMD Ryzen AI 300 series ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านพลังประมวลผล พลังกราฟิก และที่เด่นชัดสุดคือความสามารถในการทำงานด้าน AI โดยที่ผ่านมาก็จะมีรุ่นที่ออกมาทำตลาดคือ AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปรุ่นกลาง แต่ล่าสุดเราเริ่มเห็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ AMD...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก