Acer Swift X โน๊ตบุ๊คเครื่องบางประสิทธิภาพดีที่ครีเอเตอร์ต้องหลงรัก
Acer Swift X เรียกว่าเป็นรุ่นย่อยในสาย Acer Swift ที่ยังคงเอกลักษณ์ตัวเครื่องบาง สแกนลายนิ้วมือได้ และประสิทธิภาพดี ตอบโจทย์คนที่ใช้โน๊ตบุ๊คทำงานหลากหลายแบบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ Swift X รุ่นนี้จะเป็นรุ่นแรงสุดในตอนนี้ต่อจากรุ่นที่ใช้ AMD Ryzen 5 5500U การ์ดจอ GTX 1650 ซึ่งทาง Notebookspec เคยทำรีวิวไปแล้ว และเพิ่งเปิดตัวในงาน Next@Acer 2021 ที่ผ่านมา จัดเป็นการอัพเกรดเติมความจัดจ้านให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ตอบโจทย์ครีเอเตอร์ที่จะใช้ทำงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ แล้วจะเปลี่ยนไปเล่นเกมก็ทำได้น่าประทับใจไม่น้อย
และเมื่อสเปคของตัวเครื่องนั้นทำออกมาได้แรงแล้ว ก็ยังไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของซีรี่ส์ที่เน้นเรื่องความพกพาสะดวก มี USB-C ที่รองรับการต่อหน้าจอเสริมและชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คได้ด้วยมาตรฐาน Power Delivery เพียงแค่มีปลั๊กมือถือที่มีกำลังชาร์จ 45-65 วัตต์ ขึ้นไปก็ไม่ต้องพกปลั๊กเฉพาะของโน๊ตบุ๊คให้รกเต็มกระเป๋าแล้ว ทำให้เจ้าของเครื่องไม่ต้องพกอุปกรณ์ให้เต็มกระเป๋าไปหมด หรือถ้าใช้งานทั่ว ๆ ไปอย่างการเปิดเครื่องใช้งานผ่านเบราเซอร์, ต่อเน็ตดูหนังเสพย์ความบันเทิงต่าง ๆ ก็บอกลาปลั๊กชาร์จไปเลยก็ยังได้
อย่างไรก็ตาม Acer Swift X ยังเป็นเครื่อง Demo ที่ทาง Notebookspec ได้รับมาทดสอบใช้งานทั่วไปและอิงเรื่องดีไซน์เป็นหลัก จึงขอยกยอดการ Benchmark ด้วยโปรแกรมทั้งหมดออกไปจนกว่าตัวเครื่องเวอร์ชั่นสมบูรณ์จะพร้อมให้ทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ ในโอกาสนั้นจะนำผลทดสอบมาให้ชมกันอีกครั้งหนึ่ง
NBS Verdict
สำหรับ Acer Swift X ที่ทางผู้ผลิตออกแบบมาเน้นความแรงและบางเบา ใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงนั้น ถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊คบางเบาประสิทธิภาพดีที่ไม่ควรมองข้ามเลย ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าถ้าเป็น Acer ที่มักเปิดตัวมาให้ประสิทธิภาพคุ้มกับราคาเครื่องที่จ่ายไปเป็นประจำอยู่แล้ว ก็เชื่อว่าจะทำให้ผู้ใช้ที่อยากได้โน๊ตบุ๊คทำงานที่ต่อหน้าจอเปลี่ยนโหมดไปเล่นเกมได้ด้วยตัดสินใจเลือกซื้อได้ไม่ยากนัก และถ้าอิงจากราคาต่างประเทศที่ €899 หรือราว 34,000 บาท ถือว่าได้สเปคที่คุ้มค่ากับราคามากรุ่นหนึ่ง
จุดเด่นของ Acer Swift X
- ซีพียู AMD Ryzen 7 5800U เป็นสถาปัตยกรรม Zen 3 ขนาด 7 นาโนเมตร ประสิทธิภาพดีและประหยัดพลังงานมาก
- NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti มีประสิทธิภาพดี หลังจากทดลองเล่นเกมดูก็สามารถรีดเฟรมเรทออกมาได้ดีทีเดียว
- เสียงพัดลมเบาและอุณหภูมิตัวเครื่องตอนใช้งานปกติถือว่าเย็นมาก ถึงเปลี่ยนโหมดให้พัดลมทำงานเต็มประสิทธิภาพก็ไม่ถือว่าดังเกินไป
- ระบายความร้อนได้ดี อุณหภูมิสะสมในตัวเครื่องตอนลองเล่นเกมยังอยู่ระดับอุ่น ๆ บริเวณที่วางมือซ้ายบนคีย์บอร์ด
- หน้าจอกว้างและขอบจอบาง มีพื้นที่มองเห็นมากขึ้น ให้สีสันสวยคมชัดและขอบเขตสีกว้างเหมาะกับครีเอเตอร์
- ตัวเครื่องบางตามดีไซน์ของ Acer Swift ทำให้พกใส่กระเป๋าแล้วไม่กินพื้นที่มาก
- พอร์ต USB-C สามารถชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องได้ผ่านมาตรฐาน USB Power Delivery เหมือน Acer Swift รุ่นอื่น ๆ ไม่ต้องพกอะแดปเตอร์เฉพาะของโน๊ตบุ๊คเพิ่ม
- มีระบบสแกนลายนิ้วมือปลดล็อคตัวเครื่องติดตั้งมาให้ ทำงานกับระบบ Windows Hello ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวและเปิดใช้เครื่องได้สะดวกขึ้น
- เสริมก้านพลาสติกเนื้อแข็งเอาไว้ยกตัวเครื่องให้เฉียงขึ้นเล็กน้อย ทำให้พิมพ์งานได้สะดวกขึ้น
- คีย์บอร์ดมีไฟ LED Backlit ทำให้พิมพ์งานในที่แสงน้อยได้สะดวกยิ่งขึ้น
- มีช่องใส่ SSD แบบ M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ได้ 2 ตัว ช่องละ 1TB ทำให้เซฟงานและเรียกใช้โปรแกรมต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
- SSD M.2 NVMe ทั้งสองตัวที่ติดตั้งมาให้จากโรงงานเป็น WD SN530 รุ่น OEM ของ WD Blue SN550 ซึ่งถือว่าประสิทธิภาพดีแล้วสำหรับการใช้งานทั่วไป ไม่ต้องอัพเกรดก็ได้ ยกเว้นจะย้ายไปใช้รุ่นที่สเปคสูงกว่านี้
ข้อสังเกตของ Acer Swift X
- ปุ่ม Power ในแถบคีย์บอร์ดอยู่ในตำแหน่งใกล้กับปุ่ม Delete เกินไป เวลาใช้งานบางครั้งอาจกดผิดแล้วทำให้เครื่องเข้าโหมด Sleep หรือดับเครื่องโดยไม่ตั้งใจ
- แรม 16GB เป็นแบบบัดกรีลงบอร์ด ไม่สามารถอัพเกรดเพิ่มความจุได้
- ตัวเครื่องหนัก 1.4 กิโลกรัม เทียบกับซีรี่ส์ Swift ตัวอื่นที่น้ำหนักเบากว่านี้แล้วอาจจะน้ำหนักสูงอยู่บ้าง แลกกับสเปคที่แรง เหมาะกับครีเอเตอร์ใช้ทำงานได้ดี
หัวข้อรีวิวด้านต่าง ๆ
- Specification
- Hardware / Design
- Keyboard / Touchpad
- Screen / Speaker
- Connector / Thin & Weight
- Inside / Upgrade
- Battery / Heat / Noise
- Conclusion / Award
Specification
สเปคของ Acer Swift X เครื่องที่ได้รับมาทดลองใช้งาน จะเป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงกว่าในบทความ Next@Acer 2021 ที่เปิดให้อ่านมาก่อนหน้านี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สเปคของ Acer Swift X | รายละเอียด |
ซีพียู | AMD Ryzen 7 5800U สถาปัตยกรรม Zen 3 แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 1.9-4.4 GHz การ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon RX Vega แบบ 8 คอร์ |
การ์ดจอแยก | NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti แรม 4GB GDDR6 |
ฮาร์ดดิสก์ | SSD แบบ M.2 NVMe 2 ตัว ความจุ 512GB กับ 1TB รองรับการอัพเกรดเป็น 1TB+1TB ได้ |
แรม | 16GB LPDDR4X 4266 MHz |
หน้าจอ | 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS 60Hz |
ระบบปฏิบัติการ | Windows 10 Home (64-bit) |
น้ำหนักตัวเครื่อง | เฉพาะตัวเครื่อง 1.4 กิโลกรัม รวมปลั๊กเฉพาะของเครื่องเป็น 1.8 กิโลกรัม |
ถึงจะเป็นโน๊ตบุ๊คบางเบาตามสไตล์ Acer Swift ก็ตาม แต่สเปคในเครื่องถือว่าอยู่ในระดับไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คบางรุ่น ใช้ทำงานกราฟฟิคและเล่นเกมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีและรองรับการอัพเกรด SSD แบบ M.2 NVMe ได้ด้วย ซึ่งถ้าใครมีโปรแกรมที่ต้องใช้หรือไฟล์งานเยอะก็สามารถอัพเกรดเพิ่มเติมได้เลย
Hardware / Design
ดีไซน์ของ Acer Swift X นั้น จะใช้ดีไซน์อิงกับซีรี่ส์ Acer Swift ด้วยกัน โดยออกแบบให้ตัวเครื่องดูบางเบา หน้าจอกว้างขอบจอบางและมีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือติดตั้งเอาไว้ตรงขอบล่างขวามือเอาไว้สแกนเพื่อปลดล็อคตัวเครื่อง ทำงานร่วมกับ Windows Hello
ตัวเครื่องจะแยกสีกัน คือส่วนฐานตัวเครื่องจะเป็นสีเงินอลูมิเนียม ส่วนขอบเหนือเครื่องตรงชุดก้านบานพับจะเป็นสีที่เลือก เช่นสีน้ำเงินในภาพเครื่องตัวอย่างและกรอบหน้าจอสีดำ สลักคำว่า “Swift” ด้วยเลเซอร์เอาไว้ตรงขอบด้านหลังเพื่อบอกชื่อรุ่น ติดโลโก้ของ Acer เอาไว้ด้านหลังและใต้ขอบหน้าจอ
เพราะเป็นซีรี่ส์ Swift จะเห็นว่าตัวเครื่องดีไซน์ให้ค่อนข้างบางแต่ก็ยังแข็งแรง เสริมก้านพลาสติกเนื้อแข็งเอาไว้สองชิ้น ช่วยยกตัวเครื่องเมื่อกางหน้าจอออกมาใช้งาน ช่วยให้แป้นคีย์บอร์ดเฉียงขึ้นเล็กน้อย ช่วยให้พิมพ์งานได้สะดวกยิ่งขึ้น เวลาเปิดเครื่องขึ้นมาทำงานตามร้านกาแฟก็ไม่ต้องหาที่วางโน๊ตบุ๊คมาติดตั้งเพิ่มก็ได้ เป็นส่วนเสริมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกเวลาทำงานมากยิ่งขึ้น
ส่วนของช่องระบายความร้อนหลัก จะมีอยู่ช่องเดียวเหนือแป้นคีย์บอร์ดโดยดึงลมเข้าจากช่องด้านใต้ตัวเครื่อง ถ้าใช้งานตามปกติอย่างเช่นการดูหนังฟังเพลงและทำงานทั่วไปจะไม่มีเสียงลมจากพัดลมระบายความร้อนในเครื่องมารบกวนเลย พอทดลองใช้เล่นเกมก็สามารถระบายอากาศได้ดี ช่วยลดอาการความร้อนสะสมในเครื่องได้ค่อนข้างเร็ว นอกจากนี้ดีไซน์ยังได้โทนเป็นโน๊ตบุ๊คทำงาน เหมาะกับผู้ใช้ที่ไม่ชอบดีไซน์ตัวเครื่องเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเกินไป
เมื่อทดลองกางหน้าจอจนสุดแล้ว Acer Swift X จะกางได้ราว 160 องศา ทำให้วางแท่นวางโน๊ตบุ๊คแล้วปรับองศาให้เข้ากับมุมสายตาเราได้สะดวก หรือจะวางบนโต๊ะทำงานก็สามารถกางได้โดยไม่มีปัญหา เพราะตัวเครื่องใช้ก้านบานพับโลหะยึดระหว่างฐานเครื่องกับหน้าจอเอาไว้ จึงแข็งแรงไว้ใจได้
Keyboard / Touchpad
คีย์บอร์ดของ Acer Swift X จะเป็นแบบ Full size แยกปุ่มแต่ละปุ่มชัดเจน ติดตั้งไฟ LED Backlit ช่วยให้พิมพ์งานในที่แสงน้อยได้สะดวกขึ้น กดเปิดปิดไฟตรงปุ่ม F8 ได้ทันทีโดยไม่ต้องกด Fn ค้างไว้ ทว่ามีข้อสังเกตเดียว คือ LED Backlit ของ Swift X ไม่สามารถปรับระดับความสว่างได้เหมือนโน๊ตบุ๊คบางรุ่นในปัจจุบัน สำหรับภาษาบนคีย์บอร์ดตอนนี้จะเป็นปุ่มภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเฉพาะเครื่อง Demo ที่ได้รับมาทดสอบเท่านั้น ถ้าเริ่มวางขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้วเชื่อว่าจะมีปุ่มภาษาไทยมาใหใช้งานอย่างแน่นอน
สัมผัสการพิมพ์ของปุ่มคีย์บอร์ดจะค่อนข้างอ่อน ไม่แข็งฝืนนิ้วเหมือนคีย์บอร์ดเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คบางรุ่นที่ใส่สปริงมาค่อนข้างแข็ง ซึ่งถ้าใครพิมพ์งานต่อเนื่องเป็นเวลานานถือว่าเป็นปุ่มที่นุ่มใช้ได้ นิ้วไม่ล้าเร็วนัก
ด้านปุ่มฟังก์ชั่นอื่น ๆ จะมีปุ่มลูกศรมุมล่างขวาของคีย์บอร์ดจะเป็นแบบปุ่มเต็มตัดครึ่ง โดยปุ่มลูกศรซ้ายอยู่กับปุ่ม Page Up, ปุ่มลูกศรขึ้นลงและปุ่มลูกศรขวามืออยู่กับ Page Down ใต้ปุ่มลูกศรติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเอาไว้ใช้ปลดล็อคเครื่อง ส่วนปุ่ม Power จะรวมอยู่ในชุดคีย์บอร์ดมุมขวาบนข้างปุ่ม Delete ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ จะช่วยประหยัดพื้นที่บนแป้นคีย์บอร์ดไปได้พอควร
จากการทดลองใช้งานจริงแล้ว การเอาปุ่ม Page Up, Page Down กับปุ่มลูกศรซ้ายขวามาวางรวมกันไว้ก็ยังมีโอกาสการกดพลาดบ้างแต่ยังเป็นการเลื่อนหน้าจอขึ้นลงเท่านั้น ผิดกับการเอาปุ่ม Power มาติดตั้งไว้ข้างปุ่ม Delete ซึ่งถ้าใครคุ้นเคยกับเลย์เอ้าท์ที่แยกปุ่ม Power ไปเป็นปุ่มเฉพาะแล้ว ก็มีโอกาสกดพลาดแล้วดับเครื่องไปเลย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ผู้เขียนคิดว่าถ้าแยกเป็นปุ่มเฉพาะไปเลยจะดีกว่า
ส่วนแป้นทัชแพดทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะติดตั้งอยู่ขอบล่างของตัวเครื่อง สามารถตอบสนองการลากนิ้วและกดปุ่มได้เร็ว ใช้ Gesture Control ของ Windows 10 ได้สะดวก มีพื้นที่ลากนิ้วกว้างกำลังดี รองรับ Multi Touch ด้วย และเว้นขอบล่างตัวเครื่องเว้าเข้ามาเล็กน้อยให้ใช้นิ้วเดียวดึงฝาบานพับเปิดเครื่องขึ้นมาใช้งานได้สะดวกทีเดียว
Screen / Speaker
หน้าจอของ Acer Swift X เครื่องนี้มีขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS อัตราส่วนหน้าจอต่อกรอบหน้าจอที่ 85.73% โดยสเปคจากทาง Acer หน้าจอนี้เร่งความสว่างได้สูงสุด 300 nits ความแม่นยำสีที่ 100% sRGB ซึ่งสเปคหน้าจอนี้สามารถนำไปทำงานด้านสีสันและกราฟฟิคได้สบาย ๆ มี Acer BlueLight Shield ลดแสงสีฟ้าจากหน้าจอป้องกันตาล้า ขอบหน้าจอที่บางทำให้เห็นคอนเทนต์และภาพบนหน้าจอมากยิ่งขึ้น ติดตั้งกล้อง Webcam เอาไว้ตรงขอบบนหน้าจอด้วย
เมื่อทดสอบด้วยอุปกรณ์ Calibrate สีหน้าจออย่าง Spyder5ELITE แล้ว Acer Swift X ได้ความแม่นยำสี 93% sRGB และ 73% AdobeRGB ถือว่าแม่นยำระดับเดียวกับหน้าจอโน๊ตบุ๊คทำงานอาร์ทเวิร์ครุ่นอื่น ๆ ที่เคยทดสอบมา สามารถเพิ่มความสว่างได้สูงสุด 265 nits ถ้าใช้งานในอาคารก็นับว่าสว่างมาก จะเอาไปใช้งานกลางแจ้งตรงบริเวณชุดโต๊ะนั่งนอกร้านของร้านกาแฟก็ใช้ได้สบาย ๆ ไม่มีปัญหาแสงสะท้อนจากหน้าจออีกด้วย เพราะเป็นจอแบบ Anti-glare นั่นเอง
ส่วนจุดเด่นที่ไม่ควรมองข้าม คือความสว่างทั่วหน้าจอเมื่อแบ่งเป็นตาราง 9 ช่อง จะเห็นว่าทั่วหน้าจอจะสว่างไล่เลี่ยกันตั้งแต่ 0-9% ไม่เกินไปที่ 10% เลย และเพราะเป็นหน้าจอที่สว่างไล่เลี่ยกัน จึงไม่ต้องกังวลว่าต้องระวังส่วนไหนเป็นพิเศษ แต่ก็แนะนำว่าส่วนมุมล่างซ้ายและขวาอาจจะมืดกว่าโซนอื่นนิดหน่อยที่ 8% และ 9% ตามลำดับ ส่วนได้คะแนน Monitor Rating ของหน้าจอจะเด่นเรื่อง Contrast ที่ได้ 5 คะแนน ส่วนคะแนนเฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่ 4 เต็ม 5 คะแนน
ลำโพงของ Acer Swift X จะเป็นลำโพง DTS มี 2 ตัว แยกฝั่งซ้ายขวาติดตั้งไว้ใต้ตัวเครื่อง สำหรับความดัง 100% จัดว่าเสียงดังฟังชัดมาก ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าเปิดที่ความดัง 50-70% จะอยู่ในระดับที่ดังกำลังดี ได้ยินเสียงพูดของตัวละครตอนดูหนังชัดเจน
นอกจากเป็นลำโพง DTS ยังมีซอฟท์แวร์ไว้ปรับเสียงและ Equalizer จาก DTS ติดตั้งมาด้วย โดยเลือกโปรไฟล์เสียงตั้งค่าจากโรงงานได้ 3 แบบ คือ Music, Movies หรือ Games และปรับเสียงได้เอง ตรง Custom Audio มีฟังก์ชั่นปรับ Equalizer ตรง Graphics EQ มุมบนขวามือ
ผู้เขียนทดสอบโดยเลือกโปรไฟล์เสียง Music ที่ตั้งค่าจากโรงงานก่อนทดสอบฟังเพลง ตัวเนื้อเสียงจะออกโทนใสและเบสจะไม่เด่นมากนัก เหมาะกับการฟังเพลงแนวแจ๊สและป็อบเป็นหลัก ส่วนคนชอบเพลงเน้นเบสอย่างแนว EDM, Electro House จะแนะนำให้ต่อลำโพงแยกสักชุดจะดีที่สุด ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าถ้าใช้ดูหนังเป็นหลักถือว่าลำโพงเดิมติดเครื่องทำหน้าที่ได้ดีแล้ว
Connector / Thin & Weight
พอร์ตเชื่อมต่อของ Acer Swift X จะติดตั้งอยู่ข้างเครื่องซ้ายขวาทั้งหมดแบบโน๊ตบุ๊คทำงานหลาย ๆ รุ่น โดยเป็นพอร์ต USB 3.2 Type-A x 2 พอร์ต มี HDMI x 1 พอร์ตกับ USB-C ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องได้แบบ Power Delivery มีช่องเสียบปลั๊กมาตรฐานของโน๊ตบุ๊คติดตั้งมาให้ด้วย โดยพอร์ตจะแยกฝั่งดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – ช่องเสียบปลั๊กของตัวเครื่อง, USB-C รองรับการต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่ได้แบบ Power Delivery, HDMI-out และ USB 3.2 Type-A ที่รองรับการชาร์จแบตเตอรี่ให้อุปกรณ์อื่นแบบ Sleep & Charge
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – ช่องหูฟัง 3.5 มม. , USB 3.2 Type-A, ไฟแสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่และสถานะตัวเครื่อง, Kensington Lock
- การเชื่อมต่อไร้สาย – ใช้การ์ด Wi-Fi ของ MediaTek MT7921 รองรับ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax เสาอากาศแบบ 2*2 ที่ใช้ในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค รองรับ Bluetooth BLE ด้วย
ด้านความหนาของตัวเครื่อง จะอยู่ราว 1.79 เซนติเมตร ออกแบบให้ตัวเครื่องส่วนขอบ 4 ด้านโค้งขึ้นเล็กน้อย ทำให้หยิบเครื่องยกขึ้นได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะหนากว่า Swift รุ่นอื่นนิดหน่อย แลกกับสเปคภายในเครื่องที่ออกแบบมาเพื่อครีเอเตอร์โดยเฉพาะ
น้ำหนักตัวเครื่องเมื่อชั่งแล้วจะหนัก 1.4 กิโลกรัม ส่วนอะแดปเตอร์อีก 415 กรัม รวมแล้วอยู่ที่ 1.814 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักระดับนี้ถ้าเราจะพก Acer Swift X ติดตัวไปไหนมาไหนพร้อมอะแดปเตอร์ประจำเครื่องก็จัดว่ามีน้ำหนักอยู่บ้าง
แต่เพราะเครื่องนี้รองรับการชาร์จแบตเตอรี่ผ่าน USB-C ได้ เวลาจัดกระเป๋าเอาเครื่องไปใช้งานก็ใช้ปลั๊กของมือถือที่ชาร์จได้ 45-65 วัตต์หรือใช้ Power Bank กับสาย USB-C ที่รองรับกระแสได้ 100 วัตต์สักเส้นก็เพียงพอแล้ว ช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำหนักและอุปกรณ์ในกระเป๋าเยอะไปได้มาก
Inside / Upgrade
การแกะเครื่องเพื่ออัพเกรดภายใน Acer Swift X เครื่องนี้ จะมีน็อตทั้งหมด 11 จุดให้ไข โดยแบ่งเป็นขอบบน 4, กลาง 3 และขอบเครื่องด้านล่างอีก 4 จุดด้วยกัน ซึ่งยึดฝาเครื่องเอาไว้แข็งแรงทีเดียวแต่ก็ขันออกได้ง่าย ไม่แข็งฝืนมือมากนัก
ตัวน็อตจากโรงงานจะใช้เป็นแบบหัวดาว 6 แฉก ไม่ได้เป็นหัวแบนหัวหัวแฉกเครื่องหมายบวกเหมือนโน๊ตบุ๊คบางรุ่น ดังนั้นต้องมีชุดไขควงที่มีหัวแฉกให้เลือกหลายแบบเตรียมเอาไว้ด้วย เมื่อไขออกแล้ว เราสามารถใช้นิ้วจับตรงขอบบนตัวเครื่องแล้วค่อย ๆ ดึงไล่ตามขอบเครื่องเพื่อเปิดฝาเครื่องได้เลย
เปิดมาด้านในจะเห็นว่า Acer จัดชิ้นส่วนต่าง ๆ ใน Swift X ไว้ค่อนข้างแน่นและชิดกัน ไม่มีช่องแรมเอาไว้ให้อัพเกรดเพิ่มเติม สังเกตได้จากการที่ไม่มีแผ่นพลาสติกฉนวนกันไฟฟ้าสถิตย์แบบดึงเปิดออกได้ติดอยู่ จะมีแค่แผ่นฉนวนปิดตรงชิ้นส่วนหลัก ๆ แล้วเดินเส้นฮีตไปป์ทองแดง 2 เส้นพาดซีพียูและการ์ดจอมาตรงพัดลมโบลวเวอร์ตรงฝั่งซ้ายของภาพ (ขวามือเมื่อวางใช้งานตามปกติ) เพื่อระบายความร้อน
ส่วนขอบล่างของเครื่อง จะติดตั้งแบตเตอรี่แบบลิเธียมโพลิเมอร์เอาไว้ 1 ก้อน 3-cell ความจุ 3,720 mAh หรือ 57.28Wh สำหรับจ่ายไฟ อีกฝั่งเป็น SSD แบบ M.2 NVMe จาก Western Digital ทั้งหมด 2 ตัว ความจุ 512GB+1TB รุ่น WD SN530 แบบ 96-layer 3D NAND เชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 เน้นเรื่องประสิทธิภาพและความทนทานใช้งานได้นาน ประสิทธิภาพจะเป็นดังนี้
- ความจุ 512GB ความเร็ว Sequential Read 2,400MB/s และ Sequential Write 1,750MB/s
- ความจุ 1TB ความเร็ว Sequential Read 2,400MB/s และ Sequential Write 1,950MB/s
เทียบสเปคและประสิทธิภาพการทำงานทั้งหมดแล้วถือว่า WD SN530 นั้นเป็น SSD แบบ M.2 NVMe รุ่น OEM ของ WD Blue SN550 ที่ทาง Western Digital ผลิตขายแยก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าถ้าใช้ทำงานทั่ว ๆ ไปก็ไม่ต้องอัพเกรดแล้ว ยกเว้นแต่ต้องการให้เป็น 1TB+1TB สำหรับคนที่อยากใช้ให้เต็มประสิทธิภาพของอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 จะแนะนำให้อัพเกรดเป็น WD Black SN750 หรือ Samsung 970 EVO Plus ก็ได้
Battery / Heat / Noise
แบตเตอรี่จะเป็นลิเธียมโพลิเมอร์ 3-cell ความจุ 3,720 mAh หรือ 57.28Wh หนึ่งก้อน ติดตั้งเอาไว้ด้านใต้แถบทัชบาร์และที่วางข้อมือ ซึ่งเมื่อทดลองใช้งานทั่วไปแล้ว สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานทีเดียว ซึ่งทางผู้ผลิตแจ้งไว้ว่า Acer Swift X นั้นสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 14 ชั่วโมง ซึ่งถ้าใช้งานทั่วไปก็ถือว่าเหลือเฟือแล้ว และรองรับการชาร์จไวอีกด้วย
ด้านระบบระบายความร้อนจะใช้ฮีตไปป์ 2 เส้น พาดผ่านระหว่างการ์ดจอ NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti กับซีพียู AMD Ryzen 7 5800U แล้วเป่าระบายความร้อนด้วยพัดลมโบลวเวอร์ที่ออกแบบให้ดึงลมเข้าได้ดีกว่าเดิม 1 ตัว โดยทาง Acer เคลมว่าตัวพัดลมกับช่องระบายอากาศนี้ทำให้อากาศไหลเวียนดีขึ้น 5-10% ส่วนคีย์บอร์ดก็ออกแบบให้เป็นช่องลมเข้าในตัว ช่วยระบายความร้อนตัวเครื่องได้ดีขึ้น 8-10% ส่วนอากาศร้อนจะเป่าออกที่ช่องเหนือคีย์บอร์ดฝั่งบนขวามือ
ตัวพัดลมกดสลับโหมดการทำงานได้ 3 แบบ โดยปุ่ม Fn+F ได้แก่ Silent ที่ไม่ส่งเสียงรบกวนระหว่างใช้งานเลย, Normal จะมีเสียงพัดลมเบา ๆ เป็นบางจังหวะนาน ๆ ครั้ง ตอนใช้โปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องบ้าง และโหมด Performance จะใช้ตัวเครื่องเต็มประสิทธิภาพ พัดลมทำงานเต็มกำลัง ส่วนเสียงไม่ได้ดังจนแสบแก้วหูแต่แค่ได้ยินชัดว่าตอนนี้พัดลมทำงานอยู่เท่านั้น ไม่ได้ดังจนรบกวนการใช้งานเลย
จากการใช้ทดลองใช้งาน ถ้าเปิดเว็บดูหนังฟังเพลงทั่วไปผู้เขียนจะใช้ Silent mode ซึ่ง Acer Swift X ก็สามารถทำงานได้ดีและเย็นมาก นาน ๆ ครั้งถึงจะได้ยินเสียงพัดลมทำงานนิดหน่อยแล้วกลับไปเงียบ เวลาเล่นเกมผู้เขียนทดลองเปิด Performance mode ให้พัดลมทำงานเต็มที่ ซึ่งตัวเครื่องนั้นจะแค่อุ่นขึ้นมาเท่านั้น พอปิดเกมแล้วกลับไปใช้งานตามปกติ ตัวเครื่องก็สามารถระบายความร้อนแล้วกลับมาเย็นอีกครั้งในเวลาสั้น ๆ ดังนั้นถ้าใครคิดว่าจะซื้อ Swift X ไปใช้ทำงานด้านครีเอเตอร์อย่างการตัดต่อคลิปหรือเล่นเกม ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องระบบระบายความร้อนเลย
Conclusion / Award
โดยสรุปแล้ว Acer Swift X เครื่องนี้เรียกว่าเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ที่อยากได้โน๊ตบุ๊คเครื่องเบา พกพาสะดวกติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก เปิดเครื่องมาพร้อมทำงานหรือเล่นเกมได้เลย ได้สเปคจัดเต็มระดับไม่ต้องอัพเกรดก็แรงแล้ว รวมทั้งหน้าจอที่ให้สีสันสวยงามและให้ค่าสีที่แม่นยำไม่แพ้กับโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์เครื่องอื่น ๆ เลย ส่วนแบตเตอรี่ก็ใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงแม้จะแค่ทดลองเล่นแบบผ่าน ๆ ก็รู้สึกได้ ว่าถ้าเอาไปใช้งานทั่วไปอย่างการทำงานหรือเรียนออนไลน์ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าแบตเตอรี่จะหมดแล้วเครื่องดับกลางทาง ถ้าฉุกเฉินจะใช้ปลั๊กมือถือหรือ Power Bank ที่จ่ายไฟได้ 45-65 วัตต์เสียบชาร์จฉุกเฉินได้เลย และตัวเครื่องรองรับ Fast Charge จึงใช้เวลาไม่นานแบตก็เต็มแล้ว
นอกจากครีเอเตอร์แล้ว Acer Swift X เองก็ตอบโจทย์ผู้ใช้เป็นวงกว้าง ทั้งนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการโน๊ตบุ๊คเครื่องแรง จ่ายครั้งเดียวคุ้มใช้งานได้นานหลายปี จะใช้เรียนหรือเล่นเกมก็ได้สบาย ๆ รวมไปถึงพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่ต้องการโน๊ตบุ๊คเครื่องเดียวตอบโจทย์ทุกงานทั้งพกเครื่องไปทำงานตอนกลางวันในออฟฟิศแล้วกลับมาคอนโดฯ แล้วหาความบันเทิงให้ตัวเองทั้งการดูหนังหรือเล่นเกมก็ได้ เป็นเครื่องที่ One size fit all เครื่องหนึ่ง
จุดสังเกตเดียว คือเรื่องน้ำหนักของ Swift X จะอยู่ที่ 1.4 กิโลกรัม มากกว่า Swift รุ่นอื่นในซีรี่ส์ที่อยู่ราว 1.19 กิโลกรัมเท่านั้น จะเป็นจุดพิจารณาอยู่บ้าง แต่ถ้าน้ำหนักราว 0.21 กิโลกรัมนั้นแลกกับการได้การ์ดจอแยกประสิทธิภาพสูงอย่าง NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti ในเครื่อง ก็ถือว่าคุ้มค่ากันไม่น้อย
Award
Best Performance
จุดที่ Acer Swift X ได้รับรางวัล Best Performance ไป คือเรื่องสเปค AMD Ryzen 7 5800U กับการ์ดจอแยก NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti จับคู่กับหน้าจอ 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ที่ให้สีสันแม่นยำระดับ 93% sRGB รวมทั้ง SSD แบบ M.2 NVMe จาก Western Digital รุ่น SN530 ที่ประสิทธิภาพเท่ากับ WD Blue SN550 และให้มา 512B+1TB เรียกว่าเยอะเหลือเฟือ ติดตั้งการ์ด Wi-Fi ระดับเดียวกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค ทำให้รับส่งสัญญาณได้รวดเร็ว ซึ่งสเปคทั้งหมดนี้ ครีเอเตอร์, เกมเมอร์และผู้ใช้หลาย ๆ กลุ่มสามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่ต้องอัพเกรดเลยก็ได้
Best Battery Life
จากการใช้งานจริง แบตเตอรี่ของ Acer Swift X สามารถใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงโดยไม่ต้องกังวลเรื่องแบตหมดกลางคัน ยิ่งเป็นงานพื้นฐานทั่วไปอย่างการเข้าเว็บเล่นเน็ต, ทำงานเอกสารและอื่น ๆ ยิ่งไม่ต้องกังวลเลย นอกจากนี้ยังใช้ปลั๊กมือถือหรือ Power Bank ชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องแบบ Fast Charge ได้ด้วย ยิ่งช่วยให้ผู้ใช้อุ่นใจไม่ต้องพกอะแดปเตอร์เฉพาะเครื่องติดกระเป๋าให้หนักเปล่าด้วย