เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ที่เมื่อก้าวเข้าสู่ปีใหม่ หลายคนก็เริ่มจัดสเปคคอม 2021 เพื่อให้พร้อมสำหรับคอมชุดใหม่ เอามารองรับการใช้งาน ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็น การเล่นเกม ความบันเทิงดูหนังฟังเพลง หรือบางคนก็เริ่มจับงานธุรกิจใหม่ๆ หรือการตัดต่อ ที่ล้วนแต่ต้องใช้คอมทั้งสิ้น ยิ่งสายสตรีมเมอร์หรือแคสเตอร์ ก็แทบจะเรียกได้ว่า ขาดคอมเหมือนขาดใจ เพราะทำอะไรไม่ได้กันเลยทีเดียว วันนี้ถือว่าเข้าสู่ปีใหม่อย่างเป็นทางการ เรามีไอเดียในการเลือกซื้อคอม เพื่อตอบการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ถึง 5 แบบด้วยกัน และสเปคคอม ในปี 2021 ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยเลยทีเดียว
จัดสเปคคอม 2021
สเปคคอมราคาถูก
ใครที่งบประมาณน้อย แต่ต้องการจะได้คอมเอาไว้ใช้ทำงาน ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากเหมือนในอดีต เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ มาไวขึ้น ด้วยฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในงบประมาณที่ถูกลง โดยที่คุณมีทางเลือกทั้งแบบใช้กราฟิกบนซีพียู (Integrate graphic) ในงบประมาณเริ่มที่ 6,000 บาท สำหรับการใช้งานทั่วไป เน้นประหยัด และเลือกที่เป็นกราฟิกแยก (Discrete graphic) ในงบไม่เกิน 10,000 บาท กรณีที่ต้องการประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การตกแต่งภาพหรือให้เล่นเกมได้ดีขึ้นนั่นเอง
- ซีพียู: INTEL Pentium Gold G6400
- เมนบอร์ด: ASROCK H410M-HVS
- แรม: ADATA Premier DDR4 8GB 2666
- Storage: Western Digital Blue 1TB WD10EZEX
- เพาเวอร์ซัพพลาย: NEOLUTION Gamemaster Pro 700W
- เคส: CUBIC Hornets Black
ดูข้อมูลสเปคคอมนี้เพิ่มเติมได้ ที่นี่
การเลือกจัดสเปคคอม 2021 ราคาประหยัดนั้น หากเป็นการใช้งานทั่วไป ซีพียูแบบ 2 core/ 4 thread ก็รองรับการทำงานได้เพียงพอ ตัวเลือกที่น่าสนใจ อาทิ Intel Pentium หรือ AMD Athlon รองรับกลุ่มที่ใช้งานออฟฟิศ ท่องอินเทอร์เน็ต หรือเปิดดูไฟล์ภาพ ทำรายงานเป็นต้น รวมถึงซีพียูในกลุ่มนี้ ก็มีกราฟิกมาในตัว ไม่ต้องซื้อการ์ดจอเพิ่ม ต่อจอแสดงผลได้ทันทีบนเมนบอร์ด แต่ถ้าต้องการศักยภาพที่ดีขึ้น ตัวเลือกอย่าง Intel Core i3 และ AMD Ryzen 3 “G” series ก็เหมาะสมมากขึ้น นอกจากจะมีกราฟิกมาในตัวด้วยแล้ว ก็ยังให้พลังในการประมวลผลที่ดีขึ้น และมีแรงมากพอในการรีดประสิทธิภาพของการ์ดจอแยก ที่อาจอัพเกรดในภายหลังได้ ราคาค่าตัวก็เริ่มที่ 2 พันปลายๆ เท่านั้น ฉะนั้นจึงพอมีเงินเหลือสำหรับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เมนบอร์ด แรม ฮาร์ดดิสก์ เพาเวอร์ซัพพลายและเคส
โดยตัวเลือกเมนบอร์ดนั้น เนื่องจากใช้สำหรับการทำงานพื้นฐาน และรองรับอุปกรณ์ต่อพ่วงทั่วไป ชิปเซ็ตรุ่นประหยัดอย่าง Intel H410 series หรือ AMD A520 series ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าต้องการคุณสมบัติในด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น ตัวเลือกที่เป็นชิปเซ็ตรุ่นรอง อย่าง Intel B460 และ AMD B550 ก็ให้ความคุ้มค่า แต่ราคาก็อาจจะเพิ่มขึ้นมาไม่น้อย ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น อาจนำไปเพิ่มฮาร์ดดิสก์ได้ระดับ 1TB เลยทีเดียว โดยแรมพื้นฐานที่ควรจะต้องมีเลยคือ 8GB เพราะต้องแบ่งปันบางส่วนไปให้กับกราฟิกที่อยู่บนซีพียู สำหรับการแสดงผลอีกด้วย ส่วนของเพาเวอร์ซัพพลาย 550W ตัวเริ่มต้นไม่ถึงพันบาท กับเคสพื้นฐานก็น่าจะให้การใช้งานได้ครบถ้วนดี
สเปคคอมเรียนและทำงาน
กลุ่มที่เป็นคนทำงานหรือใช้ในด้านการศึกษา ดูจะมีความจำเป็นและความหลากหลายในการใช้งานมากกว่าคอมพื้นฐานทั่วไป ซึ่งการจัดสเปคคอม 2021 ในกลุ่มนี้ ราคาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นจะอยู่ที่ราว 15,000 บาท ซึ่งหากดูจากระดับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำงานด้านกราฟิก หรือการทำเอกสารนำเสนอ พรีเซนเทชั่น รวมถึงการเล่นมัลติมีเดียความละเอียดสูง ไปจนถึงการเล่นเกม และที่สำคัญคือ ต้องมีพื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์ที่มากพอ หากดูจากข้อมูล ก็คงจะต้องเริ่มที่ซีพียูเริ่มต้น 4 core/ 8 thread ดูจะตอบโจทย์ในการใช้งานด้านนี้มากที่สุด กับการทำงานในแบบมัลติทาส์กเวลานี้ ตัวเลือกมีทั้ง Intel Core i3 หรือ AMD Ryzen 3 แต่ก็สามารถขยับเป็น Intel Core i5 หรือ Ryzen 5 ที่เป็นแบบ 6 core/ 12 thread ได้ ในกลุ่มที่ต้องเพิ่มงานด้าน Edit หรือต้องใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางมากขึ้น รวมถึงการตัดต่อวีดีโออย่างง่ายๆ ซีพียูกลุ่มนี้เริ่มต้นที่ประมาณ 3 พันกว่าบาท อย่างไรก็ดีในกรณีที่ต้องใส่การ์ดจอเข้าไปในชุดนี้ ก็สามารถเลือกซีพียู Intel “F” series ได้เลย ส่วนทาง AMD เลือกรุ่นใดก็ได้ ที่ไม่ได้เป็น “X” series ที่ราคาค่อนข้างสูง
- ซีพียู: AMD Ryzen 3 3100
- เมนบอร์ด: GIGABYTE B450M S2H
- กราฟิกการ์ด: MSI GTX 1650 SUPER VENTUS XS OC 4GB
- แรม: KINGSTON HyperX FURY DDR4 8GB (8GBx1) 3200 Black
- Storage: Western Digital Blue 1TB WD10EZEX
- เพาเวอร์ซัพพลาย: COOLERMASTER Elite V3 600W
- เคส: Tsunami Galaxy G7 TG White
ดูข้อมูลสเปคคอมนี้เพิ่มเติมได้ ที่นี่
ในด้านของเมนบอร์ด กับการใช้งานกลุ่มนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การรองรับอุปกรณ์ต่อพ่วงได้พอสมควร และต้องรองรับการอัพเกรดในอนาคต ชิปเซ็ตระดับกลาง เช่น Intel B460 หรือ AMD B550 ก็พอจะตอบโจทย์ได้ดี สิ่งที่ต้องสังเกตและดูเป็นตัวเลือกน่าสนใจ เมนบอร์ดที่มีสล็อตแรม 4 สล็อต แม้จะแพงขึ้นมาอีกนิด แต่ก็ช่วยให้การอัพเกรดได้คุ้มค่ามากขึ้น และต้องมีสล็อต M.2 NVMe PCIe อย่างน้อยๆ คือ 1 แต่ถ้ามีถึง 2 สล็อตได้ก็ยิ่งดี ส่วนพอร์ตต่อพ่วงอื่นๆ เช่น USB 3.2 หรือ Type-C มีเอาไว้ได้ใช้แน่นอน สำหรับแรม ควรเริ่มต้นที่ 8GB แต่ถ้าใช้งานกราฟิกหรือทำวีดีโอด้วย เพิ่มอีกพันบาทได้ 16GB ก็จะใช้งานได้ราบลื่นขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับไฟล์ขนาดใหญ่ หรือเปิดหน้าเว็บไซต์จำนวนมาก
ในด้าน Storage มีตัวเลือกทั้ง SSD และ HDD หรือจะใช้ทั้ง 2 แบบร่วมกันก็ได้ หากงบประมาณจำกัด SSD 240GB ใส่คู่กับฮาร์ดดิสก์ 1TB รวมแล้วไม่เกิน 2 พันบาทเท่านั้น แต่ถ้าต้องการเปิดเครื่องไว โหลดไฟล์เร็ว เข้าโปรแกรมทันใจ การเลือกใช้ SSD 480GB ขึ้นไป เพื่อให้เพียงพอต่อการติดตั้งโปรแกรมและเกม ก็เป็นทางออกที่ดี ส่วนฮาร์ดดิสก์มีเอาไว้สำหรับจัดเก็บข้อมูลเป็นหลัก ส่วนกราฟิกการ์ด หากงบจำกัดหรือเล่นเกมพื้นฐาน เช่น DOTA2, PUBG หรือเกมวางแผนสนุกๆ ทั่วไป การ์ดจอที่มาพร้อม VRAM 4GB กับราคาเริ่มต้นระดับ 4-5 พันบาท ก็เพียงพอ เช่น nVIDIA GeForce GTX 1650 หรือ AMD Radeon RX 5500 XT เป็นต้น เท่านี้ก็เล่นได้แบบสบายๆ เพียงแค่ปรับค่า Detail และความละเอียดให้เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้ใช้พลังงานไม่มาก เพาเวอร์ซัพพลาย 600-700W ราคาประมาณพันกว่าบาทก็เพียงพอ
สเปคคอมเล่นเกม
มาถึงการจัดสเปคคอม 2021 เล่นเกมกันบ้าง ในที่นี้ขอเหมารวมการเล่นเกมในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Action, FPS, RPG หรือแนว MOBA ก็ตาม ซึ่งงบประมาณที่แนะนำอยู่ที่ 25,000 บาท สำหรับสเปคคอมเล่นเกมเริ่มต้นและสามารถเล่นเกมได้แบบไม่อึดอัดจนเกินไป ตัวเลือกในกลุ่มนี้ อาจจะต้องชูการ์ดจอเป็นหลัก และซีพียูเป็นตัวเสริม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ความสำคัญกับซีพียูน้อยเกินไป แต่ให้ขับพลังจากการ์ดจอได้ดีด้วย ซีพียูตัวเลือกมีทั้ง Intel Core i5 และ i7 หรือ AMD Ryzen 5 และ Ryzen 7 ขึ้นอยู่กับงบประมาณ หากงบจำกัด เหลือเงินไว้อัพการ์ดจอจะเหมาะกว่า แต่ถ้าจะไปการ์ดจอตัวเทพตัวแรง อาจเลือกซีพียูตัวแรงหน่อย เพื่อให้สมน้ำสมเนื้อ ส่วนเมนบอร์ดชิปเซ็ตกลางๆ AMD B450, B550 หรือ Intel H470 หรือ B460 ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ใส่กราฟิกการ์ด, SSD M.2 PCIe เท่านี้ก็เล่นเกมได้แบบลื่นๆ ฟังก์ชั่นอาจไม่ต้องเยอะ เพราะเน้นการเล่นเกมเป็นหลัก มีพอร์ต USB เพียงพอ และระบบเสียง 7.1-channel เพื่อต่อหูฟังเกมมิ่งหรือลำโพง ในการเล่นได้อย่างสะใจยิ่งขึ้น รวมถึงสล็อตแรม ควรมีสัก 4 สล็อต เผื่อวันข้างหน้าจัดใส่ให้เต็ม อัพเกรดการ์ดจอ ก็เล่นได้ยาวๆ แล้ว
- ซีพียู: INTEL Core i5-10400F
- เมนบอร์ด: GIGABYTE B460M GAMING HD
- กราฟิกการ์ด: INNO3D GEFORCE GTX 1660 SUPER TWIN X2 6GB
- แรม: TEAMGROUP T-Force Dark DDR4 16GB (16GBx1) 3200 Red
- Storage: Western Digital Blue 500GB 3D NAND
- เพาเวอร์ซัพพลาย: SILVERSTONE ST70F-ES230 700W 80+
- เคส: THERMALTAKE V250 TG ARGB Black
ดูข้อมูลสเปคคอมนี้เพิ่มเติมได้ ที่นี่
ส่วนการ์ดจอที่เป็นหัวใจหลักในการเล่นเกม มีตัวเลือกมากมาย หากมีงบน้อย nVIDIA GeForce GTX 1660 SUPER ก็น่าสนใจ ในงบประมาณ 7-8 พันบาท หรือจะเป็น RTX 2060 SUPER ที่ราคาไล่เลี่ยกัน ส่วนทาง AMD Radeon RX 5600 XT หรือ RX 5700 XT กับสนนราคาประมาณหมื่นนิดๆ ก็ตอบโจทย์ในการใช้งานได้ดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกมทั่วไปหรือเกม Action AAA ที่ใช้ทรัพยากรมาก ก็ยังไหว ส่วนถ้ามีงบเยอะขึ้นระดับ 4-5 หมื่นบาท ตัวเลือกในกลุ่ม RTX 3070, 3080 หรือจะเป็น AMD Radeon RX 6800 XT ที่ราคาเริ่มตั้งแต่หมื่นปลายๆ ไปจนถึง 2x,xxx บาท ก็เอาใจคอเกมที่เล่นในโหมด 2K หรือ 4K ได้สนุกขึ้นได้ทั้งภาพสวยมีรายละเอียดและลื่นไหลสะใจกว่าการเล่นบนจอเล็กๆ อย่างแน่นอน
ในปัจจุบันแม้ว่าเกมจะมีสเปคขั้นต่ำ RAM 8GB แต่ถ้าให้ลื่นไหลและเล่นได้คล่องตัวมากขึ้นตามสเปคแนะนำ ก็ควรต้องมีอย่างน้อย 16GB ซึ่งเวลานี้ราคาเริ่มต้นที่พันปลายๆ เท่านั้น ส่วนในอนาคตมีกำลังเพิ่มก็อัพเกรดให้เต็มความจุได้เลย ส่วนด้าน Storage หากมีเกมที่ชอบหลายเกม ไม่อยากลงๆ ลบๆ ก็ควรจะต้องมี SSD อย่างน้อย 500GB ให้พอกับการติดตั้งเกม 2-3 เกม แล้วแต่ขนาด หรือถ้ามีงบมากหน่อย แนะนำที่ 1TB เพราะจะได้เหลือพื้นที่สำหรับการติดตั้งโปรแกรมและให้ระบบทำงานได้อย่างสะดวก ส่วนจะมีมากกว่า 1 ตัวหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับงบที่วางไว้นั่นเอง ส่วนอื่นๆ เช่น เพาเวอร์ซัพพลาย ให้ดูที่การ์ดจอเป็นหลัก ตัวเลือกระดับ 750W ขึ้นไป ที่มี 80 Plus ค่อนข้างเหมาะสม เพราะจ่ายไฟได้มากพอสำหรับการ์ดกลางๆ ส่วนถ้าใช้กราฟิกการ์ดตัวท็อป เพาเวอร์ระดับ 850W++ น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า มีพลังเหลือสำหรับการใช้งาน Full load แบบต่อเนื่อง กรณีที่เล่นเกมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนเคสควรมีการระบายความร้อนได้ดีมากพอ
สเปคคอมสตรีมเกม
เป็นพาร์ทต่อมาจากสเปคคอมเล่นเกม จัดสเปคคอม 2021 หลายคนก็มักจะเริ่มต้นกับการเล่นเกมที่ชื่นชอบ ต่อมาก็เป็นการนำเสนอให้คนรอบตัวได้รู้จัก สุดท้ายก็ขยับเป็นแคสเตอร์ เรียกว่าจะเป็น Live stream หรือ Caster ก็ได้หมด โดยคอมที่จะนำมาใช้ในการสตรีมเกม จะมีให้เลือก 2 รูปแบบคือ หากเป็นมือใหม่ อยากเริ่มต้นง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก คอมเครื่องเดียวจบในตัวก็ทำได้ ทั้งเล่นเกมและแคสสตรีมไปด้วย อีกทางเลือกหนึ่งคือ แยกส่วนเป็นคอมสำหรับเล่นเกมเฉพาะ และมีคอมสำหรับสตรีมเกมแยกอีกเครื่อง เพื่อจะได้ไม่ลดทอนประสิทธิภาพในการเล่นเกม สำหรับแคสเตอร์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพในงาน ก็มักจะเป็นแบบที่สองนี้ แต่ในกรณีที่ต้องการเริ่มต้นกับเครื่องเดียว เล่นเกมด้วยสตรีมด้วย ในงบประมาณ 50,000 บาท ดูจะพอเหมาะพอควร
ซีพียู: AMD Ryzen 7 3700X
เมนบอร์ด: GIGABYTE X570 UD
กราฟิกการ์ด: ASUS RTX 3070 Dual 8GB
แรม: TEAMGROUP T-Force Dark Z DDR4 32GB (16GBx2) 3200 Gray
Storage: SAMSUNG 970 EVO 1TB M.2 NVMe
เพาเวอร์ซัพพลาย: COUGAR GEX850
เคส: THERMALTAKE Level 20 MT ARGB
ดูข้อมูลสเปคคอมนี้เพิ่มเติมได้ ที่นี่
งานนี้ต้องเริ่มต้นด้วยซีพียูที่เน้น Core/ Thread มากหน่อย เพราะจะต้องแบ่งภาคสำหรับการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งส่วนของเกมและแอพพลิเคชั่นสำหรับการสตรีม รวมไปถึงบรรดายูทิลิตี้ที่เสริมเข้ามาต่างๆ ตัวเลือกซีพียู Intel Core i5 หรือ Core i7 ในงบประมาณหมื่นบาท ที่เหลือไปลงกับแรม 16-32GB รวมถึง SSD ซึ่งอาจจะเริ่มต้นที่ 1TB เพื่อให้การทำงาน เปิดโปรแกรมและเกมลื่นไหลไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะคนที่ต้องการเก็บหรือ Record เป็นฟุตเทจสำหรับนำมาตัดต่อในภายหลัง ที่ไม่ควรจะช้าเกินไป หรือถ้างบจำกัดอาจเลือก HDD 2TB ในราคาพันกวาบาท มาไว้สำหรับจัดเก็บได้พื้นที่มากขึ้น
และการ์ดจอก็คงต้องดูที่งบประมาณให้พอเหมาะกับเกมที่ต้องการสตรีม ซึ่งหากจะให้เล่นได้ครอบคลุม ตัวเลือกอย่าง GTX 1660 SUPER ก็น่าสนใจในงบ 8 พันบาทหรือจะขยับมาที่ RTX 2070 SUPER, RTX 3060 Ti หรือ RTX 3070 ในงบหมื่นปลายๆ ก็ค่อนข้างจะตอบโจทย์ได้ดีพอสมควร กับการสตรีมในโหมด Full-HD และเล่นเกมลื่นๆ ไปด้วย แต่ถ้ามองที่เกมในวันข้างหน้า ตัวเลือกอย่าง GeForce RTX 3080 หรือ AMD Radeon RX 5700 XT หรือ RX 6800 ก็น่าสนใจไม่ต่างไปจาก RTX 3080 กับราคาประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทนั่นเอง แต่ก็จะเกินงบไปพอสมควร
ส่วนเพาเวอร์ซัพพลายอยากให้เริ่มต้นที่ 850W ขึ้นไป แต่ถ้าแนะนำคือ 1000W++ เพราะการใช้งานในส่วนของสตรีมและการเล่นเกมนี้ มักจะใช้เวลาค่อนข้างยาวนานในการนำเสนอ รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่หนักหน่วงเช่นนี้ การที่จะต้องทำงานด้วยการจ่ายไฟระดับ Peak load ตลอดเวลา เพาเวอร์ต้องมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับเคสคอม ที่ควรจะเสริมเรื่องการระบายความร้อนให้ดี สำหรับการใช้งานที่ยาวนานนั่นเอง
สเปคคอมตัดต่อวิดีโอ
มาถึงสเปคคอมตัดต่อวีดีโอกันบ้าง ในการจัดสเปคคอม 2021 ตัดต่อวีดีโอนี้ หากงบประมาณมีจำกัด ก็อาจเลือกเน้นที่ซีพียูแรงเป็นหลัก และใช้การ์ดจอพื้นฐานที่มีจำหน่ายในเวลานี้ได้เช่นกัน ส่วนถ้างบประมาณมากหน่อย ก็อาจจะเลือกการ์ดจอตัวที่แรงขึ้นได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเน้นเป็นตัวท็อป รองท็อปแต่อย่างใด ยกเว้นว่าคุณจะใช้ในการเล่นเกม เพื่อให้จบอยู่ในเครื่องเดียว แม้ว่าปัจจุบันซอฟต์แวร์ตัดต่อสามารถเรียกการใช้งานกราฟิกการ์ดได้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนบนซีพียู และไม่ใช่ทุกโปรแกรมจะสามารถใช้งานได้ ดังนั้นแล้วการเลือกซีพียูที่แรงเท่าที่คุณจะทำได้ ก็เป็นทางออกที่ดี ในงบประมาณตั้งไว้ที่ 50,000 บาท
- ซีพียู: INTEL Core i9-10900F
- เมนบอร์ด: GIGABYTE Z490 UD
- กราฟิกการ์ด: GALAX RTX 2060 Super Gamer (1-Click OC) 8GB
- แรม: TEAMGROUP T-Force Dark Z DDR4 32GB (16GBx2) 3200 Gray
- Storage: Western Digital Blue 2TB WD10EZEX
- Storage: SAMSUNG 970 EVO 1TB M.2 NVMe
- เพาเวอร์ซัพพลาย: DEEPCOOL DQ850-M-V2L
- เคส: Tsunami Protect 4727 White
ดูข้อมูลสเปคคอมนี้เพิ่มเติมได้ ที่นี่
โดยซีพียูที่น่าสนใจคือ Intel Core i7 หรือ Core i9 ที่ทำงานในแบบ 10 core/ 20 thread เหมาะสมกับการใช้งาน หรือจะเป็น AMD Ryzen 7 ในแบบ 8 core/ 16 thread ในงบประมาณหมื่นนิดๆ ก็ดูลงตัว โดยจับคู่กับเมนบอร์ด แนะนำว่าเน้นที่ชิปเซ็ตรุ่นท็อป ที่นอกจากจะมีฟีเจอร์ในการอำนวยความสะดวกในการใช้งานแล้ว เมนบอร์ดในรุ่น Pro หรือรุ่นท็อปที่เป็นเรือธง ซึ่งใช้ชิปเซ็ตรุ่นใหญ่ ไม่ว่าจะ Intel Z490 หรือจะเป็น AMD X570 ก็ตาม มักจะมาพร้อมภาคจ่ายไฟคุณภาพสูง ที่ช่วยให้การควบคุมการทำงานของแรงดันไฟต่างๆ มีประสิทธิภาพ และมีจำนวนมากพอต่อการใช้งานที่มีโหลดสูงๆ เช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพอร์ตต่อพ่วงรุ่นใหม่ สล็อตสำหรับการ์ดต่อพ่วง เช่น Storage และเพิ่มการต่อขยาย Port Connector ให้เพิ่มมากขึ้นได้ เช่นเดียวกับการ์ดตัดต่อ ที่อาจจะนำมาเพิ่มในภายหลัง เมนบอร์ดรุ่นใหญ่ที่มีสล็อตให้ใช้งานเหลือเฟือดูจะเหมาะสมมากที่สุด
ส่วนแรมควรจะต้องให้การทำงาน ในช่วงที่จัดเรียงฟุต การตัดและการเรนเดอร์ ควรมากพอที่จะรองรับการทำงานนี้ 32GB ดูจะเหมาะสมมากที่สุด เน้นความจุ ไม่ต้องเน้นเรื่องความเร็วหรือบัส ในด้าน Storage เพื่อให้การทำงานนั้นรวดเร็ว SSD ในแบบ M.2 PCIe ความจุ 1TB น่าจะเป็นตัวยืนพื้น พร้อมทั้งเสริมด้วยฮาร์ดดิสก์อย่างน้อย 2TB เป็นส่วนในการจัดเก็บข้อมูล และดึงข้อมูลได้รวดเร็ว ปลอดภัย ทำงานควบคู่กันไป เพื่อให้แน่ใจว่าฟุตเทจจะได้รับการจัดเก็บที่ปลอดภัย เรียกใช้งานได้ตลอดเวลา
สำหรับการจัดสเปคคอม 2021 หากงบประมาณน้อย อาจจะเริ่มที่ GeForce GTX 1650 SUPER ที่มีจำหน่ายในปัจจุบันได้ หรือถ้างบประมาณมากขึ้น ตัวเลือกอย่าง GeForce RTX 2060 SUPER หรือ RTX 3070 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ รวมไปถึง AMD Radeon RX 5700 XT หรือ RX 6800 หากคุณใช้เครื่องนี้เล่นเกม ควบคู่ไปกับงานตัดต่อ จะได้ไม่ต้องซื้อหลายเครื่อง ส่วนในด้านเพาเวอร์ซัพพลาย ควรจะต้องเน้นที่คุณภาพและการจ่ายไฟที่วางใจได้ ระดับ 850W ขึ้นไป 80 Plus ตอบโจทย์ได้ดี เช่นเดียวกับเคส เป็นไปได้ควรเลือกแบบที่มี Air flow ที่ดี ระบายความร้อนได้รวดเร็ว พร้อมจุดติดตั้งไดรฟ์ได้มาก เพื่อการอัพเกรด ส่วนจะมีไฟ RGB หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของคุณเอง