Lenovo Legion 5 สเปก Ryzen 5 4600H + GTX 1650 Ti เป็น Gaming Notebook ที่คุ้มค่าและน่าสนใจที่สุด ณ เวลานี้ ซึ่งในบทความนี้จะเป็นการทดสอบเพิ่มแรมจากเดิม 8GB เป็น 16GB (8GB x 2 แถว) ซึ่งสเปกเดิมๆ ก็มาพร้อมประสิทธิภาพสูงแล้ว ด้วยชิปประมวลผล AMD Ryzen 4000H เทคโนโลยีการผลิต 7 นาโนเมตร เพื่อเพิ่มความแรงในการเล่นเกม พร้อมลดความร้อนไปในตัว แน่นอนว่าเลือกใช้การ์ดจอแยกเป็น NVIDIA GeForce GTX 1650 Ti (4GB GDDR6) ที่มีพลังแรงเล่นเกมได้ลื่นไหล ติดตั้งแรมจากโรงงานเป็น 8GB DDR4 Bus 3200MHz ผสานกับ SSD M.2 NVMe ความจุ 512GB มี Windows 10 แท้ใช้งานได้ทันที
อย่างไรก็ตามด้วยแรมขนาด 8GB ในการใช้งานเล่นเกมจริงๆ อาจจะทำให้เครื่องยังลื่นไหลได้ไม่สุด แม้ในการใช้งานทั่วไปอย่างใช้งานเอกสาร เล่นอินเตอร์เน็ต ดูหนังฟังเพลง จะดูเหมือนว่าแรม 8GB จะพอเพียงแล้ว ในการเล่นเกมหรือประมวลผลหนักๆ เชื่อได้ว่าถ้าอัพเกรดแรมเป็น 16GB จะได้ต้องเฟรมเรทเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่จะเพิ่มขึ้นลื่นขึ้นมากน้อยแค่ไหน เดี๋ยวเราต้องไปติดตามกัน บทความนี้จะมาแนะนำกันตั้งแต่การแกะฝาล่างของเครื่องกันเลย บอกเลยว่าไม่ยากๆ ส่วนแรมที่เรานำมาอัพเกรดนั้นเป็นของ Kingston ขนาด 8GB DDR4 Bus 3200 MHz ซึ่งได้รับมาฟรีๆ จากโปรโมชั่นแถมใน 300 เครื่อง (ซื้อตามร้าน JIB / Advice ราคา 1,350 บาท)
สำหรับ Lenovo Legion 5 ได้ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างไปจาก Gaming Notebook แบรนด์อื่นๆ ออกแบบโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ให้มีความสวยได้ขอบจอบางเฉียบ มิติตัวเครื่องเล็กกระชับ ลงตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนรับรองได้ว่ามันสามารถที่จะสร้างประสบการณ์ในการเล่นเกมแบบใหม่ให้กับผู้ใช้งานได้อย่างสบายๆ นอกจากเล่นเกมได้ดีแล้ว ยังรองรับทั้งการทำงานที่ต้องการประสิทธิภาพที่สูง อย่างตัดต่อวีดีโอ หรือเรนเดอร์ 3 มิติ ก็เอาอยู่ ใช้งานง่ายและสะดวก
พร้อมหน้าจอขนาด 15.6″ แบบด้าน ขอบหน้าจอบางพิเศษเป็นความละเอียด Full HD พาเนล IPS คุณภาพสูง ซึ่งมี Refresh Rate ที่ 144Hz ให้เลือก มีราคาที่ 30,990 บาทเท่านั้น พร้อมด้วยกล้องเว็บแคม HD (720p) และมีไมค์ดิจิตอลในตัว รองรับการใช้งาน VDO Call ส่วนการเชื่อมต่อก็มีมาอย่างครบถ้วน ทั้ง USB 3.1 Type-C, HDMI, 4 x USB 3.1 Type-A, Kensington lock slot, RJ-45 , Headset พร้อมยังรองรับมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายอย่าง Bluetooth 5 และ Wi-Fi 6 AX ส่วนการรับประกันแน่นอนว่าเป็น ประกัน 2 ปี On-site Service ซ่อมฟรีถึงบ้านพร้อมประกันอุบัติเหตุ และบริการหลังการขายอื่นๆ โดยสามารถดูรีวิวเต็มๆ ได้ ที่นี่
หน้าสเปกเต็มๆ Lenovo Legion 5 : Ryzen 5 4600H + GTX 1650 Ti
การแกะเครื่อง Lenovo Legion 5 นั้นสามารถทำได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว เพราะงานประกอบค่อนข้างแน่นหนา แต่ก็ถือว่าฝาล่างแกะได้ไม่ยากนัก ซึ่งหลังจากถอดน็อตทุกตัวเสร็จหมดแล้ว ต้องใช้บัตรแข็งค่อยๆ รูดถอดออกที่ละส่วน จากขอบด้านหน้า ควรทำอย่างใจเย็น และขอบฝาด้านหลังตรงแกนฝาพับค่อนข้างคมระวังบาดนิ้วมือกันด้วย ส่วนหลายคนที่สงสัยว่ามีน็อตตรงแกนยางรองไหมบอกเลยว่ารุ่นนี้ไม่มี มีน็อตแค่เท่าที่เห็นคือ 11 ตัว ยาว 4 (แถวหลัง) สั้น 3 + 3 (แถวกลาง – หน้า) โดยเมื่อแกะออกมาแล้วก็จะเห็นฮาร์ดแวร์หลายๆ อย่างตามรูปเลย ส่วนฝาล่างก็จัดว่าเป็นวัสดุคุณภาพดีแข็งแรงทนทานตามสไตล์ของ Lenovo เลย
การวางรูปแบบของฮาร์ดแวร์เครื่องนี้ทำได้ดูดีเลยที ซึ่งในส่วนที่สามารถทำการอัพเกรดเพิ่ม HDD SATA ขนาด 2.5″ ธรรมดาเป็น SSD ได้ทันที (ถอดกล่องเปล่าสีดำออกมาก่อน) โดยเครื่องนี้ได้ติดตั้ง SSD M.2 NVMe ความเร็วสูงมาแล้วที่ความจุ 512GB พร้อมใส่แรมขนาด 8GB DDR4 Bus 3200 จำนวน 1 แถว (สามารถใส่ได้สูงสุด 2 แถว) ซึ่งมีความพิเศษที่มีฝาครอบโลหะปิดเอาไว้อยู่ (ช่วยเรื่องของทนทาน)
ที่เราสามารถแกะออกมาได้ง่ายๆ สำหรับการใส่แรมนั้นก็ง่ายๆ ด้วยการกดลงในช่องพร้อมกับล็อคก็เป็นอันเรียบร้อย ส่วนเรื่องระบายความร้อนตัวเครื่องมี Heat Pipe จำนวน 3 เส้นขนาดใหญ่ วางพาดยาวไล่ไปทั้งชิปการ์ดจอและตัวซีพียูเอง ส่วนพัดลมเครื่องนี้ก็มีมาให้ 2 ตัว ตามแบบฉบับ Gaming Notebook ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการความร้อน อีกทั้งมีระบายความร้อน Lenovo Legion Coldfront 2.0 ทำให้ระบบระบายความร้อนที่ดีขึ้นด้วย
โดย Lenovo Legion 5 รุ่นนี้เป็นสเปกเป็นชิปประมวลผล AMD Ryzen 4000H โดยจะเป็นรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้า และถือว่าเป็นครั้งแรกของ Gaming Notebook แบรนด์ Lenovo ที่ใช้ AMD อย่าง Ryzen 5 4600H ที่ความเร็ว 3.00 – 4.00 GHz สถาปัตยกรรม Zen 2 (Renoir) ล้ำด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ 7 นาโนเมตร ทำงานแบบ 6 คอร์ 12 เธรด ส่งผลให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ร้อนน้อยลงด้วย มีผลอย่างมากต่อการทำงานที่ต้องใช้การประมวลผลของ CPU หนักๆ เช่น เล่นเกม 3 มิติ การต่อต่อวีดีโอ หรือเรนเดอร์งาน 3D เป็นต้น มาพร้อมแรมภายในขนาด 8GB DDR4 ที่สามารถขับเคลื่อนระบบปฏิบัติการ Windows 10 ลิขสิทธิ์ที่มีมาให้แบบสบายๆ
ส่วนการ์ดจอแยกก็อย่างที่รู้กันดีคือ NVIDIA GeForce GTX 1650 Ti (4GB GDDR6) ซึ่งจัดว่าเป็นการ์ดจอเล่นเกมที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในตลาด ส่วนแรมเดิมๆ ขนาด 8GB 1 แถว DDR4 Bus 3200 MHz และให้ SSD NVMe ความจุ 512GB เป็นมาตรฐาน ซึ่งเมื่อเราอัพเกรดแรม 8GB ไปอีก 1 แถวแล้ว พร้อมเปิดเครื่องเข้า Windows 10 อีกครั้ง ตัวเครื่องก็จะพร้อมใช้งานเป็นแรม 16GB ได้ทันที โดยที่เราไม่ต้องตั้งค่าใดๆ อย่างไรก็ตามอย่าลืมนำฝาคลอบโลหะปิดไว้เช่นเดิมด้วย และควรทำอย่างระมัดระวังไม่ได้ส่วนอื่นๆ เสียหาย (มีกระดาษกาวแปะทับที่มุมอีกชั้นด้วย)
ดูได้จากส่วนของ Setting > About ของ Windows ได้เลย ในส่วนของ Task Manager > Memory เราก็จะเห็นถึงขนาดของแรมที่เพิ่มขึ้นจาก 8GB เดิมๆ เป็น 16GB เช่นกัน ซึ่งแสดงถึงการใช้งานของแรมที่มีพื้นที่เหลืออยู่พอประมาณทีเดียว แน่นอนว่าย่อมดีกว่าการที่เราใช้แรมขนาด 8GB เดิมๆ ที่ดูแล้วจะแน่นไปหน่อย สำหรับการที่เราจะเปิดเกมเล่น เพราะเมื่อเปิดเครื่องพร้อมกับเปิดโปรแกรมต่างๆ อย่างเว็บบราวเซอร์ก็มีโอกาสกินแรมไปกว่า 5GB แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเล่นเกมจริงๆ ก็มีโอกาสที่จะใช้แรม 8GB ทั้งหมดได้เลย
การทดสอบประสิทธิภาพกับโปรแกรม PCMark 10 Advance ด้วยแรมขนาด 8GB เดิมๆ สามารถทำคะแนนการทดสอบรวมได้มากถึง 5,152 คะแนน ถือได้ว่าในส่วนของการใช้งานทั่วไปโดยรวมนั้นสอบผ่านแบบสบายๆ ทั้งในส่วนของการเล่นเว็บไซต์ งานเอกสาร งานตกแต่งรูปภาพ รวมถึงงานตัดต่อวิดีโอ และจากการที่เป็นโน๊ตบุ๊คเล่นเกมมีการ์ดจอแยก ทำให้มีคะแนนพุ่งกว่าโน๊ตบุ๊คทั่วไปอยู่แล้ว แต่เมืออัพเกรดแรมเป็นขนาด 16GB จะเห็นถึงคะแนนว่ามีการขยับขึ้นมาในแต่ละส่วนการทดสอบ รวมเป็น 5306 คะแนน ซึ่งดูแล้วก็ไม่เยอะเท่าไร สรุปก็คือ ถ้าเป็นงานที่ไม่เน้นพื้นที่การจองแรมที่มากอย่างการเล่นเกมหรือตัดต่อวีดีโอ การอัพเกรดจากแรม 8GB เป็น 16GB มีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เฟรมเรมในการเล่นเกมของ Lenovo Legion 5 สเปกก่อนอัพเกรดแรม ทำออกมาน่าสนใจประมาณนึง โดยเฉลี่ยของเฟรมเรท (FPS) จากทั้ง 6 เกมที่ได้ทดสอบมีค่าเฟรมเรทเฉลี่ยมากกว่า 30 – 60 FPS ขึ้นไปแทบทุกเกม ซึ่งตรงนี้ก็สามารถชี้วัดความสามารถในการเล่นเกมที่กราฟิกละเอียดๆ และภาพสวยๆ ได้ลื่นไหลเป็นอย่างดีเลย จากการที่สเปกภายในเป็นชิปประมวลผล Ryzen 5 4600H ที่สามารถรีดพลัง NVIDIA GeForce GTX 1650 Ti ออกมาได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับใช้แรมขนาด 8GB DDR4 Bus 3200 MHz แบบ 1 แถว Single Channel และ SSD M.2 NVMe ความเร็วสูงอีกด้วย
ทดสอบเกมกินทรัพยากรพอตัวอย่าง GTA V / FarCry 5 / BF V รวมไปถึงเกมใหม่ล่าสุดอย่าง Resident Evil 3 Remake ก็สามารถเล่นได้ดีที่ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล โดยกราฟิกปรับระดับสูงสุดทั้งหมด ตามภาพด้านบน ที่ต้องบอกว่าภาพก็สวยจนน่าประทับใจ เรียกได้ว่าเหลือๆ กับการตอบสนองความต้องการเล่นเกมได้สมบูรณ์ที่สุดแล้ว ซึ่งถ้าอยากให้เฟรมเรทลื่นไหลกว่านี้ก็สามารถเลือกปรับกราฟิกระดับกลางๆ ก็ได้ ไม่มีปัญหากระตุกในเกมแต่อย่างใด แตกต่างจากรุ่นที่เป็นฮาร์ดดิสก์ที่มักจะโหลดข้อมูลไม่ทัน
เกมออนไลน์อย่าง PUBG / Overwatch / DOTA 2 ก็จัดการทดสอบแบบปรับสุดหมดให้ด้วยเช่นกัน โดยทั้งนี้การตั้งค่าความละเอียดของภาพก็อยู่ที่ 1920 x 1080 พิกเซล ซึ่งเป็นความละเอียดที่จะสามารถเล่นให้ลื่นได้ สำหรับรายละเอียดภาพอื่นๆ ก็เรียกได้ว่าเปิดทุกอัน ผลที่ได้ออกมาก็คือสามารถเรนเดอร์ได้อย่างไหลลื่นในระดับเฟรมเรทที่สูงสุด แม้กระทั่งฉากตะลุมบอนกันก็สบายๆ ค่าเฟรมเรทอยู่ที่ราวๆ 40 – 60 – 80 ขึ้นไปตลอด ซึ่งสรุปโดยรวมแล้วก็ถือว่าเล่นพอได้ทีเดียวในกรณีที่ปรับกราฟิกสุด
แต่เมื่อเราทดสอบ Lenovo Legion 5 ที่เมื่อเพิ่มแรมเป็น 16GB DDR4 Bus 3200 MHz แบบ 8GB x 2 แถว Dual Channel แล้ว ในลักษณะการทดสอบพื้นฐานเดียวกันทั้งหมด เห็นได้ชัดถึงเฟรมเรทความลื่นไหลที่มากขึ้นในเกือบทุกๆ เกม ทั้งเกมออฟไลน์หรือออนไลน์อย่าง BFV / FarCry 5 / GTA V / PUBG / DOTA 2 / Overwatch เป็นทั้งในส่วนของเฟรมเรทเฉลี่ย ต่ำสุด และสูงสุดด้วย เรียกได้ว่าการอัพเกรดแรมจาก 8GB เป็น 16GB มีผลมากๆ สำหรับ Lenovo Legion 5 ซึ่งเราลองมาเทียบกันตามข้อมูลด้านล่างให้เห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยแต่ละเกมเพิ่มขึ้นมาแตกต่างเท่าไรกันบ้าง
- RE 3 : 55 > 60 = เพิ่มมา 5 เฟรม
- BF V : 53 / 58 = เพิ่มมา 5 เฟรม
- FarCry 5 : 57 / 61 = เพิ่มมา 4 เฟรม
- GTA V : 71 / 81 = เพิ่มมา 10 เฟรม
- PUBG : 60 / 61 =เพิ่มมา 1 เฟรม
- DOTA 2 : 100 / 130 = เพิ่มมา 30 เฟรม
- Overwatch : 91 / 99 = เพิ่มมา 8 เฟรม
จากข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าในการเพิ่มแรมอัพเกรดแรมเข้าไป มีผลกับเฟรมเรทที่เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ว่าในแต่เกมก็จะมีเฟรมเรทความลื่นไหลที่เพิ่มขึ้นไม่เท่ากันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าเกมนั้นใช้พื้นที่แรมไปมากหรือน้อย รวมไปถึงขึ้นอยู่หลายๆ ปัจจัยของเกมขณะทดสอบนั้นด้วย อย่างเกมที่มีผลกับการเพิ่มแรมเป็น 16GB มากที่สุดก็จะเป็น DOTA 2 ที่เพิ่มขึ้นมาถึง 30 เฟรม ที่จัดได้ว่าเป็นเกมที่มีพื้นที่ฉากในเกมขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน ส่วนเกมที่มีเฟรมเรทไม่ต่างกันก็จะเป็น PUBG ที่ตัวเกมเองมีปรับแต่งให้ใช้กับแรม 8GB ได้ดีเยี่ยมอยู่แล้ว
สรุปปิดท้ายกันแบบง่ายๆ ก็คือ ในส่วนของ Lenovo Legion 5 สเปก Ryzen 5 4600H + GTX 1650 Ti ที่ให้แรมมาจากโรงงานขนาด 8GB พร้อมกับมี SSD มาให้เลยเช่นกัน เมื่อเราทำการอัพเกรดแรมเป็น 16GB ด้วยการใส่เพิ่ม 8GB อีก 1 แถวเป็น Dual Channel มีผลให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมเพิ่มขึ้นแน่นอน (แต่ละเกมไม่เท่ากัน) ด้วยราคาแรมขนาด 8GB DDR4 Bus 3200 MHz มีราคา 1,350 บาท จัดว่ามีความคุ้มค่าที่จะซื้อเพื่อทำการอัพเกรดมากๆ จะซื้อเครื่องแล้วอัพเกรดทันทีที่ร้านก็ได้ หรือจะค่อยมาอัพเกรดด้วยตนเองทีหลังก็ได้ เพราะเครื่องนี้ก็แกะได้ไม่ยากเกินความสามารถแต่อย่างใด แลกกับประสบการณ์ใช้งานโดยรวมที่ดีขึ้นมากๆ นอกเหนือจากการเล่นเกมด้วย
หรือในกรณี Gaming Notebook รุ่นอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ว่าจริงๆ แล้วถ้าอยากให้เฟรมเรมเกมสูงขึ้น เล่นเกมได้ลื่นไหลยิ่งขึ้น รวมไปถึงทำงานที่ประมวลผลหนักหรือมีการจองพื้นที่แรมไปใช้งานได้เยอะ รุ่นที่ให้แรมมาขนาด 8GB กับแรมขนาด 16GB มีผลต่อการใช้งานจริงๆ ไม่มากก็น้อย อย่างการใช้งานทั่วไปอาจจะไม่เห็นผลที่ชัดเจนมากนักว่ารุ่นแรม 16GB ดีกว่า แต่ถ้าเมื่อไรเราเอาไปเล่นเกมหรือทำงานหนักๆ แล้วเทียบกับรุ่นแรม 8GB จะเห็นว่าลื่นกว่าพอสมควร ฉะนั้นสำหรับคนที่ใช้งาน Gaming Notebook รุ่นใหม่ๆ ที่ให้แรมมาขนาด 8GB ควรอัพเกรดเป็นแรมขนาด 16GB แบบไม่ต้องสงสัยเลยครับ คุ้มค่ากับราคาแรมพันบาทต้นๆ มากๆ อย่างไรก็ตามอย่างลืมเผื่อเงินไว้อัพเกรดนอกจากค่าเครื่องด้วย