ASUS Vivobook Pro 15 OLED โน๊ตบุ๊ค 2.8K 120Hz จอสีสดใส การ์ดจอ RTX ราคาเบาๆ
ASUS Vivobook Pro 15 OLED โน๊ตบุ๊คทำงานกึ่งไลฟ์สไตล์ เข้ากันได้ในทุกช่วงชีวิตกับหน้าจอขนาดใหญ่ 15.6″ ให้ความละเอียดถึง 2.8K สีสันสดใสในแบบ OLED ขุมพลัง Intel Core i7-12760H ที่พร้อมตอบสนองการใช้งานในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับแรม DDR5 และกราฟิกการ์ดแบบแยก GeForce RTX 3050Ti กับดีไซน์บนพื้นฐานของ ASUS Vivobook อย่างเต็มรูปแบบ คีย์บอร์ด Full-size กดง่าย ตอบสนองไว แสงไฟ Backlit บนคีย์บอร์ด ปรับระดับความสว่างได้ ฮอตคีย์มีมาให้ครบ และบานพับที่กางออกได้ถึง 180 องศา ให้การระบายความร้อน ASUS IceCool Plus ลดอุณหภูมิได้ดีขึ้น รวมถึงพอร์ตที่มีให้ครบครัน รวมถึง Thunderbolt 4 ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.8Kg เท่านั้น พร้อม Windows 11 Home ใช้งานได้ทันที และมี Perfect Warranty มาให้อุ่นใจในการใช้งาน สนนราคาเริ่มอยู่ที่ 43,990 บาท
ASUS Vivobook Pro 15 OLED
- Specification
- Hardware / Design
- Keyboard / Touchpad
- Screen / Speaker
- Connector / Thin And Weight
- Inside / Upgrade
- Performance / Software
- Battery / Heat / Noise
- Conclusion / Award
จุดเด่น
- จอภาพ OLED สีสันสดใส ให้ความแม่นยำสีสูง
- ความละเอียด 2.8K เหมาะกับการทำงานด้านภาพ
- สเปค Intel Core i7-12760H+DDR5 ให้ประสิทธิภาพที่ดี
- มาพร้อมพอร์ต Thunderbolt 4
- คีย์บอร์ดแสงไฟ Backlit ปรับระดับได้
- กล้องเว็บแคมคมชัด ไมโครโฟน Ai Noise Cancelling
- กางหน้าจอได้ 180 องศา
- ระบายความร้อนได้ดีพอสมควร
- มี Certified DisplayHDR True Black 600
ข้อสังเกต
- มี Thunderbolt 4 มาให้พอร์ตเดียว
- ไม่รองรับสแกนลายนิ้วมือ
- แรมออนบอร์ด อัพเกรดไม่ได้
Specification
Description | |
สี | Quiet Blue |
ระบบปฏิบัติการ | Windows 11 Home – ASUS recommends Windows 11 Pro for business |
โปรเซสเซอร์ | Intel® Core™ i7-12650H Processor 2.3 GHz (24M Cache, up to 4.7 GHz, 10 cores) |
จอภาพ | 15.6-inch, 2.8K (2880 x 1620) OLED 16:9 aspect ratio, 0.2ms response time, 120Hz refresh rate, 600nits peak brightness , 100% DCI-P3 color gamut , 1,000,000:1, VESA CERTIFIED Display HDR True Black 600 , 1.07 billion colors, PANTONE Validated |
หน่วยความจำ | 16GB LPDDR5 on board |
ตัวจัดเก็บข้อมูล | 512GB M.2 NVMe™ PCIe® 3.0 SSD |
การเชื่อมต่อและการต่อขยาย | 1x USB 3.2 Gen 1 Type-A 2 x USB 2.0 Type-A 1x Thunderbolt™ 4 supports display / power delivery 1 x HDMI 2.1 1x 3.5mm Combo Audio Jack 1x DC-in Micro SD card reader |
คีย์บอร์ดและทัชแพด | Backlit Chiclet Keyboard with Num-key , 1.4mm Key-travel, -, Touchpad |
กล้อง | กล้อง 1080p FHD With privacy shutter |
เสียง | Smart Amp Technology Built-in speaker Built-in array microphone harman/kardon (Mainstream) with Cortana and Alexa voice-recognition support |
ระบบไร้สาย | Wi-Fi 6E(802.11ax) (Dual band) 2*2 + Bluetooth 5 |
แบตเตอรี่ | 70WHrs, 3S1P, 3-cell Li-ion |
น้ำหนัก | 1.80 kg |
ขนาด (กว้าง x ลึก x สูง) | 35.98 x 23.43 x 1.89 ~ 1.99 cm |
ASUS Exclusive technology | ASUS Antibacterial Guard |
Military Grade | US MIL-STD 810H military-grade standard |
Price | 43,990 Baht |
ข้อมูลเพิ่มเติม: ASUS
Hardware / Design
ASUS Vivobook Pro 15 มาในธีมสีที่เรียกว่า Quiet Blue ซึ่งเป็นสีพื้นฐานที่ถูกใช้บน Vivobook มาหลายๆ รุ่น รวมถึง ExpertBook ด้วยเช่นกัน โดยเป็นแนวสีน้ำเงิน+เทาเข้มๆ ดูแล้วเข้าได้กับทุกสภาพการณ์ จะเอาไปใช้ที่ทำงาน เรียนออนไลน์ นั่งชิลร้านกาแฟ หรือประชุมลูกค้าก็ลงตัวดีครับ
โครงสร้างมาในไซส์ของโน๊ตบุ๊คระดับ 15.6″ หลายๆ รุ่นของ ASUS วัสดุแข็งแรงดี ฝา Cover จับแล้วไม่ยวบยาบ โลโก้ ASUS Vivibook เป็นแบบแวววาวอยู่ด้านบน เส้นสายทำให้ดูทันสมัยดีทีเดียว
ขอบจออาจไม่ได้บางมาก เพราะต้องรับโครงสร้างของตัวจอขนาดใหญ่ กรอบจออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 3 ด้าน บางพอๆ กับ Vivibook 16 ที่เราเคยได้รีวิวไปก่อนหน้านี้ ให้พื้นที่ในการแสดงผลประมาณ 84% Screen to Display อยู่ในระดับที่กว้างดีทีเดียว
มุมมองจากด้านข้าง มิติของขอบบานหน้าจอมีความบาง และบอดี้เอง ก็มีการจัดวางเส้นสาย ให้ดูมีมิติและความบางมากขึ้น พร้อมพอร์ตต่อพ่วงและไฟแสดงสถานะ
ฝั่งขวามือมาพร้อมพอร์ตให้ใช้งานอย่างครบครัน เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน และหนึ่งในนั้นก็เป็น Thunderbolt 4 อีกด้วย ซึ่งเป็นพอร์ตสารพัดประโยชน์เลยทีเดียว
บานพับที่กาง 180 องศา เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการแชร์หน้าจอ เพื่อแบ่งปัน พรีเซนเทชั่นหรือการแนะนำสินค้าให้คนที่อยู่โดยรอบได้เห็นภาพไปพร้อมๆ กัน
ด้านหลัง มาพร้อมช่องดูดลมเย็นเข้าสู่ระบบ เป็นช่องขนาดเล็ก แต่มีความถี่จำนวนมาก ดีไซน์ให้เข้ากับเส้นสายของตัวเครื่อง ด้านล่างเป็นช่องลำโพงให้พลังเสียงได้อย่างเต็มอิ่มทีเดียวในการทดสอบของเรา ยิ่งเหล่าเกมเมอร์ กับเน้นชมภาพยนตร์เป็นหลัก ไม่ควรพลาด
บรรดาสติ๊กเกอร์ที่บริเวณจุดวางมือ รายงานถึงคุณสมบัติสำคัญๆ เอาไว้อย่างครบครัน เช่น ระบบระบายความร้อน ASUS IceCool Plus, มีพอร์ต Thunderbolt 4 และ Privacy Shutter เป็นต้น
คีย์บอร์ดขนาดใหญ่ในแบบ Full Size ให้การพิมพ์ที่สนุกมือ โดดเด่นที่โลโก้แบบ Slate อยู่บริเวณปุ่ม Enter ระยะห่างของปุ่มกดง่าย ฮอตคีย์อยู่ด้านบน เพื่อความคล่องตัวในการใช้งาน
และที่ขาดไม่ได้นั่นคือ จอภาพในแบบ OLED สีสันสดใส ซึ่งพอใช้ดูภาพยนตร์แบบ Fullscreen ด้วยแล้ว นอกจากสีสันจะจัดจ้าน แบบที่เราคาดไว้ ขอบจอบางๆ ยิ่งทำให้ได้อรรถรสในการรับชมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโทนสีดำหรือฉากมืด คุณจะได้เห็นอะไรดีๆ บนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้อีกมากเลยทีเดียว และที่สำคัญยังมาพร้อม DisplayHDR TrueBlack 600 ตัวท็อปสุดในสายนี้ ต้องมีอะไรดีๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบ
Keyboard / Touchpad
คีย์บอร์ดในแบบ Full-size มาในสไตล์เดียวกับ Vivobook 16 ที่เราเคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของเลย์เอาท์ การวางปุ่มต่างๆ ไปในทางเดียวกัน เรื่องระยะห่างของปุ่ม และพื้นที่วางมือ แทบจะใกล้เคียงกันทั้งหมด เสน่ห์อยู่ที่ปุ่มขนาดใหญ่ ฟอนต์ตัวอักษรก็ดูง่าย ทำให้เหมาะกับคนทำงาน หรือคนที่ต้องพิมพ์เอกสารบ่อยๆ เพราะง่ายต่อการมอง หรือจะพิมพ์สัมผัสก็สนุก
ปุ่มกดแน่นนุ่ม แต่เสียงเบา ลงน้ำหนักนิ้วได้อย่างสะใจ โดยส่วนตัวค่อนข้างชอบแนวนี้ เพราะมีงานที่ต้องใช้คีย์บอร์ดในแต่ละวันเยอะ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น แต่สายเกมมิ่ง อาจจะรู้สึกไม่คุ้นชินตอนแรก ซึ่งถ้าเล่นเกมแอ็คชั่นทั่วไป ไม่เน้นคีย์เยอะ ก็เล่นได้สนุก แต่ถ้าจะให้สนุกแบบมีแรงต้าน จังหวะคลิ๊กแนะนำว่าต่อ Mechanical keyboard เอาไว้เล่นจะได้ความมันส์เพิ่มขึ้น
โลโก้สะดุดตาที่ปุ่ม Enter ที่เป็นแบบ Slate ในงานวีดีโอ
ฮอตคีย์ด้านบน มีให้อย่างครบถ้วน ตรงนี้ผมถือว่า ASUS เป็นอีกหนึ่งค่าย ที่มีให้ใช้งานครบมากๆ ไม่ว่าจะเป็น ปิดลำโพง, เพิ่ม-ลดเสียง, เพิ่ม-ลดแสงหน้าจอ, ทัชแพด, แสงไฟคีย์บอร์ด, ส่งสัญญาณไปยังจอภายนอก, ไมโครโฟน, ปิดกล้องเว็บแคม, Snipping tool, MyASUS, จับภาพหน้าจอ ที่เหลือก็จะเป็น Del, Insert และ ปุ่มเพาเวอร์อยู่ทางขวามือสุด
ที่ทัชแพดขนาดใหญ่ 13.5cm x 7cm พร้อมปุ่มคลิ๊กซ้าย-ขวา แบบซ่อนเอาไว้ รองรับการใช้ Multi-Gesture เช่น 2 นิ้วย่อ-ขยาย, 3 นิ้ว เปิด Task View เลือกหน้าต่างโปรแกรม เป็นต้น ด้านหน้ามีเว้าตรงกลาง ให้นิ้วดันจอขึ้นมาได้ ข้อดีคือ ทำให้จอมีความแน่นหนา ไม่เขย่าหรือสั่นง่าย เวลาใช้งาน โดยเฉพาะคนที่ลงน้ำหนักที่นิ้วเวลาพิมพ์
คีย์บอร์ดมาพร้อมแสงไฟ Backlit สามารถใช้งานในที่แสงน้อยได้ และยังปรับการใช้งานได้ตามสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิด ได้ที่ปุ่ม F7 รวมถึงการปรับระดับความสว่างได้อีก 2 ระดับ เพื่อการใช้งานในรูปสภาวะแสงในบริเวณต่างๆ
บริเวณที่วางมือ มาพร้อมโลโก้ต่างๆ เช่น ซีพียู Intel Core i7, กราฟิก GeForce RTX รองรับฟีเจอร์ที่ใช้ไดรเวอร์ Studio ได้ Pantone Validated: รองรับมาตรฐานเฉดสีที่ใช้งานจอในการตกแต่งภาพ โดยเฉพาะงาน Production ออกมาแล้ว ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เรื่องนี้หลายฝ่ายค่อนข้างให้ความสำคัญมากทีเดียว
ASUS Perfect Warranty การรับประกันที่มั่นใจได้จาก ASUS การรับประกัน 2 ปี ปีแรกครอบคลุมถึงอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ตกหล่น น้ำหกใส่ หรือไฟฟ้าลัดวงจรเป็นต้น นอกจากจะมาพร้อม Windows 11 Home แล้ว ยังมี Office Home & Student มาอีกด้วย
ด้านขวาจะเป็นสติ๊กเกอร์ที่บอกถึงฟีเจอร์หลักๆ บน ASUS Vivobook Pro 15 รุ่นนี้ เช่น
- ชุดระบายความร้อน ASUS IceCool Plus
- พอร์ตความเร็วสูง Thunderbolt 4
- ฝาปิดกล้องเว็บแคม เพื่อความเป็นส่วนตัว
- Ai Noise Cancelling ลดเสียงรบกวน ให้เสียงสนทนาเคลียร์ชัด
- กางหน้าจอได้ 180 องศา
- ASUS WiFi Master Premium การเชื่อมต่อไร้สาย
Screen / Speaker
ผมอยากจะให้มาเริ่มกับหน้าจอแสดงผล OLED ที่เป็นไฮไลต์ของโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ให้ความละเอียดที่ 2880 x 1620 ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะสัดส่วนของหน้าจอเป็นแบบ 16:9 โดยมีอัตรารีเฟรชเรตมาถึง 120Hz ด้วยกัน ซึ่งจะให้ภาพที่มีความนุ่มนวลลื่นไหล มาพร้อมกับ Certified ต่างๆ มากมาย เช่น Pantone Validate จอที่ได้การปรับจูนให้เข้ากับระบบสีสากลที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ตามมาตรฐาน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในงานด้านภาพและคอนเทนต์
ขอบจอที่บางสุดๆ ทำให้ความรู้สึกในการชมภาพยนตร์ หรือการใช้พื้นที่หน้าจอในการทำงานได้เต็มตาเต็มอารมณ์มากขึ้น ยิ่งเป็นจอขนาด 15.6″ ด้วยแล้ว และใช้ความละเอียดระดับ 2.8K ก็ทำให้คุณได้พื้นที่ในการใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม ในโหมดของ Full screen หรือ Frameless ก็ตาม
ขอบด้านข้างซ้าย-ขวา และบนมีความบาง แม้จะไม่ได้บางที่สุด เพราะด้วยโครงสร้างจอขนาดใหญ่ ซึ่งจะรับบทบาทในเรื่องน้ำหนัก และความแข็งแรงเอาไว้ด้วย การจับถือก็ง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องการบิดตัวมากนัก
มุมมองจากทางด้านซ้ายและขวาของโน๊ตบุ๊ค ให้ความคมชัดด้วยกันทั้ง 2 ด้าน ด้วยความเป็นจอ OLED ที่ให้สีสันสม่ำเสมอ และภาพที่มีความสดใส จึงเหมาะกับการใช้งานในหลายๆ ประเภท รวมถึงการแชร์ภาพให้คนข้างๆ ได้ดูกันได้อย่างชัดเจน
บานพับหน้าจอสามารถกางได้หลายระดับ ตั้งแต่พับปิดทำได้แนบสนิท ไปจนถึงกางออกได้สุดถึง 180 องศา เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในหลายๆ ด้าน ซึ่งก็รวมถึงการพรีเซนท์งานของเหล่า Content Creator ที่ให้คนด้านข้าง หรืออยู่ตรงข้ามได้ชมกันแบบทั่วถึง หลายคนน่าจะชื่นชอบกับการกางแบบนี้ เพราะสามารถเปลี่ยนอิริยาบทในการใช้งานได้มากขึ้น
มุมมองใกล้ๆ ของบานพับที่เป็นส่วนหนึ่งในการยกมุมของคีย์บอร์ด และปรับมุมหน้าจออยู่บ้าง ในกรณีที่ปรับมุมแบบพื้นฐาน ส่วนการกาง 180 องศา ตัวยางที่อยู่ด้านใต้จะรับหน้าที่ป้องกันรอยขูดขีดจากพื้นโต๊ะได้เลย การปรับมุมนี้ จะคล้ายกับใน ASUS ExpertBook หลายๆ รุ่น
และเมื่อเราดูจากการเคลมของ ASUS ที่ว่าสเปคมา หลายอย่าง เช่น ค่า DCI-P3 100% และ Delta-E น้อยกว่า 2 ซึ่งผลที่ได้ก็อยู่ที่ 100% DCI-P3 Coverage และ Delta-E ก็ถือว่าใกล้เคียง เพราะค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.14 เท่านั้น แต่สูงสุดก็มากกว่า 2 อยู่เหมือนกัน แต่ก็ถือว่าให้ขอบเขตสีที่กว้าง
DisplayHDR True Black 600 จัดว่าท็อปสุดในเวลานี้แล้ว ขยายความตรงนี้นิดนึงครับ สำหรับคนที่อาจสงสัย สำหรับ DisplayHDR True Black เป็น Certified เดียวกับ Display HDR แต่เพิ่มเติมเข้ามาสำหรับจอ OLED ที่มีเรื่องการเปล่งแสงสีดำน้อยที่สุด โดยเงื่อนไขสามารถดูได้จากตาราง Certified นี้ได้เลย
การเป็น DisplayHDR True Black 600 นี้ เหนือกว่า Certified อื่นๆ ที่เป็น DisplayHDR ธรรมดาอยู่มากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น การเปล่งแสงสีดำที่น้อยสุดๆ ทำให้ฉากสีดำ ดำสนิด มองเห็นรายละเอียดได้ชัด สิ่งที่ผู้ใช้จะได้ก็คือ ความลึกของภาพที่มีมิติ และลดการใช้พลังงานลง เพราะพิกเซลเปล่งแสงแบบจุด ไม่ได้เป็นแบบโซนเหมือน LED ทั่วไป
โดยการรองรับ HDR ก็ยิ่งทำให้การเกลี่ยสีมีความสดใส และยังได้ค่า Contrast ที่สูง จึงเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกม และชมภาพยนตร์ได้มากกว่าเดิม อย่างเช่น ตัวอย่างที่เราได้นำเสนอนี้ ด้านซ้ายจะเป็นจอ OLED ส่วนทางด้านขวา จะเป็นจอ LED บนโน๊ตบุ๊ค ASUS จะเห็นความแตกต่างในด้านของสีอยู่ไม่น้อยเลย
กล้องเว็บแคมที่มากับ ASUS Vivobook Pro 15 OLED ความละเอียด Full-HD 1080p มีความคมชัดสูง และยังมี Privacy Shutter ที่ปิดฝาด้านหน้ากล้อง เพื่อความเป็นส่วนตัว และเทคโนโลยี 3DNR ที่ช่วยเพิ่มความคมชัดของภาพ ด้านข้างมาพร้อมไมโครโฟน พร้อมฟีเจอร์ที่เรียกว่า AI Noise Cancellation ในการตัดเสียงรบกวน ให้การสนทนาที่ชัดเจน โดยเฉพาะคนที่ต้องการความคมชัดในด้านของเสียง และใช้งานในที่ที่มีเสียงโดยรอบ ซึ่งจากการใช้งานในห้องทำงาน ที่มีพนักงานนั่งรวมกัน อาจจะมีเสียงแทรกมาบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังมีความเคลียร์ชัดได้ดี และคุณยังเข้าไปปรับแต่งเพิ่มเติมได้จากซอฟต์แวร์ MyASUS ในการตั้งค่าเสียงรบกวน จากด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงการปิดเสียงที่มาจากรอบด้านได้ ฟีเจอร์นี้่ค่อนข้างจะได้ประโยชน์ในการใช้งานในหลายๆ สภาวะได้ดี
และเมื่อเราดูจากการเคลมของ ASUS ที่ว่าสเปคมา หลายอย่าง เช่น ค่า DCI-P3 100% และ Delta-E น้อยกว่า 2 ซึ่งผลที่ได้ก็อยู่ที่ 100% DCI-P3 Coverage และ Delta-E ก็ถือว่าใกล้เคียง เพราะค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.14 เท่านั้น แต่สูงสุดก็มากกว่า 2 อยู่เหมือนกัน แต่ก็ถือว่าให้ขอบเขตสีที่กว้าง
ส่วนค่าความสว่างจากการทดสอบบน DisplayCAL ก็ทำได้ถึง 388cd/m2 ซึ่งใกล้เคียงกับที่ทาง ASUS เคลมเอาไว้อีกด้วย ถือว่าจอภาพที่ให้มาบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะกับการทำงานได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะงานที่ซีเรียสเรื่องสี เช่น การพรีเซนเทชั่นสินค้าให้ลูกค้า ตรวจงานอาร์ตเวิร์กหรือต้องส่งงานโปรดักส์ชั่น ก็พอรับไหว
ชุดลำโพงที่อยู่ด้านล่างทั้งซ้ายและขวา ให้ทิศทางเสียงกดลงพื้นโต๊ะ และสะท้อนเสียง เพื่อการรับฟังได้ชัดเจนมากขึ้น
Connector / Thin And Weight
ทางด้านซ้าย จะมีเพียงพอร์ต USB 2.0 Type-A มาให้ 2 พอร์ต และไฟแสดงสถานะ และไฟแบตเตอรี่
พอร์ตทางด้านขวา ประกอบด้วย DC-In สำหรับชาร์จไฟ, USB 3.2 Type-A, HDMI 2.1, Thunderbolt 4 อย่างละ 1 พอร์ต พร้อมสล็อต microSD card reader และ 3.5mm Audio jack โดยที่ Thunderbolt 4 รองรับการถ่ายโอนข้อมูลความเร็วสูง, การชาร์จไว และการแสดงผลร่วมกับ DP ได้อีกด้วย
ลองต่อสายแบบจัดเต็ม ระยะช่องไฟมีพอสมควร ให้หัวต่อต่างๆ สามารถติดตั้งกันอย่างใกล้ชิดได้ แต่ก็จะมีบางอุปกรณ์ที่มีหัวต่อขนาดใหญ่ อาจจะไม่สะดวกต่อการติดตั้ง เพราะจะไปเบียดกับสายต่อข้างๆ ได้ แต่ส่วนใหญ่ สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งหมด แต่ที่ติดอยู่เล็กน้อยก็คือ น่าจะมีพอร์ต RJ-45 สำหรับสาย LAN มาให้บ้าง เพราะเป็นโน๊ตบุ๊คจอ 15.6″ และเป็นสาย Creator ด้วย โดยส่วนตัวมองว่ามีบทบาทต่อการใช้งานพอสมควร
น้ำหนักที่ชั่งได้สุทธิก็คือ 1.79Kg ซึ่งเบากว่าที่เคลมไว้หน้าสเปคคือ 1.8Kg อยู่นิดหน่อย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี อาจจะเหมาะวางโต๊ะ แทนพีซีก็ได้ หรือจะพกพาใส่กระเป๋าไปพบลูกค้าก็ยังพอไหว เพราะถ้าเทียบกับโน๊ตบุ๊คในระดับใกล้กันอย่างที่เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค ยังถือว่าเบากว่าพอสมควร
จะไม่บอกน้ำหนักอแดปเตอร์ ก็กลัวว่าจะไม่ครบ ก็จะประมาณ 400 กรัม เมื่อรวมกับตัวเครื่องแล้ว ก็อยู่ราวๆ 2.2Kg ครับ เน้นงานสั้นๆ ข้างนอก ไม่ต้องพกก็ได้ หรือถ้าจะเดินทางพกไปใส่กระเป๋าเป้ ก็ยังไหว
Inside / Upgrade
การแกะเปิดฝาหลัง เพื่อดูองค์ประกอบภายใน ทำได้ไม่ยากครับสำหรับโน๊ตบุ๊ค ASUS Vivobook Pro 15 รุ่นนี้ เพราะใช้น็อตประมาณ 10 ตัวเท่านั้น แต่ส่วนที่เป็นพอร์ตด้านข้าง กับบริเวณใกล้กับบานพับอาจจะแน่นไปบ้าง แต่ใช้เครื่องมือที่เป็นพลาสติกบางๆ แกะออกมาได้ และภายในจะเป็นแบบในภาพนี้เลย การจัดวางสิ่งต่างๆ ทำได้ลงตัวดี กับชุดระบายความร้อน ASUS IceCool Plus พัดลมขนาดใหญ่ 2 ตัวและฮีตไปป์ที่วิ่งมาแบบเรียบง่าย
ASUS จัดวางชิ้นส่วนต่างๆ เรียกว่าเต็มพื้นที่ภายในมาเลยทีเดียว โดยเฉพาะพัดลมขนาดใหญ่ 2 ตัว และฮีตไปป์ ที่ช่วยในการระบายความร้อนกับเทคโนโลยี ASUS IceCool Plus โดยมีฮีตไปป์ 2 เส้น วิ่งผ่านระหว่างซีพียู และกราฟิก ซึ่งอาจจะดูน้อยไปบ้าง ถ้าเทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่เยอะกว่าโน๊ตบุ๊คพื้นฐานทั่วไป เพราะมีพัดลมให้ถึง 2 ตัวด้วยกัน
ด้านบนเป็นแรมระบบ LPDDR5 4800 ความจุ 16GB ติดตั้งมาบนบอร์ดให้แล้ว แต่ไม่มีสล็อตเพิ่มเติมมาให้ อย่างไรก็ดีแรมระดับ 16GB นี้ ก็มากพอสำหรับการใช้งานในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นแรม DDR5 ที่มีความเร็วและแบนด์วิทธิ์ที่กว้างกว่า DDR4 พอสมควร การใช้งานที่ต้องการทั้งความเร็ว และทำงานร่วมกับปริมาณข้อมูลเยอะๆ จะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้มากขึ้น
ถัดลงมาจากพัดลม ก็จะมี Storage ที่เป็น SSD ในแบบ M.2 NVMe PCIe 3.0 มาให้ ความจุ 512GB และมีให้เพียงสล็อตเดียวเท่านั้น ซึ่งจากการทดสอบความเร็วอยู่ในระดับ 3,000MB/s (Read) ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่จัดการซอฟต์แวร์และงานต่างๆ ได้ในระดับที่ดี รวมถึงการเปิดเครื่อง และเข้าโปรแกรมอีกด้วย ส่วนการอัพเกรดต้องใช้การถอดเปลี่ยนตัวเดิมเท่านั้น
โน๊ตบุ๊ค ASUS Vivobook Pro 15 ยังได้รับการทดสอบตามมาตรฐาน MIL-STD 810H เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้ ว่ารองรับงานในสภาพแวดล้อมชีวิตประจำวันได้ดี ไม่ว่าจะเป็น การสั่นสะเทือน เช่น การวางในรถหรือใกล้เครื่องจักร ตกกระแทก ความร้อนสูง หรือมีความเย็นและเมื่อต้องเจอกับความชื้นก็ตาม
Performance / Software
CPUz รายงานว่าเป็นซีพียู Intel Core i7-12650H เป็นซีพียูในตระกูลของเกมมิ่ง ที่ให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่สูง ทำงานในแบบ 10 core/ 16 thread สำหรับการใช้งานแบบมัลติทาส์กกิ้ง ความเร็วในการบูสท์ได้สูงสุดถึง 4.7GHz เหมาะกับโน๊ตบุ๊คในกลุ่มนี้ เพราะค่าการใช้พลังงานไม่สูงมาก และ Max. สูงสุดแค่ 115W เท่านั้น พอที่จะให้ทำงานแบบโหดๆ ในช่วงที่ไม่ได้เสียบชาร์จได้พอสมควร เพราะแบตให้มาถึง 70Whr
ASUS Vivobook Pro 15 ให้แรมระบบมา 16GB เป็นแบบ LPDDR5 ซึ่งถือว่าจัดจ้านในย่านราคากับกลุ่มโน๊ตบุ๊คเดียวกัน ซึ่งความจุระดับนี้ ก็ตอบโจทย์การใช้งานในหลายๆ ด้านได้แล้ว โดยเฉพาะงานที่ต้องการทั้งแบนด์วิทธิ์ และความเร็ว เช่นการโอนถ่ายข้อมูลขนาดใหญ่ มีไฟล์จำนวนมาก และการเปิดไฟล์ขนาดใหญ่ เช่น ภาพหรือวีดีโอ รวมถึงการเปิดโปรแกรม ก็จะไหลลื่นมากขึ้น อย่างไรก็ดีเท่าที่เราเข้าไปเช็ค ไม่มีสล็อตสำหรับการอัพเกรด แต่ระดับ 16GB เท่าที่ทดสอบ รองรับความต้องการในชีวิตประจำวันของคุณได้เลย
GPUz สำหรับกราฟิกนั้นมีให้ทั้ง 2 แบบคือ Intel Iris Xe ที่มีอยู่ในซีพียู ซึ่งรองรับการใช้งานพื้นฐาน และความบันเทิงทั่วไป นอกจากนี้สำหรับเหล่าเกมเมอร์ ASUS ก็ให้กราฟิกแยกมาด้วยในรุ่น GeForce RTX3050Ti ซึ่งมาพร้อม VRAM GDDR6 4GB และเป็นตัวท็อปสุดของสายนี้ เพราะยังมี RTX3050 รุ่นน้อง ซึ่งเป็นรุ่นรอง และมีอยู่ในโมเดลของ ASUS รุ่นนี้ด้วย ราคาประมาณ 38,990 บาท
CrystalDiskMark ให้ผลการทดสอบอยู่ในะดับที่ดี กับการอ่านข้อมูล 3,000MB/s และเขียน 1,600MB/s โดยประมาณ ซึ่งผลที่ได้ถือว่าทำได้ดีกว่า Vivobook 16 ที่เคยทดสอบมาเล็กน้อย ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้ SSD M.2 NVMe PCIe 3.0 x4 แต่ก็ตอบโจทย์ในงานต่างๆ ได้ดีไม่น้อยเลย การเปิดโปรแกรมและเกมก็ทำได้รวดเร็วดี แต่ถ้าใครจะอยากเพิ่มความเร็วมากขึ้น ลองเป็น SSD PCIe 4.0 ก็ช่วยได้มากเลยครับ
การทดสอบโดยรวมของระบบบน PCMark10 ที่แสดงให้เห็นศักยภาพในการทำงานในชีวิตประจำวัน โดยตัวเลขส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะกับ Essential ที่เป็นการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์พื้นฐานในชีวิตประจำวัน และด้าน Productivity ที่ทำคะแนนไปได้ถึง 8,564 ส่วน Digital Content ที่เป็นงานในด้านมัลติมีเดีย การเรนเดอร์วีดีโอ ซีพียูและแรมมีส่วนสำคัญ ก็ทำไปได้ถึง 7,651 ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ผู้ที่ใช้งานในด้านนี้ได้มากทีเดียว
การทดสอบ ASUS Vivobook Pro 15 ด้วยโปรแกรม CINEBench ซึ่งเป็นตัวแทนของ CINEMA4D ซีพียูสามารถให้ประสิทธิภาพได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการทำงานที่มี Core/Thread จำนวนมากแบบนี้ ก็ทำให้มีความลื่นไหลมากขึ้น เมื่อเทียบกับซีพียูในระดับใกล้เคียง ถือว่า Intel Core i7 นี้ มีความโดดเด่นไม่น้อยเลยในหลายการทดสอบ ในโหมดของการทำงาน อย่างเช่น เรนเดอร์ 3D และตัดต่อวีดีโอ ก็ยังไปได้สวย สำหรับสาย Content Creator ที่กำลังเริ่มต้นกับงานวีดีโอพื้นฐาน ทำคลิปง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน หรือทำพรีเซนเทชั่นเพื่อนำเสนอกับลูกค้า
การทดสอบ V-RAY ด้วยการเรนเดอร์กราฟิก 3 มิติทั้งในส่วนของซีพียูและ GPU ซึ่งผลที่ได้เป็นดังนี้ V-RAY CPU ได้ที่ 12730Ksample และ V-RAY GPU 201Mpaths
ผลที่ได้จากการทดสอบด้วยเกม 3 มิติ ASUS Vivobook Pro 15 ถือว่าไหลลื่นดีทีเดียว จากการทดสอบบน Settings Medium และ Balance บนความละเอียด Full-HD 1080p ส่วนของเกมที่ใช้สเปคหนักหน่อยอย่าง SCUM ก็ไปได้เกือบ 100fps. และเฉลี่ยที่ราว 82fps. ภาพออกมาสวยเนียนดีทีเดียว ซึ่งขยับมาเล่นที่ High พอได้ แต่อาจจะต้องเซ็ตค่า Detail บางอย่างลง เพื่อให้ได้อยู่ที่ 50fps ก็ดูสวย ส่วน Resident Evil Village เกมนี้ก็เล่นได้อย่างสบายตา เมื่ออยู่ในโหมดนี้ ลดความหลอนไปได้ระดับหนึ่ง กับการเคลื่อนไหวที่คล่องตัว นิ่งๆ อยู่ที่ 140fps. สำหรับ Average เกมนี้คุณตั้ง High ก็ยังสนุกได้ เพราะจากที่ได้ลองก็มีระดับ 90fps++ ไหลลื่นสนุกได้เต็มที่
ทำงานด้านตัดต่อวีดีโอ: เรา Export Video ด้วยไฟล์ 4K 30fps. ได้ลื่นไหล พรีวิวได้ไม่สะดุด เมื่อใช้งานร่วมกับ Adobe Premier Pro เรื่องการแต่งภาพทำได้อยู่แล้ว หน้าจอ OLED สีตรง ให้ความมั่นใจได้ในงานด้านนี้
เพิ่มเติมให้อีกนิดสำหรับคนที่ใช้โน๊ตบุ๊ค ASUS Vivobook Pro 15 รุ่นนี้ กับซอฟต์แวร์ MyASUS ตั้งแต่การเช็คฮาร์ดแวร์ มอนิเตอร์ระบบ ดูเรื่องการรับประกัน การขอคำแนะนำเมื่อเกิดปัญหา รวมไปถึงการเปิด-ปิดฟีเจอร์ และจูนอัพระบบมีมาให้ครบ ยังไม่รวมถึงโปรโมชั่นต่างๆ ที่คุณจะได้รับเป็นพิเศษ และข่าวสารจากทาง ASUS อีกด้วย แนะนำให้ใช้ครับ เพราะรวมฟังก์ชั่นต่างๆ ที่คุณใช้ในการปรับแต่งระบบไว้ในนี้แล้ว หน้าตาอินเทอร์เฟสก็ดูใช้งานง่าย สะดวกมากครับ
Battery / Heat / Noise
พื้นที่ด้านล่างเป็นจุดที่ใช้ดูดลมเย็นตามมาตรฐาน โดยเป็นช่องลมขนาดเล็ก ดูดลมเย็นเข้ามาในระบบ โดยในแต่ละช่องจะมีทั้งช่วงที่เปิดและปิดเอาไว้ เข้าใจว่าออกแบบให้ตรงตามจุด ที่เป็นช่องทางระบายลมเข้าสู่พัดลม และช่วงที่เป็นฮีตไปป์ โดยปิดในช่องที่เป็นฮาร์ดแวร์สำคัญเอาไว้ เพื่อความปลอดภัย
ช่องทางลมออก จะอยู่ทางด้านหลัง ส่วนใต้ของจอภาพ แต่จะถูกผลักออกทางด้านล่าง ตามช่องทางที่บังคับเอาไว้ ซึ่งจะอยู่ทางด้านหลังซ้ายและขวา โดยจะไม่ได้ดีไซน์ออกทางด้านข้าง อย่างเช่นบนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค
ASUS จัดเตรียมระบบระบายความร้อนที่เรียกว่า ASUS IceCool Plus มาบน ASUS Vivobook Pro 15 กับใบพัดขนาดเล็กจำนวนมาก พร้อมตัวครอบลดเสียง ซึ่งจากการทดสอบใช้งาน ในโหมด Full load เมื่อรันทั้งซีพียู และกราฟิกการ์ด ผ่านทาง Furmark เสียงรบกวนแม้จะมีความดังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถือว่ารบกวนแต่อย่างใด และระบบยังจัดการเรื่องความร้อนได้ดีอีกด้วย
แบตเตอรี่ที่ติดมากับโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้เป็นแบบ 3-cell 70Whr ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างใหญ่ สำหรับโน๊ตบุ๊คในระดับเีดียวกัน และยังมากกว่าใน Vivobook 16 ที่เราได้รีวิวไป แต่ในส่วนหนึ่งก็เพราะการเป็นโน๊ตบุ๊คที่มีกราฟิกแยก ที่เพิ่มเติมเข้ามาในรุ่นนี้ ทำให้มีระยะการทำงานได้นานขึ้น ซึ่งในการทดสอบของเรา ยังคงเป็นมาตรฐาน นั่นคือ การเปิดเสียงและระดับความสว่างที่ประมาณ 20% เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง และจำลองด้วย Video Playback ด้วยการเล่นวีดีโอ 4K ต่อเนื่องและวัดผลด้วยโปรแกรม BatteryMon ซึ่งผลที่ได้ รายงานว่าอยู่ในระดับ 6 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว เพราะถ้าหากใช้และสลับการสแตนบายไป ก็น่าจะได้ถึง 7-8 ชั่วโมง
ในแง่ความบันเทิง โดยเฉพาะในเรื่องของเสียง ASUS Vivobook Pro 15 OLED ก็จัดเตรียมมาเอาใจคอบันเทิงแบบเต็มพิกัด ไม่ว่าจะเป็น ระบบเสียง Dolby Atmos ที่เพิ่มมิติของเสียงได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยากได้รายละเอียดของเนื้อหา อย่างเช่น การชมภาพยนตร์ ซึ่งจากที่เราได้ลองกับการชมภาพยนตร์ในหลายๆ เรื่อง ความโดดเด่นน่าจะอยู่ที่การเพิ่มรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ภายในฉาก เช่น แรงกระแทกจากรถชน และเสียงของกระจกที่แตกกระจาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ยังให้ความชัดเจนได้ดี หรือจะเป็นลมหายใจของ Indominus rex กับเสียงที่แรพเตอร์สื่อสารกัน และฉากการเปลี่ยนร่างของเหล่าออโตบอท ที่ออกมาน่าติดตามมากขึ้น และอีกส่วนที่มีบทบาทไม่แพ้กันก็คือ ระบบเสียงสเตอริโอจาก Harman Kardon ที่ทำให้เอฟเฟกต์เสียงดุดันมากขึ้น คอเกมได้ประโยชน์ เวลาที่อยากได้ความตูมตาม และ Smart Amp ที่ติดมากับลำโพง ที่ยิงลงพื้นสะท้อนขึ้นมา การเพิ่มเลเวลเสียงได้หนักหน่วง แทบไม่มีอาการแตกพร่า เรียกว่าดูหนัง เล่นเกม หรือจะสนทนาออนไลน์ ได้แบบเต็มอิ่ม
ทดสอบการระบายความร้อนบน ASUS Vivobook Pro 15 OLED ด้วยการรัน CPU Burner บน Furmark ด้วยการให้ซีพียูทำงานแบบ 100% หรือ Full load อย่างเต็มที่ทุกคอร์ ในห้องอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งผลที่ได้นั้นบางจังหวะ ที่ขึ้นไปถึงระดับ 90++ องศาเซลเซียส และลดลงมาเป็นระยะ สำหรับ Core P ที่ทำงานหนักสุด จะอยู่ที่ราวๆ 92-94 องศาเซลเซียส ที่เป็น Package อยู่ที่ 89-92 องศาเซลเซียส แต่อย่างที่ได้แจ้งไปในทุกครั้งคือ นี่เป็นการเร่งการทำงานของซีพียูระดับ 100% ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งโดยปกติที่เราใช้งานกันอยู่ในทุกวัน แทบจะไม่ได้เจอกับสภาพการทำงานเช่นนี้ เช่น ทำไฟล์เอกสารจะอยู่ที่ราว 20-30% และการเล่นเกม ก็ไปที่ประมาณ 40-60% เท่านั้น ซึ่งก็ทำให้อุณหภูมิไม่ได้สูงแต่อย่างใด
Conclusion / Award
ในภาพรวม ASUS Vivobook Pro 15 OLED รุ่นนี้ ให้คะแนนเรื่องจอนำมาก่อนเลย และดูจะตอบโจทย์การใช้งานในหลายๆ ด้านได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคมชัดกับ Resolution 2.8K บนจอ 15.6″ มีความลงตัวอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่คุณจะได้ นอกเหนือจากภาพที่มีความละเอียดสวยงามแล้ว ยังให้พื้นที่แสดงผลที่มากขึ้น การจัดวาง Tools บนโปรแกรมทำงานด้านภาพและวีดีโอ คุณจะเลือกใช้เครื่องมือทำงานได้ง่ายกว่า Full-HD อยู่มากทีเดียว สีสันโดดเด่นมาแต่ไกล แบบที่ไม่ต้องไปใส่ใจเปิด HDR ในฟีเจอร์ของ Windows ด้วยซ้ำ จากที่ได้ลองใช้กับการสตรีมมิ่งวีดีโอระดับ 4K การให้สีที่เด่นชัด พื้นหลังดำ ก็ดำสนิท การเกลี่ยสีที่ดูสบายตา ทำให้ดูหนังได้แบบเพลินๆ หรือจะใช้ในงานวีดีโอและการตกแต่งภาพ ขอบเขตสีและความเที่ยงตรงของสีในระดับ DCI-P3 100% และ Delta-E น้อยกว่า 2 คือเติมสิ่งที่หลายคนได้ขาดไปกลับมาได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะคนที่เริ่มต้นกับการเป็น Content Creator มีงบไม่มาก อยากได้โน๊ตบุ๊คทำงาน สีตรง และพกพาได้ ตัดต่อสะดวก
นอกจากนี้ก็ยังได้ Windows 11 Home คู่มากับ Office Home and Student 2021 พร้อมกับ Perfect Warranty ที่ครอบคลุมถึงอุบัติเหตุมาด้วย สนนราคาของ ASUS Vivobook Pro 15 OLED รุ่นที่เราได้มาทดสอบนี้ เป็นซีพียู Intel Core i7 และ RTX 3050 Ti ราคาอยู่ที่ 43,990 บาท และอีกรุ่นจะราคาน่าสนใจเช่นกัน 38,990 บาท ได้เป็น Intel Core i5 และ RTX 3050 องค์ประกอบอื่นไม่ต่างกัน ส่วนตัวแนะนำรุ่นท็อปที่เรารีวิวนี้ เพิ่มเงินประมาณ 5 พันบาท แต่ได้เพิ่มซีพียูกับกราฟิกที่แรงขึ้นอีกดูลงตัวมากกว่า
แม้ว่าทางของ ASUS Vivobook Pro 15 OLED นี้ จะมาในแนวของ Content Creator หรือแนวกึ่งไลฟ์สไตล์ เพื่อการสร้างสรรค์ก็ตาม แต่ส่วนตัวมองว่าด้วยจอ OLED นี้ตอบโจทย์ในด้านมัลติมีเดียได้ดีไม่แพ้เรื่องของขุมพลังอย่าง Intel Core i7 ที่มีมาให้ รวมถึงยังมีกราฟิก GeForce RTX เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ซึ่งการ์ดจอนี้ ช่วยในด้านความบันเทิงได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในการเล่นเกม จอขนาดใหญ่ 15.6″ ความละเอียด 2.8K ก็ได้ภาพที่คมชัดมากขึ้น ได้ Certified Display HDR True Black 600 มีรายละเอียดที่น่าติดตาม และฟีเจอร์อย่างระบบเสียง Dolby รวมถึงลำโพง Harman Kardon ที่มาพร้อมแอมป์ในตัว เพิ่มพลังเสียงให้กับการชมภาพยนตร์และการเล่นเกมได้อย่างสนุก เมื่อรวม 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน ก็ทำให้รางวัลนี้ ดูเหมาะสมอย่างยิ่งกับโน๊ตบุ๊คจาก ASUS รุ่นนี้