Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Lenovo

รีวิว Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ชิป Intel Alder Lake แรม DDR5 บอดี้แข็งแรงทนทาน

Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 พร้อม Intel Alder Lake ใหม่ ใช้งานดี พกพาสะดวก

 

Advertisement

Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ถือเป็นโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมสายทำงานรุ่นท็อปของทาง Lenovo ณ ปัจจุบันนี้ ซึ่งนอกจากจะยกจุดเด่นต่างๆ ไม่ว่าจะชุด TrackPoint เอกลักษณ์ของ ThinkPad ตั้งแต่ยุค IBM และทาง Lenovo ก็อัพเกรดฟีเจอร์เสริมเทคโนโลยีใหม่เข้ามาให้เต็มที่ ทั้งหน้าจออัตราส่วน 16:10 เพิ่มระยะมองเห็นในแนวตั้งให้ทำงานสะดวกและเป็นจอ Dolby Vision ให้สีสันสวยคมชัดยิ่งขึ้น, ติดตั้งลำโพง Dolby Atmos ให้มิติเสียงที่ดียิ่งขึ้น, ไมค์แบบ Far-Field รองรับ Dolby Voice รองรับเสียงรอบทิศ 360 องศา ทำให้ประชุมออนไลน์พูดเสียงฟังชัดเจน นอกจากนี้ยังติดตั้งกล้อง IR ไว้สแกนใบหน้าและเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเอาไว้ให้ปลดล็อคเครื่องอีกด้วย

เอกลักษณ์ความแข็งแรงก็ยังคงเหมือนเดิม โดยบอดี้ของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ผสมแม็กนีเซียมได้ความแข็งแรงทนทานรวมทั้งน้ำหนักเบา ผ่านการทดสอบ Military Grade 12 แบบ ออกแบบให้ทนทานอากาศร้อนและเย็นจัดได้สบายๆ รวมทั้งป้องกันน้ำหกและไม่ก่อความเสียหายให้ตัวเครื่องแน่นอน ด้านของสเปคเมื่อเป็น Gen 10 แล้ว ก็ได้รับการอัพเกรดติดตั้งซีพียู Intel Alder Lake กับแรม DDR5 ทำให้ทำงานได้ดีกว่าเดิมมาก

Lenovo ThinkPad X1 Carbon gen 10

NBS Verdict

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02444

Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 นั้น ถือเป็นการต่อยอดโน๊ตบุ๊คทำงานระดับพรีเมี่ยมของทางค่ายได้อย่างดีและไม่เสียเอกลักษณ์เดิมจาก Gen 9 แต่อย่างใด ทั้งบอดี้ได้ความแข็งแรงทนทานด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์และแม็กนีเซียมได้ความสวยเรียบหรูและน้ำหนักเบา รวมทั้งได้อัพเกรดสเปคภายในเครื่องให้ทันสมัยที่สุด หากใครตั้งใจว่ามี ThinkPad X1 Carbon รุ่นเก่าอยู่แล้วอยากเปลี่ยนเครื่องอยู่พอดี ก็ซื้อรุ่นนี้ไปทดแทนเครื่องรุ่นเก่าได้เลย และจะได้สัมผัสประสบการณ์ใช้งานดียิ่งขึ้นเมื่อเป็น Intel Alder Lake และผ่านมาตรฐาน Intel Evo อีกด้วย

การดีไซน์นอกจากเรียบง่ายดูดี มีไฟสีแดงตรงจุดของตัว i ของโลโก้ ThinkPad ด้านหลังเครื่องเพื่อแสดงสถานะของตัวเครื่องว่าเปิดพร้อมทำงานอยู่, กางหน้าจอได้แบนราบ 180 องศาเพื่อแชร์หน้าจอให้เพื่อนดูหน้าจอและตั้งบนโต๊ะหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คได้สะดวก รวมถึง TrackPoint จุดสีแดงใช้คุมเคอร์เซอร์เมาส์ของตระกูล ThinkPad ก็ยังติดตั้งมาให้เช่นเดิม ซึ่งถ้าใช้งานจนคล่องแล้ว ก็ไม่ต้องพึ่งเมาส์แยกเลยก็ได้

ส่วนของความปลอดภัยก็ยังมีให้ครบครันทั้งกล้อง IR Camera และเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ช่วยให้ผู้ใช้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวกและปลอดภัยไม่เสียความเป็นส่วนตัวและมี ThinkShutter บานสไลด์ปิดกล้อง Webcam ติดตั้งมาให้ เวลาไม่ต้องการใช้งานก็สไลด์ปิดไม่ให้ใครเจาระบบเข้ามาขโมยใช้กล้องได้อีกด้วย เรียกว่าใช้ได้สบายใจหายห่วงแน่นอน เหมาะกับผู้ใช้ที่มีข้อมูลสำคัญเก็บเอาไว้ในเครื่องมากมาย ก็ไว้ใจ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ได้เลย

กลับกัน จุดสังเกต 2 อย่างจากผู้เขียน คือ เมื่อใช้ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 รันโปรแกรมใหญ่กินทรัพยากรหนักๆ แล้ว ตัวเครื่องจะร้อนถึงร้อนมากและแผ่ความร้อนขึ้นบอดี้ตัวเครื่องฝั่งซ้ายอีกด้วย คาดว่าเพราะตัวเครื่องออกแบบให้บางเบาเลยทำให้ระยะห่างของช่องระบายความร้อนและแป้นพิมพ์ค่อนข้างชิดกันจึงร้อนแบบเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้แบตเตอรี่ในเครื่องยังมีขนาดเพียง 56Wh เท่ากับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ เครื่อง เมื่อทดสอบระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ก็ใช้ได้นานสุดร่วม 8 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งถือว่าใช้ได้ไม่นานมากเมื่อเทียบกับแบรนด์คู่แข่งหลายๆ รุ่น 

ข้อดีของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10
  1. วัสดุทำบอดี้ตัวเครื่องแข็งแรงแน่นมาก เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ผสมแม็กนีเซียมเรียบหรู
  2. ตัวเครื่องบางและเบาเพียง 1.15 กิโลกรัมเท่านั้น พกพาสะดวกไม่หนักเกินไป
  3. อัพเกรดซีพียูเป็นรุ่นล่าสุด Intel Core i7-1260P สถาปัตยกรรม Alder Lake แล้ว รองรับ Intel vPro และผ่านมาตรฐาน Intel Evo ด้วย
  4. แรมในตัวเครื่องมีความจุ 16GB จากโรงงานและเป็น LPDDR5 รุ่นใหม่ล่าสุดแล้ว
  5. ติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือและกล้อง IR Camera สำหรับใช้ปลดล็อคเครื่องได้
  6. มี ThinkShutter สไลด์ปิดกล้องหน้าได้เมื่อไม่ต้องการใช้งาน เพิ่มความปลอดภัยขึ้น
  7. ใช้ Wi-Fi 6E รุ่นใหม่ล่าสุด รับส่งข้อมูลได้เร็วและเสถียรมาก ไม่เสียจังหวะตอนทำงาน
  8. รองรับ M.2 NVMe SSD เพิ่มจากไดรฟ์หลักได้อีก 1 ช่อง เป็นขนาด M.2 2242 
  9. ติดตั้งพอร์ต Thunderbolt 4 มาให้ 2 ช่อง พร้อมกับพอร์ตมาตรฐานใช้งานบ่อยมาด้วย
  10. ชุด TrackPoint ทำงานได้ดีมาก ถ้าใช้ถนัดแล้วไม่ต้องใช้เมาส์เลยก็ได้
  11. ลำโพงของตัวเครื่องเป็น Dolby Atmos คุณภาพเสียงดีทั้งทำงานและความบันเทิง
  12. หน้าจอคุณภาพดี ขอบเขตสีกว้างและสว่างทั่วถึง ใช้พรู้ฟสีงานอาร์ตได้แน่นอน
ข้อสังเกตของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon gen 10
  1. แบตเตอรี่เพียง 56Wh เท่านั้น ใช้งานได้ร่วม 8 ชั่วโมง ถือว่าไม่นานเท่าที่ควร 
  2. ตัวเครื่องเมื่อรันโปรแกรมใหญ่กินทรัพยากรหนักจะร้อนพอควร
  3. ไม่มี MicroSD Card Reader ติดตั้งมาให้ ทั้งที่ตัวเครื่องมีพื้นที่เหลือให้ติดตั้งได้

รีวิว Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10

Specification

Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 นั้นเป็นรุ่นใหม่ภาคต่อจากรุ่น Gen 9 ที่ติดตั้งซีพียู Intel Tiger Lake มาให้ โดยรุ่นใหม่นี้จะเป็นซีพียู Intel Alder Lake ซึ่งประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม โดยมีรายละเอียดดังนี้

สเปคของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon gen 10
  • CPU : Intel Core i7-1260P แบบ 12 คอร์ (4P+8E) 16 เธรด ความเร็ว 3.4-4.7GHz
  • GPU : Intel Iris Xe Graphics
  • SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4
  • RAM : ออนบอร์ด 16GB LPDDR5 5200MHz
  • Display : 14 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920×1200) พาเนล IPS อัตราส่วน 16:10 ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB รองรับ Dolby Vision
  • Ports : Thunderbolt 4 x 2, USB-A 3.2 Gen 1 x 2, HDMI 2.0b x 1, Audio combo x 1
  • Wireless : Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2, NFC
  • Webcam : 1080p FHD Camera 
  • Software : Windows 11 Home
  • Weight : 1.12 กิโลกรัม
  • Price : 86,690 บาท (Lenovo Thailand)

Hardware & Design

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02445 1

ดีไซน์ตัวเครื่องของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะคงดีไซน์เหมือน ThinkPad X1 รุ่นก่อนหน้าเอาไว้ ได้แก่ บอดี้สีดำเน้นความเรียบง่ายดูดี เสริมบุคลิคให้เจ้าของเครื่องดูมีภูมิฐานยิ่งกว่าเดิมพร้อมชุด TrackPoint เอกลักษณ์ประจำโน๊ตบุ๊คตระกูลนี้ ติดโลโก้ ThinkPad X1 ไว้ตรงมุมล่างขวาของที่วางข้อมือ ฝั่งซ้ายมีโลโก้ Dolby Atmos กับสติกเกอร์ซีพียู Intel 

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02396

เมื่อสังเกตจะเห็นว่าก้านบานพับหน้าจอจะเป็นก้านเส้นเดียวติดอยู่ตรงกลางตัวเครื่องเดินแนวยาวแล้วยึดด้วยชุดรับขาตั้งหน้าจอเอาไว้เหมือนรุ่นก่อนหน้านี้ สามารถกางหน้าจอได้อย่างง่ายดายและแข็งแรงมั่นคง ริมตัวเครื่องสองฝั่งของคีย์บอร์ดถูกเจาะช่องลำโพงเอาไว้เพื่อให้ได้เสียงดีมีมิติยิ่งขึ้นและรองรับ Dolby Atmos ด้วย

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02435

ตัวคานหน้าจอ เมื่อเป็นแถบคานเส้นเดียวอยู่ตรงกลางตัวเครื่องและตัดเฉียงตรงขอบด้านล่างของหน้าจอเอาไว้ด้วย ทำให้ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 สามารถกางราบได้ 180 องศา สามารถกางหน้าจอให้เพื่อนร่วมงานดูหน้าจอก็ได้ จะวางทำงานบนโต๊ะทำงานหรือแท่นวางหน้าจอก็สามารถจัดองศาหน้าจอให้เข้ากับมุมสายตาได้สะดวก

ส่วนเอกลักษณ์หนึ่งที่ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 หยิบยืมมาจากโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นในบ้าน Lenovo คือ ขอบบนของหน้าจอเหนือชุดกล้อง Webcam จะเป็นสันสามเหลี่ยมคล้ายกับตระกูล Yoga Slim ทำให้ใช้นิ้วชี้ดึงเปิดหน้าจอขึ้นมาใช้งานได้สะดวก แต่ไม่ได้ยิงเลเซอร์สลักชื่อรุ่นเอาไว้ แต่ยิงเลเซอร์บอกสเปคของกล้อง Webcam เอาไว้แทน โดยเป็นกล้อง FHD f/2.0 Quad Mic Array พอสังเกตจะเห็นว่าขอบบนหน้าจอฝั่งซ้ายและขวาจะมีช่องไมค์ฝั่งละ 2 รูอยู่ เป็นไมค์ Far-Field รับเสียงได้ 360 องศา ช่วยให้ประชุมติดต่องานได้ดี รองรับ Dolby Voice ให้เสียงพูดเข้าไมค์คมชัดยิ่งขึ้น ซึ่งการติดไมค์ไว้ขอบบนหน้าจอเช่นนี้ทำให้ไม่รกสายตาเกินไป และรับเสียงได้ดี

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02436

ฝาหลังหน้าจอของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะดูเรียบง่ายไม่มีลวดลายอะไรเป็นพิเศษ มีเพียงโลโก้ ThinkPad X1 มุมบนซ้ายมือพร้อมไฟ LED สีแดงซ่อนเอาไว้ในจุดของตัว i ของคำว่า ThinkPad และมีเพลตอลูมิเนียม Lenovo ตรงมุมล่างขวาอีกหนึ่งจุดเท่านั้น ให้ความมินิมอลไม่รกสายตาเกินไป

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02360 1

ด้านใต้ตัวเครื่องจะเห็นว่าทาง Lenovo เจาะช่องระบายความร้อนเล็กๆ เอาไว้ให้พัดลมโบลวเวอร์ 2 ตัวตรงขอบบนและมีช่องลำโพงคู่อีก 2 ช่องเท่านั้น ทำให้ดูสวยเรียบร้อยไม่มีช่องเยอะเกินไปจนรกสายตา ติดแถบยางเอาไว้ 1 เส้นใหญ่ด้านบนและยางอีก 2 ชิ้นเล็กใต้ลำโพง ช่วยยกตัวเครื่องขึ้นเล็กน้อยไม่ให้บอดี้ด้านล่างตัวเครื่องถูกพื้นโต๊ะที่วางเครื่องตรงๆ

สังเกตว่าตรงกลางฝาหลังฝั่งซ้ายจะมี NOVO Hole เอาไว้จิ้มรีเซ็ตตัวเครื่องอยู่ ซึ่งการย้ายปุ่มสำคัญมาซ่อนเอาไว้ใต้เครื่องไม่ได้วางข้างพอร์ตเหมือนโน๊ตบุ๊ค Lenovo บางรุ่น ช่วยป้องกันไม่ให้คนที่ไม่รู้เกี่ยวกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เอาเข็มจิ้มซิมการ์ดมากดมั่วซั่วได้ด้วย

Screen & Speaker

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02387

จอของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะมีขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920×1200) พาเนล IPS อัตราส่วนหน้าจอ 16:10 ช่วยให้แสดงผลภาพในแนวตั้งได้มากกว่าหน้าจอทั่วไป ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB รองรับ Dolby Vision ทำให้สีสันเที่ยงตรงและสดสวยยิ่งขึ้น กล้อง Webcam มี ThinkShutter บานสไลด์ปิดกล้องติดตั้งมาด้วย เวลาไม่ใช้ก็สไลด์ปิดได้ทันทีและขึ้นเป็นจุดสีส้มตรงกล้อง Webcam แทน

กรอบหน้าจอถูกออกแบบให้ริมหน้าจอฝั่งซ้ายและขวาบางลงให้มีพื้นที่แสดงผลด้านข้างมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อเป็นพาเนล IPS แล้ว จะทำให้องศาการมองเห็นกว้าง 178 องศา ถึงพับจอลงมาแล้วก็ยังมองเห็นสีสันได้ชัดเจนและไม่เกิดเงาหรือสีเพี้ยนบนหน้าจอเลย

gamut

Lenovo เคลมคุณภาพหน้าจอของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 เอาไว้ว่าเป็นจอคุณภาพสูง แสดงขอบเขตสีได้กว้าง 100% sRGB พอวัดด้วย Spyder5Elite แล้ว ได้ขอบเขตสีกว้าง 93% sRGB, 74% AdobeRGB และ 75% DCI-P3 ซึ่งกว้างใกล้เคียงกับที่ทางบริษัทเคลมเอาไว้ เทียบค่าความเบี่ยงเบนสี Delta-E แล้ว ได้เฉลี่ยเพียง 1.33 เท่านั้น ซึ่งเมื่อน้อยกว่า 2 ก็ช่วยยืนยันว่าสีสันบนจอของ ThinkPad X1 Carbon Gen 10 เที่ยงตรงมาก สามารถใช้พรู้ฟสีงานอาร์ตเวิร์คต่างๆ ได้อย่างแน่นอน

พอตั้งความสว่างหน้าจอไว้ที่ 100% แล้ว สามารถแสดงความสว่างได้สูงสุด 203.2 nits นับว่าสว่างกำลังดีสำหรับใช้งานในออฟฟิศอาคารสำนักงานได้ดี ถ้านั่งทำงานชานร้านกาแฟหรือมีแสงสะท้อนก็ยังสว่างพอสู้แสงได้ระดับหนึ่ง ทว่าพอปรับลงมา 75% ความสว่างจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือ 110.1 nits เวลาผู้เขียนทดลองใช้งานดูถือว่าค่อนข้างมืดอยู่บ้าง แต่ยังพอมองเห็นได้ชัดเจนอยู่พอควร

ส่วนความสว่างเมื่อแบ่งวัดเป็นตราง 9 ช่องแล้ว จะเห็นว่าทั้งหน้าจอของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 มีความสว่างลดลงตั้งแต่ 0-9% และสังเกตว่าขอบบนของหน้าจอจะสว่างที่สุด ส่วนกลางและล่างของหน้าจอจะมีความสว่างลดลงระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้าต้องการทำภาพแต่งสีก็ยังพอทำได้ แต่ถ้าให้ดีที่สุดแนะนำให้ซื้อหน้าจอทำงานอาร์ตโดยเฉพาะมาต่อแยกไปเลยดีกว่า

สุดท้ายสรุปผลคะแนนแล้วจะเห็นว่าหน้าจอของ ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ทำคะแนนรวมได้ถึง 4 จาก 5 คะแนนเต็ม ส่วนจุดเด่นของจอนี้เป็น Contrast ซึ่งทำได้ 5 คะแนนเต็ม ถัดมาคือ Gamut, Color Uniformity และ Color Accuracy ซึ่งได้ 4.5 จาก 5 คะแนน จัดว่าดีไล่เลี่ยกัน ดังนั้นเจ้าของเครื่องคนไหนต้องการใช้จอของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้พรู้ฟสีงานอาร์ตก็ใช้ทำงานได้เลย

ด้านลำโพงทั้ง 4 ดอกของเครื่องจะรองรับเสียงแบบ Dolby Atmos มีลำโพงข้างคีย์บอร์ดและด้านใต้ตัวเครื่องจุดละ 2 ดอกด้วยกัน ซึ่งคุณภาพเสียงจัดว่าสมชื่อ Dolby Atmos มาก เพราะทิศทางเสียงตอนทดลองดูหนังฟังเพลงได้กระหึ่มและโทนเสียงเป็นแบบสเตอริโอ สเตจเสียงถือว่ากว้างกำลังดี ได้เสียงกระจายทั่วทิศทางและมีมิติเหนือว่าลำโพงแบบ 2 ดอกทั่วไป ส่วนเนื้อเสียงสามารถใช้ฟังเพลงได้หลากหลายแนวตั้งแต่แจ๊สธรรมดาไปจนเพลงร็อคในปัจจุบัน

ส่วนเสียงเบสนับว่ามีเสียงต่ำเป็นเสียงตึ่กคลอกับเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ แต่แรงปะทะไม่ได้เยอะหรือหนักแน่นเหมือนแบรนด์คู่แข่งนัก ทว่าพิจารณาจากเสียงแบบสเตอริโอของลำโพงก็ถือว่าทำได้ดีไม่มีปัญหา ส่วนคนที่ชอบฟังเพลง EDM ในเวลาว่างถ้าอยากได้เสียงเบสหนักแนะนำให้ต่อลำโพงเพิ่ม ส่วนผู้ใช้ทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องต่อเพิ่มก็ได้

Keyboard & Touchpad

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02404

แป้นคีย์บอร์ดของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะใช้ดีไซน์ร่วมของ ThinkPad รุ่นอื่นๆ ซึ่งแป้นคีย์บอร์ดจะเป็นแบบ 75% Tenkeyless พร้อมปุ่ม Function ติดตั้งเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน ตัวปุ่มแยกเป็น 2 ดีไซน์ คือชุดแป้นตรงกลางเป็นปุ่มทรงสี่เหลี่ยมขอบล่างโค้งเล็กน้อยเพิ่มพื้นที่กดปุ่มลดโอกาสกดผิดได้มากยิ่งขึ้น ส่วนแถวของ F1-F12 เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีปุ่ม Esc ยาวเป็นพิเศษพร้อมรวมฟังก์ชั่น Fn Lock เอาไว้ มีไฟ LED Backlit แบบไฟลอดตัวอักษรด้วย สามารถกดเปิดปิดได้โดยกด Fn+Spacebar 

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02405

ส่วนของคีย์ลัดตรงปุ่ม F1-F12 จะมีไฟ LED สีขาวติดเอาไว้ 2 จุด คือปุ่มปิดลำโพงและไมค์ เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นชัดเจน กด Fn Lock สลับเลเยอร์ระหว่าง Function Hotkey กับ F1-F12 ได้ด้วย โดยมีคำสั่งดังนี้

  • F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
  • F4 – ปิดไมค์
  • F5-F6 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและหน้าจอเสริม
  • F8 – Airplane Mode
  • F9 – เปิด Notification Center
  • F10-F11 – ปุ่มโทรออกหรือวางสาย ใช้งานกับโปรแกรมโทรศัพท์ออนไลน์ได้
  • F12 – User Define Key ปุ่มให้ผู้ใช้ตั้งค่าคำสั่งลัดได้ด้วยตัวเอง ตั้งค่าจากโรงงานให้เรียก Lenovo Vantage ขึ้นมา

จะเห็นว่า Function Hotkey ของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะมีคำสั่งเน้นใช้ทำงานติดตั้งมาครบถ้วนระดับหนึ่ง ครบตามสไตล์ของ ThinkPad แต่ในมุมของผู้เขียนซึ่งใช้ Lenovo Yoga Slim 7i Pro เป็นเครื่องหลักอยู่ คิดว่าปุ่ม Notification Center ไม่ได้จำเป็นขนาดต้องตั้งเป็น Function Hotkey อาจจะเปลี่ยนปุ่มนี้ไปเป็นปุ่ม Lock screen หรือเรียกคำสั่ง Settings ของ Windows ขึ้นมาใช้งานจะดีกว่า

คีย์ลัดต่างๆ ของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะมีแต่ปุ่มหลักซึ่งผู้ใช้มักกดใช้งานเป็นประจำและตัดปุ่มไม่ค่อยได้ใช้ออก เช่น Menu Key ซึ่งอยู่ระหว่าง Alt, Ctrl ฝั่งขวามือถูกเปลี่ยนเป็นคำสั่ง Print Screen รวมกับ Snipping Tool แทนและย้ายปุ่ม Page Up, Page Down เอาไว้เหนือลูกศรชี้ซ้ายขวาของคีย์บอร์ด ส่วนแถบบนถัดจาก F12 เป็นปุ่ม Home, End, Insert, Delete ตามลำดับและถูกเซ็ตเอาไว้เป็นสัดส่วน กดใช้งานง่ายแต่ทางบริษัทเซ็ตเอาไว้เพียง 1 เลเยอร์เท่านั้น ไม่ได้รวมคำสั่งอื่นอย่าง Pause, Break ฯลฯ เอาไว้ แม้จะเข้าใจง่ายแต่คนที่ต้องกดใช้งานบ่อยๆ อาจจะรู้สึกขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02403

ทัชแพดของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 เป็นทัชแพดแบบดีไซน์ซ่อนปุ่มรองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วน งานประกอบแน่นไม่มีโยกคลอนใดๆ แต่จุดเด่นหลักของ ThinkPad Series คือ TrackPoint หรือจุดสีแดงบนแป้นคีย์บอร์ดซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของตระกูล ThinkPad ซึ่งตกทอดจากยุค IBM จนกระทั่งปัจจุบัน

วิธีใช้ คือ ใช้นิ้วชี้ข้างที่ถนัดแตะจุดสีแดงแล้วโยกเพื่อเลื่อนเคอร์เซอร์เมาส์บนหน้าจอได้แบบจอยสติ๊ก คลิกเลือกสิ่งที่ต้องการบนหน้าจอได้ด้วยปุ่ม 3 ปุ่มเหนือทัชแพด แบ่งเป็นปุ่มคลิกซ้ายกับขวาและปุ่มกลางที่มีขนาดเล็กสุดจะทำงานร่วมกับปุ่ม TrackPoint โดยกดค้างแล้วใช้เลื่อนหน้าเอกสารขึ้นลงซ้ายขวาได้จัดว่าใช้งานได้สะดวก หากคล่องและเข้าใจฟังก์ชั่นการทำงานล่ะก็ ผู้เขียนกล้ายืนยันเลยว่าผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องต่อเมาส์เพิ่มก็ได้ เพราะมันทำงานได้สมบูรณ์แบบเหมือนกัน ซึ่งข้อดีของปุ่ม TrackPoint ก็คือเราไม่ต้องละมือจากคีย์บอร์ดเลยและถ้าต้องนั่งทำงานแบบไม่มีโต๊ะให้วางเมาส์ก็ยิ่งได้เปรียบ

Connector / Thin & Weight

พอร์ตของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ถูกติดตั้งเอาไว้ด้านข้างเครื่องทั้งสองฝั่งตามแบบฉบับของโน๊ตบุ๊คสายทำงานหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน มีพอร์ตรุ่นใหม่และพอร์ตใช้งานประจำติดตั้งมาครบถ้วน โดยมีพอร์ตดังนี้

  • ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – Thunderbolt 4 x 2, USB-A 3.2 Gen 1, HDMI 2.0b
  • ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – Audio combo, USB-A 3.2 Gen 1 x 1, Kensington Lock

ต้องถือว่าทาง Lenovo เองก็ให้พอร์ตจำเป็นมาครบถ้วน แต่จุดน่าสังเกตคือ โมเดลประเทศไทยจะไม่มีช่องใส่ Nano SIM ซึ่งทางบริษัทจะติดตั้งเอาไว้ระหว่างช่อง Audio combo กับ USB-A 3.2 Gen 1 ฝั่งขวา ซึ่งถ้าทาง Lenovo ทำบอดี้โมเดลมาเช่นนี้แล้ว ก็คิดว่าถ้าประเทศไหนจะไม่ขายโมเดลใส่ซิม ก็ควรเปลี่ยนเป็นพอร์ต MicroSD Card ให้ผู้ใช้ก็น่าจะดี

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02342

ด้านน้ำหนักเครื่อง ทาง Lenovo เคลมหน้าสเปคเอาไว้ 1.12 กิโลกรัม พอชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้วอยู่ที่ 1.15 กิโลกรัม นับแล้วถือว่าใกล้เคียงมาก และพอรวมกับปลั๊กเฉพาะ น้ำหนัก 270 กรัมเข้าไปแล้ว จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.42 กิโลกรัม ดังนั้นต้องถือว่า Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 เบาพกพาง่ายมาก ใส่กระเป๋าติดไปใช้งานได้สบายไม่หนักจนเป็นปัญหาต่อสรีระร่างกายแน่นอน และเพราะเครื่องนี้มีพอร์ต Thunderbolt 4 ติดตั้งมาด้วย ดังนั้นเจ้าของเครื่องก็ใช้ปลั๊ก GaN 45 วัตต์ขึ้นไปก็ชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คได้แล้ว

หากนับรวมพอร์ตทั้งหมด ถือว่า ThinkPad X1 Carbon Gen 10 มีพอร์ตใช้งานมาครบถ้วนมากและต่อหน้าจอได้หลายจอพร้อมกัน จะต่อผ่าน Thunderbolt 4 หรือ HDMI 2.0b ก็ได้ และมีพอร์ต USB-A 3.2 Gen 1 ให้ใช้โอนไฟล์เข้าออกหรือต่ออุปกรณ์เสริมได้ด้วย ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้เตรียม USB-C Multiport adapter ที่มีพอร์ต Card Reader, LAN เผื่อเอาไว้หน่อย เวลาต้องใช้งานจะได้มีให้ใช้งานได้สะดวก

Inside & Upgrade

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02346

การแกะอัพเกรด Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 สามารถขันน็อตปลดล็อคฝาใต้ได้ง่ายๆ ด้วยหัวน็อต Philip Head หรือหัวแฉกเครื่องหมายบวกแล้วเอาการ์ดแข็งไล่ขอบเปิดฝาได้ทันที แต่จุดอัพเกรดถือว่ามีจำกัดพอตัวเพราะทาง Lenovo จะบัดกรีฝังซีพียูและแรมเอาไว้เป็นออนบอร์ดทั้งหมด

ส่วนอัพเกรดได้มีเฉพาะ M.2 NVMe SSD ซึ่งใส่ได้ทั้งหมด 2 ไดรฟ์ ซึ่งไดรฟ์หลักจะถูกล็อคเอาไว้ด้วยเพลตทองแดงช่วยระบายความร้อน ไซซ์เป็น M.2 2280 ติดตั้งไดรฟ์เสริมได้อีกตัวตรงฝั่งซ้ายมือของพัดลมระบายความร้อน แต่ต้องใช้ M.2 2242 เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนี้มีเพียงไม่กี่รุ่นที่ซื้อมาอัพเกรดเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าใครไม่ได้เน้นเรื่องเปิดฝาอัพเกรดก็ถือว่าไม่น่ามีปัญหานัก

Performance & Software

แม้บอดี้ของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะยังคงดีไซน์เอาไว้เหมือนเดิม แต่ทางบริษัทก็อัพเกรดสเปคภายในเครื่องใหม่ทันสมัยยิ่งขึ้น เริ่มจากซีพียูได้อัพเกรดเป็น Intel Core i7-1260P แบบ 12 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.4-4.7GHz สถาปัตยกรรม Alder Lake แบบ Mobile ออกแบบมาเพื่อประหยัดพลังงาน มีค่า TDP 28 วัตต์ จับคู่กับแรม 16GB LPDDR5 บัส 5200MHz เพื่อให้ทำงานและตอบสนองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

gpu

การ์ดจอในเครื่องเป็นออนบอร์ดเพื่อใช้งานทั่วไปอย่าง Intel Iris Xe Graphics สำหรับเรนเดอร์แสดงผลภาพขึ้นหน้าจอและช่วยเรื่องตัดต่อแต่งภาพด้วย รองรับชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan ครบถ้วน ยกเว้นเฉพาะเทคโนโลยีของการ์ดจอสาย NVIDIA อย่าง CUDA, Ray Tracing, PhysX เท่านั้น

devicemgr

ส่วนพาร์ทในเครื่อง หลังจากเช็คด้วย Device Manager จะเห็นว่า Lenovo ก็อัพเกรดมาให้หลายชิ้นด้วยกัน ไม่ว่าจะกล้อง IR Camera หรือเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือตรงปุ่ม Power ของ Synaptics UWP WBDI ใช้ Wi-Fi PCIe Card รุ่น Intel AX211 รองรับ Wi-Fi 6E รองรับคลื่น 160MHz และ Bluetooth 5.2 และ NFC และมีชิป TPM 2.0 สำหรับรักษาความปลอดภัยของข้อมูลภายในเครื่องและ Windows 11 ก็ต้องใช้เช่นกัน

ssd

M.2 NVMe SSD ใน Lenovo ThinkPad X1 Carboj เป็น SK hynix HFS512GDE9X081N ความจุ 512GB ซึ่งสันนิษฐานจากสเปคและแบรนด์รวมทั้งข้อมูลหน้าสเปค Lenovo ประกอบด้วย คาดว่าเป็น SSD OEM ของ SK hynix Gold P31 สเปคไดรฟ์ใช้อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ใช้ 3D TLC NAND ผลิตโดย SK hynix เอง เป็น M.2 2280 มีความเร็ว Sequential Read 3,500MB/s และ Sequential Write 3,100MB/s เมื่อวัดความเร็ว Read/Write จะเห็นว่าได้ความเร็วตรงกับหน้าสเปคไม่มีผิด ดังนั้นถ้าใครพึงพอใจกับความเร็วระดับนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องอัพเกรดก็ได้

ทว่าจุดสังเกตหนึ่งจากผู้เขียน คือ สเปคของ ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ใช้อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 อยู่ แต่เลือกติดตั้ง M.2 NVMe SSD แบบ PCIe 3.0 x4 เอาไว้ ดังนั้นโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็สามารถอัพเกรดต่อได้อย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนมองว่าสำหรับ ThinkPad เครื่องนี้ไม่ต้องเน้นความเร็วก็ได้ แต่เน้นความทนทานการเขียนอ่านไฟล์ (TBW) แทนจะดีกว่า ในส่วนนี้หากต้องการอัพเกรดก็ใส่ Transcend 220S หรือ PNY XLR8 CS3040 แทนก็ดีเช่นกัน

ด้านการเรนเดอร์ 3D CG ต้องถือว่า Intel Alder Lake Mobile ก็มีกำลังประมวลผลดีทีเดียว ซึ่ง CINEBENCH R15 ทดสอบแล้วได้คะแนน OpenGL 107.61 fps และ CPU 1,445 cb ดังนั้นสามารถพูดได้เลยว่า Intel Core i7-1260P ใน ThinkPad X1 สามารถ Preview โมเดล 3D ได้อย่างแน่นอน และพอทดสอบเน้นเค้นกำลังเรนเดอร์ 3D CG ด้วย CINEBENCH R20 ก็ได้คะแนนสูงถึง 3,154 pts ด้วยกัน

กล่าวคือ Intel 11th Gen Tiger Lake ที่ผู้เขียนเคยทดสอบมาก่อนหน้านี้จะได้คะแนน R20 อยู่ช่วงไม่เกิน 2,000 pts หรืออาจจะเกินมาเพียงไม่กี่ร้อยคะแนนเท่านั้น แต่เมื่อ i7-1260P ทำคะแนนได้สูงระดับนี้ ผู้เขียนมั่นใจว่า Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 สามารถเรนเดอร์ 3D CG หรือ Preview 3D Model ให้ลูกค้าดูหน้างานได้อย่างแน่นอน

3d

ในทางกลับกัน การทดสอบเล่นเกมด้วย 3DMark Time Spy จะทำคะแนนเฉลี่ยได้เพียง 1,812 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของซีพียูพร้อมการ์ดจอออนบอร์ด ถ้าดูคะแนนแยกส่วนจะเห็นว่า CPU score ทำได้ 5,802 คะแนน และ Graphics score ได้เพียง 1,616 คะแนนเท่านั้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่าคะแนน CPU มีกำลังประมวลผลไม่แพ้กับซีพียู Intel 11th Gen รุ่นประสิทธิภาพสูงเลย ดังนั้นถ้าใครทำงานหนักก็ไว้ใจ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 เครื่องนี้ได้

pcmark

ในแง่การทำงาน เมื่อทดสอบจำลองการทำงานด้วย PCMark 10 จะได้คะแนนเฉลี่ย 5,205 คะแนน จัดว่าไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คทำงานหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้และถ้าดูผลการทดสอบแยกส่วนจะเห็นว่า Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะโดดเด่นเรื่องการใช้งานทั่วไปอย่างการเปิดโปรแกรมขึ้นมาทำงาน, ประชุมออนไลน์หรือเปิดเบราเซอร์ทำงาน ส่วนการทำงานกับโปรแกรมออฟฟิศอย่าง Word, Excel กับการตัดต่อแต่งภาพและวิดีโอทำคะแนนได้ไล่เลี่ยกัน

พิจารณาจากคะแนนก็กล่าวได้ว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ถูกสร้างมาตรงกับความตั้งใจของทางบริษัทก็ไม่ผิด เพราะทาง Lenovo ต้องการให้ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 เป็นโน๊ตบุ๊คบางเบา เน้นพกพา ประชุมงานออนไลน์และรับมือกับการทำงานผ่านเว็บแอพฯ ต่างได้ดี ก็เหมาะกับคนที่เน้นพกพาโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปประชุมงาน, ทำงานตามร้านกาแฟแบบ Digital Nomad ดังนั้นถ้าพฤติกรรมการทำงานและใช้โน๊ตบุ๊คของใครเป็นแบบดังกล่าวก็เหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้อย่างแน่นอน

main

ส่วนโปรแกรมติดเครื่องอย่าง Lenovo Vantage ก็จะมีหน้า UI เฉพาะสำหรับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ ซึ่งมอนิเตอร์การทำงาน, คอยอัพเดทเฟิร์มแวร์ของตัวเครื่อง, ปรับเปลี่ยนการตั้งค่าได้โดยสะดวกในหมวด Quick settings รวมทั้งเปิดระบบ WiFi security รักษาความปลอดภัยตอนเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วย ทำให้ผู้ใช้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยสบายใจยิ่งขึ้น

Battery & Heat & Noise

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02347

แบตเตอรี่ใน Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบฝังไว้ในเครื่อง มีความจุ 57Wh มี Typical Capacity อยู่ 3,692mAh และ Rated Capacity ได้ 3,600 mAh ด้วยกัน จัดว่ามีความจุระดับใกล้เคียงกับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้

พอทำการทดสอบระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ โดยลดความสว่างหน้าจอลงต่ำสุด, ปิดไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด, เปิดเสียงลำโพง 10% และตั้งค่าตัวเครื่องให้อยู่ในโหมด Battery Saver และใช้ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube นาน 30 นาทีก่อนวัดผลว่า Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานสุดกี่ชั่วโมง ผลที่ได้หลังทดสอบใช้งานไป 30 นาที คือ แบตเตอรี่ 57Wh ทำให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ใช้งานได้เพียง 7 ชั่วโมง 45 นาทีเท่านั้น และพอปล่อยให้เครื่องเล่นคลิป YouTube ต่อจนครบ 1 ชม. แล้ว ก็ยังอยู่ราว 7 ชั่วโมง 10 นาที จัดว่าใช้งานได้น้อยเกินกว่าที่คิดมาก

นั่นเพราะ Intel 11th Gen Tiger Lake ยังใช้งานต่อเนื่องได้เกิน 10 ชั่วโมงอยู่แล้ว ดังนั้น Intel Alder Lake Mobile ก็ควรอยู่ได้นานเกิน 10 ชั่วโมงขึ้นไปด้วย แต่ในเมื่อใช้งานได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นจุดกังขาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากระบบของตัว BIOS ของ Lenovo เอง หรือมีปัจจัยอื่นร่วมก็เป็นไปได้ ดังนั้นผู้เขียนคาดหวังว่าทางบริษัทจะรับทราบปัญหานี้แล้วปรับปรุงระบบและการจัดการพลังงานของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ให้ดีขึ้นและใช้งานได้นานกว่านี้ด้วย

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02354

ระบบระบายความร้อนของ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะเป็นพัดลมโบลวเวอร์ยูนิตเดียวติดพัดลม 2 ตัวเอาไว้ เดินฮีตไปป์ 1 เส้นจาก Intel Core i7-1260P มาระบายความร้อน ซึ่งระบบระบายความร้อนนี้ถือว่าสมตัวอยู่เพราะในเมื่อเป็น Intel Alder Lake Mobile ที่เน้นการใช้ทำงานทั่วไป เปิดเว็บเบราเซอร์หรือทำงานเอกสารก็ไม่ได้ร้อนมากอย่างแน่นอน ระบายความร้อนออกช่องตรงขอบตัวเครื่องด้านบนเพียงจุดเดียวเท่านั้น

hwmonitor

ส่วนอุณหภูมิของตัวเครื่องเมื่อรันโปรแกรมทดสอบอย่าง PCMark 10 และ 3D Mark จะเห็นว่าอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 36~100 องศา เฉลี่ย 49 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าตัวเครื่องร้อนถึงจุดนี้ผนวกกับการดีไซน์ตัวเครื่องที่บางด้วย ทำให้ความร้อนบริเวณปุ่ม WASD ของคีย์บอร์ดร้อนจนแผ่ขึ้นมือจนจับแทบไม่ได้อีกด้วย ดังนั้นถ้าใครต้องการใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้รันโปรแกรมใหญ่กินทรัพยากรเครื่องมากๆ ก็ขอให้ระวังเรื่องอุณหภูมิด้วย

วิธีแก้ไขก็อาจจะต้องวางบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คแบบมีพัดลมระบายความร้อนเป่าเลี้ยงเครื่องไว้ตลอดเวลาและต่อคีย์บอร์ดแยกไปเลยจะดีที่สุด แต่ก็ไม่แนะนำให้ซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปรันงานเช่นนั้นบ่อยๆ เพราะอาจจะทำให้ชิ้นส่วนในเครื่องอายุสั้นลงอย่างแน่นอน ทว่าการใช้งานทั่วไป อย่างการประชุมงานออนไลน์, ทำงานด้วยเว็บแอพฯ หรือแต่งภาพจะไม่เจอปัญหานี้อย่างแน่นอน และอุณหภูมิจาก CPUID HWMonitor ก็เป็นการรันเพื่อรีดอุณหภูมิสูงสุดให้เห็นเท่านั้น ว่า Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 จะมีอุณหภูมิสูงสุดเท่าไหร่

User Experience

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02447

จากที่ได้ใช้ Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ทำงานและพกติดตัวไปไหนมาไหนด้วย ก็พูดได้เต็มปากว่ามันเป็นโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยม ได้ความสวยงามแข็งแรงทนทานเพราะบอดี้เนื้อผสมคาร์บอนไฟเบอร์กับแม็กนีเซียม ทำให้สัมผัสตอนจับถือหรือทำงานได้ความพรีเมี่ยมอย่างที่โน๊ตบุ๊คนบอดี้อลูมิเนียมให้ไม่ได้เลย เนื้อสัมผัสส่วนบนจะคล้ายพลาสติกซอฟท์ทัชแต่ยังคงความหนักแน่นอยู่ข้างใน บอดี้ตอนจับวางกางหน้าจอได้ความหนักแน่นจริง

ด้านความสะดวกตอนใช้งาน ในตอนแรกผู้เขียนเองก็เห็นว่าการให้เซนเซอร์ปลดล็อคเครื่องแบบ Biometric มา 2 ชุดนั้นอาจจะเกินจำเป็นไป แต่ในยุคที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยแทบตลอดเวลาและไม่อยากให้คนอื่นมายุ่งกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ ก็สามารถสแกนลายนิ้วมือปลดล็อคเครื่องได้ทันที และถ้านั่งทำงานในบ้านหรือออฟฟิศที่ไม่ต้องใส่หน้ากากก็ใช้วิธีการสแกนใบหน้าแทนได้เช่นกัน ทำให้ปลดล็อคเครื่องได้ไว ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านเครื่องให้เสียเวลา ทำให้เซนเซอร์สองชุดนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้พอร์ต Thunderbolt 4 มาถึง 2 ช่องกับพอร์ตใช้งานเป็นประจำอย่าง USB-A 3.2 x 2 และ HDMI อีกช่องหนึ่งด้วย เวลานั่งทำงานในออฟฟิศก็สะดวกต่อจอแยกได้ โอนไฟล์เข้าออก External HDD หรือต่ออุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้ง่ายโดยไม่ต้องหา USB-C Multiport adapter มาพ่วง Thunderbolt 4 เพื่อแปลงเป็นพอร์ตอื่นเลย ณ จุดนี้จัดว่าใช้งานได้สะดวกมาก ทว่าใครต้องต่อ LAN เพื่อใช้เน็ตเวิร์คภายในองค์กรล่ะก็แนะนำให้หาตัวแปลงมาเตรียมเอาไว้สักหน่อยก็เพียงพอ

ส่วนของ Intel Core i7-1260P สถาปัตยกรรม Alder Lake Mobile ในโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ จัดเป็นประสบการณ์การใช้งานน่าประทับใจเช่นกัน หลังจากได้ลองใช้งานรุ่นประสิทธิภาพสูงไปก่อนหน้านี้ และได้ทดลองใช้รุ่นออกแบบมาเพื่อใช้งานทั่วไปและประหยัดพลังงาน ก็ได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดี เรียกใช้โปรแกรมต่างๆ ได้รวดเร็วและไม่เกิดอาการหน่วงใดๆ คาดว่าเพราะมีคอร์อยู่ 2 ชุด แยกการทำงานโดยเฉพาะทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทำให้ซีพียูไม่ต้องจัดสรรคอร์หรือเธรดไปรันงานเบื้องหลังมาก ทำให้โปรแกรมใหญ่ที่ใช้งานอยู่ทำงานได้ต่อเนื่อง

ด้านชุดปุ่ม TrackPoint ซึ่งเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่ยุค IBM ก็เป็นฟีเจอร์น่าประทับใจ ซึ่งผู้เขียนได้ใช้งานมันบ่อยๆ เวลาพกเครื่องไปทำงานตามร้านกาแฟหรือนั่งพิมพ์งานบนโต๊ะขนาดไม่ใหญ่มากพอวางเมาส์ได้ เพียงแค่เลื่อนมือจากคีย์บอร์ดเล็กน้อยมาดันปุ่ม TrackPoint เลื่อนเมาส์และคลิกด้วยปุ่มคลิกเหนือชุดทัชแพด ซึ่งการตอบสนองถึงจะช้ากว่าการลากเมาส์อยู่นิดหน่อยก็ตาม แต่ความสะดวกและฟังก์ชั่นเรียกว่าไม่ต้องละมือจากคีย์บอร์ดเลยสักนิดเดียวและไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ ไม่ต้องห่วงว่าถ้านั่งโต๊ะทำงานแชร์กับผู้อื่นก็ไม่เกะกะรบกวนผู้อื่นอย่างแน่นอน และยังเป็นเอกลักษณ์ของตระกูล ThinkPad อีกด้วย 

Conclusion & Award

Lenovo ThinkPad X1 Carbon NYX02451

ถ้ายกยอดเรื่องความร้อนซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากและระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ซึ่งยังแก้ทางได้ด้วยการพกปลั๊ก GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์ขึ้นไปใส่กระเป๋าเตรียมพร้อมเอาไว้เสมอเวลาต้องนั่งทำงานหลายชั่วโมงแล้ว ต้องถือว่า Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 ยังคงน่าใช้ และยิ่งน่าใช้กว่าเดิมเพราะประสิทธิภาพการทำงานของ Intel Alder Lake นั้นจัดว่าไหลลื่นและยอดเยี่ยม ไม่หน่วงไม่ช้าและยังใช้ Preview 3D CG ให้ลูกค้าได้ดูโดยสะดวก และเครื่องก็เบาพกพาง่ายมาก ทำงานก็สะดวกด้วยชุด TrackPoint ไม่ต้องง้อเมาส์ธรรมดาทั่วไปให้วุ่นวาย

ด้านฟีเจอร์ของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเซนเซอร์สแกนใบหน้าและลายนิ้วมือ ลำโพง Dolby Atmos, ไมค์ Dolby Voice หรือจะหน้าจอ Dolby Vision ต้องถือว่าทำมาได้สมราคาและความเป็นโน๊ตบุ๊คทำงานระดับเรือธงของ Lenovo อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้บอดี้คาร์บอนไฟเบอร์ผสมแม็กนีเซียมได้ความแข็งแรง สัมผัสตัวเครื่องเป็นซอฟท์ทัชและออกแบบตัวเครื่องให้แข็งแรงทนทาน ให้ประสบการณ์การจับถือพกพาสุดพรีเมี่ยมแม้จะดูเรียบง่ายและไม่แตกต่างอะไรจากรุ่นเดิมมาก นอกจากนี้ยังเสริมภาพลักษณ์เจ้าของเครื่องให้เป็นคนทำงานจริงจัง เรียบร้อยและมีระดับอีกด้วย 

award

NBS award 4 Mobility

best mobility

Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 10 นั้นเบาเพียง 1.15 กิโลกรัมเท่านั้น และถึงรวมกับปลั๊กเฉพาะของตัวเครื่องก็ยังหนักเพียง 1.4 กิโลกรัม ทำให้พกเครื่องไปทำงานได้สะดวก เมื่อมีพอร์ต Thunderbolt 4 ติดตั้งมาด้วย ก็เปลี่ยนไปใช้ปลั๊ก GaN 65 วัตต์ชาร์จแบตเตอรี่แทนได้ ทำให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เหมาะสมกับรางวัล Best Mobility มาก

award new Durability

best durability

รางวัล Best Durability ยกให้กับบอดี้ตัวเครื่องแบบแม็กนีเซียมกับคาร์บอนไฟเบอร์ให้ความแข็งแรงทนทาน งานประกอบตัวเครื่องแน่นและทนทานมากและผ่านการทดสอบ Military Grade 12 แบบด้วย ดังนั้นจึงเชื่อมือเรื่องความแข็งแรงทนทานได้ 

award new performance

best performance

แม้ Intel Core i7-1260P จะเป็น Intel Alder Lake Mobile เน้นการจัดการพลังงานและพกพาเป็นหลักก็ตาม แต่ก็ประมวลผลได้ดี ใช้ Preview 3D CG และอื่นๆ ได้ด้วย เมื่อจับคู่แรม 16GB LPDDR5 แล้ว ก็ยิ่งทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเหมาะกับรางวัล Best Performance อย่างไม่ต้องสงสัย

ดูราคาอัพเดตล่าสุด และสั่งซื้อได้ที่ Lenovo.com

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

เล่นเกมด้วย Intel Core Ultra 5 245K กับ 7 เกมยอดนิยมบนการ์ดจอบนซีพียู Intel ไหวมั้ย ลื่นรึเปล่า? Intel Core Ultra 5 245K เป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งปล่อยลงสู่ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องความแรงและประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งด้านการประมวลผล หรือปัจจุบันก็มีเรื่องของ...

Buyer's Guide

คอม All in One 7 รุ่นเด็ด จอใหญ่ ดีไซน์สวย สเปคดี ซีพียูแรง แรม 16GB พร้อม Windows 11 เน้นทำงานและความบันเทิง คอม All in One หรือ ออลอินวันพีซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการพีซีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมตั้งโต๊ะ แต่ประหยัดไฟและประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า...

CONTENT

ในปัจจุบัน นอกเหนือจากโน้ตบุ๊กที่เป็นดีไซน์แบบฝาพับอย่างที่คุ้นเคยกันมาอย่างยาวนานแล้ว ตัวเครื่องยังมีการพัฒนารูปทรงเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการพกพา และอรรถประโยชน์ในการใช้งานให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยมก็คือการทำออกมาเป็นโน้ตบุ๊ก 2-in-1 โดยใช้หน้าจอสัมผัสที่สามารถพลิกจอได้ 360 องศา ทำให้สามารถใช้เป็นได้ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตในเครื่องเดียว ในบทความนี้ก็เลยจะมาแนะนำโน้ตบุ๊กจอพับ AMD ในรูปแบบ 2-in-1 ที่น่าใช้กันครับ ตอบโจทย์ทั้งใช้ทำงาน ไปจนถึงการเล่นเกมได้เลยในบางรุ่น

INTEL

โปรเซสเซอร์ Intel Core Ultra 200S series ใหม่ล่าสุด ส่งมอบประสิทธิภาพการเล่นเกมและการประมวลผลอันเหนือชั้นสำหรับเดสก์ท็อปพีซี พร้อมประหยัดพลังงานมากกว่าที่เคย กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 11 ตุลาคม 2567 –  ประเด็นสำคัญ: อินเทล ประกาศเปิดตัวตระกูลโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ Ultra 200S series...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก