AMD Ryzen AI 300 series ซีพียูรุ่นใหม่ Zen 5 มาพร้อม AI กราฟิกแรงเทียบการ์ดจอแยก
เมื่องาน Computex 2024 ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา AMD เปิดตัว CPU โน้ตบุ๊กในซีรีส์ใหม่นั่นคือ AMD Ryzen AI 300 Series จากโค้ดเนม Strix Point ซึ่งเป็นการตั้งชื่อรุ่นแบบใหม่ที่เน้นสื่อถึงความสามารถด้าน AI เพิ่มขึ้น และยังมีการยกระดับในจุดอื่น ๆ อีกมากมายจนกลายเป็นรุ่นออลนิวของจริง ในบทความนี้เราจะมาเจาะสเปคของ CPU รุ่นใหม่ล่าสุดจาก AMD ในปีนี้กัน
AMD Ryzen AI 300 Series
- ภาพรวมของ AMD Ryzen AI 300 Series
- CPU: สถาปัตยกรรม Zen 5 + Zen 5c แบบไฮบริด
- NPU: XDNA 2 พร้อมชนทุกคู่แข่งและพร้อมสำหรับ Copilot+ PC
- GPU ที่เปลี่ยนมาใช้สถาปัตยกรรม RDNA 3.5 เป็นครั้งแรก
- รหัสชื่อรุ่นแบบใหม่
- สรุป AMD Ryzen
ภาพรวมของ AMD Ryzen AI 300 Series
ก่อนจะลงรายละเอียดในแต่ละจุด เรามาดูสรุปภาพรวมกันก่อนว่า CPU รุ่นใหม่นี้มีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง
จากภาพด้านบนนี้จะชี้ให้เห็นถึง 3 ส่วนหลักที่เป็นไฮไลท์ ได้แก่
- NPU ที่เปลี่ยนมาใช้สถาปัตยกรรม XDNA 2 ที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น
- CPU ที่ใช้คอร์ Zen 5 + Zen 5c เป็นครั้งแรก
- GPU RDNA 3.5 ที่ความแรงชนกับการ์ดจอแยก
ซึ่งเมื่อทั้งสามส่วนนี้ทำงานประสานกัน ก็จะทำให้โน้ตบุ๊กมีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในการประมวลผล การใช้งานกราฟิกที่มีพลังเทียบเท่ากับการ์ดจอแยก รวมถึงยังมีความสามารถในการคำนวณด้าน neural network และ AI ที่สูง ตอบสนองการใช้งานได้เร็วขึ้น รองรับโมเดลต่าง ๆ ได้ดีกว่าที่เคยมีมา ทำให้ประสบการณ์การใช้งานโดยรวมดีขึ้นไปอีกระดับ และจากการที่เปลี่ยนรูปแบบการตั้งชื่อรุ่นโดยให้มีคำว่า AI เข้ามา ทำให้เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า AMD จะให้ความสำคัญกับส่วนของ NPU มากขึ้นไปอีกหลายปีทีเดียว เริ่มตั้งแต่ AMD Ryzen AI 300 Series ที่จะเริ่มเข้ามาอยู่ในโน้ตบุ๊กพร้อมวางขายภายในปีนี้เลย เรามาดูกันในแต่ละส่วน เริ่มจาก CPU ก่อนเลย
CPU: สถาปัตยกรรม Zen 5 + Zen 5c แบบไฮบริด
ซีพียูใน AMD Ryzen รุ่นใหม่นี้เท่าที่มีเปิดตัวในขณะนี้สองรุ่น โดยเป็น Ryzen 9 ได้แก่ AMD Ryzen AI 9 365 และ Ryzen AI 9 HX 370 จะมีจำนวนคอร์ให้มาที่ 10 และ 12 คอร์ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือรอบนี้จะเลือกใช้เป็นคอร์ใหญ่ Zen 5 ผสมกับคอร์เล็ก Zen 5c ดังนี้
- AMD Ryzen AI 9 365 = 4x Zen 5 + 6x Zen 5c
- AMD Ryzen AI 9 HX 370 = 4x Zen 5 + 8x Zen 5c
ซึ่งตัวของคอร์ Zen 5c ก็จะคล้ายกับตอนของ Zen 4c เลย คือก็ยังมีความสามารถในการทำงานที่เท่ากับคอร์ Zen 5 มีชุดคำสั่งต่าง ๆ เหมือนกัน แต่จะมีขนาดที่เล็กกว่า ความเร็ว ประสิทธิภาพลดลงมาเล็กน้อย แต่ก็จะได้ข้อดีในเรื่องที่กินไฟน้อยลง สามารถใส่จำนวนคอร์และโมดูลอื่น ๆ มาได้เยอะ จึงได้รับการมอบหมายให้ใช้สำหรับทำงานเบา ๆ ใช้งานทั่วไป ประมวลผลระหว่าง idle เพื่อลดการใช้ไฟของ CPU ลง ความร้อนขณะทำงานก็ลดลงไปด้วย อีกข้อดีคือระบบปฏิบัติการก็สามารถจัดการแบ่งงานไปยังคอร์/เธรดที่มีได้ง่าย เพราะทุกคอร์มีชุดคำสั่งเทียบเท่ากันหมด
ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจคือทั้ง Zen 5 และ Zen 5c ก็ยังคงมีการแบ่งภายในแต่ละคอร์เป็น 2 เธรดตามเดิม ส่งผลให้จำนวนเธรดทั้งหมดจะเท่ากับจำนวนคอร์คูณสองเหมือนเดิม จึงยังเหมาะกับการทำงานของโปรแกรมส่วนใหญ่ที่มีการเขียนมาให้บริหารจัดการเธรดได้ดีอยู่ ทำให้ CPU รุ่นใหม่นี้จะมีประสิทธิภาพต่อขนาดที่สูงกว่าที่เคย ซึ่ง AMD ระบุไว้ว่าประสิทธิภาพของ CPU จะสูงขึ้นถึง 20%
สเปคจุดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนของ CPU มีดังนี้
- AMD Ryzen AI 9 365 (10/20)
- ความเร็ว 2 GHz บูสต์ได้สูงสุดเป็น 5 GHz
- แคช L2 10MB / L3 24MB
- TDP พื้นฐาน 28W สามารถปรับได้ในช่วง 15-54W
- รองรับ AMD EXPO, PBO, CO, PCIe 4.0
- AMD Ryzen AI 9 HX 370 (12/24)
- ความเร็ว 2 GHz บูสต์ได้สูงสุดเป็น 1 GHz
- แคช L2 12MB / L3 24MB
- TDP พื้นฐาน 28W สามารถปรับได้ในช่วง 15-54W
- รองรับ AMD EXPO, PBO, CO, PCIe 4.0
จะมีส่วนที่น่าสนใจคือค่า TDP ที่รอบนี้ AMD ใช้การระบุแบบกว้าง ๆ ว่าชิปในตระกูล Ryzen AI 300 จะสามารถปรับค่าได้ในช่วง 15-54W ต่างจากในรุ่นก่อนหน้านี้ที่เลข TDP ก็จะแปรผันตรงกันกับระดับรุ่น เช่น 15W สำหรับ CPU ที่ลงท้ายด้วยรหัส U เป็นต้น แต่ในประเด็นนี้ก็คงต้องรอการทดสอบ การรีวิวอีกครั้งเมื่อมีโน้ตบุ๊กออกมาวางจำหน่ายว่า CPU จริง ๆ จะมีค่า TDP อยู่ในช่วงเท่าไหร่บ้าง
ประเด็นเรื่องของชื่อรุ่น ในรอบนี้ AMD จะตัดการใส่ตัวอักษรต่อท้ายอย่าง U, H และ HS ออก เหลือไว้แค่ HX ที่สลับมาวางไว้หน้าตัวเลขแทน เพื่อให้แบ่งรุ่นได้ชัดเจนว่าเป็นรุ่นที่เน้นประสิทธิภาพสูง ส่วนรุ่นที่ไม่มี HX ก็จะเป็น CPU ที่เน้นเรื่องการประหยัดพลังงานมากกว่า
ด้านประสิทธิภาพ ความแรงเมื่อเทียบกับ CPU รุ่นอื่น ๆ ก็มีข้อมูลผลการทดสอบหลุดออกมา อ้างอิงจากที่เว็บไซต์ wccftech เปิดเผยไว้ ในภาพด้านบนจะเป็นกราฟเทียบคะแนนจากการทดสอบ Geekbench จะเห็นว่า AMD Ryzen AI 9 HX 370 ทำคะแนนทั้งแบบ single และ multi core ได้สูงกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง R9 8945HS รวมถึงยังสูงกว่าคู่แข่งอีกด้วย
อีกผลการทดสอบที่มาจากสไลด์ ก็คือการเทียบประสิทธิภาพในการทำงานสายสร้างสรรค์ ทั้งงานประเภทออฟฟิศ (Procyon Office) ตัดต่อวิดีโอ (Adobe Premiere Pro) การทำงานแบบมัลติทาสก์ (Cinebench 24) รวมถึงการเรนเดอร์ 3D (Blender) จะเห็นว่า Ryzen AI 9 HX 370 ทำคะแนนในสองประเภทหลังได้สูงกว่าชิป Apple M3 แบบก้าวกระโดดเลย
ต่อมาก็จะมีผลการทดสอบ Cinebench 2024 แบบจับไปเทียบกับ AMD Ryzen 9 7950X ในเดสก์ท็อปอีกด้วย ซึ่งก็ต้องบอกว่าได้คะแนนไล่เลี่ยกันมากทั้งแบบ single และ multi core
นอกจากนี้ตัว CPU ยังรองรับมาตรฐานการเชื่อมต่อ Wi-Fi 7 และ Bluetooth 5.4 อีกด้วย
GPU: RDNA 3.5 ที่ความแรงชนกับการ์ดจอแยก
หน่วยประมวลผลกราฟิก iGPU ในตัวของ AMD Ryzen AI 300 Series จะได้รับการยกเครื่องใหม่มาใช้เป็นชิปในสถาปัตยกรรม RDNA 3.5 ที่ให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมโดยรวมสูงขึ้น 36% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า โดยใน APU ที่เปิดตัวมาทั้งสองรุ่นจะมีการใช้ iGPU ที่ต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
- AMD Ryzen AI 9 365
- AMD Radeon 880M
- มี 12 CU ความเร็ว 2900 MHz
- AMD Ryzen AI 9 HX 370
- AMD Radeon 890M
- มี 16 CU ความเร็ว 2900 MHz
หากเทียบกับ iGPU ตัวท็อปสุดในรุ่นก่อนหน้าอย่าง AMD Radeon 780M ก็จะพบว่ามีจำนวนคอร์อยู่ที่ 12 CU เท่ากับ Radeon 880M เลย แต่รุ่นใหม่จะมีความเร็วคล็อกสูงกว่าอยู่ 100 MHz ทำให้พอน่าจะเดาได้ว่าคงมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจาก 780M เล็กน้อย แต่ทั้งนี้คงต้องรอข้อมูลสเปคแบบลึก ๆ ออกมาอีกทีว่ามีส่วนใดที่เพิ่มมากกว่าเดิมหรือเปล่า
แต่ที่มีผลทดสอบออกมาแล้วว่าแรงแน่ ๆ ก็คือ AMD Radeon 890M ในชิปรุ่นท็อปสุด ณ ขณะนี้ ภาพในกราฟข้างบนเป็นผลทดสอบที่ทาง wccftech ลงไว้เช่นกัน โดยเป็นผลการทดสอบด้านกราฟิกของ Geekbench ที่ใช้ API OpenCL ในการประมวลผลกราฟิก จะเห็นว่า Radeon 890M สามารถทำคะแนนได้เหนือกว่ากราฟิกชิปหลาย ๆ รุ่น ดังนี้
- เหนือกว่า Arc A310 ในเดสก์ท็อป 43%
- เหนือกว่า Radeon 780M 39%
- เหนือกว่า Arc 380 ในเดสก์ท็อป 13%
- เท่า ๆ กับ GTX 1650 Ti ในเดสก์ท็อป
- ด้อยกว่า RTX 2050 ในโน้ตบุ๊ก 1%
จากผลทดสอบข้างบนก็บอกได้เลยว่า AMD Radeon 890M ใน Ryzen AI 9 HX 370 นั้นแรงได้ใจมาก สามารถเทียบกับการ์ดจอแยกรุ่นยอดนิยมในโน้ตบุ๊กราคาราวสองหมื่นกลาง ๆ ในปี 2024 ได้เลย ซึ่งถ้าดูจากประสิทธิภาพ ก็น่าจะเหมาะกับโน้ตบุ๊กสายครีเอเตอร์ที่ต้องการเน้น CPU ประสิทธิภาพสูง ในขณะเดียวกันพลังด้านกราฟิกก็ยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน เพื่อใช้ทั้งเสริมการทำงาน และใช้เล่นเกมได้ลื่นไหลในระดับหนึ่ง โดยที่ตัวเครื่องไม่จำเป็นต้องหนามากเพื่อการติดตั้งชุดระบายความร้อนแบบเต็มสูบ
อีกผลการทดสอบความแรงกราฟิกที่มีออกมาก็คือ 3DMark ชุด Time Spy ที่เมื่อเทียบแล้วก็เป็นดังนี้
- เหนือกว่าชิปโค้ดเนม Hawk Point (ไม่ระบุรุ่น) 12CU @55W อยู่ 29%
- เหนือกว่าชิปโค้ดเนม Strix Point (น่าจะ Ryzen AI 9 365) 12CU @22W อยู่ 14%
- เหนือกว่า Radeon RX 6400 อยู่ 3%
- ด้อยกว่า RTX 2050 @50W อยู่ 3%
อันนี้ก็จะมีหมายเหตุมานิดนึงคือชิป Radeon 890M ที่ใช้ในการทดสอบนี้ยังเป็นตัวทดสอบ engineering sample อยู่ และไม่ทราบว่าทำงานที่ค่า TDP เท่าไหร่ จึงอาจจะทำให้แค่เทียบให้เห็นภาพคร่าว ๆ ได้ว่าสามารถทำคะแนนในชุดการทดสอบได้ใกล้เคียงกับชิปกราฟิกแยกเลย แต่ก็คงต้องดูหลังวางจำหน่ายอีกที เพราะอาจจะทำได้ดีกว่านี้ขึ้นไปอีกก็เป็นได้
และที่สำคัญ สำหรับสายเครื่อง handheld ก็น่าจะพอคาดหวังในอนาคตได้เหมือนกัน ว่าชิปที่จะมาต่อยอดจาก AMD Ryzen Z1 Series น่าจะมาพร้อม iGPU กลุ่มของ Radeon 880M ขึ้นไปแน่ ๆ ที่ก็จะทำให้ได้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นกว่าเดิมอีก รองรับการเล่นเกมระดับ AAA จนถึง AAAA ได้ดีขึ้น ซึ่งอันนี้คงต้องรอติดตามกันต่อไป
NPU: XDNA 2 พร้อมชนทุกคู่แข่งและพร้อมสำหรับ Copilot+ PC
พระเอกของการเปิดตัว AMD Ryzen AI 300 Series ครั้งนี้ก็คือส่วนของ NPU ที่ออกแบบมาเพื่อเน้นงานด้าน AI แบบเต็มตัว สอดคล้องกับแนวทางของวงการที่ปรับเข้าหาการเป็นยุค AI มากขึ้น ซึ่งก็เป็นการขยับไปพร้อม ๆ กับ Microsoft ที่ผลักดัน AI PC แบบเต็มตัวอยู่ในขณะนี้ โดยที่จะรองรับ Copilot+ ในอนาคตด้วย
โดยในชิปตระกูล AMD Ryzen รุ่นใหม่จะมาพร้อมกับ NPU สถาปัตยกรรม XDNA 2 ที่เคยได้รับการกล่าวถึงไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และจะเป็น APU รุ่นแรกที่มาพร้อม NPU แบบใหม่นี้ด้วย จุดเด่นที่มีการเปิดเผยออกมาก็คือประสิทธิภาพในการประมวลผลที่สูงขึ้นกว่า XDNA รุ่นแรกถึง 3 เท่าตัว อย่างถ้าจับเทียบกับ AMD Ryzen 9 8945HS ก็จะเป็นดังนี้
ด้วยประสิทธิภาพเฉพาะส่วน NPU ที่ทำได้สูงสุดถึง 50 TOPS (ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที) อันนี้ต้องบอกว่ามันสูงกว่าชิป Snapdragon X Elite ที่ทำได้สูงสุด 45 TOPS ซะอีก อันนี้ทำให้น่าสนใจว่าชิปประมวลผลรุ่นใหม่จะมีพลังเข้ามาช่วยเสริมการทำงานให้กับโปรแกรมต่าง ๆ ที่อาศัย AI ช่วยในการประมวลผลมากขนาดไหน แต่ที่น่าจะเห็นได้ชัดคือหากนำไปใช้ประมวลผลงานเดียวกัน ก็น่าจะทำได้เร็วกว่า ซึ่งส่งผลถึงการใช้พลังงานที่น่าจะต่ำกว่าด้วย ซึ่งในจุดนี้ AMD ก็ระบุว่า Ryzen รุ่นใหม่นี้ จะมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อการประมวลผล AI ในบางรูปแบบที่เหนือกว่าชิปรุ่นก่อนหน้าสูงสุด 2 เท่า จึงน่าจะเหมาะกับการใช้งานในโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่มากทีเดียว ทั้งยังผ่านเกณฑ์ของมาตรฐาน Copilot+ แบบสบาย ๆ
ในแง่ของการเทียบประสิทธิภาพของมาตรฐาน Copilot+ ทาง AMD ก็จับมาชนกับ Snapdragon X Elite ในการทดสอบการใช้งานรูปแบบต่าง ๆ พบว่าด้านมัลติทาสก์และกราฟิกนั้นสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากโปรแกรมที่สามารถทำงานกับแพลตฟอร์ม x86 ได้เต็มประสิทธิภาพกว่าใช้งานร่วมกับชิป ARM ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบในการใช้ชิป x86 ร่วมกับระบบปฏิบัติการและแอปพลิเคชันที่เขียนมาเพื่อชิป x86 โดยตรง
รหัสชื่อรุ่นแบบใหม่
แถมกันอีกนิดเรื่องการปรับวิธีการเรียกชื่อรุ่น CPU ที่ AMD จะปรับการระบุชื่อซีรีส์และการเขียนรหัสรุ่นย่อยสำหรับชิปในกลุ่มนี้ แบ่งเป็น
- AMD Ryzen AI ใช้สำหรับระบุแบรนด์
- 9 HX ใช้เพื่อระบุระดับของตัวชิป ว่าอยู่ในกลุ่มเลขใด และเป็นชิปรุ่นประสิทธิภาพสูงหรือเน้นประหยัดพลังงาน
- 370 คือรหัสรุ่นของ CPU นั้น ๆ โดยจะแบ่งย่อยลงไปอีกขั้น
- 3 ใช้บอกลำดับรุ่นตามปี คล้ายกับเลขตัวหน้าของ CPU รุ่นก่อนหน้า เช่นเลข 8 ใน Ryzen 9 8945HS
- 70 เป็นรหัสย่อยสำหรับระบุรุ่น
จะเห็นว่ารอบนี้ AMD เลือกตัดเลขที่ใช้ระบุตำแหน่งในตลาด และรุ่นของสถาปัตยกรรมคอร์ออกไป แบบที่ใช้เลข 9 กับ 4 ใน R9 8945HS เพื่อบอกว่าเป็น Ryzen 9 และใช้คอร์ Zen 4 ซึ่งในจุดนี้ก็น่าจะช่วยลดความสับสนไปได้ระดับหนึ่ง เพราะไม่ต้องมานั่งอ่านเลขรหัสรุ่นแล้วว่าเป็น CPU ที่ออกมาตอนไหน ใช้คอร์อะไรให้ชื่อเต็มไปด้วยตัวเลข ไหน ๆ ถ้าจะดูรายละเอียดแล้วก็ไปเช็คจากหน้าสเปค CPU ตรง ๆ ไปเลยดีกว่า แต่บางท่านก็อาจจะเสียดายอยู่บ้างที่คราวนี้ไม่สามารถอ่านชื่อผ่าน ๆ ก็ทราบปี ทราบสเปคเบื้องต้นของ CPU ได้แล้ว
สรุป AMD Ryzen AI 300 Series
จากทั้งสามส่วนหลักที่ได้รับการอัปเกรดจากรุ่นก่อนหน้า ในแง่ประสิทธิภาพ ความสามารถและการใช้พลังงานที่ดีกว่าที่เคย ทำให้ AMD Ryzen AI 300 Series จะเป็นชิปประมวลผลที่พร้อมพาคุณเข้าสู่ยุคแห่ง AI ได้อย่างเต็มตัว พร้อมรองรับการทำงานเชิง ML ได้อย่างหลากหลายทั้งจากระบบปฏิบัติการและแอปพลิเคชันในยุคใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยกระดับพลังการคำนวณด้วยการปรับไปใช้คอร์ Zen 5 ผสานพลังกับคอร์ Zen 5c ที่จะช่วยให้ระบบสามารถทำงานได้โดยใช้พลังงานน้อยลง โดยที่ยังได้ความสามารถแบบเต็ม 100% อยู่เช่นเดิม
และอีกข้อที่คอเกมน่าจะให้ความสนใจ โดยเฉพาะสายเครื่อง handheld และโน้ตบุ๊กสายเน้นความบางเบา เพราะชิปประมวลผลกราฟิกที่ปรับไปใช้สถาปัตยกรรม RDNA 3.5 ก็ให้ประสิทธิภาพในระดับเดียวกับการ์ดจอแยกระดับกลางเลยทีเดียว ทำให้สามารถเล่นเกมและช่วยเสริมการทำงานที่สามารถนำ GPU มาร่วมประมวลผลได้ดียิ่งขึ้นไปอีก สำหรับใครที่สนใจโน้ตบุ๊กที่มาพร้อมชิปประมวลผลรุ่นใหม่ล่าสุดจาก AMD ก็อดใจรอกันอีกซักนิดนึงครับ รับรองว่าได้ประสิทธิภาพถึงใจแน่นอน