MSI GS76 Stealth แรงระดับ Desktop Replacement หน้าตาเรียบร้อยแต่ไส้ในครึกครื้น
MSI GS76 Stealth นั้นจัดเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวแรงแต่ก็ได้ความเบาพกพาง่าย โดยทาง MSI จัดซีรี่ส์ Stealth เอาไว้ให้เป็น “เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูง พกพาง่ายและดูดีมีสไตล์กับงานประกอบระดับพรีเมียม แต่ก็ดู Low Profile ไม่ออกเกมมิ่งจัดและใช้งานได้นาน” จัดว่าถ้าใครอยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่หน้าตาเรียบง่าย เอาไปทำงานเข้าออฟฟิศก็ดูหน้าตาเหมือนกับโน๊ตบุ๊คทำงานทั่วไป แต่พอเปิดดูสเปคก็เรียกว่าครึกครื้นใช้ได้ทำงานไหลลื่นดีเลยทีเดียว
ซึ่งซีรี่ส์ Stealth เองก็เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์สำคัญของ MSI เช่นกันและได้รับการอัพเกรดสเปคใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังคงหน้าตาเรียบง่ายไม่หวือหวาสมกับคำว่า Stealth ที่แปลว่าลอบเร้นนั่นเอง โดย MSI GS76 Stealth รุ่นใหม่ในบทความนี้ก็ได้รับการอัพเกรดสเปคเป็น Intel รุ่นที่ 11 จับคู่กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3000 Series เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม MSI GS76 Stealth เครื่องนี้ยังเป็นตัว Demo ยังไม่ใช่รุ่นวางขายจริง ดังนั้นบทความนี้จะเป็นการพรีวิวรอบเครื่องและเช็คสเปคโดยคร่าวๆ เท่านั้น และถ้าเครื่องรุ่นวางขายอย่างเป็นทางการและได้เครื่องทดสอบเมื่อไหร่ จะนำมาทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์และอัพเดทให้ผู้ที่สนใจได้อ่านในภายหลัง
NBS Verdict
สำหรับ MSI GS76 Stealth นั้น เรียกว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่หน้าตาเรียบร้อย ดูเผินๆ แล้วก็ไม่ต่างอะไรกับโน๊ตบุ๊คสายทำงานเกรดพรีเมี่ยมเครื่องหนึ่ง อย่างมากก็มีคีย์บอร์ดไฟ RGB ที่เป็นตัวยืนยันว่านี่คือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องหนึ่งเท่านั้น เหมาะกับสายทำงานที่ชอบโน๊ตบุ๊คหน้าตาเรียบๆ ไม่หวือหวาแต่เล่นเกมและทำงานหนักได้สบายๆ อย่างแน่นอน
นอกจากนี้เรื่องของพอร์ตที่ติดตั้งมาให้ก็มีทั้ง Thunderbolt 4 กับ USB-C ที่ชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องได้ตามมาตรฐาน USB Power Delivery, พอร์ต HDMI ที่ต่อจอแยกความละเอียด 4K 120Hz หรือ 8K 60Hz ได้ไม่พอ ค่า Refresh Rate สูงสุดที่ทำได้ก็อยู่ระดับ 360Hz ทำให้ได้อรรถรสตอนเล่นเกมดีขึ้นมากอีกด้วย
ส่วนสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนซื้อ GS76 Stealth มาใช้ คือหากระเป๋าเป้ที่ใส่โน๊ตบุ๊คขนาด 17.3 นิ้วได้รอเอาไว้ก่อนเป็นอย่างแรกและถ้าใครอยากชาร์จเครื่องด้วยพอร์ต Thunderbolt 4 ก็ควรซื้อปลั๊กที่กำลังชาร์จ 100 วัตต์เอาไว้ด้วย ส่วนเวลาเล่นเกมหรือทำงานกับโปรแกรมตัดต่อ พัดลม 3 ตัวจะทำงานเสียงดังได้ยินชัดเจน ซึ่งเป็นจุดที่ต้องเตรียมทำใจยอมรับเอาไว้ด้วย
จุดเด่นของ MSI GS76 Stealth
- งานประกอบตัวเครื่องแข็งแรงแน่นหนาสวยงาม บอดี้เครื่องเป็นอลูมิเนียมที่แข็งแรงมาก
- มีกล้อง IR Camera ใช้สแกนหน้าปลดล็อคเครื่องได้ ปลดล็อคเครื่องมาใช้งานสะดวก
- พัดลม Cooler Boost Trinity+ ระบายความร้อนได้เร็วมากออกแบบให้ตัวซิงค์และพัดลมอยู่เหนือชุดคีย์บอร์ด ทำให้ตอนวางมือบนคีย์บอร์ดแล้วไม่ร้อน
- มีพอร์ต Thunderbolt 4 รองรับ Power Delivery จึงไม่ต้องพกอแดปเตอร์ของเครื่องโดยเฉพาะติดตัวไปก็ได้
- พอร์ต HDMI รองรับความละเอียดหน้าจอแยกสูงสุดถึง 8K 60Hz หรือ 4K 120Hz ทำให้เล่นเกมหรือทำงานได้อรรถรสมากขึ้น
- ต่อหน้าจอแยกได้ผ่านทาง Thunderbolt 4, USB-C 3.2 และ HDMI ทำให้มีหน้าจอใช้ทำงานรวมหน้าจอโน๊ตบุ๊คด้วยมากสุด 4 จอ ทำให้มีพื้นที่ใช้งานมากขึ้น
- การ์ด Wi-Fi ในเครื่องเป็น Intel Killer Wi-Fi 6E AX1675 รุ่นใหม่ที่รับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ดีและเร็ว เหมาะกับการเล่นเกมมาก
- ซีพียูเป็น Intel Core i9-11900H ซึ่งประสิทธิภาพสูง ใช้ทำงานกราฟฟิคหรือเล่นเกมพร้อมสตรีมไปได้สบายๆ
- การ์ดจอเป็น NVIDIA GeForce RTX 3080 เป็นรุ่นสูงสุดของ NVIDIA ในปัจจุบัน รองรับการประมวลผลกราฟฟิคหนักๆ ได้ดี
- มีแรมในตัว 32GB DDR4 บัส 3200 MHz จัดว่าเหลือเฟือมากสำหรับซอฟท์แวร์และเกมต่างๆ ในตอนนี้ ไม่ต้องอัพเกรดแล้วก็ได้
- ติดตั้งแบตเตอรี่ความจุสูงถึง 99.9Wh มาให้ ทำให้ใช้งานต่อเนื่องได้นานขึ้น
- ลำโพงเสียงดี เบสแน่นและเสียงดังมาก มีเบสในระดับที่ฟังเพลงเบสหนักได้กำลังดี ไม่ล้นและบวมเกินไป รวมทั้งปรับสไตล์เสียงได้ในซอฟท์แวร Nahimic ที่ติดตั้งมาให้ด้วย
ข้อสังเกตของ MSI GS76 Stealth
- พัดลมระบายความร้อนทำงานเสียงดังชัดเจนตอนเล่นเกมหรือทำงานกับซอฟท์แวร์ที่กินทรัพยากรหนักๆ แต่ถ้าใช้ทำงานทั่วไปเสียงไม่ดัง
- การชาร์จตัวเครื่องผ่าน Thunderbolt 4 คาดว่าต้องใช้อแดปเตอร์กำลังไฟ 100 วัตต์ ส่วนแบบ 65 วัตต์จะชาร์จไม่เข้าเพราะกำลังไฟไม่พอ
- ควรซื้อกระเป๋าเป้ที่ใส่โน๊ตบุ๊คขนาด 17.3 นิ้ว มาใช้งาน ไม่แนะนำให้ใช้กระเป๋าสำหรับเครื่องขนาด 15.6 นิ้ว เพราะจะติดขอบซิปและปกป้องเครื่องได้ไม่ดี
พรีวิว MSI GS76 Stealth
- Specification
- Hardware & Design
- Keyboard & Touchpad
- Screen & Speaker
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Battery / Heat & Noise
- Conclusion & Award
Specification
MSI GS76 Stealth เครื่องนี้ ถือว่าทาง MSI ปรับแต่งสเปคเครื่องมาได้กำลังดี สามารถเล่นเกมหรือทำงานหนักได้สบายๆ เป็นซีพียูกับการ์ดจอรุ่นใหม่ที่แรงระดับที่เปิดเครื่องเล่นและทำงานได้เลยไม่ต้องอัพเกรดก็ไม่มีปัญหา โดยสรุปสเปคแล้วจะเป็นดังนี้
สเปคของ MSI GS76 Stealth | สเปคของตัวเครื่อง |
ซีพียู | Intel Core i9-11900H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 2.5-4.9 GHz สถาปัตยกรรม Tiger Lake |
การ์ดจอ | NVIDIA GeForce RTX 3080 แรม 16GB GDDR6 |
SSD | M.2 NVMe PCIe 4.0 2TB |
RAM | 32GB DDR4 บัส 3200 MHz |
หน้าจอ | 17.3 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 360 Hz |
พอร์ตที่ตัวเครื่อง | USB-C 3.2 Gen 2 ต่อจอแยกแบบ DisplayPort ได้ x 1 Thunderbolt 4 x 1 USB-A 3.2 Gen 2 x 2 RJ45 LAN x 1 SD Card Reader x 1 ช่องหูฟัง 3.5 มม. x 1 HDMI รองรับการต่อหน้าจอ 8K 60Hz/4K 120Hz x 1 |
การเชื่อมต่อไร้สาย | Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.2 |
ฟีเจอร์เด่น | กล้องหน้า IR Camera สแกนหน้าปลดล็อคเครื่องได้ คีย์บอร์ดแบบ Per-Key RGB Backlight ลำโพงปรับแต่งเสียงด้วย Nahimic |
ระบบปฏิบัติการ | Windows 10 Home |
น้ำหนักเครื่อง | 2.45 กิโลกรัม |
จากสเปคจะเห็นว่าทาง MSI ให้สเปคเครื่องระดับน่าสนใจทีเดียว ไม่ว่าจะหน้าจอ Full HD ค่า Refresh Rate สูงถึง 240 Hz, Wi-Fi 6E ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้เสถียรและรวดเร็ว รวมทั้งมี Thunderbolt 4 ที่เป็นพอร์ตอเนกประสงค์รุ่นใหม่และยังมีพอร์ตรุ่นเก่ามาครบครันทีเดียว ซึ่งถ้าซื้อไปใช้งานก็ไม่ต้องหา USB-C Multiport adapter ให้วุ่นวายเลย สามารถเปิดเครื่องแล้วใช้งานได้ทันที อย่างมากอาจจะโคลน Windows 10 ในเครื่องย้ายไป M.2 NVMe SSD อันใหม่ที่ความจุมากกว่านี้ก็พอแล้ว
นอกจากนี้เรื่องฟีเจอร์เสริมที่ดีอย่างกล้อง IR Camera ที่ใช้สแกนหน้าปลดล็อคเครื่องได้ และลำโพงก็ให้เสียงค่อนข้างน่าประทับใจทีเดียว รวมทั้งคีย์บอร์ดก็มีไฟ RGB ให้ความสวยงามและมองเห็นในที่ที่แสงน้อยได้ดีขึ้นด้วย
Hardware & Design
ดีไซน์ของ MSI GS76 Stealth ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค แต่เพราะเป็นซีรี่ส์ที่เน้นเรื่องความเรียบง่าย พกพาสะดวกดูมีสไตล์ ดังนั้นถ้าดูจากหน้าตรงเผินๆ แล้วอาจจะดูไม่ออกว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คด้วยซ้ำ เพราะตัวเครื่องอลูมิเนียมสีดำสนิทนั้นให้ความรู้สึกเป็นโน๊ตบุ๊คแบบพรีเมียมมากกว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คดีไซน์ล้ำสมัยเหมือนหลุดจากหนังไซไฟที่ MSI ชอบทำ เหมาะกับเกมเมอร์ที่เข้าวัยทำงานแล้วอยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คดีไซน์เรียบๆ พกไปทำงานแล้วไม่เตะตามาก
ฝาหลังของเครื่องก็เป็นสีดำสนิทไม่มีเค้าไอของความเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเลย อย่างมากก็มีเพียงโลโก้มังกรที่เป็นสัญลักษณ์ของทาง MSI โดยสกรีนแบบยิงเลเซอร์เอาไว้ ถัดลงมาที่ขอบล่างมีช่องระบายความร้อน 2 ช่อง
ฝาด้านใต้เครื่องจะมีช่องดูดอากาศเข้าไประบายความร้อนหนึ่งแผง กินพื้นที่ครึ่งบนเครื่องและมีแถบยางกันเครื่องลื่นติดตั้งมา 9 จุด แบ่งเป็น 3 แถว และล็อคฝาด้านใต้ตัวเครื่องเอาไว้ด้วยน็อตหัวแฉกบวก (Philip Head) จำนวน 15 ตัว สามารถใช้ไขควงธรรมดาขันน็อตเปิดฝาเครื่องแล้วอัพเกรดชิ้นส่วนในเครื่องได้เลย
นอกจากนี้ทาง MSI ก็เก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการตัดขอบเครื่องส่วนใต้ทัชแพดให้เป็นมุมเฉียงเล็กๆ ให้เจ้าของเครื่องใช้นิ้วดึงเปิดหน้าจอได้ด้วยมือเดียว และวางบาลานซ์ตัวเครื่องได้ดีทำให้เวลากางหน้าจอนิ้วเดียวแล้วฐานตัวเครื่องไม่ยกตาม
ด้านรายละเอียดการออกแบบอีกจุดคือเรื่องขาบานพับหน้าจอที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าและติดชิ้นโครเมียมคล้ายตัว C เอาไว้ที่ขอบ 2 ด้าน ส่วนขอบเครื่องใกล้ขาบานพับหน้าจอก็ตัดเฉียงเว้นไว้ไม่ให้ขัดกันตอนกางหน้าจออีกด้วย
เมื่อกางหน้าจอแล้วจะทำมุมได้ร่วม 160 องศา ทำให้วางบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คหรือพื้นโต๊ะที่ทำมุมเฉียงแล้วปรับให้หน้าจอทำมุมเข้ากับสายตาของผู้ใช้ได้ง่าย ดังนั้นถ้าใครอยากตั้งเครื่องแล้วต่อหน้าจอแยกล่ะก็เพียงแค่หาแท่นวางโน๊ตบุ๊คที่วางเครื่องขนาด 17.3 นิ้วได้มาใช้ก็เพียงพอแล้ว
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของตัวเครื่องจะเป็นแบบ Full-size พร้อม Numpad ด้านขวามือ โดยเป็นคีย์บอร์ดปุ่มดำแสงลอดด้านข้างและตัวอักษรบนปุ่ม โดยพัฒนาคีย์บอร์ดร่วมกับ SteelSeries แบรนด์ผู้ผลิตเกมมิ่งเกียร์ชื่อดัง และสังเกตว่าปุ่มคีย์บอร์ดจะมีปุ่ม Power ติดตั้งอยู่บนตัวคีย์บอร์ดตรงมุมบนขวามือด้วย
ด้านของระยะกดจะอยู่ราว 1.5 มม. ใกล้เคียงกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน แต่ข้อดีคือสปริงของปุ่มคีย์บอร์ดไม่แข็งเกินไป สัมผัสจะออกติดนุ่มเล็กน้อยทำให้พิมพ์งานด้วยแป้นคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คแล้วไม่เมื่อยนิ้วมาก
ส่วนปุ่มคีย์บอร์ดจะเป็นไฟ RGB แบบ Per-Key RGB Backlight ตั้งค่าแสงไฟแบบแยกปุ่มได้เลย และถ้าเราใช้เมาส์ของ SteelSeries อยู่ แสงไฟคีย์บอร์ดกับเมาส์ก็จะเล่นไฟเป็นจังหวะเดียวกันได้ รวมทั้งมีปุ่มเพิ่มลดความสว่างด้วย ส่วนแสงจะลอดออกด้านข้างและตัวอักษรบนปุ่ม ซึ่งเครื่อง Demo ที่ได้รับมาทดสอบจะเป็นคีย์ภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่พอวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการมั่นใจว่าจะทำแป้นเวอร์ชั่นภาษาไทยมาให้ใช้อย่างแน่นอน
ส่วนของปุ่ม Function ที่ทาง MSI ตั้งค่าเอาไว้ จะแยกเอาไว้ตามจุดต่างๆ บนคีย์บอร์ด เช่นเพิ่มลดแสงสว่างบนหน้าจอโดยกดปุ่มลูกศรขึ้นลง, เพิ่มลดเสียงที่ปุ่มลูกศรซ้ายขวา ถ้ากดเลข 0 บนแป้น Numpad จะปิดเสียง (Muted) รวมทั้งทำปุ่ม Function แบบ 2 เลเยอร์ เอาไว้ตรงโซนเหนือแป้น Numpad ทั้งหมด 3 ปุ่มด้วยกัน คือ Print Screen กับ Sys Rq, Page Up กับ Home, Page Down กับ End นอกจากนี้ถ้ากด Fn+Esc จะล็อคปุ่ม Windows บนคีย์บอร์ดไม่ให้ทำงานเวลาเผลอกดโดนตอนเล่นเกม
ด้านปุ่ม F1-F12 ก็จะรวมกับปุ่ม Function เช่นเดียวกันกับโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ แต่จุดสังเกตคือทาง MSI ไม่ได้ตั้งฟังก์ชั่นให้ปุ่ม F1 กับ F12 ว่าจะให้ทำอะไร ส่วนการกดปุ่ม Function ถ้ากดตามปกติจะเป็น F1-F12 ถ้ากด Fn ค้างไว้ก่อน จะกลายเป็นปุ่ม Function โดยแต่ละปุ่มจะมีคำสั่งดังนี้
- F2 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและหน้าจอแยก
- F3 – ปุ่มล็อค Touchbar เมื่อไม่ต้องการใช้งาน
- F4 – ปุ่มเปิดหรือปิด Webcam
- F5 – Airplane Mode
- F6 – ปุ่มเปิด Crosshair เป้าเล็งกลางจอสำหรับเกม FPS
- F7 – ปุ่ม G สำหรับเปลี่ยนโหมดการทำงานโน๊ตบุ๊คว่าจะให้เป็น Performance, Balance, Cooling, Battery Saving หรือโหมดที่ตั้งค่าเอาไว้ด้วยตัวเอง สามารถตั้งค่าได้ในซอฟท์แวร์ของทาง MSI
- F8 – ปุ่มปรับความเร็วพัดลมว่าจะให้ทำงานเต็มที่หรือทำเสียงเบา แนะนำให้เปิดเวลาเล่นเกมหรือทำงานกับซอฟท์แวร์ที่กินทรัพยากรเครื่องมากๆ
- F9 – ปุ่ม SteelSeries
- F10, F11 – ปุ่มเพิ่มหรือลดความสว่างไฟ Per-Key RGB Backlight ของคีย์บอร์ด
ทัชแพดของ MSI GS76 Stealth จะติดตั้งเอาไว้ด้านล่างถัดจากคีย์บอร์ดตรงกลางเครื่องและมีขนาดค่อนข้างเล็กไม่เหมือนกับทัชแพดของโน๊ตบุ๊คสายทำงานที่จะมีขนาดใหญ่กว่านี้ เวลาวางมือเพื่อพิมพ์แล้วอุ้งมือจะวางกลางตัวทัชแพดพอดี ซึ่งปกติก็จะเกิดอาการ “ทัชแพดลั่น” แล้ว แต่ MSI แก้ปัญหาโดยฟังก์ชั่น Palm Rejection จะจับอาการใช้งานของเราว่าถ้ากำลังพิมพ์งานอยู่ ต่อให้ลงน้ำหนักมือกด Touchpad จนเป็นการคลิกเมาส์แล้วก็ไม่ทำงาน ถือว่าแก้ปัญหาเรื่องทัชแพดได้ดีไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่สบายใจหรือจะต่อเมาส์แยกก็กด Fn+F3 เพื่อล็อคทัชแพดไปก็ได้
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 17.3 นิ้วของ MSI GS76 Stealth มีความละเอียดระดับ Full HD พาเนล IPS เป็นหน้าจอขอบบางและติดตั้งกล้อง IR Camera สำหรับสแกนหน้าปลดล็อคเครื่องเอาไว้ข้างๆ กล้อง Webcam ซึ่งถ้าสแกนหน้าและใส่รหัสผ่านไว้ เวลากางเครื่องก็สามารถสแกนหน้าปลดล็อคเครื่องได้ทันที ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านให้เสียเวลาไม่ต้องห่วงเรื่องคนแอบดูเราพิมพ์รหัสผ่าน ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มาก
ส่วนของลำโพงตัวเครื่องจะมีอยู่ 3 จุดด้วยกัน คือเหนือคีย์บอร์ดและขอบล่างซ้ายขวาของโซนที่วางข้อมือบนคีย์บอร์ด เป็นลำโพงของ Dynaudio โดยตัวลำโพงจะเป็นแบบหงายขึ้น ไม่ได้ซ่อนอยู่ด้านใต้เครื่องเหมือนรุ่นอื่นๆ เมื่อทดลองฟังเพลงด้วยลำโพงนี้แล้ว จัดว่าเป็นลำโพงที่เสียงดังมาก เน้นทางเสียงนักร้องกับเสียงแหลม ส่วนเสียงเบสถือว่าแน่นชัดเจนพอมีเป็นลูกแต่ไม่ถึงกับอัดจนกระแทกหูมากและไม่บวมจนเสียอรรถรส เรียกว่าฟังเพลงได้ทุกแนวไม่ว่าจะป็อป, ร็อค, EDM โดยไม่ต้องต่อลำโพงแยก ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าให้เปิดเสียงดังไว้แค่ 60% จะดังพอดีสำหรับฟังเพลงคนเดียว
ส่วนการปรับแต่งเสียงด้วยซอฟท์แวร์ Nahimic ที่ติดตั้งมาในเครื่องจะเป็นเวอร์ชั่นเต็มที่ปรับแต่งเสียงได้ละเอียด เลือกแนวเสียงได้ทั้ง Music, Movie, Communication, Gaming หรือ Smart ที่ให้ซอฟท์แวร์ปรับแต่งเสียงให้เราเองก็ได้ เรียกว่าเหมาะกับคนที่ชอบปรับแต่งเสียงลำโพงเองมาก
Connector / Thin & Weight
ด้านพอร์ตรอบตัวเครื่องจะแยกฝั่งเอาไว้ด้านซ้ายและขวา ไม่ได้ติดตั้งเอาไว้ขอบหลังเครื่องแบบเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน คาดว่าให้ดูแนบเนียนเหมือนกับโน๊ตบุ๊คสายทำงานแต่เป็นเกรดพรีเมี่ยมนั่นเอง โดยพอร์ตทั้งสองด้านจะมีดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ : ช่องเสียบปลั๊กอแดปเตอร์, RJ45 LAN, USB-A 3.2 Gen 2 x 2 ช่อง, ช่องหูฟัง 3.5 มม.
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ : ไฟแสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่อง, USB-C 3.2 Gen 2 ต่อหน้าจอเสริมแบบ DisplayPort ได้, SD Card Reader, Thunderbolt 4, HDMI
ส่วนความหนาของตัวเครื่องเมื่อวัดด้วยเวอร์เนียดิจิตอลแล้ว ความหนาตลอดเครื่องตั้งแต่ด้านหน้าไปหลังเครื่องอยู่ที่ 20 มม. เท่านั้น เทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นแล้วถือว่าบางทีเดียว
น้ำหนักเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอล ตัวเครื่องอย่างเดียวหนัก 2.33 กิโลกรัม ส่วนอแดปเตอร์หนัก 700 กรัม รวมสุทธิ 3.07 กิโลกรัม เทียบแล้วน้ำหนักถือว่าไล่เลี่ยกับตระกูล Thin ขนาดจอ 15.6 นิ้วของ MSI เลย ดังนั้นต้องถือว่า MSH GS76 Stealth ถึงจะมีขนาดจอ 17.3 นิ้วแต่ก็น้ำหนักเบาทีเดียว
Inside & Upgrade
สำหรับคนที่อยากอัพเกรดสเปคตัวเครื่องสามารถไขน็อตที่ฝาหลังแล้วใช้ปิ๊กกีตาร์หรือการ์ดแข็งสอดที่ช่องระหว่างตัวเครื่องแล้วไล่ตามขอบได้เลย ส่วนภายในตัวเครื่อง เมื่อไขน็อตออกทั้งหมดแล้วจะเห็นว่าด้านใน MSI GS76 Stealth จะถูกปิดด้วยพลาสติกสีดำกันไฟฟ้าสถิตย์แทบทั้งหมด มีจุดที่ไขอัพเกรดเครื่องได้แค่จุดเดียวคือพอร์ต M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 เท่านั้น ส่วนอีกจุดจะเป็นการ์ด Wi-Fi รุ่น Intel Killer Wi-Fi 6E AX1675 ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว
ถัดลงมาจะเป็นแบตเตอรี่ความจุ 99.9Wh และลำโพงของ Dynaudio สองตัวฝั่งซ้ายขวา โดยหันดอกลำโพงขึ้นให้เสียงออกที่ช่องลำโพงตรงที่วางข้อมือ โดยตัวแบตเตอรี่จะเป็นแบบแท่งยาวจากลำโพงซ้ายไปลำโพงขวามือ ไม่เว้นที่ว่างเอาไว้เลย ซึ่งจุดนี้ถือว่าทาง MSI จัดการเรื่องพื้นที่ในเครื่องได้ดี โดยถมพื้นที่ว่างด้วยการเพิ่มความจุแบตเตอรี่เข้าไปเลย
Battery / Heat & Noise
สำหรับเครื่อง Demo กับเครื่องวางขายจริงนั้นจะเป็นแบตเตอรี่ความจุ 99.9Wh เหมือนกัน โดยเป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมโพลิเมอร์วางตัวยาวตั้งแต่ขอบลำโพงฝั่งซ้ายไปขวามือ ความจุ Typical Rating 6,678mAh (Rated Rating 6,250mAh) นับว่ามีความจุมากพอให้ใช้งานด้วยแบตเตอรี่ต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงทีเดียว
ระบบระบายความร้อนของตัวเครื่องเป็นพัดลมโบลวเวอร์ 3 พัดลมที่ MSI เรียกว่า Cooler Boost Trinity+ โดยจับคู่พัดลมใหญ่เล็กเอาไว้ด้านซ้ายเครื่อง (เมื่อวางใช้งานตามปกติ) แล้วเป่าลมออกที่ครีบซิ้งค์ตัวใหญ่หลังเครื่องและมีพัดลมเล็กอีกตัวฝั่งขวามือช่วยระบายความร้อนด้วย ส่วนด้านในเครื่องจะมีฮีตไปป์ทั้งหมด 6 เส้น
เวลาทดลองใช้งานจริงแล้ว เรื่องระบบระบายความร้อนของ MSI GS76 Stealth ถือว่าทำงานได้ดี เวลาใช้งานทั่วไปอย่างเปิดเว็บหรือทำงานเอกสารจะไม่มีเสียงพัดลมดังรบกวนเลยและอุณหภูมิทั่วเครื่องถือว่าเย็นไม่ต่างกับโน๊ตบุ๊คทำงานทั่วๆ ไป แต่เวลาเล่นเกมหรือเปิดโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องหนักก็จะมีเสียงพัดลมที่ทำงานเต็มที่และได้ยินเสียงดังชัดเจน แต่ข้อดีคือตัวเครื่องระบายความร้อนได้เร็วและชุดพัดลมกับครีบระบายความร้อนถูกเลื่อนขึ้นไปอยู่ใต้แผงลำโพงเหนือคีย์บอร์ด เลยวางมือบนปุ่มได้ยาวๆ โดยไม่ร้อนเลย
Conclusion & Award
สุดท้าย MSI GS76 Stealth นั้นเรียกว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวบางที่หน้าตาเหมือนโน๊ตบุ๊คทำงานระดับพรีเมี่ยมทั่วไปเท่านั้น เหมาะกับคนที่ไม่ชอบดีไซน์ที่หวือหวาเกินไปเหมือนหลุดจากหนังไซไฟแบบสายเกมมิ่งเต็มรูปแบบของทาง MSI และนับเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหน้าตาเรียบร้อย สมเป็นรุ่นที่เป็นพี่ใหญ่ของสาย MSI GF75 Thin อย่างสมศักดิ์ศรี
นอกจากนี้เรื่องสเปคที่ทาง MSI จัดมาให้ GS76 Stealth ก็ถือว่าแรงจัดเต็มทั้ง Intel Core i9-11900H, NVIDIA GeForce RTX 3080, M.2 NVMe 2TB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 และแรม 32GB DDR4 บัส 3200MHz แถมยังสแกนหน้าปลดล็อคเครื่องได้ จัดว่าประสิทธิภาพโดยรวมดีเหลือเฟือแรงเหลือล้นจนไม่ต้องอัพเกรดเครื่องแล้ว อย่างมากสำหรับคนที่ต้องใช้ Microsoft Office ทำงานอยู่เป็นประจำก็แค่ซื้อซอฟท์แวร์มาติดตั้งเพิ่มก็พอ
อย่างไรก็ตาม จุดที่ยังต้องพิจารณาของเครื่องนี้ยังถือเป็นส่วนเล็กที่แก้ปัญหาได้ไม่ยากอย่างขนาดตัวเครื่องที่ใหญ่ถึง 17.3 นิ้วจนต้องหากระเป๋าเป้ขนาดเฉพาะมาใช้เท่านั้น ใช้ขนาด 15.6 นิ้วไม่ได้, พัดลมตัวเครื่องเวลาเล่นเกมแล้วเสียงดังชัดเจน แต่ถ้าใช้ทำงานทั่วๆ ไปก็ไม่มีเสียงพัดลมมารบกวนแม้แต่น้อย และถ้าใครต้องการชาร์จแบตเตอรี่ด้วยพอร์ต Thunderbolt 4 ก็ควรเตรียมปลั๊ก USB-C Power Delivery กำลังชาร์จ 100 วัตต์ ไว้ใช้งานด้วย ไม่อย่างนั้นก็ต้องใช้ปลั๊กติดเครื่องของ MSI GS76 Stealth เท่านั้น
ถึงจะมีจุดสังเกตเล็กน้อยอยู่ก็ตาม แต่ MSI GS76 Stealth เครื่องนี้ถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่เอามาทดแทนเกมมิ่งพีซีได้สบายๆ เป็น Desktop Replacement คุณภาพดีและพกเครื่องไปทำงานก็เหมือนโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมทั่วไปเครื่องหนึ่งเท่านั้น ไม่หวือหวาเกินไปแต่ก็รับงานหนักได้สบายๆ ด้วย เรียกว่าถ้าใครอกหักหรือไม่อยากรอประกอบพีซีแล้ว ก็เอางบประมาณมาทุ่มกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงสักเครื่อง ก็เป็นทางออกที่ดีไม่แพ้กัน
Award
Best Design
รางวัล Best Design สำหรับ MSI GS76 Stealth มาจากวัสดุตัวเครื่องระดับพรีเมี่ยมและดีไซน์ที่เรียบร้อยหรูหรา แต่ซ่อนรายละเอียดที่บอกว่านี่คือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเอาไว้ด้วย ทำให้เอาไปออฟฟิศนั่งทำงานก็ไม่เคอะเขิน แต่ถ้าเพ่งสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่านี่คือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสเปคแรงตัวหนึ่ง แต่ซ่อนรูปเอาไว้เท่านั้นเอง