Lenovo ThinkPad X13 แรงดี สเปคแน่น Security สูง DDR5 พร้อม Thunderbolt 4 เบาพกง่าย
Lenovo ThinkPad X13 ที่ถือว่าเข้าสู่ Generation 3 แล้ว ยังคงเป็นโน๊ตบุ๊คที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านงานธุรกิจ และเชื่อมโยงมาสู่การเป็นโน๊ตบุ๊คในชีวิตประจำวันของใครหลายคน ในแง่ของไลฟ์สไตล์ที่ให้ความบางเบา และในแง่ของความทนทาน ในการสร้างสรรค์งาน และการตอบสนองได้ดี ด้วยขุมพลัง Intel Core i7-1260P รุ่นใหม่ล่าสุด มาพร้อมแรม DDR5 4800 16GB และ SSD มาให้ถึง 1TB ด้วยกัน โดยมีหน้าจอแสดงผลขนาด 13.3″ ความละเอียด 1920 x 1200 pixels) ให้ภาพที่คมชัด และมุมมองกว้างด้วยพาแนลแบบ IPS ปุ่มคีย์บอร์ดขนาดใหญ่ ตอบสนองได้ไว ให้ความนุ่มนวล มีแสงไฟ Backlit ปรับระดับได้ พอร์ตต่อพ่วงอุปกรณ์ก็มีให้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น USB, HDMI หรือ Thunderbolt 4 ก็ตาม เพิ่มระยะเวลาให้การใช้งานได้นานขึ้นกับแบตเตอรี่ระดับ 54.7Whr ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro และซอฟต์แวร์จัดการระบบ Lenovo Vantage ที่สำคัญก็คือ ThinkPad X13 ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อความปลอดภัย ด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่ป้องกันการคุกคามด้านไซเบอร์ เพื่อความมั่นใจในด้านข้อมูลและการทำธุรกรรมในแต่ละวันของคุณได้อย่างเต็มที่ รับประกัน 3 ปี สเปคสามารถปรับเลือกได้ ราคาเริ่มต้นที่ 30,000 บาท
Lenovo ThinkPad X13 Gen3 แรงดี มีครบ
- Specification
- Hardware / Design
- Keyboard / Touchpad
- Screen / Speaker
- Connector / Thin And Weight
- Inside / Upgrade
- Performance / Software
- Battery / Heat / Noise
- Conclusion / Award
จุดเด่น
- มีระบบความปลอดภัยหลายรูปแบบ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์
- มาพร้อมซีพียู Intel Core i7 และแรม DDR5
- รองรับ Windows Hello ทั้งสแกนใบหน้าและสแกนนิ้ว
- น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
- บานพับกางได้ 180 องศา
- มาพร้อม TrackPad คีย์บอร์ดนุ่มพิมพ์ง่าย เสียงเบา
- มีพอร์ต Thunderbolt 4
ข้อสังเกต
- ปุ่ม fn สลับตำแหน่ง Ctrl ด้านซ้าย
- ฐานโน๊ตบุ๊คด้านหลังยกตัวไม่สูงนัก หากจะให้เอียงรับกับมือ ต้องใช้ตัวช่วย
Specification
Description | |
CPU | Intel Core i7-1260P, 4P+8E/ 16Thread, Boost 4.70GHz |
OS | Windows 10 Pro |
Display | 13.3″ WUXGA (1920 x 1200) IPS, antiglare |
RAM | LPDDR5 16GB |
Storage | 1TB M.2 NVMe PCIe Gen4 x4 |
Graphic | Intel® Iris® Xe graphics |
Battery | 54.7Whr |
Camera | 1080p FHD + IR hybrid camera with webcam privacy shutter |
Connectivity | Intel®WiFi 6E* Optional: WWAN 4G/LTE CAT4 or CAT16 Bluetooth®5.2 NFC |
Security | Microsoft Secured-core PCs (varies by model) Power-on match-on-chip touch fingerprint reader Discrete trusted platform module (dTPM) 2.0 FHD + IR hybrid camera with webcam privacy shutter |
Optional: | PrivacyGuard Tile® ready Kensington Nano Security Slot™ |
Audio | Dolby Audio™ Speaker System |
Dimension | 18.10mm x 305.8mm x 217.56mm |
Keyboard | Spill-resistant TrackPoint TrackPad: 115mm/4.52″ Optional: Backlit with white LED lighting |
Port | 2 x USB-A 3.2 Gen 1 2 x USB-C Thunderbolt™ 4 HDMI 2.0b Headphone / mic combo Optional: SIM Optional: Smart card reader |
Hardware / Design
Lenovo ThinkPad X13 Gen3 รูปลักษณ์ที่มีความคลาสสิก ส่วนตัวผู้เขียนเอง ก็คุ้นเคยกับสไตล์นี้มาตั้งแต่ในยุคแรกๆ ก็ยังถือว่ามีการปรับปรุงเรื่องเส้นสายมาบ้างในบางจุด ทำให้ดูลงตัวขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่ได้ออกมาบางเหมือนในซีรีส์ของ X1 แต่ถ้ามองกันดีๆ แล้วที่การไล่ระดับมาได้อย่างสวยงาม กับโทนสีเทาดำ ชอบตรงพื้นผิวของบอดี้ที่มีสัมผัสนุ่มนวลจับถือได้อย่างถนัดมือ และเป็นแบบเดียวกันทั้งบอดี้ จุดเด่นอยู่ที่ทำให้ไม่เป็นรอยนิ้วมือได้ง่าย และบอดี้ก็ยังไม่หนาไม่บางเกินไป เรียกว่าผู้หญิงก็พกพาง่าย ผู้ชายก็จับถือได้สะดวก โดยที่วัสดุหลักยังคงเป็นแม็กนิเซียมอัลลอยและคาร์บอน โครงสร้างแข็งแรงแทบจะกลมกลืนเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด
ด้วยบอดี้ที่บางแต่อาจจะไม่ได้บางที่สุด หากเทียบกับโน๊ตบุ๊คในระดับเดียวกัน แต่ก็สะดวกต่อการพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ ไม่ว่าจะใส่กระเป๋าสะพายใบเล็ก เป้สบายหลังแบบ 23L หรือจะเป็นกระเป๋า Messenger ก็ตาม น้ำหนักเพียง 1.33Kg โดยประมาณเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นภาระ แม้จะต้องพกพาไปพบลูกค้า หรือเดินทางไปท่องเที่ยวก็ตาม หรือจะพกอแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟไปด้วย ก็เพียง 297 กรัมเท่านั้น
บอดี้และบานพับที่ปรับได้หลายรูปแบบ เพื่องานและการใช้ในชีวิตประจำวันในรูปแบบต่างๆ ได้ ซึ่งสอดคล้องกับการใช้งานของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ไซต์งาน หรือไลฟ์สไตล์ก็ตาม
บริเวณฝาปิด Cover ด้านบนตัวเครื่องมาในโทนสีดำ-เทาเช่นเดียวกับบอดี้หลัก และโลโก้ ThinkPad ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นมุมบนซ้าย และแสงไฟสีแดงตรงจุดบนตัวอักษร i สว่างขึ้น เมื่อระบบทำงาน มุมล่างขวาก็จะมีโลโก้ Lenovo ติดไว้ให้ดูสะดุดตา
โลโก้ของ ThinkPad นี้ ก็มีมาด้านในด้วย ซึ่งเป็นตำแหน่งดั้งเดิมในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ตรงจุดแดงๆ บน “i” นี้ จะไม่มีแสงไฟสว่างขึ้นมาแบบบน Cover นะครับ
สำหรับ Lenovo ThinkPad X13 รุ่นนี้ จะเป็นแบบกางหน้าจอได้ 180 องศา เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีและมีความยืดหยุ่น แต่ถ้าต้องการจะได้หน้าจอสัมผัสและบานพับที่ปรับได้ 360 องศา ก็มีตัวเลือกอย่าง ThinkPad X13 Yoga ให้เลือกอีกด้วย
บอดี้มีความบางในระดับหนึ่ง ตั้งแต่โครงสร้างของบอดี้ ไปจนถึงฝาพับ Cover ซึ่งเมื่อปิดฝาพับลงมาแล้ว จุดที่บางสุดบริเวณด้านหน้าอยู่ที่ประมาณ 1.4cm และจุดหนาสุดด้านท้ายบริเวณฝาพับประมาณ 1.6cm เท่านั้น บานพับทำได้แข็งแรงเรียกว่าแม้คุณจะเป็นคนที่พิมพ์หนัก ก็ไม่ทำให้บานพับหน้าจอสั่นคลอนแต่อย่างใด
พอร์ตสำหรับต่อพ่วงอุปกรณ์ทาง Lenovo ก็จัดเตรียมพอร์ตมาตรฐานมาให้ใช้งานอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น USB Type-A, HDMI หรือ Thunderbolt 4 และที่สำคัญรุ่นที่เราได้รับมาทดสอบนี้ ยังมีช่องใส่ SIM สำหรับระบบเครือข่ายได้อีกด้วย พร้อมช่อง Smart card reader ที่ดูจะลงตัวกับองค์กรอย่างครบครัน
กล้องเว็บแคมความละเอียดสูงระดับ Full-HD ที่ให้ภาพคมชัด เหมาะกับงานประชุมออนไลน์และการสนทนาที่ต้องการรายละเอียดและมุมมองของภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งรองรับฟีเจอร์การล็อกอินเข้าระบบด้วย Windows Hello ได้อีกด้วย
คีย์บอร์ดที่มีปุ่มขนาดใหญ่ สำหรับการพิมพ์ที่แม่นยำ เหนือสิ่งอื่นใดคือ การตอบสนองของปุ่มทำได้ดี มีน้ำหนักพอประมาณ ทำให้การกดสนุกมากขึ้น ยิ่งเป็นคนที่พิมพ์สัมผัสได้คล่อง ก็จะได้ประโยชน์ไม่น้อยเลย โดย Lenovo ThinkPad X13 มีแสงไฟ Backlit สีขาวปรับความสว่างได้ 2 ระดับเอาไว้ใช้งานบริเวณที่แสงสว่างน้อยได้ดีทีเดียว
น้ำหนักโดยประมาณจากที่เราได้ลองตรวจเช็คดูเบื้องต้นอยู่ที่ราวๆ 1.32Kg ซึ่งถือว่าค่อนข้างเบา เมื่อรวมกับอแดปเตอร์ชาร์จไฟขนาดประมาณฝ่ามือ หนักราว 250g ยิ่งทำให้คุณพกพาไปใช้งานได้สะดวกไม่น้อย
ซอฟต์แวร์ Lenovo Vantage เป็นอีกฟังก์ชั่นที่เตรียมมาให้กับผู้ใช้ได้จัดการ ดูแล ตั้งค่า รวมถึงการเปิดใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ ที่สะดวกต่อการใช้งานมากทีเดียว
Keyboard / Touchpad
คีย์บอร์ดมาในรูปแบบมาตรฐาน ปุ่มขนาดใหญ่ดีไซน์ในแบบที่คุ้นตา ทั้งในส่วนของ IdeaPad, Yoga หรือจะเป็น Legion ก็ตาม ในแง่ของการใช้งานให้ความรู้สึกมีแรงต้านเล็กน้อย เสียงกดที่เงียบ ไม่ออกแนวกระแทก ปุ่มมีระยะห่างกำลังดี ให้การพิมพ์แบบสัมผัสได้ หรือจะใช้ท่องเน็ต ดูหนัง ฟังเพลง ก็สะดวก
นอกจากในเรื่องขนาดปุ่มที่ใหญ่ ระยะห่างดี มีการตอบสนอง ThinkPad X13 ยังคงภาพลักษณ์ที่หลายคนคุ้นตากันดีอย่าง TrackPoint ที่เป็นปุ่มยางสีแดง ตรงกลางคีย์บอร์ด ทำหน้าที่คล้ายจอยสติ๊ก แค่แตะที่ปุ่ม ก็เลื่อนเคอร์เซอร์บนหน้าจอแทนเมาส์ได้สะดวกแล้ว หลายคนยังติดอกติดใจกับฟีเจอร์นี้ ส่วนตัวก็ชอบนะครับ เพราะบางจังหวะการใช้นิ้วเลื่อนที่ทัชแพด ก็คอนโทรลได้ยาก สิ่งนี้ช่วยทำให้การเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
แสงไฟบนคีย์บอร์ดหรือไฟ Backlit ไม่ได้ถูกทิ้งไปไหน แต่ยังคงอยู่บนโน๊ตบุ๊ค ThinkPad X13 รุ่นนี้ ด้วยการปุ่ม Fn+Spacebar ก็สามารถเปิด-ปิดแสงไฟ และปรับความสว่างของปุ่มคีย์บอร์ดได้ 2 ระดับ แสงไฟที่ลอดออกมาบนตัวปุ่ม ยังมีความคมชัด ตัดกับพื้นหลังสีดำของปุ่มได้ชัดเจน
ด้านบนของปุ่มเป็นชุดฮอตคีย์ ที่รองรับการใช้งานได้เต็มทุกปุ่ม ตั้งแต่ เปิด-ปิดเสียง, ลด-เพิ่มเสียง, เปิด-ปิดไมค์, เพิ่ม-ลดแสงสว่าง, เปิด-ปิดทัชแพด, Airplane mode, ส่งสัญญาณไปจอภายนอก, รับสาย-วางสาย เพราะโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้มีช่องใส่ SIM มาให้ และปุ่ม Home, End, Del โดยย้ายปุ่ม Print screen ในการจับภาพหน้าจอไว้ด้านล่าง รวมถึงปุ่มปรับแสงไฟคีย์บอร์ดที่ Spacebar
ในแง่ของคีย์บอร์ด Lenovo ThinkPad X13 มีหลายส่วนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นขนาดปุ่มกดง่าย เสียงรบกวนแทบไม่มี ให้ความนุ่มนวล ปุ่มฮอตคีย์ก็จัดมาแบบครบๆ ใช้ง่าย ปุ่มลูกศร ก็ให้มาแบบครึ่งปุ่ม แต่ก็ยังใหญ่กว่าโน๊ตบุ๊คในระดับ 13.3″ และ 14″ โดยทั่วไป รวมถึงแสงไฟก็สว่างชัดเจน แต่ติดเล็กน้อยตรงปุ่ม fn แถวด้านล่างซ้ายมือ ทำให้การใช้ปุ่มลัด เช่น Ctrl+C, Ctrl+V หรือ Ctrl+A ที่ส่วนใหญ่เราจะคุ้นกับการกดปุ่ม Ctrl ริมสุดด้านซ้ายตามความเคยชิน ก็อาจจะทำให้บางครั้งไม่สะดวก แต่เรื่องนี้คุณสามารถเข้าไปตั้งค่าในการสลับปุ่ม fn to Ctrl บนซอฟต์แวร์ Lenovo Vantage ได้ครับ
ปุ่มเพาเวอร์สำหรับเปิด-ปิดการทำงาน มีฟังก์ชั่นสแกนลายนิ้วมือ ในการล็อกอินเข้าสู่ระบบได้อีกด้วย นอกเหนือจากการใช้งาน Windows Hello ผ่านกล้องเว็บแคม
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ทัชแพดที่จัดเต็มฟังก์ชั่นการใช้งานมาให้ รองรับการใช้งาน Multi-gesture ในแบบมาตรฐาน ตอบสนองได้ไว แม้จะมีปุ่มกดคลิ๊กซ้าย-ขวาที่ด้านบนมาให้แล้ว แต่คุณก็ยังคลิ๊กปุ่มที่ซ่อนอยู่ในทัชแพดได้อีกด้วย และให้การกดที่นุ่มนวล ตามสไตล์ของ ThinkPad ที่มีมาหลายยุคสมัย และบริเวณทัชแพด ยังเป็นจุดที่รองรับ NFC ในการเชื่อมสัญญาณของอุปกรณ์โมบาย ในการสแกนข้อมูลร่วมกันกับโน๊ตบุ๊ค Lenovo รุ่นนี้
ก็เรียกว่าทาง Lenovo ยังคงให้ความสำคัญกับสัมผัสและรูปแบบการใช้งานคีย์บอร์ดให้เข้ากับกลุ่มผู้ใช้ในด้าน Business และ Lifestyle ได้อย่างลงตัว
Screen / Speaker
Lenovo ThinkPad X13 มาพร้อมหน้าจอแสดงผลขนาด 13.3″ ให้ความละเอียดที่ 1920 x 1200 pixels ลดแสงสะท้อนในแบบ Anti-Glare ให้ความสว่างมากถึง 400-nits และจากข้อมูลที่ได้มานี้ ยังเป็นจอที่มีความแม่นยำของสีในระดับ 100% sRGB อีกด้วย ตรงนี้เราได้ทดสอบในเบื้องต้นด้วยอุปกรณ์ทดสอบของเราผ่านทางซอฟต์แวร์ DisplayCAL ได้ถึง 100.1% Gamut volume
มุมมองของจอภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางด้านซ้ายหรือขวา ด้วยการเป็นพาแนลแบบ IPS จึงให้สีสันได้ค่อนข้างดี ไม่ผิดเพี้ยน ความละเอียดที่มากขึ้นกว่าจอ Full-HD เท่าตัว ก็ยิ่งเพิ่มรายละเอียดในการรับชมได้น่าสนใจ เอาใจทั้งคอเกม ดูหนัง บันเทิง และการท่องเว็บ รวมไปถึงการทำงานเอกสาร ก็ยังมีเทคโนโลยีลดแสงสีฟ้าที่เป็นตัวการันตีความสบายตา เมื่อต้องใช้งานต่อเนื่อง
เรื่องของการเคลื่อนย้าย หรือการปรับมุมมองให้ใช้งานในโอกาสต่างๆ ก็ทำได้ดี อย่างเช่น เราจะยกให้หน้าจอให้กับลูกค้า หัวหน้าหรือคนที่อยู่ตรงข้ามได้ดู ก็จะใช้วิธีถือหันไปให้ดูแบบนี้ เพราะน้ำหนักเบา จอภาพก็ชัด
หรือจะกางออก 180 องศาแบบนี้ แล้วยื่นให้มาดูไปพร้อมๆ กันก็ยังได้ ด้วยวัสดุที่มี Texture ของบอดี้ ก็ทำให้หยิบจับได้สะดวก ถนัดมือมากขึ้น รวมถึงน้ำหนักก็เบาระดับกิโลกรัมนิดๆ เท่านั้น
จะมีเพียงเรื่องของขอบจอที่อาจจะไม่ได้บางเฉียบมากนัก หากเทียบกับโน๊ตบุ๊คในกลุ่มเดียวกัน แต่สิ่งที่ทาง Lenovo ThinkPad พยายามย้ำชัดให้กับผู้ใช้ได้ทราบ ก็คือ โครงสร้างที่เพิ่มความแข็งแรง ให้รองรับกับการพกพา การเดินทาง และกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องไปพบกับสภาวะการทำงานที่โหดร้าย การเติมจุดแข็งให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมไปถึงขอบจอที่แน่นขึ้น
เว็บแคมที่ติดตั้งมาด้านบนนี้ ให้ความละเอียดในระดับ Full-HD พร้อมฟีเจอร์ Webcam privacy shutter ซึ่งสามารถเลื่อนปิด-เปิดชัตเตอร์ของกล้องได้ ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการรักษาความปลอดภัย และเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ดีทีเดียว
ภาพที่ได้จากกล้องเว็บแคมในระดับ 1080p ที่เรียกว่ามีความคมชัด ให้สีสันและการเกลี่ยสีได้นุ่มนวลเป็นธรรมชาติ จึงทำให้ภาพออกมาดูสมจริง ไม่ดูเรียบแบน เพราะตัวกล้องสามารถจัดการกับแสงและภาพได้ดีพอสมควร แต่หากคุณต้องการเพิ่มความสว่างให้กับหน้ามากขึ้น แสงไฟ ที่ส่องเข้ามาทางด้านหน้า ก็จะช่วยได้เยอะ
อาจจะพูดไม่ได้เต็มปาก ว่าตัวจอจะถูกนำมาเป็นตัวยกความสูงหรือปรับมุมให้กับโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ เพราะเท่าที่ได้ทดลองใช้งาน จะเห็นได้ว่ามีผลน้อยมาก ทำให้บางครั้งโน๊ตบุ๊คจะเป็นแนวระนาบไปกับพื้นโต๊ะ ไม่ได้เอียงรับกับมุมการวางมือมากนัก อย่างไรก็ดีในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า การเพิ่มแท่นวางหรือ Cooling pad เพื่อเสริมการใช้งาน ก็ดูจะเป็นทางออกที่ดีมากขึ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่เข้ามาทดแทนในเรื่องของมุมมองนั้น การกางจอออกได้ถึง 180 องศา ก็เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ใช้ สามารถปรับมุมให้เข้ากับท่าทางในการใช้งาน ไม่ว่าจะนั่งหรือยืน รวมไปถึงมุมมองต่างๆ ได้สะดวก
และส่วนที่ชอบมากที่สุดสำหรับ Lenovo ThinkPad X13 เป็นการส่วนตัวเลยก็คือ บานพับที่แข็งแรง ทำให้จอไม่เขย่า เมื่อต้องมีแรงมากระทำ เช่น การพิมพ์งาน การวางของบนโต๊ะ หรือการต้องนั่งร่วมโต๊ะกับผู้อื่นในห้องประชุม ร้านกาแฟ หรือสนามบิน คุณจะทำงานได้ในทุกที่ ไม่ต้องกลับหน้าจอจะสั่นไหวให้รำคาญ
ชุดลำโพงถูกจัดวางอยู่ด้านบนแผงคีย์บอร์ด รองรับระบบเสียง Dolby Audio เรื่องคุณภาพเสียง ให้ความคมชัดของเสียงสนทนาได้ดี การประชุมจัดอยู่ในเกณฑ์ที่เก็บอารมณ์เสียงคู่สนทนาชัดเจน และตัดเสียงรบกวนโดยรอบได้พอสมควร ในด้านความบันเทิงก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน เพราะโทนเสียงกลางค่อนข้างหนักแน่น เอฟเฟกต์ระเบิด เสียงเครื่องยนต์ ก็มาเต็ม เพิ่มเสียงได้เร้าใจมากขึ้น แม้ว่าจะเก็บรายละเอียดได้ไม่มาก เพราะเป็นลำโพงขนาดเล็ก และเอาใจสายเกมเป็นหลัก เช่นเดียวกับการฟังเพลงก็ทำได้ดีในหลายๆ แนว แม้จะไม่ได้ดึงโทนของเสียงนักร้อง และเครื่องดนตรีออกมาอย่างจัดแจ้งนัก แต่ถ้าอยากได้ระดับนั้น จัดหูฟังเสียงดีๆ ในแบบ Gaming หรือ Audiophile สักรุ่น ก็สนุกได้แล้ว
หน้าจอแสดงผลในการเล่นเกม เรื่องสีสันและเอฟเฟกต์ต่างๆ จัดเต็ม เรียกว่าถ้าเป็นเกม ที่เน้นสีสัน อย่างเช่น DOTA2, APEX Legend หรือ Valorant คุณจะได้สัมผัสนี้อย่างเต็มที่ อีกทั้งภาพเคลื่อนไหวยังลื่นไหลได้ดีในโหมดความละเอียดกลางๆ
ดูวีดีโอ ดูหนังและสตรีมมิ่ง ก็จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในยามว่างของหลายๆ คน เรื่องของสีสันความสดใสของจอภาพ และความสว่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งให้ความละเอียดของภาพและการเกลี่ยสีได้อย่างเต็มอารมณ์ ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่แสดงผลหน้าจอขนาดเล็ก ทำให้เห็นความคมชัดได้มากขึ้น
การทดสอบความแม่นยำของสีและขอบเขตสีด้วย DisplayCAL และผลทดสอบที่ได้ขอบเขตสีมาตรฐาน sRGB ได้ถึง 100.1% เรียกว่าตรงกับสเปคที่ระบุไว้ และอยู่ในเกณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านการความบันเทิงและผู้ใช้กลุ่มทำงาน ที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องสีสัน เช่น การทำงานเอกสาร ภาพและงานที่ต้องมีรายละเอียดของสีมาเกี่ยวข้อง การนำเสนอภาพลักษณ์ให้มีความผิดเพี้ยนของสีน้อยที่สุด และตรงกับที่ลูกค้าต้องการ รวมไปถึงการทำพรีเซนเทชั่น และงานด้านสตูดิโอ แม้จะไม่ได้ชัดเป๊ะเข้ากันได้กับแพลตฟอร์มด้านสตูดิโอมากที่สุด แต่ก็ถือว่าทำได้ดี หรือถ้าจำเป็น ก็สามารถนำจอภาพเกรดสตูดิโอมาต่อเพิ่มเพื่อใช้งานได้ ในแง่ของความสว่างตัวเลขที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นเดียวกัน
Connector / Thin And Weight
พอร์ตการเชื่อมต่อก็มีมาให้ไม่น้อยเลย แม้จะเป็นโน๊ตบุ๊คไซส์ระดับ 13.3″ แต่มีพอร์ตสำคัญพร้อมใช้ และพอร์ตพิเศษความเร็วสูงมาให้ด้วย โดยจะแยกอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวาของตัวเครื่องตามมาตรฐาน ด้านซ้ายมือจะเป็น Thunderbolt 4 ในรูปแบบของ USB-C ให้ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลถึง 40Gbps รองรับการชาร์จไว PD และการแสดงผลผ่านทางจอในแบบ DisplayPort ได้อีกด้วย พอร์ตแรกจะใช้ในการเป็นช่องชาร์จ Power-in ถัดมาเป็น HDMI 2.0 และใกล้กันเป็น USB 2.0 Type-A
ทางด้านขวาเป็นพอร์ต USB 3.2 Type-A ใกล้กันเป็นช่อง Smart card reader และ Kensington lock
สมาร์ทโฟนที่รองรับการชาร์จเร็วในแบบ PD ก็สามารถชาร์จไฟจาก Lenovo ThinkPad X13 ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านทางพอร์ต Thunderbolt 4 ในแบบ USB-C เลือกใช้งานได้ทั้ง 2 พอร์ต
นอกจากนี้ยังกรณีที่ต้องพรีเซนเทชั่น และแสดงผลออกจอขนาดใหญ่ มีตัวเลือกอย่าง HDMI ส่งสัญญาณไปจอภาพภายนอก ทำให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
ด้วยการมี Thunderbolt 4 ให้ถึง 2 พอร์ต จึงเป็นช่องทางเลือกที่ดีให้กับคนในการใช้งานหลากหลาย ทั้งโอนถ่ายข้อมูล ชาร์จไฟและการแสดงผล
น้ำหนักของโน๊ตบุ๊คเพียงอย่างเดียว อยู่ที่ประมาณ 1.32 กิโลกรัม ส่วนของที่ชาร์จอแดปเตอร์ประมาณ 297 กรัมเท่านั้น ใกล้เคียงกับที่ Lenovo เคลมเอาไว้ในระบบ
Inside / Upgrade
ฝาหลังจะมีช่องสำหรับดูดลมเย็นเข้าระบบ โดยเป็นช่องขนาดประมาณ 6cm x 6.5cm และไขน็อตเพียง 7 ตัวเท่านั้น ก็สามารถเปิดฝาหลังได้แล้ว
เมื่อเปิดฝาออก ด้านในจะเป็นอุปกรณ์ฺต่างๆ จัดเต็มมาบนพื้นที่ของบอดี้เล็กๆ แบบนี้ โดยมีแบตเตอรี่ขนาดไม่ธรรมดาใส่มาเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่เลยทีเดียว
พัอลมที่ใช้ในการระบายความร้อน มีเพียงตัวเดียวเท่านั้น พร้อมฮีตไปป์ที่นำพาความร้อนมาจากซีพียูที่อยู่ในบริเวณใกล้กัน และมีช่องลมขาออกอยู่ทางด้านขวาของตัวเครื่อง
ในส่วนของการอัพเกรดจะมีเพียง SSD ที่เป็น M.2 NVMe PCIe นี้เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการถอดเปลี่ยน ไม่ได้มีสล็อตเพิ่มเติมมาให้แต่อย่างใด รวมถึงแรมระบบ ที่เป็นแบบออนบอร์ดมาแล้ว DDR5 16GB และไม่มีสล็อตให้อัพเกรดเพิ่ม แต่ก็ถือว่าตอบโจทย์ในการใช้งานได้ดีอยู่แล้ว แทบไม่ต้องเพิ่มเติม โดยเฉพาะใช้งานทั่วไป งานเอกสาร การแต่งภาพและการสร้างคอนเทนต์วีดีโอในเบื้องต้น ก็เพียงพอ
Performance / Software
มาดูสเปคของ Lenovo ThinkPad X13 Gen3 รุ่นนี้กันบ้าง เริ่มจาก CPUz แจ้งรายละเอียดซีพียูไว้ดังนี้ครับ Intel Core i7-1260P ซึ่งถือว่าเป็นซีพียู Intel Gen 12 ระดับ Performance ใหม่ล่าสุด ทำงานแบบ 12 core (แบ่งเป็น 4P + 8E) และมีถึง 16 thread ด้วยกันโดยมี L3 cache ขนาดใหญ่ ที่เป็นผลดีต่อการทำงานโดยรวม และก็ถือโอกาสนี้ในการทดสอบเบื้องต้น ประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับอดีตเทพซีพียูเดสก์ทอป Intel Core i7-10700 ถือว่าซีพียูโมบายบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ก็แซงหน้าได้ในแบบ Single thread
มาที่แรมระบบกันบ้าง โน๊ตบุ๊ค Lenovo รุ่นนี้ ให้แรมแบบ DDR5 4800 มาให้ถึง 16GB ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากทีเดียว สำหรับจัดการงานพื้นฐานทั่วไป และช่วยให้งานในด้านเอกสาร เปิดไฟล์ขนาดใหญ่ และการโอนถ่ายข้อมูลทำได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งเท่าที่เราได้ทดสอบเปิดไฟล์ภาพขนาดใหญ่ และการโอนถ่ายไฟล์วีดีโอหลายๆ ไฟล์พร้อมกัน ระบบยังทำงานได้อย่างราบลื่น เรียกว่าแทบจะไม่ต้องอัพเกรดเพิ่มแต่อย่างใด
การทดสอบประสิทธิภาพของระบบจัดเก็บข้อมูล จัดว่าการอ่าน/เขียนข้อมูลไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ด้วยการเป็น SSD ในแบบ M.2 NVMe PCIe 4.0 x4 ทำให้อัตราการอ่านข้อมูลทำได้ถึง 3,560MB/s และการเขียนที่รวดเร็ว 3,331MB/s ซึ่งประสิทธิภาพระดับนี้ ส่วนใหญ่จะได้เห็นบนโน๊ตบุ๊คระดับเกมมิ่ง และยังให้มาถึง 1TB ผู้ใช้จะได้ทั้งประสิทธิภาพและพื้นที่จัดเก็บข้อมูลครบครัน
PCMark10 ตัวเลขคะแนนโดยรวมอยู่ที่ 5,780 คะแนน แต่ตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ที่ Essential ที่จะเกี่ยวข้องกับงานที่ส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน และงานเอกสารสำนักงาน ซึ่งคะแนนทะลุไปกว่า 10,000 คะแนน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากซีพียูตัวแรงอย่าง Intel Core i7 รุ่นใหม่ที่ใส่เข้ามา และคู่มากับแรม DDR5 ซึ่งมากถึง 16GB ก็ช่วยรีดประสิทธิภาพให้กับงานเหล่านี้ได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่ม Digital Content เช่นทำไฟล์มัลติมีเดีย ตกแต่งภาพ หรือการตัดต่อวีดีโอ ก็ได้คะแนนที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว หากเทียบกับซีพียูในระดับ Core/ Thread และสัญญาณนาฬิกาที่ใกล้เคียงกัน
CINEBench ผลการทดสอบเรียกว่าทำคะแนนออกมาได้ดี สำหรับซีพียูระดับ Intel Core i7 รุ่นใหม่ที่ติดตั้งมาบน ThinkPad X13 รุ่นนี้ ในภาพรวมถือว่ารองรับงานด้านกราฟิก 3 มิติได้ดีพอสมควร
3DMark กับคะแนนการทดสอบในระดับที่น่าพอใจ แม้จะไม่ได้สูงมากนัก ถ้าเทียบกับโน๊ตบุ๊คกราฟิกแยก แต่ถ้ามองถึงตัวเลขที่ได้ และการใช้พลังงาน กราฟิก Intel Iris Xe ยังถือว่าให้ประสิทธิภาพได้ดี ทั้งในด้านของเกมสามมิติระดับเริ่มต้น หรือจะเป็นเกมที่ใช้ทรัพยากรมากขึ้น
เพื่อให้สอดคล้องกับระบบที่มีมาให้ และเข้ากันกับจุดประสงค์ของโน๊ตบุ๊ค Lenovo ThinkPad X13 รุ่นนี้ โดยเกมพื้นฐานอย่าง DOTA2 และ PUBG ที่ถือว่ายังเป็นแนวติดตลาด เรื่องเฟรมเรตที่ออกมา ถือว่าทำได้ดีทีเดียว โดย PUBG นั้นจะค่อนข้างแกว่งไปบ้าง เพราะเป็นเกมที่โหลดข้อมูลค่อนข้างเยอะ SSD และ RAM ก็มีส่วนสำคัญ แต่ก็ยังถือว่าเล่นได้ในระดับที่มากกว่า 40fps. ในโหมด Very Low แต่ปรับ Render scale ให้ดูสิ่งแวดล้อมได้ชัดขึ้น ส่วนเกม DOTA2 ปรับได้ทั้ง Best Looking ไปจนถึงเกือบ Performance โดยถ้าไม่เน้นความสวยงาม เอฟเฟกต์หรูหรา ชุดตัวละครต้องงดงาม โหมดนี้สามารถเล่นได้ลื่นๆ เลยทีเดียว
ทดสอบการใช้งาน Web browser และสตรีมมิ่ง เราลองเปิดใช้งานพร้อมๆ กันประมาณ 8-10 แท็ป ไม่ว่าจะเป็นการท่องเว็บไซต์ เทรดคริปโต รวมถึงการดูข้อมูล ค้นหาไฟล์ และสตรีมมิ่งวีดีโอ 4K ไปพร้อมๆ กัน ยังไม่รวมระบบที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง มีการใช้แรมไปประมาณ 7-8GB เท่านั้น ยังเหลือมากพอสำหรับทำงานอื่นได้อีก เช่น การทำงานเอกสาร พรีเซนเทชั่นหรือการตกแต่งภาพเป็นต้น
Battery / Heat / Noise
แบตเตอรี่ที่ให้มาบนโน๊ตบุ๊ค Lenovo ThinkPad X13 รุ่นนี้ เป็นแบบ 4-cell, 54Whr ถือว่าค่อนข้างใหญ่พอสมควร หากเทียบกับโน๊ตบุ๊คทำงานระดับ 13.3″ ด้วยกัน
ในเรื่องของระยะเวลาในการทำงานของโน๊ตบุ๊ค Lenovo ThinkPad X13 รุ่นนี้อยู่ที่ประมาณ 6.40 ชั่วโมงจากการทดสอบด้วย BattMon กับการดูสตรีมมิ่งวีดีโอบน Youtube และเปิดระดับเสียง 20% และความสว่างหน้าจอ 20% สำหรับจำลองการใช้งานจริงอย่างต่อเนื่อง และการเชื่อมต่อผ่าน WiFi ซึ่งมีโอกาสที่จะนานกว่านี้ได้ หากมีการ Disable โปรแกรมเบื้องหลังบางส่วนออกไปบ้าง ก็จะผ่านระยะเวลา 7 ชั่วโมงได้ไม่ยาก
การระบายความร้อนและอุณหภูมิเราทดสอบด้วยโปรแกรม Furmark ในโหมด CPU Burner ด้วยการให้ซีพียูทำงานในแบบ Full load 100% และใช้โปรแกรมตรวจเช็ค HWMonitor ในการตรวจเช็คอุณหภูมิขึ้นไปอยู่ที่ราวๆ 94-96 องศาเซลเซียส แต่ก็ดรอปลงมาเป็นจังหวะ ซึ่งระบบยังทำงานได้ตามปกติ แต่โดยปกติโอกาสที่คุณจะใช้ซีพียู Intel Core i7 ขึ้นไปในระดับ 100% อย่างต่อเนื่อง มีน้อยมากๆ ยกเว้นในงานตัดต่อ เรนเดอร์วีดีโอ หรือจะเป็นการเล่นเกมในบางเกมเท่านั้น แต่ก็ถือว่าระบบยังจัดการเรื่องความร้อนในระดับน่าพอใจ ใช้งานได้แบบไม่ต้องกังวล
Conclusion / Award
สำหรับในภาพรวมของ Lenovo ThinkPad X13 Gen3 ที่เราได้ลองใช้งานมาประมาณ 4-5 วัน สิ่งที่เราได้เห็นนอกเหนือจากเรื่องประสิทธิภาพ นั่นคือ ดีไซน์และฟังก์ชั่น ที่มีการออกแบบได้ลงตัวทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุและพื้นผิวสัมผัส แม้กลิ่นอายของโน๊ตบุ๊คจะยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของงานธุรกิจเป็นหลัก แต่กลับเข้ากันได้กับสไตล์การใช้งานสมัยใหม่ ซึ่งคุณสามารถนำไปใช้ได้ในทุกที่ทุกโอกาส ตั้งแต่การพบลูกค้า พรีเซนท์งานหรือจะนั่งเทรดหุ้นอยู่ร้านกาแฟ ไปจนถึงการสอนการบ้านลูก และความบันเทิงแบบเบาๆ ขณะที่เดินทางหรือพักผ่อนก็ตาม
การเข้าใช้ก็สะดวกสบาย ด้วยการ Log-in ในแบบต่างๆ ที่ปลอดภัย ใช้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น Face recognize หรือใช้ Windows Hello รวมถึงการสแกนลายนิ้วมือ รวมถึงซอฟต์แวร์อย่าง Lenovo Vantage ที่รวมเอาทุกอย่างไว้ให้ ดูแล ตรวจเช็ค อัพเดต และตั้งค่า ไฮไลต์อีกส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่พอร์ตต่อพ่วง ที่มีให้แบบครบๆ โดยเฉพาะ Thunderbolt 4 มีให้ถึง 2 พอร์ตด้วยกัน และเพิ่มช่องใส่ SIM มาให้อีกด้วย (Optional) เช่นเดียวกับคีย์บอร์ดที่นุ่มแน่น มีฮอตคีย์จัดเต็มพิมพ์สนุกมือ มีแสงไฟ Backlit ปรับระดับได้ รวมถึงมีทัชแพดและปุ่ม TrackPad มาให้ใช้อีกด้วย
สุดท้ายนี้ส่วนตัวมองว่า ยังเป็นโน๊ตบุ๊คทำงานที่ยังให้คนที่ต้องการความเชื่อมั่นและวางใจได้ในเรื่องความปลอดภัย และเสริมฟังก์ชั่นมาให้แบบจัดเต็มแทบไม่กั๊กเอาไว้ เพื่อธุรกิจส่วนตัว งานสำนักงานและการใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมาพร้อม Windows 10 Pro และการรับประกัน 3 ปีในแบบ On-site service ราคาเริ่มต้นที่ 30,000 บาท
Award
ในแง่ของดีไซน์อาจไม่ได้มองถึงเรื่องของรูปลักษณ์ที่หวือหวา แต่ Lenovo ThinkPad X13 เข้ามาในเรื่องของความคลาสสิก ที่ดูเข้ากับในทุกช่วงเวลาที่ใช้งานได้ดีทีเดียว แต่จุดสำคัญคือ การจัดวางองค์ประกอบที่จำเป็นต้องใช้งานได้อย่างน่าสนใจ และใส่เข้ามาในแบบที่ไม่ต้องกังวลว่าบอดี้เล็กแบบนี้จะใส่ได้หรือไม่ เพราะผู้ใช้จะได้สัมผัสถึงการใช้งานทั้งเรื่องระบบความปลอดภัย คีย์บอร์ดใช้งานง่าย หน้าจอคมชัด และจัดพอร์ตต่อพ่วงใหม่ๆ มาให้แบบครบครัน ที่สำคัญมีขุมพลัง Intel Core i7 Gen12 มาให้ พร้อมแรม DDR5 ถือว่าพร้อมใช้งาน
แม้ว่าจะเป็นโน๊ตบุ๊คระดับ 13.3″ ที่น้ำหนักไม่ได้เบาสุดขีด แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พกพาได้สะดวก จับถือมือเดียวได้ เดินทางไม่ต้องแบก ความหนาประมาณ 1.5cm เท่านั้น โดยเฉพาะกับบอดี้ที่เป็นแม็กนิเซียมอัลลอยที่ให้ความทนทาน ควบคู่ไปกับความแข็งแรง บอดี้ไม่ต้องกังวลเรื่องการเป็นริ้วรอยหรือการกระแทกมากนัก การเชื่อมต่อต่างๆ ก็มีให้ครบ ไม่ว่าจะเป็น Wireless, Bluetooth หรือ NFC ก็ตาม ส่วนเรื่องระยะเวลาการใช้งานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะได้ขุมพลังอย่าง Intel Core i7 ทำให้ได้ความแรงถูกอกถูกใจ พกพาไปใช้งานในที่ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่