MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ในบอดี้เรียบหรูมีพลังของ AMD Ryzen AI ซ่อนอยู่ แรงทรงพลังลุยได้ทุกงาน!
ถ้าได้ใช้ของดีมีคุณภาพสักครั้ง ก็จะไม่อยากลดระดับลงไปใช้ของรองลงไปง่ายๆ เพราะได้รับรู้แล้วว่าสิ่งที่ดีเป็นอย่างไร อย่าง MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของคำพูดนี้และทางบริษัทก็ยังใส่ใจคุณภาพงานประกอบและรูปลักษณ์ภายนอกให้สวยงามไม่แพ้รุ่นก่อน ทั้งบอดี้อลูมิเนียมสีเงินและโลโก้อลูมิเนียมแสนเรียบง่ายแต่ดึงดูดสายตา แม้ไม่หวือหวาแต่ก็ดูได้ไม่เบื่อ ลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเอาไว้ได้พอเหมาะพอดีและสอดลูกเล่นเก่าผสมใหม่มาได้พอเหมาะพอดี ทั้งบานพับหน้าจอกางได้แบนราบเสมอพื้นโต๊ะพร้อมปุ่ม Flip-n-Share ตรงปุ่ม F12 ให้พลิกหน้าจอ 16 นิ้ว ความละเอียด QHD อัตราส่วน 16:10 ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 ให้เพื่อนร่วมงานดูได้สะดวกยิ่งขึ้น พอประชุมงานจบแล้วกลับมานั่งโต๊ะทำงานก็สแกนใบหน้าหรือลายนิ้วมือปลดล็อคเครื่องได้สะดวกรวดเร็ว ลดเรื่องจุกจิกอย่างการพิมพ์รหัสผ่านออกไป เอาใจไปใส่กับงานสำคัญตรงหน้าต่อได้ทันที
จากภายนอกสู่สเปคภายในที่เข้าเงื่อนไขเป็นเป็น Copilot+ PC จาก Microsoft ด้วยพลังของซีพียู AMD Ryzen AI พลังประมวลผล AI 73 TOPS ให้ทำงานกับซอฟท์แวร์และส่วนเสริม AI ได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ใช้เบลอฉากหลัง, จัดการสบสายตาของเรากับคู่สนทนาไปจนตัดเสียงรบกวนภายนอกได้อย่างรวดเร็ว ไม่กินกำลังของคอร์ประมวลผลชุดหลักให้ใช้ทำงานอื่นร่วมกันได้ รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be และ Bluetooth 5.4 ให้การประชุมลื่นไหลไร้สะดุด และมีพอร์ต USB-C 4.0 Full Function ติดมาถึง 2 ช่อง ใช้ต่อหน้าจอแยกและชาร์จไฟผ่านสาย USB-C ร่วมกับอะแดปเตอร์ Power Delivery 100W ได้เวลาต้องออกไปทำงานนอกสถานที่หรือพบลูกค้าในโอกาสต่างๆ ให้ความสะดวกสบายกับเจ้าของเครื่องได้ในทุกมิติ
NBS Verdicts
MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ยังคงมาตรฐานและคุณภาพงานผลิตได้สมฐานะโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมเช่นรุ่นก่อน ยังใช้บอดี้ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียมสีเงินสวยเรียบหรู กางหน้าจอได้แบนราบเสมอพื้นโต๊ะ ใช้หน้าจอขนาด 16:10 อัตราส่วน Golden Ratio เช่นเดิมและใช้พาเนล IPS ขอบเขตสี 100% DCI-P3 คุณภาพสูงเช่นเดิม แล้วอัปเกรดสเปคให้ได้มาตรฐานเป็น Copilot+ PC ด้วยซีพียู AMD Ryzen AI 9 365 พร้อมพลังประมวลผล AI 73 TOPS ให้ตอบรับกับยุคของปัญญาประดิษฐ์ ติดตั้งหน่วยความจำ RAM 32GB LPDDR5X และ M.2 NVMe SSD อีก 1TB พร้อม Windows 11 Home และ Microsoft Office Home & Student 2021 ให้ครบเครื่องตั้งแต่เริ่มใช้งาน ด้านพอร์ตกับการเชื่อมต่อก็ครบเครื่อง ทั้งได้ Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be และพอร์ต USB-C 4.0 Full Function รองรับมาตรฐาน Thunderbolt 4 ในตัว จึงชาร์จไฟและต่อหน้าจอแยกได้สะดวกขึ้น
จุดน่าประทับใจจากการได้ใช้ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ทำงานมาร่วมสัปดาห์ จุดน่าประทับใจอย่างแรกคือน้ำหนักเครื่องเบาเพียง 1.9 กก. แม้จะเป็นโน๊ตบุ๊คขนาดจอ 16 นิ้วก็ตาม ทำให้พกใส่กระเป๋าไปกลับออฟฟิศได้สะดวกและรักษาความเป็นส่วนตัวได้เยี่ยม ซึ่งเซนเซอร์อินฟาเรดตรงกล้องเว็บแคมจะมีฟังก์ชั่นตรวจจับเจ้าของแล้วตัดเข้าโหมดล็อคหน้าจอแทบจะทันทีเวลาผละจากคอมไปทำธุระอื่น ช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวได้ดีเยี่ยมไม่ต้องกลัวว่าใครจะแอบใช้เครื่องของเราทำสิ่งไม่พึงประสงค์ได้ ส่วนตัวจะใช้ AI Engine เป็นหลัก ปล่อย AI ตัดสินใจเปลี่ยนการตั้งค่าโดยอัตโนมัติซึ่งปรับการตั้งค่าได้ดีทีเดียว ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเปลี่ยนโหมดเองก็ได้
แม้ AMD Ryzen AI 9 365 จะเป็นรุ่นเริ่มต้นของซีรี่ส์ แต่ก็มี 10 คอร์ 20 เธรด ติดจีพียู AMD Radeon 880M มาให้ในตัว พออัปเดตไดรเวอร์ผ่าน AMD Software: Adrenalin Edition แล้วก็สามารถเล่นเกมชั้นนำบนความละเอียด 1080p Medium ใช้ AMD FSR Upscalling ได้ ภาพจึงไหลลื่นไม่ติดหน่วงเลย ยิ่งถ้าใครเล่นแค่เกมออนไลน์ทั่วไป สามารถดันกราฟิคไประดับสูงสุดได้สบายๆ
จุดสังเกตของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG อย่างแรก คือ เวลาเปิดเล่นเกมหรือทำงานกับโปรแกรมกินกำลังเครื่องอย่าง Photoshop, Lightroom ฯลฯ พื้นผิวตัวเครื่องส่วนเหนือคีย์บอร์ดจะมีอุณหภูมิแตะ 100 องศาเซลเซียสได้เลย เพราะบอดี้อลูมิเนียมนำความร้อนได้ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วแต่ถ้าใช้ในห้องแอร์มันก็จะช่วยระบายความร้อนภายในได้เร็วเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะใช้เครื่องเต็มประสิทธิภาพแนะนำให้หาแท่นวางโน๊ตบุ๊ครองเครื่องสักหน่อยก็ช่วยได้มาก และเรื่องการอัปเกรดก็ค่อนข้างจำกัดเพราะมีช่องติดตั้ง M.2 NVMe SSD เพียงช่องหลักอันเดียว ถ้าจะเพิ่มความจุก็ต้องเปลี่ยนไดร์ฟ C:\ เท่านั้น แต่ตรงฝั่งซ้ายของพัดลมระบายความร้อนบนเมนบอร์ดยังมีพื้นที่ว่างอยู่พอสมควร จึงคิดว่าทาง MSI น่าเสริมอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 เข้ามาอีกสักตัวก็น่าจะดี ด้านแป้น Numpad จะมีขนาดเล็กกว่าแป้น Numpad ของโน๊ตบุ๊คขนาด 16 นิ้วรุ่นอื่นๆ เล็กน้อย เวลาเริ่มใช้งานในช่วงแรกต้องปรับตัวเล็กน้อยถึงจะใช้ได้คล่อง
ข้อดีของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG
- บอดี้ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียม งานประกอบแข็งแรงทนทานและช่วยระบายความร้อนได้เร็ว
- กางหน้าจอได้แบนราบขนานกับพื้นโต๊ะและกดปุ่ม Flip-n-Share หมุนหน้าจอกลับได้
- ติดตั้งซีพียู AMD Ryzen AI 9 365 มาให้ มีคอร์เธรดเยอะใช้ทำงานทั่วไปและ AI ได้ดี
- จีพียู AMD Radeon 880M มีกำลังประมวลผลดี ใช้เล่นเกมบนจอ 1080p ได้ลื่นไหล
- ชิปเซ็ตจัดการพลังงานแบตเตอรี่ 80Whr ได้ดี ใช้งานได้นานร่วม 10 ชม.
- ได้หน่วยความจำ RAM 32GB LPDDR5X, SSD 1TB ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน
- ติดตั้ง Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้พร้อมใช้งาน
- มีเซนเซอร์สแกนใบหน้าและลายนิ้วมือติดตั้งมาให้ยืนยันตัวเจ้าของเครื่อง
- มีระบบตรวจจับแล้วลดความสว่างล็อคจอเมื่อเจ้าของไม่ได้นั่งใช้งานอยู่หน้าเครื่อง
- ติดตั้งบาน Privacy shutter มาให้สไลด์ปิดกล้องเว็บแคมเมื่อไม่ใช้งานติดตั้งมาให้
- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียรผ่านทาง Wi-Fi 7 รองรับ Bluetooth 5.4
- ได้พอร์ต USB-C 4.0 Full Function ถึง 2 ช่อง ติดตั้งมาให้ต่ออุปกรณ์เสริมได้หลากหลายชิ้น
- น้ำหนักเครื่อง 1.9 กก. แต่หน้าจอใหญ่ 16 นิ้ว ถือว่าพกพาง่าย ไม่หนักเกินไป
- หน้าจอมีความละเอียด QHD ขอบเขตสี 100% DCI-P3 ใช้ปรับแต่งและพรู้ฟสีงานอาร์ตได้
- อัตรา Refresh Rate หน้าจอสูง 165Hz แสดงผลภาพได้ลื่นไหลต่อเนื่อง
- ซอฟท์แวร์ MSI Center S ดีไซน์มาใหม่ใช้งานได้สะดวกเข้าใจง่าย
- ลำโพงปรับแต่งด้วย DTS Audio พร้อมซอฟท์แวร์ปรับแต่งโทนเสียงได้ตามชอบ
ข้อสังเกตของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG
- ถ้าใช้งานเต็มกำลังจะมีอุณหภูมิสูงเกือบ 100 องศาเซลเซียส แต่ก็ระบายความร้อนได้เร็ว
- มีช่องอัปเกรด M.2 NVMe SSD เพียง 1 ช่องหลักเท่านั้น ไม่มีช่องเสริมให้ใช้
- แป้น Numpad มีขนาดเล็กกว่าปกติเล็กน้อย เวลาเริ่มใช้งานใหม่ต้องปรับตัวระดับหนึ่ง
รีวิว MSI Prestige A16 AI+ A3HMG
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector, Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
- Gallery
Specification
MSI Prestige A16 AI+ A3HMG เป็นโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมรุ่นล่าสุดในซีรี่ส์ ซึ่งยังคงจุดเด่นจากรุ่นก่อนไม่ว่าจะหน้าจออัตราส่วน 16:10 ขอบเขตสีกว้างและก้านบานพับหน้าจอกางได้แบนราบเสมอโต๊ะมาให้เหมือนเดิม แล้วรุ่นล่าสุดนี้ก็อัปเกรดซีพียูให้เป็นซีรี่ส์ AMD Ryzen AI ให้เข้าเกณฑ์เป็น Copilot+ PC ด้วย ส่วนของรายละเอียดจะเป็นดังนี้
CPU | AMD Ryzen AI 9 365 แบบ 10 คอร์ 20 เธรด (Zen 5*4 / Zen 5c*6) ความเร็ว 2.0~5.0GHz สถาปัตยกรรม TSMC 4nm FinFET |
NPU | AMD Ryzen AI NPU กำลังประมวลผล 50 TOPS กำลังประมวลผลรวม 73 TOPS |
GPU | AMD Radeon 880M แบบ 12 คอร์ ความเร็วสูงสุด 2,900MHz รองรับ DirectX 12, Adaptive-Sync, AMD FreeSync, HDR Metadata, UHBR10, AMD SmartShift MAX, AMD SmartAccess Memory |
SSD | M.2 NVMe SSD 1TB อินเทอร์เฟส PCIe 4.0 x4 |
RAM | ออนบอร์ด 32GB LPDDR5X บัส 7500MHz |
Operating System | Windows 11 Home Microsoft Office Home & Student 2021 |
Display | 16″ QHD (2560*1600) IPS อัตราส่วนหน้าจอ 16:10 Refresh Rate 165Hz 100% DCI-P3 |
Connectivity | USB-C 4.0 Full Function*2 (Thunderbolt 4 compatible) USB-A 3.2 Gen2*1 MicroSD Card Reader*1 HDMI 2.1*1 (8K 60Hz / 4K 120Hz) Audio combo*1 Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be Bluetooth 5.4 |
Weight (กก.) | 1.9 |
Sensor & Biometric | IR FHD Camera HDR พร้อม 3DNR+ Fingerprint Reader Ambient Light Sensor Proximity Sensor |
Price | 50,990 บาท (BaNANA) |
Hardware & Design
ดีไซน์ของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG มองจากเบื้องหน้านั้นเรียบง่ายไม่มีดีไซน์ลายเส้นอะไรนำสายตา มีเพียงบอดี้อลูมิเนียมสีเงินตัดกับกรอบหน้าจอและปุ่มคีย์บอร์ดสีดำติดสติกเกอร์ AMD Ryzen AI และ HDMI ไว้ที่วางข้อมือฝั่งซ้าย ฝั่งตรงข้ามเป็นเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือติดอยู่เป็นปุ่มแยกเฉพาะ ถ้าสังเกตเพิ่มจะเห็นว่าขอบเครื่องฝั่งซ้ายระหว่างปุ่ม Caps Lock และ Shift มีไมโครโฟนเสริมติดเพิ่มเข้ามาช่วยจับเสียงเวลาประชุมงานออนไลน์และใช้คำสั่งเสียง (Voice command) ได้ดีขึ้น
ในความเรียบง่ายของ Prestige A16 AI+ A3HMG ยังให้ฟีเจอร์มาครบเครื่อง ทั้งบานพับหน้าจอแบบติดเข้าขอบเหนือเครื่องยึดฐานเอาไว้ได้แข็งแรง สามารถกางหน้าจอได้โดยไม่มีอาการโยกคลอนเลย แล้วกดให้ราบไปกับพื้นโต๊ะแล้วกดปุ่มลัดพลิกหน้าจอกลับให้เพื่อนร่วมงานดูได้ ดังนั้นจะวางใช้งานบนพื้นโต๊ะตามปกติหรือขึ้นแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ปรับองศาหน้าจอให้เข้ากับมุมสายตาได้ง่าย
หันมาส่วนฝาหลังสีเงินมีเพียงโลโก้ MSI ติดไว้ตรงกลางค่อนบนเพียงจุดเดียว ไม่มีลวดลายใดๆ ติดเพิ่มเข้ามาและไม่เห็นช่องระบายความร้อนด้วยเพราะขอบล่างหน้าจอปิดเอาไว้หมดและเสมอไปกับพื้นโต๊ะ แต่สังเกตว่ามุมสองฝั่งฝาหลังจะถูกตัดเฉียงยกขึ้นเล็กน้อยเพิ่มความสวยงาม เสริมด้วยก้านพลาสติก 2 ชิ้น เอาไว้ยกเครื่องขึ้นลดโอกาสเกิดรอยขนแมวและรอยขีดข่วนบนตัวเครื่องได้
ฝาด้านใต้ตัวเครื่องมีช่องนำความร้อนขนาดไม่ใหญ่กินพื้นที่ไม่ถึงครึ่งของฝาด้านใต้เครื่อง แค่พอดีกับพัดลมระบายความร้อนภายในและฮีตซิ้งค์เท่านั้น ติดแถบยางกันลื่นเอาไว้ 3 จุด แยกเป็นคู่บนกับเส้นยาวด้านล่างอีกเส้น ขันน็อตหัวแฉกบวก (Philips Head) เอาไว้ 7 ดอก ล็อคฝาด้านใต้ให้ติดเป็นชิ้นเดียวกับตัวเครื่อง ถ้าซื้อมาจะนับน็อตได้เพียง 6 ดอก เพราะมีหนึ่งดอกติดอยู่ใต้สติกเกอร์ตรงกลางเครื่อง ถ้าจะแกะก็จะต้องเจาะสติกเกอร์ลงไปแต่ประกันอาจขาดได้
Screen & Speaker
หน้าจอของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG มีขนาด 16 นิ้ว รีดขอบหน้าจอด้านข้างให้บางเพิ่มพื้นที่แสดงผลให้กว้างขึ้น ส่วนขอบบนกับล่างจะหนาขึ้นเพื่อติดตั้งชิ้นส่วนภายในเอาไว้ ส่วนขอบบนติดกล้อง IR Camera ไว้สแกนใบหน้าและตรวจจับผู้ใช้ ถ้าเจ้าของไม่ได้ใช้งานก็จะลดความสว่างหน้าจอและตัดเข้าหน้า Log in ในเวลาสั้นๆ แล้วสไลด์ Privacy shutter ปิดกล้องเว็บแคมได้ ส่วนขอบล่างหน้าจอติดตั้งพาเนลหน้าจอเอาไว้และสกรีนโลโก้ MSI เอาไว้ตรงกรอบหน้าสีดำ
หน้าจอของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG โมเดลจำหน่ายในประเทศไทยเป็นพาเนล IPS ความละเอียด QHD+ (2560*1600) มีค่า Refresh Rate สูงสุด 165Hz และปรับลดมาเหลือ 60Hz ได้ แต่ไม่มีโหมด Dynamic Refresh Rate จึงต้องมาปรับเลือกเองในการตั้งค่าหน้าจอด้วยตัวเอง
บานพาเนล IPS จาก AU Optronics นอกจากแสดงผลได้กว้าง 178 องศา ไม่ว่าจะมองในแนวตั้งหรือนอนโดยไม่เกิดเงาทาบแล้ว ถ้าปรับความสว่าง 100% จะสว่างถึง 476.50 cd/m2 ขอบเขตสีหน้าจอจากการวัดด้วยโปรแกรม DisplayCal 3 คู่กับเครื่อง Calibrite Display Pro HL ได้ค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอ (Gamut coverage) 99.7% sRGB, 81.4% Adobe RGB, 97.5% DCI-P3 และขอบเขตสีองค์รวม (Gamut volume) ได้ 143.8% sRGB, 99.1% Adobe RGB, 101.8% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E 0.18~2.47 นับว่าขอบเขตสีกว้างสมข้อมูลเคลมและเที่ยงตรงพอจะใช้ทำงานกราฟิคได้แน่นอน ดังนั้นถ้าใครเป็นเซลส์ของบริษัทสายงานกราฟิคหรือเป็นช่างภาพพกโน๊ตบุ๊คไปใช้ในงานนอกสถานที่ก็ใช้ทำงานได้เป็นอย่างดี
ข้อดีของการติดตั้งพาเนลหน้าจอปรับความสว่างได้มากระดับนี้ คือเวลาใช้งานในอาคารหรือห้องส่วนตัวก็ปรับลดความสว่างเหลือ 50% ก็มองเห็นได้ชัดเจนและประหยัดแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้นานและเร่งความสว่างสู้แสงแดดตอนส่องผ่านหน้าต่างทาบหน้าจอให้มองเห็นได้ชัดเจนเท่าเดิมและไม่ต้องกลัวว่าจอจะเบิร์นเหมือนพาเนล OLED จึงใช้งานได้สบายหายห่วงแถมคุณภาพหน้าจอก็สมราคาดีมาก
ลำโพงคู่ของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG มีกำลังขับดอกละ 2 วัตต์ ปรับจูนด้วย DTS Audio ติดตั้งซอฟท์แวร์ไว้ปรับเสียงให้เข้ากับเนื้อหาและตั้ง EQ ได้ตามชอบ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมปรับแต่งเสียงโดยเฉพาะจาก MSI เอาไว้ตั้งค่าเครื่องเสียงที่พ่วงเข้ากับโน๊ตบุ๊คได้ในตัว เสียงลำโพงเวลาปรับดังสุดแล้ววัดความดังจะไปได้ถึง 85dB ดังพอจะได้ยินทั่วห้องขนาด 13 ตร.ม. อย่างแน่นอน
เนื้อเสียงจะเน้นโทนใสฟังเพลงได้เพลินหลากหลายแนวไม่กลบเสียงนักร้องนำ มีเบสเสริมให้ฟังเพลงได้สนุกหูแต่แรงปะทะยังไม่มากนักแค่อยู่ในระดังฟังได้สนุกทุกแนว ถ้าต้องการเสียงเบสมากขึ้นแนะนำให้ต่อลำโพงแยกเข้าไปอีกชุดจะดีขึ้น นอกจากเรื่องฟังเพลงลำโพงชุดนี้จะเหมาะกับการเปิดฟัง Podcast และดูหนังก็ได้อรรถรสพอควร
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG เป็นขนาด Full size ยกมาจาก MSI Stealth A16 AI+ โดยตรงแต่เปลี่ยนไฟ LED Backlit ให้เป็นสีขาวลอดตัวอักษรและเรืองแสงข้างปุ่มแทนไฟ RGB ทำให้พิมพ์งานตอนไฟสลัวแสงน้อยได้ง่ายขึ้น เวลาพิมพ์ก็ได้สัมผัสของปุ่มแน่นสมราคาและตอบสนองได้ดี ถึงจะพิมพ์เร็วก็รับ Input จากผู้ใช้ได้ทันเสมอ มีผลพลอยได้ตรงปุ่ม Ctrl ซ้ายมือกว้างเท่าปุ่ม Shift ทำให้เวลาเล่นเกมสามารถกดทั้งสองปุ่มได้ง่ายไม่พลาดแน่นอน
กลับกันเพราะแชร์คีย์บอร์ดร่วมกันเลยทำให้เลย์เอ้าท์และคีย์ลัดต่างๆ เหมือนกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นปุ่มลูกศรทั้ง 4 ทิศทางจะไม่มีคีย์ลัดเกมมิ่งเหมือนรุ่น Stealth A16 AI+ หากเอาปุ่มเลื่อนหน้ากระดาษ Home / End / Page Up / Page Down มาเพิ่มใส่ตรงนี้ก็จะดี แต่จะใช้บนแป้น Numpad ก็ไม่มีปัญหา ส่วนฟังก์ชั่นจำเป็นจะติดอยู่เหนือปุ่ม Backspace ด้านบน เป็น Print screen รวมกับโปรแกรม Snipping tool ตามด้วย Insert และ Delete แล้วรวมปุ่มเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ทั้งหมดไว้ให้เหนือ Numpad ให้ใช้งานกับ Calculator หรือ Microsoft Excel ได้ง่ายขึ้น
ปุ่ม Hotkeys บรรทัด F1~F12 จะให้คีย์ลัดมาครบทุกปุ่มจึงกดใช้งานได้ง่าย สลับไปใช้ปุ่ม Function ได้โดยกด Fn+Esc เช่นเดียวกับโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นในเครือ ซึ่งคีย์ลัดของแต่ละปุ่มจะเป็นดังนี้
- F1~F3 – ปิด, ลด/เพิ่มเสียงลำโพง
- F4 – ปิดการทำงาน Touchpad
- F5 – ปิดเสียงไมโครโฟน
- F6 – ปิดการทำงาน Bluetooth
- F7 – ปุ่มเปลี่ยนโหมดตัวเครื่อง กดแล้วจะขึ้นหน้าต่างเปลี่ยนโหมดขึ้นมาบนจอ
- F8 – ปุ่มปรับความสว่างไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด
- F9~F10 – ลด/เพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F11 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
- F12 – ปุ่ม Flip-n-Share ไว้พลิกหน้าจอกลับ 180 องศาให้เพื่อนร่วมงานดูได้
คีย์ลัดทั้งหมดของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ในฐานะโน๊ตบุ๊คทำงานก็ถือว่ามีให้ใช้ครบเครื่อง แต่ถ้าเปลี่ยนปุ่มปิดการทำงาน Bluetooth เป็น Airplane mode ให้เจ้าของเครื่องกดปิดการเชื่อมต่อไร้สายเวลาใช้โน๊ตบุ๊คระหว่างเดินทางบนเครื่องบินแทนจะใช้งานได้สะดวกกว่า
แป้นทัชแพดของ Prestige A16 AI+ A3HMG บนแท่นวางข้อมือจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ล้อมกรอบด้วยเส้นอลูมิเนียมสีเงิน รองรับ Touch gesture ของ Windows 11 ใช้งานได้สะดวกและวางตัวเยื้องไปฝั่งขวา เวลาวางมือพิมพ์งานแล้วมือซ้ายจะไม่ทาบแน่นอนแต่มือขวาจะพาดเต็มข้อมือ เวลาพิมพ์งานต้องยกสันมือขึ้นเล็กน้อยหรือจะกด Hotkeys ปิดทิ้งแล้วต่อเมาส์แทนก็ได้
Connector, Thin & Weight
พอร์ตและการเชื่อมต่อไร้สายของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG รองรับอุปกรณ์ยุคใหม่ได้ทุกแบบ แต่สังเกตว่าพอร์ตใช้งานบ่อยจะติดตั้งอยู่ฝั่งขวาเป็นหลักให้ต่อแฟลชไดร์ฟและเมมโมรี่การ์ดเข้าออกเครื่องได้ง่ายและฝั่งซ้ายเป็น USB-C เท่านั้น โดยแต่ละช่องเป็นดังนี้
- พอร์ตฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – USB-C 4.0 Full Function*2 (เข้ากับมาตรฐาน Thunderbolt 4)
- พอร์ตฝั่งขวาจากซ้ายมือ – Audio combo, MicroSD Card Reader, USB-A 3.2 Gen2, HDMI 2.1 (8K 60Hz / 4K 120Hz)
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be รองรับ Bluetooth 5.4
ด้านปริมาณและการจัดตำแหน่งของพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ถือว่าทาง MSI ติดตั้งมาให้ครบพร้อมใช้งาน อย่างมากก็ซื้อ USB-C Multiport adapter หรือสาย USB-C to HDMI มาเผื่อไว้ก็พอ แต่ถ้าใช้จอคอมแบบ USB-C Hub มีพอร์ตพร้อมใช้อยู่แล้วก็ตัดปัญหาเรื่องนี้ได้
มิติความบางของตัวเครื่องพอวัดด้วยไม้เวอร์เนียคาลิปเปอร์จะเห็นว่าจุดบางสุดอยู่ด้านหลัง เพียง 19.9 มม. ส่วนด้านหน้าหนา 20.5 มม. เพราะมีแถบยางกันลื่นอยู่ ซึ่งเหตุผลว่าส่วนหน้าหนากว่าด้านหลังเพราะเวลากางหน้าจอแล้วด้านหลังจะมีก้านพลาสติกไว้ยกเครื่องขึ้นอยู่แล้ว ถ้าทำให้เสมอกันแล้วส่วนแท่นวางข้อมืออาจเทเข้าหาผู้ใช้มากเกินไปจนพิมพ์ไม่สะดวกแทน
MSI เคลมน้ำหนักตัวเครื่องเอาไว้บนหน้าสเปค 1.9 กก. พอชั่งแล้วได้ 2 กก. ซึ่งแทบไม่ต่างกันมากจึงพกใส่กระเป๋าไปทำงานได้ง่าย ถ้ารวมอะแดปเตอร์หัว USB-C 100W จาก Chicony เข้าไปอีก 362 กรัม จะหนัก 2.38 กก. เท่ากับน้ำหนักเฉพาะตัวเครื่องโน๊ตบุ๊คจอ 16 นิ้ว ทั่วไปในท้องตลาด นับได้ว่า MSI ก็จัดการลดน้ำหนักของ Prestige A16 AI+ A3HMG มาได้ดี
ถ้าซื้อ Prestige A16 AI+ A3HMG ไปใช้เป็นโน๊ตบุ๊คประจำตัว ขอแนะนำให้หาอะแดปเตอร์ GaN 100W กับสาย USB-C มาพกใส่กระเป๋าไว้ชาร์จไฟให้เครื่องแล้วทิ้งอะแดปเตอร์ Chicony ไว้โต๊ะทำงานแทน จะลดน้ำหนักตัวเครื่องไปได้พอควร
Inside & Upgrade
แม้ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG จะมีจุดน่าสนใจหลายส่วนแต่ก็ยังมีจุดสังเกตอยู่เช่นกัน หลังจากขันน็อตทั้ง 7 ดอก แล้วเอาก้านพลาสติกงัดตรงช่องของบานพับหน้าจอเปิดฝาออก จะเห็นว่าเมนบอร์ดมีจุดอัปเกรดจำกัดเพียง M.2 NVMe SSD ตัวหลักเพียงจุดเดียวเท่านั้น ด้าน RAM เองก็ถูกฝังติดไว้กับเมนบอร์ดชิดกับซีพียู AMD Ryzen AI 9 365 จึงเปลี่ยนอะไรได้ไม่มากนักและไม่แนะนำให้เปิดเครื่องหากไม่จำเป็นด้วย
ถ้าสังเกตฝั่งซ้ายของพัดลมโบลวเวอร์จะเห็นว่ามีพื้นที่ว่างเหลืออยู่มากและไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรด้วย จึงอยากให้ทาง MSI ติดอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 x4 เสริมเข้ามาหันหัวเข้าแบตเตอรี่ให้ท้ายไปเสมอกับช่องยึดน็อตคู่บนเผื่อให้ผู้ใช้บางคนได้ติด SSD เอาไว้เก็บงานหรือติดตั้งโปรแกรมเพิ่มก็จะดีมาก
Performance & Software
ซีพียูใน MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ติดตั้ง AMD Ryzen AI 9 365 แบบ 10 คอร์ 20 เธรด โดยชิปเซ็ตรุ่นนี้จะแยกคอร์เป็น 2 ชุด คือ คอร์หลัก Zen 5 จำนวน 4 คอร์ และคอร์ชุดรอง Zen 5c อีก 6 คอร์ มีความเร็ว 2.0~5.0GHz ผลิตโดย TSMC สถาปัตยกรรม 4nm ค่า TDP ตั้งแต่ 15~54 วัตต์ รองรับชุดคำสั่งใช้งานพื้นฐานครบถ้วน จึงใช้งานกับโปรแกรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
การดีไซน์คอร์ของ AMD Ryzen AI แยกเป็นคอร์ชุดหลักกำลังประมวลผลสูงและมีฟีเจอร์ทุกอย่างครบถ้วนอย่าง Zen 5 ควบคู่กับชุดรองช่วยประมวลผลอย่าง Zen 5c ซึ่งคอร์ทั้งสองชุดจะใช้สถาปัตยกรรมเดียวกันและคอร์ Zen 5c จะใช้เพื่อรันโปรแกรมกินทรัพยากรไม่มากอย่างเบราเซอร์, ไฟล์เอกสารหรือใช้ดูหนังฟังเพลงแล้วส่งงานกินทรัพยากรให้คอร์ Zen 5 รันเป็นหลัก ทุกคอร์มี SMT (Simultaneous Multi-Threading) หรือ Hyperthreading ทั้งหมด แม้คอร์ชุดรองแม้จะมีกำลังประมวลผลน้อยกว่า แต่ได้การจัดการพลังงานและให้กำลังประมวลผลต่อเนื่อง เวลาถอดปลั๊กใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ก็ยังทำงานได้เร็วไม่หน่วงกวนใจนัก เวลาใช้โปรแกรมใหญ่ทุกคอร์ก็จะรวมกันประมวลผลให้งานเสร็จเร็วขึ้นด้วย
จีพียูในชิปเซ็ต (iGPU) เป็น AMD Radeon 880M แบบ 12 คอร์ มีความเร็ว 2,900MHz มี Shaders 768 Unified ในตัว รองรับ DirectX 12, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing และ OpenGL 4.6 และตัวชิปเซ็ตรองรับ Adaptive-Sync, HDR Metadata, UHBR10, AMD FreeSync ด้วยกำลังของจีพียูสามารถต่อหน้าจอแยกได้มากสุด 4 จอ รองรับหน้าจอความละเอียดสูงสุด 8K 60Hz (7680*4320) ทำให้แสดงผลภาพขึ้นหน้าจอเพื่อทำงานหรือเล่นเกมก็ได้เช่นกัน
กรณีจะใช้ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG เล่นเกมฆ่าเวลา ทาง AMD เคลมว่ามันจะเล่นเกมได้ดีบนหน้าจอ 1080p ตั้งค่ากราฟิคระดับ Medium และควรเปิด AMD FSR Upscalling เสริม เวลาตั้งค่าแนะนำให้เปิด AMD Software: Adrenalin Edition ขึ้นมาตั้งค่าร่วมกับฟังก์ชั่นภายในเกมจะดีสุด วิธีทำจะเป็นดังนี้
- เปิดโปรแกรมแล้วเลือกเกมที่ต้องการเล่น
- ในแท็บ Gaming เลือกเกมที่ชอบแล้วดูกรอบ Gaming Experience เลือก Preset เป็น Hyper-RX ซอฟท์แวร์จะปรับฮาร์ดแวร์ให้เหมาะกับการเล่นเกมที่สุด
- แนะนำให้เปิด AMD Fluid Motion Frame 2 (AMD FMF2) เพื่อให้ AI ช่วยทำ Frame Generation ทำให้ภาพในเกมลื่นไหลขึ้น เวลาวัดเฟรมเรทจะไม่ขึ้นในตัว FPS Counter ของเกม แต่ AMD Software: Adrenalin Edition จะตรวจจับได้
- กด Launch Game เพื่อเล่นได้ทันที
นอกจาก Hyper-RX Preset แล้วจะมีโหมดอื่นให้เลือกด้วย เช่น Quality เน้นภาพในเกมให้สวยงาม, Power Saving ให้กินพลังงานน้อยลง และยังมี Global Settings ดึงการตั้งค่าการ์ดจอที่เหมาะสมมาใช้กับเกมนี้โดยอิงจากระบบฐานข้อมูลของ AMD เป็นหลักและใช้ได้ทั้ง iGPU ของ AMD Ryzen หรือใครใช้การ์ดจอแยก AMD ก็นำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่ในการรีวิวนี้จะใช้เฉพาะการตั้งค่าที่มีในเกมเหมือนกับการทดสอบโน๊ตบุ๊ครุ่นก่อนหน้านี้เท่านั้น
ชิ้นส่วนภายในเครื่องจากการเช็คด้วย Device Manager จะเห็นว่า MSI Prestige A16 AI+ A3HMG มีชิปเซ็ตรักษาความปลอดภัยติดตั้งมาครบเครื่องทั้ง TPM 2.0, AMD PSP 11.0 และ Microsoft Pluton จึงรักษาความปลอดภัยฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ได้ครบถ้วน มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ Goodix และกล้อง IR Camera ติดตั้งมาทำงานร่วมกับระบบ Windows Hello ด้วย
Wi-Fi PCIe Card เป็นรุ่น Qualcomm FastConnect 7800 รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be และ Bluetooth 5.4 เชื่อมต่อ Wi-Fi 6GHz / 5GHz / 2.4GHz ได้ เน้นการรับส่งข้อมูลได้เร็ว มีความหน่วงต่ำสุดเพียง 2ms รองรับ 4K QAM, MIMO แบนด์วิธกว้าง 320MHz
ความเร็วจากการทดสอบเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 คลื่น 5GHz แล้วตั้งเครื่องห่างจากกล่องเราเตอร์ราว 10 เมตร มีประตูไม้อัดกั้น 1 ชั้น ก็ยังทำความเร็ว Download 838.84 Mbps และ Upload 829.35 Mbps จึงรับส่งไฟล์ขนาดใหญ่และประชุมงานออนไลน์ได้สบายมาก ขอแค่เราเตอร์มีประสิทธิภาพสูงก็พอ
M.2 NVMe SSD ความจุ 1TB รุ่น SAMSUNG MZVL91T0HELB หรือ Samsung PM9C1 เป็น OEM SSD ใช้อินเทอร์เฟสเป็น PCIe 4.0 x4 ออกแบบมาเพื่อใช้ทำงานและเล่นเกมได้ดี จากการทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8 เทียบกับหน้าสเปคจะเป็นดังนี้
ความเร็ว/สเปค | Read (MB/s) | Write (MB/s) |
Spec sheet | 5,000 | 4,000 |
Sequential | 5,061.01 | 3,663.7 |
RND4K | 448.65 | 451.09 |
จากการทดสอบสังเกตว่าความเร็ว Sequential เวลาเขียนอ่านไฟล์ขนาดใหญ่ก้อนเดียวเข้าออกไดร์ฟจะเห็นว่า Samsung PM9C1 ทำได้ใกล้เคียงกับหน้าสเปคและความเร็ว RND4K เขียนอ่านไฟล์ย่อยหลายไฟล์พร้อมกันก็ทำได้ค่อนข้างเร็ว ในฐานะโน๊ตบุ๊คทำงานก็มีความเร็วสูงพอแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องอัปเกรดเพิ่มก็ได้ กลับกันแนะนำให้ซื้อ External SSD มาใช้งานร่วมกันแล้วถอดเปลี่ยนเวลา SSD นี้เสียดีกว่า
การทดสอบทำงานด้วย PCMark 10 Benchmark จำลองรูปแบบการทำงานในออฟฟิศว่าทำงานได้ดีระดับใด โดยมีรูปแบบการใช้งานครบถ้วนทุกเงื่อนไขการใช้งานในสำนักงานและได้ผลคะแนนดังนี้
คะแนนเฉลี่ย | 7,365 คะแนน |
Essentials (ทดสอบการเปิดโปรแกรม, ประชุมออนไลน์และเปิดเบราเซอร์) | 10,451 คะแนน |
Productivity (ทดสอบการทำงานกับโปรแกรม Microsoft Word, Excel) | 9,817 คะแนน |
Digital Content Creation (ทดสอบการแต่งภาพ, ตัดต่อวิดีโอและทำ Virtualization) | 10,568 คะแนน |
ถ้านับจากคะแนนเฉลี่ยของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ถือว่าทำผลงานได้น่าประทับใจมาก เพราะปกติแล้วโน๊ตบุ๊คทำงานและใช้การ์ดจอในตัวชิปเซ็ต (iGPU) มักจะทำคะแนนเฉลี่ยได้ 5~6,000 คะแนนเท่านั้น แต่พอใช้ชิปเซ็ต AMD Ryzen AI 9 365 แล้ว จะเห็นว่ามันทำงานได้ดีทุกแบบ ตั้งแต่ใช้ประชุมออนไลน์หรือทำงานเอกสารก็ดี มี iGPU ทรงพลังพอจะทำงานกราฟิคได้รวดเร็วทุกแบบไม่ว่าจะตัดต่อภาพหรือวิดีโอก็ได้ ตอบโจทย์ช่างภาพที่ต้องพกโน๊ตบุ๊คออกไปทำงานตามหน้างานเป็นประจำแน่นอน
นอกจากใช้ทำงานออฟฟิศทั่วไปได้ดีแล้ว พอทดสอบกับการจำลองทำงานกราฟิคด้วยโปรแกรมตระกูล CINEBENCH ทั้ง 3 เวอร์ชั่น จะเห็นว่าซีพียู AMD Ryzen AI 9 365 สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลคะแนนของแต่ละเวอร์ชั่นจะเป็นดังนี้
- 2024 – ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูกับจีพียูอย่างหนักพร้อมกันโดยใช้เอนจิ้น Redshift สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์ ได้ CPU (Multi-Core) 505 pts และ CPU (Single Core) 106 pts
- R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 17,379 pts และ Single Core อีก 1,934 pts
- R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 7,152 pts
ด้านการทดสอบกับโปรแกรมซีรี่ส์ Geekbench ทั้ง 3 แบบ ว่าฮาร์ดแวร์ภายในเครื่องประสานงานกันได้ดีหรือไม่และใช้ทำงาน Machine Learning กับ AI ได้ดีเท่าไหร่ เริ่มทดสอบกับคอร์ซีพียูก่อนจะได้ผลคะแนนในแต่ละเวอร์ชั่นดังนี้
- Geekbench 6 – ใช้ทดสอบว่าซีพียูสามารถประสานงานกับหน่วยความจำในเครื่องได้ดีหรือไม่ โดยจำลอง workloads งานประเภทการบีบอัดข้อมูล (data compression), การประมวลผลภาพ (image processing), Machine Learning และ Compile code มาทดสอบ
- Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าซีพียูคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าเป็น Single-Core ทำได้ 2,731 คะแนน และ Multi-Core ได้ 13,580 คะแนน
- Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX CPU – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 3,335 คะแนน
- Geekbench AI – คำนวณว่าซีพียูนั้นสามารถรันการทำงานกับโปรแกรม AI ต่างๆ ได้แม่นยำหรือรวดเร็วหรือไม่ แบ่งเป็น Single Precision เน้นความเที่ยงตรงของคำสั่ง, Half precision เน้นความเร็วมากขึ้นและลดความแม่นยำลง และ Quantized Score เน้นความเร็วแต่ไม่แม่นยำนัก
- ONNX ได้คะแนน Single Precision 2,624 คะแนน, Half precision 791 คะแนน และ Quantized Score 4,901 คะแนน
กลับกันถ้าทดสอบกับจีพียู AMD Radeon 880M จะได้ผลคะแนนดังนี้
- Geekbench 6 – ใช้ทดสอบว่าซีพียูสามารถประสานงานกับหน่วยความจำในเครื่องได้ดีหรือไม่ โดยจำลอง workloads งานประเภทการบีบอัดข้อมูล (data compression), การประมวลผลภาพ (image processing), Machine Learning และ Compile code มาทดสอบ
- OpenCL, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ซึ่งจีพียูทดสอบด้วย OpenCL framework ทำได้ 33,122 คะแนน
- Vulkan, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ซึ่งจีพียูทดสอบด้วย OpenCL framework ทำได้ 37,925 คะแนน
- Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX DirectML – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 6,794 คะแนน
- Geekbench AI ทดสอบด้วย ONNX DirectML ว่าสามารถรัน AI ได้ดีหรือไม่ – Single Precision 8,010 คะแนน, Half precision 11,256 คะแนน และ Quantized Score 5,733 คะแนน
สรุปจากผลคะแนนการทดสอบกับโปรแกรม Benchmark ทุกตัวได้ว่า MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ใช้ทำงานได้ดีทุกแบบตั้งแต่งานเอกสารทั่วไปในสำนักงาน ประชุมออนไลน์หรือพกติดตัวไปทำงานนอกสถานที่ได้ ไม่ว่าจะพกไปประชุมงานกับลูกค้าหรือ Work From Home ก็ไม่มีปัญหา เป็นโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมที่กำลังประมวลผลดีน่าใช้ทีเดียว
งานรองอย่างการเล่นเกมยอดนิยมใช้กำลังประมวลผลกราฟิคสูงก็ใช้เล่นได้ดีพอควร เริ่มจากการทดสอบด้วย 3DMark Time Spy จำลองการเล่นเกมชั้นนำบนหน้าจอ QHD ได้คะแนนเฉลี่ยได้ 3,748 คะแนน แยกเป็น CPU score 10,318 คะแนน และ Graphics score 3,370 คะแนน ซึ่งผลคะแนนรูปแบบนี้นับว่า MSI Prestige A16 AI+ A3HMG จะเด่นเวลาเล่นเกมใช้กำลังซีพียูเป็นหลัก (CPU Intensive) มากกว่า จีพียูออนบอร์ด (iGPU) จะได้กำลังเทียบกับจีพียูแยก (dGPU) ราว 3~4 ปีก่อน ตรงกับการเคลมจาก AMD ว่ามันเหมาะกับการเล่นเกมชั้นนำบนหน้าจอ 1080p มากกว่า
ถ้าทดสอบกับ 3DMark Steel Nomad จำลองการเล่นเกมบนหน้าจอ UHD จะทำได้ 560 คะแนนเท่านั้นและรัน Graphics test ได้ 5.6 FPS จึงไม่เหมาะกับการเล่นเกมบนหน้าจอระดับ 4K นัก แม้จะเปิด AMD FSR ช่วยก็ยังได้เฟรมเรทไม่สูงมาก จึงไม่แนะนำความละเอียดสูงระดับนี้นัก
ยิ่งทดสอบเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบันจะยิ่งเห็นผลว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของแต่ละเกมจะพอเล่นเกมบนความละเอียด 1080p Medium ได้และพอปรับกราฟิคไประดับ High เปิด AMD FSR Quality ได้ แต่เฟรมเรทจะเฉลี่ยอยู่ระดับ 30 FPS เท่านั้น กลับกันถ้าเล่นเกมออนไลน์อย่าง Genshin Impact, Honkai: Star Rail หรือ Wuthering Waves จะเลือกกราฟิคสูงสุด 60 FPS ได้แน่นอน ซึ่งสัมผัสเวลาเล่นแต่ละเกมจะเป็นดังนี้
- Black Myth: Wukong (Unreal Engine 5) – เลือกกราฟิคเป็น Medium และใช้ TSR Upscalling แต่ไม่เปิด Frame Generation จะเปิดเล่นและควบคุมตัวละครได้แต่การตอบสนองจะช้าไปบ้าง อาจเสียจังหวะเวลาเข้าปะทะศัตรู แนะนำให้เปิด AMD FSR Quality เสริมจะทำให้เฟรมเรทเฉลี่ยขึ้นไปอยู่ระดับ 30~35 FPS ได้ ถ้าเปิด Frame Generation จะได้เฟรมเรทเพิ่มด้วย แต่กราฟิคระดับ High แม้จะเปิด FSR Upscalling ก็ยังทำเฟรมเรทได้ไม่สูงมาก
- Forza Horizon 5 (Forza Tech Engine) – สามารถตั้งค่ากราฟิคระดับ Medium เล่นได้ดี การควบคุมยังต่อเนื่องแต่เฟรมเรทอาจตกจนเกือบหยุดนิ่งเวลาเจอเอฟเฟคพลุหรือฝุ่นจำนวนมากเวลาไม่เปิด AMD FSR Upscalling แนะนำให้เปิดการตั้งค่าเป็น Quality Upscalling จะช่วยพยุงเฟรมเรทต่ำสุดให้สูงขึ้น ลดโอกาสเกิดปัญหาเฟรมเรทตกกะทันหันจนเล่นไม่ได้ แต่ตัวเกมกินทรัพยากรมากจึงเล่นบนกราฟิค High ได้ไม่ดีหรืออาจหลุดจากเกมได้
- Red Dead Redemption II (RAGE Engine) – ตั้งค่ากราฟิค Medium ระดับสุดท้ายก่อน Favored Quality เลือกตั้งค่าย่อยให้เป็น Medium ทั้งหมดสามารถเล่นเกมได้ แต่ฉากปะทะยิงปืนหรือระเบิด เฟรมเรทจะลดลงทันที แนะนำให้เปิด AMD FSR Quality เพื่อเพิ่มช่วงเฟรมเรทต่ำสุดขึ้นมาให้จังหวะยิงปะทะกันเล่นได้ต่อเนื่องขึ้น ถ้าต้องการเล่นให้ไหลลื่นขึ้นควรตั้งค่ากราฟิคเป็น 1080p Low และใช้ AMD FSR Quality ช่วยจะดีสุด
- Horizon Zero Dawn (Decima Engine) – ตั้งค่ากราฟิคเป็น Original สามารถเล่นเกมได้ลื่นไหล แต่ถ้ามีฉากอาคาร, หญ้าพุ่มหนาและเยอะเฟรมเรทจะลดลงไปบ้าง แต่โดยรวมยังเล่นได้ดี แนะนำให้ลดรายละเอียดเกินจำเป็นอย่างฝุ่นและเงาออกไปจะช่วยได้
- Call of Duty: Modern Warfare II (IW 9.0 Engine) – เล่นได้ดีทุกการตั้งค่ากราฟิคบนจอ 1080p ได้เฟรมเรทเฉลี่ยยืนพื้นเกิน 60 FPS แล้วแม้จะไม่เปิด FSR Quality เสริมก็ตาม แต่เวลาโหลดฉากตอนเริ่มเล่นเฟรมเรทจะตกอยู่ราว 2~3 วินาที จากนั้นจะเล่นได้ตามปกติ
จากการทดสอบทั้งหมดสรุปได้ว่า MSI Prestige A16 AI+ A3HMG นอกจากเป็นโน๊ตบุ๊คทำงานคุณภาพดี ใช้ทำงานออฟฟิศไปจนงานครีเอเตอร์อย่างการแต่งภาพหรือตัดต่อวิดีโอได้ดีตั้งแต่คลิปสั้นไว้อัปโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือคลิปยาวราว 30 นาทีขึ้น YouTube ก็ทำได้ดี เวลาว่างก็ยังเปิดเล่นเกมต่างๆ ฆ่าเวลาได้ด้วย ขอแค่ลดความละเอียดหน้าจอเหลือ 1080p เลือกกราฟิคภายในเกมเป็น Medium เสริมด้วย AMD FSR Upscalling เข้าไปก็พอแล้ว ยิ่งถ้าใครเล่นเกมออนไลน์เป็นหลักก็ไม่มีปัญหา
จุดเปลี่ยนแปลงอีกอย่างใน MSI Prestige A16 AI+ A3HMG คือ ซอฟท์แวร์ MSI Center S อัปเดตใหม่ให้หน้าซอฟท์แวร์ดูเรียบง่ายใช้งานสะดวกขึ้นมาก มีเพียง 3 ส่วนหลักให้ใช้งาน คือ
- Main – รวมการตั้งค่าทั้งหมดและ User scenario กับ Hardware Monitoring ไว้ให้ใช้งานได้ง่าย
- AI Zone – รวมฟังก์ชั่น AI ทั้งหมดในเครื่องไว้เป็นหมวดหมู่เดียว สั่งเปิดปิดการใช้งานได้ในจุดนี้
- Support – ใช้อัปเดตเฟิร์มแวร์, สร้าง USB Recovery drive ฯลฯ ไว้ในหน้าเดียว
การอัปเดตหน้าโปรแกรมตั้งค่าเครื่องให้เรียบง่ายและเป็นหมวดหมู่ยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ใช้ตั้งค่าและเรียกใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ได้สะดวกกว่าเดิม ลดความซับซ้อนไปได้มาก เรียกใช้งานได้แทบจะในทันทีเช่นนี้เป็นการปรับแต่งเวอร์ชั่นซอฟท์แวร์ที่ดี และแนะนำให้ผู้ใช้เปิดหน้า Support มาเช็คอัปเดตเดือนละครั้ง Prestige A16 AI+ A3HMG จะได้ทำงานดีขึ้น
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ใน MSI Prestige A16 AI+ A3HMG เป็นแบบลิเธียมโพลีเมอร์ความจุ 80Whr จาก Atemitech วัดแบบ Typical Capacity ได้ 5,380mAh กับ Rated Capacity ได้ 5,280mAh นอกจากใช้งานได้นานทั้งวันแล้ว ยังอยู่ในเงื่อนไขพกติดตัวขึ้นเครื่องบินได้ตามกฏการบินของ IATA โดยไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้าหรือขอการรับรองก่อนขึ้นเครื่องด้วย
การจัดการพลังงานและระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ก็ทำได้ดีอีกด้วย จากการทดสอบลดความสว่างหน้าจอเหลือ 50% ลดเสียงลำโพงเหลือ 10% และปิดไฟ LED Backlit ใช้โหมด ECO-Silent ใน MSI Center S และ Battery Saver ของ Windows 11 ดูคลิปใน YouTube เต็มหน้าจอด้วย Microsoft Edge นาน 30 นาที โปรแกรม BatteryMon โชว์ว่า MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ใช้ทำงานได้นาน 9 ชม. 28 นาที 44 วินาที นานพอจะใช้ทำงานเอกสาร, เปิดเว็บไซต์หรือพกเข้าห้องประชุมใหญ่ระดับ Town Hall ได้โดยไม่ต้องเตรียมอะแดปเตอร์หรือพาวเวอร์แบงค์เผื่อไว้เลยก็ได้
จุดเด่นของชิปเซ็ต AMD Ryzen AI คือ ต่อให้ใช้โหมดประหยัดพลังงานตัวเครื่องก็ยังทำงานได้ต่อเนื่องเพราะระบบส่งงานให้คอร์รองอย่าง Zen 5c แทน ถึงกำลังจะน้อยกว่า Zen 5 เล็กน้อย แต่ก็ทำงานได้ต่อเนื่องและเครื่องไม่หน่วงมาก ทำให้งานต่างๆ เสร็จเร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ระบบระบายความร้อนของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG เป็นพัดลมโบลวเวอร์และฮีตไปป์ทองแดงคู่นำความร้อนจาก AMD Ryzen AI 9 365 ไปยังฮีตซิ้งค์ระบายความร้อนออกไป แต่ช่องระบายความร้อนจะอยู่ส่วนเหนือคีย์บอร์ดตรงหน้าจอพอดีและมีขนาดไม่ใหญ่มาก นอกจากนี้ตัวเครื่องก็เป็นอลูมิเนียมทำให้เวลาใช้โปรแกรมทำงานกราฟิคหรือเล่นเกม ครึ่งบนเครื่องจะมีอุณหภูมิสูงได้ถึง 40 องศา และส่วนเหนือคีย์บอร์ดจะขึ้นไปได้เกือบ 49 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิภายในจากการตรวจเช็คด้วย CPUID HWMonitor จะมีอุณหภูมิตามส่วนต่างๆ ดังนี้
อุณหภูมิ/ชิ้นส่วน | ต่ำสุด (เซลเซียส) | สูงสุด (เซลเซียส) |
CPU | 54 | 100.4 |
M.2 NVMe SSD | 35 | 61 |
GPU | 45 | 72 |
แม้อุณหภูมิภายในเครื่องจะสูงจนส่งมาถึงบอดี้ภายนอกให้ผู้ใช้รู้สึกได้ แต่ถ้าดูองค์รวมสันนิษฐานว่า MSI เลือกใช้บอดี้เป็นอลูมิเนียมด้วยเพื่อช่วยนำความร้อนจากชิปเซ็ตภายในให้ออกมาได้เร็วขึ้น แต่โอกาสเกิดอุณหภูมิสูงระดับ 100 องศา เช่นในการทดสอบนั้นมีไม่กี่อย่างเท่านั้น อย่างมากจะเป็นตอนเปิดเล่นเกมหรือใช้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอแล้วเรนเดอร์งานเป็นหลัก แต่ความร้อนก็ไม่ค้างอยู่ระดับนั้นนานและลดลงมาอย่างรวดเร็วภายใน 1~2 วินาทีเท่านั้น ถ้าใช้ทำงานเอกสารตามปกติก็ไม่เจออุณหภูมิระดับนี้แน่นอนจึงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ก็ได้
เสียงพัดลมระบายความร้อนตอน MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ทำงานนั้นเบาไม่รบกวนเจ้าของและผู้อื่นเวลานำไปใช้ในพื้นที่สาธารณะอย่างแน่นอน เวลาปล่อยเครื่องสแตนด์บายไว้จะดังเพียง 46.7dB เวลาทำงานเต็มกำลังด้านหน้าเครื่องดังเพียง 50.6dB ส่วนด้านด้านหลังเครื่องเพียง 52.8dB หากเทียบกับเสียงพูดคุยตามปกติของมนุษย์ซึ่งอยู่ระดับ 60dB แล้วก็นับว่าเบามากไม่รบกวนผู้อื่นแน่นอน
User Experience
ความน่าใช้ของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ต้องยกให้ดีไซน์เรียบง่ายไม่ดึงดูดสายตาและน้ำหนักเบาเพียง 1.9 กก. ผิดกับโน๊ตบุ๊คหน้าจอ 16 นิ้วรุ่นอื่นในท้องตลาดซึ่งปกติแล้วจะหนักราว 2~2.5 กก. จึงพกใส่กระเป๋าโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วไปไหนก็ได้ แถมติดพอร์ต USB-C 4.0 Full Function มาให้ 2 ช่อง ช่วยให้เจ้าของไม่ต้องพกอะแดปเตอร์ประจำเครื่องติดกระเป๋าเลย ซึ่งตอนทดลองใช้มาร่วมสัปดาห์ก็พกแค่อะแดปเตอร์ GaN 100W กับสาย USB-C เผื่อไว้ชาร์จไฟเท่านั้น แต่ก็ได้ใช้ไม่กี่ครั้งเพราะระบบการจัดการพลังงานของซีพียูทำได้ดี ถ้าใช้งานโหมด Balanced ทั้งวันก็ยังเหลือแบตไว้เผื่อทำงานเร่งด่วนได้ด้วย ด้านอุณหภูมิจะร้อนก็ต่อเมื่อรันโปรแกรมใหญ่อย่าง Photoshop, Lightroom เท่านั้น
นอกจากกำลังประมวลผลแล้ว ระบบรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวก็ทำได้ดี ไม่ว่าจะสแกนใบหน้าหรือลายนิ้วมือก็สะดวกทั้งคู่ ตอบสนองเร็วทันใจแถมถ้าไม่ได้นั่งหน้าเครื่องสักระยะ หน้าจอก็หรี่และตัดเข้าหน้า Log in ในเวลาสั้นๆ ไม่ปล่อยโอกาสให้ผู้อื่นแอบใช้คอมเราเลย ถือว่ามีประโยชน์มากโดยเฉพาะคนมีงานหรือเอกสารสำคัญเก็บไว้ในเครื่องก็อุ่นใจขึ้น
ด้านประสิทธิภาพและสเปค แม้ซีพียูจะเป็น AMD Ryzen AI 9 365 แบบ 10 คอร์ 20 เธรด รุ่นเริ่มต้นของซีรี่ส์ก็จริง แต่ถ้าใช้งานทั่วไปถือว่าแรงพอใช้งานได้สบายตั้งแต่ทำงานออฟฟิศทั่วไปตั้งแต่งานเอกสารไปจนตัดต่อแต่งภาพหรือวิดีโอก็ได้ ฟังก์ชั่นไหนเรียกใช้ AI อย่าง Windows Studio Effects ร่วมกับ OBS Studio ก็ตัดไปใช้คอร์ NPU แทนไม่เข้ามารบกวนคอร์ชุดหลัก จึงเปิดโปรแกรมอื่นทำงานไปพร้อมกันได้ด้วย ถ้าซอฟท์แวร์มีส่วนเสริม AI ก็มีโอกาสได้ใช้ Ryzen AI แน่นอน
จุดแข็งอีกส่วนอย่างจีพียูออนบอร์ด AMD Radeon 880M สามารถเล่นเกมชั้นนำได้ก็สมการโฆษณา แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเล่นบนหน้าจอ 1080p ตั้งค่ากราฟิค Medium และเปิด AMD FSR Upscalling เสริมถึงจะเล่นได้ดีและแนะนำให้ลดเอฟเฟคเกินจำเป็น เช่น รายละเอียดอย่าง Tessellation, Shadow, Global Illumination, Water Quality ลงไปให้อยู่ระดับ Low หรือปิดทิ้งไปเลยก็ได้จะได้เฟรมเรทเพิ่มขึ้น กรณีอยากได้ภาพสวยก็เปิด Quality หรือใช้เป็น Balanced ภาพในเกมจะลื่นไหลขึ้น ส่วนฟังก์ชั่นในไดรเวอร์อย่าง AMD Fluid Motion Frames 2 แนะนำให้เปิดไว้ทุกเกม แม้ FPS Counter ปกติจะวัดไม่ได้ แต่ถ้าดูใน AMD Software: Adrenalin Edition หรือเวลาเล่นจริงจะเห็นว่าภาพต่อเนื่องขึ้น
จุดสังเกตของ MSI Prestige A16 AI+ A3HMG โดยหลักๆ แล้วจะมีเรื่องการอัปเกรดหน่วยความจำได้จำกัด มีช่อง M.2 NVMe SSD ช่องหลักเพียงอันเดียว กรณีใช้งานจริงแนะนำให้ต่อ External SSD มาเก็บไฟล์งานแทนจะสะดวกกว่า ถ้าต้องรันงานหนักบ่อยๆ ห่วงว่าตัวเครื่องจะร้อนมากก็หาแท่นวางโน๊ตบุ๊คพร้อมพัดลมระบายความร้อนมาตั้งเครื่องใช้งานก็ช่วยได้มากแล้ว แต่จากการใช้งานจริงก็ไม่ได้เจอปัญหานี้บ่อย และตอนทดสอบเบิร์นเครื่องเร่งอุณหภูมิไปให้สูงสุดก็ไม่เจออาการ Throttle down ด้วย
Conclusion & Award
ถ้าใช้โน๊ตบุ๊คทั่วไปทำงานมานานและอยากขยับมาใช้กลุ่มพรีเมี่ยมเพื่อฟีเจอร์และประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น MSI Prestige A16 AI+ A3HMG คือตัวเลือกที่ดีมากไม่ว่าจะสเปคตั้งต้นดีไม่ต้องอัปเกรดเพิ่ม ได้หน้าจอขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 มาให้ใช้ ต่อหน้าจอแยกผ่าน USB-C 4.0 Full Function หรือ HDMI ได้ มีเซนเซอร์สแกนหน้าและนิ้ว ไหนจะชิปเซ็ต AMD Ryzen AI 9 365 รุ่นเริ่มต้นแต่แรง ใช้งานได้อเนกประสงค์ตั้งแต่ทำงานเอกสารทั่วไปหรือเปิดเล่นเกมฆ่าเวลาก็ไม่มีปัญหา เรียกว่าครบจบในเครื่องเดียวจริง
แม้ราคาจะสูงถึง 50,990 บาท แต่ในฐานะโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยม ราคายังเข้าถึงได้ไม่ยากมากเหมือนแบรนด์อื่นที่ราคาขึ้นไปหลัก 6 หมื่นบาทขึ้นไปแล้ว ถ้าคิดว่าจะลงทุนเปลี่ยนของใช้ให้ดีขึ้นเพื่อให้ได้ผลงานดีกว่าเดิมและได้เข้าใจเหตุผลว่าทำไมพอใช้ของดีมีคุณภาพสักครั้งก็จะอยากได้ของดีขึ้นไปอีก MSI Prestige A16 AI+ A3HMG รุ่นนี้ก็เป็นคำตอบให้ความสงสัยนั้นได้แน่นอน
Award
Best Design
องค์ประกอบการออกแบบที่รวมมาเป็น MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ไม่ว่าจะบอดี้อลูมิเนียม ขนาดตัวเครื่องบางพกพาสะดวกและเบาเพียง 1.9 กก. เกิดจากการออกแบบอย่างใส่ใจ สมความเป็นโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย
Best Performance
ถึงตัวเครื่องจะบางเบาพกง่าย แต่ได้ AMD Ryzen AI 9 365 กับ RAM 32GB LPDDR5X และ SSD 1TB ติดมาก็สามารถทำงานเล็กใหญ่ได้หมด แถมเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบันได้ดีด้วย
Best Battery Life
การจัดการพลังงานให้แบตเตอรี่ 80Whr ในโน๊ตบุ๊คเครื่องใหญ่จอความละเอียดสูงให้ทำงานได้ร่วม 10 ชม. นับว่าน่าประทับใจ ทำให้คนชีพจรลงเท้าสามารถพกมันไปประชุมงานได้ทุกโอกาสโดยไม่ต้องห่วงว่าเครื่องจะดับระหว่างการทำงานเลย