Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Asus

รีวิว ASUS BR1100FK โน๊ตบุ๊คเพื่อนักเรียน ครบเครื่องทั้งสเปคและจอสัมผัส ปากกา Stylus พร้อมใช้ ใส่ Pentium Silver N6000 แรงเพียงพอใช้งาน

ASUS BR1100FK เกิดมาเป็นเพื่อนในห้องเรียน ใช้แบบโน๊ตบุ๊คหรือพับเป็นแท็บเล็ตก็สะดวก สเปคก็เพียงพอใช้เรียนแน่นอน

br1100fk cover

ในยุคที่การเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ รับส่งไฟล์เอกสารกับงานต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นหลักแล้ว ASUS BR1100FK โน๊ตบุ๊ค Convertible ลูกผสมที่ทางบริษัทออกแบบมาเพื่อกลุ่มนักเรียนนักศึกษาโดยเฉพาะ จะใช้เป็นโน๊ตบุ๊คหรือจะพับมาเป็นแท็บเล็ตแล้วใช้ปากกาสไตลัสประจำเครื่องเขียนโน๊ตต่าง ๆ ลงไปในชีท PDF ที่อาจารย์ประจำวิชาส่งให้ก็ง่าย ไม่ต้องพึ่งแท็บเล็ตให้มีอุปกรณ์หลายชิ้นแล้วโอนไฟล์ไปมาให้เสียเวลา และตัวเครื่องก็ได้รับการออกแบบให้แข็งแรงทนทานกว่าโน๊ตบุ๊คทั่ว ๆ ไป ทำให้เด็กเล็กได้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปใช้แล้วเผลอทำตกจากโต๊ะก็ไม่พังง่าย ๆ

Advertisement

นอกจากนี้การออกแบบในส่วนต่าง ๆ ของ ASUS ก็ใส่ใจกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเราสังเกตแล้วจะเห็นการใส่ใจรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ที่ช่วยให้ใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ในการเรียนได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งการออกแบบให้ตัวเครื่องแข็งแรงทนทานต่อวัยซน อัพเกรดเครื่องให้ประสิทธิภาพดีขึ้นได้ไม่ยาก ตัวเครื่องหนักแค่ 1.3 กิโลกรัม ถือว่ากำลังดีไม่หนักไม่เบาเกินไป ติดตั้งกล้องเอาไว้ 2 จุด ช่วยให้นักเรียนใช้ถ่ายภาพในโหมดแท็บเล็ตและมีกล้อง Webcam ที่เลื่อนปิดได้เอาไว้ใช้เรียนออนไลน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งติดตั้ง Windows 10 Pro – National Academic License รุ่นใช้เพื่อการศึกษามาให้ในเครื่องด้วย ต้องนับว่าทางบริษัทนั้นคิดและออกแบบโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มาเพื่อกลุ่มนักเรียนอย่างจริงจัง

ASUS BR1100FK

อย่างไรก็ตาม ข้อดีอย่างการเปิดฝาอัพเกรดสเปคเครื่องได้ก็กลับเป็นจุดสังเกตไปด้วยกัน เนื่องจากการเปิดฝามาเพิ่มแรมหรือ SSD ต้องแกะเปิดฝาเอาคีย์บอร์ดขึ้นมา ซึ่งทำได้ยากกว่าโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นอยู่พอควรแล้วต้องระวังสายแพของแป้นคีย์บอร์ดกับทัชแพดด้วย จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดความเสียหายได้ และฟีเจอร์ 4G LTE จะเป็นส่วนเสริมที่ต้องเพิ่มเงินอีกเล็กน้อย ไม่ได้ติดตั้งมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ถ้ามองตามจุดประสงค์ว่าออกแบบมาให้น้องนักเรียนชั้นประถมใช้เรียนหนังสือ ก็ถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว

NBS Verdict

IMG 3907

ASUS BR1100FK รุ่นนี้ที่ได้รับมารีวิว ถือเป็นโน๊ตบุ๊คที่ออกแบบมาเพื่อนักเรียนที่ต้องใช้โน๊ตบุ๊คเอาไว้เรียนทั้งในห้องและออนไลน์ในปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม เพราะได้หน้าจอสัมผัสและมีปากกาสไตลัสติดตั้งมาให้ใช้งาน, กล้องสำหรับใช้ถ่ายภาพในโหมดแท็บเล็ตและกล้อง Webcam ที่ใช้เรียนออนไลน์ได้ดี งานประกอบตัวเครื่องที่แข็งแรงทนทานผ่านมาตรฐาน MIL-STD-810H แล้ว มี ASUS BacGuard ที่เป็นชิ้นส่วน Silver ion ป้องกันแบคทีเรีย ทำให้ตัวเครื่องไม่สะสมเชื้อโรค และหน้าจอก็ได้รับการรับรองจาก TÜV Rheinland ว่าถนอมสายตาผู้ใช้ ทำให้สายตาของเด็ก ๆ ไม่มีปัญหาในระยะยาวอย่างแน่นอน

จุดเด่นของ ASUS BR1100FK
  1. งานประกอบแข็งแรงและแน่นหนามาก ป้องกันเด็กเล็กแกะเครื่องเล่นแล้วเสียหาย
  2. น้ำหนักตัวเครื่อง 1.3 กิโลกรัม ค่อนข้างสมเหตุผลกับงานประกอบที่แข็งแรง อะแดปเตอร์ติดเครื่องมีขนาดเล็กไม่กินพื้นที่ พกพาสะดวก
  3. ตัวเครื่องเป็นพื้นผิวแบบปุ่มขนาดเล็ก (micro-dimpled) จับถนัดไม่หลุดมือง่าย ขอบพลาสติกเหนียวแข็งแรงและไม่เก็บรอยขีดข่วน
  4. พอร์ต USB 3.2 Gen 2 Type-C ที่ติดตั้งมากับเครื่องใช้ถ่ายโอนข้อมูลได้เร็ว ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องได้ด้วยมาตรฐาน USB Power Delivery จึงใช้ปลั๊กสมาร์ทโฟนชาร์จแบตเตอรี่ให้กับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้เลย
  5. ติดตั้งไฟแสดงสถานะอยู่ที่ฝาหลังตัวเครื่อง ทำให้อาจารย์ที่ต้องดูแลเด็กเห็นทันทีว่าโน๊ตบุ๊คของเด็กคนไหนมีปัญหาแบตเตอรี่หมดหรือต่ออินเตอร์เน็ตไม่ได้จะได้เข้าไปดูแลได้สะดวก
  6. ออกแบบเป็นเครื่องแบบ Convertible พับกลับได้ 360 องศาเป็นแท็บเล็ตและใช้งานในโหมดต่าง ๆ ได้ตามความสะดวก
  7. หน้าจอสัมผัสตอบสนองได้รวดเร็วและมีปากกาสไตลัสติดตั้งมากับเครื่อง ใช้วาดเขียนหรือทำเครื่องหมายบนภาพหรือเอกสารการเรียนได้สะดวก
  8. ได้รับการรับรองความแข็งแรง MIL-STD-810H ไม่มีปัญหาเรื่องตัวเครื่องถูกกดทับ, สั่นสะเทือนหรือกระแทกแล้วเสียหายง่าย ๆ แน่นอน
  9. แป้นพิมพ์ป้องกันน้ำหกได้ 330 cc. แล้วน้ำไม่ไหลลงไปถึงระบบไฟฟ้าในเครื่อง ช่วยให้เด็กที่เผลอทำน้ำหกใส่แล้วยังเอาผ้าเช็ดได้ทันเวลา ไม่สร้างความเสียหายให้กับตัวเครื่อง
  10. กล้อง Webcam มีตัวสไลด์ปิดกล้อง ป้องกันการถูกแฮ็คกล้องเข้ามาใช้งานได้ ติดกล้องเสริมเอาไว้ที่ส่วนเหนือแป้นคีย์บอร์ดไว้ใช้ถ่ายภาพที่ต้องการจดบันทึกในโหมดแท็บเล็ตได้ง่าย
  11. ใช้ซีพียู Intel Pentium Silver N6000 แบบ 4 คอร์ 4 เธรด สถาปัตยกรรม 10 นาโนเมตรแล้ว ประสิทธิภาพเวลาใช้เรียนผ่านเบราเซอร์หรือเปิดโปรแกรมทำงานทำได้ดีทีเดียว
  12. ติดตั้ง Windows 10 Pro – National Academic License รุ่นเพื่อการศึกษามาให้ในเครื่องจากโรงงาน
  13. ฮาร์ดดิสก์แบบ eMMC 128GB ที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องทำงานได้รวดเร็ว ไม่อืดเลยและอัพเกรดเพิ่มฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 SSD เพิ่มได้สูงสุด 1TB อีกด้วย
  14. มี ASUS BacGuard ช่วยยับยั้งเชื้อโรคเติบโตได้ 99% ทำให้สุขอนามัยของเด็ก ๆ ดีขึ้น
  15. ติดตั้ง Wi-Fi 6 ชิป Intel AX201 มาให้ และรองรับ Bluetooth 5.0 เชื่อมต่อไร้สายได้รวดเร็ว
  16. มีระบบ AI Noise Cancelling ช่วยลดเสียงรบกวนเวลาพูดผ่านไมโครโฟนของตัวเครื่อง เลือกตั้งค่าได้ผ่านซอฟท์แวร์ MyASUS
  17. ปุ่มคีย์ลัดบนคีย์บอร์ดเลือกโปรแกรมปุ่มที่นักเรียนนักศึกษาได้ใช้งานบ่อย ๆ มาให้ จึงไม่ต้องกดคีย์ลัดให้วุ่นวาย และเลือกสลับการกดปุ่ม Fn ได้ว่าต้องการให้เป็น F1-F12 หรือเป็นปุ่มทางลัดก็ได้
  18. หัวน็อตเป็นหัวแฉกมาตรฐาน ติดตังล็อคยึดไม่ให้น็อตหลุดจากฝาหลังมาให้ ใช้ไขควงทั่วไปไขปลดเกลียวน็อตได้เลย
ข้อสังเกตของ ASUS BR1100FK
  1. งานประกอบตัวเครื่องแข็งแรง แต่ก็แกะเครื่องมาอัพเกรดค่อนข้างยาก รวมทั้งต้องระวังสายแพคีย์บอร์ดกับทัชแพดที่ต่อเข้ากับเมนบอร์ดด้วย ไม่อย่างนั้นเครื่องอาจเสียหายได้
  2. กล้องเหนือคีย์บอร์ดสำหรับใช้ในโหมดแท็บเล็ตเลือกโฟกัสได้ แต่ชัตเตอร์สั่งถ่ายภาพค่อนข้างช้า ต้องถือเครื่องไว้นิ่ง ๆ ราว 1-2 วินาที
  3. ฟีเจอร์ 4G LTE มีเฉพาะบางรุ่น ไม่ได้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานกับ ASUS BR1100FK ทั้งซีรี่ส์
  4. ยังต้องพิมพ์รหัสผ่านหรือ PIN เพื่อปลดล็อคเครื่องอยู่ ถ้าใส่เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาให้จะดีมาก

หัวข้อรีวิว

Specification

สเปคของ ASUS BR1100FK นั้น จะเป็นสเปคของโน๊ตบุ๊คในระดับใช้งานด้านการเรียนและออนไลน์เป็นหลัก โดยสเปคของรุ่นนี้จะมีดังนี้

สเปคของ ASUS BR1100FK ตัวเลือกสเปคในซีรี่ส์
ซีพียู
การ์ดจอ Intel UHD Graphics
ฮาร์ดดิสก์ 
  • 128GB แบบ eMMC
  • 256GB M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 SSD, 64GB eMMC
  • 64GB eMMC
  • 128GB M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 SSD, 64GB eMMC
  • 128GB M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 SSD, 128G eMMC
  • 512GB M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 SSD, 128G eMMC
  • 1TB M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 รุ่นประสิทธิภาพสูง, 128GB eMMC
  • 512GB M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 SSD, 64GB eMMC
  • 256GB M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 SSD, 128G eMMC

ทุกโมเดลมีช่อง M.2 NVMe รองรับขนาด 2280 อินเตอร์เฟส PCIe 3.0×4 ติดตั้งมา 1 ช่อง
แรม
  • 4GB DDR4 on board
  • 8GB DDR4 on board
  • 16GB DDR4 on board

อัพเกรดได้สูงสุด 16GB DDR4
หน้าจอ จอ LCD ขนาด 11.6 นิ้ว ความละเอียด HD (1366×768) แบบ Glossy display ความสว่าง 250nits, 50% NTSC รองรับปากกาสไตลัส แต่มีบางรุ่นเป็นจอทัชสกรีนอย่างเดียวแต่ไม่รองรับสไตลัส
การเชื่อมต่อไร้สาย
  • Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax 2*2 Dual Band
  • Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac 2*2 Dual Band
  • Bluetooth 5.0
พอร์ตเชื่อมต่อของตัวเครื่อง
  • USB 2.0 Type-A x 1 ช่อง
  • USB 3.2 Gen 1 Type-A x 1 ช่อง
  • USB 3.2 Gen 2 Type-C รองรับ power delivery x 1 ช่อง
  • HDMI 1.4 x 1 ช่อง
  • 3.5mm Combo Audio Jack x 1 ช่อง
  • RJ45 Gigabit Ethernet x 1 ช่อง
  • ปลั๊กไฟ x 1 ช่อง
  • Micro SD card reader + SIM card slot x 1 ช่อง (มีเป็นบางรุ่นเท่านั้น
ระบบปฏิบัติการ
  • Endless  OS พัฒนาจาก Linux
  • Windows 10 Home
  • Windows 10 Pro
  • Windows 10 Pro – National Academic License

IMG 3902

สเปค ASUS BR110FK ที่ได้รับมารีวิวจะเป็นซีพียู Intel Pentium Silver N6000 แบบ 4 คอร์ 4 เธรด ความเร็ว 1.1-3.3 GHz การ์ดจอ Intel UHD Graphics แรม 4GB DDR4 ออนบอร์ดกับฮาร์ดดิสก์แบบ eMMC ความจุ 128GB ติดตั้ง Windows 10 Pro – National Academic License มาให้ หน้าจอ LCD ทัชสกรีนขนาด 11.6 นิ้ว ความละเอียด HD รองรับปากกาสไตลัสและเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax 2*2 Dual Band รองรับ Bluetooth 5.0 ด้วย

คลิกที่นี่เพื่อดูสเปคทั้งหมดของ ASUS BR1100FK

Hardware / Design

IMG 3896

เพราะ ASUS BR1100FK ออกแบบมาเพื่อนักเรียนเป็นหลัก ดังนั้นในแพ็คเกจสินค้าเมื่อเปิดออกมานอกจากโน้ตบุ๊คแล้ว ทาง ASUS ก็แถมอุปกรณ์เครื่องใช้เพิ่มเติมอย่างซองใส่โน้ตบุ๊คและเมาส์ไร้สายรุ่นมาตรฐานที่มักแถมมาพร้อมกับ All-In-One PC และโน้ตบุ๊คบางรุ่นจากบริษัท ใส่ถ่าน AA หนึ่งก้อนด้วยกันและไม่มีสวิตช์เปิดปิดเมาส์ ส่วนอะแดปเตอร์ของตัวเครื่องจะมีขนาดเล็ก พกพาง่าย ไม่กินพื้นที่ในกระเป๋าด้วย

IMG 3897

ดีไซน์ตัวเครื่องของ ASUS BR1100FK จะเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับการเรียนการศึกษาแบบ Convertible สามารถพับบานหน้าจอกลับได้ 360 องศาให้ใช้งานแบบแท็บเล็ตก็ได้ โดยพื้นผิวตัวเครื่องทั้งด้านนอกและในจะเป็นพื้นผิวปุ่มขนาดเล็ก (micro-dimpled) ที่ฝาหลังและด้านใต้ตัวคเรื่องทำให้ตอนจับถือดีขึ้น ขอบมุมเครื่องทั้ง 4 ด้านติดยางกันกระแทกเอาไว้เพื่อป้องกันการตกกระแทกแล้วทำให้ชิ้นส่วนภายในเสียหาย นอกจากนี้ยังผ่านมาตรฐานความแข็งแรง MIL-STD-810H เรื่องการกดทับ, สั่นสะเทือน, กระแทกแล้ว จึงมั่นใจได้เลยว่าโน้ตบุ๊คเครื่องนี้ถึงผู้ใช้จะเป็นเด็กเล็กก็ทนทานไม่เสียง่าย 

และเพราะออกแบบมาเพื่อการศึกษา ASUS จึงฝังกล้อง Webcam เสริมเข้ามาอีกตัวหนึ่งเหนือคีย์บอร์ด เอาไว้ใช้เวลาพับเครื่องเป็นแท็บเล็ตแล้วก็เปิดแอพฯ Camera ของ Windows 10 ขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพเนื้อหาบนกระดานหรือสิ่งที่สนใจได้ทันที และเขียนโน้ตลงไปบนภาพได้ด้วยปากกาสไตลัสที่ติดตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของตัวเครื่องข้างพอร์ต HDMI ได้เลย ส่วนลำโพงของตัวเครื่องจะมีอยู่ 2 ตัวใต้เครื่อง ให้เสียงดังกำลังดี สามารถฟังคลิปเนื้อหาการสอนหรือคนพูดในโปรแกรมประชุมออนไลน์ได้สบาย ๆ 

IMG 3837

นอกจากนี้ถ้าสังเกตที่ฝาหลังของตัวเครื่อง จะเห็นว่า ASUS ย้ายไฟสถานะมาติดเอาไว้ตรงฝาหลังตัวเครื่องฝั่งบนซ้าย โดยข้อดีของการติดเอาไว้ส่วนนี้ จะทำให้อาจารย์สังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นกับโน๊ตบุ๊คของนักเรียนในห้องเรียนได้ง่ายและเร็วขึ้น จะได้เข้ามาดูแลนักเรียนได้ง่าย ไม่ให้ขาดตอนจนตามบทเรียนไม่ทัน

สำหรับสัญญาณผิดปกติที่แสดงบนไฟสถานะบนฝาหลังเครื่องจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ

  1. กะพริบช้า ๆ เมื่อแบตเตอรี่ของตัวเครื่องเหลือน้อยกว่า 20%
  2. กะพริบเร็ว ๆ ถ้าตัวเครื่องไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi หรือ 4G LTE

IMG 3875

ส่วนบานพับอเนกประสงค์ของ ASUS BR1100FK ช่วยให้ตัวเครื่องพับจอกลับได้ 360 องศา จะใช้งานในโหมดโน้ตบุ๊คธรรมดา, กางราบติดพื้นเพื่อแชร์หน้าจอกับเพื่อน, เปลี่ยนเป็นโหมด Tent ตั้งเป็นตัว A หรือวางให้แป้นคีย์บอร์ดเป็นฐานให้ดูคอนเทนต์ได้สะดวก ๆ ก็ได้ นอกจากนี้ยังพับกลับเป็นแท็บเล็ตไว้อ่าน eBook หรือสื่อการเรียนในรูปแบบไฟล์ PDF ก็ได้ ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น

จากการทดลองใช้งานจริง หน้าจอขนาด 11.6 นิ้ว จะใหญ่กว่า iPad Pro เล็กน้อย ถ้าเป็นนักเรียนประถมอาจจะใหญ่อยู่บ้างแล้วต้องจับสองมือ แต่พอเป็นเด็กมัธยมต้นก็อาจจะพอดีมือเลยทีเดียว ซึ่งถ้าใช้ในห้องเรียนที่มีโต๊ะคอยช่วยรับน้ำหนักตัวเครื่องก็จะใช้งานได้สบาย ๆ แต่ถ้าติดใส่กระเป๋าไปทัศนศึกษาหลังจากวิกฤติการณ์ COVID-19 จบแล้ว สำหรับเด็กประถมอาจจะใหญ่อยู่บ้าง แต่น่าจะจับถือได้พอดี ๆ สำหรับเด็กมัธยมต้นอย่างแน่นอน

ส่วนจุดน่าเสียดายที่ถ้าทาง ASUS อัพเกรดให้ใน ASUS BR Series รุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคตคือ ถ้าเพิ่มเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเข้ามา ซึ่งอาจจะติดไว้ตรงขอบข้างเครื่องหรือที่แป้นวางมือตอนพิมพ์ก็ได้ ซึ่งน่าจะช่วยให้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวกและเร็วกว่าการพิมพ์รหัสผ่านอย่างแน่นอน

Keyboard / Touchpad

IMG 3874

ด้านของคีย์บอร์ดและทัชแพดของ ASUS BR11000FK จะเป็นคีย์บอร์ดแบบ Chicklet Keyboard ปุ่ม Full Size ทั่วไปเหมือนแป้นคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊ค ASUS หลาย ๆ รุ่น และไม่มีไฟ LED Backlit ติดตั้งมา ซึ่งถ้าผู้ใช้เป็นนักเรียนในห้องเรียนที่มีแสงไฟตามปกติ ถึงไม่มีไฟที่ปุ่มติดตั้งมาก็ไม่น่ามีปัญหาต่อการใช้งานนัก ส่วนของทัชแพดเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนข้างกว้าง รองรับ Gesture control ของ Windows 10 และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว พอจับคู่กับหน้าจอสัมผัสและปากกาสไตลัสแล้ว ก็ทำงานได้สะดวกโดยไม่ต้องพึ่งเม้าส์ที่แถมมาเลยก็ได้

แต่คีย์บอร์ด, ทัชแพดและที่วางมือนั้นเป็นจุดที่มือและนิ้วของเราสัมผัสบ่อย และอาจจะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคได้ถ้าเราไม่หมั่นทำความสะอาด แต่ทาง ASUS ได้เคลือบ ASUS BacGuard สารป้องกันการสะสมของแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของเชื้อโรคเอาไว้แล้วและผ่านมาตรฐาน ISO 22196 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ 99% และถ้าใครอยากให้สะอาดยิ่งขึ้นจะเอาแอลกอฮอล์ชุบผ้าหรือใช้ทิชชู่เปียกมาเช็ดอีกหน่อยก็ได้

IMG 3861

ส่วนปุ่ม Fn ของ ASUS BR1100FK จัดว่าน่าสนใจ โดยการกด Fn+Esc จะเป็นการสลับไปมาระหว่าง Hotkey Priority Mode เวลากดแล้วจะทำงานตามสัญลักษณ์ Hotkey ที่ตั้งค่าไว้ที่ปุ่มนั้น ๆ หรือ Function Key Priority Mode ที่เป็นปุ่ม F1-F12 ตามปกติ เมื่อกดแล้วตัวเครื่องจะแสดงขึ้นมาบนหน้าจอเหมือนกดปุ่ม Hotkey ต่าง ๆ ตามปกติ

IMG 3865

ส่วนของปุ่ม Hotkey อื่นที่ ASUS BR1100FK ตัวนี้ทำออกมาได้ดีและเอื้อผู้ใช้ที่เป็นนักเรียน คือ การเอาปุ่ม Hotkey สำคัญ ที่นักเรียนน่าจะได้ใช้งานกันบ่อย ๆ มาติดตั้งไว้ที่ปุ่ม F8-F12 โดยคำสั่ง Hotkey ของแต่ละปุ่มได้แก่

  • F8 – เป็นคำสั่ง Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม ว่าจะให้ทำงานอย่างไร
  • F9 – คำสั่ง Lock หน้าจอกลับไปหน้า Log in
  • F10 – สั่งปิดการทำงานของกล้อง Webcam
  • F11 – เรียก Snipping Tool หรือคำสั่งแคปภาพหน้าจอขึ้นมาใช้งาน เหมือนกดปุ่ม Windows+Shift+S
  • F12 – เรียกซอฟท์แวร์ MyASUS ขึ้นมาตั้งค่าตัวเครื่อง

IMG 3904

ส่วนปุ่มลูกศรก็สามารถกดผสมกับปุ่ม Fn เป็นคำสั่งต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งทาง ASUS ได้วางปุ่ม Hot Key ได้เข้ากับปุ่มลูกศรทีเดียว โดยกด Fn+ปุ่มลูกศรขึ้นหรือลงเป็น Page Up, Page Down ถ้ากด Fn+ลูกศรชี้ซ้ายเป็น Home ลูกศรชี้ขวาเป็น End จัดว่าเข้าใจได้ง่ายมาก

Screen / Speaker / Stylus / Webcam

IMG 3844

หน้าจอของ ASUS BR1100FK จะเป็นหน้าจอสัมผัสขนาด 11.6 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD (1366×768 พิกเซล) อัตราส่วน 16:9 ความสว่าง 250nits และรองรับปากกาสไตลัส ทำให้เวลาใช้งานก็ใช้นิ้วแทนเมาส์คลิกเลือกสิ่งต่าง ๆ บนหน้าจอคอมได้เลย และถึงจะใช้เรียนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากได้รับการรับรองจาก TÜV Rheinland แล้ว ว่าหน้าจอนี้ปล่อยแสงสีฟ้าออกมาน้อย ลดอาการสายตาเมื่อยล้าไปได้มาก

IMG 3846

สีสันบนหน้าจอ ASUS เครื่องนี้ถือว่าสวยสดใส และเป็นจอกระจกแบบสะท้อน Glossy ซึ่งอาจมีสะท้อนแสงบ้างเล็กน้อยตามแบบฉบับของหน้าจอกระจก ส่วนขอบบนหน้าจอติดตั้งกล้อง Webcam และสามารถสไลด์เพื่อเปิดปิดได้ตามสะดวกโดยใช้เล็บจิกแล้วเลื่อนตัวเลื่อนได้เลย และถ้ากล้อง Webcam ปิดอยู่ จะกลายเป็นวงกลมสีส้ม

ลำโพง SonicMaster ของตัวเครื่องจะติดตั้งเอาไว้ขอบล่างด้านใต้ตัวเครื่อง 2 ตัว เอาไว้ใช้งานตอนดูคลิปการศึกษาหรือดูหนังฟังเพลงได้ ให้เสียงที่ดังพอควรแต่โทนเสียงตอนฟังเพลงอาจจะไม่ได้โดดเด่นนัก ถ้าเอาไว้ดูหนังทั่ว ๆ ไปก็ไม่มีปัญหา

ไมโครโฟนจะเป็นแบบฝังติดเครื่องมาพร้อมระบบ AI Noise cancelling ช่วยตัดเสียงรบกวนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นเสียงมนุษย์ออกไปเวลาใช้ไมโครโฟนอยู่ ซึ่งตั้งค่าได้ในโปรแกรม MyASUS ช่วยให้ตอนประชุมออนไลน์ผ่านแอพฯ ได้ยินเสียงชัดเจนขึ้นมาก

adobe rgb

สำหรับความแม่นยำและขอบเขตสีบนหน้าจอ ASUS BR1100FK เครื่องนี้ เมื่อทดสอบด้วย Sypder5Elite แล้ว จะได้ขอบเขตสีที่ 67% sRGB และ 51% AdobeRGB ซึ่งเทียบแล้วเท่ากับโน้ตบุ๊คทำงานและเรียนทั่วไป ซึ่งสำหรับโน้ตบุ๊คเพื่อนักเรียน ก็ถือว่าทำได้ดีพอควรแล้ว

ด้านของความสว่างหน้าจอจะอยู่ที่ 197nits ซึ่งความสว่างระดับนี้ และใช้งานในห้องเรียนที่เป็นพื้นในร่ม มีผลรบกวนจากแสงดวงอาทิตย์น้อยก็ถือว่าสว่างกำลังดีพอใช้งาน ส่วนพื้นที่ความสว่างทั้งหน้าจอเมื่อแบ่งเป็น 9 ช่องแล้ว จะเห็นว่าพื้นที่ส่วนกลางและบนของหน้าจอจะสว่างทีเดียว โดยตรงกลางหน้าจอจะสว่างที่สุดโดยแสดงผลเป็น 0% ส่วนอื่น ๆ ของหน้าจอจะอยู่ที่ 3-9% ด้วยกัน ส่วนขอบล่างของหน้าจอ 3 โซนจะค่อนข้างมืดที่ 15-16% แต่ถ้าใช้เรียนทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เอาไปแต่งภาพ ก็ถือว่าไม่มีปัญหามาก ส่วนผลคะแนนโดยรวมของหน้าจอ จะเฉลี่ยที่ 4 คะแนนด้วยกัน

IMG 3876

ด้านของสไตลัสจะติดอยู่ตรงขอบฝั่งซ้ายมือของตัวเครื่องถัดจากพอร์ต HDMI เมื่อต้องการใช้งานก็สามารถชักออกมาเขียนจดโน้ตบนหน้าจอได้ เวลาไม่ใช้งานก็เสียบเก็บได้เช่นกัน ตัวปากการองรับการลงน้ำหนักได้หลายระดับ ทำให้เส้นปากกามีความหนาบางด้วย

IMG 3888

สำหรับคุณภาพของกล้อง Webcam เมื่อทดสอบกับแอพฯ Camera ที่ติดตั้งมากับระบบปฏิบัติการ Windows 10 แล้ว ตัวกล้องทั้งสองตัวจะมีคาร์แรคเตอร์แตกต่างกันพอควรดังนี้

  • กล้อง Webcam โดยรวมของภาพจะค่อนข้างมืด แต่ถ้าเปิดกล้องเรียนออนไลน์ ถือว่าไม่มีปัญหา ถ้าเห็นว่าทั้งภาพดูมืดเกินไป อาจจะเปิดไฟในห้องให้สว่างขึ้นอีกหน่อยจะช่วยได้มาก
  • กล้องเสริมเหนือคีย์บอร์ด ค่อนข้างสว่างเมื่อถ่ายในสภาพแสงเดียวกัน ถ้าพับมาเป็นโหมดแท็บเล็ตแล้วสามารถกดสลับกล้องของแอพฯ Camera มาใช้งานได้เลย แต่มีจุดสังเกตอยู่ คือเมื่อกดถ่ายภาพแล้ว แอพฯ Camera จะนิ่งค้างอยู่ราว 1-2 วินาทีก่อนจะบันทึกภาพ

ซึ่งกล้องเหนือแป้นคีย์บอร์ดเอาไว้ใช้ถ่ายภาพในโหมดแท็บเล็ตนั้น จัดว่าช่วยเพิ่มความสะดวกเวลานักเรียนต้องการจดเลคเชอร์แบบเร่งด่วน ก็พับเป็นแท็บเล็ตแล้วกดถ่ายภาพแล้วโน้ตด้วยสไตลัสได้ ทำให้การจดเนื้อหาบทเรียนทำได้เร็วยิ่งขึ้น แล้วจะมาคัดลอกลงสมุดโน้ตของตัวเองให้สวยงามน่าอ่านและเติมความเข้าใจของตัวเองเข้าไปอีกนิดก็ดีเช่นกัน

Connector / Thin And Weight

พอร์ตของ ASUS BR110FK จะติดตั้งอยู่ที่ขอบตัวเครื่องสองฝั่งเท่านั้น โดยฝั่งซ้ายไล่จากซ้ายมือจะมีพอร์ต Kensington Lock สำหรับใส่กุญแจล็อคเครื่องป้องกันโดนขโมย, ช่องเสียบปลั๊ก DC-in, พอร์ต USB 3.2 Gen 2 Type-C รองรับการชาร์จแบบ Power Delivery ถ้าปลั๊กจ่ายกระแสได้ 45 วัตต์ขึ้นไป, USB 3.2 Gen 1 Type-A, HDMI 1.4 และช่องเสียบปากกาสไตลัสประจำเครื่อง

ด้านขวามือไล่จากซ้ายจะเป็นปุ่มปรับเพิ่มลดเสียง, ปุ่ม Power สำหรับเปิดเครื่อง, ช่องหูฟัง 3.5 มม. Combo Audio Jack, USB 2.0 สำหรับต่อตัว USB Wireless สำหรับเมาส์, RJ45 LAN ส่วนช่องตรงกลางระหว่างช่องหูฟังกับ USB 2.0 จะเป็นช่อง Micro SD Card Reader ใช้ร่วมกับช่องใส่ SIM ได้ แต่รุ่นที่ได้รับมาทดสอบจะไม่รองรับ 4G LTE จึงไม่สามารถถอดออกมาใส่ซิมได้

IMG 3838

ส่วนน้ำหนักตัวเครื่อง เมื่อชั่งแล้วหนัก 1.37 กิโลกรัมเท่านั้น ถือว่าไม่หนักไม่เบาเกินไป เมื่อรวมกับปลั๊กและเมาส์ที่แถมมาในกล่องแล้ว จะหนักเพียง 1.71 กิโลกรัม ส่วนอะแดปเตอร์ของเครื่องเป็นแบบ 19V 2.37A จ่ายกระแสได้ 45 วัตต์ เฉพาะปลั๊กอย่างเดียวเบาเพียง 238 กรัม ซึ่งเทียบกับข้าวของใช้ใกล้ตัวก็หนักราวสมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่ ราว 6.5-6.9 นิ้ว เครื่องหนึ่ง จึงพกใส่กระเป๋านักเรียนไปใช้ในห้องเรียนได้สบาย ๆ ไม่หนักเกินไปอย่างแน่นอน

กลับกัน แทนที่จะพกปลั๊กของ ASUS BR1100FK ไป ก็เปลี่ยนไปใช้ปลั๊กแบบ GaN 65 วัตต์ สักตัวที่มีหัวเสียบสาย USB 2-3 ช่อง คู่กับสาย USB-C ให้ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องได้ แล้วมีหัวปลั๊กเผื่อสำหรับชาร์จมือถือเพิ่มด้วย ซึ่งการที่ ASUS ติดตั้ง USB-C ที่รองรับ Power Delivery มาให้ ทำให้ช่วยลดน้ำหนักข้าวของใช้ในกระเป๋าลงไปได้เยอะมาก ทำให้ของในกระเป๋านักเรียนไม่หนักเกินไปด้วย

ASUS BR1100FK เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วยการ์ด Intel AX201NGW เป็น Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax 2*2 Dual Band และ Bluetooth 5.0 ซึ่งจากการทดสอบใช้งาน สามารถเชื่อมต่อคลื่น Wi-Fi 5GHz แล้วรับส่งข้อมูล, เปิดเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วไม่มีปัญหา รวมทั้งเสถียรอีกด้วย ดังนั้นเวลาเรียนออนไลน์หรือเปิดเว็บไซต์หาข้อมูลทำการบ้าน ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

Inside / Upgrade

IMG 3884

 

การแกะและอัพเกรดตัว ASUS BR1100FK จะแตกต่างจากโน๊ตบุ๊คทั่วไปในท้องตลาดพอสมควร เนื่องจาก ASUS ออกแบบให้แพ็คเกจตัวเครื่องแน่นหนา ป้องกันเด็กนักเรียนแกะเครื่องเล่นเองแล้วเสียหาย จึงต้องแยกการแกะออกเป็นสองขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการขันน็อตหัวแฉกด้านใต้ตัวเครื่อง 9 จุดเสียก่อน โดย 2 จุดสุดท้ายจะถูกสติกเกอร์ปิดทับเอาไว้ ดังนั้นให้เราเอาเล็บแกะสติกเกอร์ก่อนแล้วค่อยขันออก เมื่อขันจนสุดแล้วตัวน็อตจะแค่คลายเกลียวแต่จะไม่หล่นออกจากเบ้าน็อต นั่นเพราะ ASUS ใส่ตัวหัวสลักล็อคน็อตเอาไว้ด้านในเครื่องนั่นเอง

จากนั้นเวลาเปิดฝาเครื่องมาอัพเกรด จะต้องพลิกเครื่องกลับขึ้นมาด้านบน แล้วใช้ปิ๊กกีตาร์หรือการ์ดแข็งกดลงไปที่ช่องระหว่างคีย์บอร์ดและขอบตัวเครื่องแล้วไล่จนสุดทั้ง 4 ฝั่ง เพื่อให้เขี้ยวขอบเครื่องที่ล็อคแป้นคีย์บอร์ดอยู่ยกตัวขึ้น ถึงจะยกแป้นคีย์บอร์ดออกแล้วเริ่มอัพเกรดตัวเครื่องได้

IMG 3887

จะเห็นว่าโครงสร้างภายในจะเป็นแบบแยกชิ้นส่วนได้ สามารถถอดอุปกรณ์ตัวเครื่องส่วนต่าง ๆ แยกออกจากกันได้ด้วยไขควงแฉกตัวเดียว ทว่าผู้เขียนขอแนะนำว่าก่อนจะเริ่มอัพเกรด ขอให้ถอดสายแพของแป้นคีย์บอร์ดทัชแพดที่ต่อจากเมนบอร์ด (ฝั่งซ้ายมือของภาพ) ออกให้เรียบร้อยก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำสายแพขาด ซึ่งส่วนนี้ถ้าคนไหนฝีมือยังไม่แม่นพอ อาจจะเอาไปให้ทางศูนย์ ASUS อัพเกรดให้ก็ได้

ส่วนการอัพเกรด สามารถเพิ่มแรมได้สูงสุด 16GB DDR4 และ SSD แบบ M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ได้อีก 1 ช่อง รองรับความจุสูงสุด 1TB ช่วยให้เซฟรายงานและไฟล์หนังสือเรียนเอาไว้ในเครื่องได้เยอะขึ้นมาก 

Performance / Software

ด้านซีพียูของ ASUS BR1100FK ตัวนี้ จะติดตั้ง Intel Pentium Silver N6000 แบบ 4 คอร์ 4 เธรด ความเร็ว 1.1-3.3 GHz สถาปัตยกรรม Jasper Lake เทคโนโลยี 10 นาโนเมตร จับคู่กับแรมออนบอร์ด 4GB และอัพเกรดเพิ่มได้อีก 1 ช่อง รองรับความจุสูงสุด 16GB 

ส่วนการ์ดจอเป็น Intel UHD Graphics ของตัวซีพียูเอง รองรับการแสดงผลกราฟฟิคทั่วไป รวมทั้งการเข้ารหัสไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งสำหรับโน๊ตบุ๊คสำหรับนักเรียนแล้ว ถือว่าการ์ดจอนี้เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว

และจากการทดลองใช้งานเข้าเว็บไซต์, ดูหนังฟังเพลงแล้ว นับว่า Intel Pentium Silver N6000 มีประสิทธิภาพการทำงาน เปิดโปรแกรมทำงานเอกสารต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าหลาย ๆ คนคิดว่าซีพียูแค่ระดับ Pentium แล้วจะทำงานได้เร็วหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าทำงานไหลลื่นต่อนเื่องอย่างแน่นอน ให้นักเรียนนักศึกษานำมาใช้ได้ไม่มีปัญหา

as ssd

​ด้านของฮาร์ดดิสก์จะเป็น eMMC รหัส Generic G1J39E ที่เมื่อทดสอบความเร็วอ่านเขียนด้วย AS SSD แล้ว ได้ความเร็ว Sequential Read 286.83MB/s และ Sequential Write 183.05MB/s จัดว่าเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์ทั่วไปอยู่พอสมควร แม้จะยังไม่เท่า SATA III SSD ที่ทำได้ราว 450-550MB/s แต่ก็ไม่อืดเหมือนฮาร์ดดิสก์จานหมุน 5400RPM อย่างแน่นอน รวมทั้งยังอัพเกรดเพิ่ม SSD แบบ M.2 NVMe ได้อีก 1TB ด้วย

pcmark10 e1622541243398

ด้านของโปรแกรม PCMark 10 ที่ใช้ทดสอบว่าตัวเครื่องสามารถทำงานกับโปรแกรมเอกสาร, ประชุมออนไลน์และการเปิดเว็บไซต์ต่าง ๆ ทำคะแนนไป 2,288 คะแนนด้วยกัน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับทั่วไปของโน๊ตบุ๊คสำหรับการเรียนและใช้งานทั่ว ๆ ไป

สำหรับผลทดสอบตัวเครื่องด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 ที่วัดการทำงานกราฟฟิคและการประมวลผลของซีพียูแล้ว จะได้คะแนน OpenGL 19.70 fps และ CPU 223 cb ซึ่งถ้าใช้เครื่องนี้กับโปรแกรมแต่งหรือวาดภาพทั่ว ๆ ไป เช่น Paint 3D หรือโปรแกรมใกล้เคียงกันได้อย่างแน่นอน ส่น CINEBENCH R20 ที่ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูอย่างเดียว ได้คะแนน CPU 587 pts ซึ่งสามารถใช้ซีพียูรุ่นนี้ทำงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีแน่นอน

1

ด้านของโปรแกรมติดเครื่องอย่าง MyASUS นั้น จะเปิดด้วยการกดไอคอนที่ Taskbar หรือกด Hotkey F12 แทนก็ได้เหมือนกัน ซึ่งผู้ใช้โน๊ตบุ๊ค ASUS บางคนน่าจะเคยใช้โปรแกรมนี้มาก่อนอย่างแน่นอน โดยแยกเป็นหน้า Home ที่รวมการตั้งค่าตัวเครื่องทั่วไป อย่างเช่นการตั้งโหมดการใช้พลังงานของแบตเตอรี่, โหมด AI Noise cancelling หรือแม้แต่การตั้ง Priority ของ Wi-Fi ก็ปรับแต่งได้ตรงนี้

2

ถัดมาเป็น Link to MyASUS ซึ่งถ้าใครลงทะเบียนกับ ASUS เอาไว้ ก็สามารถเปิดใช้งานในส่วนนี้ได้ด้วย

อันที่ 3 จะเป็นส่วนการตั้งค่า หรือหน้า Customization ที่ตั้งค่าทั้งหมดของตัวเครื่องได้ ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi, โหมดการใช้พลังงานแบตเตอรี่ของ ASUS BR1100FK, AI Noise cancelling ฯลฯ สามารถเปิดมาตั้งค่าที่หน้าต่างนี้ได้เลย

4

ถ้าตัวเครื่องมีปัญหา ไม่รู้จะแก้ให้ดีเหมือนเดิมได้ยังไง ก็มีตัวเลือก Customer Support ให้กดเลือกในหัวข้อที่ 5 ได้ มีทั้งการเช็คปัญหาของตัวเครื่อง (Hardware diagnostic) หรือจะเช็คอัพเดทไดรเวอร์เวอร์ชั่นใหม่ ๆ ที่หน้านี้ก็ได้ เพียงคลิกแล้วปล่อยเอาไว้ให้เครื่องจัดการตัวเองได้เลย

Battery / Heat / Noise

IMG 3889small

แบตเตอรี่ของ ASUS BR1100FK ตามหน้าสเปคที่ ASUS เผยไว้ที่หน้าเว็บแล้ว จะเป็นแบตเตอรี่ Li-ion (ลิเธียมไอออน) แบบ 3-cell กำลังไฟ 42Whr ซึ่งทางบริษัทเคลมประสิทธิภาพเอาไว้ว่าสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานสุดร่วม 10 ชั่วโมง

ซึ่งถ้าใช้งานตามปกติแล้วใช้ได้ยาว 10 ชั่วโมงจริง เท่ากับว่าถ้าพกไปใช้ในห้องเรียนก็ไม่ต้องมีปลั๊กไปก็ใช้เรียนได้จนจบวันอย่างได้ แต่ถ้าไปเรียนพิเศษต่อก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะใช้ปลั๊กที่มีกำลังชาร์จเกิน 45 วัตต์ กับสาย USB-C ต่อเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้ใช้งานต่อได้ 

battmon

ในการทดสอบระยะเวลา เปิดความสว่างหน้าจอกับเสียงลำโพง 50% แล้วใช้ Microsoft Edge ทดลองเปิดคลิป YouTube และเปิดเว็บไซต์ต่าง ๆ ดูเป็นเวลา 30 นาที ได้ผลว่า ASUS BR1100FK สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ราว 8.5-9 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับที่ ASUS เคลมเอาไว้ตอนแรก ส่วนถ้านักเรียนคนไหนต้องใช้เครื่องนี้ทำงานนานกว่านั้น อาจจะเตรียมปลั๊กเผื่อเอาไว้สักหน่อยก็ช่วยได้มากแล้ว

ด้านของเสียงรบกวนและความร้อนถือว่าน้อยมากจนแทบไม่มีเลย เนื่องจากตัว Intel Pentium Silver N6000 ไม่ค่อยสร้างความร้อนออกมารบกวนตอนใช้งานจริง มากสุดคือถ้าใช้งานต่อเนื่องมาหลายชั่วโมงแล้วอาจจะเริ่มอุ่นเท่านั้น ดังนั้นตัดปัญหาทั้งสองส่วนนี้ได้เลย

Conclusion / Award

IMG 3921

ASUS BR1100FK ถ้าโจทย์และกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นเป้าหมายของเครื่องนี้ คือนักเรียนที่เอาไปใช้ทำการบ้านและเรียนหนังสือ ก็ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊ครุ่นที่ดีและทำหน้าที่เป็นแท็บเล็ตได้กลาย ๆ ด้วยขนาดที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง iPad Pro 11″ – 12.9″ และมีสไตลัสเอาไว้พร้อมใช้งานด้วย จึงใช้จดโน้ตต่าง ๆ ได้รวดเร็วไม่ต่างกับแท็บเล็ตเครื่องหนึ่งเลย

นอกจากนี้ ตัวเครื่องยังออกแบบมาแข็งแรงมาก ใช้พื้นผิวแบบปุ่มขนาดเล็ก (micro-dimpled) ทำให้จับกระชับมือและเสริมยางกันกระแทกรอบตัว รวมทั้งผ่านมาตรฐานการทดสอบความแข็งแรง MIL-STD-810H แล้ว ดังนั้นผู้ใช้ที่เป็นนักเรียนชั้นประถม-มัธยมที่บางครั้งอาจจะไม่ได้ระวังเครื่องมากนัก จะทำเครื่องตกก็ไม่มีปัญหา ไม่เสียหายง่าย ๆ อย่างแน่นอน รวมทั้งเคลือบสาร ASUS BacGuard เอาไว้ป้องกันแบคทีเรียอีกด้วย

IMG 3918

ข้อดีต่อมาอย่างการดีไซน์นั้น นอกจากใช้เป็นโน้ตบุ๊คแล้วก็พับเป็นแท็บเล็ตได้ ถ่ายเลคเชอร์ด้วยกล้องเหนือคีย์บอร์ด เพื่อบันทึกเล็คเชอร์ของอาจารย์มาเก็บเอาไว้เขียนเติมความเข้าใจของเราเองได้สบาย ๆ ไม่ต่างกับแท็บเล็ต Android หลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน ซึ่งคนที่ซื้อ ASUS BR1100FK เครื่องนี้ไปใช้ ก็ตัดรายการซื้อแท็บเล็ตออกไป ลดความซ้ำซ้อนไปได้เลย

นอกจากนี้ ข้อดีคือเราสามารถอัพเกรด RAM, SSD ได้ เพียงแค่ไขน็อตและแกะส่วนแป้นคีย์บอร์ดออกด้วยการใช้การ์ดหรือปิ๊กกีตาร์ก็ได้ แต่ต้องมีความสามารถและระมัดระวังสักหน่อย เนื่องจากคีย์บอร์ดกับเมนบอร์ดเชื่อมกันด้วยสายแพคีย์บอร์ดและทัชแพดทั้งหมดสองเส้น ถ้าฝืนดึงออกมาฉุกละหุกก็จะเสียหายได้

สุดท้ายถ้าโจทย์ของ ASUS เครื่องนี้ คือโน้ตบุ๊คสำหรับใช้เรียนและทำการบ้านของนักเรียนล่ะก็ ถือเป็นรุ่นที่ตอบโจทย์ทั้งฟีเจอร์และประสิทธิภาพสำหรับใช้ในห้องเรียนได้สบาย ๆ ยิ่งปัจจุบันนี้ที่ครูอาจารย์หลาย ๆ คนเปลี่ยนจากชีทที่เป็นกระดาษมาเป็นไฟล์ PDF แล้ว ASUS BR1100FK เครื่องนี้ที่พับเป็นแท็บเล็ตได้ด้วยก็ยิ่งน่าใช้ขึ้นมาอีกหลายเท่า

Award

Best Durability

award new Durability

รางวัล Best Durability เรียกว่าเป็นรางวัลอันแรกที่เหมาะสมกับ ASUS BR1100FK เครื่องนี้ที่สุด เนื่องจากงานประกอบที่แน่นหนามาก และออกแบบเผื่อว่าเดินชนเครื่องตกโต๊ะกระแทกพื้นก็ยังใช้งานได้ ภายนอกไม่เสียหายชิ้นส่วนภายในเครื่องไม่ได้รับผลกระทบอะไร เหมาะกับนักเรียนวัยซนที่อาจจะไม่ทันระวังของใช้รอบตัวเท่าที่ควร ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเครื่องตกเสียหายเลย

Best Design

award new Design

ด้านการออกแบบที่ได้รับรางวัลนั้นไม่ใช่เชิงความสวยงาม แต่เป็นการออกแบบที่มีเหตุผลของการออกแบบและใช้งานได้จริง ทั้งพื้นผิวแบบปุ่มขนาดเล็ก (micro-dimpled), ไฟแสดงสถานะที่ติดตั้งเอาไว้บนฝาหลังเพื่อฟ้องปัญหาตัวเครื่องให้ครูผู้สอนเข้ามาดูแลเด็ก ๆ ได้ทันท่วงที, มีกล้อง Webcam ติดตั้งไว้เหนือแป้นคีย์บอร์ดเพื่อใช้ถ่ายภาพตอนพับมาเป็นโหมดแท็บเล็ต ถือเป็นการดีไซน์ที่โดดเด่นในแง่การใช้งานได้จริง จึงเหมาะกับรางวัลนี้เป็นอย่างมาก

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

ปัจจุบัน โน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นดีไซน์บางเบามักจะมาพร้อมจุดเด่นคือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นประหยัดพลังงาน และอาจมีหน้าจอขนาดเล็กลงมาหน่อย เพื่อให้มีอัตราการกินไฟที่ลดลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปสมรรถนะสูง แต่ก็มีค่า TDP ที่ทำได้ต่ำกว่าชิปรุ่นก่อน ทำให้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในบทความนี้เราจะมาลองว่าใน 1 วัน ผมจะสามารถใช้งาน ASUS...

COMMART

รวมโปรคอมมาร์ท Commart TechXPro ครบเครื่องก่อนเข้างาน เช็คก่อนช็อปคุ้มกว่าเดิม!! ก่อนจะไปช็อปในงานขายสินค้าไอทีครั้งใหญ่สุดประจำปีอย่างงาน Commart TechXPro หลายคนก็มองหาหน้ารวมโปรคอมมาร์ทเก็บข้อมูลก่อนไปงานว่าสินค้าที่ต้องการขายอยู่บูธไหนซื้ออย่างไรถึงจะคุ้มก่อนไปงานเสมอ ซึ่งทางผู้จัดงานจะรวบรวมข้อมูลเอาไว้ให้บนหน้า Facebook กับเว็บไซต์ Commart เป็นประจำ ซึ่งปีนี้ก็ยังจัดงาน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เช่นเดิม สามารถเดินทางได้หลายวิธีไม่ว่าจะขับรถมา, นั่งรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ก็ได้จึงมาร่วมงานได้สะดวกมาก รวมโปรคอมมาร์ทและข้อดีของการไปงาน Commart TechXPro...

PROMOTION

กรุงเทพฯ, 27 พฤศจิกายน 2567 -เอซุส (ประเทศไทย) และ รีพับลิก ออฟ เกมเมอร์ส (ROG) ส่งโปรโมชันพิเศษส่งท้ายปี ชวนคุณร่วมสัมผัสนวัตกรรมโน้ตบุ๊ก AI จาก ASUS พร้อมรับส่วนลดอัดแน่น สูงสุดกว่า 10,000 บาทในงาน “COMMART TechXPro” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค...

Special Story

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก