ประกอบคอม 2024 อัพเดตใหม่ เพิ่มเติมขั้นตอนในการเซ็ตระบบ ติดตั้งฮาร์ดแวร์ใหม่ ทำได้ด้วยตัวเอง
ประกอบคอม 2024 อัพเดตใหม่ สำหรับคอเกม เน้นประสิทธิภาพ ประกอบง่าย ทำตามได้ ระบายอากาศได้ดี ด้วยซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด Intel Core 14th และแรม DDR5 6000 การ์ดจอ GeForce RTX4070Ti วิธีการติดตั้งซีพียู นำเมนบอร์ดลงเคส ติดตั้งแรมให้มีประสิทธิภาพ หัวต่อและสายต่างๆ จากเพาเวอร์ซัพพลาย ไปจนถึงการระบายความร้อน การ์ดจอใหญ่ จะใส่เคสเล็กๆ ได้อย่างไร ในครั้งนี้เราจะมาแนะนำวิธีการต่างๆ เหล่านี้ ตั้งแต่ต้นจนจบ ไปจนถึงการบูตเครื่องเพื่อใช้งาน หากใครที่กำลังคิดจะประกอบคอมใหม่ในปี 2024 บทความนี้จะเป็นคู่มือให้คุณสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง เตรียมตัว เครื่องมือและอุปกรณ์ให้พร้อม แล้วไปลุยกันเลย
ประกอบคอม 2024 อัพเดตใหม่ Step by step
- เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบคอม 2024
- เริ่มต้นประกอบคอม 2024
- ติดตั้งเพาเวอร์ซัพพลาย
- ติดตั้งเมนบอร์ดและซีพียู
- ติดตั้งเมนบอร์ดลงในเคสคอม
- ติดตั้งแรม
- ต่อสายไฟเลี้ยงและสายสัญญาณ
- ติดตั้งกราฟิกการ์ด
- Conclusion
เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบคอม 2024
ในการประกอบคอม 2024 สิ่งที่ต้องจัดเตรียมมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนคือ สิ่งแรกเป็นฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่คุณจะนำใช้ในการประกอบคอม อย่างเช่น ซีพียู แรม เมนบอร์ด กราฟิกการ์ด Storage ไปจนถึงเพาเวอร์ซัพพลาย เคส และอื่นๆ ที่จะนำมาใส่ในคอม ส่วนที่ 2 เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ สะดวกขึ้น เช่น ไขควง คัตเตอร์ สายรัด ซิลิโคน หรือบรรดาน็อตสกรูต่างๆ ตัวอย่างเช่น ที่เราจัดเตรียมไว้ดังนี้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบ
- ซีพียู Intel Core i7-14700
- เมนบอร์ด ASRock B760E PG Sonic
- แรม Kingston FURY BEAST DDR5 6000 32GB
- SSD WD SN350
- การ์ดจอ GIGABYTE RTX4070Ti EAGLE
- เพาเวอร์ซัพพลาย GIGABYTE P1000GM
- เคส COUGAR
เครื่องมือที่ใช้
- ไขควง 4 แฉกมีแม่เหล็ก
- ซิลิโคนซีพียู
- น็อตยึดเมนบอร์ด การ์ดจอ พัดลม
เริ่มต้นประกอบคอม 2024
ในเบื้องต้นของการประกอบคอม 2024 สามารถเริ่มกับการเตรียมสิ่งของง่ายๆ ทำได้ 2 แบบ ไม่ว่าจะเป็น แบบแรก เตรียมเคส เพื่อติดตั้งเพาเวอร์ซัพพลายก่อนก็ได้ ส่วนแบบที่สอง เริ่มที่การติดตั้งซีพียู พัดลมลงเมนบอร์ด ก่อนจะใส่ลงเคส การเตรียมเคส และติดตั้งเพาเวอร์ซัพพลายก่อน เรามีไอเดียที่จะแชร์ เพื่อช่วยให้การประกอบง่ายขึ้น นั่นก็คือ แกะเคสออกทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นฝาข้าง ฝาหน้า หรืออุปกรณ์ชิ้นส่วนที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เราพอมองภาพออกว่า จะติดตั้งชิ้นส่วนใดลงไปยังไง ติดพัดลมเพิ่มได้มั้ย พื้นที่ภายในเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ถ้าคุณใช้ฮีตซิงก์แยก ลองเอาซิงก์ที่คุณใช้ ทาบวัดความสูงดูก่อน ว่าเกินฝาเคสหรือไม่ เพราะเมื่อติดตั้งไปแล้ว ปิดฝาไม่ลง ต้องมารื้อกันใหม่
วัดระยะความยาวของการ์ดจอให้ดี ให้มั่นใจว่า คุณจะยัดมันลงไปได้ บางครั้งเหมือนจะยาว แต่ก็ใส่ลงได้ อยู่ที่คุณจัดลำดับการวางให้ดี
หมุดวางเมนบอร์ด ควรมีให้ครบทั้ง 4 มุม เป็นอย่างน้อย และถ้าให้ดี ก็ควรมีให้ครบ เพื่อความแข็งแรง
ติดตั้งเพาเวอร์ซัพพลาย
ในการติดตั้งเพาเวอร์ซัพพลาย มีสิ่งที่อาจจะต้องเช็คอยู่บ้าง เพื่อลดความติดขัด เมื่อติดตั้งเพาเวอร์ลงไป เช่น เรื่องของพื้นที่ การจัดวาง ระยะของสาย ไปจนถึงจุดที่จะลอดสายไฟต่างๆ มายังเมนบอร์ด ซึ่งจำเป็นอย่างมาก โดยสิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียมเอาไว้ก็คือ
1.เช็คระยะความยาวของเพาเวอร์ เผื่อระยะสายด้านท้ายอีก 10% เคสบางรุ่น สามารถเลื่อนเบย์ของ HDD ได้ เลื่อนให้เดินหน้า-ถอยหลัง แบบนี้ใส่เพาเวอร์ได้สะดวก อย่างเคสรุ่นนี้ เลื่อนไม่ได้ครับ โชคดีที่เราเลือกเพาเวอร์แบบสั้นของ GIGABYTE รุ่นนี้ 1000W แต่ใส่ได้สบาย
3.เตรียมเพาเวอร์ซัพพลาย ถ้ารุ่นที่ถอดสายไม่ได้ ก็ยังไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้ารุ่นถอดสายได้ ก่อนติดตั้งลงเคส ให้สังเกตสิ่งเหล่านี้ครับ
เรื่องแรก ต่อสายที่คุณต้องใช้ให้ครบบนเพาเวอร์ซัพพลาย ไม่ว่าจะเป็น 24-pins Power, 8-pins CPU, 6+2 pins การ์ดจอ หรือจะเป็น SATA และ 4-pins สำหรับอุปกรณ์อื่นๆ การต่อสายให้ครบ มีข้อดีคือ คุณจะอัพเกรดอะไรก็ง่าย มีหัวต่อรอให้ใช้ได้เลย แต่ข้อเสียคือ สายจะรกเคสเต็มไปหมด
เรื่องถัดมาคือ ในกรณีที่คุณพอประเมินแนวโน้มการอัพเกรดได้ เลือกต่อเฉพาะสายบางเส้นที่ใช้งานก็พอ ข้อดีคือ จะลดสายที่จะเกะกะภายในเคสได้เยอะ ข้อเสีย เวลาที่ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม จะค่อนข้างยาก บางทีอาจจะต้องรื้อเพาเวอร์ออกมาติดตั้งใหม่กันเลยทีเดียว มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งคู่ ลองประเมินกันดูอีกทีครับ
ส่วนการติดตั้งเพาเวอร์ซัพพลาย ค่อนข้างง่ายครับ โดยปกติจะคว่ำหรือหงายก็ได้ แต่โดยธรรมชาติของพัดลมเพาเวอร์ จะดูดลมเข้าไปในตัว แล้วเป่าออก ให้คุณลองดูว่าเคสที่คุณใส่เป็นแบบใด ถ้ามีช่องตะแกรงใต้เมนบอร์ด จะหงายขึ้น เพื่อดูดลมจากในเคส แล้วเป่าออกก็ได้ หรือถ้าจะวางคว่ำ ดูดลมจากด้านใต้ เข้าเพาเวอร์ แล้วเป่าออกก็ได้เช่นกันครับ จากนั้นวางสายต่างๆ เอาไว้แบบนั้นก่อน ยังไม่ต้องลอดสายแต่อย่างใด ให้เราไปติดตั้งเมนบอร์ดก่อน
ติดตั้งเมนบอร์ดและซีพียู
โดยก่อนที่คุณจะนำเมนบอร์ดลงไปในเคส แนะนำให้นำเมนบอร์ด มาทาบดูคร่าวๆ ก่อนว่า มีหมุดรองเมนบอร์ดอยู่ครบมั้ย เป็นไปได้ก็หาใส่ให้ครบ เพื่อความแข็งแรง ให้เตรียมเมนบอร์ด และติดตั้งซีพียูไปพร้อมๆ กันเลย วิธีการก็คือ
อันดับแรก ให้แกะซีพียูออกจากกล่อง มาเตรียมเอาไว้ ในครั้งนี้เราใช้ซีพียู Intel Core i7-14700 รุ่นนี้เป็นแบบ Non-K ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ ทำงานก็ดี เล่นเกมก็คุ้ม
ต่อมาให้ยกกระเดื่องตัวล็อคของซีพียูขึ้น ไม่ต้องเอาฝาครอบออกครับ ใส่ซีพียูลงไป สังเกตรอยบากของซีพียูและซ็อกเก็ต ให้ตรงกัน แล้วปิดครอบลงมา กดตัวล็อคให้ฝาปิดเด้งหลุดออกมา เท่านี้เป็นอันเรียบร้อย
โดยจะเลือกติดตั้งฮีตซิงก์ลงไปบนเมนบอร์ด ก่อนจะนำไปใส่ในเคสก็ได้ หรือจะเลือกติดตั้งเมนบอร์ดลงในเคสก่อน แล้วค่อยใส่ฮีตซิงก์ตามลงไปทีหลังก็ได้เช่นกัน
แต่ก่อนที่ติดตั้งฮีตซิงก์ระบายความร้อน ใครที่ใช้เมนบอร์ดที่มี M.2 slot ใกล้กับฮีตซิงก์ และการ์ดจอ รวมถึงมีฮีตซิงก์ขนาดใหญ่ แนะนำว่าให้ติดตั้ง M.2 SSD ลงไปก่อนครับ ไม่อย่างนั้นอาจจะติดตั้งได้ยากในภายหลัง
ข้อดีของการติดตั้งฮีตซิงก์บนเมนบอร์ด แล้วค่อยประกอบลงเคสก็คือ สะดวก และจัดการง่าย โดยเฉพาะคนที่ติดตั้งซิงก์แยกขนาดใหญ่ ทำแยกข้างนอกดีกว่า แต่ข้อด้อยก็คือ เวลาเอาลงเคส จะต่อสายบางจุด รวมถึงการติดตั้ง อาจจะดูยุ่งยาก ส่วนถ้าแบบติดตั้งเมนบอร์ดลงเคสก่อน แล้วค่อยติดตั้งฮีตซิงก์ตอนอยู่ในเคส ข้อดีคือ คุณสามารถต่อสายต่างๆ ที่จำเป็นลงบนบอร์ดก่อนได้ ง่ายและสะดวก แต่สิ่งที่ตามมาคือ พื้นที่ก็จะแคบลง อาจทำให้การต่อสายยากขึ้น แบบนี้เหมาะกับพัดลมที่มาในกล่องซีพียูมากกว่า
หากเลือกเป็นแบบติดตั้งฮีตซิงก์ลงเมนบอร์ด ก่อนจะใส่ลงเคส เพราะพัดลมเราไซส์ไม่ใหญ่มาก การติดตั้งพัดลม ถ้าเป็นแบบมีมาให้ในกล่องซีพียูแล้ว ก็ไม่ซับซ้อนมาก ใส่ตามช่องที่มีให้ได้เลย แต่ถ้าเป็นฮีตซิงก์แยก แบบที่ผมนำมาใช้ในวันนี้จากทาง DeepCool ก็อาจจะมีชิ้นส่วนเพิ่มเติมเข้ามา แนะนำว่าให้ดูจากคู่มือจะง่ายสุดครับ
สิ่งที่สำคัญคือ อย่าลืมแกะพลาสติกที่ปิดใต้ฐานฮีตซิงก์ออกก่อนจะติดตั้งลงไป ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถระบายความร้อนจากซีพียูได้ จากนั้นทาซิลิโคนลงบนซีพียู แล้ววางฮีตซิงก์ ล็อคให้เรียบร้อย เท่านี้เสร็จสิ้น
ส่วนถ้าเป็นชุดน้ำปิด Liquid Cooling แนะนำว่าให้ติดตั้งเมนบอร์ดลงเคสก่อนครับ แล้วค่อยดัดสายของปั้ม กับพื้นที่จัดวาง Radiator ให้เหมาะสมอีกที จะทำให้จัดสายง่ายขึ้น
แต่ไม่ว่าคุณจะติดตั้งฮีตซิงก์หรือชุดน้ำปิด สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ต่อหัว CPU Fan ลงบนเมนบอร์ดให้เรียบร้อย และถ้าเป็นไปได้คือ ต่อให้ตรงกับที่เมนบอร์ดกำหนด ไม่เช่นนั้น เมนบอร์ดอาจแจ้งว่า คุณไม่ได้ต่อพัดลม และคุณต้องเข้าไปแก้ไขใน BIOS ใหม่อีก
ติดตั้งเมนบอร์ดลงในเคสคอม
และก่อนที่คุณจะใส่เมนบอร์ดลงไป ห้ามลืมเด็ดขาด พลาดแล้วถึงขั้นรื้อออกมาใหม่เลย นั่นก็คือ อย่าลืมใส่ Back I/O ลักษณะจะเป็นแบบนี้ครับ แต่ ASRock ที่ผมใช้อยู่นี้ เป็นแบบ Pre-Install ครับ คือติดมากับเมนบอร์ดเลย ขยับนิดหน่อยก็ใช้ได้แล้วครับ
เมื่อใส่เมนบอร์ดลงไปแล้ว ไขน็อตให้ครบทีละจุดสลับกันไปพอให้อยู่ เมื่อครบทุกช่องแล้วก็ไขให้แน่นพอตึงมือ และเมื่อนำเมนบอร์ดลงเคส ผมแนะนำว่า ควรต่อสายไฟบางจุด ก่อนจะเอาเมนบอร์ดลงเคส เฉพาะจะมี 2 จุดที่ดูยากเป็นพิเศษก็คือ
1.หัวต่อ 4+4 pins CPU ที่อยู่มุมบนซ้ายของเมนบอร์ด ตรงจะมีบางที่จะมี 1 หัว หรือ 2 หัว แล้วแต่ผู้ผลิตเมนบอร์ดจะออกแบบ ถ้าคุณใช้ i3, i5 หรือ i7 จะต่อหัวเดียวก็ได้ แต่ถ้าเป็นระดับ i9 แล้วอยากโอเวอร์คล็อกด้วย ควรมี 2 หัวให้ครบ
2.หัวต่อปุ่มเพาเวอร์ รีเซ็ต และไฟสถานะ หรือ Front panel ที่อยู่มุมล่างซ้ายของเมนบอร์ดนั่นเอง ตรงนี้มันเล็กมาก ถ้าใส่ก่อนได้ ก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าคุณใช้เคสใหญ่ พื้นที่กว้าง ก็ไม่น่าหวั่นใจ มีพื้นที่เหลือๆ สำหรับสอดเอามือไปใส่ได้ง่าย
ติดตั้งแรม
วิธีสังเกตง่ายๆ ในการติดตั้งแรมคือ ถ้าติดตั้งแรมแถวเดียว ให้เริ่มที่สล็อต 2 ส่วนถ้ามีแรม 2 แถว ให้ติดตั้งสล็อตที่ 2 และ 4 ครับ เพื่อใช้งาน Dual-channel ส่วนถ้าจะเป็น 4 สล็อตก็สามารถติดตั้งแบบเต็มแถวทุกสล็อตได้เลย อย่างไรก็ดีบางครั้งเรื่องของการใส่แรมลงไปในเมนบอร์ดแต่ละรุ่น อาจให้ผลไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้งาน Intel XMP Profile หรือ AMD EXPO ก็ตาม ซึ่งผู้ใช้อาจจะต้องเช็คจากข้อมูลที่เรียกว่า QVL หรือ Qualified Vendor List ที่จะระบุรายการของแรมที่เข้ากันได้กับเมนบอร์ดและซีพียู มีผลต่อการเปิดใช้งานแรมความเร็วสูง
QVL หรือ Qualified Vendor List จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเช็ครายการของแรมที่จะนำมาใช้ ว่าสามารถเข้ากันได้และใช้ Intel XMP หรือ AMD EXPO บนแรมความเร็วสูงกับเมนบอร์ดที่เลือกมาได้หรือไม่ ในกรณีที่เลือกแรมความเร็วมากกว่ามาตรฐาน JEDEC อย่างเช่น พื้นฐานซีพียู อาจสนับสนุนแรม DDR5 4800 แต่เลือกแรมที่ใช้เป็น DDR5 6000 เมนบอร์ดจำเป็นจะต้องสนับสนุกด้วยการใช้ XMP หรือ EXPO เพื่อให้แรมมีความเร็วเป็นไปตามที่ระบุเอาไว้บนโมดูลนั่นเอง
ต่อสายไฟเลี้ยงและสายสัญญาณ
เมื่อติดตั้งเพาเวอร์ ซีพียู พัดลม รวมถึงเมนบอร์ด ลงไปในเคสเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาติดตั้งบรรดาสายต่อต่างๆ ที่เหลือ ซึ่งมีไม่มากแล้ว เนื่องจากบางจุดเราต่อเข้าไปก่อนหน้านี้ ทำให้การประกอบคอม 2024 รวดเร็วมากขึ้น
จุดแรก เพาเวอร์ 24-pins อยู่ทางขวาของเมนบอร์ด แถบยาวๆ นั่นเอง
จุดที่สอง ถ้าเคสของคุณมี USB อยู่บน Front Panel หน้าเคส ก็ต้องต่อหัวแบบนี้ลงไปบนเมนบอร์ดครับ จะมี 2 แบบคือ
- USB 2.0 จะอยู่บริเวณขอบด้านล่างสุดของเมนบอร์ด
- USB 3.0 จะอยู่ใกล้ๆ กับหัวต่อเพาเวอร์ 24-pins
- USB-C จะอยู่ข้างๆ กับ 24-pins Power ถ้าเคสคุณมีสายมาให้ ก็ต่อเข้าไปได้เลย
จุดที่สาม เช่นเดียวกัน หัวต่อ Audio สำหรับหูฟัง ลำโพงที่อยู่ด้านหน้าของเคส หัวต่อจะอยู่ด้านล่างสุดของเมนบอร์ดเช่นกัน
ติดตั้งกราฟิกการ์ด
ประกอบคอม 2024 มาถึงการ์ดจอกันบ้าง เป็นสิ่งที่อาจจะเอาไว้ท้ายๆ เลยก็ได้ เพราะคุณสามารถเก็บสายเคลียร์พื้นที่ภายในให้กว้างมากพอ สำหรับรอรับการ์ดจอขนาดใหญ่ อย่างเช่นในเคสที่เรานำมาประกอบในวันนี้ ที่อาจดูมีพื้นที่จำกัด แต่ก็สามารถจัดวางให้ใส่การ์ดใหญ่ระดับ 3 พัดลมเข้าไปได้อีกด้วย
ซึ่งวิธีการก็คือ ให้ลองขยับเอียงซ้ายขวาไปมา เพื่อให้ได้จุดลงตัว จากนั้นติดตั้งลงไปได้เลย โดยใส่ลงไปในสล็อต PCI-Express ช่องที่ยาวที่สุดบนเมนบอร์ด และควรเป็นสล็อตที่อยู่ใกล้กับซีพียูมากที่สุด เพื่อให้การติดต่อข้อมูลในช่องทาง PCIe ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น PCIe 3.0 หรือ PCIe 4.0-x16 การทำงานขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดและการ์ดจอในแต่ละรุ่น เพราะบางรุ่นทำงานแค่ PCIe 4.0 x8 เท่านั้น
จากนั้นนำหัวต่อเพาเวอร์สำหรับการ์ดจอ บางรุ่นจะเป็น 6+2 pins ซึ่งการจะติดตั้งจำนวนกี่ชุดขึ้นอยู่กับคอนเน็คเตอร์บนกราฟิกการ์ด ตัวอย่างการ์ดที่เรานำมาใช้นี้ GeForce RTX4070Ti เป็นแบบ PCIe 5.0 12VHPWR ซึ่งแต่เดิมเราไม่มีบนเพาเวอร์ แต่ในกล่องการ์ดจอมีใส่มาให้ด้วย ก็ต่อเข้ากับหัวต่อ PCIe 6+2 pins จำนวน 2 ชุด แล้วต่อใช้งานได้ทันที
ต้องไม่ลืมไขน็อตล็อคการ์ดบริเวณด้านหลังของตัวเคสให้แน่น เพื่อป้องกันการ์ดเคลื่อนหลุด รวมถึงถ้าการ์ดมีความยาวมาก และมีมิติที่ใหญ่ อาจจะใช้ตัวค้ำการ์ด ที่มีทั้งแบบติดตั้งบนสล็อตในแนวนอน และขาตั้งแบบค้ำในแนวตั้ง ควรติดตั้งเอาไว้ ลดปัญหาการ์ดจอเบี้ยว เอียงจนอาจเกิดความเสียหายได้
เมื่อประกอบคอม 2024 ครบทุกอย่างแล้ว ถ้าคุณอยากจะเพิ่มพัดลม ให้ใส่เข้าไปในตอนนี้ได้เลยครับ ไหนๆ ก็มาทางนี้ละ หัวต่อพัดลมบนเมนบอร์ดก็เหลือ งั้นก็ขอจัดตามใจอยากเลยครับ แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะใส่พัดลมไปเยอะ แล้วระบบจะเย็นลง คงต้องคำนึงถึงปริมาณลมเข้าและออกกันด้วย แรงดันบวก แรงดันลบ ก็ควรต้องสมดุล เพื่อให้เกิดการไหลเวียนและถ่ายเทอากาศร้อนภายในเคส ให้ออกมาอย่างรวดเร็ว และนำอากาศเย็นจากภายนอกไหลเวียนเข้าไปในเคสได้ดีนั่นเอง
ขั้นตอนสุดท้ายในการประกอบคอม 2024 นั่นคือ กดปุ่มเพื่อ Power On ดูครับ ขั้นตอนนี้ ถ้าใครประกอบคอมใหม่ ให้ใจเย็นหน่อยนะครับ ยิ่งเมนบอร์ดและฮาร์ดแวร์ใหม่ เปิดเครื่องครั้งแรก อาจใช้เวลา 15-20 วินาที ในการเข้าสู่หน้าโพส ให้กดปุ่ม Del บนคีย์บอร์ดเพื่อรอเข้าหน้า BIOS กันได้เลย
Conclusion
ในการประกอบคอม 2024 อาจมีการเปลี่ยนไปจากปี 2023 อยู่บ้างในส่วนของฮาร์ดแวร์บางตัว แต่ในเรื่องกระบวนการแทบไม่ได้ต่างกัน แต่สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่ขั้นตอนการติดตั้งและเรียงลำดับ เพราะหากเตรียมเอาไว้ดี มีการวางแผน ก็จะลดเวลาในการประกอบได้มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งชุดระบายความร้อนลงเมนบอร์ด หรือการเตรียมพื้นที่ มีการวัดระยะเอาไว้ ก็จะง่ายขึ้น ไม่ติดปัญหาในบางจุด ไม่ว่าจะเรื่องของการ์ดจอ พัดลม หรือหัวต่อต่างๆ ดังนั้นการเตรียมอุปกรณ์และพื้นฐานให้ดีแต่แรก ก็ช่วยได้เยอะ แต่สิ่งสำคัญคือ ควรใจเย็นๆ และทำอย่างปราณีต เพราะบางชิ้นส่วนมีความบอบบาง อาจเกิดความเสียหายได้ เมื่อเกิดการกระแทกหรือบอดงอนั่นเอง อย่างไรแล้วลองปรับเปลี่ยนขั้นตอนตามความเหมาะสมและความถนัดกันได้เลย โดยสามารถเข้าไปดูวีดีโอประกอบคอมย้อนหลังที่ทีมงานได้ทำเอาไว้ก่อนหน้านี้กันได้เลยครับ
เปิดไม่ติด ไม่คิดเงิน ประกอบคอม 2023 มือใหม่ทำเองได้ ง่ายเวอร์
ประกอบคอมเล่นเกม ทำเองได้ หลักหมื่น
ประกอบคอม คอมเล่นเกม Kingston x MSI
FAQ คำถามพบบ่อย
1.ประกอบคอมทำงาน 3d สเปคอะไรดี
Ans. การประกอบคอมทำงานด้าน 3 มิติ หรือโปรแกรมสร้างงาน 3D นอกจากซีพียูจะรับหน้าที่หลักในการประมวลผลแล้ว กราฟิกการ์ดยังเข้ามามีส่วนอย่างมากในการทำงาน ซึ่งจะใช้ทั้งชุดคำสั่งพิเศษและการคำนวณที่ซับซ้อน โดยมีฮาร์ดแวร์เข้ามาช่วยในการเรนเดอร์ภาพ กราฟิก วิชวลเอฟเฟกต์ต่างๆ ได้ดี เพียงแต่กราฟิกการ์ด จะต่างจากเกมการ์ดทั่้วไป โดยเป็นการ์ดจอสำหรับทำงานโดยเฉพาะ เช่น nVIDIA Quadro, RTX Pro series รวมถึง AMD FirePro เป็นต้น ซึ่งการ์ดเหล่านี้จะช่วยลดเวลาในการทำงานมากกว่าการใช้การ์ดจอทั่้วไปหลายเท่า แต่ก็ราคาสูงกว่าด้วยเช่นกัน ดังนั้นการประกอบคอมทำงานเฉพาะทางเหล่านี้ ก็ให้คำนึงถึงการ์ดจอ ซีพียู แรม และ Storage ตามลำดับ ราคาอาจจะสูงบ้าง ด้วยฮาร์ดแวร์บางชิ้น แต่ก็ตอบโจทย์ได้ดีในการใช้งาน
2.ประกอบคอมเองยากมั้ย?
Ans. ตามข้อมูลที่ได้แนะนำไปในบทความ จะมีความยากง่ายในแต่ละส่วนต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความชำนาญของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่ได้ยากเกินไปในการทดลองทำ ในเบื้องต้นอยากให้ดูวิธีการในการประกอบคอมหลายๆ ครั้ง เพื่อความแน่ใจ จากนั้นลองทำไปทีละขั้นตอน จุดใดไม่แน่ใจ ให้ลองเข้าไปเช็คข้อมูลตามเว็บไซต์หรือในยูทูป เช่นในช่องทางของ Notebookspec เราได้แนะแนวทางการประกอบในหลายๆ คลิป จะช่วยให้คุณสามารถเข้าใจและทำตามได้ง่ายขึ้น
3.ประกอบคอม advice ในงบ 10000 บาท
Ans. การจัดสเปคประกอบคอมใน Advice งบประมาณ 10,000 บาทนี้ นำไปใช้ในงานหลายๆ ด้านได้ โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้นกับคอมเครื่องแรก หรือใช้ในการศึกษา สามารถเริ่มกับซีพียูที่มีกราฟิกมาในตัวได้ เช่น Intel Core i3 หรือ AMD Ryzen 3 และ Ryzen 5 ที่มี “G” ต่อท้ายราคาประมาณ 2,000-4,000 บาท แรม DDR4 8GB และเมนบอร์ดเริ่มต้น ราคาประมาณ 2 พันบาท Storage นั้นสามารถเลือกได้ทั้ง SSD 480-500GB ในราคาประมาณพันบาท รวมถึงเพาเวอร์ซัพพลาย 550W และเคส Mid-tower รวมกันประมาณ 1,700 บาท ซึ่งอยู่ในงบประมาณที่สามารถใช้ทำงาน เรียนออนไลน์ เล่นเกมเบาๆ และการแต่งภาพแบบง่ายๆ ได้อีกด้วย
4.ประกอบคอม งบ 20000 เล่นเกม
Ans. ประกอบคอมเล่นเกมงบ 20,000 บาท สามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ การใช้ซีพียูตัวแรง แต่มีกราฟิกออนบอร์ดรุ่นใหม่ๆ เช่น Intel Core Gen14 หรือ AMD Ryzen 7000 series ซ็อกเก็ต AM5 ที่ให้คุณเล่นเกมแนวแคชชวลหรือเกมที่ไม่ใช้สเปคหนักได้ เผื่อเก็บเงินเอาไว้ซื้อการ์ดจอแรงๆ ภายหลัง หรือเลือกซีพียูรุ่นกลาง หรือรุ่นเล็ก แต่ได้การ์ดจอแยกรุนเริ่มต้น เช่น GeForce RTX3050, RTX3060 หรือจะเป็น Radeon RX7600 ก็จะสามารถเล่นเกมได้ดีมากขึ้น ทีเดียวจบ แต่อาจเกินงบประมาณไปบ้างนั่นเอง
5.ประกอบคอมที่ไหนดี
Ans. มีสถานที่มากมายที่ให้คุณได้เลือกประกอบคอม หากคุณไม่สะดวกในการประกอบคอมด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าร้านคอมทั่วไป เลือกที่ใกล้บ้านก็ดี เพราะจะได้เซอร์วิสได้สะดวก หากมีปัญหา หรือจะเลือกไปตามห้างไอที ที่คุณจะสามารถเปรียบเทียบราคา และมีฮาร์ดแวร์ที่หลากหลาย แต่ต้องเดินเยอะหน่อย และราคาอาจบานปลายได้ ถ้าไม่คุมงบประมาณดีๆ เพราะมีของให้เลือกละลานตา หรือจะเลือกซื้อคอมสำเร็จรูป ก็น่าสนใจคอมแบรนด์ค่ายต่างๆ ที่คุณอุ่นใจได้ในเรื่องของบริการและการรับประกัน เพราะส่วนใหญ่มีบริการตรวจเช็คให้ถึงบ้าน สำนักงาน ไม่ต้องเดินทางออกไปเองให้เสียเวลา