RAM(หน่วยความจำ) กับ Storage(แหล่งเก็บข้อมูล) 2 อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ต้องใช้ มีความแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราขอนำมาแจ้งแถลงไขให้ทุกท่านได้ทราบกัน
เชื่อว่าทุกท่านส่วนใหญ่น่าจะทราบความแตกต่างพื้นฐานระหว่างหน่วยความจำ(Random-access memory หรือ RAM) และแหล่งเก็บข้อมูล(Storage) กันอยู่แล้ว ซึ่งนั่นก็คือหน่วยความจำหรือ RAM นั้นจะใช้ในการเก็บข้อมูลและกระบวนการการทำงานของโปรแกรมที่กำลังทำงานอยู่หรือจะต้องถูกเรียกใช้ในช่วงเวลาที่มีการกำหนดไว้อย่างทันทีทันใด รวมไปถึงหน่วยความจำจะไม่สามารถเก็บข้อมูลแบบถาวรได้(การเก็บข้อมูลจะทำได้ต่อเมื่อมีไฟฟ้าทำงานอยู่เท่านั้น)
ส่วนแหล่งเก็บข้อมูลหรือ Storage(ไม่ว่าจะเป็นแบบจานแม่เหล็กหรือที่เรียกว่า Harddisk(HDD) หรือให้ทันสมัยหน่อยก็จะเป็นแบบ Flash Storage หรือ SSD) จะใช้ในการเก็บข้อมูลโดยข้อมูลที่เก็บนั้นสามารถเก็บอยู่ได้อย่างถาวรไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้า(เว้นแต่ว่าแหล่งเก็บข้อมูลของคุณจะเสียหายไปก่อน) เพื่อให้สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ได้ในภายหลัง
ทว่าในความเป็นจริงแล้วนั้นหน่วยความจำ(Random-access memory หรือ RAM) และแหล่งเก็บข้อมูล(Storage) มีความแตกต่างกันในเชิงลึกมากกว่าที่บางท่านเข้าใจกันอยู่มากนัก ในวันนี้ทาง NBS อยากขอแนะนำความแตกต่างดังกล่าวของ หน่วยความจำ(Random-access memory หรือ RAM) และแหล่งเก็บข้อมูล(Storage) ให้ทุกท่านได้ทราบกัน จะมีอะไรบ้างนั้นไปติดตามกันได้เลย
- ประเภทหน่วยความจำ: ลบเลือนกับไม่ลบเลือน
- ข้อมูล: การจัดเก็บข้อมูลชั่วคราวเทียบกับการจัดเก็บข้อมูลถาวร
- RAM และ Storage ส่งผลต่อความเร็วของคอมพิวเตอร์ของคุณอย่างไร
- การอัปเกรด RAM กับ Storage
- เลือกสิ่งที่ถูกต้องเมื่ออัพเกรดหน่วยความจำของคุณ
ประเภทหน่วยความจำ: ลบเลือนกับไม่ลบเลือน
เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นคุณควรต้องรู้เกี่ยวกับหน่วยความจำที่ลบเลือน(volatile) และไม่ลบเลือน(non-volatile) เสียก่อน หน่วยความจำทั้งสองประเภทสามารถเก็บข้อมูลได้เหมือนกัน แต่ทว่ากระบวนการในการเก็บข้อมูลนั้นต่างกัน หน่วยความจำแบบลบเลือนต้องการพลังงาน(ซึ่งในที่นี้ก็คือไฟฟ้าไฟฟ้า) อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งและรับข้อมูลทำให้ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ชั่วคราว(เฉพาะเวลาที่มีกระแสไฟฟ้าหรือตอนที่คุณทำการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์) และกระบวนการการเก็บข้อมูลทั้งหมดจะหายไปเมื่อคุณปิดคอมพิวเตอร์(เพราะไม่มีไฟฟ้า) นั่นเอง
ส่วนหน่วยความจำไม่ลบเลือนจะเก็บข้อมูลไว้เมื่อบันทึกลงในไดรฟ์แล้ว เมื่อข้อมูลถูกจัดเก็บไว้ในไดรฟ์อย่างปลอดภัยแล้ว การสูญเสียพลังงาน(ไฟฟ้า) จะไม่ส่งผลต่อสิ่งที่อยู่ในไดรฟ์ ข้อมูลจะถูกเก็บไว้อย่างถาวรและไม่มีโปรแกรมหรือไฟล์ใดๆ ของคุณได้รับผลกระทบจากการปิดคอมพิวเตอร์ของคุณ
ดังนั้นพื้นที่จัดเก็บชั่วคราวรูปแบบใดก็ตามจะลบเลือน ซึ่งรวมถึง RAM, แคช(cache ที่อยู่ในหน่วยประมวลผลหรือ CPU), หน่วยความจำรีจิสตรี(registry memory) ฯลฯ ในทำนองเดียวกันพื้นที่จัดเก็บถาวรรูปแบบใดก็ตามจะไม่ลบเลือน เช่น ฮาร์ดไดรฟ์(HDD และ SSD), USB Flash Drive, ออปติคัลไดรฟ์(เช่น DVD, CD) และไดรฟ์ภายนอก(external drives) เป็นตัวอย่างทั้งหมดของพื้นที่จัดเก็บที่หน่วยความจำที่ไม่ลบเลือน
ข้อมูล: การจัดเก็บข้อมูลชั่วคราวเทียบกับการจัดเก็บข้อมูลถาวร
เนื่องจากหน่วยความจำลบเลือนจะเก็บข้อมูลชั่วคราวเท่านั้น RAM จึงเปรียบเสมือนหน่วยความจำระยะสั้นสำหรับคอมพิวเตอร์ของคุณ ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าในเมื่อคอมพิวเตอร์ของท่านจะต้องมีการใช้งานหน่วยความจำแบบไม่ลบเลือนอยู่แล้ว เหตุไฉนเลยจึงยังจำเป็นที่จะต้องใช้หน่วยความจำแบบลบเลือนที่จัดเก็บข้อมูลได้แบบชั่วคราวอยู่(หรือใก้เข้าใจง่ายๆ ว่าในการประกอบคอมพิวเตอร์นั้นเราต้องมี Storage ซึ่งเป็นหน่วยความจำที่ไม่ลบเลือนอยู่แล้ว ทำไมเราจึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานหน่วยความจำแบบลบเลือนหรือ RAM ประกอบเป็นฮาร์ดแวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยอยู่)
คำตอบง่ายๆ ก็คือ RAM นั้นเร็วกว่าฮาร์ดไดรฟ์หรือโซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) อย่างมาก เมื่อใดก็ตามที่คุณเปิดแอปพลิเคชัน, เข้าถึงไฟล์หลายไฟล์หรือแม้แต่เปิดเกม โปรแกรมจะสร้างกระบวนการชั่วคราวเพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้องขึ้นมา กระบวนการเหล่านี้จะถูกจัดเก็บไว้ใน RAM เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อคุณปิดโปรแกรมดังกล่าว กระบวนการทั้งหมดจะถูกปิดด้วย(และลบออกไปจาก RAM) ดังนั้น RAM จึงใช้เพื่อเก็บข้อมูลชั่วคราวที่ต้องเข้าถึงอย่างรวดเร็ว
ถ้า RAM เร็วกว่า Storage งั้นก็ไม่จำเป็นต้องมี Storage ก็ได้สิ?
คำถามนี้อาจจะเกิดขึ้นในใจของผู้ที่ประกอบคอมพิวเตอร์เอง ทว่าในความเป็นจริงแล้วนั้นการจัดเก็บข้อมูลอย่างถาวรก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน คุณต้องมีหน่วยความจำเฉพาะที่ใช้สำหรับจัดเก็บแอปพลิเคชัน, เกม, ไฟล์(Files) และโฟลเดอร์(Folder) ทั้งหมดของคุณเอาไว้สำหรับใช้งานในครั้งต่อๆ ไป เพราะสิ่งหนึ่งเลยที่คุณต้องไม่ลืมนั่นก็คือ RAM เป็นหน่วยความจำที่ลบเลือนได้ดังนั้นหากไม่มีไฟฟ้ามันก็ไม่สามารถที่จะทำงานในการเก็บข้อมูลได้
จากเหตุผลทางด้านบนก็เลยเป็นที่มาของหน่วยความจำแบบถาวรหรือที่เราเรียกให้เข้าใจกันแบบแยกอย่างชัดเจนก็คือแหล่งเก็บข้อมูล(Storage) ซึ่งมันจะถูกนำเอามาใช้ในการจัดเก็บโปรแกรมต่างๆ (ตั้งแต่ระบบปฎิบัติการไปจนถึงโปรแกรมและแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณลงไว้บนคอมพิวเตอร์เอาไว้ใช้งาน)
จุดที่สำคัญมากๆ เลยนั้นก็คือโปรแกรมต่างๆ อาจใช้พื้นที่เก็บข้อมูลมาก ซึ่งโมดูล RAM มีความจุต่ำกว่าแหล่งเก็บข้อมูล ดังนั้นโปรแกรมและไฟล์ทั้งหมดของคุณจึงถูกบันทึกไว้ในหน่วยความจำถาวรหรือแหล่งเก็บข้อมูลนั่นเอง
RAM และ Storage ส่งผลต่อความเร็วของคอมพิวเตอร์ของคุณอย่างไร
RAM และ Storage มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองอย่างอาจส่งผลต่อความเร็วของคอมพิวเตอร์ของคุณ ตัวอย่างเช่นหากคุณมีกระบวนการในการทำงานจากโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันจำนวนมากที่กำลังทำงานอยู่ นั่นจะทำให้ระบบปฎิบัติการมีความจำเป็นที่จะต้องใช้หน่วยความจำระบบจำนวนมาก
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “RAM หมด” เช่นกัน สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งต้องการ RAM มากขึ้นเพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้องกว่าที่ระบบของคุณมีอยู่ในปัจจุบัน
แน่นอน คุณสามารถเพิ่มและลดการใช้ RAM ได้ตลอดเวลา ทว่ามันก็ยังคงเป็นการแก้ไขระยะสั้นเท่านั้น หากคุณมี RAM 8GB ในคอมพิวเตอร์ของคุณและพบว่าคอมพิวเตอร์ปิดโปรแกรมอยู่เรื่อยๆ ก็ถึงเวลาอัปเกรดเป็น 16GB หรือสูงกว่า(หรือสังเกตุได้จากอาการที่โปรแกรมที่เปิดใช้งานนั้นทำงานได้ช้าลงเป็นอย่างมากเช่นการเปิด tab ใน Chrome หลายๆ tab จะทำให้คุณเห็นได้ชัดเจนว่ามีการใช้งาน RAM เป็นจำนวนมาก)
เช่นเดียวกับหน่วยความจำแบบไม่ลบเลือนหรือแหล่งเก็บข้อมูล(Storage) เช่น HDD หากคุณมีโปรแกรม, เกม, รูปภาพและไฟล์จำนวนมากที่บันทึกไว้ในไดรฟ์ของคุณ ก็มีโอกาสที่พื้นที่เก็บข้อมูลของคุณจะหมดในที่สุด นอกจากนี้ยังหมายความว่าคุณอาจไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับหน่วยความจำเสมือน(virtual memory) ที่คอมพิวเตอร์จำเป็นที่จะต้องใช้งานในบางครั้ง โดยหน่วยความจำเสมือนนั้นจะเป็นการนำพื้นที่ในหน่วยความจำแบบไม่ลบเลือนหรือ Storage มาจำลองเป็นหน่วยความจำแบบลบเลือนเพื่อจัดเก็บข้อมูลแบบเดียวกับที่ต้องเก็บในหน่วยความจำแบบลบเลือน(หรือ RAM) ในกรณีที่หน่วยความจำแบบลบเลือนถูกใช้งานจนเต็มนั่นเอง
เมื่อคุณใช้ RAM จนหมด คอมพิวเตอร์จะใช้ส่วนขยายชั่วคราวบนฮาร์ดไดรฟ์ของคุณเพื่อเรียกใช้กระบวนการสำหรับบางโปรแกรม สิ่งนี้เรียกว่าไฟล์เพจ หากคอมพิวเตอร์ของคุณจัดสรรพื้นที่ไม่เพียงพอให้กับไฟล์เพจจิ้งนี้ ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลงอย่างมาก
ดังนั้น ในแง่หนึ่งแล้วการเติมข้อมูลในแหล่งเก็บข้อมูลแบบไม่ลบเลือน(หรือ Storage) ของคุณจนเต็มจะทำให้ระบบของคุณทำงานช้าลงในที่สุด
ฉะนั้นคุณจะเห็นได้ว่าคอมพิวเตอร์นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานทั้ง RAM และ Storage ควบคู่กันไป
การอัปเกรด RAM กับ Storage
โดยทั่วไป คุณสามารถอัปเกรด RAM หรือ Storage ในคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป(และโน๊ตบุ๊ค) ส่วนใหญ่ได้ น่าเสียดายที่นั่นไม่ใช่ความจริงสำหรับโน๊ตบุ๊คทุกเครื่อง เพราะโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีหน่วยความจำแบบฝังไปกับเมนบอร์ดและบางรุ่นก็ไม่อนุญาตให้คุณเข้าถึงฮาร์ดไดรฟ์หรือ SSD
โชคดีที่คุณสามารถอัปเกรด RAM ในเดสก์ท็อป Windows ของคุณได้โดยเพียงแค่เปลี่ยนชุดอุปกรณ์เก่าของคุณเป็นชุดใหม่ คุณสามารถเพิ่ม RAM โมดูลอื่นได้ตัวอย่างเช่น หากคุณมีโมดูลเดียวขนาด 8GB คุณสามารถเพิ่มโมดูลขนาด 8GB ที่มีข้อมูลจำเพาะเดียวกัน(หรือเอาง่ายๆ ก็คือเป็นยี่ห้อเดียวกันรุ่นเดียวกัน) อีกอันเพื่อให้มี RAM ทั้งหมด 16GB ในระบบของคุณ
ในส่วนใหญ่แล้วคุณยังสามารถเพิ่มแหล่งเก็บข้อมูลใหม่ได้ หากคุณต้องการพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่ม ขณะที่คุณใช้งาน โดยการเลือกประเภทแหล่งเก็บข้อมูลที่จะเพิ่มเข้ามานั้นก็ควรจะต้องทำการศึกษาก่อนเพราะในปัจจุบันแหล่งเก็บข้อมูลนั้นมีวางจำหน่ายด้วยกันทั่วไป 2 แบบคือแบบจานหม่เหล็ก(หรือ HDD) ซึ่งมีราคาถูก, ความจุมากแต่ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลช้ากับแบบ Solid State Drives (หรือ SSD) ซึ่งมีราคาแพง,ความจุน้อยแต่ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลสูง
แม้ว่าการอัปเกรดแหล่งเก็บข้อมูล(Storage) มักจะเป็นเรื่องง่าย แต่ RAM ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุผลด้านความเข้ากันได้ คุณต้องทราบรุ่นที่ถูกต้อง, ความเร็ว, ฟอร์มแฟกเตอร์, แบนด์วิธ, และอื่นๆ ซึ่งต้องศึกษาให้ดีก่อนที่จำทำการซื้อมาอัปเกรดเอง
สรุปได้ว่า เมื่ออัปเกรด RAM หรือ Storage ของคุณ คุณจะต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของระบบ เนื่องจากคอมพิวเตอร์บางเครื่องอาจไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่นคุณไม่สามารถอัปเกรด RAM หรือ Storage บนผลิตภัณฑ์ของ Apple ในบางประเภทได้เอง
ถึงแม้ว่าคุณจะไม่สามารถอัปเกรด Storage ของโน๊ตบุ๊คบางรุ่นได้ ทว่าคุณสามารถที่จะหาซื้อ External Hard disk มาใช้งานเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณแทนได้ในปัจจุบันซึ่งสะดวกมากสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ในด้านฮาร์ดแวร์โดยตรง
เลือกสิ่งที่ถูกต้องเมื่ออัพเกรดหน่วยความจำของคุณ
ทาง NBS หวังว่าคู่มือฉบับนี้จะช่วยขจัดความสับสนของคุณเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง RAM และ Storage ได้ ทั้งนี้การตระหนักถึงความแตกต่างเหล่านี้จะมีประโยชน์เมื่อคุณต้องการอัปเกรดหน่วยความจำระบบ(RAM)หรือแหล่งเก็บข้อมูล(Storage) หรือแม้แต่เมื่อคุณต้องการซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ทั้งหมด
นอกเหนือจากการอัปเกรดส่วนประกอบทั้งสองนี้แล้ว ยังมีอะไรอีกมากที่คุณสามารถทำได้เพื่อทำให้พีซีของคุณเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่นคุณสามารถอัปเกรดเป็นโปรเซสเซอร์ใหม่, เปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิบัติการอื่น และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคอมพิวเตอร์ของคุณระบายความร้อนอย่างเหมาะสมซึ่งทาง NBS จะเอามานำเสนอให้ทุกท่านได้ทราบกันต่อไป
ที่มา : makeuseof