ASUS ExpertBook B3 Flip คล่องตัว พกสะดวก พับปรับโหมดได้ มี Thunderbolt 4 และสไตลัส เพื่องานและไลฟ์สไตล์
ASUS ExpertBook B3 Flip จัดว่าเป็นโน๊ตบุ๊คในกลุ่มธุรกิจ ที่เน้นความบางเบา แต่ให้ประสิทธิภาพและฟังก์ชั่นที่ครบครัน เพื่อตอบโจทย์ทั้งการทำงานและไลฟ์สไตล์ รองรับตั้งแต่การทำงานในองค์กร ไปจนถึงการเรียนออนไลน์ และการใช้งานที่จำเป็นต้องเชื่อมต่อ สนทนาและสื่อสารได้เกือบตลอดเวลา เพราะมีรุ่นที่สนับสนุนการเชื่อมต่อ 4G LTE ด้วยการสนับสนุน SIM มาในตัว หน้าจอแสดงผลคมชัด รองรับมัลติทัช ที่เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน พร้อมปากกาสไตลัส อันเป็นเอกลักษณ์ ให้ผู้ใช้ได้บันทึก นำเสนอและปลดปล่อยพันธนาการ ด้วยการออกแบบและเขียนข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว พับหน้าจอ 360 องศา ใช้งานได้หลายโหมดด้วยกัน และกล้องเว็บแคม ที่มีให้ถึง 2 ตัวด้วยกัน โดยมีขุมพลังซีพียู Intel Gen 11 ที่เพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการประมวลผลงานและความบันเทิงได้อย่างรวดเร็ว ASUS เพิ่มความทนทานให้กับโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ด้วยมาตรฐาน MIL-STA 810H เพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจได้ในทุกสถานการณ์ เช่นเดียวกับในเรื่องของความปลอดภัย ที่เป็นสิ่งแรกในทุกองค์กรให้ความสำคัญ ASUS ExpertBook รุ่นนี้ ก็มีมาให้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Fingerprint sensor, TPM 2.0 หรือจะเป็น Webcam Shield ก็ตาม ให้การรับประกัน 3 ปีเต็ม เช่นเดียวกับเงื่อนไข 3-3-1 ที่มาพร้อม Perfect Warranty อีก 1 ปีเต็ม
ASUS ExpertBook B3 Flip
- Specification
- การรับประกัน
- Hardware / Design
- Keyboard / Touchpad
- Screen / Speaker
- Connector / Thin & Weight
- Inside / Upgrade
- Performance / Software
- Battery / Heat / Noise
- Conclusion
ASUS ExpertBook B3 Flip รุ่นที่เราได้รับมาทดสอบครั้งนี้ ใช้ขุมพลังซีพียู Intel Core i7-1165G7 ที่เป็นซีพียูที่ให้ความเร็วสัญญาณนาฬิกาสูงถึง 4.7GHz แต่มีค่า TDP ต่ำ จึงลดความร้อนในการทำงาน และความโดดเด่นในแง่ของกราฟิก Intel® Iris® Xe Graphics ที่รองรับการใช้งานและความบันเทิงได้ดีพอสมควร เช่นเดียวกับแรม DDR4 3200 ที่ให้มา 8GB ทำงานคู่กับ SSD ในแบบ M.2 NVMe PCIe 3.0 ความจุ 512GB กล้องเว็บแคม 2 ตัว และไมโครโฟน 2-way ที่มีเทคโนโลยี AI Noise-Canceling พอร์ต Thunderbolt 4 มาให้อีก 2 ช่อง น้ำหนักเบาเพียง 1.61 กิโลกรัมเท่านั้น และยังมาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro 64-bit ให้พร้อมต่อการใช้งาน เคาะราคาในรุ่นนี้อยู่ที่ 35,900 บาท
สามารถดูข้อมูลและสเปคเต็มของโน๊ตบุ๊คได้ที่: ASUS ExpertBook B3
จุดเด่น
- การออกแบบที่เรียบง่าย เข้ากับการใช้งานในหลายสไตล์
- งานประกอบดี มีความแข็งแรง มาตรฐาน MIL-STD
- มาพร้อมพอร์ต Thunderbolt 4 ถึง 2 พอร์ตด้วยกัน
- TB4 รองรับการเชื่อมต่อจอแสดงผล และเป็น PD 3.1 ได้ในตัว
- คีย์บอร์ดมีความแน่น ตอบสนองไว
- ปุ่มคีย์มีไฟ Backlit เปิด-ปิดได้
- บานพับหน้าจอพับได้ 360 องศา ให้ใช้งานในโหมดต่างๆ ได้
- มาพร้อม Windows 10 Pro ในตัว
- เว็บแคม 2 ตัว สำหรับใช้งานในโหมดปกติ และแท็ปเล็ต
- ลำโพงให้เสียงคุณภาพดีพอสมควร
- มีฟังก์ชั่น Numberpad บนทัชแพด เปิด-ปิดการใช้งานได้
- มาพร้อมปากกาสไตล์ลัส พร้อมช่องจัดเก็บชาร์จไฟโดยเฉพาะ
- ให้ความปลอดภัยข้อมูลระดับฮาร์ดแวร์
- น้ำหนักเบาเพียง 1.61 กิโลกรัมเท่านั้น
- การรับประกัน 3 ปี เป็น 3 ปี Onsite และ Global warranty รวมถึง 1 ปี Perfect warranty
ข้อสังเกต
- กราฟิกมาบนซีพียู ประสิทธิภาพเน้นที่ความบันเทิงทั่วไปในชีวิตประจำวัน
- มีแรมมาให้ 8GB อัพเกรดเป็น 16GB จะไหลลื่นมากขึ้น
- ปากกาสไตลัส ต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยในระดับหนึ่ง
- พื้นที่บริเวณด้านข้างคีย์บอร์ด ทำให้บอดี้ดูใหญ่ขึ้นเล็กน้อย
Specification
ASUS ExpertBook B3402FEA-EC0961WS | |
CPU | Intel Core i7-1165G7 |
Integrate | GPU Intel Iris Xe Graphic |
RAM | DDR4 8GB On board |
Storage | SSD M.2 NVMe PCIe 3.0 512GB |
Display | 14.0″ FHD (1920 x 1080) 16:9 Glossy |
Wireless | WiFi 6 + Bluetooth 5.2 |
3G/4G | 4G LTE support |
OS | Windows 11 Home |
Office | Home & Student 2021 |
ราคา | 35,900 บาท |
สำหรับโน๊ตบุ๊ค ASUS ExpertBook B3402FEA รุ่นนี้ มาพร้อมซีพียู Intel Core i7-1165G7 ประมวลผลแบบ 4 core/ 8 thread ความเร็วสูงสุด 2.8GHz ให้ประสิทธิภาพในงานพื้นฐานชีวิตประจำวันได้ดี รวมถึงซอฟต์แวร์ในสำนักงานและความบันเทิง เช่นเกมออนไลน์หรือชมภาพยนตร์ความละเอียดสูง มีค่า TDP ต่ำ ความร้อนน้อย แบตเตอรี่ใช้งานได้นานขึ้น ด้วยกราฟิก Intel Iris Xe Grahic ที่ถูกติดตั้งมาในซีพียู ให้ประสิทธิภาพที่ดี และประหยัดพลังงานอีกด้วย
ติดตั้งแรม DDR4 3200 เป็นแบบออนบอร์ดมาให้ 8GB รองรับการอัพเกรดได้ที่ 32GB ในภายหลัง ซึ่งเพียงพอต่อการเริ่มต้นใช้งานในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่ซอฟต์แวร์ทั่วไป และงานในชีวิตประจำวัน ให้ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro อัพเกรดได้ เช่นเดียวกับ Storage ที่ติดตั้ง SSD M.2 NVME PCIe 3.0 ความจุ 512GB มาให้ กับพื้นที่แสดงผลบนหน้าจอขนาด 14″ ความละเอียด Full-HD 1080p เป็นพาแนล IPS มีบานพับได้ถึง 180 องศา เพื่อการใช้งานในรูปแบบต่างๆ จะทำงานก็ดี ทัชสกรีนก็เหมาะอย่างยิ่ง อีกทั้งเสริมปากกาสไตลัสมาให้อีกด้วย เหมาะทั้งสายทำงาน พรีเซนเทชั่นและงานออกแบบได้ดีในระดับหนึ่ง ที่น่าทึ่งคือ ยังให้กล้องเว็บแคมมาอีก 2 ตัว ในการใช้นำเสนองานในแต่ละโอกาส โดยกล้องตัวบนมี Webcam Shield เพื่อเพิ่มความปลอดภัยเป็นส่วนตัว
ซึ่งถ้ามองกันในแง่ของความแข็งแรง วัสดุที่เป็นแม็กนิเซียม-อะลูมิเนียมอัลลอยของฝาปิดหรือ Cover ของตัวเครื่อง ก็ให้ความทนทานไม่น้อยเลย อีกทั้งงานประกอบค่อนข้างแน่นหนา กับขอบของตัวเครื่องที่แน่น และใช้น็อตสกรูหลายชิ้น ก็ทำให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ด้วยมาตรฐาน MIL-STD 810H ก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดี
ขอบจอของ ASUS ExpertBook B3 นี้ ยังมาในแบบ NanoEdge Design เช่นเดียวกับในรุ่นที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็น B1 หรือ B7 ก็ตาม ทำให้พื้นที่โดยรวมดูกระชับ และเมื่อมองมาที่ขอบของบอดี้ด้านข้างคีย์บอร์ด ก็เหลือแค่ประมาณ 1.5cm ทำให้วางปุ่มคีย์บอร์ดได้แบบเต็มที่ แต่ก็ยังคงเหลือพื้นที่ด้านข้างมากไปหน่อย
ส่วนโครงสร้างภายใน ทำจุดยึดมาให้แน่นหนา ใช้เป็นอลูมิเนียมอัลลอย และเสริมโครงสร้างที่เป็น Internal keyboard bracket และเพิ่มชั้นที่กันน้ำ เพื่อป้องกันของเหลวที่จะไหลลงมาได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีคงต้องย้ำไว้ก่อนว่า แม้ว่าจะกันน้ำได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถเทหรือแช่อยู่ในน้ำได้นะครับ นอกจากนี้ยังไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน ซึ่งทาง ASUS แนะนำว่า หากทำน้ำหกลงไปบนคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊ค ให้เอียงหรือเทน้ำนั้นออก จากนั้นเช็ดด้วยผ้าแห้งและปล่อยให้แห้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
พอร์ตต่อพ่วงถือเป็นจุดเด่นของ ExpertBook B3 รุ่นนี้ เพราะให้พอร์ตความเร็วสูง Thunderbol 4 มาถึง 2 พอร์ตด้วยกัน รองรับการแสดงผลบนหน้าจอระดับ 4K และเป็น USB PD 3.0 อีกด้วย เช่นเดียวกับ USB 3.2 Type-A, 2.0 และ HDMI รวมถึง RJ-45 ที่เป็นไซส์มาตรฐาน พร้อมสล็อต microSD card reader มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 1.61 กิโลกรัม ชาร์จไฟผ่าน USB-C ด้วยอแดปเตอร์ AC 65W ขนาดเล็ก สนนราคาอยู่ที่ 35,900 บาท
สามารถดูสเปคโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ได้ที่ ASUS ExpertBook B3402FEA
การรับประกัน
การรับประกัน ASUS Exclusive Care
- 3 Year Onsite Service: บริการตรวจซ่อมฟรีถึงที่ 3 ปี
- 3 Year Global Warranty: ครอบคลุมการรับประกัน 3 ปี (57 ประเทศ)
- 1 Year Perfect Warranty: เพิ่มการรับประกันอุบัติเหตุให้ใน 1 ปีแรก
รายละเอียดเพิ่มเติม Expert Book B3402F :https://th.asus.click/KQkJiZ
Hardware / Design
ก่อนหน้านี้ทาง NBS ได้เคยนำเสนอ ASUS ExpertBook B1 ให้ได้ชมกันแล้ว ซึ่งหากจะเปรียบเทียบในแง่ของดีไซน์ ก็เรียกว่าแทบไม่ได้ต่างกัน ในแง่ของสีสันทาง ASUS นำเสนอในรุ่น B3 นี้ว่าเป็นเหมือนท้องฟ้าในยามค่ำคืนที่มองเห็นหมู่ดาว จะเป็นโทนของสีดำออกน้ำเงินนิดๆ ทำให้ดูลึกลับน่าค้นหา การออกแบบที่ดูเรียบง่าย นำไปใช้ได้ในหลายโอกาส ตัวเครื่องมีความบางเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับขอบจอที่บาง กระชับ ให้พื้นที่ใช้งานได้กว้างขวาง แต่อยู่ในระดับที่พกพาสะดวก อีกทั้งพับหน้าจอได้แบบ 360 องศา และยังเป็นทัชสกรีนอีกด้วย ช่วยให้การใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น
ตัวเครื่องยังคงมาในโทนสีเทาเข้ม แต่มีเฉดสีน้ำเงินเข้ามาแจม ซึ่งทาง ASUS ใช้เป็น Star Black finish คือออกโทนสีดำ แต่เป็นแนวท้องฟ้าในยามค่ำคืน ทำให้ดูสว่างขึ้น มีประกายสีเด่นออกมา เมื่อรวมกับภาพลักษณ์ของเส้นสายบนโน๊ตบุ๊ค ก็ดูไม่น่าเบื่อ เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คในกลุ่มงานธุรกิจทั่วไป
หน้าจอที่ปรับบานพับได้หลากหลายโหมด ตั้งแต่เป็นโหมดโน๊ตบุ๊คปกติ หรือจะปรับเป็น Tent mode สำหรับการตรวจเช็คหรือดูข้อมูลที่ประหยัดพื้นที่จัดวาง รวมถึงใช้ในการถ่ายภาพ นอกจากนี้ยังพับ 360 องศา ในโหมดแท็ปเล็ต เพื่อการจับถือและนำเสนอ รวมถึงการจดบันทึก และสามารถใช้กล้องที่ 2 จากตรงกลางเครื่องได้ รวมถึงสแตนโหมด ที่เอาไว้ดูวีดีโอ ชมภาพยนตร์ หรือจะใช้เพื่อการเล่นเกมเบาๆ ในช่วงพักก็ง่าย เพราะสามารถทัชสกรีนได้ รวมถึงในทุกๆ โหมด ก็สามารถนำปากกาสไตลัสมาใช้งานร่วมกันได้
บริเวณฝาด้านนอกของโน๊ตบุ๊คจะมีแสงไฟ LED ขนาดเล็กที่จะสว่างขึ้นเป็นแสงสีส้ม ASUS ออกแบบมาเพื่อให้คนอื่นที่เห็นคุณใช้งานแล้วแสงนี้ปรากฏขึ้น จะหมายถึงว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงที่ประชุมหรือใช้งานสนทนาออนไลน์อยู่ ผู้ร่วมงานก็จะทราบได้ทันทีว่า คุณอาจจะยังไม่ว่าง หรือไม่สะดวกในการพูดคุยด้วยในช่วงเวลานั้นๆ
Keyboard / Touchpad
แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นตา ก็คงจะเป็นรูปแบบของ ErgoLift Hinge ที่ไม่ได้อยู่บนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ คงต้องย้ำว่าด้วยการเป็น Convertible ซึ่งก็ทำให้โน๊ตบุ๊คต้องพับได้ 360 องศา จึงไม่สามารถดันขอบให้ยกตัวโน๊ตบุ๊คขึ้นมาได้ เหมือนกับในบางซีรีส์ของ ExpertBook แต่ด้วยการปรับพับหน้าจอได้นี้ ฟีเจอร์ดังกล่าวจึงแทบไม่จำเป็น อีกทั้งการระบายความร้อนของตัวเครื่องก็ทำได้สะดวกอยู่แล้ว การไม่ได้ยกตัวขึ้น ก็ไม่ได้มีผลมากนัก เรียกว่าได้ฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายมาทดแทน
คีย์บอร์ดบน ASUS ExpertBook เป็นปุ่มคีย์ไซส์มาตรฐานของโน๊ตบุ๊คระดับ 14″ พื้นฐาน ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป และเป็นแบบเดียวกับ ExpertBook B1 ที่เราเคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ แสงไฟปรับได้เป็นแบบ Backlit 2 ระดับ ไม่รองรับการปรับระดับความสว่าง แสงลอดออกมาจากด้านใต้และตัวปุ่มที่เป็นภาษาอังกฤษ-ไทยอย่างชัดเจน เหมาะกับการใช้งานในสภาวะต่างๆ ได้ดีพอสมควร เหมาะอย่างยิ่งกับคนที่เน้นทำงานในช่วงกลางคืนหรือไม่อยากรบกวนเพื่อนร่วมห้อง และใช้ในห้องประชุมก็สะดวกไม่น้อย แต่จะติดอยู่เล็กน้อยก็ตรง ปุ่มลูกศรขึ้น-ลง ยังคงเป็นแบบ half หรือครึ่งปุ่ม ใครที่ใช้ปุ่มนี้บ่อยๆ ก็อาจจะต้องทำความคุ้นเคยให้มากขึ้นอีกนิด
ปุ่มคีย์ตอบสนองไวทีเดียว ซึ่งก็ใกล้เคียงกับโน๊ตบุ๊คในหลายๆ รุ่นของค่ายนี้ ซึ่งระยะ Travel key หรือระยะกดแล้วตอบสนองอยู่ที่ 1.5mm เท่านั้น อยู่ในระยะที่มีแรงต้านน้อยๆ แต่ให้ความแม่นยำได้ดี
ปุ่มฟังก์ชั่น (fn) จัดมาให้แบบครบๆ เรียกว่าในงานธุรกิจและชีวิตประจำวันต้องใช้แบบไหน ดูทาง ASUS ก็จะเตรียมมาให้ ไม่ว่าจะเป็น ระดับเสียง, แสงสว่างหน้าจอ, เปิด-ปิดทัชแพด, ส่งสัญญาณ Output ไปยังจอภายนอก ล็อคหน้าจอ, ปิดกล้องเว็บแคม หรือจะใช้จับภาพหน้าจอ และคีย์ลัดสำหรับใช้เรียก MyASUS ขึ้นมาตั้งค่าการใช้งานระบบ รวมถึงการเปิด-ปิดไมค์, AI Noise-cancelling ในการตัดเสียงรบกวน สุดท้ายจะเป็นปุ่ม Delete ที่อยู่มุมบนสุด และปุ่มเพาเวอร์ที่อยู่ด้านบนนั้น ใช้ในการเปิด-ปิด รวมถึงการเป็น Fingerprint ในการปลดล็อคหน้าจอด้วยการสแกนลายนิ้วมือได้อีกด้วย โดยส่วนตัวมองว่าในแง่ของการใช้งานพื้นฐานครบถ้วน แต่ละปุ่มมีสัญลักษณ์ชัดเจน และดูง่ายทีเดียว
ส่วนใครที่ไม่ค่อยจะถนัด เวลาที่ใช้ Numberpad บนโน๊ตบุ๊ค 15.6″ แล้วต้องมาใช้โน๊ตบุ๊คขนาด 14″ ลองดูทางนี้ครับ เพราะ ASUS เตรียมทัชแพด ที่นอกจากจะทำให้ที่ให้คุณได้ใช้งานมัลติทัช ในโหมดพื้นฐานเอาไว้แล้ว ก็ยังมี ASUS NumberPad 2.0 ที่เป็นแถบตัวเลข ที่จะสว่างขึ้นเมื่อเปิดใช้งาน ด้วยการแตะที่รูปคีย์บอร์ด มุมขวาบนของทัชแพด จากนั้นแตะที่ตัวเลขบนทัชแพดนั้น เพื่อคีย์ตัวเลขให้ใช้งานเหมือนมีมุมได้เลย ในมุมของผู้ใช้เอง น่าจะชื่นชอบแนวทางแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้ใช้งานบ่อยนัก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้โน๊ตบุ๊คตัวใหญ่ที่มีแป้นตัวเลขเอาไว้ใช้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้สะดวกขึ้น
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ASUS มองถึงเรื่องของสุขอนามัยให้กับผู้ใช้บนโน๊ตบุ๊ค ExpertBook B3 Flip รุ่นนี้ ด้วยการเคลือบสายป้องกันการสะสมและเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ASUS BacGuard3,4 ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 22196 มาบนคีย์บอร์ด ทัชแพดและที่วางมือ ซึ่งข้อมูลที่ ASUS ได้แจ้งมานี้ สารเคลือบดังกล่าว นอกจากจะยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้เกิน 99% แล้ว ยังทนต่อบรรดาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย ตรงจุดนี้ถือว่า ASUS คิดเตรียมเอาไว้ได้ดี เข้าใจผู้ใจผู้ใช้ในปัจจุบัน ที่เช็ดและล้างมือบ่อยกว่าทานน้ำเสียอีกในตอนนี้ ลดปัญหาการหลุดลอกไปได้เยอะเลย
Screen / Speaker
ASUS ExpertBook B3 รุ่นนี้ มาพร้อมกับหน้าจอแสดงผล 14″ ความละเอียด 1920 x 1080 หรือ Full-HD ดีไซน์ขอบมาในแบบ NanoEdge เรียกว่าขอบบางมากๆ และด้วยเป็นโน๊ตบุ๊ค Convertible ก็ทำให้ดีไซน์ขอบหน้าจอและพาแนลเสมอกัน เพื่อที่เวลาใช้งานโหมดแท็ปเล็ต ก็จะสามารถลากนิ้วหรือแตะใกล้ๆ บริเวณขอบได้ไม่สะดุด
ด้านบนมาพร้อมกล้องเว็บแคม ความละเอียด 720p ให้ความคมชัดในระดับหนึ่ง เพียงพอต่อการใช้ประชุมหรือเรียนออนไลน์ได้ ลื่นไหลไม่สะดุด นอกจากนี้กล้องเว็บแคม ยังมาพร้อมตัวเปิด-ปิดกล้องแบบใช้เลื่อนด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มความมั่นใจเวลาที่ไม่ใช้งาน เมื่อปิดแล้ว จะมีจุดสีส้มๆ ขึ้นมาให้สังเกตได้ง่ายมาก
แต่หากจะใช้กล้องสำหรับการถ่ายภาพหรือวีดีโอ ที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น ก็ใช้กล้องที่อยู่ตรงกลางตัวเครื่องได้เลย โดยใช้ได้ในทุกโหมด แต่ที่จะสะดวกที่สุด ก็น่าจะเป็นตอนที่ใช้กับ Tent Mode และ Tablet mode นั่นเอง โดยเว็บแคมตัวที่ 2 นี้ ติดตั้งอยู่เหนือคีย์บอร์ด ตรงพื้นที่ว่างระหว่างจอภาพ มีความละเอียดที่ 13 ล้านพิกเซล ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่ให้ความสะดวกในการถ่ายภาพได้ง่าย ไม่ว่าจะใช้ในโหมดแท็ปเล็ตหรือจะเป็น Tent mode ก็ตาม เพราะว่าไม่ต้องกังวลว่านิ้วมือจะมาบังให้เสียจังหวะ
สำหรับปากกาสไตลัสที่มากับโน๊ตบุ๊ค ASUS ExpertBook B3 Flip รุ่นนี้ มีจุดเด่นหลายอย่าง ที่ช่วยให้การใช้งานสะดวกขึ้น ว่ากันตั้งแต่การรองรับน้ำหนักการกดได้ถึง 4096 ระดับ ให้การตอบสนองที่ไวพอสมควร มีการจัดเก็บง่ายกว่าในหลายๆ รุ่นที่เราได้ใช้งาน เพราะมีช่องที่เสียบอยู่ด้านข้างโน๊ตบุ๊ค และยังชาร์จไฟได้ในตัว ให้ความเร็วในการชาร์จที่ระบุไว้ กรณีที่ต้องใช้งานเร่งด่วนคือ แค่ 15 วินาที ก็ใช้ได้นานถึง 45 นาทีเลยทีเดียว เท่าที่ลองใช้ จากเดิมที่ชาร์จมาให้ก็เยอะพอสมควร และเราใช้งานในการลาก เขียน วาด และแทนเมาส์หรือทัชแพด ก็ใช้ได้ยาวนาน
การใช้งานก็ยังคงเป็นแบบสไตลัส ขนาดค่อนข้างเล็ก และมีปุ่มกดบน-ล่างมาให้ ด้านท้ายจะเป็นจุดชาร์จ ที่ต่อเข้ากับในโน๊ตบุ๊ค และฝาปิดหรือ Cap ที่ใช้ในการดึงออกจากที่เก็บได้ง่ายขึ้น จุดเดียวที่จะทำให้ผู้ใช้คล่องตัวหรือไม่ อยู่ที่ขนาดและการจับถือ ด้วยไซส์ที่ค่อนข้างเล็ก ส่วนตัวมองว่ามือคุณผู้หญิง หรือผู้ใช้ที่มือเล็กหน่อยจะได้เปรียบ เพราะดูจะจับและเคลื่อนไหวได้ง่ายกว่า แต่สิ่งต่างๆ ที่ว่ามานี้ ก็ขึ้นอยู่กับการระยะเวลาในการเรียนรู้ เพื่อให้คล่องตัวมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวมองว่า แค่ใช้งานในการจดบันทึก วาดบางอย่าง เพื่อให้มองภาพได้ง่ายขึ้น ในการใช้งานเป็นแท็ปเล็ตหรือ Tent mode ก็สะดวกไม่น้อยแล้ว
ส่วนในเรื่องของเสียงและลำโพง จุดที่ติดตั้ง จะต่างจากโน๊ตบุ๊คในแบบงานธุรกิจทั่วไปของ ASUS อยู่เล็กน้อย นั่นคือ วางไว้บริเวณด้านใต้ เยื้องมาทางด้านหน้า แทนที่จะไปทางด้านข้างและลำโพงกดลงพื้น แต่บนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ออกมาด้านหน้า เพื่อให้มิติเสียงออกมาแบบตรงๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะเข้ากับการทำงานในโหมดต่างๆ ได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะ Tent mode และ Tablet mode โดยเสียงกลางออกมาได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ตึงตังหรือแน่น เหมือนกับลำโพงในกลุ่มเกมมิ่ง ที่มีซับมาด้วย แต่ในการดูวีดีโอ ภาพยนตร์บนยูทูป ก็พออยู่ในระดับที่ใช้ได้ เก็บรายละเอียดได้ระดับหนึ่ง เสียงสนทนาชัดเจน แต่หากจะเน้นที่มิติ แนะนำให้ใช้หูฟังจะดีกว่า ส่วนในการฟังคลิปเสียง หรือพอดแคส รวมถึงการถอดเสียงบรรยายและการประชุม ก็ถือว่าใช้ได้ การใช้งานพื้นฐานอยู่ในระดับที่ใช้ได้เลย
เพิ่มเติมข้อมูลของไมโครโฟนที่มากับโน๊ตบุ๊ค ASUS รุ่นนี้อีกเล็กน้อย เพราะมีความสำคัญ สำหรับคนที่ใช้ในการประชุม หรือทำงาน และเรียน การสื่อสารสำคัญมากๆ ดังนั้นในการพูดคุยในบางสถานที่ อาจมีเสียงรบกวนจากภายนอก ที่บางทีไม่สามารถควบคุมได้ ทาง ASUS ก็ได้เตรียมฟีเจอร์ 3DNSR หรือ 3D noise-reduction หรือตัดเสียงรบกวน เมื่อใช้การสนทนาบนเว็บแคม ซึ่งจะลดบรรดาเสียงรบกวนที่เป็น noise ออกไปได้ ซึ่งจากที่เราได้ทดสอบนั้น ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่อยู่รอบข้าง แทบจะไม่ได้มีแทรกเข้าไปในไมค์ จะมีแค่บางๆ หรืออาจจะในบางจังหวะ ขึ้นอยู่กับระดับเสียงในช่วงนั้นๆ ที่บางครั้งจะค่อนข้างดัง เช่น เสียงเคาะเหล็ก หรือรถยนต์ที่เบิ้ลเครื่องเสียงดังๆ เป็นต้น
Connector / Thin & Weight
พอร์ตต่อพ่วงอุปกรณ์บนโน๊ตบุ๊ค ASUS รุ่นนี้ มากันอย่างครบครัน และจัดเต็มมาให้ผู้ใช้เป็นพิเศษ ด้วยพอร์ต Thunderbolt 4 ที่มีให้ถึง 2 พอร์ตด้วยกัน และมีพอร์ตส่วนใหญ่ ที่เป็นพอร์ตตัวเต็ม ไม่ได้เป็นพอร์ตขนาดเล็ก ที่ต้องหาตัวแปลงมาใช้ แม้ว่าโน๊ตบุ๊คจะมีมิติที่บางลงก็ตาม
ด้านข้างซ้าย ประกอบด้วย Kensington lock, ถัดมาเป็น Thunderbolt 4 จำนวน 2 พอร์ต โดยพอร์ตทั้งคู่นี้ รองรับการโอนถ่ายข้อมูลความเร็วสูง 40Gbps และใช้ในการแสดงผลต่อจอภายนอกในแบบ 4K ได้ 2 จอ รวมถึงทำหน้าที่เป็น Fast Charging พอร์ต USB 3.2 Type-A และ HDMI 2.0 เป็นแบบ Full-size รองรับการแสดงผลแบบ 4K ได้อีกด้วย ขยับมาข้างๆ กัน เป็นช่องสำหรับเก็บปากกาสไตลัส
ส่วนทางด้านขวา ประกอบด้วยพอร์ต RJ-45 สำหรับการต่อ Gigabit LAN และมีช่อง USB 2.0 Type-A มาให้ รวมถึงช่องต่อออดิโอคอมโบแจ๊ค 3.5mm หูฟังและไมโครโฟน ใกล้กันเป็นช่องสำหรับใส่ microSD card reader มาให้ และรุ่นที่เป็นตัวท็อป ก็จะมีช่องสำหรับใน nano SIM card ในการเชื่อมต่อเครือข่ายพื้นฐาน นอกเหนือจากการใช้งาน WiFi หรือ Gigabit LAN ได้อีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นในงานธุรกิจ และการเรียนออนไลน์อยู่ไม่น้อย
ในแง่ของความโดดเด่นน่าจะอยู่ที่การให้พอร์ต Thunderbolt 4 มาให้ถึง 2 พอร์ตนี้ ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับการใช้งานได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ต้องต่อกับจอภายนอก และการโอนถ่ายข้อมูลที่เป็นไฟล์ขนาดใหญ่ สามารถทำได้รวดเร็วขึ้น โดยส่วนตัวมองว่า ASUS ให้พอร์ตมาเกือบครบ และพร้อมใช้งานได้ทันที ไม่ต้องวุ่นวายกับการหาสิ่งอื่นมาทดแทน
น้ำหนักของตัวเครื่องก็เรียกว่าไม่ได้ต่างไปจากข้อมูลเบื้องต้น ที่ได้จาก ASUS ด้วยการชั่งบนเครื่องชั่งเฉพาะตัวเครื่องโน๊ตบุ๊คเพียงอย่างเดียว อยู่ที่ประมาณ 1.54 กิโลกรัม เท่านั้น โดยใกล้เคียงทาง ASUS แจ้งเอาไว้ที่ 1.61 กิโลกรัม แต่เมื่อรวมกับอแดปเตอร์และสายเพาเวอร์คอร์ด อีกประมาณ 310 กรัม ก็จะอยู่ที่ประมาณ 1.85 กิโลกรัมเท่านั้น เรียกว่าใส่กระเป๋าพกพาได้สะดวก กับขนาดของบอดี้ที่ ความยาว 329mm x กว้าง 223.95mm และหนาเพียง 16.9mm ก็สามารถใส่กระเป๋าโน๊ตบุ๊ค ไม่ว่าจะเป็นสะพายข้างหรือเป้สะพายหลังได้อย่างสบาย
Inside / Upgrade
ให้ข้อมูลไว้ในเบื้องต้นก่อนครับว่า โน๊ตบุ๊ค ASUS ExpertBook B3 Flip รุ่นนี้ ทำโครงสร้างภายใน และตัวล็อคบอดี้ที่แข็งแรงมากๆ ต่างจากในรุ่น TUF, B1 หรือ B7 ที่ยังพอแกะออกมาได้ไม่ซับซ้อนนัก รวมถึงในรุ่นนี้ยังจัดโครงโลหะขึ้นเป็นพิเศษ ทั้งในส่วนของด้านข้างซ้าย-ขวา และบริเวณบานพับ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งหากใครที่ต้องการจะอัพเกรด หรือปรับเปลี่ยน ทำความสะอาด อาจจะต้องใช้เครื่องมือในการแกะที่มีความบาง เพื่อสอดลงไปในช่องขนาดเล็กได้ง่าย และต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ซึ่งหากไม่แน่ใจแนะนำว่าให้ทางร้านทำการอัพเกรดให้เป็นดีที่สุด
มาว่ากันที่องค์ประกอบภายในกันบ้าง นอกจากฮาร์ดแวร์พื้นฐานที่ ASUS ติดตั้งมาบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น แรม DDR4 3200 SO-DIMM ซึ่งภายในจะเป็นการติดตั้งมาให้บนบอร์ดอยู่แล้ว 8GB แต่ก็จะยังมีอีก 1 สล็อตที่ว่างเอาไว้ เพื่อให้อัพเกรดเพิ่มได้อีก 32GB รวมเป็น 40GB สูงสุด
ส่วนสล็อตของ Storage นั้น มีให้สล็อตเดียวตามมาตรฐาน ซึ่งเดิมติดตั้งมาเป็น SSD M.2 NVMe PCIe Gen 3 x4 โดยให้มาเป็น SSD ความจุ 512GB และมีเพียงสล็อตเดียวเท่านั้น โดยรองรับการอัพเกรด ด้วยการเปลี่ยนโมดูล รองรับความจุสูงสุดที่ 1TB ในแง่ของการใช้งานพื้นฐาน การอัพเกรดได้เท่านี้ ก็จัดว่าเพียงพอต่อการใช้งาน แต่ถ้าคุณต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่โหดขึ้น ก็ยังพออัพเกรดแรมและ SSD เพิ่มเติมได้ แนะนำเลยว่า หากคิดว่าต้องใช้ในงานสร้างคอนเทนต์ หรือมีซอฟต์แวร์บริโภคทรัพยากรหนักๆ เช่นการทำวีดีโอ หรือตกแต่งภาพ รวมถึงต้องการจัดเก็บข้อมูลที่มากขึ้น และดึงมาใช้ได้รวดเร็ว อัพเกรดทั้งแรมและ SSD ให้พร้อมไปเลยน่าจะเหมาะที่สุด
Performance / Software
มาดูที่สเปคซีพียูบน CPUz แจ้งเอาไว้ว่าเป็น Intel Core i7-1165G7 ความเร็วสูงสุด 4.70GHz ทำงานในแบบ 4 core/ 8 thread นับว่าเป็นซีพียูในกลุ่มที่มีกราฟิกมาด้วย ที่แรงเกือบสุด รองจาก i7-1195G7 เท่านั้น แต่ค่า TDP ต่ำ จึงลดเรื่องความร้อนไปได้พอสมควร
ในการทดสอบเบื้องต้น เรามี Benchmark จาก CPUz เมื่อเทียบกับซีพียูพีซีเดสก์ทอป Intel Core i7-10700 ที่คงต้องบอกว่าแรงกว่าในทุกด้าน แต่ตัวเลขของ Single Thread ก็ถือว่าทำคะแนนได้แทบไม่ห่างกัน ส่วน Multi-Thread การทำงานของ 4 core/ 8 thread ก็ถือว่าเป็นรองอยู่พอสมควร
มาที่แรมกันบ้าง ติดตั้งเป็นแบบออนบอร์ดมาให้แล้วที่ 8GB และยังมีสล็อตเหลือสำหรับการอัพเกรดได้อีก 1 สล็อต เป็นแรม DDR4 3200 นอกจากนี้ยังแจ้งมาให้ทราบว่าเป็นกราฟิก Intel Iris Xe Graphic ซึ่งแชร์แรมร่วมกันกับแรมระบบแบบอัตโนมัติ
รายละเอียดของกราฟิกที่ติดตั้งมาบนโน๊ตบุ๊ค ASUS รุ่นนี้ เป็นแบบ Integrate graphic ซึ่งระบุมาเป็น Intel Iris Xe Graphic ในข้างต้น ความเร็วสัญญาณนาฬิกา 400Hz และสามารถบูสท์เพิ่มได้ รวมถึงการแชร์หน่วยความจำ DDR4 กับระบบ เพื่อให้รองรับการใช้งานด้านต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ได้มีกราฟิกแยกอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาแต่อย่างใด
มาที่ผลทดสอบ Storage กันบ้าง ระบบให้มาเป็น SSD อินเทอร์เฟส M.2 NVMe PCIe 3.0 x4 ซึ่งประสิทธิภาพในการทดสอบร่วมกับ CrystalDiskMark อยู่ที่ 2,231MB/s (Read) และ 1,155MB/s (Write) โดยส่วนตัวมองว่าอยู่ในเกณฑ์กลางๆ สำหรับ SSD ที่ใส่มาให้บนโน๊ตบุ๊คในกลุ่มงานธุรกิจ แต่ถ้าในแง่ของการใช้งาน ยังคงตอบโจทย์ในการเปิดโปรแกรม เข้าถึงไฟล์ โอนถ่ายข้อมูลได้ดีทีเดียว และไม่ทำให้ราคาของตัวเครื่องดีดไปมากกว่านี้ ซึ่งหากใครซีเรียสกับ Storage ที่มีความเร็วสูงๆ มากๆ อาจจะต้องมองไปที่โน๊ตบุ๊คที่เป็น Intel Gen 12 เป็นหลัก แต่ราคาก็อาจจะขยับไปอีกไกล
ในการทดสอบทั้งระบบก็ทำได้ไม่ธรรมดาเลย ซึ่งหากดูจากซีพียูในระดับเดียวกัน และใช้กราฟิก Integrate มาด้วย ตัวเลขในภาพรวมได้น้อยกว่า ASUS ExpertBook B1 ที่เราได้ทดสอบไปก่อนหน้านี้ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตัวเลขที่ได้จาก Essentials ที่เป็นงานด้านซอฟต์แวร์สำนักงานและชีวิตประจำวัน ซีพียู Core i7 ตอบสนองในงานนี้ได้ดีอยู่แล้ว รวมถึงการทำมัลติทาส์กกิ้งด้วย สายท่องเว็บหรือต้องหาข้อมูลบ่อยๆ แนะนำเพิ่มแรมอีก 8GB ให้ทำงานเป็น Dual-channel ก็จะเห็นผลได้ชัดมากขึ้น ส่วนผลของ Productivity ที่เกี่ยวเนื่องกับงานเอกสาร และการคำนวณที่เป็นด้านสเปรดชีต ก็ทำคะแนนได้น่าสนใจ หากเทียบกับซีพียูในระดับที่ใกล้เคียงกัน ส่วนคนทำงาน Content Creation ก็เรียกว่าอาจจะอิงกับแรมและกราฟิกอยู่ด้วย แต่ก็ถือว่าช่วยให้งานของคุณลื่นไหลได้ ไม่ว่าจะเป็นวีดีโอพรีเซนเทชั่น ตัดต่อวีดีโอแบบง่ายๆ หรือว่าจะตกแต่งภาพและการออกแบบกราฟิกพื้นฐานก็ตาม
Passmark PerformanceTest 9.0 ก็เป็นอีกการทดสอบหนึ่งที่บ่งบอกถึงศักยภาพของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้ดีทีเดียว ตัวเลขที่ได้บน CPU Mark ทะลุ 10,000 ไปได้อย่างสวยงาม ซึ่งซีพียูหลายรุ่นอาจจะแตะๆ 8,000-9,000 เท่านั้น ยกเว้นในตระกูล “Intel H series” ที่จะแรงในระดับ 12,000 คะแนนขึ้นไป ส่วน Memory Mark ก็จะคะแนนน้อยลงหน่อย หากเทียบกับแรม 16GB หรือแรมในแบบ Dual-channel ที่จะทำได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ดีหากได้รับการอัพเกรด ก็เชื่อว่าจะทำผลลัพธ์ในจุดนี้ได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่โดยภาพรวมจัดว่ารองรับงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งการทดสอบความสามารถของซีพียูทั้งในแบบ Single-Thread และ Multi-Thread ที่เข้ามามีบทบาทต่อการบีบอัดข้อมูล จะเห็นว่าความต่างในการทำงานของทั้ง 2 รูปแบบนี้ ค่อนข้างเห็นได้ชัด
ในแง่ของตัวแทนการทดสอบด้านเกมเวลานี้ 3DMark ยังคงเป็นโปรแกรมที่ให้ความแม่นยำได้ดี โดยผลทดสอบจะอิงจากกราฟิกที่ติดตั้งมาบนระบบเป็นหลัก และด้วยคะแนนที่เห็นบนการทดสอบเหล่านี้ แม้จะเป็นกราฟิก Integrate มา แต่การทดสอบในบางส่วน ก็ทำคะแนนได้น่าสนใจ และการทดสอบกราฟิกบางส่วน ยังให้อัตราเฟรมเรตที่ไหลลื่นได้ เพียงแต่ตัวเลขที่ได้จาก Fire Strike ที่ไม่ได้สูงนัก ก็เพราะความซับซ้อนและ API ที่ส่วนใหญ่จะเรียกความต้องการของกราฟิกแยกเป็นหลัก ทำให้คะแนนอาจจไม่สูงนัก แต่โดยรวมก็ยังแสดงให้เห็นว่า รองรับงานกราฟิกและเกมสามมิติได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะเน้นที่ความแรงในการเล่นเกม ก็คงต้องขยับไปที่เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเลยครับ
ในกาทดสอบด้านเกม อาจจะไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักสำหรับโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ แต่ในแง่ของประสิทธิภาพจากกราฟิก Intel Iris Xe Graphic ก็พอให้ผู้ใช้เล่นเกมเบาๆ เน้นเกมออนไลน์ในท้องตลาดได้หลายเกม โดยเฉพาะเกมแนว Casual หรือ Adventure อย่างเช่นเกม Stardew Valley ที่เป็นแนว Open World, MineCraft, World Box หรือแนวฮีโร่อย่าง Heart Stone เป็นต้น ส่วนถ้าเป็นเกมแอ็คชั่น ก็ต้องมาลุ้นกัน ว่าอยากจะได้ภาพสวยๆ หรือเฟรมเรตที่ลื่นไหล ก็ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง
การทดสอบโอนถ่ายไฟล์ข้อมูลขนาด 15GB จาก SSD ที่ติดตั้งบนโน๊ตบุ๊ค ไปยัง SSD แบบต่อภายนอก ผ่านทางพอร์ต Thunderbolt 4 ในโหมด USB-C ใช้เวลาเพียง 3.15 นาที ส่วนถ้าเป็นฮาร์ดดิสก์ที่ติดตั้งบนพอร์ต USB 3.2 Type-A จะใช้เวลาถึง 10 นาทีเลยทีเดียว ซึ่งก็ถือว่าเป็น TB4 ก็ยังคงเหมาะกับการโอนถ่ายข้อมูล ส่วนพอร์ต USB-A นั้น ก็สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมได้ดี ไม่ว่าจะเป็นพรินเตอร์, USB Adaptor หรืออื่นๆ
Battery / Heat / Noise
ASUS ติดตั้งแบตเตอรี่มาให้แบบ 3-cell ความจุ 50Wh ซึ่งระยะในการใช้งาน จะอยู่ในเรื่องของการทดสอบนี้ ถือว่าไม่ได้น้อยเลยสำหรับการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้งานร่วมกับซีพียู Intel Core i7-1165G7 ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นท็อปๆ ในกลุ่มนี้ และยังมี Iris Xe Graphic มาในตัว และเมื่อดูจากองค์ประกอบอื่นๆ ที่ติดตั้งมาด้วย ก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อกันทีเดียว
ในการทดสอบของทางเว็บไซต์ ด้วยการใช้โปรแกรมทดสอบอย่าง Battmon ด้วยการปรับหน้าจอให้มีความสว่างน้อยสุด เท่าที่จะมองเห็นคอนเทนต์บนหน้าจอได้ชัด อยู่ที่ระหว่าง 10-20% และปรับเสียงอยู่ที่ 30% พร้อมกับปรับการทำงานในโหมดประหยัดพลังงาน โดยเปิดดูวีดีโอ ทดสอบการสตรีมมิ่งบน Youtube เปิดไฟล์วีดีโอระดับ 4K แล้วรันอย่างต่อเนื่อง ผลที่ได้อยู่ที่ราวๆ 7.40 ชั่วโมง
เราลองทดสอบการชาร์จด้วยอแดปเตอร์ 65W ที่มาพร้อมกับโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ โดยการทดสอบบนโหมด Windows ที่ยังคงอยู่ในโหมดสแตนบายบนหน้า Desktop บนความสว่างระดับ 75% จากระดับแบตที่ 40% มาจนถึง 100% ใช้เวลาราว 80 นาที โดยประมาณ ซึ่งหากชาร์จในโหมดที่ปิดโน๊ตบุ๊คเอาไว้ ก็คาดว่าจะทำได้เร็วกว่านี้ และที่น่าสนใจคือ หากคุณมีอุปกรณ์ในกลุ่มของ PD หรือเพาเวอร์แบงก์ระดับ 65W ขึ้นไปรุ่นใหม่ๆ ก็สามารถนำมาชาร์จไฟโน๊ตบุ๊ค เพื่อยืดระยะเวลาในการใช้งานต่อไปได้ ให้ความสะดวกไม่น้อยเลย
มาดูในแง่ของประสิทธิภาพการระบายความร้อนในระหว่างการทำงานกันบ้าง ในการทดสอบเราใช้โปรแกรม Furmark กับฟังก์ชั่น CPU Burner ในการเร่งความเร็วของซีพียูให้ทำงานในแบบ Full-load หรือเรียกว่าให้มีโหลดการทำงานระดับ 90-100% ตามจังหวะการทำงาน และใช้โปรแกรม CPUID HWMonitor เป็นตัววัดผล เป็นเวลาประมาณ 20 นาที ตัวเลขที่ออกมาสูงสุดอยู่ที่ 93-96 องศาเซลเซียส ซึ่งก็จะอยู่ในช่วงระดับหนึ่ง และลดลงมาที่ราวๆ 85-87 องศาเซลเซียส
จากนั้นเราลองใช้วิธีในการวางบน Cooling Pad ที่ไม่มีพัดลมมาให้ เพียงแค่ยกด้านใต้ให้สูงขึ้น อุณหภูมิก็ลดลงมาเหลือแค่ 7x องศาเซลเซียสเท่านั้นในแบบ Full-load ซึ่งจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ลงตัวแล้ว สำหรับซีพียู Intel Core i7 บนโน๊ตบุ๊คในกลุ่มบางเบาเช่นนี้ แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้ว แทบจะไม่ได้ดึงการทำงานของซีพียูมาในระดับที่ 90-100% นี้มากนัก และอาจจะมีแต่ก็ภายในเวลาไม่นาน เช่น ดำลังเรนเดอร์วีดีโอ เปิดไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน ดังนั้นโอกาสที่จะเจอกับอุณหภูมิสูงๆ นั้นแทบจะไม่มี อีกทั้งการระบายความร้อนที่ดี ช่องทางที่เป่าไปด้านหลังโดยตรง ย่อมไม่ส่งผลกระทบกับตัวเครื่องหรือมือของคุณขณะที่ใช้พิมพ์งานอีกด้วย เรียกว่าทัชแพดยังคงอุ่นนิดๆ เท่านั้น
Conclusion
ในภาพรวมของ ASUS ExpertBook B3 Flip รุ่นนี้ กลุ่มเป้าหมายน่าจะอยู่ในกลุ่มคนที่มีการใช้งานที่หลากหลาย และคล่องตัว เพราะด้วยขนาดและน้ำหนักค่อนข้างเบา ว่ากันที่ 1.61 กิโลกรัม ซึ่งในแง่ของการพกพา แทบจะอยู่ในเกณฑ์ของโน๊ตบุ๊คที่มีความบางเบาได้ แต่ด้วยพื้นฐานของการเป็น Convertible Notebook ก็ทำให้บีบให้บางกว่านี้ได้ยาก เพราะมีส่วนของโครงสร้างและความปลอดภัยที่ทาง ASUS ใส่มาให้ และได้มาตรฐาน MIL-STD มาด้วย ระดับนี้ก็ถือว่าลงตัวมากแล้ว เมื่อเทียบกับความสะดวกในการใช้งานในชีวิตประจำวัน เป็นทั้งโน๊ตบุ๊ค มอนิเตอร์และแท็ปเล็ตได้ในตัว และแบตเตอรี่ยังจัดว่าอึดพอสมควร แม้จะไม่ได้เปิดต่อเนื่องยาวได้ทั้งวัน แต่ถ้าคุณต้องพกพาไปข้างนอก ก็ยังมั่นใจได้ เปิด-ปิด สแตนบาย ออกเดินทางไปพบลูกค้า แล้วกลับมาประชุมต่อ กลับไปดูสตรีมมิ่งหรือฟังเพลงเบาๆ ที่บ้าน แบตยังพอเหลือ อยู่ที่การปรับจูนโหมดให้เหมาะสมเท่านั้น และไม่ต้องกลัวว่าจะต้องพกที่ชาร์จไปแล้วหนัก เพราะที่ชาร์จเล็กกระทัดรัดและเบามากมาย
ในด้านการทำงานและประสิทธิภาพสำหรับงานในปัจจุบัน จัดว่าเรี่ยวแรงยังดี มีเหลือมากพอ ในการใช้งานมัลติทาส์กกิ้ง เช่นเปิด Meet ประชุมอยู่ ก็สามารถเปิดไฟล์เพื่อเช็คงาน และทำแผนนำเสนอผลงาน บนซอฟต์แวร์สำนักงาน และการดูหุ้นไปพร้อมๆ กันก็ยังไหว เพราะซีพียู Intel Core i7 ที่ใส่มาให้นี้ก็ไม่ธรรมดา แต่ถ้าเป็นไปได้อัพเกรดแรมเป็น 16GB ก็จะยิ่งทำให้งานลื่นขึ้นอีกเยอะ และโน๊ตบุ๊คมีสล็อตมาให้สามารถเพิ่มเติมเข้าไปได้ ส่วน Storage ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว หากต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูล แนะนำว่ามี External Drive เอาไว้สักตัวก็พอ แนะนำว่าเลือกเป็น SSD และเชื่อมต่อกับ USB-C ผ่านทางพอร์ต TB4 ให้ความเร็วได้ทันใจกว่า
สุดท้ายน่าจะอยู่ในเรื่องของฟังก์ชั่นและความปลอดภัย ด้วยงานประกอบที่ทำออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แข็งแรง การหมุนพับหน้าจอยังดูแน่น ทำให้การใช้งานในโหมดต่างๆ ได้สะดวก หน้าจอทัชสกรีน ตอบสนองไว แต่ก็ต้องแลกมากับการที่ต้องเช็ดหน้าจอบ่อยหน่อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของจอสัมผัสแบบนี้ ส่วนปากกาสไตลัส ใช้จดและดึงออกมาได้ง่ายทีเดียว เพียงแต่ว่าด้วยขนาดที่เล็ก บางครั้งอาจจะไม่ได้เหมาะกับการนำมาวาดภาพ หรือเน้นงานที่ลงรายละเอียดขั้นสูงสำหรับบางคน แต่ถ้าคุณจับได้ถนัดมือ รับรองว่าจะสนุกไปกับการใช้งานได้ไม่น้อยเลย การอัพเกรดยังพอทำได้ ด้วยการเพิ่มแรม อย่างไรก็ดีรุ่นท็อปๆ แบบนี้ น่าจะให้มาสัก 16GB แล้ว เพราะจะใช้งานได้คล่องตัวมากขึ้น ส่วน Storage ก็ยังปรับเปลี่ยนได้ในวันข้างหน้า เอาเป็นว่าสนนราคาระดับ 35,900 บาท ก็อยู่ในระดับที่คุ้มค่าน่าใช้ทีเดียวสำหรับ ASUS ExpertBook นี้ เมื่อเทียบกับฟังก์ชั่นที่อัดแน่นมาแบบเต็มๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม: ASUS
Award
เป็นโน๊ตบุ๊คที่พกพาสะดวก ทั้งในแง่ของบอดี้ที่มีจอแสดงผล 14″ น้ำหนักเบา ใส่กระเป๋าพกพาเดินทางได้ง่ายขึ้น พร้อมพอร์ตต่อพ่วงอย่าง Thunderbolt 4 ที่รองรับการใช้งานในแบบต่างๆ ได้ เช่น โอนถ่ายข้อมูล เชื่อมต่ออุปกรณ์ หรือสัญญาณแสดงผลและการชาร์จไฟก็ตาม แบตขนาดใหญ่ ใช้งานได้นานขึ้น
การออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย กับหน้าจอที่พับได้ในโหมดต่างๆ ช่วยให้รองรับทั้งการทำงานและความบันเทิงได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็น Tent mode, Stand, Tablet นอกเหนือจากการเป็นโน๊ตบุ๊คปกติ ที่สำคัญยังเป็นหน้าจอสัมผัส คล่องตัวในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงยังมาพร้อมปากกาสไตลัสอีกด้วย