Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

เมนบอร์ดเสีย 2022 เช็คเอง 10 ขั้นตอนแก้ปัญหาในเบื้องต้น ก่อนส่งเคลม

เมนบอร์ดเสีย 10 ขั้นตอน ช่วยแก้ไขและเช็คอาการแบบง่ายปี 2022 แนวทางการส่งซ่อมและเคลม

เมนบอร์ดเสีย

เมนบอร์ดเสีย เป็นเรื่องที่ใครหลายคนไม่อยากเจอ ยิ่งอยู่ห่างไกล หาช่างซ่อมก็ยาก ราคาแพง หลายคนก็เลือกที่จะซื้อใหม่ เพื่อเป็นการตัดปัญหา แต่ถ้าคุณไม่ได้รีบร้อนที่จะใช้งานคอมด่วน วันนี้เราก็มีวิธีแนะนำในการตรวจเช็ค ที่เริ่มจากวิธีง่ายๆ ไปจนถึงความยากระดับ 2 มาฝากกัน รวมถึงวิธีแก้ไขปัญหา ที่มักจะพบกันบ่อย เวลาที่เมนบอร์ดเสีย รวมถึงแนวทางการส่งซ่อม เคลม ซ่อมที่ไหน เคลมที่ใด และปิดท้ายด้วยการดูแลเมนบอร์ด เพื่อให้คุณใช้งานกันไปได้นานๆ ด้วย 10 ขั้นตอนเหล่านี้ คุณสามารถทำได้เองทั้งหมด เอาใจผู้ใช้คอมในปี 2022 นี้ครับ

เมนบอร์ดเสีย เช็คได้ใน 10 ขั้นตอน อัพเดต 2022

  1. เมนบอร์ดเสียอาการเป็นอย่างไร?
  2. แบบไหนที่ต้องเคลม
  3. ลองใช้ไปก่อน หรือส่งซ่อมเลยดี
  4. มีอุปกรณ์มาลองทดสอบ
  5. เอาออกมาทำความสะอาด
  6. ถ้าเกิดจากระบบไฟฟ้า ลองมองหา UPS สักเครื่อง
  7. ซ่อมกับซื้อใหม่ แบบไหนดี
  8. มีประกันมั้ย แบบไหนเคลมได้
  9. ซ่อมที่ไหนดี
  10. การดูแลเมนบอร์ด

1.เมนบอร์ดเสียอาการเป็นอย่างไร?

อาการที่จะเกิดเมื่อเมนบอร์ดเสีย มีด้วยกันหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่า เกิดขึ้นจากจุดใดบนเมนบอร์ด แต่ก็จะมีอาการที่พบกันอยู่บ่อยๆ เช่น

Advertisement
เมนบอร์ดเสีย

ไฟไม่เข้า เปิดคอมไม่ติด ทุกอย่างเงียบ: อาการแบบนี้ค่อนข้างเป็นหนัก เมนบอร์ดเสีย อาจเกิดจากภาคจ่ายไฟ หรือการลัดวงจรในบางจุด ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการเสื่อมสภาพ หรือจะเป็นที่ชิปเซ็ตเสียหาย ไปจนถึงมีรอยไหม้บนเมนบอร์ด ที่เกิดได้ทั้งบน ชิป ภาคจ่ายไฟ คาปาซิเตอร์ รวมถึงสล็อตและพอร์ตต่อพ่วงเป็นต้น ซึ่งเกิดจากสิ่งสกปรก สัตว์แมลงหรือน้ำ และความชื้นก็เป็นได้ แต่ปัจจุบันในหลายจุด สามารถถอด เปลี่ยน ซ่อมแซมใหม่ได้เกือบทั้งหมด แต่สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ ลองเช็คสายสัญญาณจากปุ่มเพาเวอร์บน Front panel ของเคสด้วยว่า ยังเชื่อมต่ออยู่ดีหรือปุ่มเพาเวอร์ไม่เสีย

เข้าได้แค่หน้า BIOS เข้า Windows ไม่ได้: อาจเป็นความเสียหายที่เชื่อมต่อกัน โดยเฉพาะระบบ Storage ซึ่งอาจเกิดจากพอร์ตต่อพ่วงเสีย เช่น พอร์ต SATA กับฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ก็ตาม รวมถึงความเสียหายจากชิปเซ็ต ก็เป็นไปได้ แต่ก็ยังเป็นอาการที่พอจะตรวจเช็ค ซ่อมแซม แก้ไขได้ไม่ยาก นั่นคือ หากพอร์ตเสียหาย ก็ยังมีพอร์ต SATA ที่เหลือให้ใช้ แต่ถ้าหากเป็นที่ HDD หรือ SSD ความเสียหายก็อาจจะรุนแรงบ้างในแง่ของข้อมูลที่อยู่ภายใน แต่ก็ยังหาอันใหม่มาเปลี่ยนได้ แค่ลงวินโดว์ใหม่ ก็พร้อมใช้งานได้เหมือนเดิม

เมนบอร์ดเสีย

เสียบฮาร์ดแวร์แล้วไม่เจอ เห็นไม่ครบ: เช่น การ์ดต่อพ่วงหรือแรม อาการเหล่านี้ มีผลเสียพอสมควร เพราะถ้าสล็อตต่างๆ เสีย เช่น PCI-Express สำหรับการ์ดจอ ถ้ามีสล็อตเดียว ก็คงจะย้ายไปเสียบช่องอื่นไม่ได้ จะต่างจากสล็อตแรม หากเสียหนึ่งสล็อต อย่างน้อยๆ ก็จะมีอีกสล็อตหรือ 3 สล็อตให้ได้สลับเปลี่ยนมาใช้ได้บ้าง ยังไม่ต้องถึงกับต้องเปลี่ยนเมนบอร์ดใหม่

เข้าระบบปฏิบัติการได้ แต่คอมดับ: อาการนี้ อาจเกิดได้ทั้งจากเมนบอร์ด และอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกัน เช่น ซีพียูเสีย ก็เป็นได้แต่โอกาสน้อยมาก แต่อาจเป็นเรื่องความร้อน ซึ่งสูงเกินจนระบบตัดการทำงาน เป็นไปได้ว่าชุดระบายความร้อนมีปัญหา พัดลมไม่หมุน ก็เป็นได้ นอกจากนี้อาจมีบางจุดที่เสียหาย หรือลัดวงจร แต่ทั้งหมดนี้ อาจแก้ปัญหาด้วยการทำความสะอาด

เกิดบลูสกรีนบ่อย: อาจเกิดจากเมนบอร์ด แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะอาจเป็นเพราะอุปกรณ์ที่ติดตั้งเข้าไปด้วย และแรม มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ วิธีการเช็คก็เพียง ถอดสลับแรมติดตั้งทีละแถว แล้วเปลี่ยนใส่ในแต่ละสล็อต ลองดูว่าจะเกิดอาการจากแรมแถวใดหรือสล็อตใด หรือแค่ทำความสะอาดหน้าสัมผัสของแรม รวมถึงเป่าฝุ่นหรือใช้ Contact Cleaner ก็กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมแล้ว

เมนบอร์ดเสีย

เมาส์ คีย์บอร์ดค้าง จบด้วยการ Reset: อาจเกิดจากพอร์ตที่ต่อพ่วง โดยเฉพาะพอร์ต USB เสียหาย ให้ลองถอดอุปกรณ์ออกมา แล้วบูตเครื่องอีกครั้ง ดูว่ายังเป็นอีกมั้ย หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ไปต่อพอร์ตอื่นๆ แล้วดูว่าระบบยังบูตได้ ไม่ค้าง ถ้าเปลี่ยนพอร์ตแล้วยังเป็น ก็อาจเป็นไปได้ว่า อุปกรณ์ที่ต่อพ่วงนั้นเสียหาย ต้องเปลี่ยน เมาส์ คีย์บอร์ด แฟลชไดรฟ์ใหม่นั่นเอง

ใส่แรมได้แค่บางสล็อต: ก็ค่อนข้างชัดเจนเลยว่า จะมีบางสล็อตแรมที่เสียหาย ใช้งานไม่ได้ ซึ่งงานนี้ก็ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ หากมีแค่ 2 สล็อต แนะนำส่งซ่อมหรือเคลม เพราะจะได้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอัพเกรดได้ แต่ถ้ามี 4 สล็อต บางทีหมดประกันแล้ว เหลืออีก 3 สล็อต ก็ยังพอไปไหว ไม่ต้องไปเสียค่าซ่อมเพิ่มเติม


2.แบบไหนที่ต้องเคลม

ถ้าโดนส่วนตัว เมนบอร์ดเสีย อาการจะมากน้อย ส่งผลกระทบต่อการทำงานในชีวิตประจำวัน แนะนำให้เคลม แต่ก็จะมีปัญหาว่า บางครั้งถ้าเคลมก็ต้องยกไปทั้งเครื่อง หรือถ้าเคลมแล้วจะเอาคอมที่ไหนทำงาน สิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่มีผลต่อการตัดสินใจไม่น้อย วันนี้เราเลยมีข้อเสนอแนะมาพูดถึงกันในเรื่องการส่งเคลมครับ

เมนบอร์ดเสีย

เสียเฉพาะบางอย่าง ไม่ได้ส่งผลต่อการใช้งานมากนัก เช่น พอร์ต USB ด้านหลังเสีย หรือ WiFi ที่เป็นโมดูลมาในเครื่องใช้ไม่ได้ เพราะพอร์ต USB ก็ยังมีให้เลือกใช้ ด้านหลังก็มี ด้านหน้าก็ต่อเพิ่มได้ หรือถ้าเป็น WiFi บางครั้งหาโมดูล USB WiFi หรือเป็นแบบ PCI-Express มาใช้ก่อน ก็ยังง่ายและยืดหยุ่นกว่า แบบนี้อาจจะยังไม่ต้องเคลม หากคุณไม่พร้อม หรือหากร้านมีของให้คุณสับเปลี่ยนมาใช้ ก็ส่งเคลมเลยก็ง่ายกว่า

เมนบอร์ดเสีย

แต่ถ้าในกรณีที่อาจมีผลต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมถึงการอัพเกรด เช่น มีสล็อตแรม 2 ช่อง แต่เสียไป 1 นอกจากจะอัพเกรดเพิ่มไม่ได้ ก็ยังลดประสิทธิภาพการทำงานในแง่ของ Dual channel ได้ หรือหากเป็นสล็อต PCI-Express เสีย มีมีสล็อตอื่นสำรอง ทำให้ต้องใช้การ์ดจอบนซีพียู ไม่ว่าจะเป็น iGPU หรือ APU ก็ตาม การเล่นเกมก็อาจจะไม่ลื่น รวมถึงต้องดึงศักยภาพของซีพียูไปอีก แบบนี้แนะนำว่าส่งเคลมดีที่สุด

เสียแบบเปิดไม่ติด ไม่เข้าวินโดว์ ถ้าอาการแย่มาก ประมาณว่า ไฟไม่เข้า บูตไม่ติด หรือติดๆ ดับๆ แบบนี้ ถ้าเช็คอาการเบื้องต้นแล้วยังไม่หาย แนะนำว่าให้ส่งเคลมจะดีที่สุด เพราะอย่างไรแล้ว คุณก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ และยังมีโอกาสจะเคลมกลับมาได้รวดเร็วยิ่งกว่า ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์อื่นๆ อีกด้วย


3.ลองใช้ไปก่อน หรือส่งซ่อมเลยดี

กรณีที่เปิดติดๆ ดับๆ หรือใช้ไปแล้ว Bluescreen อยู่ตลอด แนะนำว่าส่งซ่อมหรือเคลมจะดีกว่า เพราะปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่ได้ใช้งานอยู่ดี แนะนำว่าให้ยกไปให้ทีมช่างตรวจเช็คดูก่อนทั้งชุด เผื่อจะไม่ได้เกิดจากเมนบอร์ด แต่อาจจะเกิดจากอุปกรณ์อื่นที่ทำให้ลัดวงจรหรือเสียหายอยู่ อาจจะเปลี่ยนหรือแก้ไขเล็กน้อย ก็สามารถนำกลับมาใช้งานได้แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องเช็คจากผู้รับเคลมว่า ใช้เวลามากน้อยเพียงใดในการซ่อมแซมหรือเคลมเปลี่ยน เพื่อที่จะได้ประเมินช่วงเวลาในการหาคอมเครื่องใหม่มาใช้งานทดแทน หรือจะใช้โน๊ตบุ๊ค ออลอินวันเป็นการชั่วคราวก่อน


4.มีอุปกรณ์มาลองทดสอบ

เมนบอร์ดเสีย

เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่เรื่องจริงคือ คงไม่ได้มีใครที่ซื้ออุปกรณ์มาเผื่อซ่อมหรือเก็บไว้ใช้งานกันมากนักครับ นอกจากนี้บางท่านจะแกะเครื่องซ่อมหรือเปลี่ยน ก็ไม่ได้ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์อย่างเมนบอร์ดเอง หากจะแกะ ก็เหมือนกับต้องรื้อทั้งเครื่อง แต่ก็สามารถเช็คด้วยอุปกรณ์อย่างอื่นแทนไปก่อนได้ ไม่ว่าจะเป็น

เปลี่ยนถ่าน BIOS อย่ามองข้ามเลยครับ สำหรับการทำสิ่งนี้ เพราะบางครั้ง การที่เมนบอร์ดไม่ทำงาน ค้างอยู่หน้าไบออสหรือไม่เข้าวินโดว์ สิ่งนี้ก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ถ่าน BIOS นั้นเปลี่ยนง่ายที่สุดแล้ว มีลักษณะที่เรียกว่าถ่านกระดุม เบอร์ 2032 มีจำหน่ายที่ร้านค้า ห้างไอที และแหล่งที่ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป รวมถึงร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า

เมนบอร์ดเสีย

สลับแรม ถ้ามีแรมมากกว่า 2 แถวยิ่งง่ายเลย เช็คดูทีละสล็อต เปลี่ยนแรมทีละแถว ก็เช็คได้แล้วว่ามีปัญหาที่แรมหรือไม่ หรือถ้าให้มั่นใจ ก็อาจจะลองไปหยิบยืมจากเพื่อนมาอีกสัก 1 แถว ทดสอบให้รู้ไปเลยว่า เกิดจากแรมหรือสล็อตแรม

เมนบอร์ดเสีย

เปลี่ยนการ์ดจอ อันนี้ค่อนข้างจะดูยากหน่อย ยิ่งในช่วงการ์ดจอราคาแพงแบบนี้ หลายคนก็ไม่อยากจะปล่อยให้ออกไปจากเคสโดยไม่จำเป็น เพราะซื้อใหม่ไม่ง่ายเลย แต่ถ้ามีการ์ดราคาประหยัดๆ เช่น ในกลุ่มของ GeForce GT หรือ GTX รุ่นต้นๆ ก็พอจะเช็คได้แล้วครับว่า เป็นที่สล็อตการ์ดจอ PCI-Express หรือ การ์ดจอกันแน่

แต่ถ้าพอจะมีความชำนาญในระดับหนึ่ง ลองเปลี่ยนซีพียูดูก็ได้ ถ้าพอหามาได้นะ ก็ลองถอดเปลี่ยนกันไป เพราะแกะฮีตซิงก์ไม่ได้ยากมากนัก แต่ถ้าเป็นชุดน้ำปิดก็อาจจะซับซ้อนขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่ได้ยุ่งยากมากเกินไปนัก


5.เอาออกมาทำความสะอาด

ถ้าพอจะแกะหรือประกอบคอมเองได้ ให้ลองรื้อออกมาทำความสะอาดสักครั้งก่อนก็ดี เผื่อจะช่วยให้อาการที่ผิดปกติหรือเมนบอร์ดเสียนั้นพอทุเลาลงได้ และสิ่งต่างๆ เหล่านี้คุณก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น

เมนบอร์ดเสีย

ปัดฝุ่นก็พอ: การทำความสะอาดเมนบอร์ด ก็มีตั้งแต่เช็ดปัดฝุ่นบนแผงพีซีบี ที่ติดอยู่ให้ออกไป ด้วยการใช้แปรงปิดขนแบบยาว ปัดในซอกต่างๆ หรือจะใช้พัดลมโบเวอร์มาเป่าก็ได้ แต่ต้องปรับให้ความแรงไม่สูงมาก เพราะอาจจะมีบางชิ้นส่วนได้รับผลกระทบ แต่ถ้าจะให้ล้ำลึก และช่วยให้เมนบอร์ดกลับมาสะอาดเหมือนเดิม ก็ต้องถอดฮีตซิงก์ที่แปะอยู่ตรงจุดต่างๆ ออกมา แล้วทำความสะอาด ซึ่งหากใครพอมีทักษะในการแกะหรือถอดออก ก็ให้เตรียม แปรงปัดฝุ่น แล้วติดตั้งกลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง

ใช้ Contact Cleaner: หรืออาจจะใช้วิธีทำความสะอาดด้วยการ ฉีดด้วยสเปรย์ Contact Cleaner ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวก ในการทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความปลอดภัยสูง ฉีดทิ้งไว้ หลังจากที่แกะบรรดาฮีตซิงก์และอุปกรณ์ต่างๆ ออกแล้วทั้งหมด จากนั้นทิ้งให้แห้ง จากนั้นจึงติดฮีตซิงก์กลับไปใหม่อีกครั้ง ก็อาจจะช่วยให้เมนบอร์ดได้ตามปกติ วิธีนี้น่าสนใจและปลอดภัย แม้ว่าราคาต่อกระป๋องจะค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถใช้งานได้หลายครั้ง

เมนบอร์ดเสีย

ล้างน้ำเลยมั้ย: วิธีนี้ อาจจะดูว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างเสี่ยง แต่ก็ให้ผลที่ดีและมีค่าใช้จ่ายต่ำ เพราะของใช้ในการทำมีเพียงไม่กี่ชิ้น และหาได้รอบตัว เช่น น้ำเปล่า น้ำยาทำความสะอาด แชมพูสระผม แปรงสีฟัน และพัดลมหรือถ้ามีที่เป่าลมแรงๆ ก็น่าสนใจ ซึ่งหากวันที่ทำแดดออกดีๆ ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้ในเวลาไม่นาน ถ้าในกรณีที่เมนบอร์ดที่ใช้คุณหมดประกันแล้ว ก็สามารถลองดูได้เลย โดยขั้นตอนก็ไม่ได้ยุ่งยาก

*วิธีการล้างเมนบอร์ดด้วยน้ำนี้ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และใช้อยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล ทีมงานนำเสนอเป็นข้อมูลทางเลือกเท่านั้น และไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นใดๆ ทั้งสิ้น

โดยเริ่มต้นด้วยการถอดแบต หรือถ่านเมนบอร์ดออกก่อน จากนั้นแกะชิ้นส่วนต่างๆ ที่ต่อพ่วงบนเมนบอร์ดออกให้หมด เตรียมสายยางและถังใส่น้ำ พร้อมน้ำยาทำความสะอาด ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มที่เตรียมไว้ ค่อยๆ ขัดไปตามซอกต่างๆ บนเมนบอร์ด ผึ่งไว้ให้แห้ง สามารถตากแดดจัดได้ แต่ไม่ควรนาน ที่เหลือเอามาไว้ในที่ร่ม หากมีพัดลมหรือเครื่องเป่า ก็จะช่วยได้เยอะ ย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้เป็นวิธีแนะนำ แต่เป็นทางเลือกที่เอาไว้ท้ายๆ ได้ หากไม่ชำนาญ


6.ถ้าเกิดจากระบบไฟฟ้า ลองมองหา UPS สักเครื่อง

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะเมนบอร์ดในปัจจุบัน ถูกออกแบบมาให้ทนทานเรื่องของแรงดันไฟฟ้าได้ในระดับหนึ่ง และมีความทนทานพอสมควร แต่หากเกิดจากแรงดันไฟที่กระชากหรือกระแสที่สูงเข้ามาบ่อยครั้ง ก็มีอาจมีผลเสียต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์และเมนบอร์ดเสียได้เช่นกัน ในเบื้องต้น อาจพบแค่ตัวเก็บประจุเกิดความเสียหาย จนทำให้เมนบอร์ดดับหรือลัดวงจร แค่เปลี่ยนคาปาซิเตอร์บางจุด ก็กลับมาใช้งานได้ใหม่แล้ว แต่ถ้าในกรณีที่เสียบ่อย และลุกลามไปยังอุปกรณ์อื่นๆ แนะนำว่า ควรจะต้องมองหาสิ่งที่เรียกว่า เครื่องสำรองไฟหรือ UPS สำหรับเครื่องพีซีมาใช้งานสักรุ่น

เมนบอร์ดเสีย

ตัวอย่างเช่น เครื่องสำรองไฟคุณภาพสูงจาก Cyberpower ที่เราเคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ รีวิว CyberPower OLS2000E สำรองไฟคุณภาพระดับโลก เพื่ออุปกรณ์ไอทีทั้งบ้านและสำนักงาน


7.ซ่อมกับซื้อใหม่ แบบไหนดี

เมนบอร์ดเสีย

ในข้อนี้ก็คงต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล ซึ่งในบางครั้งการซ่อมก็อาจจะไม่ได้เป็นทางออกที่ดี หรือบางทีการซื้อใหม่ก็อาจไม่คุ้มค่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ความจำเป็นในการใช้งานของแต่บุคคลนั้นเป็นอย่างไร เรามาดูข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบกัน

ข้อดี

ส่งซ่อมซื้อใหม่
ไม่เสียค่าใช้จ่าย (อยู่ในประกัน)ได้ของใหม่ ประกันเพิ่งเริ่มเดิน
ซ่อมแล้วใช้งานต่อได้อีกใช้งานได้มั่นใจกว่า
ในบางครั้ง ไม่ต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มใหม่รองรับการอัพเกรดได้ดีกว่า
ใช้กับอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมได้ทันทีใช้งานได้ทันที ไม่ต้องรอ
อัพเกรดฮาร์ดแวร์เก่าได้ได้ฟีเจอร์และฟังก์ชั่นสดใหม่

ข้อสังเกต

ส่งซ่อมซื้อใหม่
อาจต้องรอนานเสียเงินก้อนใหญ่ ซื้อของใหม่มาใช้
ค่าใช้จ่ายอาจสูงตามอาการ (หมดประกัน)รุ่นเก่าอาจไม่มี ต้องซื้อรุ่นใหม่แทน
บางครั้งต้องเป็นของเวียนซ่อมบางครั้งต้องหาฮาร์ดแวร์หรือซีพียูใหม่ด้วย
ความทนทาน อยู่ที่คุณภาพของงานซ่อมฟังก์ชั่นเดิมอาจหายไป ถ้าใช้เมนบอร์ดต่างกัน

8.มีประกันมั้ย แบบไหนเคลมได้

เมนบอร์ดเสีย

การเคลมเมนบอร์ดนี้ มักจะอยู่ในเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกันหมดทุกค่าย นั่นคือ เรื่องของความเสียหายต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นจากการใช้งานปกติ ไม่ได้เกิดจากการใช้งานผิดประเภท หรือเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม และต้องไม่มีการปลอมแปลงฉลากหรือวอยด์รับประกัน อุบัติเหตุ น้ำหกใส่หรือบางค่ายก็จะเช็คเรื่องของรอยสนิม ขูดขีด แตก งอ หัก และควรจตะต้องเก็บเอกสารหรือใบหลักฐานการซื้อ หรือบางครั้งก็ต้องมีแพ๊คเกจและอุปกรณ์รวมกล่องมาเคลมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับนโยบาย ความเข้มงวดของแต่ละค่ายแบรนด์อีกด้วยครับ

  • เช็คเงื่อนไขการรับประกันของ Synnex
  • เช็คเงื่อนไขการรับประกันของ JIB
  • เช็คเงื่อนไขการรับประกันของ Advice
  • เช็คเงื่อนไขการรับประกันของ ASUS
  • เช็คเงื่อนไขการรับประกันของ Strek
  • เช็คเงื่อนไขการรับประกัน SVOA
  • เช็คเงื่อนไขการรับประกัน MSI

อย่างไรก็ดี ควรจะเช็คเรื่องระยะเวลาในการจัดส่งและเคลมสินค้ากับผู้จำหน่ายให้ชัดเจน ว่าใช้ระยะเวลามากน้อยเพียงใด รวมถึงช่องทางการติดต่อ และการติดตามความคืบหน้าในการส่งซ่อมหรือเคลม แต่สิ่งที่เรามักจะเจอกันคือ รอบของการส่งเคลม ก็จะทำให้รอบการซ่อมยืดยาวออกไปด้วย ต้องเผื่อเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน และสิ่งที่ต้องทราบคือ อุปกรณ์ที่เป็น Component บางรายการ จะเป็นการวนซ่อม นั่นคือ ต้องทำใจว่าอาจจะไม่ได้สินค้าตัวใหม่ทุกครั้ง แต่อาจจะสินค้าที่ได้รับการตรวจเช็คแล้วว่า พร้อมสำหรับการใช้งาน เปลี่ยนให้แทน ดังนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องสอบถามให้แน่ใจทุกครั้ง


9.ซ่อมที่ไหนดี

ทางเลือกในการซ่อมเมนบอร์ด มีอยู่หลากหลายสถานที่ ถ้าจะให้แนะนำก็คือ ดูตามอุปกรณ์เป็นหลัก ว่ายังมีประกันอยู่หรือไม่ ก็จะสามารถได้รับการดูแลจากผู้ผลิตและร้านค้าต่อไป แต่ถ้าหากขาดจากประกันไปแล้ว ก็น่าจะเหลือเพียงหาช่างฝีมือในด้านการซ่อมแซม ซึ่งมักจะหาได้ทั่วไปในห้างไอทีหรือจะเป็นบนโลกโซเชียล ที่พอจะช่วยซ่อมแซมให้คุณได้ เพียงแต่ก็ต้องอาศัยการต่อต่อค้นหา ในการเลือกช่างฝีมือที่วางใจได้ มาซ่อมให้กับคุณ

เมนบอร์ดเสีย

มีประกัน ก็ส่งศูนย์หรือร้านที่ซื้อมา เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว เพราะอย่างน้อยก็ได้รับการดูแลแก้ไขตามขั้นตอนอย่างที่ควรเป็น ข้อดีก็คือ เจาะจงไปยังที่รับเคลมได้เลย เช่น ร้านใหญ่ๆ ที่มีหลายสาขา ก็เลือกไปที่ใกล้บ้านได้ มีผู้เชี่ยวชาญคอยแก้ไขให้ จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ หรือจะเป็นสินค้าเวียน ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย หรือบางค่ายอาจจะใช้วิธีคืนเงิน (Refund) เพื่อนำไปซื้อรุ่นอื่น ที่เป็นรุ่นใหม่ เนื่องจากโมเดลดังกล่าวไม่มีพาร์ทที่หน้างานแล้วก็เป็นได้

หมดประกัน ก็สอบถามกันที่หน้าร้าน ซึ่งอาจจะเป็นงานยากสำหรับใครหลายคน เพราะอาจจะต้องเดินสอบถาม ไล่เช็คว่าร้านใด รับซ่อมหรือไม่ และต้องมารอลุ้นผลว่าจะสามารถซ่อมออกมาได้ดีเพียงใด คุณภาพและความปราณีตทำได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงการรับประกัน หลังจากซ่อมแล้ว หรือบริการหลังการขาย แต่ข้อดีก็คือ มีตัวเลือกในการซ่อม และอาจจะหาพาร์ทได้ใกล้เคียงกับซ่อมศูนย์ หาร้านใกล้บ้านก็ได้ ถ้ามีร้านที่วางใจได้หรือคุ้นเคย แต่ค่าใช้จ่ายก็อาจจะสูงตามอาการที่ซ่อม


10.การดูแลเมนบอร์ด

ส่วนข้อสุดท้ายคือ ข้อที่ 10 นี้ อยากให้เป็นข้อแนะนำการดูแลเมนบอร์ดให้อยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งวิธีการอาจไม่ได้ซับซ้อนมากนัก แต่ช่วยยืดอายุการใช้งานของเมนบอร์ด ไม่ให้เสียหายไปอย่างรวดเร็ว

เมนบอร์ดเสีย

ประกอบด้วยความระมัดระวัง เมนบอร์ดจะใหญ่หรือเล็ก โอกาสความเสียหายก็มีเท่ากัน ดังนั้นต้องติดตั้งด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้กระแทก ขูดขีดหรือหักงอ เพราะอาจเกิดความเสียหายได้ ว่ากันตั้งแต่ใส่เมนบอร์ดลงเคส ไปจนถึงการติดตั้งซีพียู พัดลม และบรรดาสายไฟต่างๆ

เลือกเพาเวอร์ซัพพลายที่มีคุณภาพ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเมนบอร์ดได้อีกทาง เพราะอย่าลืมว่าไฟฟ้าที่อยู่บนเมนบอร์ดล้วนมาจากเพาเวอร์ซัพพลายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น 4-pins, 8-pins, Molex หรือจะเป็น 24-pins เพาเวอร์ เพาเวอร์ที่มีคุณภาพจะมีระบบจัดการไฟแม่นยำ พร้อมชิ้นส่วนที่ทนทาน ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายอันเกิดจากกระแสไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

เมนบอร์ดเสีย

โอเวอร์คล็อกเท่าที่จำเป็น การเพิ่มความเร็วให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ก็ถือว่าเป็นความท้าทายของผู้ใช้พีซีหลายคน การได้ความเร็วที่มากขึ้น ก็ส่งผลดีต่อการใช้งาน แต่ก็กลายเป็นผลเสียได้เช่นกัน หากทำผิดวิธีหรือการใช้วิธีเพิ่มแรงดันไฟ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อชุดเก็บประจุ ภาคจ่ายไฟและชิ้นส่วนบางอย่างได้เช่นกัน รวมถึงบางคนที่ใช้กันแบบฮาร์ดคอร์ ด้วยชุดน้ำหรือไนโตรเจเหลว ก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน

ปิดการทำงานระบบก่อนติดตั้งอุปกรณ์ อย่าลืมว่าเมนบอร์ดเป็นศูนย์กลางที่รองรับอุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้งลงบนสิ่งนี้ แม้การชัทดาวน์จะเป็นการปิดระบบไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีกระแสไฟอยู่บนเมนบอร์ด การติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างลงไป ก็อาจจะไม่ปลอดภัยนัก เป็นไปได้คือ ให้ปิดสวิทช์ของเพาเวอร์ซัพพลายหรือถอดปลั๊กก่อนต่อพ่วง

เมนบอร์ดเสีย

ใช้ปลั๊กรางหรือสายไฟอย่างปลอดภัย ปลั๊กรางที่ดี ก็มีส่วนช่วยเซฟเมนบอร์ดได้เช่นกัน การเลือกปลั๊กรางที่รองรับกำลังไฟสูงๆ และมีระบบตัดการทำงาน เมื่อเกิดลัดวงจรหรือกระแสไฟที่เกินเข้ามาได้ เช่น Power Surge หรือมีสวิทช์แยกอุปกรณ์แต่ละชิ้น ก็น่าสนใจไม่น้อย และที่สำคัญหากปลั๊กเสียหาย หรือไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ก็เปลี่ยนอันใหม่จะดีกว่า และไม่จำเป็นควรแยกปลั๊กคอม ไม่ให้รวมกับอุปกรณ์ที่ใช้พลังไฟเยอะๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้าหรือเตารีดเป็นต้น

หากมีชุดน้ำ ควรระวังการรั่วไหลให้ดี ใช้ชุดน้ำเปิด ก็ต้องหมั่นตรวจเช็คให้บ่อย เท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะหากเกิดการรั่ว แตกหรือหลุด น้ำที่ไหลออกมาจากท่อในระบบ ก็อาจสร้างความเสียหายให้เมนบอร์ดได้ไม่น้อยเลย

เมนบอร์ดเสีย

ทำความสะอาดบ้างในบางโอกาส อย่าใช้งานเพียงอย่างเดียว ลองแกะเปิดเครื่อง แล้วเป่าฝุ่น ปัดสิ่งสกปรกออกบ้าง เพราะไม่ว่าจะมด แมลง ฝุ่น ความชื้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ทำอันตรายเมนบอร์ดได้เช่นกัน ดังนั้นทำความสะอาดปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ตามที่แนะนำเอาไว้ด้านบน


Conclusion

เมนบอร์ดเสีย

เมนบอร์ดเสียมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าใช้งานอย่างระมัดระวังและมีการดูแลที่ดีแล้ว ก็จะช่วยยืดอายุการทำงานของเมนบอร์ดออกไปได้มากทีเดียว บางครั้งตกรุ่นไป 2-3 เจนเนอเรชั่น ก็ยังใช้งานได้เป็นอย่างดี แต่หากเสียแล้ว ก็ให้ลองใช้วิธีต่างๆ ที่แนะนำมาในข้างต้นนี้ เป็นแนวทางในการตรวจเช็ค และแก้ไขในเบื้องต้น เพื่อลดความเสียหาย หรือบางครั้งก็ช่วยกู้ชีพกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่คงต้องบอกไว้ก่อนว่า ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ บางครั้งวิธีง่ายๆ ก็ให้ผลที่ดี แต่บางทีก็อาจจะต้องพึ่งพาช่างซ่อมหรือวิธีการที่ซับซ้อน ในการแก้ไข รวมถึงการส่งเคลม ไปจนถึงการซื้อเมนบอร์ดใหม่ เราก็แนะนำข้อมูลมาให้ตัดสินใจกัน สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตปัญหาเมนบอร์ดเสียไปได้ ถ้าจำเป็นต้องซื้อใหม่ ก็อย่าลืม NBS ให้แนะนำข้อมูลการเลือกซื้อให้กับคุณครับ

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

PC Zone

Thermaltake The Tower 300 Limestone Edition สวยล้ำ ประกอบง่าย ระบายอากาศดี พัดลม ARGB กระจกเทมเปอร์โชว์ได้ทุกด้าน Thermaltake The Tower 300 Limestone Edition อีกหนึ่งเคสคอมในรูปแบบของมินิทาวเวอร์ บนรูปแบบ mATX form factor ในแบบแนวตั้ง...

CONTENT

แรม Kingston FURY Renegade DDR5 8000 RGB เร่งสปีดเกมมิ่งพีซีและ OC ให้ทะลุขีดจำกัด แรม Kingston FURY RENEGADE DDR5 8000 48GB RGB Edition จัดเป็นแรมในกลุ่มพรีเมียม เพื่อเพาเวอร์ยูสเซอร์ ที่ต้องการประสิทธิภาพขั้นสูง เพื่อรีดพลังจากระบบที่ใช้ไปให้ถึงขีดสุด มาในดีไซน์ที่ดูล้ำสมัย...

CONTENT

รวมโปรคอมประกอบ Commart 2024 Mega Tech โปรเด็ดสเปคคอมทุกร้าน ส่วนลด ของแถมเพียบ JIB, Banana, IT City และ Speed รวม 100 สเปคคอม ลดหนักมาก รวมโปรโมชั่น ส่วนลดคอมประกอบในงาน Commart 2024 MEGA TECH...

How to

คอมเปิดไม่ติด เช็คอาการผิดปกติใน 7 ขั้นตอน แก้ไขในเบื้องต้น ตรวจเช็คและป้องกัน คอมเปิดไม่ติดอาการยอดฮิตของคนที่ใช้คอม ไม่ว่าจะเป็นคอมใหม่หรือเก่า ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เรามาเช็คอาการเบื้องต้นของปัญหานี้กัน บางครั้งคุณอาจจะแก้ไขได้เอง โดยไม่ต้องส่งร้านซ่อม ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเปิดไม่ติด ไฟเข้าแต่ไม่บูต เปิดติดแล้วดับ รวมไปถึงเปิดเข้าระบบแล้วรีสตาร์ทบ่อย 9 วิธีเช็คและแก้ไขเหล่านี้ จะช่วยให้คุณสามารถจัดการด้วยตัวเองอัพเดตปี 2024 ปัญหาคอมเปิดไม่ติด ถ้าพอคุ้นเคยกับฮาร์ดแวร์อย่าง แรม...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก