กระแสความแรงของ Apple M1 เป็นเหตุจน Intel ต้องส่งผลคะแนน Benchmark เทียบระหว่างซีพียู Intel รุ่นที่ 11 “Tiger Lake” ออกมาเทียบกับ Apple M1 ใน MacBook Air, MacBook Pro ในทันทีเหมือนกับที่เคยเทียบกับซีพียูของ AMD ในอดีตที่ผ่านมานั่นเอง ซึ่งดูจะเป็นเหมือนธรรมเนียมของทางอินเทลที่มักเอาซีพียูของตัวเองไปเทียบกับซีพียูของคู่แข่งที่เป็นกระแสอยู่ในตอนนี้เป็นประจำ
สำหรับเหตุผลที่อินเทลอ้างว่าซีพียูของตัวเองในโน๊ตบุ๊ค Windows 10 หลายรุ่นมีประสิทธิภาพสูงกว่า MacBook ที่ติดตั้ง Apple M1 คือเรื่องของประสิทธิภาพการใช้งาน, ดีไซน์โน๊ตบุ๊คที่มีให้เลือกมากกว่า, หน้าจอสัมผัสและอื่น ๆ ซึ่งทางบริษัทเองก็นำกราฟ Benchmark ออกมาโชว์ด้วย
ผลคะแนนที่ Intel นำมาเทียบกับ M1
ผลคะแนนแรกที่อินเทลเอาซีพียูรุ่นที่ 11 มาเทียบกับ Apple M1 คือเรื่องของประสิทธิภาพการใช้งานในชีวิตจริง ทดสอบโดยใช้โปรแกรม WebXPRT 3 ของ Principled Technologies ทดสอบว่าการเปิดเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ จะทำได้เร็วแค่ไหน, ทดสอบโดยใช้ Microsoft 365 ทดสอบการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันในแบบของอินเทล, ทดลองกับโปรแกรมสาย AI จาก Topaz Labs รวมไปถึง Adobe Premiere, Photoshop, Lightroom อีกด้วย
โน๊ตบุ๊คที่ใช้ทดสอบคือ MSI Prestige 14 Evo ซีพียู Intel Core i7-1185G7 แรม 16GB เทียบกับ MacBook Pro M1 แรม 16GB ซึ่งผลที่ได้ อินเทลเคลมว่าถ้าเป็นงานออฟฟิศและการเปิดเว็บไซต์ อินเทลรุ่นที่ 11 ทำคะแนนได้ดีกว่า M1 ร่วม 30% ส่วนถ้าเป็นโปรแกรมที่มี AI มาเกี่ยวข้องอย่าง Adobe และ Topaz Labs ตัวอินเทลรุ่นที่ 11 เร็วกว่า Apple M1 ถึง 6 เท่าทีเดียว ส่วนเกมมิ่งดูไม่ยุติธรรมเท่าไหร่เพราะเกมที่เอามาทดสอบไม่มีใน Apple M1 แล้วอินเทลใส่คะแนนเป็น 0 แทน นอกจากนี้ชิป M1 ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเล่นเกมเป็นหลักอีกด้วย
ส่วนการทดสอบเรื่องการใช้งานร่วมกับโปรแกรมต่าง ๆ และแบตเตอรี่ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Intel Evo ภาคต่อของ Project Athena เป็นจุดที่ทางทีมงาน Tom’s Hardware ตั้งข้อสังเกตเพราะการทดสอบนี้เปลี่ยนตัว MacBook Pro จากรุ่นแรม 16GB ไปเป็น 8GB แทน และทดสอบแล้วเปิดโปรแกรมและใช้งานทั่วไป 25 รายการ (แต่ไม่เผยรายละเอียดการทดสอบ) ได้ผลคือชิป Apple M1 เกิดปัญหาตอนใช้งาน 8 รายการจาก 25 รายการ โดยเด่น ๆ คือ
- สลับไปปฏิทิน (Switch to Calendar) ใน Outlook
- เปิด Video Conference ในโปรแกรม Zoom
- คำสั่ง Select picture Menu ใน Microsoft Powerpoint
ซึ่งทางทีมงาน Tom’s Hardware แสดงความเห็นว่าพวกเขาก็ใช้ MacBook Pro M1 ทำงานอยู่และไม่เจอปัญหาราวนี้ตอนเปิด Zoom เลยเป็นจุดตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทดสอบของอินเทลว่าทดสอบกันอย่างไร
ด้านการทดสอบระยะเวลาใช้งานโน๊ตบุ๊คด้วยแบตเตอรี่ อินเทลเปลี่ยนเครื่องทดสอบเป็น Acer Swift 5 ซีพียู Intel Core i7-1165G7 เทียบกับ MacBook Air M1 แทน แล้วเปิด Netflix พร้อมเปิดแท็บอื่น ๆ เพิ่มด้วย ผลที่ได้คือ MacBook Air M1 ใช้งานได้นานกว่า 6 นาที
จุดนี้ทาง Tom’s Hardware ก็ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเช่นกันว่าทำไมไม่ใช้ MacBook Pro M1 มาทดสอบเหมือนตอนทดสอบประสิทธิภาพของเครื่อง เพราะทางเว็บไซต์ก็เคยเทียบกับโน๊ตบุ๊คอินเทลแล้วได้ผลว่า MacBook Pro M1 ใช้งานได้นานกว่าโน๊ตบุ๊คอินเทลหลายชั่วโมงทีเดียว
ด้าน Form Factor หรือรูปร่างของโน๊ตบุ๊ค ทางอินเทลก็ชูจุดเด่นว่าโน๊ตบุ๊คอินเทลนอกจากจะมีรูปทรงหลากหลายและฟีเจอร์เยอะกว่า ทั้งหน้าจอสัมผัส, ตัวเครื่องแบบ 2-in-1 สามารถเปลี่ยนไปมาระหว่างโน๊ตบุ๊คและแท็บเล็ตได้, เครื่อง Desktop ก็มีขนาดให้หลากหลายขนาดรวมถึงพีซีแบบ All-in-One พร้อมซีพียูอินเทลก็มีให้เลือกซื้อเช่นกัน
ซึ่งในส่วนนี้ Tom’s Hardware แสดงความเห็นว่าอินเทลดูจะต่อยไม่ตรงจุดเท่าไหร่เนื่องจาก Apple ก็มี Mac Mini, Mac Pro ให้เลือกซื้อในหมวดของเครื่อง Desktop ทั้งแบบขนาดเล็กและใหญ่ ด้าน iMac ตัวเทียบกับพีซี All-in-One ทาง Apple ก็จะนำซีพียู Apple M Series ไปติดตั้งเช่นกัน
จุดที่ดูจะตรงจุดกว่า คือเรื่องตัว MacBook Air, MacBook Pro คือ ตัวเครื่องเป็นแบบฝาพับ (Clamshell) อย่างเดียวและไม่มีจอสัมผัส ซึ่งโน๊ตบุ๊ค Windows มีตัวเลือกส่วนนี้มากกว่าทั้งแบบจอพับกลับ 360 องศา, จอสัมผัส, เครื่องแบบ Convertible และอื่น ๆ
ด้านการต่อหน้าจอเสริมให้โน๊ตบุ๊คก็เป็นประเด็นให้อินเทลเอามาเทียบเพราะ MacBook Air M1 รองรับการต่อหน้าจอ 6K 60 Hz เสริมเพียงจอเดียวเท่านั้น แต่ไม่พูดถึงในฝั่ง Desktop เพราะ Mac Mini มีพอร์ต HDMI 2.0 อยู่ 2 ช่อง ทำให้ต่อหน้าจอได้มากกว่า
ส่วนประเด็นเรื่องความเข้ากันได้กับโปรแกรมต่าง ๆ ทางอินเทลเคลมเอาไว้ทั้งเรื่องของการไม่รองรับ eGPU สำหรับต่อการ์ดจอแยกเพื่อเล่นเกม และในสไลด์นำเสนอก็ไม่แน่ใจว่าตัว MacBook M1 รองรับการต่อจอยเพื่อเล่นเกมหรือไม่ แต่ทาง Tom’s Hardware ก็เผยว่าจอยของ PS5 และ Xbox Seire X/S สามารถใช้งานกับ MacBook M1 ได้อยู่
ส่วนด้านซอฟท์แวร์ต่าง ๆ ที่อินเทลยกมาเทียบว่าตัว MacBook M1 ไม่ได้รองรับแบบ native แต่ต้องรันผ่าน Rosetta 2 และบางอย่างต้องเข้าผ่านเว็บไซต์ เช่น Google Drive เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้เป็นจุดอ่อนในช่วงแรก ๆ ของซีพียูและนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นส่วนใหญ่ และต้องรอการอัพเดทให้รองรับในอนาคตต่อไป
สุดท้ายข้อมูล Disclaimer ของอินเทลได้แสดงเรื่องวิธีและหลักการทดสอบของทางบริษัทเอาไว้ว่าการทดสอบในครั้งนี้ทางอินเทลใช้การตั้งค่าและโปรแกรมอะไรในการทดสอบบ้าง ซึ่งถ้าเราติดตามอ่านข่าวอยู่เป็นประจำจะเห็นว่าไม่ใช่แค่อินเทลเจ้าเดียวที่ชอบทำเช่นนี้ เพราะว่าแต่ละบริษัทก็ต้องการเทียบให้ผู้ใช้ได้เห็นว่าสินค้าของทางบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วมีจุดเด่นและประสิทธิภาพเหนือกว่าอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามผลคะแนนไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของโน๊ตบุ๊กเครื่องหนึ่ง แต่อยู่ที่โจทย์การใช้งานของเราเป็นหลัก
ที่มา : Tom’s Hardware