Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Asus

Review ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE GX551QS รุ่นเรือธงตัวท็อปกับค่าตัวแสนสอง แรงไม่ต้องสืบ!

ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE GX551QS ตัวแรงระดับเรือธง แรงจนเกมมิ่งพีซีบางเครื่องต้องยอม!

rog cover

ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE GX551QS ถ้านับแล้วถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวแรงรุ่นแรงสุดขีดจนเทียบชั้นเกมมิ่งพีซีสเปคแรงได้สบายๆ หรือบางคนอาจจะเรียกว่า Desktop replacement laptop ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งรหัส GX551QS ตัวนี้เรียกว่าเป็นรุ่นใหม่ภาคต่อจาก ROG Zephyrus Duo 15 SE รุ่นหน้าจอ 4K 120 Hz ที่ทางเว็บไซต์เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นจะนับรุ่นนี้เป็นไมเนอร์เชนจ์ก็ไม่ผิด และก็ยังคงความแรงจัดเต็มเอาไว้เหมือนเดิมเพื่อให้เกมเมอร์ที่อยากเล่นเกมให้สนุก ปรับกราฟฟิคให้เต็มพิกัดก็ทำได้แล้วเล่นเกมได้อย่างมีความสุขได้เลย

Advertisement

ด้านดีไซน์ของตัวเครื่องที่เป็นหน้าจอคู่ได้แก่หน้าจอหลักกับหน้าจอทัช ROG ScreenPad Plus ที่ต่อยอดจาก ASUS ZenBook Pro Duo UX582 ทาง ASUS เองก็นำยังติดตั้งไว้ให้ใช้ในเครื่องนี้แบบครบถ้วน รวมทั้งระบายความร้อน AAS+ ที่ ASUS ประกอบมาให้ก็ช่วยระบายความร้อนระหว่างเล่นได้ดี เรียกว่าเกมเมอร์ที่มีงบประมาณมาลงกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแรงๆ สักตัว น่าจะชื่นชอบเครื่องนี้ไม่น้อยเลย

ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE

นอกจากนี้ ด้านสเปคที่อัพเดทซีพียูให้เป็นรุ่นใหม่สเปคแรงขึ้นอย่าง AMD Ryzen 5980HX แบบ 8 คอร์ 16 เธรด จับคู่กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3080 แรม 16GB GDDR6 กับแรม 32GB (16+16GB) DDR4 บัส 3200 MHz แล้วอัพเกรดไปได้สูงสุด 48GB และ SSD แบบ M.2 NVMe 1TB และยังใส่ได้ 2 ช่องนั้น ต้องถือว่า ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE ตัวใหม่นี้แรงสุดขั้วเพื่อเกมเมอร์จริงๆ 

NBS Verdict

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07865

 

ในยุคนี้ที่การ์ดจอแยกสักตัวหายากและราคาแพงเท่ากับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวแรงๆ สักตัวแล้ว การเปลี่ยนจากการ์ดจอสักตัวอาจจะแพงกว่ามาซื้อ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE รุ่นใหม่ที่ราคาขาย ณ ปัจจุบันนี้อยู่ที่ 199,990 บาท นั้น ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสเปคแรงระดับ Desktop replacement สักตัวเอาไว้เล่นเกมโดยไม่ต้องประกอบคอมให้เหนื่อยแล้ว ยังมีประกันตัวเครื่องคอยดูแลถึงบ้าน แค่ต่อหน้าจอแยกความละเอียดสัก QHD ก็เล่นเกมได้อย่างมีความสุขแล้ว และคุณภาพงานประกอบเองก็ถือว่าอยู่ในระดับพรีเมี่ยม เรียกว่านอกจากสเปคจะแรงฟังก์ชั่นจะเลิศงานประกอบก็สมตัวอีกด้วย

ด้านของ ROG Intelligent Cooling ที่ดึงอากาศเย็นเข้าไประบายความร้อนในตัวเครื่องผ่านทางช่องว่างด้านใต้หน้าจอ ROG ScreenPad Plus เอง ก็ถือว่าเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาด ที่ทำให้ชิ้นส่วนภายในไม่ร้อนเกินไป และเมื่อจับคู่กับระบบระบายความร้อน Liquid Metal จาก Thermal Grizzly ยิ่งทำให้เกมเมอร์สามารถเล่นเกมได้อย่างเต็มอิ่มต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงสบายๆ นอกจากนี้ลำโพง Dolby Atmos เองก็ช่วยให้ฟังเพลงได้อารมณ์ ฟังเพลงได้เพลิดเพลินสมราคาค่าตัวเป็นอย่างมาก เรียกว่าด้านความบันเทิงทั้งหมดนั้นไม่มีข้อกังขาเลย

แต่จุดที่ขอนับเป็นจุดสังเกตหลักๆ ของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้ หลักๆ คือการอัพเกรดตัวเครื่องในรุ่นใหม่ล่าสุดถูกเปลี่ยนเป็นน็อต Torx หัวเล็ก ทำให้ผู้ใช้แกะตัวเครื่องเองได้ลำบากขึ้น ถ้าต้องการอัพเกรดเพิ่มแรมให้สุดที่ 48GB เท่าที่โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้รับไหวก็ควรยกไปหาช่างที่ศูนย์บริการเป็นผู้จัดการให้จะดีกว่า และอีกส่วนคือหน้าจอของตัวเครื่องปรับความละเอียดลงจาก 4K 120 Hz เหลือแค่ 1080p 300 Hz เรียกว่ายอมลดความละเอียดลงแต่เพิ่มค่า Refresh Rate ให้สูงขึ้นแทน ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนเองคิดว่าก็ไม่มีปัญหาอะไรนัก อาจจะต่อหน้าจอแยกความละเอียดสูงขึ้นแล้วเล่นเกมก็ได้เหมือนกัน และกล้อง Webcam ยังต้องต่อแยกผ่านพอร์ต USB อยู่ เพราะขอบหน้าจอบางเท่ากันทั้ง 3 ด้าน และยังไม่มีระบบสแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาให้ ดังนั้นเวลาจะเล่นเกมก็ต้องพิมพ์รหัสผ่านเช่นเดิม

จุดเด่นของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE GX551QS
  1. ติดตั้ง AMD Ryzen 9 5980HX แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ประสิทธิภาพสูง รองรับการทำงานและเล่นเกมได้เป็นอย่างดี
  2. การ์ดจอเป็น NVIDIA GeForce RTX 3080 แรม 16GB GDDR6 มาให้ ปรับกราฟฟิคตอนเล่นเกม AAA ในระดับสูงสุดได้สบายๆ
  3. หน้าจอความละเอียด Full HD ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB มี Pantone Validated
  4. หน้าจอแยก ROG ScreenPad Plus เป็นหน้าจอเสริมที่รองรับการทัชบนหน้าจอ ช่วยให้ใช้งานร่วมกับโปรแกรมอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น
  5. สเปคแรงแบบไม่ต้องอัพเกรดก็ได้ มีแรม 32GB และ SSD แบบ M.2 NVMe 1TB อีก 2 ช่อง ติดตั้ง Windows 10 Home มาให้พร้อมเล่นเกมทันที
  6. ทัชแพดออกแบบให้สลับโหมดเป็น Numpad ได้ จะทำงานหรือเล่นเกมก็สะดวก
  7. ระบบเสียงเป็น Dolby Atmos ติดตั้งลำโพงหลัก 4 วัตต์ 2 ตัว กับ Tweeter กำลังขับ 2 วัตต์อีก 2 ตัว ให้มิติเสียงที่น่าประทับใจ
  8. พอร์ต USB-C รองรับการต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort และรองรับการชาร์จแบตเตอรี่มาตรฐาน USB Power Delivery แต่ต้องใช้อแดปเตอร์ 100 วัตต์ชาร์จ
  9. พอร์ตเป็น HDMI 2.0b อีก 1 ช่อง รวมแล้วต่อหน้าจอแยกเพื่อเล่นเกมได้สูงสุด 2 จอแยกและ 1 จอโน๊ตบุ๊ค
  10. ได้ประกัน On-site service 3 ปี ช่วยดูแลตัวเครื่องเมื่อมีปัญหา
ข้อสังเกตของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE GX551QS
  1. ถ้าต้องการอัพเกรดตัวเครื่องควรยกไปให้ศูนย์บริการอัพเกรดใหม่ เนื่องจากตัวเครื่องใช้หัวน็อต Torx แบบเล็กพิเศษ
  2. หน้าจอหลักลดความละเอียดจาก 4K 120 Hz ลงมาเหลือ 1080p 300 Hz 
  3. ถ้าต้องประชุมออนไลน์หรือไลฟ์สตรีมเกม ยังต้องต่อ Webcam แยกอยู่
  4. ยังไม่มีระบบสแกนใบหน้าหรือนิ้วมือเพื่อปลดล็อคเครื่อง

รีวิว ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE GX551QS

Specification

rog

สเปคของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้ จัดว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสเปคแรงสุดของทาง ASUS ซึ่งแรงระดับทดแทนเกมมิ่งพีซีได้สบายๆ พร้อมฟีเจอร์เด่นๆ ครบเครื่องทั้ง ROG ScreenPad Plus และลำโพง Dolby Atmos คุณภาพเสียงดีขึ้นและมีกล้อง Webcam ของ ASUS แถมมาให้ใช้งานอีกด้วย

สเปคเครื่องนี้จะอัพเดทจากรุ่นก่อนหน้านี้ โดยใช้ซีพียู AMD Ryzen 9 5980HX แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.8 GHz จับคู่กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3080 มีแรม 16GB GDDR6 มี SSD แบบ M.2 NVMe ความจุ 1TB x 2 ตัว ติดตั้ง Windows 10 Home มาให้พร้อมอัพเดทเป็น Windows 11 ได้ทันที มีแรมในเครื่อง 32GB DDR4 บัส 3200 MHz เป็นแรมออนบอร์ดและ SO-DIMM อย่างละ 1 ตัว อัพเกรดได้สูงสุด 48GB ส่วนหน้าจอมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 300 Hz และหน้าจอทัช ROG ScreePad Plus ขนาด 14.1 นิ้ว ความละเอียด Full HD ทำมุม 13 องศา เมื่อกางหน้าจอเครื่องขึ้นมาใช้งาน ส่วนการเชื่อมต่อมีพอร์ต USB-A 3.2 Gen 2 x 3, USB-C 3.2 Gen 2 x 1 รองรับการต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่ด้วยมาตรฐาน USB Power Delivery, RJ45 LAN x 1, MicroSD Card Reader x 1, HDMI 2.0b x 1 และช่องหูฟัง 3.5 มม. x 1 ส่วนการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตรองรับ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.1 เรียกว่าสเปคนั้นแรงหายห่วง พร้อมเล่นเกมและทำงานหนักๆ ได้อย่างแน่นอน

สเปคของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE
  • ซีพียู AMD Ryzen 9 5980HX แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.8 GHz
  • การ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3080 มีแรม 16GB GDDR6
  • SSD แบบ M.2 NVMe ความจุ 1TB x 2 ตัว
  • แรม 32GB DDR4 บัส 3200 MHz รองรับสูงสุด 48GB
  • หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 300 Hz
  • หน้าจอทัช ROG ScreePad Plus ขนาด 14.1 นิ้ว ความละเอียด Full HD
  • มีพอร์ต USB-A 3.2 Gen 2 x 3, USB-C 3.2 Gen 2 x 1 รองรับการต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่ด้วยมาตรฐาน USB Power Delivery, RJ45 LAN x 1, MicroSD Card Reader x 1, HDMI 2.0b x 1 และช่องหูฟัง 3.5 มม. x 1
  • การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตรองรับ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.1
  • ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home รองรับการอัพเดทเป็น Windows 11
  • ราคา 119,990 บาท (ASUS Thailand Official Shopee Mall)

Hardware & Design

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07870

สำหรับดีไซน์ของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้ เรียกว่าเป็นบอดี้ดีไซน์เกมมิ่งแบบ 2 หน้าจอ ติดตั้งหน้าจอสัมผัส ROG ScreenPad Plus ที่ยกจากสาย ZenBook ของทางค่ายมาติดตั้งไว้เป็นหน้าจอที่สอง ทำให้เวลาทำงานแล้วเปิดโปรแกรมขึ้นมาใช้งานก็สามารถแยกฟังก์ชั่นที่ต้องการใช้หน้าจอสัมผัสควบคุม เช่น Timeline ของการตัดต่อวิดีโอหรือฟังก์ชั่นควบคุมของโปรแกรมแต่งเสียงหรือ DJ มาแตะสัมผัสตรงนี้ได้ หรือถ้าเป็นสตรีมเมอร์ก็สามารถเอาหน้าจอแชตและหน้าต่างมอนิเตอร์โปรแกรมสตรีมมิ่งที่ตรงนี้ได้ทันที

เมื่อมองหน้าตรง จะเห็นว่าตัวเครื่องระหว่างหน้าจอหลักและ ROG ScreePad Plus ที่ยกตัวขึ้น 13 องศาจะวางตัวต่อเนื่องกันโดยมีขอบหน้าจอด้านล่างเป็นแนวคั่นกลางเอาไว้ เมื่อดูหน้าตรงจะเห็นว่าตัวเครื่องดูใหญ่อลังการกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค 15.6 นิ้วหลายๆ รุ่นอย่างชัดเจน

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07872

เมื่อมีหน้าจอ ROG ScreePad Plus ติดตั้งเข้ามาด้วย แถบคีย์บอร์จึงต้องเลื่อนลงมาด้านล่างจนติดขอบล่างแล้วย้ายเอาตัวทัชแพดไปไว้ด้านข้างขวามือแทน ซึ่งหน้าจอเสริมตัวนี้จะยกตัวด้วยระบบกลไกง่ายๆ ซึ่ง ASUS ออกแบบเป็นเหมือนขาโต๊ะพับที่พอพับหน้าจอลง ขาโลหะจะนอนราบแล้วชักหน้าจอให้เรียบติดเป็นระนาบเดียวกับคีย์บอร์ดและดันตัวหน้าจอขึ้นเวลากางหน้าจอ เป็นการออกแบบง่ายๆ แต่แข็งแรงทีเดียว และทาง ASUS ก็ติดสติกเกอร์เตือนผู้ใช้ไม่ให้เอาอะไรไปขัดตรงช่องนี้ของตัวเครื่องเพื่อป้องกันความเสียหายด้วย

พอมองลอดเข้าไป จะเห็นว่าด้านใต้หน้าจอเสริมของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE จะมีลำโพงหลัก 2 ตัวติดตั้งเอาไว้ ส่วนลำโพง Tweeter อีกสองตัวจะอยู่ขอบตัวเครื่องด้านบนสุดที่ต่อขาฐานหน้าจอเข้ากับตัวเครื่องขนาบด้านข้างไฟแสดงสถานะทั้ง 3 ดวงไว้ ส่วนช่องว่างด้านใต้ ROG ScreePad Plus ตัวนี้จะเป็นช่องรับลมเข้าหลักคู่กับช่องด้านใต้ตัวเครื่องด้วย เพื่อช่วยให้อุณหภูมิในเครื่องไม่ร้อนเกินไป

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07881

ส่วนดีไซน์ด้านหลังเครื่องจะคงเอกลักษณ์สไตล์ ROG เอาไว้ โดยดีไซน์ให้ฝาหลังเครื่องเป็น 2 ลวดลาย คือลายจุดแบบเกมมิ่งตัดเฉียงด้วยพื้นเรียบพร้อมโลโก้ ROG ส่วนขอบด้านล่างสกรีนคำว่า Republic of Gamer เอาไว้เหนือช่องตัดเว้นระหว่างขาฐานจอทั้งสองฝั่ง โดยทาง ASUS ตัดเว้นเอาไว้เพื่อให้เสียบสายเข้าพอร์ตด้านหลังเครื่องได้สะดวกและไม่ติดกับขอบหน้าจอด้วย

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07959

ตอนพับหน้าจอตามปกติแล้ว ส่วนขอบบนสุดของตัวเครื่องที่ ROG ScreePad Plus บังเอาไว้ จะเป็นลายฉลุจุดเหมือนกับฝาหลังของตัวเครื่อง ติดไฟแสดงสถานะ 3 ดวงเอาไว้และมีลำโพง Tweeter ขนาบไว้ 2 ด้านด้วยกัน ซึ่งไฟทั้ง 3 ดวงมีไฟแสดงสถานการทำงานของตัวเครื่อง, ไฟแสดงการชาร์จแบตเตอรี่และไฟแสดงการทำงานของฮาร์ดดิสก์ในเครื่อง

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07887

จากด้านบนที่ดูอลังการแล้วด้านใต้ตัวเครื่องของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE ดีไซน์ให้ความรู้สึกเหมือนยานอวกาศยิ่งขึ้นด้วยแนวเส้นช่องลมเข้าที่เป็นเส้นยาวแนวเฉียงเหมือนเส้นความเร็วในภาพยนตร์ มีปุ่มยางรองใต้เครื่องติดเอาไว้ 6 จุด โดยตัวปุ่มยางด้านหลังใกล้กับช่องระบายความร้อนจะสูงกว่าด้านหน้า เพื่อยกตัวเครื่องให้สูงขึ้นและโน้มมาหาผู้ใช้เล็กน้อยแล้วช่วยให้โซนกรอบสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีพอร์ตหลังเครื่องติดตั้งอยู่ติดกับพื้น 

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07876

องศาการกางหน้าจอหลักของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เวลาดันไปจนสุดแล้วจะกางได้ราว 130 องศา และตัว ROG ScreenPad Plus จะยกตัวขึ้นราว 13 องศาด้วยกัน ซึ่งระยะการกางระดับนี้จะวางเล่นเกมบนโต๊ะทำงานตามปกติก็ได้ หรือถ้ามีแท่นวางโน๊ตบุ๊คมาเสริมแล้วต่อหน้าจอแยกเพื่อเล่นเกมด้วย ก็สามารถจัดหน้าจอให้ได้องศาที่เรามองเห็นได้ง่ายขึ้น

ในส่วนของดีไซน์รอบตัวเครื่องแล้ว จะเห็นว่าบอดี้และการออกแบบทั้งหมดของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE รุ่นใหม่นี้ยังใช้บอดี้เหมือนกับรุ่นก่อนหน้า ที่ประสิทธิภาพการทำงานและระบายความร้อนยังทำได้ดีไม่มีปัญหา ดังนั้นจุดที่น่าสนใจจะเป็นเรื่องของสเปคเป็นหลัก

ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE DSC07960

ส่วนอุปกรณ์เสริมที่ทาง ASUS ให้มาในกล่องนอกจากตัวเครื่องกับอแดปเตอร์หลักที่กำลังจ่ายไฟสูงแล้ว จะมีอแดปเตอร์รองขนาดพกพาที่ชาร์จเข้าทางพอร์ต USB-C ได้, ROG Eye กล้องหน้าความละเอียด 1080p 60 fps และที่วางข้อมือยางเอาไว้ซัพพอร์ตข้อมือตอนวางมือลงคีย์บอร์ดแล้วเล่นเกม ทำให้ไม่ต้องเกร็งข้อมือมากเกินไป

Screen & Speaker

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07915

หน้าจอขนาด 15.6 นิ้วที่เป็นหน้าจอหลักของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้มีมีความละเอียด Full HD พาเนล IPS และค่า Refresh Rate 300 Hz ซึ่งถือว่าลื่นมากทีเดียว และเป็นหน้าจอ Anti-glare ป้องกันแสงสะท้อนเข้าดวงตา ส่วนดีไซน์เป็น NanoEdge Display ที่ขอบหน้าจอบางทั้ง 3 ด้านและมีขอบล่างหนาอยู่ส่วนหนึ่งพร้อมเขียนชื่อรุ่นเอาไว้ว่า ROG Zephyrus แต่จุดสังเกตหลักของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตระกูล ROG หลายๆ รุ่นคือ มักไม่มีกล้อง Webcam ติดตั้งเอาไว้ตรงขอบหน้าจอส่วนบน แต่ให้กล้อง Webcam แยกมาอีกตัวแทน

ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE DSC07966

กล้องหน้าที่แถมมาให้ในกล่องของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE จะเป็น ROG Eye ที่ความละเอียดกล้อง 1080p 60 fps เชื่อมต่อด้วยพอร์ต MicroUSB tp USB-A หนึ่งเส้น และมีอแดปเตอร์ทรงสามเหลี่ยมสำหรับต่อกับขาตั้งกล้องให้จัดมุมกล้องบนโต๊ะทำงานได้ ไม่ต้องเอาตัว ROG Eye ไปหนีบไว้กับขอบบนของหน้าจอตลอดก็ได้ ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นข้อดีและจุดสังเกตไปพร้อมๆ กัน คือถ้าเอาความสะดวกไม่ต้องการต่ออุปกรณ์เสริมหลายชิ้นก่อนประชุมออนไลน์ก็อาจจะอยากให้เป็น Webcam แบบฝังเอาไว้บนขอบบนหน้าจอเลย แต่ถ้าจะสตรีมเกมด้วยแล้วอยากจัดมุมวางกล้องให้ตัวเองได้ด้วย ROG Eye ก็ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานเช่นกัน

gamut 1

ส่วนขอบเขตสีของหน้าจอที่ ASUS เคลมเอาไว้ว่าเป็นหน้าจอ Pantone Validated แล้ว มีขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB พอทดสอบด้วย Spyder5Elite แล้ว ผลจากการทดสอบขอบเขตสีบนหน้าจอจะได้ 92% sRGB, 71% AdobeRGB และ 72% DCI-P3 เทียบแล้วถือว่าขอบเขตสีบนหน้าจอนี้กว้างใกล้เคียงกับที่ทางผู้ผลิตเคลมเอาไว้ ดังนั้นถ้าเอาไปทำงานด้านสีสันต้องถือว่าทำผลงานได้ดีไล่เลี่ยกับที่เคลมเอาไว้

ความสว่างของหน้าจอนี้อาจจะน้อยไปบ้างที่ 192 nits ซึ่งถ้านั่งทำงานกลางแจ้งที่ร้านกาแฟอาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ แต่ถ้าเล่นเกมในห้องหรือทำงานตามปกติก็ถือว่าสว่างกำลังดีไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน แต่จุดสังเกตคือพอแบ่งพื้นที่เป็นตาราง 9 ช่องเพื่อวัดความสว่างแยกโซนกันจะเห็นว่าส่วนขอบบนของหน้าจอจะมีความสว่างน้อยลงที่ 10-15% ซึ่งถือว่าเป็นโซนที่ค่อนข้างมืด แต่ส่วนกลางไปจนถึงล่างของหน้าจอจะอยู่ที่ 0-9% ดังนั้นถ้าใครทำงานอาร์ตเวิร์คหรือแต่งภาพก็แนะนำว่าให้ดึงภาพมาอยู่โซนกลางหน้าจอลงไปจะดีกว่า เพื่อลดโอกาสปรับแสงสีผิดพลาดได้ ส่วนความแม่นยำสีที่ Spyder5Elite วัดได้ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1.39 นับว่าค่า Delta-E <2 ดังนั้นเรื่องความแม่นยำสีถือว่าไว้ใจได้เลย

สรุปคะแนนสีสันบนหน้าจอหลักของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้ คะแนนรวมจะได้ 4 เต็ม 5 คะแนน และถ้าดูแยกเป็นส่วนๆ จะเห็นว่าหน้าจอนี้เด่นที่ Tone Response, Contrast เป็นหลัก ซึ่งได้สูงถึง 5 คะแนนเต็ม ถัดลงมาเป็น Gamut และ Color Accuracy ที่ได 4.5 คะแนน ดังนั้นถ้าใครเล่นเกมและหาโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงไว้ทำงานและเล่นเกมได้ทั้งคู่ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้จัดว่าแรงหายห่วงอย่างแน่นอน

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07921

ถัดมาที่หน้าจอเสริม ROG ScreenPad Plus ที่อยู่เหนือคีย์บอร์ดถัดลงมาจากหน้าจอหลักมีขนาด 14.1 นิ้ว ความละเอียด 1920×550 พิกเซล เป็นหน้าจอทัชสกรีนพร้อมแถบฟังก์ชั่นฝั่งซ้ายของหน้าจอ โดยรวมฟังก์ชั่นการตั้งค่าหน้าจอหลักและหน้าจอเสริมเอาไว้โดยละเอียดและฟังก์ชั่นทางลัดต่างๆ เอาไว้ทั้งหมด และยังสั่งเปิดปิดการทำงานคีย์บอร์ดโดยการกดคำสั่งบนหน้าจอนี้ก็ได้ รวมทั้งตั้งคำสั่งทางลัดเรียกจากหน้าจอนี้ได้เหมือนกัน

 

การใช้งานหน้าจอเสริมตัวนี้ก็ถือว่าง่ายมาก โดย ASUS จะตั้งค่าให้ ROG ScreenPad Plus ตัวนี้เป็นหน้าจอล่างที่อยู่ถัดลงมา สามารถใช้งานได้สะดวกและลากเอาหน้าต่างโปรแกรมที่ใช้งานควบคู่กันมาไว้ที่หน้าจอเสริมแล้วใช้นิ้วแตะเลือกและคุมโปรแกรมต่างๆ ได้สะดวกเหมือนใช้โน๊ตบุ๊คจอทัชสกรีนปกติได้เลย โดยถ้าโปรแกรมไหนมีฟังก์ชั่นแถบควบคุมที่ใช้นิ้วแตะเลือกได้สะดวกกว่าอย่างโปรแกรม DJ หรือโปรแกรมตัดต่อวิดีโอก็เอามาวางที่หน้าจอเสริมนี้ก็จะใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07877

ลำโพงของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE จะติดตั้งมาให้ทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน แยกเป็นลำโพงหลัก 4 วัตต์ 2 ตัว ติดตั้งไว้ใต้หน้าจอ ROG ScreenPad Plus และ Tweeter กำลังขับ 2 วัตต์ อีก 2 ตัว ติดตั้งไว้ที่ขอบตัวเครื่องด้านบนขนาบกับไฟแสดงสถานะตัวเครื่อง โดยเสียงลำโพง Dolby Atmos ถือว่าเป็นลำโพงของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่คุณภาพเสียงน่าประทับใจ ในแง่การฟังเพลงนั้นใช้ฟังได้ทุกแนวไม่ว่าจะป็อบ ร็อค แจ๊ส และอื่นๆ โดยเฉพาะเสียงเพลงแนว EDM ต้องถือว่าทำได้ดี เสียงเบสเล่นออกมาชัดเจนและมีแรงปะทะกำลังพอดีไม่เยอะจนล้น สามารถดูหนังฟังเพลงด้วยลำโพงติดโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้สบายๆ ไม่ต้องพึ่งลำโพงแยกเลยก็ได้

ด้านการเล่นเกมก็ต้องถือว่าลำโพงตัวนี้สามารถแบ่งแยกทิศทางเสียงในเกมได้ดีทีเดียว จากการเล่นเกมผ่านทางลำโพงต้องถือว่าตัวลำโพงจำลองทิศทางเสียงได้ดี โดยเฉพาะเกมแนวเอาตัวรอดหรือ FPS สามารถแบ่งทิศทางเสียงปืนหรือระเบิดได้อย่างดีทีเดียว ดังนั้นถ้าใครอยากเล่นเกมแบบสบายๆ ไม่ต่อหูฟังก็เล่นเกมแล้วใช้ลำโพงตัวเครื่องเลยก็ได้

Keyboard & Touchpad

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07898

คีย์บอร์ดของ ASUS ROG Zephyrus  Duo 15 SE เมื่อมองเผินๆ จะเป็นดีไซน์แบบ Tenkeyless แต่ก็ยังมีทัชแพดติดตั้งเอาไว้ให้ใช้ สามารถสลับระหว่างทัชแพดหรือ Numpad บนตัวทัชแพดเอง จากภาพจะเห็นว่าเนื้อที่ส่วนบนของตัวเครื่องที่ควรติดตั้งคีย์บอร์ดกลายเป็น ROG ScreenPad Plus ไปแล้ว ตัวคีย์บอร์ดก็เลยเลื่อนพื้นที่ลงมาจนติดขอบตัวเครื่องด้านล่างสุดแทน ส่วนไฟ RGB บนคีย์บอร์ดเป็น Aura Sync Lighting ซึ่งปรับแสงสีหรือเปิดปิดได้ด้วยปุ่มบนคีย์บอร์ดหรือจะจัดการผ่านโปรแกรม Armoury Crate ในตัวเครื่องก็ได้ แล้วเลือกเอฟเฟคไฟได้หลากหลายแบบอีกด้วย

ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE DSC07974

 

ซึ่งการดีไซน์ให้ตัวคีย์บอร์ดเลื่อนลงมาจนอยู่ขอบล่างสุดแล้ว เวลาวางมือลงบนคีย์บอร์ดเพื่อเล่นเกม ส้นมือจะนาบกับพื้นโต๊ะแล้วตอนเล่นกมก็ต้องโก่งนิ้วขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้กดปุ่ม W, A, S, D บนนคีย์บอร์ดได้สะดวกขึ้น แต่ส่วนนี้ทาง ASUS แก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการแถมที่รองข้อมือมาให้ในกล่องด้วย เวลาเล่นเกมแล้วก็ไม่ต้องโก่งนิ้วและไม่เกร็งนานเกินไปด้วย ส่วนขอบตัวเครื่องจะยกขอบขึ้นมาเล็กน้อย เวลาพับหน้าจอแล้วบานหน้าจอจะไม่ติดกับปุ่มบนคีย์บอร์ดโดยตรงด้วย

คีย์บอร์ดของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE จะเป็นปุ่มระยะกดสั้น ทำให้ตอนเล่นเกม FPS หรือเกมที่ต้องออกคำสั่งเร็วๆ สามารถกดแล้วรัวปุ่มได้ มี N-key rollover กับ anti-ghosting ที่เป็นฟีเจอร์สำคัญของคีย์บอร์ดเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน ซึ่งจากการลองเล่นเกม FPS แล้ว ต้องถือว่าการตอบสนองของปุ่มบนคีย์บอร์ดทำงานได้เร็วทันใจมาก

ส่วนเรื่องของรายละเอียดดีไซน์ต่างๆ บนคีย์บอร์ด ก็นับว่า ASUS ยังเก็บรายละเอียดส่วนต่างๆ เอื้อกับสไตล์การใช้งานของเกมเมอร์เหมือนเดิม ทั้งปุ่ม Spacebar อสมมาตรที่ฝั่งซ้ายจะหนากว่าเพื่อให้แม่โป้งยังอยู่ในระยะกดของปุ่ม, มีตุ่ม Marking เอาไว้ที่ปุ่ม W ซึ่งเป็นปุ่มแรกที่เกมเมอร์วางนิ้ว และการสกรีนตัวปุ่มจะใช้ฟ้อนท์เดียวกันกับซีรี่ส์เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คภายในค่าย ด้านไฟ RGB จะลอดตัวอักษรขึ้นมาและเรืองที่ขอบข้างปุ่มด้วย

ด้านปุ่ม Function ที่เกี่ยวกับการเล่นเกม ถ้ากด Fn+Windows key จะเป็นการล็อคปุ่ม Windows ไม่ให้ทำงานเวลามือเผลอไปโดนตอนเล่นเกม, ย้ายปุ่ม Print Screen มาไว้ระหว่าง Alt กับ Ctrl ขวามือ และปุ่มลูกศรที่อยู่ข้างๆ กันถ้ากด Fn ค้างเอาไว้จะคุมไฟ RGB บนคีย์บอร์ดทั้งหมด โดยขึ้นลงใช้เพิ่มลดแสงและซ้ายขวาเอาไว้ปรับแพตเทิร์นของไฟว่าจะให้เป็นสีหรือเอฟเฟคแบบไหน ซึ่งส่วนนี้ปรับแต่งโดยละเอียดได้ในซอฟท์แวร์ Armoury Crate ได้ด้วย

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07905

แต่ปุ่มที่ ASUS จัดการ Mapping มาเป็นพิเศษให้กับ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE จะมีทั้งหมด 3 ปุ่ม เรียงอยู่เหนือทัชแพด ซึ่งจากซ้ายมือที่เป็นโลโก้ ROG จะใช้เรียกซอฟท์แวร์ Armoury Crate ออกมาใช้งาน ถัดมาเป็นปุ่มคุมหน้าจอ ROG ScreenPad Plus โดยตั้งได้ทั้งเปิด, ปิด, ซ่อนหน้าจอนี้ก็ได้

สุดท้ายก่อนปุ่ม Power สำหรับเปิดปิดเครื่อง เป็นปุ่มสลับโหมดของปุ่มลูกศรจากขึ้นลงซ้ายขวาตามปกติ ให้ปุ่มขึ้นลงเป็น Page Up, Page Down ส่วนซ้ายเป็น Home และขวาเป็น End ซึ่งการ Mapping ปุ่มแล้วสลับโหมดไปมาได้ด้วย ก็ทำให้ผู้ใช้เลือกโหมดการใช้งานได้สะดวก ไม่ติดอยู่กับรูปแบบการใช้งานเดิมๆ รวมทั้งประหยัดพื้นที่บนคีย์บอร์ดไปได้มากทีเดียว

ปุ่ม F1-F12 เองก็จะรวมกับ Function Hotkey ซึ่งถ้ากดตามปกติจะเป็น F1-F12 ถ้ากด Fn ค้างเอาไว้ก่อนจะเป็น Function Hotkey อย่างที่ ASUS ตั้งค่าเอาไว้ โดยแต่ละปุ่มจะทำงานดังนี้

  • F1-F3 – ปิด, ลดและเพิ่มเสียง
  • F4 – ปิดหรือเปิดไมโครโฟน
  • F5 – ปุ่มปรับโหมดของตัวเครื่อง สลับระหว่าง Silent, Performance และ Turbo
  • F6 – ปุ่มเรียกโปรแกรม Snipping Tool
  • F7-F8 – ปุ่มลดและเพิ่มความสว่างบนหน้าจอ
  • F9 – ปุ่ม Project สำหรับตั้งค่าการเชื่อมต่อหน้าจอหลักและเสริม
  • F10 – ปุ่มเปิดหรือปิดการทำงานทัชแพด
  • F11 – ปุ่ม Sleep mode
  • F12 – ปุ่ม Airplane mode

ส่วนทัชแพดของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE ฝั่งขวามือของคีย์บอร์ดจะเป็นดีไซน์แบบแป้นแข็งและแยกปุ่มคลิกซ้ายขวาเอาไว้ด้านล่างและตัวปุ่มจะนุ่มกดง่ายเหมือนปุ่มสวิตช์ของอุปกรณ์ไฮเทคหรือเครื่องบินรบสักรุ่นหนึ่ง รองรับ Windows 10 Gesture Control ตามปกติ

ฟังก์ชั่นพิเศษที่ต้องพูดถึง คือถ้าแตะค้างที่มุมบนซ้ายที่เป็นไอคอนรูปทัชแพดกับ Numpad ค้างเอาไว้ จะสลับจากทัชแพดธรรมดาเป็น Numpad ได้ด้วย ซึ่งความเร็วการตอบสนองเรียกว่าเหมือนกดเครื่องคิดเลขในแอพฯ บนสมาร์ทโฟนเลย ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า Numpad เช่นนี้มีประโยชน์และน่านำมาใส่ในโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันทั้งหน้าจอ 14 และ 15.6 นิ้ว เพราะทำให้คนที่ต้องทำงานกับตัวเลขบ่อยๆ แล้วต่อเมาส์แยกอยู่แล้ว สามารถกดพิมพ์ตัวเลขได้ง่ายขึ้นด้วย จัดเป็นการออกแบบแป้นทัชแพดให้ทำงานได้อเนกประสงค์ขึ้นมาก

Connector / Thin & Weight

พอร์ตของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE จะแบ่งอยู่ 2 ฝั่งของตัวเครื่องข้างๆ ตัวคีย์บอร์ด ให้ตัวเครื่องด้านใต้ ROG ScreenPad Plus เป็นช่องระบายอากาศ โดยพอร์ตทั้งสามฝั่งจะมีดังนี้

  • ด้านซ้ายจากซ้ายมือ – MicroSD Card reader, ช่องเสียบปลั๊ก, ช่องหูฟัง 3.5 มม.
  • ด้านขวาจากซ้ายมือ – USB-A 3.2 Gen 2 x 2 ช่อง, USB-C 3.2 Gen 2 รองรับการชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องด้วยมาตรฐาน USB Power Delivery แต่ต้องใช้ปลั๊ก 100 วัตต์ถึงจะชาร์จได้ และต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort ได้ด้วย
  • ด้านหลังตัวเครื่องจากซ้ายมือ – พอร์ต LAN RJ45, USB-A 3.2 Gen 2, HDMI 2.0b

สำหรับพอร์ตรอบตัวเครื่อง ต้องถือว่าทาง ASUS ยังให้มาครบเครื่องและเอาพอร์ตที่ไม่ได้ถอดเข้าออกบ่อยๆ ไปติดตั้งไว้ด้านหลังเครื่องเลย ทำให้จัดสายไฟได้สะดวกมาก แต่ก็ยังน่าเสียดายว่า ASUS ยังไม่ได้ขยายพอร์ต MicroSD Card reader ให้เป็น SD Card reader ไซซ์มาตรฐาน แต่ก็ถือว่ายังมีพอร์ตหลักๆ ที่ต้องการใช้งานติดต้งมาให้ครบถ้วนอยู่ และถ้าพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอน้อยไปไม่พอใช้ก็ต่อจาก USB-C ออกมาก็ได้ด้วย

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07856

ด้านน้ำหนักของตัวเครื่องและอแดปเตอร์ เมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอบแล้ว จะเห็นว่าเฉพาะ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE จะหนัก 2.5 กิโลกรัม ส่วนอแดปเตอร์ที่กำลังชาร์จสูงที่ควรต่อตอนเล่นเกมจะหนัก 962 กรัมหรือเกือบหนึ่งกิโลกรัมทีเดียว ส่วนอแดปเตอร์เสริมตัวเล็กที่ต่อผ่านพอร์ต USB-C จะหนัก 371 กรัมเท่านั้น

ด้านของปลั๊กทั้งสองตัวที่ติดมากับ ASUS Zephyrus Duo 15 SE ตัวนี้ ถ้าดูแล้วจะเห็นว่าทาง ASUS เตรียมเอาไว้ให้ใช้แยกงานกันอย่างชัดเจน ถ้าวางเครื่องไว้ที่บ้านเพื่อเล่นเกมเป็นหลักก็เอาอแดปเตอร์ตัวกำลังชาร์จสูงต่อเครื่องได้เลย แต่ถ้าจะทิ้งปลั๊กไว้ออฟฟิศสักตัวหรือออกนอกสถานที่ในยามจำเป็นก็ใช้เป็นอแดปเตอร์ตัวเล็กแทน ทำให้กระเป๋าเราไม่หนักและใช้งานได้ทั้งวันโดยไม่ต้องกลุ้มเรื่องแบตเตอรี่ไม่พอใช้งานได้เลย

ถ้าใครใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นเครื่องหลักแทนเกมมิ่งพีซีที่บ้านและเอาไปออฟฟิศเพื่อทำงานด้วย ก็เอาอแดปเตอร์ทั้งสองตัวนี้กระจายไว้ที่ออฟฟิศกับที่บ้านได้เลย และถ้าต้องไปติดต่องานและทำธุระ ก็เอาอแดปเตอร์ตัวรองติดกระเป๋าไปได้เลย

Performance & Software

สเปคของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้เรียกว่าเป็นตัวแรงสุดจากทาง ASUS ซึ่งถึงบอดี้ภายนอกจะคล้ายกับรุ่นก่อนหน้านี้แต่สเปคภายในจัดว่าดีขึ้น เช่นซีพียูจาก AMD Ryzen 9 5900HX จะอัพเกรดมาเป็น AMD Ryzen 9 5980HX สถาปัตยกรรม AMD Zen 3 แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.8 GHz ซึ่งประสิทธิภาพตอนใช้เล่นเกมหรือทำงานกับโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องหนักๆ ก็จัดการได้ดีไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน และตัวซีพียูก็รองรับชุดคำสั่งหลักๆ อย่างครบถ้วนอีกด้วย

ด้านแรมในตัวเครื่องเป็นแบบ Dual-channel ขนาด 32GB DDR4 บัส 3200 MHz แบ่งเป็นออนบอร์ด 16GB กับแบบแรมแผ่น SO-DIMM อีก 16GB รวมเป็น 32GB รองรับการอัพเกรดได้สูงสุด 48GB ซึ่งถ้าใครเอาไปตัดต่อคลิปวิดีโอหรือทำงานกราฟฟิคหนักๆ ผู้เขียนแนะนำว่าอัพเกรดให้เต็มที่ไปเลยจะดีที่สุด ส่วนคนที่เล่นเกมอย่างเดียวแล้วใช้งานโปรแกรมทั่วๆ ไปก็ไม่ต้องอัพเกรดก็เล่นเกมใช้งานได้สบายๆ

GPU Z 1

การ์ดจอในเครื่องยังเป็นรุ่นตัวท็อปจาก NVIDIA รุ่น NVIDIA GeForce RTX 3080 แรม 16GB GDDR6 ความเร็ว 1,645 MHz รองรับ OpenCL, CUDA, DirectCompute, DirectML, Ray Tracing, PhysX, OpenGL 4.6 ครบถ้วน ซึ่งนอกจากจะเล่นเกมบนหน้าจอตัวเครื่องได้ไหลลื่นและได้ภาพสวยงามแล้ว ถ้าต่อพอร์ต HDMI 2.0b ออกไปหน้าจอแยกความละเอียด QHD แล้วเล่นเกม ก็คาดหวังความสวยงามจากภาพได้เลย

ด้านประเภทของการ์ดจอจากการค้นหาข้อมูลแล้ว ซีรี่ย์ NVIDIA GeForce RTX 3000 นั้นจะไม่มีการแบ่งฝั่งว่ารุ่นไหนเป็น Max-Q, Max-P อย่างชัดเจน แต่จากหน้าสเปคของทาง ASUS เอง จะระบุการบูสต์ประสิทธิภาพของการ์ดจอเอาไว้ว่าถ้าใช้งานในโหมดปกติ จะทำงานที่ 115 วัตต์ แต่ถ้าเปลี่ยนโหมดเป็นเกมมิ่งด้วยการกด Fn+F5 เป็น Performance แล้ว ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE จะทำ Dynamic Boost ให้การ์ดจอใช้พลังงาน 130 วัตต์ เร่งประสิทธิภาพตอนทำงานหรือเล่นเกมให้ดีขึ้น

device mgr 1

เมื่อเช็คภายในเครื่องด้วย Device Manager แล้ว จะเห็นว่าทาง ASUS เองก็ให้สเปคตัวเครื่องมาแบบจัดเต็มมาก ทั้ง SSD แบบ M.2 NVMe รุ่น Samsung MZVL21T0HCLR-00B00 หรือ Samsung PM9A1 เป็น M.2 NVMe ความจุ 1TB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 จำนวน 2 ตัว เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax ของ MediaTek MT7921 รองรับ Bluetooth 5.1 ด้วย และมีชิป TPM 2.0 ติดตั้งมาในตัว ดังนั้นถ้าใครอยากอัพเดท Windows 10 Home ในเครื่องให้เป็น Windows 11 ก็สามารถโหลดตัวอัพเดทมาอัพเดทตัวเครื่องได้เลย

พอทดสอบการเรนเดอร์ 3D CG ด้วย CINEBENCH R15 และ CINEBENCH R20 แล้ว ถ้าดูจากคะแนนโดยรวมต้องถือว่า ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ประสิทธิภาพสูงมาก ซึ่งคะแนนที่ได้จาก CINEBENCH R15 ในส่วน OpenGL จะทำได้ 150.93 fps และ CPU 2401 cb ซึ่งจัดว่าสูงระดับหายห่วง ถ้าเอาไปทำงานกราฟฟิคต่างๆ เรียกว่าแรงหายห่วงแน่นอน

ด้าน CINEBENCH R20 ที่เน้นทดสอบประสิทธิภาพของตัวซีพียูอย่างเดียว ได้ CPU 5602 pts ในแง่ประสิทธิภาพแล้ว จัดว่าพลังประมวลผลของ AMD Ryzen 9 5980HX ตัวนี้มีให้ใช้งานเหลือเฟือ ซึ่งถ้าใครเอาไปทำ 3D CG เรียกว่าไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

CrytalDiskMark

ด้านประสิทธิภาพของ M.2 NVMe ของ Samsung PM9A1 นั้น ตามหน้าสเปคแล้วจะรับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 แต่เนื่องจากตัว AMD ยังรับส่งข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 อยู่ ดังนั้นความเร็วที่ได้ก็จะอยู่สูงสุดตามที่อินเตอร์เฟสนี้รองรับ พอวัดด้วย CrystalDiskMark แล้ว ความเร็ว Sequential Read จะอยู่ที่ 3,496 MB/s และ Sequential Write อยู่ที่ 3,514 MB/s ซึ่งถือว่าควาามเร็วเขียนอ่านข้อมูลนั้นเร็วเต็มที่เท่าที่ PCIe 3.0 x4 สามารถทำได้แล้ว ดังนั้น M.2 NVMe ในเครื่องนี้เรียกว่าไม่ต้องอัพเกรดก็ได้ เพราะว่าประสิทธิภาพตอนทำงานนั้นเหลือเฟือแล้ว

3DMark Time Spy smol

ด้าน 3D Mark Time Spy ที่ทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตอนเล่นเกมที่เป็นงานหลักของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE ที่ผู้เขียนปรับเป็นโหมด Performance แล้ว ต้องนับว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เล่นเกม AAA ในปัจจุบันนี้ได้ทุกเกมได้สบายๆ อย่างแน่นอน ด้วยผลคะแนนรวม 11,196 คะแนน และถ้าแยกส่วนกัน CPU score จะทำได้ 10,100 คะแนนและ Graphics score 11,415 คะแนน ถ้าให้เทียบแล้ว ก็สามารถใช้เล่นเกมต่อไปได้อีก 3-4 ปีอย่างแน่นอน

PCMark 10

ด้านโปรแกรม Benchmark สำหรับสายทำงานอย่าง PCMark 10 ทำคะแนนเฉลี่ยรวมไปได้ 7,121 คะแนน จัดว่าแรงหายห่วงไม่มีปัญหาใดๆ เลย โดยเฉพาะคะแนนส่วน Essential ที่เป็นการเปิดโปรแกรมและประชุมงานออนไลน์ที่กวาดคะแนนไป 10,477 คะแนน ถัดลงมาที่ Digital Content Creation ที่เกี่ยวกับการตัดต่อแต่งภาพก็จัดไปถึง 9,814 คะแนน ปิดด้วย Productivity ที่ 9,531 คะแนน เรียกว่าเป็นเครื่องการันตีได้ดีว่าถ้าเอาไปทำงานไม่ว่าจะตัดต่อคลิปหรือแต่งภาพก็ทำได้ไหลลื่นสุดๆ ไม่มีปัญหาเลย

affinity 1

อีกการทดสอบจาก Affinity Photo ที่เป็นโปรแกรมแต่งภาพประเภทเดียวกับ Adobe Photoshop เมื่อรัน Benchmark แล้ว จะเห็นว่าคะแนนของกราฟฟิคการ์ดในส่วนของ Raster (Single GPU) และ (Multi GPU) นั้นจะทำคะแนนได้สูงมากระดับ 4,000 คะแนน รวมทั้งการทดสอบ Combined (Single) และ (Multi GPU) ก็ทำคะแนนได้ยอดเยี่ยมมากในช่วงเกือบ 4,000 คะแนน เช่นกัน

จากการทดสอบตัวเครื่องในแง่การทำงานมาทั้งหมดแล้ว ถือว่าในแง่การทำงานอาร์ตเวิร์คต่างๆ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้สามารถทำงานได้ไหลลื่นไม่มีปัญหาหน่วงหรือช้ามารบกวนแน่นอน เนื่องจากซีพียูและการ์ดจอนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในโน๊ตบุ๊ครุ่นปัจจุบันนี้เลย ซึ่งถ้าสตรีมเมอร์คนไหนต้องการเอาไป Live stream เล่นเกมแล้วตัดต่อคลิปไฮไลต์อัพโหลดขึ้น YouTube ก็ไม่ต้องห่วงเลย นอกจากนี้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต่างๆ ก็สามารถเลือกซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปใช้ทำงานได้เลยเช่นกัน

rog duo 15 se

ในฐานะที่เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวท็อปของทางค่ายแล้ว ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เอง ก็ทำผลงานการเล่นเกมบนหน้าจอตัวเครื่องระดับ Full HD ค่า Refresh Rate 300 Hz ได้น่าประทับใจมาก โดยการทดสอบนี้ผู้เขียนปรับเป็นโหมด Performance และปรับกราฟฟิคในเกมระดับสูงสุดทั้งหมดเท่าที่เกมนั้นเปิดให้ตั้งค่าได้ด้วย

ผลที่ได้จะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยในกราฟแท่งสีเหลืองนั้น ทำเฟรมเรทเฉลี่ยไปได้เกิน 60 เฟรมต่อวินาทีทั้งหมด รวมถึง SCUM ที่ถึงจะอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาตัวเกมก็ยังรีดเฟรมเรทเฉลี่ยไปได้ 74 เฟรมต่อวินาที นอกจากนี้เกมสาย FPS หรือ Third-person shooting อย่าง PUBG ก็สามารถรีดเฟรมเรทได้สูงเกินร้อยเฟรมทั้งหมด โดยเฉพาะ Resident Evil Village ที่ผู้เขียนปรับกราฟฟิคไประดับสูงสุดก็รีดเฟรมเรทได้สูงมากเช่นกัน แต่จุดสังเกตคือเกม DotA 2 ที่ผู้เขียนปรับกราฟฟิคในเกมระดับสูงสุดทุกอย่างแล้ว เฟรมเรทยังติดล็อคอยู่ที่ช่วง 121 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น แต่ถ้านับที่พลังการทำงานของ NVIDIA GeForce RTX 3080 แล้ว เฟรมเรทของ DotA 2 นั้นสามารถรีดไปได้สูงกว่านี้อย่างแน่นอน

เมื่อเฟรมเรทและประสิทธิภาพของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE นั้นสูงระดับนี้แล้ว ส่วนตัวผู้เขียนก็แนะนำว่าถ้าอยากเล่นเกมให้ได้อรรถรสยิ่งขึ้น ก็แนะนำให้ต่อหน้าจอแยกความละเอียด QHD ค่า Refresh Rate สูงระดับ 144 Hz เข้าไปสักตัว จะได้เล่นเกมให้มีอรรถรสยิ่งขึ้นและยังได้เฟรมเรทตอนเล่นเกมในระดับสูงช่วงร้อยเฟรมอย่างแน่นอน เรียกว่าซื้อเครื่องเดียวทำหน้าที่แทนเกมมิ่งพีซีที่บ้านได้อย่างแน่นอน

Battery & Heat & Noise

battmon 1

สำหรับแบตเตอรี่ขนาด 89 Wh ที่ติดตั้งมาให้ใน ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE ต้องถือว่าให้มาเยอะ แต่เมื่อซีพียูกับการ์ดจอเป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงทั้งคู่ก็อาจจะใช้งานได้นานระดับหนึ่งแต่ไม่เท่ากับรุ่นที่เน้นเรื่องระยะเวลาใช้งานเป็นหลัก แต่เมื่อทดสอบตามมาตรฐานเว็บไซต์โดยปิดหน้าจอ ROG ScreenPad Plus สลับโหมดเป็น Silent และเปิดโปหมดประหยัดพลังงาน ลดความสว่างหน้าจอต่ำสุดและเสียงเหลือ 10% แล้วดูคลิป YouTube ความยาว 30 นาทีด้วย Microsoft Edge แล้ว BatteryMon แจ้งว่าแบตเตอรี่ 89 Wh สามารถใช้งานได้นานสุดที่ 3 ชั่วโมง 40 นาทีเท่านั้น

ในฐานะที่เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแล้ว ระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ระดับร่วม 4 ชั่วโมงเช่นนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่พบเห็นได้เป็นปกติ แต่อาจจะน้อยกว่ารุ่นที่ใช้การ์ดจอระดับ RTX 3050, RTX 3060 เล็กน้อย แต่ก็แลกกับประสิทธิภาพที่เหนือกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นถ้าใครใช้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นเครื่องหลักทั้งทำงานและเล่นเกมก็ควรพกอแดปเตอร์ติดกระเป๋าเอาไว้ใช้งานเสมอ จะได้ทำงานและเล่นเกมได้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน

 

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07937

ด้านระบบระบายความร้อน Liquid Metal จาก Thermal Grizzly จับคู่กับ AAS Plus ที่ช่วยเสริมระบบประสิทธิภาพการะระบายความร้อนให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยดึงลมเข้าทางช่องด้านใต ROG ScreenPad Plus และด้านใต้เครื่องเข้าพัดลมโบลวเวอร์ 2 ตัวเพื่อระบายความร้อนออกช่องระบายอากาศ 4 ตัวรอบเครื่อง เวลาใช้งานตามปกติอย่างการดูหนังฟังเพลงเรียกว่าไม่มีเสียงพัดลมระบายอากาศดังขึ้นมารบกวนเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าเปลี่ยนเข้าโหมด Performance หรือ Turbo แล้วเล่นเกมจะได้ยินเสียงพัดลมระบายความร้อนทำงานอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ถึงกับรบกวนหรือเสียอรรถรสเวลาเล่นเกมอย่างแน่นอน

heat

ส่วนอุณหภูมิด้านในตัวเครื่องตอนทดลองเล่นเกมแล้ววัดด้วย CPUID HWMonitor จะเห็นว่าอุณหภูมิของซีพียูเฉลี่ยและต่ำสุดที่ 88 องศาเซลเซียส และสูงสุด 91 องศา ส่วนชิ้นส่วนอื่นอย่าง SSD อยู่ที่ช่วง 57-62 องศา ส่วนการ์ดจออยู่ช่วง 61-71 องศาเซลเซียสเท่านั้น ต้องถือว่าระบบระบายความร้อนและ Liquid Metal ในตัวเครื่องก็สามารถจัดการระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี

จากการใช้งานจริงถือว่าเรื่องความร้อนในเครื่องอาจจะดูสูงนิดหน่อย แต่ตอนเล่นเกมกลับไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนแผ่ขึ้นมาที่มือตอนเล่นเกมเลยแม้แต่น้อย ไม่มีอาการตัวเครื่องลดประสิทธิภาพการทำงานลงเพราะอุณหภูมิสูงเกินแม้แต่นิดเดียว ดังนั้นเรื่องอุณหภูมิระหว่างใช้งานนั้นถือว่าไม่ต้องเป็นห่วงและไว้ใจประสิทธิภาพของ Liquid Metal และ AAS Plus ของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้ได้อย่างแน่นอน

User Experience

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07864

จากการทดลองใช้งานและเล่นเกมด้วย ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE แล้ว จัดว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ตตัวแรงระดับ Desktop replacement จริงจังเครื่องหนึ่ง ระดับที่ถ้าไม่อยากรอการ์ดจอแยกราคาตกแล้ว ก็ขายแยกชิ้นส่วนเอาทุนมาร่วมซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปต่อหน้าจอแยกแล้วเล่นเกมเลยก็ได้ เพราะพลังของซีพียู, การ์ดจอและ SSD แบบ M.2 NVMe ในเครื่องที่ทาง ASUS ประกอบมาให้ใช้งานนั้นจัดว่าอยู่ในระดับดีที่สุดในท้องตลาดตอนนี้แล้ว ระดับที่ไม่ต้องอัพเกรดก็แรงเหลือเฟืออีกด้วย

ถ้าเทียบกัน ต้องถือว่าประสิทธิภาพด้านเล่นเกมของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้โดดเด่นนำสเปคด้านอื่นมาก ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองเป็นคนเล่นเกมเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อทดลองเล่นเกมด้วย ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้ดูแล้ว ต้องนับว่าประสิทธิภาพของมันดีไม่มีที่ติและเปิดกราฟฟิคในเกมได้อย่างสวยงามจัดเต็มเท่ากับการประกอบเกมมิ่งพีซีแรงๆ สักเครื่องมาเล่นเกมเลย หากมีงบประมาณสำหรับประกอบเกมมิ่งพีซีในยุคนี้อยู่ก้อนหนึ่งแล้ว แต่ราคาของการ์ดจออย่างเดียวแพงเกินรับไหวและพอรวมกับชิ้นส่วนอื่นในเครื่องแล้วราคาดีดตัวสูงมาจนไล่เลี่ยหรือเท่ากับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ล่ะก็ ส่วนตัวจะแนะนำให้เอาเงินมาลงกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้แล้วต่อหน้าจอเสริมดีๆ สักตัวไปเลยก็เล่นเกมได้สบายๆ ใช้งานง่ายและมีบริการหลังการขายครบเครื่องในตัวแบบไม่ต้องไล่เช็คหรือถอดชิ้นส่วนเคลมแยกทีละชิ้นก็ได้

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07958

ด้านความอเนกประสงค์ของตัวเครื่องก็ถือว่าน่าประทับใจ เพราะหน้าจอ ROG ScreenPad Plus ที่ติดตั้งมาให้และเป็นหน้าจอทัชสกรีนด้วย ทำให้เราเอาโปรแกรมเสริมตอนเล่นเกมอย่าง Discord หรือเอาหน้าพาเนลของโปรแกรมตัดต่อและอื่นๆ ที่ใช้นิ้วแตะสั่งงานได้สะดวกกว่ามาไว้ที่หน้าจอเสริมนี้จะทำงานได้สะดวกขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นนอกจากเกมเมอร์แล้ว คอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็เหมาะจะเอาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก

Conclusion & Award

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07875

สรุปแล้ว ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้ต้องถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวแรงสุดระดับเรือธงที่ทำมาเอาใจเกมเมอร์หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่หาโน๊ตบุ๊คที่แรงที่สุดมาเล่นเกมและทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าลงทุนเพื่อเครื่องนี้ไปครั้งเดียวก็เอาไปเล่นเกม AAA ปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดได้ยาวหลายปีแน่นอน และถ้าให้ดี ผู้เขียนก็แนะนำให้ต่อหน้าจอแยกความละเอียด QHD เข้าไปอีกตัวเพื่อเล่นเกมบนหน้าจอความละเอียดสูงให้ภาพคมชัดขึ้นแต่ก็ยังได้เฟรมเรทเฉลี่ยในระดับสูงเช่นเดิมอย่างแน่นอน

ถ้าสเปคแรงแล้ว ระบบระบายความร้อน Liquid Metal จาก Thermal Grizzly เองก็ทำออกมาได้ดี ต่อให้เล่นเกมและ Live stream ต่อเหนื่องหลายชั่วโมงก็ได้สบายๆ ยิ่งถ้าใครเป็นสายฟาร์มเกมต่อเนื่องหลายชั่วโมงไม่มีพักก็ไม่มีปัญหาและไม่มีความร้อนแผ่ขึ้นมืออย่างแน่นอน โดยเฉพาะคนที่เน้น Live stream ก็มีกล้อง Webcam “ROG Eye” พร้อมอแดปเตอร์เอาไว้ต่อกับขาตั้งกล้องเพื่อปรับมุมภาพให้เข้ากับที่เราต้องการแถมมาให้ในแพ็คเกจ เรียกว่าพร้อมใช้งานทุกอย่างและสเปคก็แรงแบบไม่ต้องอัพเกรดแล้วก็ได้

ASUS ROG Zephyrus DUO DSC07874

แต่จุดสังเกตหลักๆ อย่างความละเอียดหน้าจอที่ลดลงมาเหลือ Full HD แต่ Refresh Rate สูงระดับ 300 Hz แทนที่จะเป็น 4K 120 Hz เหมือนในรุ่นก่อนหน้านี้ที่ได้รีวิวไป ต้องเรียกว่าเป็นจุดครึ่งทางที่บางคนอาจจะชอบหรือรู้สึกติดใจก็ได้ ซึ่งถ้าใครเน้นที่อยากได้ภาพในเกมไหลลื่นมากๆ โดยเฉพาะเกมแนว FPS ที่ภาพเปลี่ยนต่อเนื่องรวดเร็วและ Input Lag น้อย น่าจะชอบรุ่นจอ Full HD Refresh Rate 300 Hz มากกว่า แต่ถ้าใครเน้นภาพสวยงามเป็นใจความและภาพลื่นระดับหนึ่งก็โอเคแล้ว น่าจะสนใจจอ 4K 120 Hz มากกว่าอย่างแน่นอน แต่รุ่นนี้ก็มีทางแก้อย่างการต่อหน้าจอแยกผ่าน HDMI 2.0b ที่รองรับความละเอียด 4K 60 Hz แทน ก็ได้ภาพสวยคมชัดเหมือนกัน

ส่วนระบบสแกนลายนิ้วมือก็เป็นฟีเจอร์ที่อยากให้ ASUS ติดตั้งมาให้โน๊ตบุ๊คทุกรุ่นเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โดยไม่ต้องแยกว่าเป็นซีรี่ส์ไหน เพราะช่วยให้ล็อคอินตัวเข้า Windows มาใช้งานได้สะดวกกว่าพิมพ์รหัสผ่านมาก ดังนั้นถ้าใครเห็นว่าจุดสังเกตทั้ง 2 จุดนี้ ดูจะน่าติดใจอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE เครื่องนี้เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่แรงสุดโต่งระดับที่แทนเกมมิ่งพีซีหลายๆ รุ่นได้สบายๆ ดังนั้นถ้าใครดีดลูกคิดรางแก้วแล้วคิดว่าราคาประกอบเกมมิ่งพีซีสักเครื่องดูจะไม่คุ้มค่าหรือเพิ่มอีกนิดหน่อยไปเอาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแรงๆ สักตัวแล้วพกไปทำงานหรือเล่นเกมที่ไหนก็ได้ล่ะก็ นี่คือรุ่นที่ดีและใหม่ที่สุดที่ ASUS มีให้คุณเลือกซื้อ ณ ตอนนี้ และได้ฟีเจอร์ในเครื่องดีสมค่าตัวอย่างแน่นอน

Award

award new multi media

Best multimedia

Best Multimedia ของ ASUS ROG Zephyrus Duo 15 SE ยกให้กับลำโพง Dolby Atmos ที่ให้เสียงมีมิติคมชัด แยกทิศทางได้ดีเหมือนลำโพงคุณภาพดีชุดหนึ่งที่เอามาต่อกับคอมพิวเตอร์แล้วดูหนังหรือเล่นเกมก็ดีคุ้มค่าตัว เรียกว่าได้อรรถรสตอนดูหนังและเล่นเกมอย่างเต็มที่แน่นอน ซึ่งถ้าใครชอบเล่นเกมเปิดลำโพงเป็นประจำก็น่าจะชื่นชอบลำโพงของเครื่องนี้แน่นอน

award new Gaming

Best Gaming

ในฐานะเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงของ ASUS ที่ใส่ทั้ง AMD Ryzen 9 5980HX กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3080, SSD แบบ M.2 NVMe 1TB x 2 ตัวและแรม 32GB ต้องถือว่าเป็นสเปคที่แรงแบบไร้ข้อกังขา ไม่ต้องอัพเกรดไม่ต้องทำอะไร แค่เปิดเครื่องแล้วลงเกมที่อยากเล่นแล้วสนุกที่หน้าจอหลักหรือจอ QHD จากนั้นปรับกราฟฟิคให้สุดก็เล่นเกมได้มันส์เต็มอิ่มอย่างแน่นอน

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

คอม All in One 7 รุ่นเด็ด จอใหญ่ ดีไซน์สวย สเปคดี ซีพียูแรง แรม 16GB พร้อม Windows 11 เน้นทำงานและความบันเทิง คอม All in One หรือ ออลอินวันพีซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการพีซีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมตั้งโต๊ะ แต่ประหยัดไฟและประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า...

PC Review

WD Blue SN5000 1TB เปิดเครื่องไว ก็อปปี้ไฟล์ ย้ายข้อมูลรวดเร็ว SSD เพื่อสายทำงาน สาย AI และงานที่เร่งด่วน WD Blue SN5000 เป็นหนึ่งในซีรีย์ของ SSD ระดับเพาเวอร์ยูสเซอร์และเกมเมอร์ของทาง WD ที่ออกแบบมาให้กับผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ใช้งานด้านความเร็ว ในการอ่านและเขียนข้อมูล บนมาตรฐาน M.2 NVMe...

Buyer's Guide

หน้าจอคอมในปัจจุบันเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 18.5 นิ้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน จนตอนนี้ก็มีจอคอม 32 นิ้ว ทั้งจอคอมทำงานและจอคอมเล่นเกมให้เลือกซื้อมากมายหลายรุ่น แม้บางคนอาจคิดว่ามันมีขนาดใหญ่จนเท่ากับจอทีวีรุ่นเล็กแล้วจะวางบนโต๊ะคอมก็คงใหญ่เกินไป แต่ในความเป็นจริงขนาดของมันก็ใหญ่กว่าจอ 27 นิ้ว ตรงหน้าไปอีกนิดเดียว ทำให้พื้นที่แสดงผลกว้างจนสุดขอบสายตายิ่งขึ้น ถ้าใครเล่นเกมเป็นประจำจะได้เห็นฉากหลังของเกมเต็มสายตาจนดื่มด่ำไปกับบรรยากาศได้เต็มอิ่มยิ่งขึ้น กรณีจอทำงานก็มีพื้นที่แสดงผลกว้างขึ้นทั้งมองเห็นตารางและหน้าเอกสารกว้างขึ้น รวมไปถึง Timeline เวลาตัดต่อคลิปยาวกว่าเดิม ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผู้ผลิตหน้าจอแบรนด์ต่างๆ พากันใส่ฟีเจอร์มาให้หน้าจอขนาดนี้มากขึ้นจนกลายเป็นจอพรีเมี่ยมระดับเริ่มต้นกันแล้ว ไม่ว่าจะได้พาเนลคุณภาพขอบเขตสีกว้างใช้ทำงานกราฟิคได้, มีพอร์ต USB-C...

CONTENT

ในปัจจุบัน นอกเหนือจากโน้ตบุ๊กที่เป็นดีไซน์แบบฝาพับอย่างที่คุ้นเคยกันมาอย่างยาวนานแล้ว ตัวเครื่องยังมีการพัฒนารูปทรงเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการพกพา และอรรถประโยชน์ในการใช้งานให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยมก็คือการทำออกมาเป็นโน้ตบุ๊ก 2-in-1 โดยใช้หน้าจอสัมผัสที่สามารถพลิกจอได้ 360 องศา ทำให้สามารถใช้เป็นได้ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตในเครื่องเดียว ในบทความนี้ก็เลยจะมาแนะนำโน้ตบุ๊กจอพับ AMD ในรูปแบบ 2-in-1 ที่น่าใช้กันครับ ตอบโจทย์ทั้งใช้ทำงาน ไปจนถึงการเล่นเกมได้เลยในบางรุ่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก