เมื่อ Lenovo ทำ ThinkPad ให้ทันสมัยขึ้น ก็ได้เป็น Lenovo ThinkPad Z16 ขึ้นมา!
Lenovo ThinkPad Z16 เป็น ThinkPad ตระกูลใหม่อย่าง Z Series ซึ่งทาง Lenovo เพิ่งเปิดตัวมาเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นดีไซน์ที่ดูสวยเรียบหรูแต่ก็เจาะกลุ่มตลาดนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่อายุน้อยลง เปลี่ยนภาพลักษณ์ตระกูล ThinkPad ให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งทาง Lenovo ยังคงคอนเซปท์คุณภาพที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ (Trusted quality), ดีไซน์เน้นการใช้งานยิ่งขึ้น (Purposeful design) ได้นวัตกรรมที่ล้ำสมัยและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เริ่มจากแพ็คเกจสินค้าและตัวเครื่องที่ใช้วัสดุรีไซเคิลแถมยังย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว แต่สัมผัสตัวเครื่องยังคงแข็งแรงได้ความพรีเมี่ยมสวยงามมาก
จุดแข็งของ Lenovo ThinkPad Z16 มีหลายส่วน ได้แก่ จอทัชขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920×1200) พาเนล IPS ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB ความสว่าง 400 cd/m2 พร้อมฟีเจอร์ลดแสงสีฟ้าเพื่อถนอมสายตาผู้ใช้, ซีพียู AMD Ryzen 7 PRO ประสิทธิภาพสูงและมีฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยเสริมเข้ามาให้ในตัว, ได้พอร์ต USB-C 4 x 2 ช่อง ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดและมีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือและกล้อง IR Camera สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องได้ติดตั้งมาให้ เลือกใช้งานได้ตามความถนัดแถมยังผ่านมาตรฐาน MIL-STD 810H ที่ทดสอบคุณภาพถึง 200 รายการเพื่อการันตีความแข็งแรงทนทานของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ฟีเจอร์ลูกเล่นที่ทางบริษัทติดตั้งมาให้ในโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็น่าสนใจมาก ได้แก่ ระบบ AI ซึ่งทาง Lenovo เสริมเข้ามาช่วยให้ประสบการณ์ใช้งานดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะปรับแต่งภาพกล้องเว็บแคม, ระบบตัดเสียงรบกวนไมค์และช่วยปรับแต่งตัวเครื่องให้ทำงานได้ดีขึ้น และยังอัพเกรด TrackPoint ปุ่มแดงเอกลักษณ์ประจำโน๊ตบุ๊คตระกูล ThinkPad โดยเสริมฟีเจอร์ Communications Quick Menu เข้ามา ให้ผู้ใช้สามารถเปิดฟีเจอร์ตั้งค่ากล้องเว็บแคมและไมค์ได้แถมยังเรียกใช้ Microsoft Dictation ฟังก์ชั่นพิมพ์ด้วยเสียงของ Microsoft Windows ขึ้นมาใช้งานได้ด้วย ทำให้ TrackPoint มีลูกเล่นและฟังก์ชั่นใหม่ให้ใช้งานมากยิ่งขึ้น เป็นการยกเครื่องตระกูล ThinkPad ให้ล้ำสมัยตอบโจทย์การใช้งานในยุคใหม่ได้ดีขึ้น แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ความพรีเมี่ยมของซีรี่ส์นี้ได้เป็นอย่างดี
NBS Verdicts
Lenovo ThinkPad Z16 เป็น ThinkPad Z Series รุ่นแรกและนับเป็นซีรี่ส์ใหม่ในตระกูลนี้ ซึ่งได้ดีไซน์เครื่องที่สวยเรียบง่ายและบอดี้ก็เป็นอลูมิเนียมรีไซเคิลซึ่งแข็งแรงทนทาน โดยทาง Lenovo ตั้งใจออกแบบให้มันทันสมัยยิ่งขึ้นแต่ยังคงเอกลักษณ์ ThinkPad ไว้เพื่อจับตลาดกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ เมื่อหยิบขึ้นมาใช้ก็เสริมบุคลิคของเจ้าของเครื่องให้ดูมีภูมิฐานยิ่งขึ้นด้วย
สเปคและฟีเจอร์ของ Lenovo ThinkPad Z16 ก็ครบเครื่อง เริ่มจากซีพียู AMD Ryzen PRO Series ที่เสริมฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยเข้ามาและประสิทธิภาพนั้นจัดว่าดีหายห่วง จะใช้ทำงานเอกสารหรือทำงานแต่งภาพก็ดี ได้หน้าจอทัชสกรีนขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด WUXGA ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB อีก ดังนั้นจะใช้แต่งภาพหรือพรู้ฟสีงานอาร์ทก็ทำได้ดี ยิ่งไปกว่านั้น ทาง Lenovo ยังติดตั้งพอร์ต USB-C 4 ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ นอกจากจะรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วแล้วยังรองรับการชาร์จแบบ Power Delivery ได้ ยังต่อหน้าจอแยกได้ ยิ่งไปกว่านั้นชิป Qualcomm WCN685x ในเครื่องยังใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบ Wi-Fi 6E ซึ่งรับส่งข้อมูลได้เสถียรและรวดเร็วอีกด้วย
ระบบยืนยันตัวแบบชีวมาตร (Biometric) ทาง Lenovo ก็ติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือและกล้อง IR Camera มาให้ใช้ สามารถเลือกสแกนยืนยันตัวตนปลดล็อคเครื่องได้ตามสะดวก ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือพกเครื่องไปติดต่อลูกค้า, ประชุมงาน ฯลฯ ก็ใช้งานได้สะดวกแถมยังจัดการพลังงานได้ดี ใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 13 ชั่วโมง ต้องถือว่าซีพียู AMD Ryzen PRO Series เมื่อผสานกับ AMD SmartShift Max แล้ว นอกจากประสิทธิภาพจะดียังจัดการพลังงานได้ยอดเยี่ยมน่าประทับใจ ไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะดับระหว่างวันเลย ซึ่งผู้เขียนก็ขอเน้นย้ำผู้อ่านให้ติดตั้ง AMD Chipset Driver เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดเข้าไปจะช่วยให้ Lenovo ThinkPad Z16 ทำงานได้ดีขึ้นอย่างชัดเจนแน่นอน
แม้ Lenovo ThinkPad Z16 จะยอดเยี่ยมและน่าใช้เพียงใด แต่ก็ยังมีจุดสังเกตอยู่ เริ่มจากราคาสเปคเริ่มต้น 71,057 บาท นั้นถือว่าสูงและเข้าถึงได้ค่อนข้างยากจนทำให้คนที่อยากได้ Lenovo ThinkPad ต้องถอยกลับมาคิดอีกครั้งและหากปรับแต่งสเปคเพิ่มราคาก็จะสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนมองว่าสเปคและราคานี้หากไม่ชื่นชอบแบรนด์ ThinkPad มาเป็นทุนเดิมก็คงจะตัดสินใจได้ยาก และพอร์ตเชื่อมต่อแม้จะล้ำสมัย ให้ USB-C 4 x 2 คู่กับ USB-C 3.2 Gen 2 อีกช่องก็ตาม แต่ไม่มีพอร์ตอื่นอย่าง USB-A 3.0, HDMI ติดตั้งมาให้เลย ดังนั้นถ้าใครซื้อ Lenovo ThinkPad Z16 มาใช้ ก็ควรพก USB-C Multiport Adapter ติดกระเป๋าเอาไว้เผื่อต่อใช้งานกับอุปกรณ์สำนักงานชิ้นอื่นด้วย จะได้ทำงานได้สะดวกขึ้น
ข้อดีของ Lenovo ThinkPad Z16
- งานประกอบตัวเครื่องแข็งแรงทนทานสวยงาม ใช้บอดี้อลูมิเนียมรีไซเคิลทั้งตัวให้ความหรูหรา
- ได้รับการรับรอง MIL-STD 810H การันตีว่าตัวเครื่องแข็งแรงทนทาน เสียหายยาก
- ได้ซีพียู AMD Ryzen PRO Series ประสิทธิภาพสูงและมีระบบรักษาความปลอดภัยครบครัน
- มีการ์ดจอแยก AMD Radeon RX 6500M ติดตั้งมาให้ใช้เรนเดอร์กราฟิคได้ดีลื่นไหลยิ่งขึ้น
- หน้าจอทัชขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด Full HD ขอบเขตสีกว้างและเที่ยงตรง แสดงผลได้ดีมาก
- ได้เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือและใบหน้าใช้งานสะดวก ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว จุดติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเลือกจุดติดตั้งได้ดีใช้งานสะดวก ไม่เกะกะ
- TrackPoint และทัชแพดกระจก รองรับการตั้งค่าเพิ่มเติมอย่าง Communications Quick Menu
- ลำโพง Dolby Atmos ให้มิติเสียงที่ดีมาก ดูหนังฟังเพลงแล้วมีมิติเต็มอิ่ม ไม่ต้องต่อลำโพงแยก
- ตัวเครื่องได้พอร์ต USB-C 4 และ USB-C 3.2 Gen 2 รวม 3 พอร์ตติดตั้งมาให้ ล้ำสมัยและใช้งานได้หลากหลาย ต่อจอแยก, ชาร์จแบตเตอรี่และโอนถ่ายข้อมูลได้รวดเร็วมาก
- ใช้ชิป Qualcomm WCN685x เชื่อมต่อ Wi-Fi 6E ได้เร็วและเสถียรมาก
- สามารถใส่ M.2 2230 SSD เพื่อเพิ่มความจุไว้เซฟงานหรือติดตั้งโปรแกรมได้ด้วย
- ระบบระบายความร้อนคุมอุณหภูมิตัวเครื่องได้ดี แม้จะรันการทำงานเต็มที่ก็ไม่ร้อนมาก
- แบตเตอรี่และระบบจัดการพลังงานทำงานดีมาก ใช้งานได้นานสุดถึง 13 ชั่วโมง
ข้อสังเกตของ Lenovo ThinkPad Z16
- ที่เครื่องมีเฉพาะพอร์ต USB-C เท่านั้น ควรหา Multiport Adapter มาต่อเสริมใช้งานด้วย
- ราคาเริ่มต้น 71,057 บาท ถือว่าสูงพอสมควร
Lenovo ThinkPad Z16
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
Lenovo ThinkPad Z16 เป็น ThinkPad Z Series รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งได้ดีไซน์สวยพรีเมี่ยม บอดี้แข็งแรงทนทานและให้ฟีเจอร์ใช้งานมาครบเครื่อง ตอบโจทย์นักธุรกิจรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก ซึ่งประสิทธิภาพของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จัดว่ายอดเยี่ยมทีเดียว ซึ่งสเปคโดยละเอียดจะเป็นดังนี้
สเปคของ Lenovo ThinkPad Z16
- CPU : AMD Ryzen 7 PRO 6850H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.2~4.7GHz
- GPU : AMD Radeon RX 6500M แรม 4GB GDDR6
- SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 รองรับความจุสูงสุด 2TB มีช่องอัพเกรดเพิ่ม M.2 2230 SSD ได้อีก 1 ช่อ
- RAM : ออนบอร์ด ความจุ 16GB LPDDR5 บัส 4800MHz
- Display : ทัชสกรีน 16 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920×1200) พาเนล IPS ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB ความสว่าง 400 cd/m2 มีฟีเจอร์ลดแสงสีฟ้า
- Ports : USB-C 4 x 2, USB-C 3.2 Gen 2 x 1, SD Card Reader x 1, Audio combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
- Webcam : 1080p Full HD IR Camera
- Software : Windows 11 Pro
- Weight : 1.95 กิโลกรัม
- Price : เริ่มต้น 71,057 บาท (Lenovo Thailand)
Hardware & Design
ดีไซน์ของ Lenovo ThinkPad Z16 จะเน้นความสวยเรียบร้อยดูดี ถ้ามองเผินๆ แล้วจะเห็นขอบกลางจอส่วนบนที่ยื่นขึ้นมาเล็กน้อยคล้ายกับตระกูล Yoga Slim Series อยู่ เพื่อให้เจ้าของเครื่องใช้นิ้วกางเปิดเครื่องได้สะดวก และทางบริษัทก็บาลานซ์น้ำหนักตัวเครื่องมาได้ดีจึงใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวก็กางหน้าจอเปิดเครื่องเริ่มใช้งานได้ทันที ซึ่งสะดวกและใช้งานง่ายมาก ส่วนขอบบนเหนือคีย์บอร์ดมีช่องระบายความร้อนช่องหนึ่งติดซ่อนไว้ ถ้าไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็นเลย
ส่วนที่วางข้อมือฝั่งซ้ายจะเห็นโลโก้ Dolby Atmos speaker system สกรีนติดเอาไว้ ถัดลงมาเป็นสติกเกอร์ซีพียูและการ์ดจอแยกของ AMD ติดเอาไว้คู่กับกับสติกเกอร์ eyesafe Certified รับรองว่าเป็นจอถนอมสายตาของผู้ใช้ ส่วนฝั่งขวามือเป็นโลโก้ ThinkPad อันเป็นเอกลักษณ์สกรีนเฉียงติดเอาไว้ด้วย ซึ่งองค์รวมนั้นถือว่าสวยงามทีเดียว ทว่าผู้เขียนคิดอยากให้ทาง Lenovo ย้ายสติ๊กเกอร์ต่างๆ ลงไปติดไว้ตรงฝาใต้ตัวเครื่องให้ส่วนด้านบนของ Lenovo ThinkPad Z16 ดูสะอาดตากว่านี้สักนิดก็จะดีมาก
ขาบานพับของ ThinkPad Z16 จะเป็นก้านโลหะสั้นติดขอบล่างของฐานหน้าจอและล็อคเข้ากับฐานรับภายในตัวเครื่อง ซึ่งทางบริษัทขันล็อคไว้ได้แข็งแรงมาก เมื่อกางจอแล้วไม่มีอาการอ่อนแล้วจอโยกเลย ตัวบานพับจอสามารถกางได้กว้างสุดราว 120 องศา สามารถปรับองศาหน้าจอให้เข้ากับมุมสายตาได้ง่าย ไม่ว่าจะวางบนโต๊ะหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ดูหน้าจอได้สะดวก เห็นภาพได้ชัดเจนแน่นอน
ฝาหลังของ Lenovo ThinkPad Z16 เป็นฝาหลังเรียบๆ ไม่มีลวดลายแต่ง ยกเว้นมุมบนซ้ายที่ติดโลโก้ ThinkPad พร้อมจุดสีแดงบนตัว i แบบไฟ LED ซึ่งกระพริบบอกสถานะว่าตัวเครื่องเปิดหรือปิดอยู่ และมีเพลตแบรนด์ Lenovo ติดอยู่มุมล่างขวาของฝาหลัง ได้ความสวยงามและเรียบง่ายดูดี
ส่วนขอบบนตัวเครื่องจะเป็นชุดกล้องเว็บแคมความละเอียด Full HD f/2.0 ติดตั้งเอาไว้ โดยมีกรอบวงรีอลูมิเนียมล้อมเอาไว้พร้อมสลักโลโก้รุ่น Z16 ไว้ด้วย ซึ่งส่วนของกล้องเว็บแคมนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของบอดี้ฝาหลังตัวเครื่องแล้วมีช่องไมค์ Digital Mic Array ทั้งหมด 2 รู อยู่ที่ขอบบนของตัวเครื่องด้วย
ฝาใต้ตัวเครื่อง Lenovo ThinkPad Z16 จะมีแถบเส้นยางขนาดใหญ่อยู่ส่วนบนสุดและเสริมด้วยชิ้นยางอีก 2 อันตรงมุมล่างฝั่งซ้ายและขวา ตรงกลางเป็นช่องดึงลมเข้าไประบายความร้อนภายในเครื่องโดยลมจะวิ่งตรงเข้าพัดลมโบลวเวอร์ทั้ง 2 ตัวโดยตรง แล้วระบายออกที่ช่องเหนือขอบตัวเครื่องและขันน็อตหัวแฉก Philip Head เอาไว้ 5 ตัว โดยเป็นน็อตแบบมีตัวรั้งน็อตติดเอาไว้ข้างใน เมื่อขันออกจนหมดเกลียวแล้วตัวน็อตจะไม่ตกลงมาแต่ค้างติดเอาไว้กับฝาหลัง ช่วยไม่ให้ตกหายเวลาเปิดฝาอัพเกรดเครื่อง
หากสังเกตจะเห็นว่าด้านใต้เครื่องไม่มีช่องลำโพงอยู่เหมือนโน๊ตบุ๊คเครื่องอื่น นั่นเพราะทาง Lenovo ได้ย้ายเอาลำโพงทั้งสองข้างไปติดตั้งไว้ด้านข้างสองฝั่งของคีย์บอร์ดให้หันเข้าหาตัวผู้ใช้แทน ทำให้มุมล่างฝั่งซ้ายและขวาที่ควรมีลำโพงอยู่กลายเป็นบอดี้ตัวเครื่องเรียบๆ แทน
Screen & Speaker
หน้าจอทัชสกรีนขนาด 16 นิ้ว ของ ThinkPad Z16 มีความละเอียด WUXGA (1920×1200) พาเนล IPS อัตราส่วนหน้าจอ 16:10 ซึ่งมีพื้นที่ในแนวตั้งเพิ่มขึ้นให้แสดงคอนเทนต์ต่างๆ ได้มากกว่าเดิม มีขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB มีความสว่าง 400 cd/m2 มีฟังก์ชั่นลดแสงสีฟ้าเพื่อถนอมสายตาผู้ใช้ ลดอาการดวงตาล้าเมื่อใช้งานต่อเนื่องหลายชั่วโมง
ข้อดีของพาเนล IPS คือ องศาการแสดงผลหน้าจอกว้าง 178 องศา ทำให้มองหน้าจอจากมุมอื่นนอกจากการมองหน้าตรงก็ยังเห็นภาพได้ชัดเจนไม่เกิดเงาขึ้นมาบนหน้าจอ แต่จุดสังเกตหนึ่งคือ ThinkPad Z16 เป็นจอกระจก ถ้าสังเกตในภาพจะเห็นว่าหน้าจอจะสะท้อนแป้นคีย์บอร์ดขึ้นมาด้วย ซึ่งเวลาทำงานอยู่บางครั้งแล้วแสงกับมุมหน้าจอได้ระยะพอดีก็จะสะท้อนเงาของสิ่งที่อยู่ด้านหลังขึ้นมาบนหน้าจอได้ด้วย
ส่วนกล้องเว็บแคมความละเอียด Full HD ยังมีกล้อง IR Camera สำหรับสแกนใบหน้าติดตั้งมาด้วย ใช้สแกนใบหน้าเจ้าของเพื่อปลดล็อคเครื่องได้โดยสะดวกรวดเร็วด้วย จากการใช้งานจริงต้องถือว่าทำงานได้เร็วและแม่นยำมาก ดังนั้นจะสแกนลายนิ้วมือและใบหน้าเก็บเอาไว้ใช้ตามเหมาะสมได้เลย
ขอบเขตสีหน้าจอของ Lenovo ThinkPad Z16 นั้น ทางผู้ผลิตเคลมขอบเขตสีไว้ 100% sRGB เมื่อทดสอบด้วย DisplayCal 3 กับเครื่อง Colorchecker ของ Calibrite แล้ว วัดค่า Gamut coverage ซึ่งเป็นค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอนี้ได้ 98% sRGB, 70.3% Adobe RGB, 72% DCI-P3 ส่วน Gamut volume ซึ่งเป็นขอบเขตสีโดยรวมทั้งหมดของจอนี้ทำได้อยู่ที่ 102.6% sRGB, 70.7% Adobe RGB, 72.6% DCI-P3 เทียบค่าความเที่ยงตรงสีบนหน้าจอ (Delta-E) ได้เฉลี่ยเพียง 0.12~0.73 เท่านั้น จึงว่าจอของ ThinkPad Z16 แสดงสีสันได้แม่นยำตามที่ Lenovo เคลมเอาไว้ ดังนั้นจะใช้แต่งภาพ, พรู้ฟสีงานอาร์ทหรือใช้พรีเซนต์งานเกี่ยวกับเรื่องสีสันด้วยจอนี้ก็ใช้ได้ไม่มีปัญหาแน่นอน
ความสว่างสูงสุดของจอ ThinkPad Z16 นั้นทาง Lenovo เคลมเอาไว้ 400 cd/m2 แต่ผลจากโปรแกรม DisplayCal 3 นั้นวัดได้มากถึง 432 cd/m2 ซึ่งทำได้ดีกว่าที่เคลมเอาไว้ หากนั่งทำงานในออฟฟิศอาจปรับความสว่างเอาไว้เพียง 50~60% ก็สว่างเพียงพอแล้วและยังเร่งความสว่างสู้แสงได้อีกด้วย
สรุปได้ว่าพาเนลหน้าจอของ ThinkPad เครื่องนี้มีคุณภาพดี แม้จะได้ความละเอียดจอแค่ Full HD แต่ก็ยังคมชัดใช้ทำงานได้สบายๆ และพอเป็นจอทัชสกรีนก็ใช้นิ้วของเราแตะเลือกตัวเลือกต่างๆ บนหน้าจอได้โดยไม่ต้องใช้เมาส์ก็ได้ จึงใช้งานได้สะดวกและเจ้าของเครื่องก็ไม่จำเป็นต้องพกเมาส์ติดกระเป๋าไปตลอด แต่กลับกันจอทัชสกรีนจะมีรอยนิ้วมือติดได้ง่ายจึงควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดเป็นระยะๆ ไม่ให้คราบรอยนิ้วมือติดอยู่บนหน้าจอด้วย
ลำโพง Dolby Atmos ทั้ง 2 ดอกของ Lenovo ThinkPad Z16 มีกำลังขับดอกละ 2 วัตต์ ติดตั้งไว้ทั้งสองฝั่งของคีย์บอร์ดเป็นแถบยาวหันหน้าเข้าหาผู้ใช้และมีกำลังขับสูง วัดเสียงแล้วดังราว 80 dB โทนเสียงจากลำโพงนี้ถือว่าน่าประทับใจทีเดียว ไม่ว่าจะเปิดดูภาพยนตร์ก็ได้มิติเสียงที่กว้างและได้อารมณ์เทียบชั้นลำโพงแยกบางรุ่นได้สบายๆ
การฟังเพลงด้วยลำโพงนี้ยิ่งน่าประทับใจ โดยเนื้อเสียงจะได้เนื้อเสียงออกใสไม่ขุ่นปลาย เน้นเสียงนักร้องนำและเครื่องดนตรีต่างๆ และโทนเสียงออกชัดเคลียร์ มีเสียงเบสซัพพอร์ตและมีแรงปะทะระดับหนึ่ง แม้จะไม่หนักหน่วงจนฟังเพลงเน้นเบสได้อารมณ์มากก็ตามแต่ก็ได้อรรถรสดีมากจนคิดว่าไม่ต้องต่อลำโพงแยกก็ฟังเพลงได้อรรถรสดีแล้ว
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ Lenovo ThinkPad Z16 เป็นขนาด Tenkeyless เพราะมีลำโพง Dolby Atmos ติดตั้งไว้ด้านข้างสองฝั่ง จึงไม่สามารถเสริมชุด Numpad เข้ามาได้ แต่ถ้าใครถนัดคีย์บอร์ดไซซ์นี้อยู่แล้วก็ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา แถมยังมีไฟ LED Backlit สีขาวแบบไฟเรืองรอบปุ่มและสว่างที่ตัวอักษรไทยและอังกฤษด้วย สามารถใช้พิมพ์งานในที่แสงน้อยได้สบายๆ ปรับความสว่างได้โดยกด Fn+Spacebar
ปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ บนคีย์บอร์ดก็ถูกเซ็ตอัพเอาไว้เป็นหมวดหมู่ครบถ้วน ไม่ว่าจะปุ่ม FnLock ตรงปุ่ม Esc, ลูกศรขึ้นลงเป็น Page Up, Page Down และมีแถบ Function Key แยกไว้ให้ใช้งานโดยเฉพาะตรงมุมบนขวาเหนือปุ่ม Backspace ด้วย ได้แก่ปุ่ม Home, End ที่รวมกับ Insert, Print Screen และ Delete
สำหรับเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ Lenovo ThinkPad Z16 จะอยู่รวมกับปุ่มอื่นๆ บนคีย์บอร์ด โดยอยู่ถัดจากปุ่ม Ctrl ฝั่งขวา มีขนาดใหญ่เท่ากับปุ่มลูกศรซ้ายขวาหนึ่งปุ่มเต็ม ซึ่งผู้เขียนชอบการย้ายเซนเซอร์มาติดตั้งรวมเอาไว้ตรงนี้เป็นอย่างมาก เพราะขนาดของปุ่มใหญ่นาบนิ้วสแกนปลดล็อคเครื่องได้ง่ายและตอบสนองได้เร็วทันใจมาก แถมยังดูกลมกลืนไปกับปุ่มอื่นๆ บนแป้นคีย์บอร์ดด้วย
Function Hotkeys ตรงปุ่ม F1~F12 ของคีย์บอร์ด ThinkPad Z16 จะเซ็ตคำสั่งเอาไว้คล้าย ThinkPad รุ่นอื่นๆ ของทางบริษัท โดยมีคีย์ลัดดังต่อไปนี้
- F1~F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- F4 – ปิดหรือเปิดไมค์ของโน๊ตบุ๊ค
- F5~F6 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
- F8 – Airplane Mode
- F9 – ปิดหรือเปิดกล้องเว็บแคมของโน๊ตบุ๊ค
- F10~F11 – รับหรือตัดสายโทรศัพท์ โดยใช้งานร่วมกับโปรแกรม Skype
- F12 – User-defined Key ปุ่มสำหรับตั้งค่าคีย์ลัดตามความถนัดของผู้ใช้
สำหรับคีย์ลัดของ Lenovo ThinkPad Z16 จะแตกต่างจาก ThinkPad รุ่นอื่นเล็กน้อยตรงปุ่ม F9 ที่ปกติจะเป็นปุ่มเปิด Notification Center แต่ของ Z16 จะเป็นคำสั่งปิดเปิดกล้องเว็บแคมแทน ซึ่งมีประโยชน์ไม่แพ้กัน และปุ่ม User-defined Key มาให้ใช้ก็ถือว่าครบเครื่องพร้อมใช้ทำงานได้เป็นอย่างดี โดยคีย์ลัดนี้ทาง Lenovo จะให้ผู้ใช้ตั้งค่าเพื่อเรียกคำสั่งหรือโปรแกรมที่ต้องการใช้งานขึ้นมาได้ด้วย
ทัชแพดกระจกของ ThinkPad Z16 จะมีขนาดใหญ่และเป็นแป้น Taptic ทำงานโดยใช้มอเตอร์จำลองการสั่นตอนกดปุ่มบนทัชแพด หากปิดเครื่องแล้วกดจะไม่ทำงานและเป็นแป้นแข็งปกติเท่านั้น ขนาดของแป้นจะใหญ่จนแถบฝั่งซ้ายมือจะซ้อนอยู่ใต้สันมือซ้ายตอนวางคีย์บอร์ดพอดี ตัวแป้นรองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วนและตอบสนองได้เร็วแถมไม่มีอาการทัชแพดลั่นสักครั้งแม้จะวางมือไว้บนแป้นคีย์บอร์ดก็ตาม คาดว่าตัวแป้นจะจับการลงน้ำหนักมือของผู้ใช้ว่าถ้าสันมือแตะโดนหรือกดโดยไม่ตั้งใจก็จะไม่ทำงาน ต้องตั้งใจกดลงน้ำหนักสักนิดถึงจะเริ่มทำงาน
เอกลักษณ์เฉพาะของ Lenovo ThinkPad อย่าง TrackPoint สีแดงตรงกลางระหว่างปุ่ม G, H, B ตัว ThinkPad Z16 ก็มีให้ใช้งาน แต่ทาง Lenovo ได้ปรับดีไซน์ของ 3 ปุ่มด้านล่างถัดลงมาให้รวมเอาไว้กับทัชแพดกระจกแทน โดยมีปุ่มคลิ๊กซ้าย, ขวาและปุ่มกลางซึ่งใช้กดคำสั่ง Scroll เลื่อนหน้าจอขึ้นลงหรือเปิดคำสั่งแว่นขยาย (Magnifier) โดยเปลี่ยนเป็นขีดยาวและจุดไข่ปลา 7 จุดแทน รูปลักษณ์จึงดูทันสมัยและสวยงามขึ้นและตอบสนองได้เร็วเหมือนปุ่มสวิตช์ดั้งเดิมไม่มีผิด
ฟังก์ชั่นใหม่ของ ThinkPad Z16 เป็นการเคาะ TrackPoint สองครั้ง เพื่อเปิด Communications Quick Menu ขึ้นมาใช้งาน โดยรวมการตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ของตัวเครื่องเอาไว้ครบถ้วน ไม่ว่าจะปรับความสว่าง, เสียงลำโพง และรวมคำสั่งเกี่ยวกับไมโครโฟนทั้งตั้ง Polar Pattern หรือเปิดระบบตัดเสียงรบกวนก็ได้ นอกจากนี้ยังมีคำสั่ง Microsoft Dictation สั่งพิมพ์สิ่งที่ต้องการด้วยเสียงพูดของเราได้ด้วย
ส่วนตัว ผู้เขียนชื่นชอบ TrackPoint เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะมันทำงานได้ดีมากจนรู้สึกว่าถ้าไม่คิดจะซื้อเมาส์ทำงานที่ใส่ฟีเจอร์ต่างๆ มาใช้งานโดยเฉพาะก็ใช้มันแทนเมาส์ไปได้เลย และเมื่อทาง Lenovo เสริมฟีเจอร์นี้เข้ามาและเรียกใช้งานได้ง่ายเช่นนี้ ก็จัดเป็นฟังก์ชั่นตั้งค่าตัวเครื่องที่ดีมาก
Connector / Thin & Weight
พอร์ตเชื่อมต่อของ Lenovo ThinkPad Z16 หลักๆ จะเป็นพอร์ตแบบ USB-C, SD Card Reader และ Audio combo อีกช่องเท่านั้น โดยมีพอร์ตดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – USB 4 x 2, SD Card Reader
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – ปุ่ม Power, Audio combo, USB 3.2 Gen 2, Kensington Nano Security Slot
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
ตามข้อมูลสเปค พอร์ต USB-C 4 ใช้ต่อหน้าจอแยกความละเอียดสูงสุด 8K 30Hz ได้โดยใช้ทั้งสองช่องต่อใช้งานร่วมกัน ส่วน USB-C 3.2 Gen 2 รองรับหน้าจอ 4K 60Hz ได้ ต่อใช้ได้มากสุด 4 จอ (3 จอแยกและจอโน๊ตบุ๊ค 1 จอ) หากใครต้องใช้หน้าจอแยกเยอะก็แนะนำให้หาอุปกรณ์ต่อพ่วงมาเตรียมไว้เลย
อย่างไรก็ตาม Lenovo ThinkPad Z16 นั้นจะใช้พอร์ต USB-C เป็นหลักและไม่มีพอร์ตใช้งานประจำอื่นๆ อย่าง USB-A 3.0, HDMI หรือ LAN ติดมาให้ใช้งาน หากใครใช้จอที่เป็น Port Hub ในตัวก็ไม่มีปัญหานัก แต่ถ้าต้องต่ออุปกรณ์อื่น แนะนำให้ซื้อ USB-C Multiport Adapter ด้วยจะใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น
น้ำหนักของ Lenovo ThinkPad Z16 ทาง Lenovo เคลมเอาไว้ 1.95 กิโลกรัม เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วได้ 1.96 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าใกล้เคียงแล้ว พอรวมกับอแดปเตอร์หัว USB-C กำลังชาร์จ 135 วัตต์แล้ว จะมีน้ำหนักรวม 2.46 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักรวมทั้งหมดนี้เท่ากับน้ำหนักเฉพาะตัวเครื่อง Lenovo Legion หนึ่งเครื่องพอดี ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้เอาอแดปเตอร์ของตัวเครื่องทิ้งไว้ที่โต๊ะทำงานแล้วพกปลั๊ก GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์ กับสาย USB-C สักเส้นจะเบาพกง่ายกว่ามาก
Inside & Upgrade
การอัพเกรด Lenovo ThinkPad Z16 ผู้ใช้สามารถขันน็อตหัวแฉกที่มีตัวรั้งน็อตทั้ง 5 ดอก ออกให้น็อตหลวมแล้วเอาการ์ดแข็งไล่ขอบตัวเครื่องแล้วเปิดฝาออกได้เลย โดยวิธีเปิดฝาหลังจากไล่ขอบจนหมดให้ดึงฝาส่วนใต้ขอบหน้าจอเบาๆ จนเขี้ยวที่ติดอยู่กับขอบล่างตัวเครื่องเลื่อนออกมาแล้วค่อยดึงออก เขี้ยวของฝาใต้เครื่องจะได้ไม่บิ่นหรือแตกด้วย
จุดที่อัพเกรดได้นอกจากถอดเปลี่ยน M.2 NVMe SSD ตัวหลักที่เพลตทองแดงแล้ว จะมีช่องสำหรับใส่ M.2 SSD ขนาด M.2 2230 อีกช่องหนึ่งฝั่งซ้ายมือเท่านั้น โดยทั้งสองช่องเป็น PCIe 4.0 x4 ทั้งหมดและรองรับความจุสูงสุด 2TB ทั้งคู่ แต่อย่างไรก็ตาม M.2 SSD ความจุดังกล่าวก็หาซื้อได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นถ้าต้องการเซฟงานอาจหา External SSD มาใช้น่าจะสะดวกกว่า ส่วนแรมในเครื่องเป็นออนบอร์ดจึงถอดอัพเกรดหรือสั่งเพิ่มความจุเป็น 32GB จากโรงงานไม่ได้ด้วย
Performance & Software
ซีพียูของ Lenovo ThinkPad Z16 เป็น AMD Ryzen 7 PRO 6850H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.2~4.7GHz รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานครบถ้วน แต่เมื่อเป็น Ryzen PRO จะมีระบบรักษาความปลอดภัยอื่นๆ เสริมเข้ามาในตัวซีพียูไว้ใช้ทำงานร่วมกับระบบ Windows ช่วยเสริมความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น ส่วนแรมออนบอร์ดในเครื่องมีความจุ 16GB LPDDR5 บัส 4800MHz ติดตั้งมาให้จากโรงงาน
การ์ดจอของ Lenovo ThinkPad Z16 นอกจาก AMD Radeon Graphics ในซีพียูแล้ว ผู้ใช้สามารถสั่งปรับแต่งสเปคเพิ่มการ์ดจอแยก AMD Radeon RX 6500M แรม 4GB GDDR6 เพิ่มได้ รองรับชุดคำสั่ง OpenCL, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing, OpenGL 4.6 ครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่น AMD SmartShift Max ไว้สลับการ์ดจอให้เข้ากับประเภทของ
เมื่อเช็คพาร์ทในเครื่องผ่าน Device Manager จะเห็นว่า ThinkPad Z16 ติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ Goodix MOC มาให้และได้กล้อง IR Camera ไว้สแกนใบหน้าด้วย และมีระบบรักษาความปลอดภัยภายในตัวเครื่อง ได้แก่ AMD PSP 10.0 และชิป TPM 2.0 ติดตั้งมาครบถ้วน ด้านของ Wi-Fi PCIe Card เป็น Qualcomm WCN685x เชื่อมต่อ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2 ได้ในตัว ด้านประสิทธิภาพก็ไว้ใจชื่อชั้นของ Qualcomm ได้เลย ซึ่งจากการทดลองใช้งานก็เปิดเว็บไซต์ โหลดไฟล์รับส่งข้อมูลได้รวดเร็วทันใจมาก ไม่มีปัญหาตอนใช้งานแม้แต่น้อย
M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB ในเครื่องเมื่อเช็ครหัส เป็น Samsung PM9A1 เมื่ออิงจากหน้าสเปคแล้ว SSD ตัวนี้เป็นอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ขนาด M.2 2280 มีความเร็ว Sequential Read 6,900 MB/s และ Sequential Write 5,000 MB/s พอทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8 แล้ว ได้ความเร็ว Sequential Read 6,846.34 MB/s และ Sequential Write 4,876.35 MB/s ใช้อ่านเขียนข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าความเร็วนี้ดีมากจนคิดว่าเอาเงินไปซื้อ External SSD มาเซฟงานแทนก็ได้
ด้านประสิทธิภาพของ Lenovo ThinkPad Z16 เมื่อทดสอบด้วย CINEBENCH R15 แล้ว คะแนนการทดสอบ OpenGL ซึ่งทดสอบกราฟิคการ์ดอย่าง AMD Radeon RX 6500M นั้นทำได้ 146.87 fps และได้คะแนน CPU 1998 cb พอเค้นด้วยโปรแกรม CINEBENCH R20 ซึ่งทดสอบตัวซีพียูโดยเฉพาะจะได้คะแนน CPU 4662 pts จัดว่าพลังการประมวลผลของ AMD Ryzen 7 PRO 6850H นั้นทรงพลังพอใช้ทำงาน 3D CG และเรนเดอร์กราฟิคได้เป็นอย่างดีแน่นอน
ด้านการเล่นเกมด้วย Lenovo ThinkPad Z16 เมื่อทดสอบด้วย 3DMark Time Spy แล้ว จะได้คะแนนเฉลี่ย 4,178 คะแนน เป็น CPU score 8,072 คะแนน และ Graphics score 4,396 คะแนน ซึ่งคะแนนระดับนี้จัดว่าสูงพอใช้เล่นเกมฟอร์มยักษ์บนจอความละเอียด Full HD ได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าทาง Lenovo ติดตั้งการ์ดจอแยก AMD Radeon RX 6500M มาช่วยการทำงานกราฟิคและต่อหน้าจอแยกเป็นหลักมากกว่า
เมื่อทดสอบด้วย PCMark 10 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ThinkPad Z16 ทำคะแนนเฉลี่ยได้สูงถึง 6,518 คะแนน ซึ่งทำได้ดีกว่าโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นซึ่งได้เฉลี่ย 5,000 คะแนนเท่านั้น โดยจุดเด่นของ Z16 นอกจากเรื่องเปิดเว็บ, แอพฯ และประชุมออนไลน์แล้ว ก็ใช้ทำงานเอกสารและกราฟิคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะงานแต่งภาพหรือจะ Preview โมเดล 3D ก็ทำงานได้ไหลลื่น แต่ถ้าตัดต่อวิดีโอก็ยังพอทำงานได้ระดับตัดคลิป Vlog หรือวิดีโอสั้นเป็นหลัก
หากพิจารณาจากผลของ PCMark 10 แล้ว Lenovo ThinkPad Z16 นอกจากจะเหมาะสำหรับผู้บริหารแล้ว ประสิทธิภาพของมันก็ยังตอบโจทย์กลุ่มเซลส์หรือ AE ที่ต้องพบปะลูกค้า พรีเซนต์ตัวอย่างงานหรือพรู้ฟสีงานอาร์ทบนหน้าจอโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้ด้วย จัดว่าน่าใช้งานมาก
ภายในโน๊ตบุ๊ค Lenovo ทุกรุ่นรวมถึง ThinkPad Z16 จะมีโปรแกรม Lenovo Vantage ติดตั้งมาให้ใช้ตั้งค่าตัวเครื่องและอัพเดทเฟิร์มแวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดอยู่เสมอ หากใครใช้โน๊ตบุ๊คของ Lenovo อยู่ก็แนะนำให้เปิดซอทฟ์แวร์นี้มาเช็คสถานะตัวเครื่องเป็นระยะๆ อาจจะสัปดาห์หรือเดือนละครั้งเพื่อตรวจสอบและอัพเดทให้เฟิร์มแวร์เป็นเวอร์ชั่นใหม่อยู่เสมอจะช่วยให้โน๊ตบุ๊คทำงานได้ดียิ่งขึ้น
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ Lenovo ThinkPad Z16 จะเป็นแบตเตอรี่ลูกยาววางตัวสุดขอบติดลำโพงทั้งสองข้างของตัวเครื่อง มีความจุ Typical Capacity 4,640mAh (72Wh) และ Rated Capacity 4,515mAh (70Wh) จัดว่ามีความจุมากพอให้ ThinkPad นี้ใช้ทำงานต่อเนื่องได้ทั้งวันอย่างแน่นอน
เมื่อทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์โดยลดความสว่างหน้าจอต่ำสุด, ปิดไฟ LED Backlit, ลดเสียงลำโพงเหลือ 10%, เปิดโหมดประหยัดพลังงานแล้วใช้ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube ต่อเนื่องนาน 30 นาทีแล้ว ThinkPad Z16 สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 13 ชั่วโมงเลยทีเดียว ต้องถือว่าระบบจัดการพลังงานและปริมาณแบตเตอรี่ของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ทำมาได้ยอดเยี่ยมมาก ดังนั้นถ้าใครจะพกเครื่องไปไหนมาไหนหรือประชุมงานต่อเนื่องทั้งวันก็ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างวันเลย
อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญนอกจากระบบภายใน Lenovo ThinkPad แล้ว เจ้าของเครื่องควรอัพเดท AMD Chipset Driver ให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดด้วย จะช่วยให้โน๊ตบุ๊คซีพียู AMD ทุกรุ่นจัดการพลังงานและดึงประสิทธิภาพของตัวเครื่องออกมาได้เต็มที่ยิ่งขึ้น
ระบบระบายความร้อนของ Lenovo ThinkPad Z16 จะมีฮีตไปป์ทั้งหมด 2 เส้นพาดยาวไปพัดลมระบายความร้อนทั้งสองฝั่งแล้วเป่าออกมาภายในกรอบตัวเครื่องก่อน จากนั้นค่อยรีดออกตรงช่องขอบบนเครื่อง ส่วนเสียงพัดลมเวลาใช้ทำงานตามปกติจะเบาจนไม่ได้ยิน แต่ตอนรันโปรแกรมมตัดต่อวิดีโอหรือแต่งภาพจะได้ยินเสียงพัดลมดังขึ้นมาค่อนข้างชัดเจนว่ากำลังรีดทำงานเต็มที่อยู่ แต่เครื่องไม่ร้อนรบกวนมือเลย
อุณหภูมิในตัวเครื่องจากโปรแกรม CPUID HWMonitor แม้ซีพียูจะไม่โชว์ขึ้นมาแต่ก็สังเกตจากการ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon Graphics แทนได้ โดยทั้งแพ็คเกจเฉลี่ย 50 องศา แล้วอุณหภูมิวิ่งอยู่ระดับ 45~94 องศาเซลเซียส ส่วนการ์ดจอ AMD Radeon RX 6500M อยู่ระดับ 50 องศา และอุณหภูมิวิ่งอยู่ระดับ 47~100 องศาเซลเซียสเช่นกัน แม้อุณหภูมิจะสูงจนหลายๆ คนเริ่มจะเป็นห่วงแล้วก็ตามแต่จากที่ผู้เขียนลองใช้งานดูก็ยังวางมือบนแป้นคีย์บอร์ดใช้งานได้ตามปกติ ความร้อนไม่แผ่ขึ้นมือมาเลยแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตาม แม้อุณหภูมิที่โปรแกรมวัดได้จะดูค่อนข้างสูงแต่ถ้าระบบยังประคองอุณหภูมิไว้ 75~100 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิตามปกติของโน๊ตบุ๊คตอนทำงานเต็มที่ได้ ไม่มีอาการความร้อนพุ่งผิดสังเกต ก็ถือว่ามันสามารถใช้งานได้ดีตามปกติไม่มีปัญหาแน่นอน
User Experience
ความรู้สึกส่วนตัวหลังจากเอา Lenovo ThinkPad Z16 ไปใช้เป็นโน๊ตบุ๊คเครื่องหลักมาราวหนึ่งสัปดาห์ จุดแรกที่ต้องชื่นชม ThinkPad เครื่องนี้ คือ การดีไซน์ตัวเครื่องที่เรียบง่ายแต่เน้นการใช้งานจริง วัสดุเป็นอลูมิเนียมรีไซเคิลแต่แข็งแรงทนทานสวยงาม บาลานซ์น้ำหนักตัวเครื่องได้ยอดเยี่ยมและใช้นิ้วเดียวกางหน้าจอเปิดเครื่องใช้งานได้ทันที มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือและกล้อง IR Camera ติดตั้งมาให้ใช้ เลือกได้ตามความถนัดส่วนตัวว่าจะยืนยันตัวด้วยอุปกรณ์ชิ้นไหน ช่วยประหยัดเวลาปลดล็อคเครื่องเพื่อทำงานและปลอดภัยไม่ต้องห่วงว่าใครจะรู้รหัสผ่านเปิดใช้โน๊ตบุ๊คของเราอีกด้วย
ปุ่ม TrackPoint แม้จะเป็นจุดสีแดงเหมือนเดิมก็ตาม แต่ปุ่มคลิ๊กทั้งสามปุ่มบนทัชแพดแบบ Taptic ซึ่งเป็นปุ่มที่ใช้มอเตอร์สั่นจำลองการกดปุ่มก็ทำงานตอบสนองได้ดีไม่แพ้กับการกดบ่นปุ่มจริงๆ และส่วนตัว Lenovo ก็คิดถูกแล้วที่ดีไซน์ปุ่มแบบดั้งเดิมในชุด TrackPoint ให้เป็นเส้นและจุดบนทัชแพดเช่นนี้ เพราะมันเข้ากับรูปลักษณ์หรูหราของ ThinkPad Z16 นี้ดีมาก และยังตอบสนองได้ดีเหมือนปุ่มกดจริงๆ และยังมี Communications Quick Menu เป็นลูกเล่นใหม่เสริมเข้ามาด้วย ยิ่งทำให้ TrackPoint น่าใช้งานยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า
พลังการประมวลผลของ AMD Ryzen 7 PRO 6850H นั้น จัดว่า “เหลือใช้” ใช้แต่งภาพได้สบายๆ หากใครซื้อมาทำงานเอกสารหรือพรีเซนต์เสนองานลูกค้ายิ่งทำงานได้ดีไม่มีปัญหาเลย ยิ่ง AMD Radeon RX 6500M แล้ว มันก็ใช้ตัดต่อคลิป Vlog หรือทำ 3D CG ได้ลื่นไหลหมุนโมเดลได้ต่อเนื่อง และแม้จะมีการ์ดจอแยกติดตั้งมาด้วยก็มีฟีเจอร์ AMD SmartShift Max มาช่วยจัดการการ์ดจอให้เข้ากับงานนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสมขึ้น ซึ่งระยะเวลาใช้งานนานสุด 13 ชั่วโมงจากการทดสอบโดย BatteryMon แล้ว ตอนผู้เขียนพกเครื่องไปนั่งทำงานตามสถานที่ต่างๆ ก็ใช้งานต่อเนื่องได้ทั้งวัน พอถึงตอนเย็นแบตเตอรี่ก็ยังเหลือให้พอเปิดมาตอบเมล์และใช้งานต่างๆ ระหว่างนั่งรถไฟฟ้ากลับบ้านได้สบายๆ ถือว่าระบบจัดการพลังงานของ Lenovo ThinkPad Z16 ทำงานได้ดีน่าประทับใจมาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องพอร์ตแม้จะล้ำสมัยมากโดยได้ USB-C และ SD Card Reader มาใช้งานก็ตาม แต่ก็ไม่มีพอร์ตอื่นหรือแม้แต่ USB-A ให้ใช้งานเลยสักพอร์ตเดียว หากใครใช้ ThinkPad Z16 เป็นเครื่องหลักควรซื้อ USB-C Multiport Adapter มาต่อเพิ่มเพื่อขยายเป็นพอร์ตต่างๆ จะได้ใช้งานได้สะดวกขึ้น
Conclusion & Award
Lenovo ThinkPad Z16 เป็น ThinkPad รุ่นใหม่ที่ดีไซน์ให้หน้าตาทันสมัยเพื่อนักธุรกิจรุ่นใหม่ยิ่งขึ้น ได้ระบบยืนยันตัวตนทั้งสแกนใบหน้าและนิ้วมือเพื่อเสริมความปลอดภัยเพื่อรักษาข้อมูลสำคัญภายในเครื่องได้เป็นอย่างดี หากใครใส่ใจเรื่องความปลอดภัยข้อมูลยิ่งเหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นที่สุด และงานประกอบตัวเครื่องยังแข็งแรงทนทาน ผ่านมาตรฐาน MIL-STD 810H การันตีความแข็งแรงทนทานของโน๊ตบุ๊คนี้ได้เป็นอย่างดี
ด้านฟีเจอร์ลูกเล่นก็ครบเครื่อง ทั้งจอทัชสกรีนขอบเขตสีกว้าง, USB-C 4, Communications Quick Menu ของ TrackPoint ฯลฯ เป็นลูกเล่นใหม่ๆ ที่ทาง Lenovo เติมเข้ามาให้ ThinkPad นั้นทันสมัยและน่าใช้ยิ่งขึ้นแต่ก็ยังไม่สลัดเอกลักษณ์อันเป็นที่จดจำออกไปเลย หากใครอยากใช้ ThinkPad ที่ดีไซน์ทันสมัยและฟีเจอร์ครบเครื่อง และถ้าราคาเริ่มต้น 71,057 บาทไม่ใช่ปัญหา ก็ซื้อมาใช้งานได้เลยและมันน่าจะสร้างความประทับใจต่อเจ้าของได้ดีมากรุ่นหนึ่ง
award
best durability
บอดี้อลูมิเนียมรีไซเคิลแต่งานประกอบแข็งแรงทนทาน บอดี้แข็งแรงและผ่านมาตรฐาน MIL-STD 810H สมราคา ThinkPad ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความแข็งแรง พกไปไหนไม่ต้องห่วงว่าเครื่องจะได้รับความเสียหาย
best battery life
AMD Ryzen 7 PRO 6850H กับระบบจัดการพลังงานและแบตเตอรี่ 72Wh จาก Lenovo ทำให้ Lenovo ThinkPad Z16 ใช้งานได้นาน 13 ชม. เป็นโน๊ตบุ๊ค AMD ที่จัดการพลังงานได้ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ได้ทดสอบมา
best mobility
การพกพาโน๊ตบุ๊คไปไหนมาไหน นอกจากเรื่องน้ำหนักตัวเครื่อง 1.95 กิโลกรัมที่พกติดตัวแล้ว ก็ยังมีปัจจัยเรื่องการยืนยันตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่ง ThinkPad Z16 เลือกใช้ได้ตามสะดวกทั้งใบหน้าและนิ้วมือ ผสานกับชิป TPM 2.0 แล้ว ยิ่งรักษาความปลอดภัยของระบบได้ดีด้วย
best multimedia
ลำโพง Dolby Atmos ของ Lenovo ThinkPad Z16 เป็นลำโพงโน๊ตบุ๊คที่เสียงดีมากที่สุดรุ่นหนึ่ง เนื้อเสียงใสเคลียร์มีมิติดีมาก จะเปิดดูหนังหรือฟังเพลงก็ยอดเยี่ยมจนไม่ต้องพึ่งลำโพงแยกก็ได้