Lenovo IdeaPad Gaming 3 ขวัญใจเกมเมอร์ขอสเปคแรงๆ แต่ไม่อยากจ่ายแพงมาก
นอกจาก Lenovo Legion แล้ว ทางบริษัทเองก็มีเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คราคาประหยัดอีกซีรี่ส์ อย่าง Lenovo IdeaPad Gaming 3 ซึ่งดีไซน์เรียบง่ายเหมือนกับโน๊ตบุ๊คทำงานสักเครื่องหนึ่ง ได้สเปคจัดจ้านจะซื้อไว้ทำงานตัดต่อวิดีโอหรือเน้นงานกราฟฟิคก็ใช้งานได้เป็นอย่างดีไม่มีปัญหา ด้วยซีพียู AMD Ryzen กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 รวมทั้งได้พาเนลจอ IPS คุณภาพสูง ขอบเขตสีกว้างและเที่ยงตรงด้วย ช่วยให้ครีเอเตอร์และศิลปินสามารถพรู้ฟสีบนหน้าจอโน๊ตบุ๊คได้เลยโดยไม่ต้องต่อหน้าจอแยก และพอทำงานเสร็จก็เปลี่ยนมาเล่นเกมที่ชอบได้ ด้วย เนื่องจากเป็นตระกูลย่อยอย่าง Gaming ซึ่งได้จอ Refresh Rate สูงถึง 165Hz และรองรับ AMD FreeSync Premium ป้องกันอาการภาพบนหน้าจอฉีกขาดตอนเลื่อนเมาส์เร็วๆ เรียกว่าถูกใจเกมเมอร์อย่างแน่นอน
ด้านการอัพเกรดเครื่องก็ไม่แพ้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องอื่นๆ เพราะเจ้าของเครื่องสามารถเพิ่ม M.2 NVMe SSD เข้าไปได้มากสุดถึง 2 ช่อง ช่องละ 1TB และ RAM ในเครื่องยังเป็น SO-DIMM ทั้ง 2 ช่อง พร้อมบานสไลด์ Privacy Shutter ม่านชัตเตอร์ปิด Webcam เวลาไม่ต้องการใช้งานและไม่อยากให้ใครแอบใช้กล้อง Webcam ก็สามารถสไลด์ปิดได้ ช่วยเสริมความสบายใจและความเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น
NBS Verdict
Lenovo IdeaPad Gaming 3 นับเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นเริ่มต้นที่ราคาสมเหตุผล จะเอามาทำงานกราฟฟิค, ตัดต่อวิดีโอ, พรู้ฟสีงานอาร์ตก็ทำได้สบายๆ รวมถึงเล่นเกมก็ทำได้ดีไม่มีปัญหา จะซื้อเอาไว้ใช้เป็นเครื่องหลักทั้งเล่นเกมที่บ้านหรือพกมาทำงานก็ไม่เคอะเขินนัก ด้วยดีไซน์เรียบง่ายเหมือนโน๊ตบุ๊ค 15.6 นิ้วทั่วไป แต่สเปคในเครื่องเรียกว่าไม่แพ้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ เครื่องอย่างแน่นอน
ด้านหน้าจอก็ถือว่าตอบโจทย์ผู้ใช้ทำงานอาร์ตหรือตัดต่อวิดีโอ เพราะแสดงขอบเขตสีได้กว้าง 100% sRGB และยังเที่ยงตรงอีกด้วย ทำให้ครีเอเตอร์มือใหม่ใช้ทำงานได้สะดวก ไม่ต้องพึ่งหน้าจอแยกสำหรับทำงานอาร์ตโดยเฉพาะ ก็ใช้จอของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 เครื่องนี้ทำและนำเสนองานได้เลย
ข้อดีอีกส่วนซึ่งไม่ควรมองข้าม คือเจ้าของเครื่องสามารถอัพเกรดสเปคได้ง่าย เพียงแค่ขันน็อตออกไม่กี่ตัวก็จัดการเปลี่ยน RAM และเพิ่ม M.2 NVMe SSD ได้ ซึ่งรองรับ SSD ความจุ 1TB ทั้งหมด 2 ช่อง และแรมจากโรงงานก็ได้ 16GB DDR4 ซึ่งทางบริษัทจัดสเปคมาสูงสุดเท่าที่เครื่องนี้รับได้แล้วด้วย ดังนั้นในส่วนนี้ก็ไม่ต้องเสียเงินอัพเกรดก็ได้ ทว่ามันก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะหากงานไหนต้องใช้แรมเกิน 16GB ก็อาจจะทำงานได้ช้าลงบ้าง และแบตเตอรี่ในเครื่องก็เป็นข้อกังขา เนื่องจากผู้เขียนพยายามปิดทุกโปรแกรมทิ้งจนหมดแล้ว ระยะเวลาใช้งานก็ยังไม่เกิน 4 ชั่วโมงเลย ทั้งที่แบตเตอรี่ 62Wh ในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คปัจจุบันจะใช้งานได้ราว 6-7 ชั่วโมงขึ้นไป นับเป็นจุดกังขาหลักซึ่งใครที่คิดซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปใช้ควรเตรียมปลั๊กติดตัวเอาไว้เสมอ
ข้อดีของ Lenovo IdeaPad Gaming 3
- พาเนลหน้าจอคุณภาพสูง ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB ค่า Refresh Rate 165Hz พร้อม AMD FreeSync Premium
- สเปคจากโรงงานดีจนไม่ต้องอัพเกรดก็ได้ มีรุ่น AMD Ryzen 5 หรือ Ryzen 7 ให้เลือก
- งานประกอบแข็งแรง ดีไซน์เรียบง่ายไม่หวือหวา แต่ก็ได้ไฟ LED Backlit แบบ RGB
- มี Privacy Shutter ติดตั้งมาให้สไลด์ปิด Webcam เวลาไม่ต้องการใช้งานได้
- ระบบระบายความร้อนทำงานได้ดี ตัวเครื่องไม่ร้อนเกินไปเวลาเล่นเกมหรือทำงานหนัก
- Lenovo Vantage มี Legion Edge ให้ตั้งโหมดได้ว่าให้ทำงานเต็มที่หรือประหยัดพลังงาน
- Numpad รองรับการตั้ง Macro เอาไว้เซ็ตปุ่มลัดตอนเล่นเกมได้ กดใช้งานสะดวก
- ระบบเสียงจูนโดย Nahimic ให้มิติเสียงดี ฟังเพลงสนุก เล่นเกมก็จับทิศทางศัตรูได้ดี
- มีพอร์ต USB-C ไว้ใช้ถ่ายโอนไฟล์อย่างรวดเร็ว หรือใช้ต่อแยกเป็นพอร์ตต่างๆ ได้ด้วย
ข้อสังเกตของ Lenovo IdeaPad Gaming 3
- แบตเตอรี่ใช้งานได้นานสุด 3 ชั่วโมง 45 นาที
- รองรับแรมสูงสุด 16GB DDR4
Video Review
รีวิว Lenovo IdeaPad Gaming 3
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
Lenovo IdeaPad Gaming 3 จัดเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในซีรี่ส์ IdeaPad ซึ่งสเปคจัดว่าดีเพียงพอใช้เล่นเกมฟอร์มใหญ่ในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังได้คีย์บอร์ดพร้อมไฟ LED Backlit แบบ RGB อีกด้วย ซึ่งสเปคจะเป็นดังนี้
สเปคของ Lenovo IdeaPad Gaming 3
- CPU – แยกเป็น 2 รุ่น ได้แก่
- AMD Ryzen 5 5600H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 3.3-4.2GHz
- AMD Ryzen 7 5800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.2-4.4GHz
- GPU : NVIDIA GeForce RTX 3060 แรม 6GB GDDR6
- SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
- RAM : 16GB DDR4 3200MHz
- Display : 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS, Refresh Rate 165Hz รองรับ AMD FreeSync Premium
- Ports : USB-C 3.1 Gen 1 x 1, USB-A 3.1 Gen 1 x 2, HDMI 2.0 x 1, LAN RJ45 x 1, Audio combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.0
- Webcam : 720p HD Camera
- Software : Windows 11 Home
- Weight : 2.25 กิโลกรัม
- ดูสเปคทั้งหมดของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 15ACH6-82K200LHTA (AMD Ryzen 5 5600H ราคา 35,190 บาท)
- ดูสเปคทั้งหมดของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 15ACH6-82K200KWTA (AMD Ryzen 7 5800H ราคา 37,990 บาท)
Hardware & Design
ตัวเครื่อง Lenovo IdeaPad Gaming 3 ถ้าดูเผินๆ ก็ต้องถือว่าคล้ายคลึงกับโน๊ตบุ๊ค Lenovo IdeaPad ขนาด 15.6 นิ้ว ซีรี่ส์ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานเป็นอย่างมาก แทบไม่มีจุดสังเกตบ่งชี้บนตัวเครื่องเลยว่านี่คือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค จะมีแค่คำว่า IdeaPad Gaming สกรีนเอาไว้ตรงขาบานพับหน้าจอด้านในฝั่งซ้ายมือและบานพลาสติกด้านใต้ขอบหน้าจอหลังเครื่องเท่านั้น ซึ่งดีไซน์นี้เหมาะกับคนหาซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คไว้ใช้ทั้งทำงานและเล่นเกมแต่ไม่ชอบดีไซน์หวือหวาเกินไปก็น่าจะถูกใจดีไซน์เครื่องนี้อย่างแน่นอน
ด้านช่องระบายความร้อนจะถูกซ่อนเอาไว้ตรงช่องเหนือหน้าจอเป็นแถบหลักกับด้านข้างตัวเครื่อง 2 ฝั่ง ไม่มีการเล่นลายหรือดีไซน์ให้ดูสะดุดตาหรือใหญ่เกินไป เน้นความเรียบร้อยคล้ายกับโน๊ตบุ๊คทำงานทั่วไปเครื่องหนึ่ง ทำให้ตัวเครื่องดูเรียบร้อยไม่สะดุดตามากแต่ก็ระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี
ตัวเครื่องสามารถกางหน้าจอได้ราว 140 องศา ซึ่งกว้างพอปรับให้เข้ากับมุมสายตาของผู้ใช้ได้สะดวก ไม่ว่าจะวางบนโต๊ะหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ปรับองศาหน้าจอให้มองเห็นได้สะดวก และงานประกอบถือว่าแน่นแข็งแรง กางหน้าจอแล้วไม่มีการโยกหรือสั่นยวบอย่างแน่นอน
ฝาหลังตัวเครื่องของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 จะดูเรียบง่ายยิ่ง ไม่มีโลโก้และลวดลายอะไรเป็นพิเศษนอกจากเพลตอลูมิเนียม Lenovo ติดอยู่ตรงมุมบนซ้าย และสลักคำว่า IdeaPad Gaming เอาไว้ขอบล่างใต้หน้าจอ ซึ่งจะเห็นตอนพับหน้าจอเก็บเครื่องเท่านั้น เป็นการลงลายละเอียดเอาไว้บอกความแตกต่างว่า IdeaPad เครื่องนี้ไม่ได้เป็นรุ่นทั่วไปแต่เป็นรุ่น Gaming สเปคเน้นเกมเมอร์เป็นหลัก
ด้านใต้ตัวเครื่องจะมีช่องลมเข้าเป็นแถบใหญ่ตรงกับชุดพัดลมโบลวเวอร์ด้านในเครื่อง ทำดีไซน์เป็นช่อง 6 เหลี่ยมเอาไว้ 4 อัน ประกบคู่กับเส้นแนวนอนทรงนาฬิกาทรายอีก 3 อัน ติดยางกันตัวเครื่องด้านใต้รูดกับพื้นโต๊ะโดยตรงเอาไว้ 3 เส้นด้วยกัน แบ่งเป็นเส้นเล็กด้านล่าง 2 เส้นกับเส้นยาวขอบบนอีก 1 เส้น ซึ่งแถบยางนี้สามารถยึดเกาะพื้นผิวที่วางเครื่องได้เป็นอย่างดี ไม่ไถลและไม่เกิดริ้วรอยด้านใต้เครื่องแน่นอน
Screen & Speaker
ขนาดจอของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 เครื่องนี้มีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 165Hz รองรับ AMD FreeSync Premium ป้องกันอาการภาพฉีกขาดเวลาเล่นเกมแล้วลากเมาส์หมุนหน้าจอเร็วๆ ทำให้ภาพต่อเนื่องสวยงาม สามารถแสดงขอบเขตสีได้กว้างระดับ 100% sRGB ถ้าใครต้องการนำไปทำงานอาร์ตเวิร์ค, วาดการ์ตูนหรือทำ 3D CG ก็ใช้หน้าจอนี้ทำงานได้สบายๆ
ด้านคุณสมบัติของพาเนล IPS คือ ผู้ใช้สามารถมองหน้าจอจากมุมไหนก็ยังแสดงผลได้สีสันสวยคม ไม่เกิดอาการเงาซ้อนบนภาพหรือเกิดสีเพี้ยนได้แบบพาเนล TN จากภาพจะเห็นว่าแม้เปิดหน้าจอเพียงเล็กน้อย ก็ยังเห็นสีสันบนหน้าจอโดยไม่เกิดอาการภาพซ้อนหรือสีเพี้ยนใดๆ
เมื่อวัดการแสดงผลหน้าจอด้วย Spyder5Elite แล้ว จะเห็นว่าหน้าจอของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 แสดงขอบเขตสีได้กว้าง 92% sRGB, 71% AdobeRGB และ 72% DCI-P3 ซึ่งเทียบชั้นกับโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์หลายๆ รุ่น และความเบี่ยงเบนสีหรือค่า Delta-E เฉลี่ย 1.28 เท่านั้น เมื่อน้อยกว่า 2 แสดงว่าหน้าจอนี้แสดงสีสันได้อย่างเที่ยงตรง สามารถใช้จอของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้พรู้ฟสีงานอาร์ตหรือแต่งภาพถ่ายจากกล้องถ่ายภาพก็ได้
ความสว่างหน้าจอเมื่อปรับความสว่าง 100% จะสว่าง 243 nit ถือว่าสว่างสู้แดดกลางแจ้งได้อย่างแน่นอน จะนำเครื่องไปทำงานที่ร้านกาแฟหรือนั่งในห้องแล้วแสงแดดสะท้อนหน้าจอก็สามารถปรับความสว่างสู้ได้แน่นอน แต่ถ้าใช้งานในอาคารหรือห้อง เมื่อกดลดความสว่างลงมาที่ 75% ความสว่างตกลงเหลือ 96 nit แต่ก็ยังสว่างระดับหนึ่งพอเห็นเนื้อหาบนหน้าจอได้อยู่ แต่ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้กดตั้งค่าความสว่างในส่วน Settings ของ Windows มากกว่ากดปุ่มลัดบนคีย์บอร์ด เพราะระบบการปรับความสว่างของปุ่มลัดค่อนข้างลดแสงวูบวาบเกินไป ผิดกับการกดใน Settings ของ Windows ซึ่งเซ็ตได้ค่อนข้างนุ่มนวลกว่า
ส่วนความสว่างแต่ละโซนจากที่ Spyder5Elite วัดได้ จะเห็นว่าทั้ง 9 ช่อง จะเห็นว่าส่วนกลางและล่างของจอนี้จะมีความสว่างลดลงเพียง 0-3% ซึ่งถือว่าลดน้อยมาก ลดโอกาสมองสีตอนแต่งหรือวาดภาพไปได้ระดับหนึ่ง ยกเว้นขอบบนหน้าจอที่ความสว่างลดลง 5-7% และมากสุด 11% ตรงกลางหน้าจอด้านใต้ชุดกล้อง Webcam ซึ่งถ้าแต่งภาพหรือพรู้ฟสีอาร์ตเวิร์ค แนะนำให้เลี่ยงโซนขอบบนเอาไว้ก่อน หรือให้ดีแนะนำให้ซื้อหน้าจอทำงานอาร์ตโดยเฉพาะมาใช้ดีกว่า
คะแนนโดยสรุป Lenovo IdeaPad Gaming 3 ทำคะแนนได้เฉลี่ย 3.5 จาก 5 คะแนน โดยจอนี้ทำการทดสอบ Contrast ได้คะแนนเต็ม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของหน้าจอเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คอยู่แล้ว ถัดมาเป็น Gamut และ Color Accuracy ซึ่งได้ 4.5 จาก 5 คะแนน ดังนั้นก็สามารถนับได้ว่าจอของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 นอกจากแสดงสีสันบนหน้าจอได้สวยงามเวลาเล่นเกมแล้ว ยังใช้ทำงานอาร์ต แต่งภาพถ่ายหรือวาดภาพต่างๆ ได้ดีอย่างแน่นอน
ลำโพงด้านใต้ตัวเครื่องของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 เครื่องนี้ได้รับการปรับแต่งเสียงจาก Nahimic บริษัทรับปรับแต่งเสียงลำโพงชั้นนำของโลก และในเครื่องมีซอฟท์แวร์ไว้ปรับแต่งโทนเสียงติดตั้งมาด้วย เนื้อเสียงของลำโพงนับว่าดี โทนเสียงจะได้เสียงเบสชัดเจนและเสียงเครื่องดนตรีมาครบและไม่กลบเสียงกันเองและเน้นเสียงนักร้องให้ได้ยินชัดเจนและค่อนข้างเด่นทีเดียว ซึ่งลำโพงนี้จัดว่าใช้ฟังเพลงได้ทุกแนวอย่างแน่นอน
แต่จุดเด่นหลักๆ ของลำโพงนี้คือตอนเล่นเกม เพราะลำโพงนี้แยกทิศทางเสียงตอนเล่นเกมได้ดี ช่วยบอกทิศทางของศัตรูได้ค่อนข้างชัดเจนมาก ถ้าใครชอบเล่นเกมไม่ใส่หูฟังเน้นใช้ลำโพงเป็นหลักก็เปิดฟังผ่านลำโพงโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้เลย
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ด Lenovo IdeaPad Gaming 3 เป็น Full-size ติดตั้ง Numpad มาพร้อมใช้งาน ทำให้คนที่ต้องพิมพ์ตัวเลขบ่อยๆ อย่างนักบัญชีหรือคนขายของออนไลน์กดตัวเลขได้สะดวก รองรับการเซ็ตตั้งค่ามาโครได้โดยใช้โปรแกรม Lenovo Vantage ในส่วนของ Legion Edge ที่ยกมาจากเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นเรือธงของค่ายด้วย มีไฟ LED Backlit แบบ RGB หลากสีหลายเอฟเฟค เปิดปิดไฟได้โดยกด Fn+Spacebar เหมือนกับโน๊ตบุ๊ค Lenovo รุ่นอื่นๆ
เมื่อเป็นคีย์บอร์ด Full-size แล้ว ทาง Lenovo ก็ให้ปุ่ม Function ใช้งานหลักๆ มาครบถ้วนพร้อมใช้งาน ซึ่งติดอยู่ถัดจากปุ่ม F12 ยาวมาจนสุดขอบตัวเครื่อง เป็นปุ่มใช้งานบ่อยอย่าง Insert, Print Screen, Delete, Home, End, Page Up, Page Down และมี Multimedia Hotkey รวมกับชุด Function Key เหนือ Numpad เป็นเล่น/หยุดเพลงชั่วคราว, หยุดเล่นเพลง, เล่นเพลงก่อนหน้าหรือถัดไปมาให้ ซึ่งระยะหลังๆ มา ปุ่มควบคุมความบันเทิงเหล่านี้เริ่มถูกตัดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย และถ้าใครต้องการสลับเลเยอร์ระหว่าง Function Hotkey กับ F1-F12 ก็กด Fn Lock โดยกด Fn+Esc ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดน่าสังเกตคือดีไซน์ตัวปุ่มคีย์บอร์ดจะคล้ายกับแผงคีย์บอร์ดของ Lenovo Legion Series ตัวปุ่มลูกศรจะแยกโซนออกมา ไม่ได้รวบเข้าไปหรือตัดขนาดปุ่มลูกศรให้ได้ระนาบเข้ากับตัวคีย์บอร์ดจนเป็นแผงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเสียทีเดียว ต้องถือเป็นเรื่องดีที่ Lenovo เอาดีไซน์น่าใช้จากเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงมาลงกับรุ่นราคาเป็นมิตรให้ผู้ใช้ได้ใช้ด้วย
ปุ่ม Function Hotkey จะติดตั้งรวมเอาไว้กับ F1-F12 และเซ็ตฟังก์ชั่นคีย์ลัดเอาไว้เหมือนกับ Lenovo Legion 5 อีกด้วย ซึ่งมีปุ่มดังนี้
- F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- F4 – ปิดหรือเปิดไมค์
- F5-F6 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและหน้าจอเสริม
- F8 – Airplane mode
- F9 – User Define Function Key หรือปุ่มลัดตั้งค่าได้โดยตัวผู้ใช้เอง
- F10 – เปิดหรือปิดการทำงานทัชแพด
- F11 – ปุ่มลัดเรียกดูทุกโปรแกรมที่เปิดอยู่เหมือนกด Alt+Tab
- F12 – ปุ่มเรียกโปรแกรม Calculator
- Print Screen – เรียก Snipping Tool
การเซ็ตคีย์ลัดเช่นนี้ ถ้ามองในมุมว่าใช้เป็นโน๊ตบุ๊คทำงานเล่นเกมได้ลื่นก็เป็นการเซ็ตฟังก์ชั่นที่ครบถ้วนระดับหนึ่งแล้ว แต่ผู้เขียนก็หวังให้ Lenovo เพิ่มคีย์ลัดเน้นการเล่นเกมเข้ามาอีกสักหน่อย ให้สมกับชื่อ IdeaPad Gaming ตัวอย่างเช่นปุ่มเปิดปิดเป้าเล็งปืน (Crosshair) แบบลอยค้างบนหน้าจอ หรือปุ่มเปลี่ยนโหมดตัวเครื่องระหว่างโหมดประหยัดพลังงานหรือใช้กำลังการทำงานตัวเครื่องเต็มที่, ปุ่มเรียก Settings ของ Windows หรือจะเป็นปุ่มลัดเรียกโปรแกรม Lenovo Vantage ซึ่งผู้เขียนหวังว่าทาง Lenovo จะเพิ่มฟังก์ชั่นที่เสนอไปสัก 1-2 รายการเข้ามาในรุ่นย่อยหรือรุ่นอัพเกรดในอนาคต จะยิ่งทำให้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้โดดเด่นยิ่งขึ้นอีก
ทัชแพดของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 จะเป็นทัชแพดขนาดใหญ่ กว้างจนริมทั้งสองฝั่งของแป้นยาวไปเกือบสุดปุ่ม Alt ทั้งสองฝั่งและยาวลงมาจนเกือบสุดขอบตัวเครื่อง รองรับ Gesture Control ของ Windows และใช้งานได้สะดวก ดีไซน์ซ่อนปุ่มคลิกซ้ายขวาเอาไว้ใต้ตัวทัชแพด แต่เพราะแป้นมีขนาดใหญ่เช่นนี้เวลาวางมือพิมพ์งานหรือเล่นเกมแล้วสันมือซ้ายก็จะทาบลงไปตรงกลางแป้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าใช้ทำงานตามปกติก็ต้องถือว่าเป็นทัชแพดที่มีขนาดใหญ่ใช้งานสะดวก แต่แนะนำว่าไม่ควรวางมือไว้บนตัวเครื่องไม่ให้ทัชแพดลั่นเวลาใช้งาน แต่ตอนเล่นเกมแนะนำให้ปิดทัชแพดทิ้งจะได้ไม่รบกวน
Connector / Thin & Weight
เนื่องจากดีไซน์ของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 ยังอิงบอดี้เป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานอยู่ ดังนั้นพอร์ตของตัวเครื่องจะติดตั้งอยู่ขอบเครื่องฝั่งซ้ายและขวาเป็นหลัก โดยแต่ละข้างมีพอร์ตดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – ช่องปลั๊กของ Lenovo, LAN RJ45, HDMI 2.0, USB-C 3.1 Gen 1
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – ไฟแสดงสถานะตัวเครื่อง, NOVO Hole สำหรับทำ System Recovery, USB-A 3.1 Gen 1 x 2 ช่อง
ซึ่งพอร์ตทั้งหมดนี้ต้องถือว่าทาง Lenovo ให้มาครบถ้วนพอใช้งาน จะต่อหน้าจอแยกหรือ LAN ก็ใช้ได้โดยไม่ต้องพึ่งอแดปเตอร์แยกเลย แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่าทางบริษัทน่าอัพเกรดพอร์ต USB-C ให้เป็น Full Function ให้ชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery และต่อจอแยกแบบ DisplayPort ได้ จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ยิ่งขึ้นหรืออย่างน้อยก็รองรับการต่อหน้าจอแยกก็ยังดี เวลาต้องต่อ USB-C กับหน้าจอที่เป็น Port Hub ในตัวจะได้ใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชั่นและไม่ต้องลำบากพกปลั๊กไปไหนมาไหนตลอดเวลา
น้ำหนักเฉพาะตัวเครื่อง เมื่อชั่งแล้วหนักเพียง 2.13 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่า 2.25 กิโลกรัมที่เคลมไว้ในหน้าสเปคบนเว็บไซต์ ถ้ารวมชุดอแดปเตอร์ 518 กรัม จะหนัก 2.65 กิโลกรัม นับเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่หนักพอควรและไม่ควรใส่กระเป๋าแบบสะพายข้างเท่าไหร่ เวลาพกเครื่องไปไหนมาไหนควรใช้กระเป๋าเป้เป็นหลักจะดีสุดและไม่ส่งผลกระทบกับไหล่และหลังของผู้ใช้ด้วย
Inside & Upgrade
การแกะอัพเกรด Lenovo IdeaPad Gaming 3 ถือว่าทำได้ง่าย เพราะน็อตของตัวเครื่องเป็นหัวแบบ Philip head หรือหัวแฉกเครื่องหมายบวกขนาดเล็กสามารถเอาไขควงขันออกได้เลย แต่จากภาพจะเห็นว่าน็อตจะมีทั้งตัวยาวและสั้น แต่แยกไม่ยากเนื่องจากน็อตตัวสั้น 4 ตัวจะขันล็อคเฉพาะขอบล่างของตัวเครื่องเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในจุดพิเศษปะปนกับชุดน็อตตัวยาว
จุดที่อัพเกรดได้มี 2 ส่วน อย่างแรกคือ RAM ใต้ฝาครอบอลูมิเนียมแบบล็อคคลิปไว้ ช่วยป้องกันไฟฟ้าสถิตและอุบัติเหตุไม่คาดฝันซึ่งอาจจะทำให้แรมเสียหาย และถ้าใครใช้โน๊ตบุ๊คตระกูล IdeaPad มาก่อนจะจำได้ว่าทาง Lenovo มักเอาโครงเหล็กมาครอบชิ้นส่วนเปราะบางบนเมนบอร์ดเป็นประจำ ซึ่งบางรุ่นอาจจะครอบตัว M.2 NVMe SSD ด้วย
วิธีแกะแค่ใช้ไขควงปากแบนงัดริมกรอบโลหะออกแล้วเปลี่ยนแรมได้ทันที แต่ในส่วนนี้ผู้เขียนคิดว่าไม่จำเป็นต้องอัพเกรดก็ได้เพราะเครื่องนี้ได้แรม 16GB DDR4 จากโรงงานแล้ว และเป็นความจุสูงสุดที่เครื่องนี้รับได้อีกก็ปล่อยส่วนนี้ทิ้งไว้ได้ ยกเว้นเกิดเหตุสุดวิสัยแล้วแรมเสียต้องถอดเปลี่ยนหรือเคลมค่อยแกะเปลี่ยนในภายหลังเอา
ด้าน M.2 NVMe SSD ถัดลงมาจากการ์ด Wi-Fi PCIe นั้น จะมีหัวอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ทั้งหมด 2 ช่อง โดยรุ่นจากโรงงานจะเป็นแบบ M.2 2242 แบบสั้นและทาง Lenovo ใช้วิธีเสริมแผ่นเหล็กยืดความยาวให้เป็นขนาดมาตรฐาน M.2 2280 แทน
ผู้ใช้ที่รู้สึกว่าความจุ 512GB มีน้อยไม่พอใช้ก็ใส่ SSD เพิ่มได้และเอาน็อตตรงลูกศร M.2×3.5 อยู่ข้างๆ หัว SSD มาขันล็อคได้เลยหรือจะเปลี่ยนใส่รุ่นประสิทธิภาพสูงทั้งคู่ ก็ถอดตัวเก่าไปทำ External SSD แทนก็ดีเช่นกัน เวลาถอดไดรฟ์ให้ขันน็อตแล้วดึง SSD ออกตรงๆ ได้เลย ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าการขันน็อตเก็บไว้บนเมนบอร์ดแบบนี้ดี น็อตไม่หายแน่นอนเวลาจะใช้ก็ขันออกไปใช้ได้เลย
Performance & Software
ซีพียูของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 เครื่องทดสอบ เป็นสเปครุ่นสูงสุดของทางบริษัท ติดตั้ง AMD Ryzen 7 5800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.2-4.4GHz เป็นสถาปัตยกรรม AMD Zen 3 ทรานซิสเตอร์ขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งผลิตโดยโรงงาน TSMC มีค่า TDP 45 วัตต์ รองรับชุดคำสั่งต่างๆ ที่ต้องใช้งานครบถ้วนและประสิทธิภาพสูงพร้อมทำงานและเล่นเกมใหญ่ๆ ได้ดี
RAM ในตัวเครื่องเป็น SO-DIMM ทั้งหมด 2 ช่อง ความจุ 16GB DDR4 บัส 3200MHz และโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็รองรับแรมสูงสุด 16GB เท่านั้น หมายความว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้รับการอัพเกรดเต็มที่จากโรงงานแล้ว ไม่ต้องลำบากอัพเกรดเองภายหลังก็ได้
การ์ดจอแยกเป็น NVIDIA GeForce RTX 3060 แรม 6GB GDDR6 ประสิทธิภาพสูงพร้อมทำงานและเล่นเกมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รองรับชุดคำสั่งครบถ้วนทุกอย่างทั้ง OpenCL, OpenGL 4.6, Vulkan, DirectCompute, DirectML, CUDA, Ray Tracing, PhysX ด้วย จะใช้ทำงานหรือเล่นเกมก็สามารถทำได้ดีอย่างแน่นอน
พาร์ทในเครื่องเมื่อดูใน Device Manager จะเห็นว่าทาง Lenovo ติดตั้งมาครบถ้วน ทั้ง TPM 2.0 ซึ่งเป็นชิปสำคัญสำหรับบูตระบบรักษาความปลอดภัยตัวเครื่องของ Windows 11, การ์ด PCIe Wi-Fi 6 ของ MediaTek รุ่น MT7921 เป็นมาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.0 ในตัว ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ที่รองรับ Bluetooth ต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะหูฟังหรือจอยเกมก็ได้ และประสิทธิภาพจัดว่าไม่แพ้ชิป Intel อย่างแน่นอน
ด้าน M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB ใน Lenovo IdeaPad Gaming 3 ตัวนี้จะเป็นรุ่น OEM จาก Samsung มีรหัส MZALQ512HBLU-00BL2 พอทดสอบความเร็วด้วย AS SSD แล้ว ได้ความเร็ว Sequential Read 2,638.31MB/s และ Sequential Write 1,541.23MB/s จัดอยู่ในระดับกลางๆ พอโหลดโปรแกรมและเกมต่างๆ ได้เร็วระดับหนึ่ง
แต่ความเร็วระดับนี้เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วยังถือว่าไม่เร็วนัก และถ้าใครอยากโหลดโปรแกรมกับเกมให้เร็วยิ่งขึ้น แนะนำให้อัพเกรดเป็นรุ่นที่ดีกว่านี้ดีกว่า โดย M.2 NVMe SSD รุ่นแนะนำน่าซื้อมาเปลี่ยน ได้แก่ WD Black SN750, Samsung 980 หรือ Kingston KC2500 หรือหารุ่นความเร็วเทียบเท่าไล่เลี่ยมาใช้ก็ดีเช่นกัน
ส่วนการทดสอบเรนเดอร์ 3D CG ด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 ที่ทดสอบกำลังการเรนเดอร์กราฟฟิคแล้ว ได้คะแนน OpenGL 130.17 fps และ CPU ได้ 1,637 cb จัดว่าประสิทธิภาพดี สามารถทำงาน 3D CG และนำไปพรีเซนต์งานได้สบายๆ และพอทดสอบด้วย CINEBENCH R20 ซึ่งโฟกัสการทดสอบกำลังการเรนเดอร์ของซีพียูอย่างเดียว ได้คะแนน 3,539 pts ซึ่งถ้าได้คะแนนระดับนี้นับว่า AMD Ryzen 7 5800H มีประสิทธิภาพสูง ใช้ทำงานหนักได้สบายไม่ต้องกังวลว่าจะทำงานกราฟฟิคแล้วไม่ลื่น
ในส่วน 3DMark Time Spy เมื่อรันตัวโปรแกรมเพื่อทดสอบดูว่า Lenovo IdeaPad Gaming 3 จะเล่นเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันนี้ได้ไหลลื่นหรือไม่ ซึ่งผลคะแนนที่ได้สามารถพูดได้ว่าเครื่องนี้เล่นได้สบายๆ แน่นอน โดยได้ผลคะแนนรวมที่ 6,493 คะแนน แยกเป็น CPU score 6,016 คะแนน และ GPU score 6,586 คะแนน ซึ่งคะแนนนี้เป็นตัวการันตีได้เลยว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ จะเล่นเกมบนหน้าจอ Full HD ของตัวเองหรือต่อหน้าจอแยกความละเอียด 1080p หรือ QHD ก็ปรับกราฟฟิคสูงสุดแล้วเล่นเกมได้สบายๆ แน่นอน
พอทดสอบจำลองการทำงานด้วย PCMark 10 จะเห็นว่าคะแนนเฉลี่ยของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 นั้นทำคะแนนเฉลี่ยไปได้ 5,928 คะแนน ซึ่งจัดว่าสูงทีเดียว ยิ่งดูแยกหมวดหมู่จะเห็นว่านอกจาก Essentials, Productivity ที่อิงพลังการทำงานของซีพียูแล้ว ด้าน Digital Content Creation ซึ่งทดสอบการตัดต่อวิดีโอ, แต่งภาพหรือทำ Virtualization ด้วยการ์ดจอแยกก็ได้คะแนนไล่เลี่ยกันกับ 2 หมวดก่อนไม่ดึงคะแนนเฉลี่ยลงด้วย ดังนั้นถ้าใครอยากซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปทำงานซื้อเครื่องนี้ไปใช้ถือว่าไม่ผิดหวังแน่นอน
จากการทดสอบเล่นเกม ต้องถือว่า Lenovo IdeaPad Gaming 3 สามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์ปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดได้ทุกเกมได้สบายๆ ได้เฟรมเรทเฉลี่ยเกิน 60 fps ทั้งหมดและไม่เกิดอาการเฟรมกระตุกชั่วเสี้ยววินาทีให้เห็นเลยแม้แต่นิดเดียวเลย โดยเฉพาะเกมแนว Battle Royal อย่าง Apex Legends, PUBG หรือ MOBA อย่าง DotA 2 เรียกว่าปรับกราฟฟิคไประดับสูงสุดก็เล่นได้สบายๆ ไม่มีปัญหา
ด้านของเกมเนื้อเรื่องอย่าง Resident Evil Village หรือจะ Elden Ring ที่ผู้เขียนทดลองปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดทุกแล้ว ก็ได้ภาพที่ไหลลื่นต่อเนื่องและเรนเดอร์เอฟเฟคต่างๆ ไม่ว่าจะไฟหรือฉากระเบิดก็ทำได้ดีไม่มีปัญหาเฟรมเรทตกกะทันหันแม้แต่น้อย ถือว่า NVIDIA GeForce RTX 3060 มีประสิทธิภาพไว้ใจได้
ซึ่งส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าถ้าเล่นเกมที่ระดับ 1080p ยังได้เฟรมเรทสูงระดับนี้ ก็มั่นใจว่ามันสามารถต่อหน้าจอแยกระดับ QHD แล้วปรับกราฟฟิคระดับสูงก็เล่นได้ดีไม่มีปัญหา และยังได้ภาพสวยคมกว่าเดิมด้วย ถ้าอยากได้เฟรมเรทเพิ่มก็เปิด NVIDIA DLSS ช่วยได้ด้วย ถ้าใครไม่อยากรอประกอบเกมมิ่งพีซีก็ซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปต่อหน้าจอแยกได้เลย และยังพกเครื่องไปทำงานได้ไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์หลายเครื่องให้เปลืองเงินอีกด้วย
จุดแตกต่างของซอฟท์แวร์ Lenovo Vantage เมื่อติดตั้งใน Lenovo IdeaPad Gaming 3 แล้ว จะไม่ได้เป็นเวอร์ชั่นทั่วไปที่พบเห็นในโน๊ตบุ๊คสายทำงานปกติ เพราะตัวซอฟท์แวร์จะเปลี่ยนหน้าตาเป็นแบบ Lenovo Legion แสดงการมอนิเตอร์ตัวเครื่อง พร้อม Thermal Mode เปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้ว่าจะเน้นเรื่องประหยัดพลังงานหรือจะรีดประสิทธิภาพเต็มที่ให้ทำงานและเล่นเกมได้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ก็มี System Tools เอาไว้อัพเดทเฟิร์มแวร์ต่างๆ ของตัวเครื่อง, ปรับเสียงลำโพงด้วยซอฟท์แวร์ Nahimic และปรับแต่งการตั้งค่าส่วนอื่นๆ ได้ด้วย
ด้านจุดเด่นไม่มีใครเหมือน คือ Lenovo Vantage มีระบบเซ็ตปุ่มมาโครให้ Numpad ได้ด้วย ซึ่งจะทำงานหรือเล่นเกมแล้วต้องกดคีย์ลัดหรือเรียกคำสั่งต่างๆ ก็น่าจะได้ใช้ประโยชน์แน่นอน
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 เป็นแบบ Li-ion ขนาด 60Wh มีความจุแบบ Typical 3,910mAh และ Rated 3,810mAh ซึ่งความจุนี้ถือว่าไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คสายทำงานหลายๆ รุ่น แต่ในฐานะที่เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คนับว่าค่อนข้างน้อยอยู่
เมื่อทดสอบระยะเวลาใช้งานตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ โดยลดความสว่างหน้าจอต่ำสุด, เปิดเสียงลำโพง 10%, เปลี่ยนโหมดตัวเครื่องเป็น Battery Saver ทั้งของ Windows และใน Lenovo Vantage และใช้ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube นาน 30 นาที แบตเตอรี่ 60Wh ของ IdeaPad Gaming 3 เครื่องนี้สามารถใช้งานได้ 3 ชั่วโมง 45 นาทีเท่านั้น นับว่าใช้งานได้ไม่นานจนน่าเสียดาย ซึ่งถ้าเอาไปประชุมหรือเข้าห้องเรียนก็อยู่ได้ไม่นานเครื่องก็ดับแล้ว ทั้งที่เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้สามารถใช้งานได้ราว 6 ชั่วโมงครึ่งหรือ 7 ชั่วโมงได้แล้ว
ซึ่งปัญหานี้ ผู้เขียนเองก็ได้อัพเดทเฟิร์มแวร์ที่จำเป็นผ่าน Lenovo Vantage จนเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้ว รวมทั้งพยายามปรับโหมดและทดสอบซ้ำอีก 2-3 ครั้ง ก็ยังได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม ซึ่งผู้เขียนคาดว่าปัญหามาจากชุดคำสั่งภายในตัวเครื่องอาจจะยังปรับแต่งมาไม่สมบูรณ์นัก เลยใช้งานได้ไม่นานเท่าที่ควรจะเป็น คาดว่าต้องรอการอัพเดทเฟิร์มแวร์เพื่อแก้ปัญหานี้ในอนาคต
ด้านชุดระบายความร้อนของตัวเครื่อง จะมีฮีตไปป์ทั้งหมด 3 เส้นเท่านั้นโดยมีเส้นหลักเส้นบนสุด 1 เส้นแชร์กัน และมีฮีตไปป์ส่วนตัวทั้งซีพียูและการ์ดจออีกชิปละเส้น เดินไปป์ระบายความร้อนตรงไปยังพัดลมโบลวเวอร์ทั้งสองฝั่งของตัวเครื่องแล้วเป่าลมร้อนออกทั้งด้านข้างและหลังเครื่องเพื่อระบายความร้อนตอนทำงานเต็มที่
ความร้อนจากโปรแกรม CPUID HWMonitor มอนิเตอร์อยู่แล้ววัดได้ จะเห็นว่าซีพียูมีความร้อนอยู่ที่ 59~94 องศา เฉลี่ย 70 องศาเซลเซียส ส่วนการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 จะอยู่ที่ 38~65 องศา เฉลี่ย 44 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิระดับนี้ ต้องถือว่าไม่ร้อนเกินไปจนตัวเครื่องลดประสิทธิภาพการทำงานลง (Thermal Throttling) ก็สรุปได้เลยว่าจุดระบายความร้อนของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 มีประสิทธิภาพดีทีเดียว
User Experience
Lenovo IdeaPad Gaming 3 เอง ต้องถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหน้าตาเรียบง่ายเหมือนโน๊ตบุ๊คทำงานธรรมดาๆ เครื่องหนึ่ง สามารถยกเครื่องติดตัวไปไหนมาไหนโดยไม่สะดุดตาเกินไป แต่ประสิทธิภาพเรียกว่าดีไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ด้วยพลังของ AMD Ryzen 7 5800H, การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 และแรมอีก 16GB DDR4 ก็ทำงานออฟฟิศทั่วไปได้สบายๆ ตั้งแต่งานเอกสารทั่วไปจนกระทั่งงานตัดต่อวิดีโอหรือแต่งภาพถ่ายจากกล้องก็ไม่มีปัญหา นอกจากนี้หน้าจอขอบเขตสีกว้างก็พรู้ฟสีได้อีกด้วย เรียกว่าครบรอบด้านดี
ยิ่งไปกว่านั้น โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เองก็เล่นเกมฟอร์มยักษ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเล่นบนหน้าจอตัวเครื่องหรือต่อหน้าจอแยกก็ไม่มีปัญหาไม่ว่าจะนั่งเล่นบนหน้าจอของตัวเครื่องเองก็ดีหรือต่อจอแยกก็เล่นได้สบายๆ ในส่วนนี้ถ้าใครอยู่ห้องแล้วพื้นที่ไม่กว้างมากแต่ก็อยากเล่นเกม ก็ซื้อเครื่องนี้พร้อมกับหน้าจอคอมสักตัวก็พอแล้ว และด้วยการ์ดจอ GeForce RTX 3060 ก็รองรับความละเอียดหน้าจอระดับ 1080p หรือ QHD ก็ได้สบายๆ
ด้านการพกพาและพอร์ต ผู้เขียนขอแนะนำให้ใช้กระเป๋าเป้ไปเลยเนื่องจากตัวเครื่องหนักระดับ 2 กิโลกรัมต้นๆ และควรพกปลั๊กติดตัวด้วยทำให้น้ำหนักรวมจบราว 2.6 กิโลกรัม ซึ่งถ้าสะพายกระเป๋าสะพายข้างแบบ Messenger Bag คงจะไม่ดีต่อสรีระร่างกายและไหล่อย่างแน่นอน นอกจากนี้เรื่องของพอร์ต USB-C ที่รองรับแค่การโอนไฟล์เข้าออกอย่างเดียว ชาร์จแบตเตอรี่หรือต่อหน้าจอแยกไม่ได้ถือว่าน่าเสียดาย ถ้า Lenovo อัพเกรดให้เป็น USB-C Full Function ไปเลยจะมีประโยชน์กว่าแม้จะมีพอร์ตเดียวก็ยังดี นั่นเพราะเจ้าของเครื่องสามารถต่อ USB-C Multiport adapter แปลงเป็นพอร์ตต่างๆ ตอนนั่งทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ หรือตอนพกเครื่องไปไหนมาไหน ก็ไม่ต้องพกปลั๊กเฉพาะของตัวเครื่องติดกระเป๋าให้หนัก เปลี่ยนมาใช้ปลั๊ก GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์ ชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องได้ ช่วยลดน้ำหนักในกระเป๋าลงไปได้เยอะและสะดวกอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนหวังว่าทางบริษัทจะอัพเกรดเรื่องพอร์ต USB-C เพิ่มอีกสักนิดในโมเดลย่อยรุ่นต่อๆ ไป เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย
สรุปแล้ว Lenovo IdeaPad Gaming 3 แม้จะมีจุดสังเกตอยู่พอควร แต่ผู้เขียนก็ชื่นชอบเป็นส่วนตัวแม้ ไม่ว่าจะเรื่องแบตเตอรี่ใช้ได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง หรือแม้แต่ USB-C ใช้โอนถ่ายไฟล์ได้อย่างเดียวไม่รองรับการต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่ แต่กลับกัน สเปคของเครื่องนี้จัดว่าดีคุ้มค่าตัว จะเอาไว้ทำงานหรือเล่นเกมไม่ต้องประกอบพีซีก็ได้ แล้วพอคำนวนกับราคาเครื่องกับจุดที่น่าอัพเกรดเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย ก็ถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสเปคดีราคาเข้าถึงง่ายสุดรุ่นหนึ่ง
Conclusion & Award
สรุปแล้ว ถ้าใครอยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเอาไว้เล่นเกมและทำงานได้ด้วยสักเครื่อง Lenovo IdeaPad Gaming 3 เครื่องนี้จัดเป็นตัวเลือกที่ดีมาก เพราะราคา 37,990 บาท แต่ได้สเปคดีและจบจากโรงงาน อย่างมากก็เปลี่ยน M.2 NVMe SSD อีกนิดหน่อยก็เพียงพอ ก็ใช้งานได้ดีตั้งแต่งานออฟฟิศทั่วไป, งานตัดต่อวิดีโอหรือทำโมเดล 3D CG ก็ไม่มีปัญหา รวมทั้งเอาไว้เล่นเกมแทนการประกอบเกมมิ่งพีซีสักเครื่องได้เลย
ถ้าให้จัดกลุ่มแล้ว ต้องถือว่า IdeaPad Gaming 3 เหมาะกับผู้ใช้หลากหลายกลุ่มมาก ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษาที่หาโน๊ตบุ๊คดีๆ เครื่องเดียวซื้อมาใช้แล้วคุ้มไปเลยแบบ One-size-fits-all ใช้ทำรายงานหรือเล่นเกมในเวลาว่างก็ได้ หรือคนทำงานออฟฟิศไม่ว่าจะงานเอกสารหรือจะตัดต่อวิดีโอก็สะดวก ยิ่งถ้าใครอยู่บ้านหรือคอนโดมิเนียมแล้วมีพื้นที่จำกัดอยู่พอควรก็ซื้อเครื่องนี้มาเครื่องเดียวแล้วเสริมหน้าจอและอุปกรณ์เสริมเข้าไปก็เพียงพอแล้ว
award
best value
ถ้าจะหาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คราคาไม่เกิน 38,000 บาทเอาไว้ใช้ทั้งทำงานและเล่นเกมสักเครื่อง ณ ปีนี้ เรียกว่ามีเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สมกับคำว่าสเปคคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป ซึ่ง Lenovo IdeaPad Gaming 3 ได้ทั้ง AMD Ryzen 7 5800H, NVIDIA GeForce RTX 3060, M.2 NVMe SSD 512GB พร้อม Windows 10 Home และแรมอีก 16GB DDR4 กับราคาเพียง 37,990 บาท เท่านั้น ถือว่าคุ้มค่าราคาที่จ่ายไปอย่างแน่นอน
best gaming
สเปคของ Lenovo IdeaPad Gaming 3 ถือว่าแรงจบจากโรงงาน เปิดเกมฟอร์มยักษ์ปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดก็ยังเล่นเกมได้ไหลลื่นและผู้เขียนมั่นใจว่าสเปคนี้ยังเล่นเกมไปได้อีก 2-3 ปี ยิ่งถ้าเปลี่ยน M.2 NVMe SSD อีกนิดก็พอ จึงเหมาะกับรางวัล Best Gaming โดยไม่ต้องสงสัย