Connect with us

Hi, what are you looking for?

How to

คอมเปิดแล้วดับ แก้ได้ใน 8 ขั้นตอน เช็คครบ ยังไม่ต้องส่งร้านซ่อม ทำเองได้ฟรี!

คอมเปิดแล้วดับ แก้ได้ใน 8 ขั้นตอน เช็คครบ ยังไม่ต้องส่งร้านซ่อม ทำเองได้ฟรี!

คอมเปิดแล้วดับ

คอมเปิดแล้วดับ เรียกว่าเป็นอาการที่สร้างความงุนงงสงสัย ให้กับผู้ที่เจอกับปัญหานี้ กับต้องลงมือด้วยสารพัดวิธี เพราะบางทีก็ไม่ใช่ง่ายๆ เนื่องจากข้อจำกัดของหลายๆ คนนั้น จะอยู่ที่ฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์คอม ที่ไม่ได้มีสำรองไว้ เนื่องจากราคาไม่ได้ถูก และไม่ได้เป็นร้านซ่อม ที่มักจะมีของเอาไว้ให้ลองได้ติดบ้าน หรือบางครั้งมีคอมเครื่องเดียว ก็ไม่รู้จะดูข้อมูลจากไหน แนวทางในการรับมือกับปัญหาคอมที่เปิดแล้วติดๆ ดับๆ แบบนี้ จึงยากขึ้นอีกพอสมควร อย่างไรก็ดี เพื่อให้การแก้ไขนั้นง่ายขึ้น เราจึงสรุปวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้มาให้ รวบรวมวิธีที่เจอกันบ่อยๆ และวิธีแก้ไขมาแนะนำกัน มีด้วยกัน 7 ข้อ ซึ่งเชื่อว่าคุณจะสามารถรับมือคอมค้างคอมเสียได้ง่ายขึ้น และทำได้เอง โดยยังไม่ต้องยกคอมไปหาช่างอีกด้วย

คอมเปิดแล้วดับ

  1. เช็คสายไฟและปลั๊กต่อพ่วง
  2. ขยับสายเพาเวอร์ซัพพลายใหม่
  3. เช็คฮีตซิงก์ชุดระบายความร้อน
  4. เช็คอุณหภูมิในจุดต่างๆ
  5. แรมแถวใดอาจเสีย
  6. การ์ดจอยังเป็นปกติ?
  7. เช็คเมนบอร์ด
  8. ไฟฟ้าลัดวงจร

1.เช็คสายไฟและปลั๊กต่อพ่วง

เป็นวิธีตรวจเช็คและแก้ไขคอมเปิดแล้วดับในเบื้องต้น ที่สามารถทำได้ทุกคน และยังง่ายอีกด้วย เพราะแค่ไล่ดูตามสายปลั๊กที่ต่อมายังจุดพ่วงของคอมพิวเตอร์เท่านั้น และมักจะเป็นเรื่องที่ทำเอาช่างหลายคนตกม้าตาย เพราะคาดไม่ถึง โดยสิ่งที่ต้องเช็คมีอยู่ด้วยกันดังนี้

Advertisement
คอมเปิดแล้วดับ
  • สายไฟแน่นดีหรือไม่: ทั้งในกรณีที่ต่อเข้ากับปลั๊กผนังบ้านโดยตรง หากยังต่อได้แน่นอยู่ก็ลองเช็คจุดต่อไป
  • สายไฟขาดหรือชำรุด: เป็นเรื่องที่เจอได้บ่อย เพราะบางครั้งอาจใช้งานมานาน มีสัตว์กัดแทะหรือถูกแรงกระชาก ก็เสียหายได้ จนลัดวงจร
  • ปลั๊กพ่วงใช้งานได้ตามปกติ?: ให้ลองสลับหัวต่อไปยังช่องอื่นๆ ลองดูว่าเปิดติดหรือใช้ได้หรือไม่ เพราะบางครั้งบนปลั๊กรางเดียวกัน แต่บางช่องเสีย
  • ฟิวส์หรือสวิทช์บนตัวปลั๊กราง ยังทำงานปกติ: ไม่ขาดหรือตัด เมื่อเจอโหลดในการใช้งาน
  • มีพ่วงปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ เยอะเกินไป: สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะหลายครั้งผู้ใช้มักจะเสียบอุปกรณ์หลายตัวบนปลั๊กเดียว และเมื่อเจอกับโหลดหนักๆ ก็ทำให้คอมดับได้เช่นกัน

สิ่งที่อยากแนะนำ หากปลั๊กรางเสียหรือสายไฟชำรุด ไม่ควรใช้ต่อ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้อุปกรณ์คอมเสียหายได้ ทั้งเรื่องการลัดวงจรและกระแสไฟที่ไม่นิ่ง ยิ่งไม่ได้มีเครื่องสำรองไฟเอาไว้ด้วย คอมที่ดับบ่อย หรือกระแสไฟตกหรือไฟกระชาก อาจไม่ได้เสียหายแค่เล็กน้อย แต่อาจทำให้ชิ้นส่วนสำคัญเสียหายถาวร ซึ่งราคาแพงกว่าปลั๊กรางหรือสายไฟเส้นใหม่เลยทีเดียว

วิธีเลือกปลั๊กรางแบบง่ายๆ

แนะนำว่าให้ดูที่มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. ซึ่งจะบอกถึงปลั๊กตัวนั้น ผ่านการรับรองหรือเปล่า ซึ่งถ้ามีคือไว้ใจได้ว่าปลั๊กนั้นได้รับการทดสอบ และใช้งานได้อย่างปลอดภัย หาปลั๊กรางที่มีตัวตัดกระแสไฟ (Circuit Breaker) ที่เป็นแบบหัวสวิตช์กดตัดไฟติดตั้งมาแทนจะดีกว่า เพราะนอกจากได้คุณภาพและยังปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น เพราะนอกจากสวิตช์เปิดปิดก็จะมีหัวสวิตช์อีกตัวติดตั้งอยู่ ซึ่งเป็นตัว Circuit Breaker รวมถึงดูว่ามีระบุขนาดทองแดงที่อยู่ในสายไฟให้ผู้ใช้รู้ด้วยว่ามีขนาดทองแดงในสายไฟมาด้วยหรือไม่ พร้อมทั้งมีแบบรางทองเหลืองพร้อมวงจรตัดไฟหรือแบบเต้ารับเหมือนปลั๊กไฟบ้านพร้อมชุดวงจรป้องกันไฟรั่วหรือไฟเกินด้วยมั้ย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนทำให้ใช้งานได้อย่างมั่นใจมากขึ้น แม้ราคาจะค่อนข้างสูงกว่าปลั๊กรางทั่วๆ ไป แต่ก็คุ้มครองคอมพิวเตอร์ราคาแพงของคุณได้เป็นอย่างดี


2.ขยับสายเพาเวอร์ซัพพลายใหม่

โอกาสที่ปลั๊กเสียหรือชำรุดก็มี แต่สิ่งที่เกิดต่อมาก็เป็นไปได้ ที่จะทำให้คอมเปิดแล้วดับ ได้เช่นกัน นั่นคือเรื่องของเพาเวอร์ซัพพลาย เพราะเป็นตัวจ่ายไฟให้กับคอมพิวเตอร์โดยตรง หลังจากแปลงไฟบ้านมาเป็นไฟที่ใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในเครื่อง โดยจะมีคอนเน็กเตอร์ที่เชื่อมโยงเข้ากับเมนบอร์ดและกราฟิกการ์ดโดยตรง ดังนั้นหากเกิดปัญหาในจุดนี้ ก็ทำให้การจ่ายไฟผิดปกติ ไปจนถึงการลัดวงจร และไม่สามารถจ่ายไฟได้นั่นเอง สิ่งที่ต้องตรวจเช็คและแก้ไขประกอบด้วย

คอมเปิดแล้วดับ
  • สายไฟที่ต่อเข้ามายังเพาเวอร์ซัพพลายและสวิทช์: สามารถเปิด/ปิด หรือต่อไว้สนิดแน่นหรือไม่ เพราะในช่วงที่ต่อสายไว้ แล้วมีเสียงเหมือนไฟสปาร์กอยู่ แสดงผลไม่แน่น และอาจจะทำให้คอมดับได้
  • ถอดแล้วต่อสายไฟเลี้ยงใหม่: ไม่ว่าจะเป็น PSU 24-pins ที่ต่ออยู่กับเมนบอร์ด แล้วเสียบลงไปใหม่อีกครั้ง รวมถึงสายไฟ 4+4 pins ที่อยู่แถบด้านบนของเมนบอร์ดรุ่นใหม่ๆ
  • สายไฟเลี้ยงกราฟิกการ์ด: แบบ 6+2 pin ที่มาจากเพาเวอร์ ไปยังการ์ดจอ ให้ลองเปลี่ยนเป็นเส้นอื่น แล้วเปิดเครื่องใหม่อีกครั้ง

3.เช็คฮีตซิงก์ชุดระบายความร้อน

ความร้อนถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คอมดับหรือ คอมเปิดแล้วดับได้เช่นกัน และเหตุที่ทำให้คอมร้อนจนเครื่องดับ ก็เกิดได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ซีพียู แรม การ์ดจอ เมนบอร์ด แต่ที่มักจะเจอกันบ่อย นั่นคือ ซีพียู เพราะระบบมักจะหยุดการทำงานทันที เมื่อความร้อนสูงขึ้นถึงจุดที่ซีพียูตัดการทำงาน ส่วนสาเหตุและการแก้ไข ก็สามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็น

คอมเปิดแล้วดับ
  • พัดลมซีพียูไม่ทำงาน: เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พัดลมเสีย ฝุ่นผงเข้าไปติด หรือใบพัดหัก รวมถึงไม่ได้ต่อสายไฟเข้ากับคอนเน็กเตอร์บนเมนบอร์ด เช็คในแต่ละส่วนนี้ได้เลย
  • ติดตั้งฮีตซิงก์ไม่แน่น: เป็นไปได้ทั้งหลังจากที่ติดตั้งเครื่องใหม่ๆ หรือใช้ไปนานๆ ตัวล็อคอาจหลุดได้ ถ้าไม่แน่นพอ เพราะพัดลมทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อหน้าสัมผัสฮีตซิงก์ ไม่แนบกับซีพียูแล้ว ก็จะเกิดความร้อนสูง และตัดการทำงาน หรือเครื่องดับได้เลย
  • ซิลิโคนเสื่อมสภาพ: สิ่งนี้ปกติแล้ว จะไม่มีใครมองเห็น จนกว่าจะเกิดอาการขึ้น ซิลิโคนมีหน้าที่เป็นตัวประสาน ในการนำพาความร้อนจากหน้ามสัมผัสซีพียู ไปยังฮีตซิงก์และพัดลมจะกระจายความร้อนออกอีกทีหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีการเสื่อมสภาพ เพราะอยู่กับความร้อนเป็นเวลานาน หากเป็นไปได้แกะฮีตซิงก์ออกมา จากนั้นทำความสะอาดหน้าสัมผัส บีบซิลิโคนเข้าไปใหม่ อาจจะเปลี่ยน 6 เดือนถึง 1 ปีต่อครั้ง ตามความสะดวก
  • ระบายความร้อนภายในเครื่องไม่ทัน: เช็คพัดลมเคส ที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ว่ายังหมุนได้ตามปกติ รวมถึงทิศทางลมภายในเครื่อง ว่าให้มีแรงลมเย็นจากด้านหน้า ไหลเข้าไประบายอความร้อนให้กับอุปกรณ์และดูดลมร้อนออกทางด้านหลังได้ตามปกติหรือไม่ ถ้าไม่เป็นตามนั้น ก็อาจจะต้องแก้ไข เช่น การจัดเก็บสายภายในเครื่อง หรือเพิ่มพัดลมเข้าไป
  • การใช้ชุดระบายความร้อน ไม่พอกับซีพียู: หรือซีพียูแรง จนระบายความร้อนไม่ทัน เมื่อทำงานหนัก หรือมีโหลดสูงๆ สังเกตในเบื้องต้นจากสเปคของซีพียู จะมีระบุค่า TDP หรือการใช้พลังงานเป็น Watt เอาไว้ และฮีตซิงก์แต่ละรุ่น ก็มักจะระบุระดับ W เพื่อให้เลือกใช้เข้ากับซีพียูอยู่ด้วย และผู้ใช้ก็ต้องเลือกฮีตซิงก์ที่รองรับค่า TDP ได้สูงกว่าซีพียูที่จะต้องใช้นั่นเอง ตัวอย่างเช่น AMD Ryzen 5 3600 TDP 65W ส่วนฮีตซิงก์อย่าง Tsunami TSS-8000 ที่เป็นฮีตซิงก์ในแบบทาวเวอร์ มีพัดลมมาให้ 2 ตัว รองรับซีพียูบนค่า TDP ได้สูงถึง 150W เลยทีเดียว ซึ่งหากเลือกฮีตซิงก์เล็กๆ หรือรุ่นประหยัดในแบบ Low-profile บางครั้งก็ไม่สามารถรองรับซีพียูได้อย่างเต็มที่ เมื่อเจอโหลดหนักๆ เช่น การเล่นเกม ที่มีการเรียกใช้พลังซีพียูสูงๆ หรือการตัดต่อวีดีโอ เรนเดอร์ เมื่อระบายความร้อนได้ไม่ทัน ก็ทำให้คอมดับหรือรีสตาร์ทได้เช่นกัน

4.เช็คอุณหภูมิในจุดต่างๆ

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น กับอาการคอมเปิดแล้วดับ อาจมีเรื่องของความร้อนสูงมาเป็นสาเหตุได้ นอกเหนือจากเรื่องของอุปกรณ์และแรงดันไฟ ดังนั้นควรจะมีการตรวจเช็คเป็นระยะ เพื่อให้การใช้งานเป็นปกติ วิธีการเช็คอุณหภูมิแบบง่ายๆ มีให้เลือกตั้งแต่ การดูบน BIOS และดูด้วยซอฟต์แวร์ ซึ่งการดูบนไบออสนั้น จะเป็นแบบเบื้องต้น เช็คได้ก่อนจะเข้าสู่วินโดว์ ส่วนการใช้ซอฟต์แวร์เสริมนั้น สามารถดูได้แบบเรียลไทม์ และเหมาะกับการใช้งานของผู้ใช้ทุกระดับ

คอมเปิดแล้วดับ
  • การเช็คใน BIOS: ให้กดปุ่ม Del หรือ F2 บนคีย์บอร์ด ขณะที่กดปุ่มเพาเวอร์ เพื่อเริ่มการทำงาน จากนั้นเข้าไปดูในหัวข้อ Monitor หรือ Temperature ในหัวข้อ Processor ดูที่ตัวเลข Max. ซึ่งในเบื้องต้นที่เข้าไบออส ไม่ควรมีความร้อนสูง หรือขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว เพราะนั่นหมายถึงความผิดปกติ อาจจะต้องย้อนกลับไปดูในหัวข้อด้านบน ว่าเกิดจากฮีตซิงก์ไม่แน่น ซิลิโคนเสื่อมหรือพัดลมไม่ทำงาน
  • การเช็คด้วยซอฟต์แวร์: มีซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการตรวจเช็คอุณหภูมิมากมาย เช่น CoreTemp, HWMonitor หรือ AIDA64 เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จะมีบางรุ่นที่มีฟีเจอร์พิเศษเสริมขึ้นมา ก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เมื่อติดตั้งแล้ว สามารถเข้าไปดูใน Temp ของซีพียูที่ใช้อยู่ได้ว่า มีความผิดปกติหรือไม่? และโปรแกรมบางตัว ก็มีพร้อมชุดทดสอบ เพื่อดูเสถียรภาพของซีพียู เมื่อต้องทำงานหนัก ว่าจะมีอาการผิดปกติหรือไม่ หากเช็คแล้วอุณหภูมิไม่สูงเกินไป หรือไม่ร้อนเร็วมากไป ก็ถือว่าปกติ

5.แรมอาจเสีย

แรมเสียก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้คอมรีสตาร์ทบ่อยหรือทำงานผิดปกติ และทำให้คอมดับได้ รวมถึงเราสามารถสังเกตได้จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เช่น จอฟ้า BSOD หรือรีสตาร์ทถี่ จนไฟล์ระบบวินโดว์เสีย หรือบางครั้งเด้งออกจากเกม คอมหยุดค้างเมื่อใช้งานไปสักระยะ บางครั้งบูตเครื่องช้าผิดปกติเป็นต้น

คอมเปิดแล้วดับ
  • ตรวจเช็คในเบื้องต้น: ด้วยการเปิด System วิธีการคือ คลิกขวาที่มุมล่างซ้ายของหน้าจอ แล้วเลือก System จากนั้นไปที่ Device Specification แล้วดูในส่วนของ RAM ว่ามีจำนวนครบตามที่ติดตั้งไว้หรือไม่ เช่นติดตั้งไว้ 16GB (8GB+8GB) หากเห็นแค่ 8GB ก็หมายความว่าแรมแถวใดแถวหนึ่ง อาจเสียอยู่ กรณีที่พบว่าเกิดปัญหาขึ้นจากแรมในระบบ ให้คุณถอดแรมออกมาทั้งหมด แล้วใช้แรมทีละแถวเพื่อตรวจสอบการใช้งาน เพื่อหาแถวแรมที่ทำงานผิดพลาด
  • ใช้เครื่องมือที่ในการตรวจเช็ค: Memory Analytics รวมถึง Windows Memory Diagnostics Tool เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการทดสอบ ขั้นตอนการใช้งาน ก็เพียง ให้กดปุ่ม Windows + R เพื่อเปิดหน้าต่าง Run จากนั้นพิมพ์ “Mdsched” ลงไป แล้วกด Enter จากนั้นให้เลือก Restart now and check for problem (recommended) หากพบว่าแรมทำงานเป็นปกติ ก็สามารถเลื่อนไปใช้วิธีอื่นในการตรวจเช็คซ้ำ แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นที่แรม ก็ให้ทำตามขั้นตอนของระบบ เพื่อเช็คความผิดปกติต่อไป นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม Memtest86 ให้ใช้สำหรับทดสอบด้วยเช่นกัน
  • สลับแถวแรม: แต่ก่อนที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแรมใหม่ ให้ลองสลับแถวแรมดูก่อน โดยย้ายไปที่สล็อตอื่นๆ แล้วทดสอบดูอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดปัญหาจากตัวแรม แต่ถ้าหลังจากเปลี่ยนสล็อตใส่แรมไปแล้ว เครื่องก็ยังไม่ทำงาน ก็ยังพอมีอีก 2 วิธีในการที่จะทำให้เครื่องกลับมาใช้งานได้ เพราะบางครั้งก็ไม่ได้หมายความว่าแรมจะเสียแบบถาวร แต่ให้ลองทำความสะอาดแรม ก่อนนำมาใช้ วิธีทำความสะอาดแรมทำได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้น้ำยาทำความสะอาดหน้าคอนแทคสำหรับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่ใช้กันทั่วไปหรือจะลองใช้วิธีง่ายๆ เช่น ยางลบมาถูเบาๆ ที่พินหน้าสัมผัส เพื่อขจัดคราบออกไซด์ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้แรมทำงานผิดปกติได้เช่นกัน

6.การ์ดจอยังเป็นปกติ?

อาการคอมดับ หรือเปิดแล้วคอมดับ บางครั้งอาจเป็นไปได้ว่า คอมเปิดติด แต่บางอุปกรณ์ไม่ทำงาน หรือเปิดเครื่องมาแล้วจอมืด ไม่แสดงผล ภาพไม่ขึ้น ไม่มีสัญญาณเข้า อาจจะเช็คการ์ดจอด้วยว่า ยังทำงานได้ตามปกติหรือไม่ เพราะหากการ์ดจอเสีย แต่อุปกรณ์อื่นไม่เสีย เปิดอย่างไร ภาพก็ไม่ขึ้นอยู่ดี แต่ไฟยังเข้าเครื่อง พัดลมและสิ่งอื่นๆ ยังทำงาน ให้เริ่มต้นเช็คที่

คอมเปิดแล้วดับ
  • คอมเน็คเตอร์ไฟเลี้ยง: บางคนอาจลืมต่อไฟเลี้ยงจากเพาเวอร์ซัพพลายหรือต่อสายไม่ครบ บางรุ่นใช้ 6-pin หรือ 8-pin บางรุ่นใช้ทั้ง 6 pin และ 8 pin พร้อมกัน เพราะต้องใช้ไฟมากกว่า 150W ต้องต่อสายให้ครบก่อน การ์ดจอจึงจะทำงาน แต่ส่วนใหญ่ระบบจะแจ้งว่า ให้ต่อสาย Power connector บนตัวการ์ด
  • ช่อง Output สัญญาณมีปัญหา: ให้ลองสายสัญญาณไปยังจออื่น ง่ายๆ เลย หากทีวีที่บ้านของคุณมีช่อง HDMI ก็ให้ลองต่อสายจากคอมของคุณไป ดูว่ามีสัญญาณใดๆ เข้าหรือไม่ อาจเป็นไปได้ว่าช่องสัญญาณนั้นเสีย
  • จอมอนิเตอร์ ไม่สลับช่องสัญญาณให้: มอนิเตอร์บางรุ่น ต้องกำหนดช่องสัญญาณให้ตรงกับ Input จากการ์ดจอเช่น DVI, HDMI หรือ DisplayPort เนื่องจากมอนิเตอร์บางรุ่น จะไม่ได้ตั้งรับสัญญาณแบบอัตโนมัติให้
  • การ์ดจอเสีย: อาการก็มีตั้งแต่ภาพแตกเป็นลายเส้นๆ เปิดวินโดว์ไม่ได้ หรือเข้าเกมแล้วดับ ไปจนถึงไม่แสดงภาพขึ้นจอ ถือว่าเสียหายโดยถาวร หากยังมีประกันก็ส่งเคลมได้เลย ส่วนถ้าหมดประกันแล้ว ให้ลองทำความสะอาด โดยใช้สเปรย์ขจัดคราบประเภท Contact cleaner หรือลองใช้ยางลบดินสอถู ที่บริเวณหน้าสัมผัส แล้วนำกลับมาต่อใช้งานอีกครั้ง

7.เช็คเมนบอร์ด

เวลาที่เมนบอร์ดทำงานผิดปกติ อาจไม่ได้เกิดจากความเสียหายเพียงอย่างเดียวก็เป็นได้ แต่อาจเกิดจากการเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนอย่างเช่น คาปาซิเตอร์ ภาคจ่ายไฟ MOSFET หรือชิปบางอย่าง รวมถึงอาจเกิดจากคราบสกปรก เช่น คราบ Oxide หรือฝุ่น เศษสกปรกต่างๆ ยิ่งเมื่อรวมกับความชื้น ก็ทำให้เมนบอร์ดมีปัญหาได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเกิดอาการแบบนี้ การทำความสะอาดเมนบอร์ด ก็เป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้เมนบอร์ดกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นให้ลองใช้วิธีการง่ายๆ ก่อนจะไปทำความสะอาดเมนบอร์ด

คอมเปิดแล้วดับ
  • Clear CMOS: หรือที่เรียกว่า เคลียร์ไบออส เป็นการรีเซ็ตค่าทั้งหมดของเมนบอร์ดใหม่ ซึ่งมีวิธีการอยู่มากมาย เช่น การถอดถ่านไบออสบนเมนบอร์ดออกมา หรือกดปุ่มบนเมนบอร์ดบางรุ่นที่มีให้ เป็นต้น
  • ถอดอุปกรณ์ทุกชิ้น แล้วติดตั้งใหม่: อาจไม่เหมาะกับมือใหม่ ที่ยังไม่ชำนาญการประกอบคอม แต่ถ้ามีคนให้คำปรึกษา ก็สามารถลองทำดูได้ไม่ยากเลย เป็นการเช็คอาการผิดปกติได้ดีอีกทางหนึ่ง
  • ทำความสะอาด: ปัดกวาด เป่าลมไล่ฝุ่น หรือใช้สเปรย์กระป๋องทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า Clear Contact มาพ่นให้ทั่วเมนบอร์ด แล้วทิ้งเอาไว้สักชั่วโมง แล้วค่อยประกอบใหม่อีกครั้ง

หากเมนบอร์ดมี LED Debug ที่เป็นตัวเลขรายงานสถานะ หรือมีไฟ LED ช่วยบอกความผิดปกติ ให้เช็คแล้วนำไปเทียบกับคู่มือดูว่า เกิดปัญหาในจุดใด

8.ไฟฟ้าลัดวงจร

อาการคอมเปิดแล้วดับ อาจเกิดการลัดวงจรจากกระแสไฟภายนอก เป็นปัญหาที่ควบคุมได้ยาก แต่ป้องกันได้ เช่นในบางพื้นที่ใกล้โรงงาน หรือมีการใช้ไฟฟ้าหนัก ฟ้าผ่าบริเวณไฟฟ้าหลักใกล้บ้าน ต้นไม้ทับสายไฟ ซึ่งทำให้เกิดไฟตก ไฟดับ ไฟกระชาก ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ การป้องกันที่ดี ก็ช่วยให้คอมปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวอุปกรณ์ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ต้องทำอย่างไร

คอมเปิดแล้วดับ

หากมั่นใจว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้น มาจากกระแสไฟที่ผิดปกติ ขณะที่ใช้งาน เช่น ไฟตก ไฟดับ หรือมีการลัดวงจร จากอุปกรณ์ใด ที่อยู่รอบๆ เช่น หรือบางคนใช้ปลั๊กรางตัวเดียว เสียบใช้งานอุปกรณ์ครอบจักรวาล บางทีมีอุปกรณ์โหลดสูงๆ เช่น ต่อคอม แล้วเอาเตารีดมาต่อในชุดเดียวกัน หรือใช้โหลดเกินกว่าที่ควรจะเป็น อยู่ๆ คอมดับ หรือปล่อยให้ตัวปลั๊กมีกระแสไฟที่ผิดปกติตลอดเวลา ก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายได้ ทางแก้ที่เหมาะที่สุดคือ ส่งให้ช่างวิเคราะห์อาการ ว่ามีสิ่งใดที่เสียหายบ้าง และแก้ไขหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ เฉพาะตัวที่เสีย เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ เพราะถ้าเราไม่มีอุปกรณ์สำรอง มาลองเปลี่ยนทั้งหมด ก็ยากที่จะวิเคราะห์อาการได้อย่างถูกต้อง

และเมื่อได้คอมที่ซ่อมกลับมาแล้ว แนะนำว่า ให้ซื้อปลั๊กรางเฉพาะสำหรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์โหลดหนักอื่นๆ รวมถึงซื้อเครื่องสำรองไฟหรือ UPS ที่มีฟีเจอร์ป้องกันไฟตก ไฟกระชาก หรือ Surge Protection เอาไว้ และหากมีการสำรองไฟได้สักระยะ เมื่อไฟดับ ก็จะดีไม่น้อยเลย


Conclusion

คงต้องบอกว่าทั้ง 8 วิธีที่ว่ามานี้ อาจจะช่วยแก้ปัญหา คอมเปิดแล้วดับ ได้ในระดับหนึ่ง เพราะถึงเวลาจริงๆ ที่ต้องแก้ไข อาจจะต้องเช็คให้ลึกลงไปมากกว่านี้ ในกรณีที่เกิดปัญหาแบบเรื้อรัง เช่น ซ่อมแล้วเป็นๆ หายๆ เกิดอาการขึ้นมาเรื่อยๆ แบบนี้ ก็คงต้องพึ่งพาช่างในการตรวจเช็ค และแก้ไขให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ เพราะเสียหายแล้วไม่สามารถซ่อมได้ เช่น แรม หรือเมนบอร์ดบางส่วนเป็นต้น อย่างไรก็ดี การป้องกันปัญหา สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสียบปลั๊ก การระบายความร้อน หรือการติดตั้งอุปกรณ์ให้ครบ การเลือกอุปกรณ์จ่ายไฟ ที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

COMMART

โปรโมชั่นคอมประกอบ Commart TechXPro 2024 คอมเซ็ตกว่า 100 สเปคราคาดีมีของแถมเพียบ จัดหนักเช่นเคยกับ โปรโมชั่นคอมประกอบ Commart TechXPro 2024 กับชุดคอมเซ็ตราคาดี ของแถมเพียบจากผู้จำหน่ายรายต่างๆ มาให้ได้เลือกสรรกันมากมาย และราคาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Banana, JIB, ITCity หรือ Speed แต่ละค่ายขนคอมเซ็ตตัวเก่ง สเปคจัดหนักมาให้กับเหล่าเกมเมอร์และผู้ที่ต้องการพีซีเครื่องใหม่มาใช้งาน...

PC Zone

Thermaltake The Tower 300 Limestone Edition สวยล้ำ ประกอบง่าย ระบายอากาศดี พัดลม ARGB กระจกเทมเปอร์โชว์ได้ทุกด้าน Thermaltake The Tower 300 Limestone Edition อีกหนึ่งเคสคอมในรูปแบบของมินิทาวเวอร์ บนรูปแบบ mATX form factor ในแบบแนวตั้ง...

PR-News

Ascenti เปิดตัวพาวเวอร์ซัพพลายรุ่นใหม่ Super Flower 80PLUS ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ราคาสุดคุ้ม บริษัท เอสเซนตี้ รีซอร์สเซส จำกัด เปิดตัว Super Flower พาวเวอร์ซัพพลายรุ่นใหม่ พร้อมมาตรฐานCybernetics ควบคู่ 80PLUS ตอบโจทย์การผู้ใช้งานทุกระดับ ในราคาสุดคุ้ม Super Flower แบรนด์พาวเวอร์ซัพพลายที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก ด้วยชื่อเสียงด้านความทนทาน...

CONTENT

7 วิธีแก้เกมกระตุก คอมช้า หาทำเองได้จบปัญหา เล่นเกมลื่นไหลปี 2024 วิธีแก้เกมกระตุก คอมช้า มีด้วยกันหลายวิธีสำหรับเกมเมอร์ปี 2024 ที่ใช้งาน Windows 11 หรือ Windows 10 ก็ตาม สามารถทำให้คอมลื่น เฟรมเรตเพิ่มขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่เบื้องต้นก็ควรจะต้องหาสาเหตุ เพื่อแก้ไขได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงใช้วิธีปรับปรุงประสิทธิภาพ และต้องไม่ลืมการตรวจเช็คสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเกม...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก