ช่วงนี้ในวันที่วันหยุดแสนจะยาว หลายคนต้องเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ที่บ้าน อาการครั่นเนื้อครั่นตัวก็คงมี โดยเฉพาะคอเกมที่แทบจะไม่อยากจะละสายตาจากหน้าจอ แต่ถ้าคุณเพิ่งจะมีโอกาสได้ประกอบคอมใหม่เป็นเครื่องแรก หรืออยากจะแกะคอมเอามาทำความสะอาด วันนี้แอดจะมาเป็นตัวช่วยให้คุณสามารถ ประกอบคอม เครื่องโปรด เพื่อนำมาใช้ในวันที่ต้องหยุดอยู่กับบ้านเช่นนี้ กับวิธีง่ายๆ ในการสร้างคอมของคุณ เริ่มตั้งแต่เป็นชิ้นๆ จนสำเร็จเป็นเครื่องพร้อมใช้ ขั้นตอนนั้นมีไม่มากมาย เรามาทำไปที่ละสเตปกันครับ
เริ่มต้นจากเคสหน้าตาบ้านๆ ที่เรียกว่าถ้าเป็นเมื่อวันวานสัก 7-8 ปีก่อน ก็จะยังหล่อเกินใครในเคสแนวทาวเวอร์ระดับเดียวกัน จัดว่าเป็นเคสอีกรุ่นหนึ่งในดวงใจของแอด ที่มีครบทุกองค์ประกอบ ด้านหน้าโปร่ง ติดตั้งพัดลมสบาย ด้านในกว้าง ด้านข้างใส ด้านบนมีพอร์ตครบครัน
การ ประกอบคอม ขั้นแรกที่เป็นการจัดเตรียมเมนบอร์ดและติดตั้งซีพียู ดูจะเป็นอะไรที่วุ่นวายสุด หากเป็นเมนบอร์ดสำหรับซีพียู Intel นั้น เริ่มจากการปลดกระเดื่องล็อคด้านข้างและฝาครอบออก จากนั้นกางออกไปให้สุด เพื่อเตรียมจัดวางซีพียูลงไป
สำหรับซีพียู Intel ปัจจุบันนี้ ไม่มีพินที่ต้องเสียบลงบนซ็อกเก็ตอีกแล้ว มีแต่หน้าสัมผัสเท่านั้น การติดตั้งก็ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด เพราะจะมีสลักอยู่ด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ถ้าไม่ตรง ยังไงก็วางไม่ได้ หรือดูที่ลาเบลของชื่อรุ่น มักจะอยู่ด้านบนเสมอ
เมื่อวางซีพียูลงไปแล้ว ก็อย่าลืม ย้ำนะครับ! อย่าลืม ทาซิลิโคน ที่ช่วยในการระบายความร้อนบนกระดองของซีพียู จะหยดเป็นเม็ด ป้าย หรือปาด ก็แล้วแต่ตามสะดวกกันเลย แต่อย่าให้หนาหรือบางเกินไป เท่านั้นก็พอ
กรณีที่ใช้ฮีตซิงก์ที่มาในกล่อง ก็ไม่ต้องกลัวจะยาก เพราะมีสลักให้ยึด 4 มุม แค่วางลงไป แล้วกดให้ดังแกร่ก! เท่านั้น แต่ถ้าคุณอยากได้ความเย็นที่ดีกว่า ด้วยการไปหาซื้อฮีตซิงก์แยก การติดตั้งก็จะแตกต่างออกไปบ้าง ขึ้นอยู่กับรุ่น และยี่ห้อในแต่ละค่าย
อย่างเช่นรุ่นที่แอดนำมาใช้นี้ เป็นฮีตซิงก์ค่อนข้างโบราณสักหน่อย ต้องติดตั้งขาล็อคบนตัวฮีตซิงก์ก่อน แล้วจึงวางลงไปบนเมนบอร์ด
จากนั้นหงายเมนบอร์ดขึ้น ติดตั้งฐาน ให้เข้ากับขายึดจากฮีตซิงก์ที่วางไว้ก่อนหน้านี้ แล้วยึดน็อตให้เข้ากับเมนบอร์ดได้อย่างแน่นหนา
และสุดท้ายเมื่อติดตั้งซีพียูและฮีตซิงก์ ก็ต้องไม่ลืม ต่อสายไฟพัดลม 3-pins หรือ 4-pin ก็อยู่ที่พัดลมที่ใช้ ต่อเข้ากับคอนเน็คเตอร์บนเมนบอร์ด จะระบุว่า CPU Fan นั่นเอง
และเมื่อติดตั้งพัดลมซีพียูเรียบร้อย ก็ได้เวลาติดตั้งแรมลงเมนบอร์ด ถ้าติดตั้งแถวเดียว ส่วนใหญ่จะเริ่มจากสล็อตที่ใกล้ซีพียูมากที่สุด การติดตั้งให้ระมัดระวัง ง้างสลักสีขาวด้านข้างออกมาก่อน ดูให้ตรงสล็อต แล้วกดลงไปตรงๆ แต่แรมรุ่นใหม่ๆ แถบพินออกแบบมาให้กดทีละข้างก็ได้เช่นกัน
แต่ถ้าเป็นแรม 2 แถว ทำงานแบบ Dual-channel ก็จะติดตั้งสล็อตสลับกัน เช่น 0 กับ 2 หรือ 1 กับ 3 ส่วนบางเมนบอร์ด อาจจะกำหนดสล็อตในการติดตั้งแรมความเร็วสูงไว้ด้วย ส่วนใหญ่จะเริ่มที่สล็อต 1 กับ 3 เป็นต้น ตามภาพ
เมื่อเตรียมเมนบอร์ด ซีพียูและแรม เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาเตรียมเคส ก่อนจะนำอุปกรณ์อื่นๆ มาวางลงด้านในกันบ้าง
เปิดฝาข้างเคสกันก่อนเลย (ไม่เปิดแล้วจะติดตั้งยังไง?) แต่เคสเดี๋ยวนี้ก็มีหลายแบบนะ บางรุ่นกระจกเทมเปอร์ ก็หมุนน็อตออกมา บางรุ่นเป็นสลักเฉยๆ หรือบางรุ่นก็ไขน็อตยึด อันนี้ก็แล้วแต่รุ่นนะ
เผยให้เห็นภาพจากด้านใน จะเห็นได้ว่า โปร่งโล่งสบายดีจริงๆ ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบอะไรที่กว้างๆ ติดตั้งสบาย เก็บสายก็สะดวก เน้น Mid-Tower หรือ Tower เป็นหลัก แต่ถ้าคุณรักความเก๋ไก๋ ประหยัดพื้นที่ มีดีไซน์เฉพาะตัว ทางเลือกที่เป็น iTX หรือ Mini-iTX ก็น่าสนใจ
จับมันนอนหงายก่อนเลย เพราะถ้าใครเคยลองแนวตั้ง บอกเลยว่าไม่ง่าย ท่ายากแนะนำให้ไปใช้กับอย่างอื่น
ฝาปิดด้านหลังหรือ Back panel อย่าลืม! เปิดดูในกล่องมนบอร์ด อุปกรณ์ชิ้นนี้จะมีอยู่ในนั้น สิ่งเดียวที่ต้องระวังคือ ส่วนใหญ่จะคมมาก จับไม่ดีโดนบาดเอาง่ายๆ แนะนำว่าใส่ทีละข้าง ค่อยๆ กดให้แน่น
แต่ถามว่าหายไปแล้ว ทำไง? ก็ไม่เป็นไร ใส่ก็ได้ ไม่ใส่ก็ได้ แต่หลังจะโล่งๆ หน่อย แมลงสาปกับจิ้งจกอาจเข้าไปวิ่งเล่นได้ เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ก็จะอยู่ในรูปแบบนี้ ง่ายดีมั้ยครับ
เมื่อเรียบร้อยแล้ว ก็จะเห็นพื้นที่ภายในที่แสนโล่งแบบนี้ ขั้นตอนต่อไปคือ เตรียมเมนบอร์ดลงเคส สิ่งที่ต้องทำคือ เตรียมน็อตรองเมนบอร์ดเอาไว้ด้วย ก่อนจะวางเมนบอร์ดลงไป
น็อตรองเมนบอร์ดทำหน้าที่ในการยกเมนบอร์ดให้ลอยขึ้นมาจากฐาน มีทั้งเป็นแบบสีทอง หรือสีดำ โดยจะมากับกล่องเครื่องมือของเคสแต่ละรุ่น แต่ในปัจจุบัน เคสหลายรุ่นก็จะติดตั้งมาบนเคสให้ใช้งานได้เลย
เมื่อติดตั้งน็อตรองเมนบอร์ดแล้ว วางเมนบอร์ดลงไป พยายามขยับเมนบอร์ดให้ตรงกับน็อตรองที่วางเอาไว้ และอย่าลืมให้ตรงกับ Back panel ที่ติดตั้งไว้ก่อนหน้านี้
เมื่อวางเมนบอร์ดลงตรงที่น็อตรองแล้ว ให้ไขน็อตยึดในแต่ละจุดให้ครบ หรือถ้าไม่ครบ ก็พยายามให้รอบเมนบอร์ดทั้ง 4 ด้าน โดยไขแต่ละด้านให้พออยู่ เพื่อให้บางจุดขยับได้ตรงรู จากนั้นเมื่อไขครบทุกจุดแล้ว จึงไขให้แน่นพอตึงอีกครั้ง
จุดที่สำคัญคือ บรรดาสายต่อจาก Front panel ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 ชุดหลักๆ คือ (1.Power, Reset, HDDLED และ PowerLED), (2.USB front), (3.HD Audio Mic และ Headphone)
ถ้าเคสคุณกว้างและวางมือถนัด สามารถติดตั้งภายหลังจากการติดตั้งเมนบอร์ดลงเคสได้ แต่ถ้าเคสแคบ หรือกลัวว่าจะมองไม่เห็น ให้ติดตั้งสายต่างๆ ก่อนจะนำเมนบอร์ดลงเคสจะดีกว่า
สายต่อ USB ที่เป็น Front panel ที่คุณใช้เสียบกับบรรดาแฟลชไดรฟ์, HDD และอื่นๆ ด้านหน้าเคสจะมี 2 จุด คือ USB 2.0 มักจะอยู่ด้านล่างเมนบอร์ด ส่วน USB 3.0 จะเป็นพอร์ตสีฟ้า อยู่ใกล้ๆ กับสล็อตแรม
แกะแผ่นปิดสล็อตด้านหลังเครื่องคอมออก เพื่อรองรับการติดตั้งการ์ดจอ โดยเช็คจากสล็อตและการ์ดจอ ดูว่าต้องแกะสล็อตใดบ้าง เคสบางรุ่นอาจจะต้องแกะออกก่อนที่จะนำเมนบอร์ดมาลง เพื่อความสะดวก
เมื่อแกะฝาปิดออกแล้ว ให้ติดตั้งการ์ดจอลงไปในสล็อตการ์ดจอ ส่วนใหญ่จะทำสีให้แตกต่าง เช่น สีดำ สีน้ำเงิน หรือบางรุ่นอาจจะเป็นสล็อตสีเงินเงาๆ โดยเฉพาะเมนบอร์ดเกมมิ่งรุ่นใหม่ๆ
ส่วนถ้าคุณมีการ์ดอื่นๆ ที่จะเพิ่มลงไป เช่น การ์ดต้ดต่อ การ์ดเสียงหรือการ์ดเพิ่มพอร์ตต่อพ่วง ก็ให้ดูจากสล็อตของตัวการ์ด ว่าเป็นแบบใด แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็น PCIe-x1 หรือ x4 เป็นต้น สังเกตง่ายๆ จะเป็นสล็อตเล็กๆ สีขาวหรือสีดำ ตามแต่ผู้ผลิตจะทำออกมา
เมื่อติดตั้งสิ่งต่างๆ ลงไปแล้ว ที่ขาดไม่ได้ในการ ประกอบคอม เลยก็คือ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เวลานี้ก็มีให้เลือกทั้ง HDD หรือ ฮาร์ดดิสก์ที่เป็นแบบจานหมุนหนักๆ ที่หลายคนคุ้มเคยดี อีกแบบหนึ่งก็คือ SSD ในแบบที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ในกรณีที่เป็น SATA ปกติ ก็ต้องต่อสาย 2 ส่วนคือ สายไฟ SATA หน้าตาก็จะแบนๆ ติดตั้งข้างๆ กับสาย SATA ขนาดเล็กๆ อีกแบบหนึ่งก็จะเรียกว่า M.2 NVMe ส่วนใหญ่จะใช้ติดตั้งบนเมนบอร์ดที่เป็นพอร์ต M.2 หน้าตาก็จะเป็นแบบในภาพนี้
การติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็น Storage ฮาร์ดดิสก์หรือ SSD นั้น ก็จะมีหลายรูปแบบ บางครั้งก็ใส่สล็อต สามารถเลื่อนเข้าออกได้ง่าย อีกแบบคือ ยึดน็อตเข้ากับตัวเคสได้เลย ขึ้นอยู่กับเคสแต่ละรุ่นที่ทำออกมา
ส่วนเคสบางรุ่นก็ออกแบบมาเพื่อให้เปิดด้านหน้า ติดตั้งพัดลมเพิ่มได้ หรือบางคนอาจจะอยากเปลี่ยนจากพัดลมเดิมๆ ไปเพิ่มเติมพัดลมไฟ RGB ก็ได้เช่นกัน แต่ให้ระวังตอนแกะ เพราะบางรุ่นแน่นมาก หรือบางทีก็พ่วงสาย Front panel เอาไว้ ไม่ระวังสายอาจขาดได้เช่นกัน
พื้นที่ว่างๆ เอาไว้วางเพาเวอร์ซัพพลาย เคสบางรุ่นให้วางด้านล่าง แต่บางค่ายก็ให้ใส่ด้านบน พัดลมของเพาเวอร์จะเป็นแบบดูดเข้า และเป่าออกด้านหลัง ดังนั้นถ้าอยากให้พัดลมเพาเวอร์ จะมาเป็นหนึ่งในตัวช่วยระบายความร้อน ก็ให้หันเข้าหาอุปกรณ์ภายในเครื่อง
แต่ถ้าไม่ได้ซีเรียส เพราะมีพัดลมมากมายภายในเคสอยู่แล้ว จะวางคว่ำลงก็ได้ ไม่บังคับ แต่ในกรณีที่พัดลมเพาเวอร์คุณเป็น RGB ก็หงายขึ้นเถอะครับ รับรองสวย
เมื่อวางได้ที่แล้ว ก็ไขน็อตให้แน่นหนา เรียกว่ายึดให้แน่น แล้วเวลาที่จัดเก็บสาย จะทำได้ง่ายขึ้น
เมื่อติดตั้งเพาเวอร์แล้ว ก้ได้เวลาเดินสายไฟและสายสัญญาณต่างๆ ให้กับอุปกรณ์ อันดับแรก สายเพาเวอร์ 24-pins ต่อเข้ากับพอร์ตบริเวณเมนบอร์ดด้านขวามือ
อีกจุดที่สำคัญคือ 4-pins หรือ 8-pins สำหรับซีพียู พอร์ตนี้ส่วนใหญ่จะอยู่มุมบนซ้ายมือของเมนบอร์ด จะติดตั้ง 4 หรือ 8 ขึ้นอยู่กับซีพียูที่ใช้ด้วย ให้ยึดตามคู่มือแนะนำ
พอร์ต SATA และไฟเลี้ยง ด้านหลังฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ก็จะอยู่คู่กัน สายสัญญาณอยู่ด้านขวา และทางซ้ายคือไฟเลี้ยง
เพาเวอร์ 4-pins สำหรับบรรดาอุปกรณ์บางอย่าง เช่น พัดลมหรืออื่นๆ หากมีก็เสียบต่อไป ไม่มีก็พันเก็บเอาไว้ หากถอดสายไม่ได้
เมื่อเสียบต่อสายต่างๆ เสร็จแล้ว อาจจะต้องเช็คความเรียบร้อย ก่อนที่จะเริ่มเปิดเพาเวอร์ของเครื่อง โดยเฉพาะสายไฟเลี้ยง และสายสัญญาณ ที่สำคัญอย่าให้มีสายหรือสิ่งใด ไปกั้นใบพัดลมเป็นอันขาด อันตรายเลยทีเดียว
เมื่อ ประกอบคอม ครบทุกชิ้นแล้ว ก็ให้ลองเปิดเครื่องดู ว่าสามารถบูตเข้าเพื่อติดตั้งระบบปฏิบัติการได้ตามปกติหรือไม่
เป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับคนที่ยังนึกไม่ออกว่าจะ ประกอบคอม อย่างไร หรือมีโครงการว่าจะรื้อคอมเก่า เอามาทำความสะอาดในช่วงวันหยุดนี้ อาจจะลองใช้เป็นตัวอย่างการติดตั้งอุปกรณ์ของคุณได้ หรือติดขัดตรงจุดใด ก็ทิ้งคำถามกันไว้ได้ด้านล่างนี้เลยครับ