อย่างที่เรารู้กันว่า Microsoft ไม่ได้เป็นบริษัทที่ผลิตตัวเครื่องจำหน่ายจริงจังเหมือนกับ Apple แม้ว่าจะมีส่วนที่เป็นเครื่องตระกูล Surface อยู่ หรือพวกอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ แต่ก็สร้างรายได้ให้กับ Microsoft อยู่แค่ราว ๆ 4.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากยอดขายนับรวมเป็นเวลา 9 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา
รายได้หลักของ Microsoft นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบ Windows อีกต่อไปแล้วด้วย เพราะตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา รายได้จากระบบ Windows นั้นทำได้อยู่แค่ 15 เปอร์เซ็นต์ จากรายได้รวมทั้งหมดที่ Microsoft มี แม้ว่าจะเอารายได้จากระบบ Windows มารวมกันกับตัวเครื่อง Surface ที่มี ก็ยังได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ
PC ARM กับอนาคตหนทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
รายได้ส่วนใหญ่ของ Microsoft ทุกวันนี้นั้นมาจากธุรกิจระบบ Cloud แทนแล้ว ซึ่งสามารถสร้างรายได้กว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ของกลุ่มนี้ก็คือ Office 365 Commercial, Azure, ส่วน Commercial ของ LinkedIn, Dyanmics 365 และยังมีบริการ Cloud อื่น ๆ สำหรับธุรกิจอีกหลายตัว
ส่วนคำถามที่หลายคนน่าจะอยากรู้ว่าแล้ว Microsoft จะทำยังไงกับเครื่อง PC ARM ต่อ เพราะถือเป็นระบบที่เคยพัฒนาเอาไว้อยู่แล้ว จะหยิบออกมาต่อกรกับ Apple หรือไม่ แล้วมีแผนอะไรยังไงต่อบ้าง แต่ที่ผ่านมามันดูเหมือนจะเป็นความพยายามในการทดลองมากกว่าที่จะตั้งใจทำให้มันกลายเป็นธุรกิจจริง ๆ
ซึ่งผลงานก็คือ Surface Pro X นั่นเอง ที่เป็นตัวพิสูจน์แล้วว่าระบบ Windows สามารถทำงานบนเครื่อง PC ARM ได้ และ Microsoft ยังพยายามโน้มน้าวใจผู้ผลิตเจ้าอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Lenovo, HP และ Samsung ให้หันมาทำเครื่อง PC ARM ที่ใช้ชิป SoC ของ Qualcomm ด้วยเหมือนกัน
แต่เครื่องเหล่านั้นก็ดูจะมีประสิทธิภาพที่ไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่นัก และโปรแกรมจำลองระบบ x86 ก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานมากมายสักเท่าไหร่นัก รวมถึงแอปที่มีไม่สักเท่าไหร่ใน Windows Store จะมาช่วยดึงดูด หรือขยายขอบเขตความสามารถของเครื่อง PC ARM เหมือนอย่างที่ App Store ของ Apple จะช่วยเครื่อง Mac M1 ได้
ดูเหมือน PC ARM จะเป็นการทดลองมากกว่าที่ Microsoft จะตั้งเป้าให้เป็นธุรกิจจริง ๆ
การลงทุนด้านอุปกรณ์ระบบ ARM ของ Microsoft จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เพื่อ PC ARM หรอก แต่เพื่อเครื่องระบบ Android อย่าง Surface Duo และ Surface Neo เครื่องแท็บเล็ต 2 หน้าจอตัวใหม่ใช้ระบบ Windows 10X ต่างหาก
ปัจจุบันี้ ถ้าหากว่าคุณใช้เครื่อง PC ARM เปิดโปรแกรม Office 365 ถ้าหากว่าเป็นเวอร์ชั่น 32-bit โค้ด x86 แล้วเปิดผ่านตัวจำลอง Emulator ก็จะสามารถใช้งานได้ แต่ถ้าหากว่าลองติดตั้งเป็นเวอร์ชั่น 64-bit แล้วละก็ จะเจอกับหน้าต่างป๊อปอัป Error ตัวนี้ขึ้นมา
ในขณะเดียวกันที่ทีมพัฒนาแอป Office ที่พอร์ตลงบนเวอร์ชั่น Mac กำลังปรับปรุงสำหรับการใช้งานบนเครื่องที่ใช้ชิปใหม่อย่าง Mac M1 ซึ่งจะเป็นแอปแบบ 64-bit สามารถทำงานบนเครื่อง Mac M1 ตัวใหม่ได้เลย
เรื่องนี้สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า Microsoft นั้นกำลังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแอป Office และบริการระบบ Cloud บนหน้าจออุปกณ์ของผู้ใช้งาน ไม่ว่าหน้าจอของอุปกณ์ที่คุณใช้อยู่จะเป็นเครื่องตัวไหน ระบบไหน ก็ตาม
ด้วยหลักแนวคิดนี้ จึงทำให้ Microsoft ยังสามารถอยู่รอดได้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญหลักในตลาดอุปกรณ์พกพามากนัก หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายอีกอย่างก็คือ เครื่อง PC ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบปัจจุบัน หรือ PC ARM ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ก็นับเป็นเพียงอุปกรณ์ตัวนึงในระบบ Cloud ทั้งหมดของ Microsoft เท่านั้นเอง
แน่นอนว่าตลาดนี้ยังคงจะเป็นการแข่งขันกันต่อไป ระหว่างเครื่อง PC และ Mac แต่ในดีเทลรายละเอียดระหว่าการใช้ชิป ARM หรือไม่ ก็อาจยังมีตัวแปรประกอบอีกมากมายให้คำนึงถึง
อาจยังพอเป็นไปได้ แต่มันจะช้าไปหรือเปล่า?
ต่อให้ Apple จะสามารถทำประสิทธิภาพออกมาได้ดีมาก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่ามันจะสามารถครอบคลุมงานทุกรูปแบบของกลุ่มผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มได้มากแค่ไหน และอีกจุดที่สำคัญคือเรื่องของราคาตัวเครื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ Apple นั้นไม่ได้ผลิตมาเพื่อกลุ่มผู้ใช้ทุกกลุ่ม ด้วยราคาค่าตัวที่ไม่ได้นับว่าถูก และเอื้อมถึงได้ง่ายดายนัก
ในขณะที่ PC แม้ว่าอาจจะยังไม่ใช่ PC ARM แต่มันก็มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีเพียงพอ ทำงาน Multitask พร้อม ๆ กันได้มากมาย และมีราคาค่าตัวที่จับต้องได้ง่ายกว่า ก็คงต้องรอดูการเคลื่อนไหวของ Microsoft อีกครั้ง แต่เชื่อคงอาจยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้ เพราะเท่าที่มีอยู่เดิม เครื่อง PC ในตลาดก็ทำงานได้ดีมากแล้ว
งานนี้คงไม่ได้แข่งกันว่าเป็น ARM หรือไม่ แต่จะขึ้นอยู่กับความตอบโจทย์การใช้งาน และความคุ้มค่ามากกว่า ต่อให้ Microsoft จะไม่ได้ไปกับ ARM แต่ก็ไม่ได้แปลว่า PC จะต้องเป็นฝ่ายพ้ายแพ้ที่ต้องหายไปจากตลาด เพราะยังคงมีความแข็งแกร่งจากฐานผู้ใช้งานทั่วโลกจำนวนมหาศาล
ที่มา ZDNet