เวลาจะเลือกจอคอมเล่นเกม นอกเหนือจากเรื่องขนาดและดีไซน์จอแล้ว ในปัจจุบันผู้ผลิตได้มีการใส่ฟีเจอร์ คุณสมบัติยิบย่อยต่าง ๆ เพื่อสร้างจุดต่างและจุดขายให้กับจอแต่ละรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มของจอเกมมิ่ง ที่ออกแบบมาให้เหมาะกับการเล่นเกมเป็นพิเศษ โดยจะมีคุณสมบัติบางข้อที่ทั้งฝั่งผู้ผลิตก็ต้องเน้น ฝั่งผู้ซื้อก็ต้องพิจารณาเป็นหลัก อาทิ เรื่องของรีเฟรชเรต (refresh rate) ระยะเวลาการตอบสนอง (response time) และก็ประเภทของพาเนลจอ สามข้อนี้คือคุณสมบัติหลักที่ต้องให้ความสำคัญซักนิดนึง รวมถึงยังเป็นตัวกำหนดระดับราคาแบบคร่าว ๆ ได้อีกด้วย
ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าปัจจัย 3 ข้อนี้มีความสำคัญอย่างไร และควรเลือกแบบไหน สำหรับการมองหาจอคอมสำหรับเล่นเกมในปี 2023 นี้
รีเฟรชเรต (Refresh Rate)
รีเฟรชเรตคือตัวเลขที่บ่งบอกความถี่ ว่าจอสามารถแสดงภาพได้กี่เฟรมในเวลา 1 วินาที มีหน่วยเป็น Hz ตัวอย่างเช่น ถ้าบอกว่าจอนี้เป็นจอ 120Hz ก็เท่ากับว่าตัวจอมีความสามารถในการแสดงภาพได้สูงสุด 120 เฟรมต่อวินาที ซึ่งก็จะสัมพันธ์กันกับเฟรมเรตที่มาจากการ์ดจอด้วย แต่ต้องย้ำกว่า รีเฟรชเรตและเฟรมเรต ไม่ใช่ค่าเดียวกัน รีเฟรชเรตคือส่วนของจอ เฟรมเรตคือมาจาก GPU ที่ทำงานร่วมกับ CPU ในระบบ โดยจอปกติทั่วไปจะมีรีเฟรชเรตมาตรฐานที่ 60Hz
ในภาพด้านบนนี้ เป็นการอธิบายให้เห็นภาพว่ารีเฟรชเรตที่ต่างกัน ให้ผลกับภาพที่แสดงบนจอคอมอย่างไรบ้าง โดยที่ความถี่ 120Hz จะมีการเปลี่ยนเฟรมภาพแต่ละเฟรมแค่ 8.33 มิลลิวินาทีเท่านั้น เราจึงเห็นรายละเอียดการเคลื่อนไหวที่มากกว่า เมื่อเทียบกับ 60Hz ที่มีการเปลี่ยนเฟรมภาพที่ช้ากว่า 120Hz ถึงประมาณ 2 เท่า ส่วน 30Hz ยิ่งหนักเลยครับ แทบจะเหมือนว่าขาและแขนดูข้ามจังหวะกันเลย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามองเห็นภาพบนจอที่รีเฟรชเรตสูง ๆ มันดูไหลลื่นกว่า มันก็เนื่องมาจากเรามองเห็นการเคลื่อนไหวที่ละเอียดมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับการเลือกจอคอมสำหรับเล่นเกมในแง่ของรีเฟรชเรต แน่นอนว่าการที่จอรองรับรีเฟรชเรตได้สูง ก็หมายถึงโอกาสในการใช้งานกับการ์ดจอในเดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ก รวมถึงเครื่องเกมคอนโซลได้หลากหลายกว่า เพราะถึงแม้จะบอกว่าจอนี้เป็นจอ 144Hz แต่ในการใช้งานจริง จอจะใช้การแสดงรีเฟรชเรตตามที่ตั้งค่าในระบบปฏิบัติการเป็นหลัก ซึ่งปกติแล้วก็จะตั้งค่าไปที่รีเฟรชเรตสูงสุดของจออยู่แล้ว เพื่อให้ใช้งานได้เต็มสมรรถภาพที่ซื้อมา
ส่วนในการเล่นเกม กรณีที่ดีที่สุดก็คือควรจะใช้จอที่มีรีเฟรชเรตเหมาะสมกับเฟรมเรต ของการ์ดจอ คือในอัตราส่วน 1:1 เช่น จอ 144Hz ก็จะเหมาะที่สุดกับการเล่นเกมที่ระดับ 144fps แต่แน่นอนว่าย่อมจะมีกรณีที่เฟรมเรตน้อยกว่ารีเฟรชเรต เช่น จอ 144Hz แต่คอมของเราทำเฟรมเรตได้แค่ 90fps เท่านั้น ในเคสนี้จะไม่เกิดผลกระทบกับภาพครับ สามารถใช้งานได้ปกติ แต่ถ้าเป็นกรณีที่เฟรมเรตมากกว่ารีเฟรชเรต เช่น การ์ดจอขับเฟรมภาพได้ระดับ 200fps แต่ใช้บนจอ 60Hz ปกติ แบบนี้จะเกิดอาการภาพฉีกขาด (tearing) ขึ้นมา อันเนื่องมาจากจออัปเดตเฟรมภาพไม่ทันกับข้อมูลที่การ์ดจอส่งมาให้
สำหรับในกรณีหลัง สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปิดใช้งาน VSync ในเกม หรือถ้าจอมีฟังก์ชันในการซิงค์ภาพกับการ์ดจอ เช่น NVIDIA G-SYNC หรือ AMD FreeSync และทางฝั่งการ์ดจอก็รองรับเทคโนโลยีเดียวกัน ระบบก็จะมีการสื่อสารกันเองในการปรับการส่งข้อมูลให้เหมาะสม เพื่อให้ไม่เกิดอาการภาพฉีกขาด โดยจอคอมส่วนใหญ่ในท้องตลาด มักจะรองรับ AMD FreeSync อยู่แล้ว นอกจากนี้ ตัวของ FreeSync ยังสามารถใช้งานร่วมกับการ์ดจอ NVIDIA ได้อีกด้วย
ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเลือกจอคอมเล่นเกมที่มีรีเฟรชเรตสูงซักหน่อย เช่น 120Hz ขึ้นไป ที่มาพร้อม AMD FreeSync ไว้ก่อน หรือถ้างบถึง และใช้การ์ดจอ NVIDIA ก็จะเลือกจอที่รองรับ G-SYNC ไปเลยก็ได้ แต่ทั้งนี้ ก็ควรพิจารณาปัจจัยด้านอื่น ๆ ประกอบกันด้วย เช่น ประเภทพาเนลจอ ขนาด ความละเอียด พอร์ตเชื่อมต่อ โดยค่ารีเฟรชเรตยอดนิยมของกลุ่มจอสำหรับเล่นเกมก็เช่น 144Hz 165Hz 240Hz 360Hz ล่าสุดก็มีทำไปได้ถึง 480Hz แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เล่นเกมที่ต้องมีการ action เยอะ ๆ เร็ว ๆ เช่นเกมแนว FPS เกมต่อสู้ หรือเกมแข่งรถ ควรเลือกจอที่รีเฟรชเรตสูงไว้ก่อน เพื่อที่จะได้เพิ่มโอกาสการมองเห็นเฟรมการเคลื่อนไวของอีกฝ่ายได้ดีกว่า ตั้งแผนรับมือได้ดีขึ้น แต่ถ้าใช้เล่นเกมแนววางแผน เกมที่มีการแบ่งเทิร์นชัดเจน หรือเกมที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนเฟรมภาพเร็ว ๆ มากนัก จอ 60Hz ก็ยังใช้งานได้สบาย ขอแค่การ์ดจอดีพอที่จะขับได้ 60fps แบบนิ่ง ๆ ก็โอเคแล้ว
ระยะเวลาการตอบสนอง (Response Time)
เป็นค่าบ่งบอกความเร็วในการตอบสนองของเม็ดพิกเซล ในการเปลี่ยนจากสีหนึ่งไปเป็นอีกสี่หนึ่ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงการแสดงผล โดยในปัจจุบัน สำหรับจอคอมมักจะมีอยู่สองมาตรฐานที่นิยมใช้ในการบอก response time ของจอ นั่นคือ
- แบบ Grey-To-Grey (GtG) – ความเร็วการเปลี่ยนสี จากสีเทาไปเป็นสีเทาอีกค่าหนึ่ง
- แบบ Moving Picture Response Time (MPRT) – ระยะเวลาที่เม็ดพิกเซลแสดงผลอยู่ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปภาพใหม่
ค่า response time แบบ GtG นั้นอยู่คู่วงการจอคอมมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นค่าที่สามารถวัดได้ไม่ยากนัก และยังได้ตัวเลขที่ต่ำมาก เช่น 1 มิลลิวินาที (ms) หรือ 3 ms โดยเลขยิ่งต่ำ ก็แสดงว่าเม็ดพิกเซลสามารถเปลี่ยนสีได้เร็ว ทำให้สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนเฟรมภาพที่รวดเร็วได้ดีด้วย สำหรับจอเล่นเกม ส่วนใหญ่มักจะมาพร้อม response time แบบ GtG เริ่มต้นที่ 4 ms ในรุ่นราคาประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป
แต่ในปัจจุบัน ผู้ผลิตหน้าจอ โดยเฉพาะกลุ่มของจอเกมมิ่ง มักจะมีการระบุค่า response time ในแบบ MPRT เพิ่มมาให้ด้วย เนื่องจากการวัดค่าแบบ MPRT จะเป็นตัวช่วยบ่งบอกว่าจอสามารถเปลี่ยนภาพได้เร็วขนาดไหน จะมีเงาค้างติดจอ (ghosting) แบบเห็นได้ชัดหรือเปล่า โดยจะใช้การบอกค่าเป็นเวลาหลักมิลลิวินาทีเหมือนกัน แต่ด้วยการที่ MPRT เป็นการบ่งบอกถึงการเปลี่ยนการแสดงผลของเม็ดพิกเซล จึงทำให้เลขที่ออกมาจะไม่มีทางเกินระยะเวลาการแสดงผลของแต่ละเฟรมอยู่แล้ว เช่น ของจอ 144Hz ก็จะมีค่า response time แบบ MPRT ที่ไม่เกิน 1/144 วินาที (6.9 ms) เพราะถ้าเฟรมภาพเปลี่ยน ก็เท่ากับเม็ดพิกเซลจะถูกบังคับให้เปลี่ยนการแสดงผลอยู่ดี
แต่ทั้งนี้ ค่า response time แบบ MPRT ก็อาจจะไม่สามารถบ่งบอกประสิทธิภาพจอได้แบบ 100% ครับ เพราะส่วนหนึ่งมันขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่แต่ละแบรนด์ทดสอบ ค่ารีเฟรชเรตของจอ และสายตาของผู้ใช้งานด้วย อย่างถ้าตาไม่ได้ไวต่อแสงมากนัก ก็อาจจะสามารถใช้จอที่มี response time แบบ MPRT สูงหน่อยได้แบบไม่มีปัญหา ส่วนถ้าต้องการวัดค่า MPRT ของจอที่ใช้อยู่ ลองเข้าไปดูที่เว็บนี้ได้เลย
ในจอสำหรับเล่นเกมบางรุ่น ผู้ผลิตอาจจะใส่ฟังก์ชันประเภทการ overdrive ที่ช่วยลด response time ลงมา เพื่อให้ตอบสนองกับการเล่นเกมที่มีภาพเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ได้ดีขึ้น ภาพเบลอในจุดเคลื่อนไหวน้อยลง ซึ่งจะเปิดใช้นิดหน่อยก็ได้ครับ แต่ถ้าเปิดเยอะไป นานไป อาจส่งผลเสียต่อจอในระยะยาวได้ ที่เรียกอาการว่าเป็น overshoot (มีเงาแบบภาพเลือน ภาพติดตา) เพราะปกติแล้วการ overdrive จะเป็นการจ่ายไฟที่สูงกว่าระดับปกติเล็กน้อยเข้าไป
สำหรับการเลือกจอคอมสำหรับเล่นเกมในปี 2023 ถ้าเป็นในกลุ่มของจอราคาตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท มักจะมาพร้อม response time แบบ GtG ตั้งแต่ 5ms ลงมา และ MPRT (ถ้ามีระบุ) ที่ 1ms ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่โอเคแล้วครับ แต่ทางที่ดีก็ควรลองไปดูตัวจริงหน้าร้านก่อนตัดสินใจซื้อจะดีที่สุด เพราะสายตาของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
ประเภทของพาเนลจอ – TN / IPS / VA
พาเนลจอคือส่วนสำคัญที่จะบ่งบอกถึงคุณภาพของการแสดงผลขอจอ ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีที่ใช้กันอยู่ 3 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ พาเนลประเภท TN, IPS และ VA ซึ่งแต่ละแบบก็จะเลือกใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป ทำให้แต่ละแบบมีจุดเด่นที่แตกต่างกันดังนี้
พาเนล TN
เป็นพาเนลที่อยู่คู่จอ LCD/LED มาอย่างยาวนาน โดยในปัจจุบันจะพบอยู่ในกลุ่มจอราคาไม่สูงมาก (ต่ำกว่า 3,000 บาท) และกลุ่มจอสำหรับเล่นเกม ที่ออกแบบมาเพื่อเน้นการตอบสนองที่เร็ว เนื่องจากพาเนล TN มีจุดเด่นคือมี response time ที่ต่ำสุดในพาเนล 3 ประเภทหลัก สามารถทำได้เร็วสุดน้อยกว่า 1 ms จะช้าสุดก็แค่ 4-5 ms ซึ่งจัดว่ายังเร็วกว่าพาเนลอื่นอยู่ดี รวมถึงยังสามารถออกแบบให้มีรีเฟรชเรตได้สูงมาก ๆ ด้วย จึงทำให้มักจะเกิดอาการภาพเบลอ ภาพติดตาที่น้อยหรือแทบไม่มี และก็มี input lag ที่ต่ำ ทำให้จอที่ใช้พาเนล TN จะเหมาะกับใช้ในการเล่นเกมแนว FPS เกมต่อสู้ เกมแอคชันที่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วเป็นพิเศษ เราจึงจะได้เห็นกลุ่มจอสำหรับอีสปอร์ตหลาย ๆ รุ่นเลือกใช้พาเนล TN เป็นหลัก
แต่พาเนล TN ก็จะมีจุดด้อยในเรื่องของสีสัน และมุมมองภาพที่แคบกว่าพาเนลอื่นด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี โดยในด้านของขอบเขตสี (color gamut) มักจะทำได้ที่สูงสุดระดับ 100% sRGB และมีน้อยรุ่นมาก ๆ ที่สามารถทำคอนทราสต์ได้ถึง 1000:1 ส่วนมุมมองภาพตามทฤษฎีก็ทำได้มากสุดแค่ 170 องศาในแนวตั้งและ 160 องศาในแนวนอนเท่านั้น ซึ่งในความจริงอาจจะน้อยกว่านี้ลงไปอีก ทำให้ถ้ามองจากด้านข้างหรือด้านบนของจอ จะพบว่าภาพมีสีและความสว่างเพี้ยน สีเหลือบไปจากภาพจริง แต่ถ้านำมาใช้เล่นเกมก็ไม่มีปัญหาเลย เพราะปกติแล้วเวลาจะเล่นเกมกับจอคอม ผู้ใช้ก็ต้องนั่งอยู่ตรงกลางจออยู่แล้ว
พาเนล IPS
IPS ย่อมาจาก In-plane switching ซึ่งสื่อถึงรูปแบบการวางผลึกคริสตัลที่มีการบิดมุมในแนวนอนเมื่อมีการจ่ายไฟให้มีการแสดงผล ซึ่งทำให้เป็นจุดเด่นของ IPS นั่นคือมุมมองภาพที่กว้างสุดถึง 178/178 องศา ทั้งยังมีคุณสมบัติในด้านการแสดงสีสันที่ดี สามารถแสดงสีได้สูงสุดถึงระดับ 100% DCI-P3 ขึ้นไปแล้วแต่คุณภาพของพาเนล ทำให้ค่อนข้างเหมาะกับการใช้เป็นจอคอมที่ต้องเน้นด้านสีสัน ความแม่นยำของสี เพื่อให้ได้ภาพที่สมจริงในการทำงานและการเล่นเกม แม้จะมองจากด้านเฉียงของจอก็ยังได้ภาพที่คมชัดอยู่
ส่วนจุดด้อยของพาเนล IPS ก็จะมีเรื่องของสีดำที่ดูไม่ดำสนิทเท่าพวก TN และ VA เนื่องจากไม่สามารถทำค่าคอนทราสต์ได้สูงเท่า ในบางรุ่นอาจพบอาการแสงเป็นดวง ๆ เมื่อภาพเป็นสีดำ (IPS Glow) ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพาเนล IPS เลย ส่วนเรื่อง response time ก็จะสูงกว่า TN พอสมควร คือมักอยู่ในช่วง 5-7 ms แม้ในปัจจุบันจะมีการพัฒนาให้เร็วขึ้นใกล้เคียง TN แล้วก็ตาม แต่ก็จะมีอยู่ในรุ่นที่ราคาสูงขึ้นกว่าปกติไปอีก ด้านรีเฟรชเรตก็เช่นเดียวกันครับ ถ้าเทียบในช่วงราคาเดียวกัน มักจะพบว่าจอ IPS มักให้ค่ารีเฟรชเรตสูงสุดต่ำกว่าจอ TN และ VA อย่างเห็นได้ชัดเลย อาจจะมีแค่บางรุ่นที่ทำได้เทียบเท่า แต่ก็มักจะลดสเปคในจุดอื่นลงเพื่อให้สามารถทำราคาได้อยู่ดี
จอคอมพาเนล IPS เหมาะกับผู้ที่เล่นเกม หรือทำงานด้านกราฟิกที่ต้องการภาพสวย สีสันแม่นยำ สมจริง มุมมองของจอที่กว้าง โดยเฉพาะกับการเล่นเกมภาพสวย มี effect ตระการตา โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่อง response time ที่ว่องไวขีดสุด ไม่ได้ใช้งานด้านอีสปอร์ตแบบจริงจังมากนัก
พาเนล VA
ให้เข้าใจง่าย ๆ คือเป็นพาเนลที่อยู่ระหว่างกลางของ TN และ IPS ในด้านของสีสันและมุมมองภาพ จะทำได้ดีกว่า TN แต่ยังไม่ถึงระดับ IPS เวลามองจากด้านข้างหรือด้านบน จะพบอาการสีและความสว่างเพี้ยนน้อยกว่า TN หรือแทบไม่เพี้ยนเลย ที่น่าสนใจคือสามารถทำคอนทราสต์ได้ดีกว่า IPS มาก ๆ เริ่มต้นก็มักจะมาที่ 2000:1 เข้าไปแล้ว ทำให้ได้ภาพที่ดูสีสันสดใส มีความดำที่ลึกกว่า ให้ภาพที่มีมิติ จึงเหมาะกับการใช้งานเป็นจอคอมเพื่อความบันเทิง จะเล่นเกมหรือดูหนังก็สบาย ส่วนในด้านของ response time จัดว่าไม่ดีไม่แย่ครับ เพราะช่วงนั้นค่อนข้างกว้างมาก มีตั้งแต่ระดับช้ากว่า IPS จนไปถึงระดับใกล้เคียง TN เลย (แต่ก็ยังมีระยะห่างอยู่) อันนี้ต้องเช็คเป็นรายรุ่นไป ทั้งแบบ GtG และ MPRT
ด้านของรีเฟรชเรตก็เป็นอีกจุดที่ VA ทำได้ดี อยู่กึ่งกลางระหว่าง TN และ IPS โดยถ้าเทียบจอคอมที่มีค่ารีเฟรชเรตสูงสุดเท่ากัน สเปคโดยรวมเหมือนกัน จอ VA มักจะมีราคาที่ย่อมเยากว่าจอ IPS อยู่นิดนึง ทำให้จอคอมที่ใช้พาเนล VA ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน เพราะตอบโจทย์ด้านสีสันที่ดีกว่า TN ในหลาย ๆ รุ่น รีเฟรชเรตที่ดีกว่า IPS แม้จะมี repsonse time สูงขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าไม่ได้เล่นเกมระดับจริงจังก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ส่วนด้านมุมมองภาพที่อาจจะไม่กว้างเท่า IPS แต่ถ้านั่งใช้งานหน้าจอคนเดียวก็ไม่มีปัญหาแน่นอน
จอคอมพาเนล VA จึงเหมาะกับการใช้เล่นเกม ดูหนัง หรืองานอื่น ๆ ที่ต้องการความสดใสของสีสัน มิติภาพที่ดีจากสีดำที่ดำลึก ขาวที่สว่าง ในราคาที่เป็นมิตรกว่า IPS หรือจะซื้อมาใช้ทำงานก็ได้เช่นกัน สำหรับงานที่ไม่เน้นความแม่นยำของสีระดับมือโปร
สรุป – เลือกจอคอมเล่นเกมแบบไหนดี?
จาก 3 ปัจจัยหลักข้างต้น ถ้าต้องเลือกจอคอมมาใช้เล่นเกมซักรุ่น จะพอสรุปได้ประมาณนี้ครับ
เน้นเล่นเกม เน้นอีสปอร์ตจริงจัง
เลือกจอ TN เน้นรีเฟรชเรตสูง และ response time ต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เน้นเล่นเกมยิง เกม FPS / TPS / Action เร็ว ๆ
เลือกจอ TN เน้นรีเฟรชเรตสูง และ response time ต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้เช่นกัน แต่ถ้างบถึง จะดูเป็นกลุ่มจอ IPS ก็ได้
เน้นเล่นเกมเนื้อเรื่อง / Cinematic / RPG / MOBA / Simulation / เกมทั่วไป เน้นเล่นสนุก ๆ มีดูหนังบ้าง
เลือกจอ IPS หรือ VA ค่าสีดี ๆ ความละเอียดสูงในระดับที่การ์ดจอทำงานไหว ส่วนรีเฟรชเรต ถ้าเป็นไปได้ก็ขั้นต่ำที่ 144Hz ไว้ก่อนเลย เผื่ออัปเกรดการ์ดจอในอนาคต เพราะจอ 144Hz ตอนนี้ก็มีราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้นมากแล้ว แต่ถ้างบจำกัดจริง ๆ 75Hz ที่เป็นจอสำหรับใช้ทำงานก็ยังโอเค เล่นเกมได้สบาย
เน้นเล่นเกมกีฬาเช่น FIFA / Forza
เลือกจอที่มีการตั้งค่าโหมดเล่นเกมมาให้ เพื่อลด input lag ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนรีเฟรชเรตก็เลือกจอที่มีรีเฟรชเรตสูงสุดที่เหมาะกับการ์ดจอไว้ก่อน เพื่อให้เกมไม่สะดุดระหว่างเล่น ถ้าให้ดีก็คือเลือกจอที่มีเทคโนโลยีการซิงค์ภาพที่ตรงกับการ์ดจอที่มี สำหรับ response time ถ้าเป็นจอราคา 5,000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่จะสามารถเล่นเกมในกลุ่มนี้ได้แบบไม่ต่างกันมากนัก เพราะขนาดใช้เล่นกับทีวียังทำได้สบายเลย
ด้านของประเภทพาเนล ถ้าได้ IPS ก็จะดีครับ เพื่อความสวยงามของภาพ ส่วน VA ก็ไม่ต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่นอีกที
เน้นเล่นเกมคอนโซล PS5 / Xbox / Switch
จะใช้เป็น VA หรือ IPS ก็ได้ ถ้าใช้ VA ก็จะได้ภาพที่สีสันดูเต็มอิ่มกว่า รีเฟรชเรตสูงไว้ก่อน เพราะถ้าเป็นเครื่องคอนโซลรุ่นใหม่อย่าง PS5 และ Xbox Series S | X จะได้รับการออกแบบมาให้รองรับกับจอ 120Hz ได้ดี ส่วนความละเอียด ก็เริ่มต้นที่ Full HD 1920×1080 ซึ่งเหมาะกับทุกเครื่อง โดยเฉพาะ Nintendo Switch หรือถ้าจะขยับสูงขึ้นไป ก็แนะนำให้ข้ามไปที่ 4K 3840×2160 เลย ไม่แนะนำจออัลตร้าไวด์ จอ 21:9 เพราะระบบและเกมของคอนโซลมักจะออกแบบมาสำหรับจออัตราส่วน 16:9 มากกว่า ถ้าใช้บนจอ 21:9 อาจจะพบกับขอบจอดำขนาดใหญ่ด้านข้างทั้งสองฝั่ง หรือหนักหน่อยก็คือเจอการยืดภาพในแนวนอนจนเต็มจอไปเลย