ปัจจุบันถ้าคุณเลือกซีพียูแรงๆ ก็อาจจะต้องมองหา Cooling หรือฮีตซิงค์ ที่เป็นพัดลมหรือชุดน้ำดีๆ มาใช้ร่วมกัน เพราะซีพียูตัวแรง หรือตัวท็อปหลายรุ่น ก็ไม่ได้ให้ชุดระบายความร้อนมาให้ เพื่อเปิดโอกาสให้คุณได้เลือกหาในแบบที่คุณต้องการมาใช้ เพื่อตอบโจทย์ของคุณได้มากกว่า แต่การจะเลือกหามาใช้ ก็จะต้องมีรายละเอียดพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นขนาด พัดลม การติดตั้ง ความสวยงาม ไปจนถึงต้องดูว่า สามารถรองรับซีพียูที่มีค่า TDP สูงๆ ในโหมดที่เป็นการทำงานแบบ Full-load ได้ดีอีกด้วย ซึ่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณให้ความสำคัญในสิ่งใดมากที่สุด แต่ถ้าคุณยังไม่มีฮีตซิงค์ในใจ วันนี้เรามีทางเลือกมานำเสนอ
DEEPCOOL GAMMAXX 400 XT ฮีตซิงค์ในสไตล์ทาวเวอร์ ไซส์กลางๆ ที่ระบายความร้อนให้กับซีพียูทั้ง Intel LGA1200 และ AMD AM4 รุ่นใหม่ ด้วยครีบระบายความร้อนจำนวนมาก เชื่อมต่อกับฮีตไปป์ทองแดงจำนวน 3 เส้น และฐาน Cooling ที่เป็นหน้าสัมผัสจากฮีตไปป์พาดผ่านไปยังซีพียูโดยตรง ทำให้มีการถ่ายเทความร้อนได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่มีจุดเด่นที่พัดลมขนาดใหญ่ 120mm x 120mm ที่ให้ความเร็วรอบได้ถึง 1,500rpm และออกแบบใบพัดลมมาเป็นพิเศษ ซึ่งให้ปริมาณลมที่พัดผ่านครีบระบายความร้อนได้ดี แต่เสียงรบกวนน้อย พร้อมสีสันจากไฟ LED 6 สี ตัดกับสีขาวและสีดำของพัดลม ช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับคนที่อยากจะตกแต่งภายในเคสให้สวย ในงบที่ไม่มากเกินไปนัก ฮีตซิงค์จาก DEEPCOOL นี้ ไม่ได้มีดีแค่เรื่องการออกแบบและสีสันเท่านั้น แต่ประสิทธิภาพในการระบายความร้อน ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าสนใจ ส่วนผลการทดสอบจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ชมกันได้เลยครับ
Cooling-DEEPCOOL GAMMAXX 400 XT
จุดเด่น
- ติดตั้งง่าย ไม่ซับซ้อน
- มีพัดลม พร้อมแสงไฟ LED เพิ่มความสวยงาม
- ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
- เปลี่ยนพัดลมอื่นมาติดตั้งได้
ข้อสังเกต
- แสงไฟ LED 6 สี ปรับเปลี่ยนไม่ได้
- ต้องถอดพัดลมก่อนติดตั้งฮีตซิงค์ลงเมนบอร์ด
Specification
- ขนาดฮีตซิงค์: 127×50×155 mm
- น้ำหนักรวม: 723 g
- ฮีตไปป์: Ø6 mm×4 pcs
- ขนาดพัดลม: 120×120×25 mm
- ความเร็วรอบพัดลม: 500~1500 RPM±10%
- ปริมาณลม: 56.5 CFM
- แรงดันลม: 1.66 mmAq
- เสียงพัดลม: ≤27 dB(A)
- คอนเน็คเตอร์: 4-pin PWM
- Bearing Type: Hydro Bearing
- แรงดันไฟพัดลม: 12 VDC
- กระแสไฟพัดลม: 0.22 A
- การใช้พลังงานของพัดลม: 2.64 W
- รูปแบบแสงไฟ: LED
การออกแบบ
อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง ค่อนข้างกระทัดรัดเลยทีเดียว ประกอบด้วย ฮีตซิงค์พร้อมพัดลม ขาล็อค Intel ที่รองรับซ็อกเก็ต LGA1200 และ LGA15xx รวมถึง AMD AM4 พร้อมแผ่นพับคู่มือ ช่วยในการติดตั้ง
ภายในกล่องที่มีสีสันสดใส ก็มีชิ้นส่วนสำหรับการติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็น ฐานติดหลังเมนบอร์ด เพื่อยึดขาฮีตซิงค์ ขาล็อค Intel ทางซ้ายมือ และตัวล็อคสำหรับ AMD ขวามือ
ตัวฮีตซิงค์ DEEPCOOL GAMMAXX 400 XT มีให้เลือกทั้งรุ่น X400 WH ที่เป็นพัดลมสีขาว และ X400 XT พัดลมสีดำ แต่ที่เหมือนกันคือ พัดลมจะมาพร้อมแสงไฟสวยงามเช่นกัน
ด้านหลังของตัวฮีตซิงค์ มาพร้อมครีบระบายที่เป็นอะลูมิเนียมจำนวนมาก ความสูงของตัวฮีตซิงก์อยู่ที่ประมาณ 15cm
Cooling รุ่นนี้ มาพร้อมฐานอะลูมิเนียม และมีฮีตไปป์ทองแดง เส้นผ่าศูนย์กลาง 6mm จำนวน 4 เส้น พาดผ่านด้านใต้ ซึ่งจะสัมผัสกับซีพียูโดยตรง เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
ด้านใต้ฮีตซิงค์ในจุดที่เป็นหน้าสัมผัส จะแปะสติกเกอร์ ซึ่งแจ้งเอาไว้ว่า ให้แกะออกก่อนจะติดตั้งลงบนซีพียู เมื่อแกะออกมาก็จะเห็นท่อทองแดงที่เป็นฮีตไปป์ 4 เส้น ซึ่งอาจจะไม่เงาเรียบมากนัก แต่ก็สามารถนำไปปัดเงาได้ในภายหลัง
พัดลมระบายความร้อน
พัดลมที่มีมาในชุดฮีตซิงค์นี้ เป็นพัดลมสีขาวขนาด 120mm x 120mm ความหนามาตรฐาน 25mm ให้ความเร็วรอบที่ 500~1500 RPM±10% ออกแบบใบพัดลมมาเป็นพิเศษ เพื่อลดเสียงรบกวน ที่น่าสนใจคือให้ปริมาณลมได้ถึง 56.5 CFM เลยทีเดียว
หัวต่อไฟเลี้ยงแบบ 4-pins ต่อเข้ากับคอนเน็กเตอร์ CPU_Fan บนเมนบอร์ด สามารถมอนิเตอร์ และปรับรอบพัดลมได้บนระบบ หรือซอฟต์แวร์
ตัวล็อคพัดลมเป็นแบบคล้องเข้ากับตัวฮีตซิงค์โดยตรง ซึ่งค่อนข้างแน่นหนาเลยทีเดียว ซึ่งถ้าจะติดตั้งฮีตซิงก์ลงบนเมนบอร์ด ก็ต้องแกะออกก่อน เพื่อให้ไขน็อตยึดฐานได้ง่ายขึ้น
การประกอบติดตั้ง
ต้องถือว่าเป็นจุดเด่นของฮีตซิงค์รุ่นนี้ และหลายค่ายก็ใช้วิธีการใกล้เคียงกัน เพราะแค่นำตัวล็อคมาติดตั้งเข้ากับฐาน ทั้งสองข้าง และไขน็อตเพียงด้านละตัวเท่านั้น ซึ่งก็ดูแน่นหนาดี
เมื่อไขเสร็จแล้ว ก็จะออกมาตามภาพนี้ ซึ่งขาล็อคทั้งหมดก็เพียงวางลงในช่อง
นำ Bracket ชิ้นนี้ไปแปะไว้ที่ด้านหลังของเมนบอร์ด ซึ่งจะใช้เป็นตัวล็อคฮีตซิงค์
เมื่อติดตั้งขาล็อคของตัวล็อคพัดลมซ็อกเก็ต LGA1200 ให้ทาซิลิโคนบนซีพียูให้ทั่ว แนะนำว่าปาดและเกลี่ยให้เรียบ เพื่อการถ่ายเทความร้อนที่ดีขึ้น
จากนั้นก็วางขาล็อคในแต่ละด้านลงไป ไขน็อตยึดทั้ง 4 ตัว เป็นแนวทะแยง เพื่อให้ติดตั้งได้ง่ายขึ้น
ภาพจากมุมด้านบนทั้ง 2 ด้าน จะเห็นได้ว่าฮีตซิงก์จะวางขวาง ในตำแหน่งเดียวกับที่ทิศทางลมเข้าจากด้านหน้า ผ่านไปยังพัดลมเป่าออกด้านหลัง
หลังจากที่ติดตั้งฮีตซิงค์ลงไปแล้ว ก็ให้ติดพัดลมกลับเข้าไปที่ซิงก์ โดยหันด้านที่เป่าเข้าฮีตซิงก์ เพื่อให้ลมผ่านครีบระบายความร้อนและฮีตไปป์
เมื่อติดตั้งพัดลม สำหรับพร้อมใช้งานแล้ว จะเห็นได้ว่าค่อนข้างจะยื่นไปใกล้กับสล็อตแรมแถวแรกเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ต้องกังวลมาก หากคุณใช้แรมที่มีความสูง อาจจะขยับพัดลมให้สูงขึ้นได้ เพื่อจะไม่ต้องไปเบียดกัน กรณีที่ต้องติดตั้งแรมแถวแรก หรือเลือกจะขยับแรมไปแถว 2 ก็ได้เช่นกัน
หลังจากที่ติดตั้งเสร็จสิ้นในรุ่น X400 WH ค่อนข้างโดดเด่นในเคสเลยทีเดียว ด้วยสีขาวที่ตัดกับสีดำของอุปกรณ์รอบข้าง และรูปด้านล่าง จะเห็นได้ว่า ความสูง 15cm ยังไม่เลยขอบตัวเคสระดับ Medium Tower สามารถปิดฝาข้างที่เป็นกระจกเทมเปอร์ได้สบาย
และเมื่อเปิดใช้งาน พัดลมแสงไฟ LED ก็จะเริ่มทำงาน ซึ่งจะเป็นแสงไฟแบบตายตัว 6 สีเท่านั้น ไม่สามารถปรับแต่งได้ แต่ก็ทำให้ตัวเคสดูมีสีสันไม่น่าเบื่อ เมื่อเปิดใช้งานกับแรมอย่าง HyperX FURY RGB ก็ดูเข้ากันได้ดีทีเดียว
ประสิทธิภาพการระบายความร้อน
หลังจากที่ติดตั้งฮีตซิงค์และให้เห็นเรื่องของแสงไฟ LED กันเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาทำการทดสอบ โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบดังนี้
- ซีพียู Intel Core i5-10600K 8 core/ 16 thread
- เมนบอร์ด MSI B550 TOMAHAWK
- แรม HyperX FURY RGB 16GB
- การ์ดจอ MSI GTX 1660 SUPER VENTUS XS
- DEEPCOOL 850W
ในการทดสอบ Cooling จาก DEEPCOOL ครั้งนี้ ในห้องปรับอากาศอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส โดยแบ่งการทดสอบออกเป็น การทดสอบโหมด idle เช็คอุณหภูมิขณะที่อยู่ในระบบปฏิบัติการ Windows 10 หลังจากเปิดเครื่องไว้ประมาณ 10 นาที อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 32 องศาเซลเซียส และขยับไปที่ 45 องศาเซลเซียส เมื่อเริ่มเปิดโปรแกรมบางตัว ส่วนเมื่อเริ่มเปิดเกม จะอยู่ที่ราว 54 องศาเซลเซียส
และในการทดสอบแบบ Full load ด้วยการทดสอบบนโปรแกรม OCCT ซึ่งจะเป็นการเร่งให้ซีพียูทำงานแบบ 100% ในทุกคอร์ อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 67 องศาเซลเซียส มีไปแตะที่ 75 องศาเซลเซียส นิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งนับว่าฮีตซิงค์รุ่นนี้ ให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนได้ดีทีเดียว
มาดูผลทดสอบกับการเล่นเกม Death Stranding กันบ้าง โดยเกมนี้เรียกการทำงานของซีพียูไปประมาณ 50-60% ซึ่งตัวเลขอุณหภูมิในการทำงานอยู่ที่ราว 55-59 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ถือว่าฮีตซิงก์รุ่นนี้ ยังเอาอยู่ กับการเล่นเกมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
มาดูการทดสอบ Cooling ที่โหดขึ้นมาอีกหน่อย นั่นคือการจำลองเรนเดอร์กราฟิก 3 มิติ ด้วยโปรแกรม CINEBench R20 ซึ่งก็ตามคาด เพราะมีการเรียกใช้ซีพียูในทุกคอร์ เธรดอย่างเต็มที่ ทำให้อุณหภูมิขยับสูงไปแตะที่ 78-79 องศาเซลเซียส แต่ก็ไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะลดระดับลงมาที่ 70 กว่าองศาเซลเซียส ได้ในเวลาไม่นาน
Conclusion
ในการทดสอบฮีตซิงค์ DEEPCOOL GAMMAXX 400 ทั้ง 2 รุ่น ไม่ว่าจะเป็น WH หรือ XT ก็ตาม จุดที่น่าสนใจและดูจะเหมาะกับผู้ใช้ก็คือ เรื่องของการติดตั้งที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และไม่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนมากมาย มือใหม่ก็เริ่มต้นใช้งานทำเองได้ และการที่แยกส่วนพัดลมกับตัวล็อค ทำให้มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้แรมที่มีความสูงๆ ก็ยังพอขยับได้ ไม่ติดกัน ในแง่ของไฟพัดลม แม้ว่าจะปรับแต่งไม่ได้ แต่ก็สีสันสดใส เอาใจคอเกมหรือคนที่อยากแต่งเคสแบบง่ายๆ ก็ทำได้อีกด้วย ส่วนประสิทธิภาพการระบายความร้อน ก็เป็นไปตามที่ทดสอบ Full load กับงานเรนเดอร์ ความร้อนอาจจะสูงหน่อย แต่ในแง่ของการเล่นเกม ก็ค่อนข้างสบาย ราวๆ 60 องศาเซลเซียส ก็ถือว่าไม่ได้น่าเป็นห่วง เสียงพัดลมก็ค่อนข้างเบาเลยทีเดียว ในภาพรวมจัดว่าเป็น Cooling อีกรุ่นหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลย ทั้งในแง่ของการติดตั้ง ความสะดวก และการใช้งาน จะมีแค่เรื่องต้องแกะพัดลมก่อนติดตั้ง เพื่อความสะดวก และแสงไฟพัดลมที่ปรับไม่ได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็จัดว่าทำได้ดี ใครที่กำลังมองหาฮีตซิงก์ใช้ง่าย ไฟสวย ไม่ควรพลาดเลยครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม: DEEPCOOL GAMMAXX X400
- GAMMAXX L240 A-RGB : https://www.jib.co.th/web/product/readProduct/45268
- GAMMAXX L360 A-RGB : https://www.jib.co.th/web/product/readProduct/44643
- GAMMAXX 400XT : https://www.jib.co.th/web/product/readProduct/45432
ราคา: ประมาณ 790 บาท